foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

art local people

นายอุส่าห์ จันทรวิจิตร

usa janvijit 02นายอุส่าห์ จันทรวิจิตร เกิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 ที่บ้านจานตะโนน ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี จบการศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านจานตะโนน หลังจากสำเร็จการศึกษาได้บวชเรียนจนสอบได้นักธรรมตรี ที่สำนักเรียนวัดบ้านดงบัง และสอบได้ครูวาดเขียนชั้นตรี และชั้นโท หลังจากนั้นได้รับปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสถาบันราชภัฏอุบลราชธานี

นายอุส่าห์ จันทรวิจิตร เกิดในครอบครัวที่รักงานทางด้านศิลปะ และเป็นผู้ที่มีพรสวรรค์ โดยเกิดในตระกูลช่างอุบล จึงได้รับการถ่ายทอดฝีมือช่างศิลป์จากบิดา ในด้านวาดเขียน ด้านก่อสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ การแกะสลักลวดลายบานโบสถ์ บานประตู บานหน้าต่าง แท่นพระ เชี่ยวชาญงานปูนปั้น งานลงรักปิดทองด้ายความรอบรู้พิเศษเหล่านี้ โดยมีบิดาเป็นผู้ถ่ายทอดทั้งด้านงานช่างฝีมือ วิธีการออกแบบและก่อสร้างศิลปะ สถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนา เมื่อมีทักษะเพียงพอแล้ว ได้เริ่มต้นจากงานก่อสร้างลวดลายโบสถ์ และประตูหน้าต่าง จนไปถึงงานที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น

นายอุส่าห์ จันทรวิจิตร ได้สร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปกรรมเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง

  • พ.ศ. 2499 สร้างงานศิลปสถาปัตยกรรม ที่วัดเจียงอีศรีวราราม วัดพยุหมงคลรัตนาราม
  • พ.ศ. 2500 สร้างศาลาการเปรียญ หน้าบัน ช่อฟ้า ใบระกา แกะสลักลวดลายปูนปั้นวัดบูรพาราม
  • พ.ศ. 2502 ออกแบบตกแต่งลวดลายพระอุโบสถวัดธรรมิการาม และวัดศรีอุบลรัตนาราม
  • พ.ศ. 2508 ออกแบบตกแต่งศาลาการเปรียญวัดบ้านปากน้ำ
  • พ.ศ. 2509 ออกแบบตกแต่งหอระฆังวัดประสิทธิยาราม
  • พ.ศ. 2510 ออกแบบตกแต่งสร้างซุ้มประตูวัดศรีมงคล

usa janvijit 03

กล่าวได้ว่า ผลงานแต่ละชิ้นได้สร้างสรรค์ด้วยความประณีต พิถีพิถัน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น คือ มีรูปแบบค่อนข้างคม ชัด ลึก เรียวแหลม และมีลีลาอ่อนช้อย สวยงาม

งานที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดคือ การแกะสลักต้นเทียนพรรษา ของ นายอุส่าห์ จันทรวิจิตร ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการแกะสลักต้นเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี จนได้รับรางวัลที่หนึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2503 - 2543 จนทำให้งานแห่เทียนพรรษาของจังหวัดมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศและต่างประเทศ งานประติมากรรมปูนปั้น แกะสลักต้นเทียนจำลองที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป คือ ต้นเทียนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ ณ สนามทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และต้นเทียนหน้าศาลาประชาวาริน เทศบาลวารินชำราม จังหวัดอุบลราชธานี

usa janvijit 04

ด้วยความรอบรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์พุทธศิลป์ จึงได้รับรางวัลเกียรติคุณหลายครั้ง อาทิเช่น

  • บุคคลดีเด่นด้านวัฒนธรรม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาขาประติมากรรม
  • รางวัลนอร์มา จากองค์การยูเนสโก ในปี ค.ศ. 1990
  • ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 5 สาขาศิลปกรรม สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
  • รางวัลพระธาตุนาดูนทองคำ ประเภทบุคคลดีเด่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาขาทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ประจำปีพุทธศักราช 2552 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • ศิลปินมรดกอีสาน 2554 สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรมเทียนพรรษา) ประจำปีพุทธศักราช 2554 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

usa janvijit 05

ตลอดเวลาการทำงาน นายอุส่าห์ จันทรวิจิตร ได้สร้างสรรค์ผลงานไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งประเทศศิลปะและสถาปัตยกรรมไทย เป็นทั้งสถาปนิกที่อาศัยความชำนาญและประสบการณ์ในการออกแบบรากฐานและงานโครงสร้าง มีฝีมือที่โดดเด่นมีลีลาอ่อนช้อยงดงาม กล่าวได้ว่า ผลงานของท่านได้มีคุณูปการต่อชาวอีสานและเป็นมรดกต่ออนุชนรุ่นหลังสืบไป

นายอุส่าห์ จันทรวิจิตร ได้ถึงแก่กรรมเมื่อ เดือนมกราคม พ.ศ. 2554 สิริอายุรวม 77 ปี

usa janvijit 01

redline

backled1

art local people

ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ

Chollapat smผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ ปัจจุบันท่านได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชลภัสส์ วงษ์ประเสริฐ สาขาวิชา การจัดการสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต

การศึกษา

  • การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (พัฒนศึกษาศาสตร์)  2543 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
  • การศึกษามหาบัณฑิต (บรรณารักษศาสตร์)  2531 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
  • อักษรศาสตรบัณฑิต (บรรณารักษศาสตร์)   2524 มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ประวัติการทำงาน

  • อาจารย์ประจำ สำนักหอสมุดกลาง วิทยาลัยคณาสวัสดิ์  (2525)
  • บรรณารักษ์ ศูนย์เอกสารอีสาน และงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม  (2526-2532)
  • บรรณารักษ์ฝ่ายบริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (2532-2536)
  • อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต (2536 -2542)
  • เลขานุการคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต  (พ.ศ. 2537)
  • หัวหน้าภาควิชาการจัดการสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (พ.ศ.2540-2541)
  • รักษาการณ์ผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศ (พ.ศ.2545)
  • ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์ (พ.ศ. 2546 – 2547)
  • ผู้อำนวยการสำนักวางแผนพัฒนาคุณภาพ (พ.ศ.2545 -2547)
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการจัดการสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต (2543 –ปัจจุบัน)
  • หัวหน้าสาขาการจัดการสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ (พ.ศ. 2549- ปัจจุบัน)

Chollapat 01

ตำแหน่งอื่นๆ

  • กรรมการคณะอนุกรรมการกลุ่มงานบริการ ของห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ( 2533-2534)
  • กรรมการเสนอแนะเพื่อเสนอรายชื่อนายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2534-2535
  • รองประธานคณะกรรมการชมรมบรรณารักษ์ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ 2534-2535 และ ปี พ.ศ. 2536-2537
  • อนุกรรมการฝ่ายการวิจัยและพัฒนา/ ฝ่ายวิชาการ/ฝ่ายมาตรฐานของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย
  • เลขานุการ กรรมการบริหารสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2536-2537
  • ประธานชมรมบรรณารักษ์ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา พ. ศ. 2542-2543
  • ที่ปรึกษาปริญญานิพนธ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น  มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ประธานชมรมผู้สอนวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2550- ปัจจุบัน)
  • กรรมการบริหารสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ตำแหน่งรองประธานฝ่ายวิจัยและพัฒนา สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2550- ปัจจุบัน) 

Chollapat 02

ผลงานทางวิชาการ

งานวิจัย

  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. การกำหนดหัวเรื่องวัฒนธรรมอีสาน.  มหาสารคาม :  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม, 2534. (ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม)
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. รายงานประเมินผลโครงการส่งเสริมวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. กรุงเทพฯ : โครงการมหาวิทยาลัยเพื่อสนับสนุนงานพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, 2535.
  • สุกัญญา ภัทราชัย, พรรัตน์ ดำรุงและชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. การแสดงพื้นบ้านภาคกลาง : การปรับปรนในชีวิตไทยสมัยใหม่.  กรุงเทพฯ : สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542.
  • พิมล เมฆสวัสดิ์, ชัชวาลย์  วงษ์ประเสริฐ และดวงกมล  อุ่นจิตติ.  การจัดสิ่งพิมพ์มหาวิทยาลัยในประเทศไทย.  กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2542.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ (หัวหน้าโครงการ)  โครงการการจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศ เรื่อง “เด็ก เยาวชน และครอบครัว”  ได้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปี 2542.
  • ชัชวาลย์  วงษ์ประเสริฐ และพฤษภพ สงวนเสริมศรี.  การพัฒนาโปรแกรมประยุกต์สำหรับการพัฒนาระบบศัพท์สัมพันธ์. ภาควิชาการจัดการสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, 2542.
  • ชัชวาลย์  วงษ์ประเสริฐและคนอื่นๆ (ทีมชุมชน). โครงการวิจัยระยะยาวในเด็กไทย. (25 ปี). ผู้สนับสนุนโครงการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข. ระยะแรก 3 ปี (พ.ศ. 2544-2546)
  • พรชุลี อาชวอำรุง และคนอื่นๆ (ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ ทีมวิจัย). กระบวนทัศน์และคุณลักษณะของข้าราชการไทย. กรุงเทพฯ: ก.พ.ร., 2547.
  • ชลภัสส์ วงษ์ประเสริฐ และคนอื่นๆ . การประเมินโครงการตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดปทุมธานี.  ปทุมธานี : มหาวิทยาลัยรังสิต, 2549. (ทุนวิจัยจากจังหวัดปทุมธานี)
  • สุกัญญา ภัทราชัย และคนอื่นๆ (ชลภัสส์ วงษ์ประเสริฐทีมวิจัย). เรื่อง การคุ้นครองภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยตามแผนพัฒนากฏหมายทรัพย์สินทางปัญญา ปี 2550  ทุนวิจัยจากกระทรวงพาณิชย์ (กำลังดำเนินการวิจัย มกราคม – เมษายน 2550)

Chollapat 03

หนังสือ

  • ชัชวาลย์  วงษ์ประเสริฐ. โส้ทั่งบั้งกับการเหยา. (โครงการส่งเสริมหนังสือตามแนวพระราชดำริ อันดับที่ 20 ) กรุงเทพฯ : ศักดิ์โสภาการพิมพ์, 2526.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. บรรณานุกรมอีสานวันนี้.  เล่ม 1. มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม, 2526.
  • ชัชวาลย์  วงษ์ประเสริฐ. บรรณานุกรมอีสานวันนี้. เล่ม 2.  มหาสารคาม :  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม, 2528.
  • ชัชวาลย์  วงษ์ประเสริฐ.  ศิลปะการฟ้อนภาคอีสาน.  มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม, 2532.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. การรวบรวมบรรณานุกรมงานวิจัยที่เกี่ยงข้องกับ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.  มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม, 2528.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. คู่มือการอบรมนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสานโครงการส่งเสริมวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. กรุงเทพฯ : โครงการมหาวิทยาลัย สนับงานพัฒนาโครงการน้ำพระทัยจากในหลวง, 2535.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. บริการสารนิเทศ.  ปทุมธานี : มหาวิทยาลัยรังสิต, 2537.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐและคนอื่นๆ.  สารนิเทศศาสตร์เบื้องต้น.  ปทุมธานี : มหาวิทยาลัยรังสิต, 2537.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. เอกสารประกอบการสอนวิชา IN 3305 การวิจัยและสำรวจประชามติ.  ปทุมธานี : มหาวิทยาลัยรังสิต, 2537..
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. เอกสารประกอบการสอนวิชา IMS 319 การจัดการบริการสารสนเทศ .  ปทุมธานี : มหาวิทยาลัยรังสิต, 2543.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. การปรับแต่งสารสนเทศ .  ปทุมธานี : มหาวิทยาลัยรังสิต, 2543.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. การจัดและการค้นคืนสารสนเทศ.  ปทุมธานี : มหาวิทยาลัยรังสิต, 2544.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. เอกสารประกอบการสอนวิชา IMS 212 สังคมสารสนเทศและผู้ใช้ .  ปทุมธานี : มหาวิทยาลัยรังสิต, 2544.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. ระเบียบวิธีวิจัยทางการจัดการสารสนเทศ.  ปทุมธานี : มหาวิทยาลัยรังสิต, 2544.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. “หน่วยที่ 5 แหล่งช่วยค้นคว้าประเภทแนะแหล่งสารสนเทศ  ตอนที่ 5.1 บรรณานุกรม ”, ใน เอกสารสารสอนชุดวิชา การบริการและเผยแพร่สารสนเทศ. ปทุมธานี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2546.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. “หน่วยที่ 5 แหล่งช่วยค้นคว้าประเภทแนะแหล่งสารสนเทศ ตอนที่ 5.2 แคตาล็อกของสถาบันบริการสารสนเทศ ”, ใน เอกสารการสอนชุดวิชา การบริการและเผยแพร่สารสนเทศ. ปทุมธานี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2546.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. “หน่วยที่ 5 แหล่งช่วยค้นคว้าประเภทแนะแหล่งสารสนเทศ ตอนที่ 10.1 บริการสารสนเทศทันสมัย ”, ใน เอกสารสารสอนชุด วิชา การบริการและเผยแพร่สารสนเทศ. ปทุมธานี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2546.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ.  สังคมสารสนเทศและความรู้.  ปทุมธานี : มหาวิทยาลัยรังสิต, 2547.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ.  การจัดการบริการสารสนเทศ. ปทุมธานี : มหาวิทยาลัยรังสิต, 2547
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ.  การจัดการบริการสารสนเทศ. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ปทุมธานี : มหาวิทยาลัยรังสิต, 2548
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. การจัดและการค้นคืนสารสนเทศ.  ปทุมธานี : มหาวิทยาลัยรังสิต, 2548.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ.  การจัดการสารสนเทศเบื้องต้น. กรุงเทพฯ : เอ็กเปอร์เน็ต, 2548
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ.  การจัดการความรู้ในองค์กรธุรกิจ. กรุงเทพฯ : เอ็กเปอร์เน็ต, 2548
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ.  การตลาดสารสนเทศ. นครศรีธรรมราช : มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, 2550

Chollapat 04

บทความ

  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. "บริการเอกสารประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น" บรรณารักษศาสตร์ มข. 2(2):1-13; เม.ย.2527.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. "การจัดทำหนังสืออ่านสำหรับชนบท" บรรณารักษศาสตร์ มข. 2(3):21-27 สค. 2527.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. "สัญลักษณ์ในห้องสมุด"  ชาวบรรณ 27 หน้า 17-27 มหาสารคาม:สำหนักหอสมุดกลางและภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม, 2527.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. "ศูนย์เอกสารอีสาน สำนักหอสมุดกลาง มศว. มหาสารคาม" บรรณารักษศาสตร์ มข. 3(1) : 53-69:ธ.ค.2527.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ "การคาดการณ์ถึงผลกระทบของเครื่องจักรในการทำบัตรรายการ" ชาวบรรณ 28 หน้า 46-52. มหาสารคาม : สำนักหอสมุดกลางและภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม, 2528.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ  "ผลการตรวจตราสิ่งพิมพ์ที่มีต่อการพัฒนาทรัพยากรห้องสมุด"  ชาวบรรณ 29 หน้า 83-91 มหาสารคาม : สำนักหอสมุดกลางและภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม, 2529.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ " ความสัมพันธ์ของการสื่อสารกับสารนิเทศ"  ชาวบรรณ 30  มหาสารคาม : สำนักหอสมุดกลางและภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม, 2530.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. "การประเมินประสิทธิภาพบริการตอบคำถาม" บรรณารักษศาสตร์ มข. 5(2) : 23-30:เม.ย.2530.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. "ระบบหอสมุดรัฐสภาอเมริกันกับการแก้ปัญหาหมวดกฎหมาย" บรรณารักษศาสตร์ มข. 6(1) : 34-78:ธ.ค.2530.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. "ห้องสมุด : แหล่งสนเทศทางอาชีพ" ว.แนะแนว  34-40 : มิ.ย.-ก.ค.2530.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. "ศูนย์สารนิเทศเกี่ยวกับน้ำฝน (WASH)"  บรรณารักษศาสตร์ มข.  6(2):20-22;เม.ย. 2531.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. "การพัฒนาระบบสัญลักษณ์ในห้องสมุด"  บรรณารักษศาสตร์ มข. 6(3) : 59-77; ส.ค. 2531.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ." กฎหมายหอสมุดวชิรญาณ"  ว. ห้องสมุด. 33(4): 22-32; ต.ค.-ธ.ค. 2532.
  • ชัชวาลย์  วงษ์ประเสริฐ. "การจัดชั้นหนังสือ : ปราการด่านหน้าของผู้ใช้ที่จะไม่ได้หนังสือตามต้องการ"  ข่าวสารสำนักวิทยบริการและภาควิชาบรรณารักษศาสตร์.  2(3) : 3-7; พ.ค.-มิ.ย. 2531.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ.  "การถ่ายทอดสารนิเทศ" ข่าวสารสำนักวิทยบริการและ ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์. 3(2): 19-22; มี.ค.-มิ.ย. 2532./ 3(3) : 13-17; ก.ค.-ส.ค. 2532/ 3(4) : 18-20 ก.ย.-ต.ค. 2532.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ "บัตรรายการ : คุณประโยชน์ที่ต้องทบทวน"  ชบอ. สาร  10(3):24-31; ก. ย.-ธ.ค. 2533.
  • ชัชวาลย์  วงษ์ประเสริฐ. "กลยุทธ์การตลาดในงานบริการสารนิเทศ" บรรณารักษศาสตร์ มข. 9(1):24-31; ธ.ค. 2533.
  • ชัชวาลย์  วงษ์ประเสริฐ.  "ระบบห้องสมุด:ความสำพันธ์ที่ทัดเทียม"  โดมทัศน์ 11 (2):48-52; ม.ค.-มี.ค. 2533.
  • ชัชวาลย์  วงษ์ประเสริฐ.  "ผู้บริหารงานห้องสมุด :  ทัศนะจากงานวิจัย"  ว. ห้องสมุด.  35(1):51-55;ม.ค.-มี.ค. 2534.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ.  "พัฒนาการการดำเนินงานห้องสมุดในประเทศไทยจากผลการวิจัย"  บรรณารักษศาสตร์ มข. 7(1):32-52; ธ.ค. 2531.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. " การฟ้อนศิลปาชีพ" ใน งานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย ครั้งที่ 13 .  มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม, 2532.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. "กิจกรรมของห้องสมุดประชาชน" ในเอกสารประกอบการอบรมบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน.  มหาสารคาม : ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม, 2526.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ.  "โครงการนิทรรศการหนังสือสัญจร :โอกาสใหม่ของการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือ"ใน เอกสารประกอบการประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 31 ของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย. เรื่องห้องสมุดกับสารนิเทศเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต.  กรุงเทพฯ : สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย, 2534.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ.  "รวมรายชื่อวารสาร:ทัศนะจากบรรณารักษ์"  ในเอกสารประกอบการสัมมนาการบรรณาธิการข้อมูล โครงการรวบรวมรายชื่อวารสารในประเทศไทยด้วยคอมพิวเตอร์. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4.  กรุงเทพฯ :  ทบวงมหาวิทยาลัย, 2534.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ.  "การประชาสัมพันธ์ห้องสมุด : แนวคิดและการปฏิบัติ" ในเอกสารการสัมมนาทางวิชาการห้องสมุดสารนิเทศ.  กรุงเทพฯ :  กรมพลศึกษา, 2534.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. "กลยุทธ์การจัดการสารนิเทศเพื่อการพัฒนา"  ในบทนำเอกสารประกอบการประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 32 จัดโดยสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย เรื่องกลยุทธ์การจัดการสารนิเทศเพื่อการพัฒนา.  กรุงเทพฯ : สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย, 2534.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. “ยุคสารนิเทศจะละเลย นักสารนิเทศเชียวหรือ?” สยามรัฐ. 3 กุมภาพันธ์ 2535 หน้า 12.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. "อาชีพนักสารนิเทศ"  ชบอ.สาร 12(3):55-62; กันยายน-ธันวาคม 2536.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ. "การศึกษาผู้ใช้และความต้องการใช้สารนิเทศ:ทัศนะจากงานวิจัย" ใน บริการสารนิเทศ:สนองความต้องการผู้ใช้จริงหรือ?  การประชุมสามัญประจำปี  2536. กรุงเทพฯ: สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย, 2536.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ.  "ละครเมืองเพชร"  วารสารศิลปวัฒนธรรม.  16(5):164-171; มีนาคม 2538.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ.  “การประยุกต์แนวคิดการตลาดในการบริการสารสนเทศ”,  วารสารสำนักวิทยบริการ.  5(2): 26-36; พฤษภาคม-สิงหาคม 2543.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ.  “การปรับกระบวนทัศน์ใหม่ในการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศ”,  วารสารสำนักวิทยบริการ.  5(3): 26-33; กันยายน-ธันวาคม 2543.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ.  “Scanning of Environment: ของสังคมไทยที่จะเปลี่ยนแปลง”,  วารสารสำนักวิทยบริการ.  6(1): 44-49; มกราคม-เมษายน 2544.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ.  “สภาพการจัดการเรียนการสอนบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ในปัจจุบัน”,  วารสารสำนักวิทยบริการ.  6(2): 15-20; พฤษภาคม-สิงหาคม 2544.
  • ชัชวาลย์  วงษ์ประเสริฐ. สภาพการจัดการเรียนการสอนบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ในปัจจุบัน. เอกสารประกอบการสัมมนาการปรับปรุงหลักสูตรบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์.  สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี 2544.
  • ชัชวาลย์  วงษ์ประเสริฐ. Scanning of Environment สภาพสังคมไทยที่มีผลต่อการพัฒนาห้องสมุดและการจัดการศึกษาทางบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์. เอกสารประกอบการสัมมนาการปรับปรุงหลักสูตรบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์.  สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี 2544.
  • ชัชวาลย์  วงษ์ประเสริฐ. การจัดตั้งศูนย์สารสนเทศท้องถิ่น. เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องรูปแบบของสำนักวิทยบริการเพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาท้องถิ่น : การจัดและดำเนินงานสารสนเทศท้องถิ่น. สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี, 2544.
  • ชัชวาลย์  วงษ์ประเสริฐ. ความท้าทายด้านการวิจัยแนวใหม่. เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องกระบวนทัศน์ใหม่สำหรับวิชาชีพบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ในยุค 2000. มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2544.
  • ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ.  “การพัฒนาระบบบริการสารสนเทศ,”  รังสิตสารสนเทศ.  8(2) กรกฎาคม – ธันวาคม 2545.
  • ชลภัสส์ วงษ์ประเสริฐ. “การจัดการความรู้แนวคิดที่ต้องทบทวน,” เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง การจัดการความรู้ในห้องสมุด. มหาวิทยาลัยแม่โจ้, 2549.

Chollapat 05

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี

มุทิตาจิตอาจารย์ผู้เกษียณ ผศ. ดร.ชลภัสส์ วงษ์ประเสริฐ

redline

backled1

mp3

benjamin 01

เบญจมินทร์ (นายตุ้มทอง โชคชนะ)

benjamin 03นายตุ้มทอง โชคชนะ หรือที่เรารู้จักกันในนาม เบญจมินทร์ เป็นนักร้อง/นักแต่งเพลงรุ่นเก่าชื่อดัง ที่ได้รับฉายาว่า "ราชาเพลงรำวง" ในยุคที่วงการเพลงลูกทุ่งเพิ่งจะเริ่มบุกเบิก นอกจากนั้นก็ยังเคยสร้างและกำกับภาพยนตร์ เขียนบทละคร และภาพยนตร์หลายเรื่อง รวมทั้งร่วมแสดงภาพยนตร์อีกด้วย

ในวงการเพลง เบญจมินทร์ เป็นที่รู้จักอย่างมากจากเพลงรำวงอย่าง เมขลาล่อแก้ว รำวงแจกหมวก แมมโบ้จัมโบ้ อึกทึก สาลิกาน้อย รำวงฮาวาย รำเต้ย และอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนเพลงลูกทุ่งเขาโด่งดังจากเพลงแนวเกาหลีหลายเพลง เป็นต้นฉบับแนวเสียงของ "สุรพล สมบัติเจริญ" เจ้าของฉายา ราชาเพลงลูกทุ่ง และเป็นคนเปิดศักราชลูกทุ่งอีสาน และชาวอีสานในวงการเพลงลูกทุ่งของเมืองไทย ช่วงที่กำลังรุ่งโรจน์ ปี พ.ศ. 2490 - 2495 เพลงของเขาได้รับความนิยม และมักสอดแทรกด้วยอารมณ์ขัน อย่างเช่น เพลง "ไปเสียได้ก็ดี" ซึ่งบันทึกเสียงเมื่อปี พ.ศ. 2495

นายตุ้มทอง โชคชนะ (ในช่วงหลังเปลี่ยนมาเป็น คนชม) เป็นชื่อ-นามสกุลจริง เกิดเมื่อ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 ที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของสิบเอกบุญชู โชคชนะ นับถือศาสนาพุทธ คุณพ่อเป็นชาวบ้านย่อ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดอุบลราชธานี (ในสมัยนั้น) ปัจจุบันขึ้นอยู่กับ จังหวัดยโสธร และนางคูณ โชคชนะ เป็นชาวเวียงจันทน์ สปป.ลาว นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และเป็นต้นเสียงขับร้องเพลงในโบสถ์ และด้วยบทบาทในศาสนกิจของแม่นี่เองที่ทำให้ เบญจมินทร์ ได้ซึมซับจดจำเป็นแม่แบบทางด้านศิลปะการขับร้อง ตั้งแต่อายุได้ 3 ขวบ

เรียนจบชั้นมัธยมบริบูรณ์จาก โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช (โรงเรียนประจำจังหวัดชาย) ที่บ้านเกิด ซึ่งเขานำชื่อของโรงเรียนมาดัดแปลงเป็นชื่อสมญา "เบญจมินทร์" เมื่อทำงานในวงการบันเทิง สมัยเป็นนักเรียน เขาชื่นชอบวิชาภาษาไทยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน จึงเริ่มศึกษาเรื่องการแต่งเพลง จากผลงานของครูเพลงอย่าง พรานบูรพ์, นารถ ถาวรบุตร, พุฒ นันทพล, จำรัส รวยนิรันทร์ และมานิต เสนะวีนิน ด้วยการนำเนื้อเพลงของท่า่นเหล่านี้มาอ่าน ท่องจำ จนเกิดความรู้เรื่องการสัมผัสคำ อักขระ พยัญชนะ วรรคตอน โดยไม่มีครูที่ไหนมาสอน

หลังจบการศึกษา เบญจมินทร์ สมัครเข้าเป็นตำรวจและได้รับยศเป็นพลตำรวจ ทำงานอยู่ได้แค่ปีเดียวก็ลาออก และเข้ากรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2480 ก่อนจะสมัครเป็นครูเทศบาล ได้สอนชั้นประถมปีที่ 3 ที่โรงเรียนแถบปทุมวัน 2 ปี ต่อมาอพยพไปอยู่ นครนายก แต่ก็ย้ายกลับเมืองหลวงอีกครั้ง และทำงานหลากหลายอาชีพ ทั้งครู นักหนังสือพิมพ์ พนักงานที่ดิน พนักงานเทศบาล

benjamin 06

ทำงานกับ หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ รุ่นเดียวกับ อิศรา อมันตกุล ต่อมาย้ายมาอยู่ หนังสือพิมพ์เอกราช เมื่อมีการสังสรรค์หลังเลิกงาน เขามีโอกาสแสดงความสามารถทางด้านการร้องเพลง และแต่งเพลง (ในวงเหล้า) ทำให้ อิงอร หรือ ศักดิ์เกษม หุตาคม เห็นแวว จึงชักชวนมาร้องเพลงสลับฉากในละคร ดรรชนีไฉไล เป็นเรื่องแรก (บางแหล่งที่มา บอกว่าเขาร้องเพลงแรกในชีวิต ชือเพลง ชายฝั่งโขง ประพันธ์โดย จำรัส รวยนิรันดร์) เริ่มเป็นที่รู้จักและชื่นชอบจากเพลง ชายฝั่งโขง ขณะที่ร้องอยู่กับ วงดนตรีดุริยโยธิน แต่มาโด่งดังสุดขีดหลังจากหันมาร้องเพลงรำวงอย่างจริงจัง เขาจึงจับแนวเพลงประเภทนี้มาตลอด จนถึงยุคที่เพลงรำวงเสื่อมความนิยม และถูกเพลงลูกทุ่งเข้ามาแทนที่ นักร้องคนอื่นๆ หันไปร้องเพลงลูกทุ่งกันหมด แต่ เบญจมินทร์ ก็ยังคงร้องเพลงรำวงอยู่เช่นเดิม

เข้าสู่วงการเพลงเป็นนักร้อง ซึ่งเป็นนักร้องรุ่นเดียวกันกับ เสน่ห์ โกมารชุน ชะลอ ไตรตรองสอน เนียน วิชิตนันท์ กุงกาดิน หรือ นคร ถนอมทรัพย์ เสียงของ เบญจมินทร์ เป็นที่รู้จัก และประทับใจแก่แฟนเพลง ด้วยเพลง "ชายฝั่งโขง" ถือว่าเป็นผู้บุกเบิก โดยการนำเอาเพลง รำวงรำโทน มาบันทึกแผ่นเสียงออกจำหน่าย และได้หันมาแต่งเพลงรำวงอย่างเอาการเอางาน

อายจันทร์ ประพันธ์/ขับร้องโดย เบญจมินทร์

การประพันธ์เพลง

ก่อนเข้ากรุงเทพฯ เบญจมินทร์ หลงใหลเพลงรำวง - รำโทนอย่างมาก ทั้งยังเคยเข้าร่วมร้องเพลงในวงรำวง - รำโทนแถวบ้านด้วย ทำให้เขาเชี่ยวชาญเรื่องบทเพลงทำนองนี้อย่างมาก เมื่อได้รับการติดต่อจากบริษัทแผ่นเสียง จึงนำความเชี่ยวชาญนี้มาใช้อย่างจริงจัง

เขาเคยกล่าวว่า "การแต่งเพลงได้รับอิทธิพลมาจากครูศิลปินที่ชื่นชอบ "พรานบูรพ์" (จวงจันทร์ จันทร์คณา) เพลงแรกที่แต่งเอง "กล่อมขวัญใจ" ไม่ได้บันทึกเสียง แต่กลับนำไปร้องกล่อมเด็กข้างบ้าน"

หันมาแต่งเพลงอย่างจริงจังเมื่อราวปี พ.ศ. 2488 ซึ่งขณะนั้น รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม กำลังสนับสนุนเพลงรำวง - รำโทนอย่างมาก โดยชุดแรกมี 10 เพลง หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ "เมฆขลาล่อแก้ว" ในช่วงแรก แต่งให้กับ ห้างแผ่นเสียง บริษัท กมลสุโกศล ในราคาเพลงละ 500 บาท เพลงยังใกล้เคียงกับของเดิม คือเป็นเพลงสั้นๆ ประมาณ 2 ท่อน เป็นการหยิบเอามรดกดั้งเดิมของรำโทนอีสาน มาปรับปรุงตกแต่งให้น่าสนใจยิ่งขึ้น

ปี พ.ศ. 2491 เมื่อเริ่มมีการบันทึกแผ่นเสียงเพลงรำวง - รำโทน เบญจมินทร์ เร่งผลิตผลงานให้ ห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ ราว 50 เพลง ได้ค่าจ้างแต่งเพลงๆ ละ 500 บาท ในช่วงนี้ เขาได้สร้างแบบฉบับของตัวเองขึ้นมาอย่างโดดเด่น จากเพลงรำวงแบบเดิม ที่มีอยู่ 2 ท่อน ก็เพิ่มเป็น 3 - 4 ท่อน รวมทั้งใส่พล็อตเรื่องและเพิ่มเครื่องดนตรีลงไป แทนที่จะมีแต่กลองโทนเป็นหลัก และก็ได้รับความนิยมอย่างสูง จน สาหัส บุญหลง (พฤหัส บุญหลง) เพื่อนร่วมคณะละคร ตั้งฉายาให้เขาว่า ราชาเพลงรำวง ระยะนี้เขามีผลงานทั้งประเภทแต่งเอง ร้องเอง ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างดี เพลงดังที่สุดในยุคนั้นชื่อ "รำเต้ย" ที่ขึ้นต้นว่า "สวยก็จริงนะสาว ขาวก็จริงนะน้อง..." นอกจากนี้ ยังมีเพลงที่แต่งให้คนอื่นร้อง และร้องเพลงของครูเพลงท่านอื่นด้วย

แม้กระทั่ง บริษัท อัศวินแผ่นเสียงและการละคร ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ก็ยังรับสั่งให้ช่วยแต่งเพลง ยังความปลาบปลื้มแก่ เบญจมินทร์ อย่างยิ่ง

รักแท้จากหนุ่มไทย ประพันธ์/ขับร้องโดย เบญจมินทร์

ที่มาของเพลงดังชุด "เกาหลี-อารีดัง"

ตอนที่ร้องเพลงสลับฉากละคร โชคชะตาทำให้ได้เจอกับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อไปร่วมงานวันเกิดของท่าน และด้วยความเมา ประกอบกับน้ำเสียงในการร้องเพลง ทำให้จอมพลเสฤษดิ์เกิดถูกชะตารับเข้าเป็นทหาร ซึ่งเบญจมินทร์เคยเล่าไว่ว่า

“วันหนึ่งผมกําลังร้องเพลงสลับละครอยู่ที่โรงละครศรีอยุธยา ล้อต๊อกเขาก็เล่นละครอยู่ที่นั่น เขาก็มาพบผมที่หลังโรงละคร เขาบอก "เฮ้ย…ตุ้ม" (ชื่อของเบญจมินทร์) "จอมพล สฤษดิ์ อยากจะพบ" ผมถามว่า "พบเรื่องอะไร"

ล้อต็อกก็เล่าให้ฟังบอกว่า "จอมพล สฤษดิ์บอกว่า ไอ้เบญจมินทร์มันเป็นใครวะ มันร้องเพลงดีว่ะ อยากจะรู้จักมัน" ผมก็เลยถามล้อต๊อกว่า "แล้วจะไปพบท่านได้ยังไง ผมกลัวเพราะจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชื่อเสียงเวลานั้นไม่มีใครกล้าเล่นด้วย" ล้อต๊อกบอก "ไปสิไปด้วยกัน วันที่ 16 มิถุนายน วันเกิดท่าน ไปที่ฝั่งธนฯ บ้านท่านอยู่ฝั่งธนฯ" ก็ไปพบท่านนั่งอยู่บ้านริมน้ำที่บางพูน นั่งกินเหล้าอยู่กับ พล.ต. ประภาส จารุเสถียร, พล.ท. ถนอม กิตติขจร และ พล.ต. ขาบ กุญชร ณ อยุธยา ได้ร้องเพลงให้ท่านฟัง ซึ่งท่านพึงพอใจมากปรบมือให้ และเรียกเข้าไปใกล้ๆ และถามชีวิตส่วนตัว พร้อมทั้งเอ่ยปากว่า

มึงอยากเป็นทหารไหม พรุ่งนี้ไปหาคุณประภาส ไปรายงานตัวเขา ”

เบญจมินทร์จึงได้ไปเป็นทหารประจําที่ กองดุริยางค์ทหารบก วันหนึ่งขณะไปทํางานที่กองดุริยางค์ ซึ่งอยู่ด้านหลังองค์การเภสัชกรรม มีนายทหารคนหนึ่งออกมาจากกองดุริยางค์ เห็น เบญจมินทร์ ลงจากรถสองล้อจึงเข้ามาสอบถาม “ไปเกาหลีไหม” “ไปสิครับ” เบญจมินทร์ตอบแบบไม่ลังเล เหมือนคราวที่ตัดสินใจเป็นทหารเมื่อถูกชวนจากจอมพลสฤษดิ์

จากนั้นอีกสองสามวันหนังสือตอบรับจากกรมผสมที่ 21 ถูกส่งไปถึงบ้าน บอกว่าพร้อมจะให้ เบญจมินทร์ เดินทางไปกล่อมขวัญทหารไทยที่สมรภูมิเกาหลี เมื่อรับหนังสือแล้ว เบญจมินทร์ก็นําหนังสือนั้นไปหา จอมพลสฤษดิ์ แจ้งให้ท่านทราบ

“อั๊วเอามึงเป็นทหาร ไม่ใช่ให้มึงไปเกาหลี กูให้มึงอยู่กับกู มึงจะไปเกาหลี มันหนาวนะ” จอมพลสฤษดิ์ พูดเสียงดัง

“ครับ ผมรู้ว่ามันหนาว แต่การไปเกาหลีก็เพื่อจะได้สิทธิพิเศษ เพื่อต้องการได้เหรียญกล้าหาญ ผมมีเมีย มีลูก ลูกผมจะได้เรียนหนังสือ” เป็นคําชี้แจงของเบญจมินทร์

เมื่อจอมพลสฤษดิ์ฟังแล้ว ก็อนุญาตให้ไปเกาหลีได้ และส่งเงินให้ 3,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว เบญจมินทร์ กลับไปบอกภรรยาที่บ้าน ซึ่งก็มิได้รับการทัดทานใดๆ

ต่อมาจึงได้ไปร่วมรบใน สมรภูมิเกาหลี ตามคำชักชวนของนายทหาร กองดุริยางค์ทหาร ในปี พ.ศ. 2499 อยู่ที่เกาหลีนาน 6 เดือน เมื่อกลับมาได้แต่งเพลงเกี่ยวกับเกาหลีมากมายหลายเพลง ทั้ง อารีดัง, เสียงครวญจากเกาหลี, รักแท้จากหนุ่มไทย และ เกาหลีแห่งความหลัง ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุด

เพลง เสียงครวญจากเกาหลี มีเกร็ดสำคัญที่เบญจมินทร์อยากจะเล่าให้ฟังคือ

“ทีแรกผมบอกกับ ผ่องศรี วรนุช ว่า "ผ่องร้องเพลงนี้ให้ลุงหน่อย" เขาบอก "ร้องไม่ได้ ไม่มีเวลา" (ขณะนั้น ผ่องศรี วรนุช เป็นนักร้องอยู่ในวงดนตรีของ สุรพล สมบัติเจริญ) ผมเลยหันไปหา สมศรี ม่วงศรเขียว บอก "สมศรีมาร้องเพลงนี้ให้ลุง" สมศรีเขาก็มาร้องเพลงนี้จนมีชื่อเสียง ตอนหลังผ่องศรีก็มาต่อว่าผมว่า ทำไมเอาไปให้คนอื่น ผมบอกว่า "ลุงบอกให้เธอร้องเพลงให้ลุง แล้วเธอไม่ร้อง ลุงก็เลยเอาไปให้คนอื่นร้อง เขามีชื่อเสียงแล้วมาเสียใจเรื่องอะไรกัน” หลังจากรับราชการทหารได้ 5 ปี ก็ลาออกจากกองทัพ

เสียงครวญจากเกาหลี ขับร้องโดย สมศรี ม่วงศรเขียว ประพันธ์โดย เบญจมินทร์

ต้นฉบับรำวงแบบเบญจมินทร์ ได้สร้างความประทับใจแก่แฟนเพลงในยุคนั้น ยากที่คนอื่นจะตามทัน จนมีผู้ให้สมญานามว่าเป็น "ราชาเพลงรำวงของเมืองไทย" เบญจมินทร์ยังมีผลงานเพลงที่ออกแนวหวานอมตะ เป็นผู้เจียระนัยและป้อนเพลงหวานๆ ให้กับ "ทูล ทองใจ" นักร้องผู้ผูกขาดแนวเพลงหวานซึ้งของวงการลูกทุ่งเมืองไทย ที่ได้บันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกในชีวิตจากการแต่งของท่านในเพลง “พี่ทุยหน้าทื่อ” ในช่วงปี พ.ศ. 2499 - 2500 และเพลงที่ทำให้ คุณทูล  ทองใจ มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศก็คือเพลง โปรดเถิดดวงใจ” นวลปรางนางหอม ในฝัน เหนือฝัน เป็นต้น

และได้สร้างศิษย์รักอีกคนหนึ่ง เพื่อสืบทอดแนวเพลงรำวง ก็คือ “คุณกุศล  กมลสิงห์” เป็นศิษย์คนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้ร้องเพลงที่ครูเบญจมินทร์แต่งเพลงไว้หลายเพลง เช่น รักริษยา รอยจูบ เสน่ห์ตา วาจาเศรษฐี เป็นต้น ตัวท่านเองก็ประพันธ์เอง ขับร้องเองจนได้รับความนิยม เช่น ไม่ใช่หัวตอ หนาวอารมณ์ ทูนหัวอย่าร้องไห้ ยอดรักพี่อยู่ไหน และสุดยอดเพลงรำวงที่โด่งดัง ได้รับความนิยมและนำมาร้องกันจนถึงในยุคปัจจุบัน คือ ผลงานเพลง "รำเต้ย" อันลือลั่น

รำเต้ย ประพันธ์/ขับร้องโดย เบญจมินทร์

และด้วยความทรนง อันเป็นนิสัยส่วนตัวอันสำคัญของเขา เมื่อความนิยมในผลงานเพลงของเขาสู้กับนักร้องรุ่นใหม่อย่าง สุรพล สมบัติเจริญ ไม่ได้ รวมทั้งเกิดกรณีการแต่งเพลงตอบโต้กัน โดย เบญจมินทร์ เขียนเพลง "อย่าเถียงกันเลย" ต่อว่า สุรพล สมบัติเจริญ กรณีที่ร้องเพลงตำหนิ ผ่องศรี วรนุช ที่ลาออกจากวงไป และ สุรพล ก็แต่งเพลงตอบโต้เขาชื่อ "สิบนิ้วขอขมา" ซึ่งเสียงตอบรับของแฟนเพลงก็หันไปทาง สุรพล มากกว่า ดังนั้น เบญจมินทร์ จึงได้ยกกิจการวงดนตรี "เบญจมินทร์และสหาย" ที่เพิ่งตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2507 ให้แก่ลูกศิษย์รักคนที่สอง กุศล กมลสิงห์ เจ้าของฉายา ขุนพลเพลงรำวง และหันหลังให้กับวงการเพลงทันทีอย่างไม่แยแส ในปี พ.ศ. 2508 ก่อนจะหันไปจับงานบันเทิงสาขาใหม่

เพลงตอบโต้กัน ของสองครูเพลง เบญจมินทร์ กับ สุรพล สมบัติเจริญ

การทำหนัง-ละคร และงานเขียน

สร้างภาพยนตร์เรื่อง "เสือเฒ่า", "ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ" และ "แสนงอน" เคยเป็นพระเอกใน "เพื่อนตาย" และพระรองใน "สุภาพบุรุษเสือไทย" ตลอดจนเป็นตัวประกอบใน "ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น" เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง "ไอ้โต้ง", "แผลหัวใจ" เขียนบทละครโทรทัศน์เรื่อง "ขุนแผนผจญภัย" นอกจากนี้ก็ยังเคยเขียนบทความลงใน หนังสือพิมพ์บ้านเมือง รวมทั้งเรื่องสั้นอีกหลายเรื่อง

benjamin 04

ชีวิตและผลงานของ เบญจมินทร์ ได้ผ่านวงการบันเทิงไทยมาทุกรูปแบบ โดยเริ่มจากการสร้างภาพยนตร์ จนทำให้ "ภัทราวดี (ศรีไตรรัตน์) มีชูทน" นางเอกของเรื่อง ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองจากเรื่อง "ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ" นอกจากนี้ยังได้แสดงภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง โดยได้รับบทเป็นพระเอกเช่นเรื่อง "เพื่อนตาย" ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในการแสดงคือ เรื่อง ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น ของ ท่านมุ้ย มจ. ชาตรี ยุคล

จับ โดย ครูเบญจมินทร์ ในภาพยนตร์เรื่อง "มือเสือ" (2506)

ชีวิตครอบครัว

สมรสกับนางทองขาว มีบุตรธิดารวม 5 คน ได้แก่ เบญจมินทร์, มณเฑียร, ขวัญทิพย์, มณฑล และอาริยา ไม่เคยมีบ้านเป็นของตนเองแม้แต่หลังเดียว จนกระทั่งในช่วงบั้นปลายชีวิต เขาได้ขอเจียดที่ดินจากเจ้าของที่ดินย่านคลองประปา ซึ่งเป็นเจ้าของร้านข้าวแกงที่เขาติดอกติดใจ ปลูกบ้านหลังเล็กๆ บนพื้นที่ขนาด 3 คูณ 4 เมตร เพื่อใช้อาศัยอยู่ตามลำพัง แยกจากครอบครัว แม้ว่าตัวเองจะป่วยเป็นอัมพฤกษ์ก็ตามที

การสร้างสรรค์ผลงานเพลงลูกทุ่ง ทั้งการขับร้องและประพันธ์ไว้เป็นอมตะมากมาย และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เบญจมินทร์ เป็นผู้มีอุปนิสัยซื่อตรง ไม่เสแสร้ง อันเป็นอุปนิสัยของคนอีสานอย่างแท้จริง เป็นผู้มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองสูง มีความทะนงในความเป็นศิลปินพอๆ กับความเฉยเมยต่อความช่วยเหลือ แม้ขณะที่มีความทุกข์ยากลำบาก จนแม้วาระสุดท้ายของชีวิต

benjamin 05

ปูชนียบุคคลชาวอีสาน ผู้เอกอุและอุดมหลากหลายในงานศิลป์ ท่านเป็นผู้บุกเบิกแผ้วถางทางให้ชาวอีสานรุ่นหลัง ได้มีที่ยืนในวงการเพลงบ้านเรา จากการทำงานหนักมาตลอดชีวิต และแล้วในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2537 เวลาประมาณ 02.00 น. ท่านได้สิ้นใจบนรถแท็กซี่ ระหว่างการนำตัวส่งโรงพยาบาลรามาธิบดี แพทย์ระบุว่า ท่านเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลว ราชาเพลงรำวงผู้ยิ่งใหญ่ก็ได้ลาจากโลกนี้ไปด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุ 73 ปี

ผลงานเกียรติยศของครูเบญจมินทร์

  • ผลงานการประพันธ์เพลง ประมาณ 500 เพลง
  • พ.ศ. 2525 ได้รับพระราชทานพระพุทธรูป จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะที่เป็น นักร้องเก่าแก่ของเมืองไทย
  • พ.ศ. 2532 ได้รับรางวัลพระราชทาน "ประพันธ์เพลงดีเด่น" จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการจัดงาน กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 1 ในเพลง “โปรดเถิดดวงใจ” ขับร้องโดย ทูล  ทองใจ
  • พ.ศ. 2534 ได้รับรางวัลพระราชทาน 2 รางวัล คือ ประพันธ์เพลงดีเด่น และ ขับร้องเพลงดีเด่น จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงาน กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2 ในเพลง “รำเต้ย” ซึ่งแต่งเอง ขับร้องเอง

100 ปีชาตกาล ครูเบญจมินทร์

เนื่องในวาระครบ 100 ปีชาตกาล ครูเบญจมินทร์ (23 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 - 23 พฤษภาคม 2564) รายการ "สารพันลั่นทุ่ง (บางเขน)" ทางสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล ThaiPBS ช่องหมายเลข 3 จึงจัดรายการ เล่า 100 ปีชาตกาล 'ครูเบญจมินทร์' ขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 20 มีนาคม 2564 โดยนำผู้ได้มีส่วนเกี่ยวข้องมาเล่าเรื่องราวพร้อมเพลงอันเป็นผลงานของครูเบญจมินทร์ ชมคลิปย้อนหลัง

เล่า 100 ปีชาตกาล "ครูเบญจมินทร์" : สารพันลั่นทุ่ง (บางเขน)

redline

backled1

mp3

on uma sing siri 03

อรอุมา สิงหศิริ นักร้องลูกทุ่งอีสาน เจ้าของผลงานเพลง "สาวอิสานรอรัก"

อรอุมา สิงหศิริ

ชื่อในวงการ อรอุมา สิงหศิริ และชื่อ-นามสกุลจริงของเธอก็ อรอุมา สิงหศิริ ก็ชื่อเดียวกัน เกิดเมื่อวันที่  12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 ภูมิลำเนาบ้านเกิด ตำบลจุมพล อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย บิดาชื่อ นายผ่อน สิงห์ศิริ มารดา นางสายทอง สิงห์ศิริ มีพี่น้อง 1 คน จบการศึกษาจาก โรงเรียนชุมชนโพนพิสัย

แรงบันดาลใจและผู้ชักนำเข้าวงการ คือ คุณสยามพล รพีพรรณ โดยอรอุมามีผลงานเพลงดังเป็นที่รู้จักมากมาย เช่น สาวอีสานรอรัก, อรอุมาจะบานีบี, ออนซอนเสียงซอ, สาวหมอลำ, ช้ำรัก, แม่ค้าส้มตำ, บ่ลืมพีที่ยโสธร, รัสปูตินข้าวเหนียว, สัญญารักที่ศาลาลอย

รางวัลเกียรติยศ เคยได้ตุ๊กตาทองมหาชนจากหนังสือพิมพ์บ้านเมือง และเพลงสาวอีสานรอรักได้รับเลือกให้ไปร่วมมหกรรมเพลงนานาชาติมาแล้ว

เป็นนักร้องที่ผม (อาวทิดหมู มักม่วน) ได้พยายามค้นหาประวัติมาได้น้อยมากครับ มีเพียงเป็นเกล็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ได้จากบุคคลต่างๆ ที่รู้จักเธอบ้างเท่านั้น เลยเอามาฝากกันตามนี้ครับ

on uma sing siri 01

บันทึกจาก เทพบุตร สติรอดชมภู

ย้อนอดีตเมื่อวันวาน จากซ้าย นักร้องหนุ่มหุ่นทรมานใจสาว เทพพร เพชรอุบล ต่อมา ราชินีหมอลำคนแรกของประเทศไทย ฉวีวรรณ ดำเนิน ศิลปินแห่งชาติ คนต่อมาก็หมอลำสาวนางเอกหมอลำผู้สร้างประวัติศาสตร์ เพลงดังทะลุฟ้าที่สุดในประเทศไทย "สาวอีสานรอรัก" อรอุมา สิงห์ศิริ คนต่อมา สร้างประวัติศาสตร์ เพลงร้องคู่ เป็นเทปคาสเซ็ทขายดีที่สุดในประเทศไทยที่ร้องคู่กัน ชุด "หนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ" น้องนุช ดวงชีวัน และสรเพชร ภิญโญ เหลือเชื่อว่า มายืนประกบคนดังที่สร้างประวัติศาสตร์วงการเพลง วงการหมอลำของสยามประเทศ ที่ลือลั่นจารึกไว้ในตำนานเล่าขานจนถึงปัจจุบัน

เทพพร เพชอุบล ตอนอัดเสียง เพลงคิดฮอดอ้ายแหน่เด้อ และเสียงแคนแทนใจ เสียงแหบแห้งจนโดนพี่อมรฤทธิ์ ไล่ออกจากห้องอัด มากราบวิงวอน เทพบุตร ขอแก้ตัวเป็นครั้งสุดท้าย ผลที่สุดก็อัดติดและได้เป็นแผ่นเสียง จึงได้มีชื่อเสียงในวันนั้นและเป็นเพลงที่ดังที่สุด ของเทพพร เพชรอุบล เป็นเพลงที่มีอาถรรพณ์ เกือบจะไม่ได้อัดแล้ว จนนาทีสุดท้าย ก็อัดติดและอัดได้ ชนิดหวาดเสียวที่สุด จนเทพพร ร้องไห้สะอึกสะอื้น ด้วยความดีใจ ตื้นตันใจ

ส่วนฉวีวรรณ ดำเนิน ผมพาไปอัดเสียงที่ห้องอัด กมลสุโกศล กลอนลำยาว ผมตั้งชื่อกลอนว่า ลำยาวอำลาทุ่งรวงทอง และกลายเป็นกลอนที่ดังที่สุดของ ฉวีวรรณ ดำเนิน จนต่อมาได้เป็นศิลปินแห่งชาติ.

ส่วน อรอุมา สิงห์ศิริ เธอคือหมอลำสาว นางเอกคณะ เมืองพลรุ่งพัฒนา เป็นส่วนเกิน มาแล้วห้องอัดไม่ว่าง จึงไปเช่า ห้องอัด ป.วรานนท์ ชั้น 7 บริษัทเดินอากาศไทย ที่ถนนหลานหลวง ผมมอบหมายให้มือกลองคือ มืด ไข่มุก และ ตาไมด์ นิยมแสง ไปทำดนตรี และหานักดนตรีมาเล่นที่ห้องอัด ให้เงินทั้งชุด 5,000 บาท ในสมัยนั้นซื้อทองได้ 10 กว่าบาทนะในยุคนั้น ปะนัดแนะ คือ ไม่ได้เขียนโน๊ต แนะคนโน้น เล่นดนตรีช่วงนั้น กีต้าร์เล่นช่วงนี้ กลองตีช่วงนั้นๆ แอ๊คโกเดี้ยนเล่นท่อนแยก ปะนัดแนะกันเอา อัดกันตามมีตามเกิด ปรากฎว่า เพลงสาวอีสานรอรัก คนแต่งคือ สุมทุม ไผ่ริมบึง ก็ได้เกิดกับวงการนักแต่งเพลงด้วยเพลงนี้ ส่วนอรอุมา ดังแหวกวงการ ทะลุฟ้าเลย เฮียงู้ เสียงสยาม จัดจำหน่าย กลายเป็นเพลงประวัติศาสตร์ ที่สมเด็จฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ นำมาร้องอัดแผ่นใหม่ จนดังลั่นวงการเพลงเป็นที่กล่าวขวัญมากที่สุดเพลงหนึ่งของเมืองไทย

ส่วนเพลง หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ นั้น สรเพชร ภิญโญ เอาไปขายให้ใครก็ไม่มีใครเอา จน เฮียปุ้ย แห่ง ลองเพลเร็คคอร์ต ซ้ื้อไม่กี่หมื่นบาท มาทำเทป ให้บริษัทอามีโก้ จัดจำหน่าย ชุดเดียวทำเงินให้หลายร้อยล้านบาทในสมัยนั้น เหลือเชื่ออย่างปาฏิหารย์จริงๆ ทุกอย่างที่กล่าวมาคือประวัติศาสตร์ ในวงการเพลงหมอลำ ที่ยังไม่เคยได้รับการเปิดเผยมาเลยในวงการนี้ร้อยเปอร์เซ็น ทุกอย่างผมทำมากับมือ มันจึงฝังอยู่ในสมองผมตลอดมา จึงเล่าสู่ฟังในวันนี้ครับ มันเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นจนเป็นตำนานเล่าขานจริงๆ จากคนที่ชื่อ เทพบุตร สติรอดชมภู คนเดียวในประวัติศาสตร์

on uma sing siri 02

บันทึกจาก เจนภพ จบกระบวนวรรณ

jenpobถ้าใฅรไม่รู้จัก เพลง "สาวอีสานรอรัก" ก็ไม่รู้จะพูดคุยเสวนากันทำไมแล้ว เพราะแสดงว่ารสนิยมทางศิลปะดนตรีไปฅนละแนวแน่ๆ ด้วยเพลงนี้ไม่ใช่แค่เพลงลูกทุ่งธรรมดาๆ แต่เป็นเพลงระดับขึ้นหิ้ง เป็นลูกทุ่งอินเตอร์เนชั่นแนล ที่ได้รับคัดเลือกให้ได้ไปโชว์ ไปร่วมงานระดับนานาชาติมาแล้วด้วย

ทั้งๆ ที่นักร้องต้นฉบับ พูดกันตรงๆ ในนาทีนั้นยังแทบจะไม่มีใฅรรู้จักเธอเลย เธอเป็นใฅรมาจากไหนไม่มีคำตอบ แต่เป็น สาวอีสานมหัศจรรย์ อายุแค่ 15 - 16 ที่ความดังมาเยือนแบบชั่วข้ามคืนจริงๆ

ผมหมายถึง อรอุมา สิงห์ศิริ นะครับ ผมเคยเจอเคยได้พูดคุยกับเธอแต่ไม่ได้สนิทสนมกลมเกลียวมากนัก เพราะเธอก็ออกจะปิดตัวเองพอสมควร แต่อย่างน้อยๆ ห้วงเวลาที่ผมทำงาน "กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย" ผมก็ได้ร่วมงานกับเธอเช่นกัน เธอยังเล่าให้ผมฟังเลยว่า ตอนเธอดังเปรี้ยง เธอยังทำอะไรไม่เป็นเลย ร้องเพลงก็ยังไม่เก่งเท่าไหร่ แต่โชคชะตาวาสนาฅนเราเอาอะไรแน่ อาจารย์สุมทุม ไผ่ริมบึง หรือ เจ้าของนาม กัวราช่า ที่เคยไปร้องเพลงสร้างชื่อที่เมืองลาวนู่น กลับมาอยู่เมืองไทยแล้วขี้เกียจร้องเพลงซะงั้น หันมาแต่งเพลง แล้วเพลง "สาวอีสานรอรัก" ก็เกิดขึ้นในจังหวะนั้นพอดี ทั้งฅนแต่ง ฅนร้องแจ้งเกิดพร้อมกันเลยทีเดียว

อรอุมา สิงห์ศิริ นอกจากเพลง สาวอีสานรอรัก แล้วยังมีเพลง แม่ค้าขายลาบ, อรอุมาลำเพลิน, อรอุมาอะบาดิบี, ออนซอนเสียงซอ และ เพลงอื่นๆ ของเธอในแผ่นเสียงหน้าตราเอื้ิอ อารีย์ (เจ้าเก่า) จำนวนหนึ่ง ล้วนแต่เป็นเพลงชั้นนำของเธอที่หาฟังต้นฉบับยากแล้ว วันนี้มีผู้รวมมาไว้ใน มิวสิคบ๊อกซ์ รุ่น "มนต์เพลงลูกทุ่ง" นับว่าน่าสนใจจริงๆ ใฅรยังคิดถึงเธอก็เสาะหาได้นะครับ

อรอุมา ผมได้ข่าวมานานแล้วว่าเธอไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ไม่ค่อยได้กลับเมืองไทยเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันไม่แน่ใจเพราะเธอก็ไม่ค่อยออกข่าวอะไรด้วย คงใช้ชีวิตสุขสบายไม่ต้องกังวลอะไรแล้วกระมัง

แต่ชื่อเสียงของ อรอุมา สิงห์ศิริ รวมทั้งผลงานเพลงของเธอ ฅนรักเพลงลูกทุ่งทุกท่านไม่ควรมองข้ามเลยนะครับ

on uma sing siri 04

ประวัติผู้แต่งเพลง "สาวอีสานรอรัก"

กัวราช่า หรือ สุมทุม ไผ่ริมบึง (ปัจจุบันเสียชีวิต) เป็นอาจารย์ใหญ่อีกท่านหนึ่งของวงการเพลงลูกทุ่ง และกลอนลำ เป็นคนขอนแก่น อำเภอพล ชื่อจริงนามสกุลจริงคือ แสนคม พลโยธา ท่านเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนเทียบจนได้ระดับ ม.ศ.3 ที่โรงเรียนวัดพิชัยญาติ เป็นชาวนามาแต่กำเนิด เคยรับจ้างขับรถให้ฝรั่งในค่ายเคเอ็ม 6 ที่ประเทศลาวราวๆ ปี พ.ศ. 2516-17 ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา และเป็นการเริ่มต้นชีวิตศิลปินที่ฝั่งลาว

Yenjit Porntewee 05

ครูสุมทุม ไผ่ริมบึง ได้ไปฉายแววศิลปินให้ พลโทแพงสี พนาเพชร นายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ค่ายโพนเค็ง นครเวียงจันทน์ ได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ท่านก็เลยให้การสนับสนุน ที่สุดได้อัดเสียง ชื่อเพลง คณะผัวเผลอ กับ เพลง เสน่ห์สาวโต้รุ่ง ร้องเองแต่งเองกลายเป็นเพลงฮิตที่ประเทศ สปป.ลาว ตั้งแต่ช่วงเวลานั้น จากนั้นก็ได้สร้างงานเพลงต่อมาอีก จนเดินทางกลับมาอยู่เมืองไทยก็ก้าวเข้าสู่วงการเต็มตัวในฐานะคนเขียนเพลง มากกว่าบทบาทของคนร้องเพลง

สาวอีสานรอรัก ขับร้องโดย อรอุมา สิงห์ศิริ กลายเป็นเพลงสร้างชื่อสร้างประวัติศาสตร์ให้ทั้งตัวผู้แต่งและผู้ร้อง

เพลง 'คิดถึงทุ่งลุยลาย, ลูกชายลุงอิน, ตัวสามสไตล์' ที่ เย็นจิตร พรเทวี ขับร้อง ก็ดังระเบิด คอเพลงยอมรับกันเป็นอย่างดี และเพลงในเสียงร้องของ เย็นจิตร พรเทวี นั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานเพลงของ สุมทุม ไผ่ริมบึง ทั้งสิ้น

เพลงสาวจันทร์กั้งโกบ - เพลงแล้วแต่วาสนา เป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงจนวงการเพลงเปิดใจต้อนรับ 'ไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร' พรศักดิ์ ส่องแสง จนกลายเป็นนักร้องยิ่งใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้

เพลง สาวอีสานรอรัก และ สาวจันทร์กั้งโกบ เป็นเพลงระดับแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน และกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ตลอดชีวิตการเป็นคนเขียนเพลง สุมทุม ไผ่ริมบึง เขียนเพลงไม่ต่ำกว่า 2,000 เพลง (ข้อมูลประกอบจาก Siamdara.com)

สาวอีสานรอรัก - อรอุมา สิงห์ศิริ ขับร้อง - สุมทุม ไผ่ริมบึง ประพันธ์

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)