foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

LP test header

พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ หรือ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นพระภิกษุฝ่ายวิปัสสนาธุระสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่ง

ปฐมวัย บรรพชาและอุปสมบท

LP Test 01หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์) มีนามเดิมว่า เทสก์ เรี่ยวแรง กำเนิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2445 (ปีขาล) ในครอบครัวชาวนา เป็นบุตรของนายอุส่าห์ นางครั่ง เรี่ยวแรง ณ บ้านนาสีดา ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

เมื่อเป็นเด็กอายุได้ 9 ขวบ ได้เรียนหนังสือภาษาไทยกับพี่ชายซึ่งบวชเป็นพระกับเด็กๆ ด้วยกันกว่า 10 คน และได้เรียนหนังสือประถม ก. กา มูลบทบรรพกิจ เรียนอยู่ปีกว่าพออ่านได้บ้าง แต่ยังไม่คล่อง แต่หนังสือสำหรับพระเณรเรียนในสมัยนั้น ซึ่งเขาเรียกว่า หนังสือธรรม (จารเฉพาะธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า) อ่านได้คล่อง ต่อมาพี่ชายสึกจากพระไม่มีใครสอนเลยเลิกเรียนกันทั้งหมด แล้วได้ออกจากวัด ไปช่วยงานบิดามารดา จนอายุราว 13-14 ปี เกิดนิมิตความฝันว่า พระธุดงค์ไล่ตีด้วยแส้วิ่งหนีเอาตัวรอด กระทั่งวิ่งเข้าห้องนอนร้องให้ บิดามารดาช่วยท่านทั้งสองก็เฉยอยู่เหมือนกับไม่มีเรื่องอะไร พระธุดงค์หวดด้วยแส้สะดุ้งตื่นเหงื่อโชกทั้งตัว ปรากฏรอยแส้ยังเจ็บแสบอยู่ หลวงปู่นึกว่าเป็นจริง ตื่นขึ้นมาจึงรู้ว่าเป็นความฝัน ต่อนั้นมาหลวงปู่ได้มีความคิดถึงเรื่องอาชีพของมนุษย์ที่กระทำกันอยู่ตั้งต้นแต่ฝนตก ดินชุ่มฉ่ำ ลงมือทำนา และเรื่องอะไรจิปาถะ ตลอดถึงปีใหม่ ลงมือทำนาอีก อย่างนี้อยู่ตลอดชีวิต มาคิดเห็นว่าเกิดมานี้แสนทุกข์ลำบาก จริงๆ ทำงานไม่มีเวลาหยุดยั้ง ซึ่งแต่ก่อนมาหลวงปู่ไม่เคยนึกคิดอย่างนี้เลยสักที มีแต่มัวเมาด้วยการเพลิดเพลินตามประสาคนชนบท

เมื่ออายุ 18 ปี มีโอกาสติดตาม พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ออกธุดงค์ และบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านเค็งใหญ่ โดยมีพระอาจารย์ลุย เป็นอุปัชฌาย์ ต่อมาไป ศึกษาธรรมที่วัดสุทัศนาราม เมืองอุบลฯ และเรียนหนังสือที่วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม ในปัจจุบัน) จนกระทั่งวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ได้อุปสมบท ณ พัทสีมาวัดสุทัศนาราม โดยมีพระมหารัฐเป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ต่อมาได้ออกธุดงคไปกับพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้มีโอกาสวาสนากราบนมัสการพระเดชพระคุณหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ทำให้มีกำลังจิต กำลังใจในการปฏิบัติธรรมบำเพ็ญความเพียรอย่างยิ่ง

จาริกธุดงค์

ได้ออกเดินรุกขมูลไปในที่ต่างๆ เดินตัดลัดป่าดงมูลและดงลิงซึ่งเลื่องลือในสมัยนั้นว่าเป็นป่าช้า ดงเสือ ผ่านจังหวัดร้อยเอ็ดและกาฬสินธุ์ตลอด ถึงจังหวัดอุดรธานี หลวงปู่ได้ผจญภัยอันตรายและความยากลำบากต่างๆ แต่ก็ได้รับรสชาติของการออกเที่ยวรุกขมูล จนกระทั่ง เดินทางถึงบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ได้พบท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต อยู่ ณ ที่นั่น ได้ เข้าฟังธรรมเทศนาจากท่านได้รับความชื่อใจสงบสบายดี ครั้งสมัยที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตไปพำนักทางภาคเหนือ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้จาริกธุดงค์กับพระอาจารย์อ่อนสีไปกราบท่านอาจารย์ใหญ่ที่ป่าเมี่ยง ดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่ และได้ปฏิบัติธรรมในภาคเหนือ ถิ่นมูเซอร์ และมาโปรดสาธุชนบริเวณจังหวัดลำพูน

LP Test 02

จนกลับมาภาคอีสาน พำนักที่วัดอรัญญวาสี ท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ปี พ.ศ. 2492 ไปเยี่ยมหลวงปู่มั่นที่อาพาธ ที่วัดบ้านหนองผือ นาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนกระทั่งท่านพระอาจารย์ใหญ่ละสังขาร ต่อมาปี พ.ศ. 2493 ท่านไปจำพรรษาที่จังหวัดภูเก็ตและเผยแผ่ศาสนธรรมในภาคใต้ร่วมกับหมู่คณะ

ที่จังหวัดภูเก็ต หลวงปู่ได้ผจญภัยอย่างร้ายแรง โดยพระท้องถิ่นเขาไม่อยากให้อยู่ ถูกเผากุฏิบางแห่ง จนกระทั่งถูกปาด้วยก้อนอิฐ และขับไล่โดยประการต่างๆ ทางเจ้าคณะจังหวัดพังงาได้ขับไล่ให้หนีจากท้องถิ่นที่เขาปกครอง หลวงปู่ได้พยายามพูดความจริงให้ฟังว่า หลวงปู่มาเพื่ออบรมศีลธรรมและเผยแพร่ศาสนาอันเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง มิได้มาเบียดเบียนใคร ต่อมาผู้ช่วยสังฆมนตรีได้มีหนังสือไปต่อว่าเจ้าคณะจังหวัดพังงาด้วยประการต่างๆ เรื่องจึงสงบลง

หลวงปู่ได้ไปอยู่จังหวัดพังงานหนึ่งพรรษา ต่อ มาได้ขยับมาอยู่ที่เกาะภูเก็ต กระทั่งได้ 15 พรรษา จึงได้ลาญาติโยมกลับมาภาคอีสาน การไปอยู่เกาะภูเก็ตเป็นเหตุให้พระท้องถิ่น และญาติโยมเปลี่ยนสภาพไปหลายอย่าง โดยเฉพาะการเทศนาและการบริหาร นับว่าเป็นประโยชน์แก่พระท้องถิ่นมาก ตามประเพณีเดิม ชาวบ้านเขาเข้าหาพระและกราบพระต้องนั่งขัดสมาธิ (ขัด-สะ-หมาด) หลวงปู่ได้ไปสอนให้ทำความคารวะโดยให้นั่งพับเพียบทำให้เรียบร้อยดีมาก หลวงปู่ได้สละทุกอย่างเพื่อประโยชน์แก่ชนชาวภูเก็ตและจังหวัดพังงาดังกล่าวแล้ว โดยพำนักที่ภูเก็ต พังงา และกระบี่ นานถึง 15 ปี ก่อนกลับมาพักจำพรรษาที่ถ้ำขาม จังหวัดสกลนคร

LP Test 07

เมื่อกลับมาภาคอีสาน หลวงปู่พิจารณาเห็นว่าได้แก่ชรา เดินรุกขมูลมามากแล้ว ควรหาที่พักทำความเพียรภาวนาวิเวกเฉพาะตัว และเห็นว่าที่ "วัดหินหมากเป้ง" อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง บรรยากาศดีเหมาะแก่การเจริญธรรมสัมมาปฏิบัติ จึงได้เข้ามาอยู่ที่วัดนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 เรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้ หลวงปู่ได้พัฒนาวัดให้เจริญไป เรื่อยๆ จนกระทั่งญาติโยมทางกรุงเทพฯ และหมู่บ้านใกล้เคียงรู้จัก เข้าไปสนับสนุนช่วยกันทำถาวรวัตถุ จนสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงยกย่องให้เป็น "วัดพัฒนาตัวอย่าง" การก่อสร้างวัดหรือถาวรวัตถุนี้ คำว่า "ขอ" หรือ "เรี่ยไร" ไม่เคยออกจากปากของหลวงปู่แม้แต่คำเดียว สร้างอะไรขึ้นมาก็มีแต่ญาติโยมผู้มีศรัทธาบริจาคให้ทั้งนั้น นอกจากวัดหินหมากเป้งแล้ว ยังมีวัดสาขาของวัดหินหมากเป้งอีก คือ "วัดเทสรังสี" และ "วัดลุมพินี"

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นสมณะผู้สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตรอันงดงามยิ่ง เป็นผู้นำศรัทธาในการอบรมสั่งสอนธรรมและนำสร้างศาสนสถานเพื่อการจรรโลงพระพุทธศาสนาหลายแห่งในถิ่นแถบอีสาน เป็นปูชนียาจารย์ของชนทุกระดับชั้น

LP Test 08

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ให้ธรรมโอวาทแก่พุทธศาสนิกชนมากมาย เช่น

  • ธรรม คือ ของจริงของแท้ เป็นแก่นของโลก ธรรม แปลว่า ของเป็นอยู่ทรงอยู่สภาพตามเป็นจริง เป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น เรียกว่า ธรรม ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เป็นธรรมทั้งนั้น เรียก ชาติธรรม ชราธรรม พยาธิธรรม มรณธรรม ทำไมจึงเรียกว่า ธรรม คือทุกๆ คน จะต้องเป็นเหมือนกันหมด (ธรรมเทศนาเรื่อง ธรรมะ)

LP Test 06

  • เราเกิดมาในโลกนี้ จะเป็นมนุษย์หรือเป็นสัตว์ต่างๆ ก็ตามเถอะ เรียกว่า อยู่ในแวดวงของมัจจุราชทั้งนั้น หรือเปรียบเสมือนกับ อยู่ในคุกในตะราง (รอความตาย) ด้วยกันทุกคน จะทำอะไรอยู่ก็ตาม จะเป็นผู้ดีวิเศษวิโสเท่าไรก็ช่าง แม้แต่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า สรีระร่างกายของพระองค์ยังปล่อยให้พญามัจจุราชทำลายได้ แต่ตัวจิตของพระองค์เป็นผู้พ้นแล้ว ไม่ยอมให้มัจจุราชข่มขี่ได้เลย (ธรรมเทศนาเรื่อง มัจจุราช)
  • ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นธาตุสี่เท่านั้น แต่คนเราไปสมมติแล้วหลงสมมติตนเองต่างหาก มันก็ต้องยุ่ง และเดือดร้อนด้วยประการทั้งปวง (อัตตโนประวัติฯ)
  • มนุษย์เราพากันสมมติ เรียกเอาตามความชอบใจของตนว่านั่นเป็นคน นั่นเป็นสัตว์เป็นนั่นเป็นนี่ต่างๆ นานาไป แต่ก้อนธาตุนั้น มันก็หาได้รู้สึกอะไรตามสมมติของคนไม่ มันมีสภาพเป็นอยู่อย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้นตามเดิม สมมติ ว่าหญิง ว่าชาย ว่าหนุ่ม ว่าแก่ ว่าสวย ไม่สวย ก้อนธาตุอันนั้นก็ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย หน้าที่ของมันเมื่อมาประชุมกันเข้าเป็นก้อนแล้ว อยู่ได้ชั่วขณะหนึ่ง แล้วมันก็แปรไปตามสภาพของมัน ผลที่สุดมันก็แตกสลายแยกกันไปอยู่ตามสภาพเดิมของมันเท่านั้นเอง (ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ สัมพันธ์)
  • เมื่อเรามาฝึกหัดปฏิบัติธรรมจนเห็น เรื่องโทษของตนเองแล้ว ค่อยชำระสะสางให้มันหมดไปๆ ก็จะเป็นคุณแก่ตนในอนาคต ข้างหน้า ได้ชื่อว่าไม่เสียชาติเกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์ แล้วยังมาพบพระพุทธศาสนา และยังมาพบครูบาอาจารย์ที่สอนให้เราละกิเลส อีกด้วย (ธรรมเทศนาเรื่องแก่นของการปฏิบัติ)
  • แท้ที่จริงธรรมะคือตัวของเรานี้ทุกคนก็มีแล้วครบมูลบริบูรณ์ทุกอย่าง แต่เราไม่ได้สร้างสมอบรมให้เห็นธรรมะที่มันมีในต้นของตน ธรรมะแทรกอยู่ในขันธโลกอันนี้ หากใช้อุบายปัญญาพิจารณากลั่นกรองด้วยวิธี 3 อย่าง มีศีล สมาธิ ปัญญา ดังอธิบายแล้ว ธรรมะจะปรากฏในตัวของตนๆ (ธรรมเทศนาเรื่องวิจัยธรรมออกจากโลก)

LP Test 05

  • การศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าจะให้เข้าใจถูกต้องแล้ว ต้องให้มีทั้งปริยัติคือ การศึกษาและปฏิบัติตามความรู้ที่ได้ศึกษามานั้นให้ถูกต้อง โดยเฉพาะการปฏิบัติ ถ้าไม่ยืนตัวอยู่ในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว จะไม่มีการถูกต้องอันจะให้เกิดความรู้ในสัจ ธรรมได้เลย มรรคปฏิปทาอันจะให้ถึงสัจธรรมนั้น ก็ต้องรวมศีล สมาธิ ปัญญา ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วปฏิเวธธรรมจึงจะ เกิดขึ้นได้ (ธรรมเทศนา เรี่อง พุทธบริษัทพึงปฏิบัติตนเช่นไร)
  • คนที่จะข้ามโอฆะได้ต้องมีศรัทธาเสียก่อน ถ้าไม่มีศรัทธาเสียอย่างเดียวก็หมดทางที่จะข้ามโอฆะได้ ศรัทธาจึงเป็นของสำคัญที่ สุด เช่น เชื่อมั่นในกรรม เชื่อผลของกรรม ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว แต่ว่าศรัทธาอันนั้น เป็นเบื้องต้นที่จะทำทาน ถ้ามีศรัทธาแล้วไม่ อดเรื่องการทำทาน อยู่ที่ไหนก็ทำได้ ทำมากก็ได้ ทำน้อยก็ได้ ไม่ต้องเลือก วัตถุในการทำงาน จะเป็นข้าว น้ำ อาหาร หมากพลู บุหรี่ ฯลฯ สารพัดสิ่งเป็นทาน ได้ทั้งหมด แม้แต่ใบไม้ ใบตอง ใบหญ้า ก็เป็นทานได้เราทำด้วยความเชื่อมั่นว่า สิ่งนี้ทำไปแล้วจะ เป็นประโยชน์แก่ผู้นั้นๆ ก็อิ่มอกอิ่มใจขึ้นมาเป็นบุญ นั่นแหละ ศรัทธา มันทำให้อิ่มอกอิ่มใจ ทำให้เกิดบุญซาบซึ้งถึงใจทุกอย่างไม่ ลืมเลย อันนั้นจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ข้ามโอฆะ (ธรรมเทศนา เรื่องหลักการปฏิบัติธรรม)
  • กายและจิตอันนี้เป็นบุญกรรมและกิเลสนำมาตกแต่งให้ เมื่อนำมาใช้โดยหาสาระมิได้ถึงแม้จะมีอายุยืนนาน ก็ปานประหนึ่งว่า หาอายุมิได้ (คือไม่มีประโยชน์) สมกับพุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสว่า
    โย จ วสฺสสตํ ชีเว อปสฺสํ อุทยพฺพยํ เอกาหํ ชีวิตํ เสยุโย ปสฺสโต อุทยพฺพยํ

แปลว่า บุคคลใดมีชีวิตอยู่ร้อยปี แต่เขามิได้พิจารณาเห็นความเกิดดับ (ของอัตภาพนี้) ผู้นั้นสู้ผู้เขามีชีวิตอยู่วันเดียว แต่พิจารณา เห็นความเกิดความดับไม่ได้ (ธรรมเทศนาเรื่องวันคืนล่วงไปๆ)

  • คนที่จะพ้นจากทุกข์ได้ พ้นจากโลกนี้ได้ พ้นจากกรรมได้ ก็เพราะใจอันเดียว จงยึดใจ ถือใจเป็นสำคัญ จะมาเกิดก็เพราะใจ เกิดแล้วจะมาสร้างกิเลสขึ้นก็เพราะใจ เป็นทุกข์ก็เพราะใจถ้าใจไม่เป็นทุกข์ ใจไม่ยึดถือ ปล่อยทิ้งเสีย กายอันนี้ก็ไปตามเรื่องของ กาย ใจก็เป็นตามเรื่องของใจหมดเรื่องหมดราวกันที (ธรรมเทศนาเรื่องกรรม)
  • หิริ โอตฺตปฺป นี้เป็นธรรมที่สำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานของศีล เป็นต้นของศีล ผู้จะมีศีลได้ ไม่ว่าจะเป็นศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 หรือ ศีล 227 ก็ตาม ต้องมีหิริ และโอตฺตปฺป 2 อย่างนี้ เนื่องจากได้เห็นจิตของคน เห็นความนึกความคิดความปรุงของจิตของตน แล้ว ก็กลับบาปละอายบาป จึงไม่อาจจะทำความชั่วได้ ฉะนั้น ศีลก็บริสุทธิ์เท่านั้นเอง (ธรรมเทศนาเรื่อง เทวตานุสฺสติ)
  • การภาวนา คือ การอบรมจิตให้มีความสงบ เป็นการชำระจิตใจให้สงบจากอารมณ์ต่างๆ ยิ่งเป็นการละเอียดไปกว่าการรักษา ศีลอีก จิตของเราถ้ายังไม่สงบตราบใดแล้วมันก็จะต้องยุ่งวุ่นวายอยู่ตราบนั้น เมื่อมาฝึกหัดภาวนา เห็นโทษ เห็นภัย ของความยุ่ง ยากไม่สงบด้วยตันเองแล้ว เราก็จะพยายามทุกวิถีทางที่จะละความไม่สงบ เมื่อสิ่งใดที่ละได้แล้ว อารมณ์ใดที่วางได้แล้วเราก็จะ ต้องรักษาไม่ให้สิ่งนั้น มันเกิดขึ้นมาอีก ไม่ใช่ว่าเราละได้แล้วก็แล้วไปเลยไม่ต้องคำนึงถึงมันอีก อย่างไม่ถูกต้อง เพราะมันอาจ สามารถที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่อีก ถ้ามันเกิดมาทีหลังจะยิ่งร้ายกว่าเก่า (ธรรมเทศนาเรื่อง มาร)
  • ฝึกหัดจิตให้เข้าถึงใจ วิธีปฏิบัติฝึกหัดกรรมฐานมีเท่านี้แหละ ใครจะฝึกหัดปฏิบัติอย่างไรๆ ก็เอาเถอะ จะภาวนาพุทโธ สัมมา อรหัง ยุบหนอพองหนอ หรืออานาปานสติ ก็ไม่เป็นปัญหา คำบริกรรมเหล่านั้นก็เพื่อล่อให้จิตเข้ามาอยู่ในคำปริกรรม แต่คนที่เข้าใจผิดถือว่าตนดีวิเศษโอ้อวดเพื่อนว่าของเขาถูกของเอ็งละผิด อย่างนั้นอย่างนี้อะไรต่างๆ นานา พุทธศาสนาแท้ไม่เป็นอย่างนั้นหรอก มันต้องเป็นอันเดียวกัน ไม่มีใครผิดใครถูก เมื่อปฏิบัติถึงจิตรรวมแล้ว จิตรวมเข้าไปเป็นอัปปนาแล้วปมเรื่อง จิตรวมเข้าถึง อัปปนาแล้วถึงที่สุดของการทำสมาธิเท่านั้น ไม่มีอะไรแตกต่างกัน (ธรรมเทศนาเรื่อง การปฏิบัติเบื้องต้น)
  • การหัดภาวนาเบื้องต้น คือ หัดให้เข้าถึงจิตเป็นหนึ่ง หัดเบื้องต้นก็จริง แต่มันถึงที่สุดได้ คือ จิตที่สงบนิ่งเป็นหนึ่ง มันก็ถึงที่สุด แล้ว การฝึกหัดจิต หัดมากหัดน้อยเท่าไรก็ตาม ต้องการให้จิตเข้าถึงที่สุด คือ จิตเป็นหนึ่งเท่านั้น การฝึกหัดจิตไม่นอกเหนือไปจาก จิตเป็นหนึ่ง ส่วนอุบายปัญญาที่จะเกิดขึ้น มันเป็นของเฉพาะบุคคล (ธรรมเทศนาเรื่อง แก่นของการปฏิบัติ)
  • ขอจงตั้งใจทำให้จริงจัง และทำความเลื่อมใสพอใจในกัมมัฏฐานของตนให้แน่วแน่เต็มที่ ทำนิดเดียวก็จะเป็นผลยิ่งใหญ่ไพศาล เมื่อทำไปทุกๆ วัน วันละนิดวันละหน่อย มันหากจะมีวันหนึ่งโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็น มันหากเป็นเอง คราวนี้ละเรา จะประสบโชคลาภอย่างยิ่งอย่าบอกใครเลย ถึงบอกก็ไม่ถูกเป็นของรู้และซาบซึ้งเฉพาะตนเอง คำว่าภาวนาขี้เกียจและปวดเมื่อย แข้งขาจะหายไปเองอย่างปลิดทิ้ง จะมีแต่อยากทำภาวนาสมาธิอยู่ร่ำไป (ธรรมเทศนาเรื่อง ทุกข์)
  • สติตัวนี้ควบคุมจิตอยู่ได้ ถ้าเผลอเวลาใดไปเวลานั้น ทำชั่วเวลานั้น จึงให้รักษาจิตตรงนั้นแหละ ควบคุมจิตตรงนั้นแหละ ให้มันอยู่นิ่งแน่วเป็นสมาธิภาวนา เข้าถึงในสงบนิ่งแน่วเฉยอยู่ให้หัดตรงนี้แหละ พระพุทธศาสนาไม่ให้หัดอื่นไกล หัดตรงนี้แหละ ปฏิบัติศาสนาก็ปฏิบัติตรงนี้แหละ จะถึงศีล สมาธิ ปัญญา ก็ตรงนั้นแหละ... (ธรรมเทศนาเรื่อง เบื้องต้นของการปฏิบัติกัมมัฏฐาน)
  • แก่นสารคือ จิตที่เป็นหนึ่ง จับเอาจิตที่เป็นหนึ่งให้ได้ ครั้งจับเอาจิตที่เป็นหนึ่งได้แล้วรักษาเอาไว้ให้มั่น ไม่ต้องเอาอื่นใดอีก เอาอันเดียวนั้นเท่านั้นเป็นพอแล้ว (ธรรมเทศนาเรื่อง แก่นของการปฏิบัติ)
  • จิตเป็นสมาธิแล้ว นั่นจึงจะมองเห็นธรรม คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ และความตายได้ชัดเจน (ธรรมเทศนาเรื่อง ธรรมะ)
  • จิตมันต้องเป็นหนึ่ง ถ้าไม่ใช่หนึ่งแล้วก็ไม่ใช่จิต จิตเป็นหนึ่งกลายเป็นใจละ คราวนี้ตัวจิตนั่นแหละกลายเป็นใจ อันที่นิ่งเฉย ไม่คิดไม่นึก ไม่ปรุงไม่แต่ง ความรู้สึกเฉยๆ นั่นแหละมันกลายเป็นใจ จิตมันกลายเป็นใจ (ธรรมเทศนาเรื่อง วิธีหาจิต)

หลวงปู่เทสก์ กับหลวงตามหาบัว

  • ใครๆ ก็พูดถึงจิตถึงใจ จิตเป็นทุกข์ จิตเดือดร้อน จิตยุ่งวุ่นวาย จิตกระวนกระวาย จิตกระสับกระส่าย มันเรื่องของจิตทั้งนั้นแหละ แต่ยังไม่เคยเห็นจิตสักที จิตแท้เป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ เมื่อไม่เห็นจิตไม่เห็นใจ มันก็ไม่มีโอกาสที่จะชำระได้ ต้องเห็นตัวมัน เสียก่อน รู้จักตัวที่เราพูดถึงเสียก่อน พอเราเดือดร้อนเรายุ่งเหยิงหรือส่งส่ายเราก็แก้ตรงนั้นเอง (ธรรมเทศนา เรื่องความโง่ของคน โง่)
  • นักฝึกหัดจิตทำสมาธิให้แน่วแน่ เป็นอารมณ์หนึ่งแล้ว จะมองเห็นกิเลสในจิตของตนเองทุกกาลทุกเวลาว่า มีกิเลสหยาบและละเอียดหนาบางขนาดไหนเกิดขึ้นที่จิต เกิดจากเหตุอะไรและจะต้องชำระด้วยวิธีอย่างไร จิตจึงบริสุทธิ์ผ่องใส ค้นหากิเลสของตน เองอยู่ทุกเมื่อกิเลสจะหมดสิ้นไป (ของดีมีในศาสนาพุทธ)
  • การฝึกหัดสมาธิภาวนา คือ การตั้งสติอันเดียว ให้รู้ตัวอยู่เสมอ มันคิดมันนึกอะไรก็ให้รู้ตัวอยู่เสมอ ยิ่งรู้ตัวชัดเจนเข้ามันยิ่ง เป็น เอกัคคตารมณ์ นั่นแหละตัวสมาธิ (อนุสสติ 10)
  • รู้สิ่งอื่นไม่สามารถจะชำระจิตของตนได้ รู้จิตของเรานี่แหละจึงจะเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ (อนุสสติ 10)
  • การฝึกหัดจิตนี้ ถ้าอยากเป็นเร็วๆ มันก็ไม่เป็น หรือไม่อยากให้เป็นมันก็ประมาทเสียไม่เป็นเหมือนกัน อยากเป็นก็ไม่ว่า ไม่ อยากเป็นก็ไม่ว่า ทำใจให้เป็นกลางๆ แล้วตั้งใจให้แน่วแน่ใจกัมมัฏฐานที่เรายึดมั่นอยู่นั้น แล้วภาวนาเรื่อยไปก็จะถึงซึ่งความ อัศจรรย์ขึ้นมาในตัวของตน แล้วจะรู้ชัดขึ้นมาว่าอะไรเป็นอะไร (อนุสสติ 10)
  • การเห็นจิตของเรานี่แหละดี มันคิดดี คิดชั่ว คิดหยาบ คิดละเอียด ก็รู้ดูจนกระทั่งมันวางลง ถ้าเห็นอยู่เสมอๆ แล้ว ก็วางหมด (อนุสสติ10)
  • ปหานปธาน ให้เพียรดูที่จิตของเรานั่นแหละ การกระทำสิ่งใดๆ ก็เกิดจากจิตเป็นคนบัญชา ถ้าจับจิตเห็นจิตอันนี้แล้ว จะรู้ได้ดี เห็นได้ชัด กายจะทำอะไรผิดหรือถูก ดีหรือชั่ว เป็นบุญหรือเป็นบาป รู้ได้ดีทีเดียว เอาสติไปตั้งไว้ที่จิต คิดค้นอยู่ที่จิต เห็นใจเป็นผู้ สั่งกายทำอะไรๆ เห็นอยู่ตลอดเวลา (ธรรมเทศนาเรื่อง เพียรละความชั่ว)
  • ผู้ใดชนะข้าศึกคือ ตัวของเราคนเดียวได้แล้ว เป็นผู้ประเสริฐว่าการชนะชนหมู่มากนับเป็นพันล้าน เพราะข้าศึกอันเกิดจากคน อื่นภายนอก เมื่อพ่ายแพ้ก็เลิกกันไปที่ แต่ข้าศึกภายในนี้จะแพ้หรือชนะอย่างไร ก็ยังต้องอาศัยกันอยู่อย่างนี้จนกว่าจะแตกดับจากกันไป ถึงแม้อายตนะภายในมีตาเป็นต้นที่เราเห็นๆ กันอยู่นี้ เมื่อหลับเสียแล้วก็ไม่เห็น แต่อายตนะของใจอีกส่วนหนึ่งนั้นซีตาบอดแล้ว หูหนวกแล้ว มันยังได้เห็นได้ยินอยู่ กายแตกดับแล้วใจยังมีอายตนะได้ใช้บริบูรณ์ดีทุกอย่างอยู่ และนำไปใช้ได้ทุกๆ สถาน ตลอดภพภูมินั้นๆ ด้วย ฉะนั้น เมื่อเราจะเอาชัยชนะข้าศึกภายในจึงเป็นการต่อสู้อย่างยิ่ง (ธรรมเทศนาเรื่อง พละ 5)
  • ผู้ที่ยอมตัวมารับเอาศีลไปไว้เป็นเครื่องปฏิบัติ จะเป็นศีล 5-8-10-227 ก็ตามได้ชื่อว่าเป็นผู้เริ่มต้นปฏิบัติศาสนะ พรหมจรรย์ เข้าไปทำลายบ่อนรังข้าศึกอันมีอยู่ในภายในใจของตนแล้ว (ธรรมเทศนาเรื่อง สติปัฏฐานภาวนา)
  • หากจะเรียกกายใจของคนเรานี้ว่า ตู้พระธรรมก็จะไม่ผิด (ธรรมเทศนาเรื่อง สติปัฏฐานภาวนา)
  • ธรรมเทศนาที่ท่านพูดที่ท่านสอนธรรมะนั้น ท่านสอนตรงนี้ คือสอนให้พิจารณากายกับใจตรงนี้ ไม่ได้สอนที่อื่น สอนเข้าถึงตัว สอนให้เห็นของจริงในกายตนที่จะพ้นทุกข์ได้ก็เพราะเห็นของจริงตรงนี้ จะถึงมรรคผลนิพพาน ฌาน สมาบัติ ก็ตรงนี้แหละ ไม่ใช่อื่นไกลเลย เห็นเฉพาะในตัวของเรา ถ้าไปเห็นของอื่นละไม่ใช่ (ธรรมเทศนาเรื่อง ธรรม)
  • ตัวจิตหรือตัวใจอันนี้แหละไม่มีตนมีตัว ถ้าเรารู้เรื่องจิตเรื่องใจเสียแล้ว มันง่ายนิดเดียวฝึกหัดปฏิบัติกันมัฏฐานก็เพื่อชำระใจ หรือต่อสู้กับกิเลสของใจนี้ ถ้าไม่เห็นจิตหรือใจแล้วก็ไม่ทราบว่าจะไปต่อสู้กับกิเลสตรงไหน เพราะกิเลสที่ใจสงครามไม่มีสนามเพลาะ ไม่ทราบว่าจะรบอย่างไรกัน ต้องมีสนามเพลาะสำหรับยึดไว้เป็นที่ป้องกันข้าศึก- มันจึงค่อยรู้จักรบ รู้จักแพ้ รู้จักชนะ ขอให้พากันพิจารณาทุกคนๆ เรื่องใจของตน เวลานี้เราเห็นใจแล้วหรือยัง ใจหรือจิตของเรานั้นมันอยู่ที่ไหนมีอาการอย่างไร (ธรรม เทศนาเรื่อง กิเลส)
  • ความจริงกิเลสไม่มีตนมีตัว ไม่ได้เอาไปละที่ไหน หรือเอาไปทิ้งให้ใคร เป็นการละออกจากใจของตนเอง (ธรรมเทศนาเรื่อง เพียงละความชั่ว)
  • บ่วงของมารได้แก่อะไร อาการของจิตที่เที่ยวไปตามอารมณ์นั้น ย่อมมีทั้งอารมณ์ดีและอารมณ์ร้าย จึงต้องมีความสุขบ้างทุกข์ บ้างเป็นธรรมดา ตามวิสัยของปุถุชนจิตที่เที่ยวไปนั้นจะต้องประสบของ 5 อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ซึ่งเรียกว่า กามคุณ 5 พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นบ่วงของมาร
    จิตของปุถุชนทั้งหลายเมื่อเที่ยวไปประสบอารมณ์ทั้ง 5 นั้นหรือเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งทำให้เกิดความยินดีพอใจก็ดี หรือเกิดความเสียใจเป็นทุกข์ดี เรียกว่าเข้าไปติดบ่วงของมารแล้ว คำว่า "ติด" ในที่นี้ หมายความว่า สลัดไม่ออก ปล่อยวางไม่ได้ บ่วงของ มารผูกหลวมๆ แต่แก้ไม่ได้ ถ้าดิ้นก็ยิ่งแต่จะรัดแน่นเข้า
    จิตที่สำรวมได้แล้วจะพ้นจากบ่วงของมารได้อย่างไร ปุถุชน เบื้องต้นเมื่อเห็นโทษภัยในการเข้าไปติดบ่วงของมารแล้ว จึงต้องพึงสำรวมในอายตนะทั้งหลาย มีตา หู เป็นต้น พระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ใครสำรวมจิตได้แล้ว จักพ้นจากเครื่องผูกของมารดังนี้
    ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นโคจรที่เที่ยวแสวงหาอารมณ์ของจิต เมื่อเราปิดคือ สำรวมมีสติระวังอย่าให้จิตหลงไปในอารมณ์ทั้ง 6 นั้นได้แล้ว เป็นอันว่ามารผูกมัดเราด้วยบ่วงไม่ได้ (ธรรมเทศนา เรื่องสังวรอินทรีย์)

หลวงปู่เทสก์ กับหลวงปู่แหวน

  • ผู้ฝึกหัดปฏิบัติรู้เข้าใจเรื่องเหล่านี้ตามเป็นจริงว่า วิสัยของอายตนะทั้งหกนั้น มีชอบกับไม่ชอบเท่านั้น แล้วปล่อยวางเสีย ไม่ไปยึดเอามาเป็นอารมณ์ จิตก็จะกลายมาเป็นเฉยอยู่กลางๆ นั่นแหละจึงเป็นธรรมเห็นธรรม ไม่เป็นโลกอยู่เหนือโลกพ้นจากโลก (ธรรมเทศนาเรื่อง จิตเหนือโลก)
  • การทำจิตไม่ให้หมุนไปตามอายตนะหก คือ ปรุงแต่งส่งส่ายไปตามอารมณ์ต่างๆ นั้นเป็นการหักกงกำแห่งล้อของวัฏจักร นักปฏิบัติผู้ฝึกหัดได้อย่างที่อธิบายมานี้ ถึงหักกงกำแห่งวัฏจักรไม่ได้อย่างเด็ดขาด ได้เพียงชั่วครู่ชั่วคราว ก็นับว่าดีอักโขแล้ว ดีกว่าไม่รู้วิธีหักเสียเลย (ธรรมเทศนาเรื่อง จิตเหนือโลก)
  • ผู้ฝึกจิต ถ้าทำจิตให้มีอารมณ์หลายอย่าง ก็จะสงบไม่ได้ และไม่เห็นสภาพของจิตตามเป็นจริง ถ้าทำให้จิตดิ่งแน่วแน่อยู่ใน อารมณ์อันเดียวแล้ว จิตก็มีกำลังเบ่งรัศมี แห่งความสว่างออกมาเต็มที่ มองสภาพของจิตตามเป็นจริงได้ว่า อะไรเป็นจิต อะไรเป็น กิเลส อะไรเป็นของควรละ (ธรรมเทศนาเรื่อง สมบัติอันล้ำค่า)
  • ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ฉะนั้นผู้ถือว่าเราถึงธรรมได้ ธรรมชั้นนั้นชั้นนี้ ผู้นั้นยังมีความอยากอยู่ จะได้ชื่อวาเป็นผู้ถึงธรรมได้อย่างไร (ของดีมีในศาสนาพุทธ)
  • คนเราเกิดมาเหมือนกับไปยืมของคนอื่นเขามาเกิด ตายแล้วก็ส่งกลับคืน มาเกิดอีกก็ยืมมาใหม่ ดังนั้นอยู่ไม่รู้จบรู้สิ้นสักที ขออย่าลืมผู้ไปยืมของเขามาเกิดยังมีอยู่ จึงต้องยืมของเขาร่ำไปไม่มีที่สิ้นสุด (ของดีมีในศาสนาพุทธ)
  • ความสละเด็ดเดี่ยว ปล่อยวางสิ่งสารพัดทั้งปวงหมดเหลือแต่ใจ อันนั้นเป็นของดีนักความสละความตายเลยไม่ตายซ้ำ เลยมีอายุยืนนาน ถึงเจ็บไข้ได้ป่วยอะไรต่างๆ ก็ทอดทิ้งหมด เลยกลับเป็นของดีซ้ำ ที่เป็นห่วงทั้งนั้นอยู่ในเรื่องความเจ็บป่วย อันนั้นป่วยก็ไม่หาย สมาธิก็ไม่เป็น นั่นแหละเป็นเหตุที่ไม่เป็นสมาธิ เราจะทำอะไรต้องทำให้จริงๆ ซี (อนุสสติ 10)
  • จิตของคนเราเป็นของใสสะอาดมาแต่เดิม เหตุนั้นขัดเกลากิเลสออกหมด มันจึงเห็นความใสสะอาด จึงเรียก ปภสฺสรมิท จิตฺต (ธรรมเทศนาเรื่องวิธีหาจิต)
  • วิปัสสนาจริงแล้วไม่ต้องคิดต้องนึกไม่ต้องปรุงแต่ง มันเป็นเอง มันเกิดของมันต่างหาก เมื่อมันเกิดแล้วจะต้องชัดแจ้งประจักษ์ ในพระไตรลักษณญาณด้วยตัวของตนเองต่างหาก เมื่อปัญญาวิปัสสนาเกิดขึ้นในขณะจิตเดียวนั้นสิ้นสงสัยในธรรมทั้งหลาย เห็นสรรพสัตว์ในโลกเป็นสภาพอันเดียวกันหมดเลย ไม่มีต่ำ ไม่มีสูง ไม่มีน้อย ไม่มีใหญ่ ไม่มีหญิง ไม่มีชาย มีแต่ธาตุ 4 เกิดขึ้นแล้วดับไปเท่านั้น (ธรรมเทศนาเรื่อง ธัมมจักกัปปวัต รนสูตร)
  • ปัญญาวิปัสสนา คือเห็นสิ่งทั้งปวงหมด เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งเหล่านั้นเป็นของไร้สาระ เป็นโทษเป็นทุกข์ เป็นภัย อันตรายแก่จิตใจ จึงปล่อยวางทอดธุระในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น อันนี้เป็นปัญญาอันวิเศษสูงสุด เพราะคนจะพ้นจากโลกได้ก็เพราะ เห็นที่สุดของโลก คือ ได้แก่ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา-- (ธรรมเทศนาเรื่อง หลักการปฏิบัติธรรม)
  • อให้มีศรัทธา ทำทานไปเรื่อย ทั้งทานภายนอก ทานภายใน รักษาศีล คือรักษากาย วาจา และใจ ให้มันเป็นปกติ หรือรักษาจิตนั่งเอง คอยมีสติปกครองจิตใจ สิ่งใดไม่ควรคิดก็ไม่คิดสิ่งใดไม่ควรพูดก็ไม่พูด สิ่งใดไม่ควรทำก็ไม่ทำ เพราะเรามีสติรู้อยู่ว่าเรา เป็นผู้มีศีล (ธรรมเทศนาเรื่อง สติควบคุมจิต)
  • ผู้มีศรัทธา มีความเพียรด้วย และมีความอดทน กล้าหาญ ประกอด้วยปัญญาประกอบด้วยความเพียร รักษาความดีนั้นๆ ไว้ ติดต่อกันอย่าให้ขาด นั่นแลจึงสามารถขจัดกิเลสสานสัยให้หมดสิ้นไปได้ (อัตตโนประวัติฯ)
  • ท่านผู้ที่หายจากโรคอันเกิดจากใจได้แก่ ผู้สิ้นกิเลสแล้ว ถึงแม้โรคในกายของท่านจะยังปรากฏอยู่ ก็เป็นแต่อาการความรู้สึก หาได้ทำใจของท่านให้กำเริบไม่ เพราะโรคใจของท่านไม่มีแล้วสมุฏฐานคืออุปาทานของท่านได้ถอนหมดแล้ว ฉะนั้นท่านจึงมีความสุข และได้ลาภอย่างยิ่งในความไม่มีโรค (ธรรมเทศนาเรื่อง โรค)
  • ทำทานมีมากน้อยก็ต้องทำด้วยตนเอง รักษาศีลก็โดยเฉพาะส่วนตัวแท้ๆ ใครรักษาศีลให้ไม่ได้ ทำสมาธิยิ่งลึกซึ้งหนักแน่นเข้าไปกว่านั้นอีก แต่ละคนก็ต้องรักษาจิตใจของตนๆ ให้มีความสงบหยุดวุ่นวายแส่ส่าย ถ้าเราไม่รู้จักวิธีทำสมาธิแล้วก็ทำสมาธิไม่ เป็น จิตใจก็เดือดร้อนดิ้นรนเป็นทุกข์ เหตุนั้นจึงว่า การทำทาน รักษาศีล ทำสมาธินี่เป็นกิจเฉพาะส่วนตัว ทุกๆ คนจะต้องทำให้ เกิดมีขึ้นในตน (ธรรมเทศนาเรื่อง หลักศาสนา)
  • ความเป็นเศรษฐี มี จน คนอนาถา ก็มิได้เป็นอุปสรรคแก่การจับจ่ายอริยทรัพย์ของผู้มีศรัทธาปัญญา ฉะนั้นอริยทรัพย์จึงเป็น ของมีคุณค่าเหนือกว่าทรัพย์ทั้งปวง (อัตตโนประวัติฯ)
  • บุญกุศลที่สร้างสมถึงที่แล้วมันจะหมดเรื่อง ไม่มีอะไรอีก และไม่เอาไปด้วย บาปก็ไม่เอา บุญก็ไม่เอา ผู้ที่ยังเอาอยู่จึงได้บุญได้บาป เป็นภพเป็นชาติขึ้น ผู้ทอดธุระแล้ว ไม่มีบุญและบาปแล้ว จึงได้เรียกว่า โลกุตระ เหนือโลก (ธรรมเทศนาเรื่องจิตที่ควรข่ม- ควรข่มขี่-ควรละ)

LP Test 09

มรณภาพ

ในปัจฉิมวัยท่านไปพำนักที่วัดถ้ำขาม และละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2537 เวลาประมาณ 21.45 น สิริรวมอายุได้ 93 ปี 71 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานน้ำหลวงสรงศพ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานหีบทองทึบ และทรงรับงานบำเพ็ญกุศลอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ พิธีพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี จัดขึ้นที่วัดหินหมากเป้ง นับเป็นงานพระราชทานเพลิงศพพระเถราจารย์ครั้งประวัติศาสตร์

และในปัจจุบันวันที่ 17 ธันวาคม สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะให้ผู้แทนพระองค์นำแจกันดอกไม้วางหน้าพระอัฐิหลวงปู่เทสก์ เทสรังสีวัดหินหมากเป้ง เป็นประจำทุกปี

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)