foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

provinces header

จังหวัดร้อยเอ็ด

สิบเอ็ดประตูเมืองงาม เรืองนามพระสูงใหญ่ ผ้าไหมสาเกตุ บุญผะเหวดประเพณี
มหาเจดีย์ชัยมงคล งามหน้ายลบึงพลาญชัย เขตกว้างไกลทุ่งกุลา โลกลือชาข้าวหอมมะลิ"

roi ed logoจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณซึ่งอยู่ตอนกลางของภาคอีสาน บริเวณลุ่มน้ำชี มีความเจริญรุ่งเรืองมากในยุคประวัติศาสตร์ และมีความหลากหลายในแง่ของศาสนาและวัฒนธรรม อันเนื่องจากดินแดนแห่งนี้ เคยตกอยู่ในอิทธิพลของอาณาจักรขอมโบราณ

นอกจากนี้ ร้อยเอ็ด ยังเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิชั้นดี มีชื่อเสียงโด่งดัง จากอดีตถึงปัจจุบัน จังหวัดร้อยเอ็ดยังคงเป็นเมืองที่มีความน่าสนใจ ทั้งประเพณีและวัฒนธรรม อีกทั้งยังมีผลิตผลิตภัณฑ์พื้นเมืองที่มีชื่อเสียง เช่น ผ้าทอพื้นเมือง เครื่องจักสาน

จังหวัดร้อยเอ็ด หรือ ฮ้อยเอ็ด มีเนื้อที่ประมาณ 8,299 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 5,187,155 ไร่ ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ โดยทางรถยนต์ประมาณ 512 กิโลเมตร บริเวณที่ตั้งจังหวัดร้อยเอ็ดใน ปัจจุบัน เดิมชื่อว่า เมืองสาเกตนคร หรือ อาณาจักรกุลุนทะนคร มีเจ้าผู้ครองนครเรียกว่า พระเจ้ากุลุนทะ เมืองสาเกต เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมาก ซึ่งมีเมืองขึ้นถึง 11 เมือง ได้แก่

  1. เมืองเชียงเหียน (บ้านเชียงเหียน อำเภอเมืองมหาสารคาม)
  2. เมืองฟ้าแดด (บ้านฟ้าแดดสูงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์)
  3. เมืองสีแก้ว (บ้านสีแก้ว อำเภอเมืองร้อยเอ็ด)
  4. เมืองเปือย (บ้านเมืองเปือย อำเภอเมืองร้อยเอ็ด)
  5. เมืองทอง (บ้านเมืองทอง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด)
  6. เมืองหงษ์ (บ้านเมืองหงษ์ อำเภอจตุรพักตรพิมาน)
  7. เมืองบัว (บ้านเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย)
  8. เมืองคอง (อยู่บริเวณอำเภอเมืองสรวง อำเภอสุวรรณภูมิ)
  9. เมืองเชียงขวง (บ้านจาน อำเภอธวัชบุรี)
  10. เมืองเชียงดี (บ้านโนนหัว อำเภอธวัชบุรี)
  11. เมืองไพ (บ้านเมืองไพร อำเภอเสลภูมิ)

roi ed 02

จากหลักฐานโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ขุดพบแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว สันนิษฐานว่า มีอายุประมาณ 1,800 - 2,500 ปีมาแล้ว ต่อมาอิทธิพลของพุทธศาสนาภายใต้วัฒนธรรมทวารวดีได้แผ่ขยายเข้ามา เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 12 - 15 มีหลักฐานที่สำคัญ เช่น กลุ่มใบเสมาบริเวณหนองศิลาเลข ในเขตอำเภอพนมไพร พระพิมพ์ดินเผาปางนาคปรกที่เมืองไพร ในเขตอำเภอเสลภูมิ คูเมืองร้อยเอ็ด เจดีย์เมืองหงษ์ ในเขตอำเภอจตุรพักตรพิมาน

ในพุทธศตวรรษที่ 16 วัฒนธรรมจากอาณาจักรขอมได้แพร่เข้ามา ปรากฏหลักฐานให้เห็นอยู่มาก เช่น ปรางค์กู่กาสิงห์ ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย ปรางค์กู่ในเขตอำเภอธวัชบุรี กู่พระโกนาในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ และประติมากรรมที่เป็นรูปเคารพทางศาสนา ที่เป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ ทำจากหินทรายและโลหะเป็นจำนวนมาก หลักฐานเกี่ยวกับเมืองร้อยเอ็ดขาดหายไป ประมาณ 400 ปี จนถึงประมาณปี พ.ศ. 2231 เมืองเวียงจันทน์เกิดความไม่สงบ พระครูโพนสะเม็ดพร้อมผู้คนประมาณ 3,000 คนได้เชิญเจ้าหน่อกษัตริย์อพยพลงมาตามแม่น้ำโขง แล้วมาตั้งมั่นอยู่ที่บริเวณเมืองจำปาศักดิ์ ผู้ปกครองเมืองจำปาศักดิ์มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระครูโพนสะเม็ด จึงได้นิมนต์ให้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและปกครองเมืองจำปาศักดิ์

ต่อมา เจ้าหน่อกษัตริย์ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์พระนามว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ได้ขยายอิทธิพลไปในดินแดนต่างๆ เหนือสองฝั่งแม่น้ำโขง ได้ตั้งเมืองใหม่ขึ้นหลายแห่ง และส่งบริวารไปปกครอง เช่น เมืองเชียงแตง เมืองสีทันดร เมืองรัตนบุรี เมืองคำทอง เมืองสาละวัน และเมืองอัตตะปือ เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2450 เมืองร้อยเอ็ดได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น บริเวณร้อยเอ็ด โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 5 เมือง คือ เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ เมืองมหาสารคาม เมืองกมลาไสย และเมืองกาฬสินธุ์

roi ed 03

ในปี พ.ศ. 2453 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงเห็นด้วยกับข้อเสนอของเทศาภิบาลข้าหลวงมณฑลอีสานว่า ควรแยกมณฑลอีสานออกเป็น 2 มณฑล คือ มณฑลอุบลราชธานี และมณฑลร้อยเอ็ด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็นไปตามที่เสนอ มณฑลร้อยเอ็ดจึงมีเขตปกครอง 3 จังหวัด คือ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดกาฬสินธุ์

ในปี พ.ศ. 2469 อำมาตย์เอกพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) ข้าหลวงจังหวัดร้อยเอ็ดเห็นว่า บึงพลาญชัย (เดิมใช้ว่า บึงพระลานชัย) ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองร้อยเอ็ดตื้นเขิน ถ้าปล่อยทิ้งไว้บึงก็จะหมดสภาพไป จึงได้ชักชวนชาวบ้านจากทุกอำเภอมาขุดลอกบึงเพื่อให้มีน้ำขังอยู่ได้ตลอดปี ได้ดำเนินการขุดลอกบึงทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่ 2 ปี มีชาวบ้านมาร่วมขุดลอกบึงถึง 40,000 คน ต่อมาก็ได้มีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง จนเป็นมรดกที่สำคัญของจังหวัด ร้อยเอ็ดมาตราบเท่าทุกวันนี้

roi ed flower

ดอกไม้ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด คือ ดอกประดู่ หรือ ประดู่ป่า (อังกฤษ: Burma padauk) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pterocarpus macrocarpus เป็นไม้ผลัดใบขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งในสกุล Pterocarpus วงศ์ Leguminosae ประดู่ชนิดนี้เป็นพรรณไม้พื้นเมืองในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ, พม่า, ลาว และเวียดนาม และเป็นพรรณไม้พื้นบ้านดั้งเดิมของไทย ในไทยพบตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังในทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ (ประดู่บ้านจะพบในป่าเบญจพรรณทางภาคใต้ เรียก สะโน) โดยขึ้นในที่สูงจากระดับน้ำทะเล 100-600 เมตร ส่วนในพม่าพบขึ้นอยู่ตามพื้นที่ราบหรือเนินสูงต่ำ และพบขึ้นในที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 750 เมตร

ลำต้นสูง 10-30 เมตร หุ้มด้วยเปลือกหนาสีน้ำตาล ซึ่งแตกสะเก็ดเป็นร่องลึก มีนํ้ายางมาก เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ กิ่งก้านมักไม่ห้อยระย้าอย่างประดู่บ้าน ใบประกอบขนนกรูปไข่ เรียบหนา ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง มี 5 กลีบ สีเหลืองมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกบานแล้วร่วงพร้อมๆ กันในช่วงเดือนเมษายน-สิงหาคม มีเนื้อไม้สีแดงอมเหลือง เสี้ยนสนเป็นริ้ว เนื้อละเอียดปานกลาง มีลวดลายสวยงาม ใช้ทำเสา พื้นต่อเรือ เครื่องเรือน เครื่องดนตรี แก่นสีแดงคล้ำใช้ย้อมผ้า และเปลือกให้น้ำฝาดใช้ฟอกหนัง

“ร้อยเอ็ด” มาจากไหน? ทำไม่ไม่ใช่ “สิบเอ็ด”??

จังหวัดร้อยเอ็ด มาจากนามเดิมว่า เมืองฮ้อยเอ็ด หมายถึง เมืองที่เป็นศูนย์กลางการค้าและเส้นทางคมนาคมทางบก ทางน้ำกว้างไกลไปทุกทิศทาง เหมือนมีประตูช่องทางออกไปติดต่อบ้านเมืองต่างๆ ได้ร้อยเอ็ดทิศ

ชื่อเมืองว่า “ร้อยเอ็ด” ได้จากชื่อในตำนานอุรังคธาตุ (คำบอกเล่าความเป็นมาของพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม) ว่าเมืองร้อยเอ็ดประตู เพราะเป็นเมืองใหญ่มีบริวารถึง 101 เมือง กับประตูเมือง 101 ประตู

ต่อมาได้มีข้อโต้แย้งจากผู้รู้บางท่านว่า “เมืองนี้มีเพียงสิบเอ็ดประตูเท่านั้น เพราะการเขียนตัวเลขสิบเอ็ดของคนอีสานและคนลาวสมัยก่อนนั้นเขียนว่า 101 ซึ่งต่อมาคนไม่เข้าใจการเขียนการอ่านของคนอีสาน จึงอ่านผิดไปเป็นหนึ่งร้อยเอ็ด หรือร้อยเอ็ด ด้วยเหตุนี้เมืองที่ควรจะชื่อว่าเมืองสิบเอ็ดประตูจึงกลายเป็นเมืองร้อยเอ็ดประตูไป”

roi ed 07

แต่ข้อโต้แย้งต้องตกไป เพราะ ต้นฉบับตัวเขียนบนใบลานตำนานอุรังคธาตุไม่ได้เขียนตัวเลข แต่เขียนเป็นตัวอักษร กรมศิลปากรบอกไว้ในเอกสาร "ชื่อบ้านนามเมือง…ร้อยเอ็ด" (พิมพ์ พ.ศ. 2552) ว่า

“จากการตรวจสอบของนักภาษาโบราณ กรมศิลปากรไม่พบว่า ในตำนานอุรังคธาตุมีการเขียนชื่อเมืองร้อยเอ็ดประตูด้วยตัวเลข หากแต่เขียนเป็นตัวอักษรทั้งสิ้น”

แล้วอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า “ถึงแม้ว่าร่องรอยของประตูเมืองร้อยเอ็ดโบราณจากภาพถ่ายทางอากาศเมื่อ พ.ศ. 2496 จะปรากฏว่า มีช่องทางเข้าออก 11 ประตูก็ตาม แต่จำนวน 11 ประตูก็มิได้เป็นจำนวนที่มากเกินปกติจนเป็นเอกลักษณ์ของเมืองได้ เพราะเมืองโบราณศรีเทพซึ่งเป็นเมืองโบราณที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยและมีการขยายเมืองเช่นเดียวกันนั้น ก็มีการเพิ่มจำนวนช่องทางเข้าออกเป็น 11 ช่องทางตามการขยายของตัวเมืองเช่นกัน”

ร้อยเอ็ดจะตรงกับคำว่า “ทวารวดี” มีคำอธิบายของกรมศิลปากร (เอกสารประกอบนิทรรศการฯ เรื่อง "ชื่อบ้านนามเมือง…ร้อยเอ็ด" ผลิตเผยแพร่โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด เมื่อ พ.ศ. 2552) เรื่องความหมายของเมืองร้อยเอ็ดประตู ไว้น่าเชื่อถือ มีความว่า

“ในตำนานอุรังคธาตุ กล่าวว่าเมืองร้อยเอ็ดประตูมีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น 101 เมือง การใช้จำนวนประตูเมืองมากมายนั้นเป็นความหมายแสดงถึงอำนาจที่แผ่ขยายกว้างไกลออกไปทุกทิศทาง โดยคติดังกล่าวนี้น่าจะมีที่มาจากอินเดีย ดังเช่นชื่อ "ทวารวดี" เมื่อแปลตามรูปศัพท์แปลว่าเมืองที่มีประตูเป็นกำแพง (ทวาร-ประตู และ วติ-รั้ว, กำแพง) และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับชื่อ เมืองร้อยเอ็ดประตู ก็จะให้ความหมายถึงการเป็นเมืองศูนย์กลาง ที่มีอำนาจจครอบคลุมออกไปทุกสารทิศเช่นเดียวกัน"

ชื่อเมือง "ร้อยเอ็ดประตู" เป็นมงคลนาม ที่ผู้ตั้งต้องการให้หมายถึงว่าเป็น "เมืองที่มีอำนาจแผ่ขยายกว้างไกลออกไปทุกทิศทาง" ซึ่งคงไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีประตูจริงๆ ถึง 101 ประตู”

ที่มา : วารสารศิลปวัฒนธรรม
31 สิงหาคม 2561

จังหวัดร้อยเอ็ด แบ่งการปกครองออกเป็น 20 อำเภอ (2564) คือ

 อำเภอเมืองร้อยเอ็ด อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอปทุมรัตน์ อำเภอจตุรพักตรพิมาน
 อำเภอธวัชบุรี อำเภอพนมไพร อำเภอโพนทอง อำเภอโพธิ์ชัย
 อำเภอหนองพอก อำเภอเสลภูมิ อำเภอสุวรรณภูมิ อำเภอเมืองสรวง
 อำเภอโพนทราย อำเภออาจสามารถ อำเภอเมยวดี อำเภอศรีสมเด็จ
 อำเภอจังหาร อำเภอเชียงขวัญ อำเภอหนองฮี อำเภอทุ่งเขาหลวง

การเดินทางสู่เมืองร้อยเอ็ด

ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 512 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดร้อยเอ็ดได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง และรถไฟ และเครื่องบิน

  • โดยรถไฟ:
    จากกรุงเทพฯ ไปลงที่จังหวัดขอนแก่น แล้วต่อรถยนต์โดยสารเข้าจังหวัดร้อยเอ็ด ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง มีรถไฟออกจากสถานีหัวลำโพงไปขอนแก่นทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร.1690 เว็บไซต์ www.railway.co.th
  • โดยรถยนตร์:
    จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านสระบุรี นครราชสีมา แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 23 ผ่านมหาสารคาม จนถึงจังหวัดร้อยเอ็ด รวมระยะทาง 512 กิโลเมตร
  • โดยรถประจำทาง:
    มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-ร้อยเอ็ด ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 เว็บไซต์ www.transport.co.th

roi ed 04

การเดินทางภายใน ร้อยเอ็ด

ในตัวเมืองร้อยเอ็ดมีรถโดยสารประจำทางไปยังอำเภอต่างๆ ได้อย่างสะดวก นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะได้หลายรูปแบบตามอัธยาศัย สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งร้อยเอ็ด โทร. 0-4351-1939, 0-4351-2546 นอกจากนี้ยังมีรถสองแถวไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว คิวรถจะอยู่ในสถานีขนส่ง

กระจกหกด้าน - ผาน้ำย้อย

แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดร้อยเอ็ด

จังหวัดร้อยเอ็ดมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ธรรมชาติ วิถีชีวิตผู้คน โดยมีสถานที่ที่น่าสนใจ เช่น กู่พระโกนา ปรางค์กู่ หรือปราสาทหนองกู่ กู่กาสิงห์ วัดจักรวาลภูมิพินิจ วัดไตรภูมิคณาจารย์ บ้านหวายหลึม วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม บึงพลาญชัย สิมวัดไตรภูมิคณาจารย์ ทุ่งกุลาร้องไห้ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์ บึงเกลือ หรือทะเลอีสาน เป็นต้น

roi ed 01

ร้อยเอ็ดมีงานเทศกาลและประเพณีที่น่าสนใจหลายอย่าง มีงานเด่นดังประจำปีที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด คือ งานประเพณีกินข้าวปุ้นบุญผะเหวด งานประเพณีการแข่งเรือ ที่บึงพลาญชัย งานประเพณีแห่เทียนพรรษา งานประเพณีบุญบั้งไฟ

แนะนำจังหวัดร้อยเอ็ด

[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดร้อยเอ็ด | แผนที่จังหวัดร้อยเอ็ด | เอกสารการท่องเที่ยว ]

 roi ed 06

ขอแนะนำให้ท่านได้ชม : ภาพเก่าเล่าเรื่องอดีตของ "เมืองร้อยเกิน ๑๐๑" ชุดที่ 1 | ชุดที่ 2 new1234

redline

 

นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้

รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี

redline

backled1

provinces header

จังหวัดยโสธร

เมืองบั้งไฟโก้  แตงโมหวาน  หมอนขวานผ้าขิด  แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ "

yasothon logoจังหวัดยโสธร จากพงศาวดารเมืองยโสธรได้บันทึกไว้ว่า เมื่อราวๆ ปี พ.ศ. 2340 พระเจ้าวรวงศา (พระวอ) เสนาบดีเก่าเมืองเวียงจันทน์ กับสมัครพรรคพวกเดินทางอพยพ จะไปอาศัยอยู่กับเจ้านครจำปาศักดิ์ เมื่อเดินทางถึงดงผีสิงห์เห็นเป็นทำเลดี จึงได้ตั้งหลักฐานและสร้างเมืองที่นี่เรียกว่า "บ้านสิงห์ท่า" หรือ "เมืองสิงห์ท่า" ต่อมาใน พ.ศ. 2357 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านสิงห์ท่าแห่งนี้ขึ้นเป็น "เมืองยศสุนทร" หรือ "เมืองยโสธร" ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ มีเจ้าเมืองดำรงบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรราชวงศา

ในปี พ.ศ. 2515 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร โดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 70 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2515 ได้แยกอำเภอยโสธร อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย อำเภอป่าติ้ว อำเภอเลิงนกทา และอำเภอกุดชุม ออกจากจังหวัดอุบลราชธานี และรวมกันเป็นจังหวัดยโสธร ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2515 จังหวัดยโสธรมีเนื้อที่ประมาณ 4,161 ตารางกิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดในเขตอีสานตอนล่าง

จังหวัดยโสธรแบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ (2564) คือ อำเภอเมืองยโสธร, อำเภอทรายมูล, อำเภอกุดชุม, อำเภอคำเขื่อนแก้ว, อำเภอป่าติ้ว, อำเภอมหาชนะชัย, อำเภอค้อวัง, อำเภอเลิงนกทา และอำเภอไทยเจริญ

yasothon flower

ดอกไม้ประจำจังหวัดยโสธร คือ ดอกบัวแดง ชื่อสามัญ Water Lily ชื่อวิทยาศาสตร์ Nymphaea lotus Linn. เป็นพรรณไม้น้ำประเภทพืชล้มลุก มีลำต้นและหัวอยู่ในดินใต้น้ำ การเจริญชูก้านใบและดอกขึ้นมาบนผิวน้ำ ใบมีลักษณะกลมกว้างใหญ่ ผิวใบเรียบ สีเขียวขอบน้ำตาล ดอกเป็นกลีบซ้อนกันหลายชั้น มีสีขาว ชมพู เหลือง ลักษณะสีสัน ขนาดของใบและดอกขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์ เป็นพืชต้องการน้ำมากเพราะเป็นพืชเจริญในน้ำ แสงแดดอ่อนจนถึง แดดจัด สายบัวนิยมนำไปทำอาหารประเภทแกง หรือรับประทานเป็นผักสด

อาณาเขตติดต่อ :

  • ทิศตะวันตก : ติดกับจังหวัดร้อยเอ็ด
  • ทิศตะวันออก : ติดกับจังหวัดอุบลราชธานี
  • ทิศเหนือ : ติดกับจังหวัดศรีสะเกษ
  • ทิศใต้ : ติดกับจังหวัดมุกดาหาร จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดนครพนม

แนะนำจังหวัดยโสธร : Discover Yasothon Master

ประเพณีเทศกาลและแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ

ทั่วถิ่นแดนไทย : ประเพณีแห่งวิถีไทยอีสาน งานบุญบั้งไฟ สืบสานหัวใจแห่งศรัทธา ยโสธร

งานประเพณีบุญบั้งไฟ

มีขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ณ สวนสาธารณะพญาแถน โดยแต่เดิมมีวัตถุประสงค์เพื่อ มุ่งแสดงออกถึงความสามัคคีของหมู่คณะ และมีความเชื่อว่าเมื่อจัดงานนี้แล้ว เทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะดลบันดาลให้มีฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ บั้งไฟแต่ละอันที่มาเข้าขบวนแห่ จะถูกตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงาม ด้วยลวดลายไทยสีทอง เล่ากันว่าศิลปะการตกแต่งบั้งไฟนี้ นายช่างจะต้องสับและตัดลวดลายต่างๆ นี้ไว้เป็นเวลาแรมเดือน แล้วจึงนำมาทากาวติดกับลูกบั้งไฟ ส่วนหัวบั้งไฟนั้นจะทำเป็นรูปต่างๆ ส่วนมากนิยมทำเป็นรูปหัวพญานาคอ้าปาก แลบลิ้นพ่นน้ำได้ บ้างก็ทำเป็นรูปอื่นๆ แต่ก็มีความหมายเข้ากับตำนานในการขอฝนทั้งสิ้น ตัวบั้งไฟนั้นจะนำมาตั้งบนฐาน ใช้รถหรือเกวียนเป็นพาหนะนำมาเดินแห่ตามประเพณี

บั้งไฟที่จัดทำมีหลายชนิดคือ มีทั้งบั้งไฟกิโล บั้งไฟหมื่น และบั้งไฟแสน บั้งไฟกิโลนั้นหมายถึง น้ำหนักของดินประสิว 1 กิโลกรัม บั้งไฟหมื่นก็ใช้ดินประสิว 12 กิโลกรัม บั้งไฟแสนก็ใช้ดินประสิว 120 กิโลกรัม เมื่อตกลงกันว่า จะทำบั้งไฟขนาดไหนก็หาช่างมาทำ หรือที่มีฝีมือก็ทำกันเอง ช่างที่ทำบั้งไฟนั้นสำคัญมาก ช่างจะต้องเป็นผู้มีฝีมือในการคำนวณผสมดินประสิวกับถ่านไม้ เพราะถ้าไม่ถูกสูตรบั้งไฟก็จะแตก คือไม่ขึ้นสู่ท้องฟ้า สำหรับไม้ที่จะทำเป็นเสาบั้งไฟนั้น ต้องมีไม้ไผ่ที่มีลำปล้องตรงกันเสมอกัน จะตัดเอาแต่ที่โคนต้น เพราะมีความหนาและเหนียว ความยาวนั้นแล้วแต่จะตกลงกัน สำหรับขบวนเซิ้งบั้งไฟนั้นมีความยาวหลายกิโลเมตร

ในวันรุ่งขึ้นเป็นการจุดบั้งไฟ จะมีการแบกบั้งไฟไปยังฐานยิงในที่โล่ง ถ้าบั้งไฟของใครจุดแล้วยิงไม่ขึ้น คนทำจะถูกจับโยนลงในโคลน ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมา [ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ]

boon bang fire 6

งานประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก

จัดในช่วงวันมาฆบูชา มีการนำข้าวตอก ดอกไม้ไปถวายเป็นพุทธบูชา จากความเชื่อในเรื่องว่า

  1. พระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์ มาเทศน์โปรดมารดาเหล่าเทวดาแสดงความยินดี โดยการโปรยข้าวตอกดอกไม้เป็พุทธบูชา
  2. ตามโบราณอีสานนิยม เมื่อมีการขนข้าวขึ้นเล้วเขาจะแยกข้าวบางส่วน ใส่กระสอบหรือกระเฌอเอาไว้สำหรับ ตำกิน กะให้พอดีกินถึงวันเปิดเล้าคือ เมื่อเอาข้าวขึ้นเล้าและสู่ขวัญข้าวเสร็จคนโบราณจะปิดเล้าข้าวไว้และจะเปิดเล้าข้าวอีกครั้งหนึ่งเพื่อนำข้าวมาตำกินในช่วงเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ หรือวันมงคลอื่นๆ ทั้งนี้แล้วแต่ท้องถิ่น สำหรับบ้านฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย ได้กำหนดเอาวันมาฆบูชา โดยจะทำการเปิดเล้าข้าวและร่วมทำบุญตักบาตรตลอดจนการให้ทานต่างๆและเพื่อเป็นพุทธบูชาและความเป็นสิริมงคล ในการจัดข้าวตอกดอกไม้ไปถวายเป็นพุทธบูชาได้มาปฏิบัติทุกปีติดต่อกันมามิได้ขาด ในตอนแรกการนำข้าวตอกดอกไม้เป็นบูชานั้นจะนำใส่พานแล้วโปรยเวลาพระเทศน์ ต่อมาได้นำข้าวตอกดอกไม้มาประดิษฐ์ตกแต่งให้สวยงาม ด้วยการร้อยเป็นพวงคล้ายพวงมาลัย จึงเรียกกันว่า "พวงมาลัย" และเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำเป็นพวงมาลัยข้าวตอกบ้าง บางทีก็ใช้ดอกไม้พลาสติกและลูกปัดร้อยเข้าไปด้วยเพื่อให้สวยงามขึ้น

malai kaotog 05

ในการทำพวงมาลัย จะรวมกันเป็นกลุ่มประมาณ 4 - 5 หลังคาเรือนหรือใครจะมีศรัทธาทำตนเฉพาะตนก็ได้ ในปัจจุบันการร้อยมาลัยเป็นสายจะมีความยาวประมาณ 4 - 6 เมตร ในการทำบุญพวงมาลัย จะมีการนำพวงมาลัยมาแห่รอบเมืองเป็นขบวนสวยงาม เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจ และมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากท้องถิ่นส่วนอื่นๆ จากนั้นจะนำไปถวายวัดก่อนถึงวันมาฆบูชาหนึ่งวัน ทางวัดจะนำไปแขวนประดับประดาไว้บนศาลาการเปรียญเพื่อเป็นพุทธบูชา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย โทร. 0 4579 9341,0 4579 9103 [ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ]

พระธาตุก่องข้าวน้อย

ตั้งอยู่ในทุ่งนา ตำบลตาดทอง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 9 กม. ไปตามทางหลวงหมายเลข 23 (ยโสธร - อุบลราชธานี) ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 194 เลี้ยวซ้ายไปอีก 1 กิโลเมตร พระธาตุก่องข้าวน้อย เป็นเจดีย์เก่าสมัยขอม สร้างในพุทธศตวรรษที่ 23 - 25 ตรงกับ สมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ในเขตวัดพระธาตุก่องข้าวน้อย ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงทุ่งนาในเขตตำบลตาดทอง

ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ - เทพพร เพชรอุบล

พระธาตุก่องข้าวน้อย เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงแปลกไปจากเจดีย์โดยทั่วไป คือ มีลักษณะเป็นก่องข้าว องค์พระธาตุเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สาม ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 2 เมตร ก่อสูงขึ้นไปประมาณ 1 เมตร ช่วงกลางขององค์พระธาตุ มีลวดลายทำเป็นซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ถัดจากช่วงนี้ไปเป็นส่วนยอดของเจดีย์ที่ค่อยๆ สอบเข้าหากัน ส่วนยอดรอบนอกของพระธาตุก่องข้าวน้อย มีกำแพงอิฐล้อมรอบขนาด 5 x 5 เมตร นอกจากนี้บริเวณด้านหลังพระธาตุมีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่งก่อด้วยอิฐ ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก และในเดือนห้าจะมีผู้คนนิยมมาสรงน้ำพระและปิดทอง ซึ่งเชื่อกันว่าถ้าไม่ทำเช่นนี้ฝนจะแล้งในปีนั้น

พระธาตุก่องข้าวน้อยมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ซึ่งผิดไปจากปูชนียสถานแห่งอื่นๆ ที่มักเกี่ยวพันกับเรื่องพุทธศาสนา แต่ประวัติความเป็นมาของพระธาตุก่องข้าวน้อย กลับเป็นเรื่องของหนุ่มชาวนาที่ทำนาตั้งแต่เช้าจนเพล มารดาส่งข้าวสายเกิดหิวข้าวจนตาลาย อารมณ์ชั่ววูบทำให้เขากระทำมาตุฆาตด้วยสาเหตุเพียงว่า ข้าวที่เอามาส่งดูจะน้อยไปไม่พอกิน ครั้นเมื่อกินข้าวอิ่มแล้ว ข้าวยังไม่หมดจึงได้สติคิดสำนึกผิด ที่กระทำรุนแรงต่อมารดาของตนเองจนถึงแก่ความตาย จึงได้สร้างพระธาตุก่องข้าวน้อยแห่งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลขออโหสิกรรมและล้างบาปที่ตนกระทำมาตุฆาต

ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ (2523) โดย พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา

นอกจากนี้ ที่บริเวณบ้านตาดทอง กรมศิลปากร ได้ดำเนินการขุดค้นเรื่องราวของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้ค้นพบโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และภาชนะลายเขียนสีแบบบ้านเชียง ซึ่งกรมศิลปากรกำลังดำเนินการจัดตั้งอุทยานก่อนประวัติศาสตร์ขึ้น [ อ่านเพิ่มเติม : นิทานพื้นบ้าน ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ]

โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้ (มุมมองใหม่สิ่งศักดิ์สิทธิ์)

yasothon 01

เป็นโบสถ์ไม้ขนาดใหญ่มีเสาถึง 336 ต้น ใช้กระดานทำแป้นเกร็ดมุมหลังคา 80,000 แผ่น สามารถจุคริสตศาสนิกชนได้ร่วม 500 คน มิได้เพียงแต่ขนาดที่ใหญ่โตเท่านั้น โบสถ์นี้ยังได้ชื่อว่าเป็น โบสถ์คริสต์นิกายคาทอลิก ที่ก่อสร้างด้วยไม้และมีหน้าจั่วประดับกระจกซึ่งใหญ่ทีสุดในภาคอีสาน โบสถ์นี้มีชื่อเป็นทางการว่า "วัดอัครเทวดามิคาแอล" การเดินทางจากยโสธรใช้ทางหลวงหมายเลข 2169 เลยอำเภอกุดชุมไปประมาณ 7 - 8 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกราว 600 เมตร ถึงบริเวณโรงเรียนซ่งแย้พิทยาและโบสถ์ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกัน

หมู่บ้านทำหมอนขิตบ้านศรีฐาน

ห่างจากตัวเมืองยโสธร 20 กิโลเมตร ตามเส้นทางยโสธร - ป่าติ้ว - อำนาจเจริญ (ทางหลวงหมายเลข 202) ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 18 - 19 แยกทางขวามือเข้าไปทางลูกรังอีก 3 กิโลเมตร หลังฤดูทำนาชาวบ้านที่นี่แทบทุกครัวเรือนมีอาชีพทอผ้า และทำหมอนขิต นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปชมและซื้อหมอนขิตไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งขณะนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก ส่งเป็นสินค้าออกไปขายต่างประเทศ นับเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่นำรายได้เป็นอันดับสองรองจากการทำนา

yasothon 02

กระติบข้าว บ้านทุ่งนางโอก

ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 8 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 2169 (ยโสธร - กุดชุม) มีชื่อเสียงในการจักสานไม้ไผ่ เพื่อเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนและของที่ระลึก โดยเฉพาะกระติบข้าว ผู้ที่มีความสามารถในการสานกระติบข้าว เริ่มจากเด็กนักเรียนระดับอนุบาล เรื่อยไปถึงคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน [ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ]

yasothon 03

ตำนาน "พญาคันคาก"

ณ เมืองแห่งหนึ่งชื่อ "เมืองชมพู" มีเจ้าเมืองชื่อ พระเจ้าเอกราช และพระมเหสี คือ พระนางสีดา ครองเมืองด้วยความร่มเย็นเป็นสุข กาลครั้งนั้นพระโพธิสัตว์จุติลงในครรภ์พระนางสีดา และประสูติออกมาเป็นคันคาก (คางคก) บิดามารดาไม่พอใจ แต่ก็เมตตาสงสารเลี้ยงไว้ เมื่อคันคาก เป็นหนุ่มก็อยากจะมีเมีย พระอินทร์สงสาร จึงช่วยเหลือโดยเนรมิตปราสาทไว้ใจกลางเมืองชมพู และนำนางอุดรกุรุทวีป ผู้เป็นเนื้อคู่มาไว้ในปราสาท แล้วชุบให้คันคากมีรูปร่างงดงาม ทั้งสองจึงได้อภิเษกกับครองเมืองชมพูสืบไป

yasothon 04

พญาคันคากครองเมืองมานาน ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองแห้งแล้ง อดอยาก พญาคันคากสั่งให้ พญานาคและปลวก ไปรบกับพญาแถน มีกองทัพสัตว์ต่างๆ เช่น กิ้งกือ ตะขาบ แมงป่อง ช่วยรบด้วยจนชนะพญาแถน

พญาคันคากจึงเริ่มเจรจาต่อพญาแถน ขอให้เมตตาชาวเมือง ประทานฝนตามฤดูกาลทุกปี พญาแถนแสร้งว่าลืม พญาคันคากจึงทูลเสนอว่าจะให้ชาวบ้านจุดบั้งไฟขึ้นมาเตือน พญาแถนก็เห็นชอบด้วย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทุกๆ เดือนหกซึ่งเป็นช่วงเริ่มฤดูทำนา ชาวอีสานจึงมีประเพณีบุญบั้งไฟเพื่อบูชาพญาแถน เพื่อจะได้อำนวยความสะดวกตลอดฤดูเพาะปลูก และเมื่อพญาแถนประทานฝนลงมาถึงพื้นโลกแล้ว บรรดากบ เขียด คางคก ที่เป็นบริวารของพญาคันคาก ก็จะร้องประสานเพื่อแสดงความขอบคุณต่อพญาแถน

พญาแถนแต่งน้ำฝนให้ตกลงในเมืองชมพู แล้วเอาข้าวทิพย์เม็ดเท่ามะพร้าวไปปลูกให้เมืองมนุษย์ เสร็จแล้วเลิกทัพกลับมาเมืองชมพู เมืองนั้นจึงบริบูรณ์ตั้งแต่นั้นมา ต่อมาชาวเมืองชมพูพากันเกียจคร้าน มิได้ทำยุ้งฉางไว้คอยรับข้าวทิพย์ เอาแต่มีดพร้าฟันเม็ดข้าว เม็ดข้าวจึงเล็กลง ดังที่เห็นในทุกวันนี้...

ปริวรรตจาก : อักษรธรรม 3 ผูก วัดมัชฌิมาวาส บ้านนานางวาน ตำบลม่วงใหญ่ อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี

 [ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดยโสธร | แผนที่จังหวัดยโสธร | เอกสารการท่องเที่ยว ]

new1234ภาพเก่าเล่าเรื่องในอดีต "เมืองยโสธร"new1234

 

 

นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้

รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี

redline

backled1

provinces header

จังหวัดมุกดาหาร

เมืองชายโขงงาม   มะขามหวานเลิศ
ถิ่นกำเนิดลำพญา   ภูผาเทิบพิสดาร
กลองโบราณล้ำค่า  วัฒนธรรมไทยแปดเผ่า
เขามโนรมย์เพลินตา  โสภาแก่งกระเบา "

mukdahan logoในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ทางฝั่งซ้ายของลำน้ำโขงแขวงสวันเขต มีหมู่บ้านชุมชนใหญ่ชื่อ บ้านหลวงโพนสิน ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณพระธาตุอิงฮัง แขวงสวันเขต ในปัจจุบัน โดยมีเจ้าจันทรสุริยวงศ์ปกครอง มีบุตรชายชื่อเจ้ากินรี ซึ่งต่อมาได้ข้ามลำน้ำโขงมาฝั่งขวาที่บริเวณปากห้วยมุก สร้างบ้านแปลงเมืองขึ้น ณ ที่นั้นในปี พ.ศ. 2310 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2313 และตั้งชื่อเมืองว่า "มุกดาหาร" อันเกิดจากศุภนิมิตรที่พบเห็นในขณะที่กำลังสร้างเมือง ชาวเมืองทั่วไปเรียกมุกดาหารว่า เมืองบังมุก หรือ มุกดาหารบุรี

ในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ ให้เจ้ากินรีเป็นพระยาจันทรศรีสุราช อุปราชามัณฑาตุราช ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองคนแรกของเมืองมุกดาหาร เมื่อปี พ.ศ. 2321

เดิม เมืองมุกดาหาร มีฐานะเป็นเมืองขึ้นการปกครองกับมณฑลอุดร ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2450 มีการปรับปรุงการปกครองมณฑลอุดรเป็นจังหวัด และเมืองมุกดาหารจึงถูกยุบเป็นอำเภอเมืองมุกดาหาร ขึ้นการปกครองกับจังหวัดนครพนม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2525 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดมุกดาหารขึ้นเป็นจังหวัดที่ 73 ของประเทศไทย และเป็นจังหวัดที่ 17 ของภาคอีสาน

mukdahan flower

ดอกไม้ประจำจังหวัดมุกดาหาร คือ ดอกช้างน้าว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Ochna integerrima) เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ Ochnaceae ลำต้นคดงอ ใบอ่อนสีน้ำตาลแดง กิ่งก้านออกต่ำ ดอกสีเหลือง กลีบรองดอกสีแดงคล้ำ ผลกลม เป็นดอกไม้ที่เป็นที่นิยมมากทางภาคใต้ของเวียดนาม และเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดมุกดาหาร มีชื่อเรียกแตกต่างกันหลายชื่อ เช่น กระแจะ (ระนอง) กำลังช้างสาร (กลาง) ขมิ้นพระต้น (จันทบุรี) ควุ (กะเหรี่ยง-นครสวรรค์) แง่ง (บุรีรัมย์) ช้างน้าว, ตานนกกรด (นครราชสีมา) ช้างโน้ม (ตราด) ช้างโหม (ระยอง) ตาชีบ้าง (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) ตาลเหลือง (เหนือ) ฝิ่น (ราชบุรี) โว้โร้ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)

สรรพคุณทางยา รากใช้ขับพยาธิและฟอกน้ำเหลือง ทางภาคอีสานใช้ลำต้นต้มน้ำดื่ม แก้ปวดเมื่อย ทางจังหวัดอุบลราชธานีใช้แก่นต้มน้ำดื่มแก้ประดง ชาวเขาเผ่ามูเซอใช้รากเป็นยาบำรุงกำลัง โดยตากแห้ง หรือดองเหล้า หรือต้มน้ำดื่ม

จังหวัดมุกดาหาร เป็นประตูด่านสำคัญสู่กลุ่มประเทศอินโดจีน มีความสัมพันธ์ฉันท์บ้านพี่น้องกับแขวงสวันเขต สปป.ลาว มาช้านาน โดยมีแม่น้ำโขงซึ่งมีความยาวถึง 70 กิโลเมตร เป็นเส้นกั้นพรมแดน และมีความโดดเด่นในด้านชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ที่มีถึง 8 เผ่าได้แก่ เผ่าไทยอีสาน ภูไท ไทยข่า กระโซ่ ไทยย้อ ไทยแสก และไทยกุลา และยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม มุกดาหารมีพื้นที่ประมาณ 4,339,830 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ (2564) คือ อำเภอเมืองมุกดาหาร, อำเภอนิคมคำสร้อย, อำเภอดอนตาล, อำเภอดงหลวง, อำเภอคำชะอี, อำเภอหว้านใหญ่ และอำเภอหนองสูง

mukdahan 01

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศตะวันตก : ติดต่อกับอำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
  • ทิศตะวันออก : ติดต่อกับแขวงสวันเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดน
  • ทิศเหนือ : ติดต่อกับอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ และอำเภอหนองพอก อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด
  • ทิศใต้ : ติดต่อกับอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร และอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม

ประเพณีเทศกาลและแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ

mukdahan 05

งานกาชาดและงานรวมเผ่าไทยมุกดาหาร มะขามหวานชายโขง

ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคมทุกปี จังหวัดมุกดาหารเป็นเมืองเก่าแก่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงตรงข้ามกับแขวงสวันเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จึงมีชาวไทยเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่หลายเผ่า อาทิ ผู้ไท โซ่ ย้อ ข่า กะเลิง กุลา ซึ่งแต่ละเผ่าล้วนแล้วแต่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่น่าสนใจ มีเอกลักษณ์และศิลปวัฒนธรรมของตนเอง นอกจากนี้มุกดาหารยังเป็นแหล่งกำเนิดมะขามหวานพันธุ์ดีที่มีชื่อเสียงโด่งดังมานาน หากแต่ยังขาดการส่งเสริมในด้านการตลาด ดังนั้นเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ของดีของท้องถิ่น และส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวจังหวัดมุกดาหาร จึงได้จัดงาน รวมเผ่าไทยมุกดาหาร มะขามหวานชายโขง ขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด กิจกรรมระหว่างงานมีขบวนแห่ ซึ่งใช้ผู้ฟ้อนนับร้อยคนแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า มีการประกวดมะขามหวาน การประกวดธิดาเผ่าไทย การออกร้านของหน่วยงานต่างๆ และการแสดงพื้นเมือง เป็นต้น

mukdahan 03

ประเพณีการแข่งเรือ

ในช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปี การแข่งเรือของจังหวัดมุกดาหารเป็นประเพณีสืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยจัดขึ้นในลำน้ำโขง ที่บริเวณเขื่อนริมโขง ถนนสำราญชายโขง การแข่งเรือนี้จัดแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การแข่งเรือเร็ว โดยแบ่งเป็น 3 รุ่น ได้แก่ เรือรุ่นเล็ก รุ่นกลาง รุ่นใหญ่ ระยะทางแข่งยาว 3 กิโลเมตร เรือทุกลำเป็นเรือขุดท้องกลม อีกประเภทหนึ่งคือ การแข่งเรือประเภทสวยงาม โดยตกแต่งเรือให้สวยงามตลอดลำ โดยเฉพาะจะเน้นที่หัวเรือ การแข่งเรือทั้งสองประเภทนี้ ในแต่ละปีจะมีเรือเข้าแข่งขันเป็นจำนวนมาก และจะมีการแข่งเรือมิตรภาพไทย - ลาว โดยมีเรือจากแขวงสวันเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมาร่วมแข่งเป็นประจำทุกปี

mukdahan 06

หอแก้วมุกดาหารเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก

สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ห้วทรงครองราชย์ครบ 50 ปี หอแก้วมุกดาหาร มีลักษณะเป็นหอคอยรูปทรงกระบอก มีความสูง 65.50 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางตัวแกนหอคอย 6 เมตร ส่วนฐานมีลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น ทรงเก้าเหลี่ยมแทนความหมายถึงรัชกาลที่ 9 มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 เมตร มีทางเข้าออก 3 ทาง ส่วนแกนหอคอยเริ่มตั้งแต่ชั้น 3 ถึงชั้น 6 สูง 50 เมตร ส่วนหอชมวิวและโดม สูง 15 เมตร บนยอดสูงสุดเป็นที่ตั้งของ "ลูกแก้วมุกดาหาร" มีลักษณะกลมสีขาวหมอกมัว ทำจากประเทศเยอรมนี มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เมตร

การขึ้นไปชมจะมีลิฟต์และบันไดเวียนอำนวยความสะดวก โดยมีชั้นสำหรับชมนิทรรศการ และทัศนียภาพรอบด้านในระดับต่างๆ รวม 4 ระดับ คือ ชั้นที่ 1, 2, 6 และ 7 บนชั้นที่ 6 มีกล้องส่องทางไกลไว้รอบด้าน เพื่อชมทิวทัศน์ในระยะไกล นอกจากจะเห็นเมืองมุกดาหารในมุมสูงแล้ว ยังสามารถมองเห็นเมืองคันทะบุลี แขวงสะหวันนะเขด ที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำโขงได้อย่างชัดเจน หอแก้วมุกดาหารเปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.ค่าข้าชมคนละ 20 บาท

mukdahan 04

อุทยานแห่งชาติมุกดาหาร

เป็นภูเขาหินทราย ประกอบด้วยเทือกเขาน้อยใหญ่หลายลูกติดต่อกัน แบบลูกคลื่น และเป็นส่วนปลายสุดของเทือกเขาภูพาน เทือกเขาเหล่านี้วางตัวในลักษณะแนวเหนือ - ใต้ ขนานและห่างจากชายฝั่งโขงประมาณ 4 กิโลเมตร ภายในอุทยานมุกดาหาร ประกอบด้วยภูหมากยาง ภูมโน ภูโปร่ง ภูรัง ภูจอมนาง ภูหมากมี่ ภูผาเทิบ ภูนางหงส์ ภูถ้ำพระ ภูหลักเสและยอดเขาสูงสุดคือ ยอดภูจอมศรี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 170-420 เมตร สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าไม้เต็งรัง และป่าเบญจพรรณ และยังเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยหลายสาย

กินหมูหันพักผ่อนที่แก่งกะเบา

เป็นแก่งหินยาวเหยียดตามลำน้ำโขง บนฝั่งก็ยังมีลานหินกว้างใหญ่ เป็นที่พักผ่อนได้อย่างดี ในฤดูแล้งน้ำลด จนเห็นเกาะแก่งกลางน้ำ และหาดทรายสวยกว่าฤดูอื่นๆ การเดินทางใช้เส้นทางมุกดาหาร-ธาตุพนม (ทางหลวงหมายเลข 212) ประมาณ 20 กิโลเมตร แยกขวาไปอำเภอหว้านใหญ่อีก 9 กิโลเมตร จะพบทางแยกไปแก่งกะเบา ซึ่งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศเหนืออีก 8 กิโลเมตร [ อ่านเพิ่มเติม ]

น้ำตกตาดโตน

อยู่ห่างจากอำเภอหนองสูงไปทางทิศใต้ และอยู่ห่างจากอำเภอคำชะอีไปทางทิศตะวันตก ตามถนนสาย 2030 ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร อยู่ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 67-68 แยกเข้าไปอีกประมาณ 400 เมตร ทางขวามือ ระยะน้ำตกสูง 7 เมตร กว้าง 30 เมตร มีแอ่งน้ำสำหรับเล่นน้ำได้ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวมุกดาหารและชาวจังหวัดใกล้เคียง

[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดมุกดาหาร | แผนที่จังหวัดมุกดาหาร | เอกสารการท่องเที่ยว ]

new1234ภาพเก่าเล่าเรื่องอดีต "เมืองมุกดาหาร"new1234

mukdahan 02

 

นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้

รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี

redline

backled1

provinces header

จังหวัดมหาสารคาม

พุทธมณฑลอีสาน ถิ่นฐานอารยธรรม ผ้าไหมล้ำเลอค่า ตักศิลานคร "

mahasarakam logoจังหวัดมหาสารคาม เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีบรรยากาศของเมืองที่สงบเงียบ และเรียบง่ายตามแบบฉบับของเมืองอีสาน ปัจจุบันมีความสำคัญในฐานะเป็น ศูนย์กลางทางด้านการศึกษาแห่งหนึ่งของภูมิภาค เนื่องจากมีสถาบันการศึกษาอยู่มากมาย จึงได้ชื่อว่าเป็น "ตักศิลาแห่งอีสาน"

จังหวัดมหาสารคาม มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่โดดเด่นในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และประเพณี และเนื่องจากยังมีความเจริญไม่มากนัก ผู้ที่มาเยี่ยมเยือนเมืองนี้ จึงได้สัมผัสกับวิถีชีวิตชาวอีสานอันเรียบง่ายและบริสุทธิ์ เป็นเสน่ห์ที่นับวันจะหาได้ยากในสังคมเมืองปัจจุบัน

จังหวัดมหาสารคาม มีเนื้อที่ประมาณ 5,291 ตารางกิโลเมตร หรือ 3.31 ล้านไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 42 ของประเทศ ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบสูงโคราช พื้นที่มีรูปร่างคล้ายนกอินทรีกลับหัว ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบถึงลูกคลื่นลอนลาด มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 130 – 230 เมตร โดยทางด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือเป็นที่สูง และค่อยๆ ลาดเทมาทางทิศตะวันออกและทิศใต้ มีแม่น้ำสำคัญคือ แม่น้ำชี

จังหวัดมหาสารคาม เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเมืองหนึ่ง มีความเจริญรุ่งเรืองและเสื่อมโทรมหมุนเวียนไปในแต่ละยุคสมัย ปัจจุบันนับเป็นเมืองศูนย์รวมวัฒนธรรมของชาวอีสาน เนื่องจากชาวเมืองมีที่มาจากหลายชนเผ่า เช่น ชาวไทยพื้นเมืองที่พูดภาษาอีสาน ชาวไทยย้อ และชาวผู้ไท ประชาชนใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย มีการไปมาหาสู่และช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกันตามแบบของคนอีสานทั่วไป

mahasarakam 06

มหาสารคาม นับเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ เนื่องจากพบชุมชนโบราณหลายแห่ง ทั้งชุมชนบ้านเชียงเหียนและหมู่บ้านปั้นหม้อของชาวบ้านหม้อ ตำบลเขวา อำเภอเมืองฯ รวมทั้งพบศิลปะสมัยทวารวดีและอิทธิพลของวัฒนธรรมขอม เช่น กู่สันตรัตน์ กู่บ้านเขวา กู่บ้านแดง และกู่อื่นๆ รวมถึงเทวรูปและเครื่องปั้นดินเผาที่พบอยู่ทั่วไปในหลายพื้นที่ของจังหวัด

เดิม เมืองมหาสารคาม มีชื่อว่า "บ้านลาดกุดยางใหญ่" และเพี้ยนไปเป็น "กุดนางใย" ต่อมาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2408 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านลาดกุดยางใหญ่ขึ้นเป็น "เมืองมหาสารคาม" โดยแบ่งพื้นที่และย้ายพลเมืองมาจากเมืองร้อยเอ็ด ที่อยู่ติดกันมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ และโปรดเกล้าฯ ให้เมืองมหาสารคามขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2412 จนถึงปัจจุบัน

mahasarakam flower

ดอกไม้ประจำจังหวัดมหาสารคาม คือ ดอกลั่นทมขาว (จำปาขาว ชื่อสามัญ Frangipani ชื่อวิทยาศาสตร์ Plumeria ssp.) ลั่นทม หรือ ลีลาวดี เป็นไม้ดอกยืนต้นในวงศ์ตีนเป็ด หรือ วงศ์ไม้ลั่นทม (Apocynaceae) มีหลายชนิดด้วยกัน บางคนมีความเชื่อว่า ไม่ควรปลูกต้นลั่นทมในบ้าน เพราะมีความเชื่อว่า เป็นอัปมงคล คือไปพ้องกับคำว่า 'ระทม' ซึ่งแปลว่า เศร้าโศก ทุกข์ใจ นิยมปลูกกันแพร่หลายอย่างมาก ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ ได้แก่ จำปา, จำปาลาว และจำปาขอม เป็นต้น (สำหรับชื่อภาษาอังกฤษอื่นๆ ได้แก่ Frangipani, Plumeria, Temple Tree, Graveyard Tree)

ต้นลีลาวดี เป็นพืชนิยมปลูกเพราะดอกมีสีสันหลากหลาย สวยงาม ได้แก่ขาว เหลืองอ่อน แดง ชมพู สีขาวขุ่น ฯลฯ บางดอกมีมากกว่า 1 สี อาจมีมากถึงหลายสีในดอกเดียว ดอกลีลาวดียังเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศลาว โดยเรียกว่า "ดอกจำปา" และพบได้มากบริเวณทางขึ้นพระธาตุที่เมืองหลวงพระบาง สำหรับในประเทศไทยนั้น มักพบต้นลั่นทมตามธรรมชาติทางภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่

จังหวัดมหาสารคาม แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 13 อำเภอ (2564) ได้แก่ อำเภอเมืองมหาสารคาม อำเภอกันทรวิชัย อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอวาปีปทุม อำเภอบรบือ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย อำเภอนาเชือก อำเภอเชียงยืน อำเภอนาดูน อำเภอแกดำ อำเภอยางสีสุราช อำเภอกุดรัง และอำเภอชื่นชม

การเดินทาง

มหาสารคามอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 475 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดมหาสารคามได้ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัวและ รถประจำทาง

  • โดยรถยนตร์:
    จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 107 แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงจังหวัดนครราชสีมา แยกใช้ทางหลวงหมายเลข 226 ถึงจังหวัดบุรีรัมย์ แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 219 ผ่านอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย อำเภอบรบือ และแยกใช้ทางหลวงหมายเลข 23 เข้าสู่จังหวัดมหาสารคาม
  • โดยรถประจำทาง:
    มีรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-มหาสารคาม ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th ปัจจุบัน บริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com นอกจากนี้ยังสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ไทยรูท ดอทคอม www.thairoute.com

mahasarakam 03

การเดินทางภายใน มหาสารคาม

ในตัวจังหวัดมหาสารคามมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม รถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง รถสามล้อ เครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย

mahasarakam 01จังหวัดมหาสารคาม มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่โดดเด่นในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต มีกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจ คือ การเยี่ยมชมและสักการะพระธาตุนาดูน กู่ นมัสการพระพุทธรูปต่างๆ และเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม เยี่ยมชมและเลือกซื้อหาเครื่องใช้ในราคาถูกที่ หมู่บ้านหัตถกรรม พักในโฮมสเตย์ เรียนรู้การทำเสื่อกก หรือพักในรีสอร์ตสวย นวดแผนโบราณ และทำสปา เป็นต้น

นอก จากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติ คือ ขี่จักรยานท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจริมบึงบอน อุทยานมัจฉาโขงกุดหวาย และแก่งเลิงจาน ดู "ปูทูลกระหม่อม" หรือ "ปูแป้ง" ซึ่งเป็นปูน้ำจืดที่สวยที่สุดในโลกที่พบเฉพาะในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน เท่านั้น และชมทิวทัศน์ ดูนก เดินป่าศึกษาธรรมชาติและชมพรรณไม้ ที่วนอุทยานชีหลง

เทศกาลงานประเพณีและวัฒนธรรม

ประเพณีบุญเบิกฟ้า เป็นประเพณีของชาวมหาสารคามที่ประกอบขึ้น ตามความเชื่อว่า เมื่อถึงวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกๆ ปี ฟ้าจะเริ่มไขประตูฝน โดยจะมีเสียงฟ้าร้อง และทิศที่ฟ้าร้อง เป็นสัญญาณบ่งบอกตัวกำหนดปริมาณน้ำฝน ที่จะตกลงมาหล่อเลี้ยงการเกษตรในปีนั้นๆ เป็นงานเฉลิมฉลองในช่วงต้นฤดูการทำนา เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของอีสาน ในงานจัดให้มีขบวนแห่บุญเบิกฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระแม่โพสพ เรื่องของพานบายศรีสู่ขวัญ ตลอดจนวัฒนธรรม การละเล่น ดนตรีพื้นบ้าน และพิธีกรรมต่างๆ

งานนมัสการพระธาตุนาดูน พระธาตุนาดูน หรือ พุทธมณฑลอีสาน เป็นสถานที่ที่ค้นพบ หลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่แสดงว่า บริเวณแห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรื่องของ นครจำปาศรี เมืองโบราณในอดีต อีกทั้งได้ขุดพบสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ บรรจุในตลับทองคำ เงิน และสำริด ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 13 – 15 สมัยทวาราวดี จึงได้สร้างพระธาตุตามแบบสถูปที่ได้ค้นพบ และทุกปีก็จะมีการจัดงานนมัสการพระธาตุนาดูน อำเภอนาดูน จัดงานในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวันมาฆบูชา ของทุกปี

mahasarakam 08

รำบวงสรวง งานนมัสการพระบรมธาตุนาดูน จังหวัดมหาสารคาม
สุดอลังการนำขบวนนางรำกว่า 5,000 คน โดย ต่าย อรทัย

ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นองค์ความรู้ที่ได้รับการสั่งสม ถ่ายทอด และพัฒนา มาจากประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถของปู่ ย่า ตา ยาย ที่สามารถนำสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา มาทำให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีพ และความรู้และวิธีการต่างๆ ที่มีคุณค่าเหล่านั้น ได้ถ่ายทอดมาให้ลูกหลานในวันนี้ ในจังหวัดมหาสารคามมีภูมิปัญญาหลายอย่างเช่น การทอผ้า การทอเสื่อ การผลิต เครื่องดนตรีพื้นบ้าน การจักสาน การปั้นหม้อดินเผา การทำเครื่องเบญจรงค์ การประดิษฐ์เครื่องประดับ การเจียระไนพลอย และการทำขนมจีน

mahasarakam 05

มหาสารคาม เป็นจังหวัดที่ผู้คนในท้องถิ่น ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมและประเพณีดั้งเดิมอันงดงามไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ตลอดทั้งปี จึงมีการจัดงานเทศกาลเฉลิมฉลอง และงานประเพณีที่สำคัญทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศหลายงาน โดยมีงานเด่นดังประจำปีที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด คือ งานแห่เทียนเข้าพรรษา งานบุญบั้งไฟ งานบุญเบิกฟ้าและกาชาด งานนมัสการพระธาตุนาดูน งานประเพณี 12 เดือน เป็นต้น

[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดมหาสารคาม | แผนที่จังหวัดมหาสารคาม | เอกสารการท่องเที่ยว ]

mahasarakam 07 

แนะนำให้ไปชม : ภาพเก่าเล่าเรื่องในอดีตจังหวัดมหาสารคาม new1234

redline

 

นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้

รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี

redline

backled1

Subcategories

ภาพเก่าเล่าเรื่องอีสานบ้านเฮา

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)