foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

dance header

bulletการฟ้อนพื้นบ้านแบบต่างๆ

ศิลปการฟ้อนรำของชาวอีสาน มีหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละถิ่น ตามอิทธิพลของกลุ่มชนพื้นเมืองในละแวกนั้นๆ เช่น ทางอีสานใต้ก็จะมีอิทธิพลของเขมรปะปนอยู่มาก ทางด้านเหนือก็มีอิทธิพลจากทางล้านช้าง ทางสกลนคร นครพนม มุกดาหารก็มีชนเผ่าพื้นเมืองในถิ่นนั้นเช่น ย้อ โซ้ ภูไท อย่างไรก็ตามเราก็พอจะจำแนกการฟ้อนออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

fon sen suang bucha

สังคมและวัฒนธรรมแถบลุ่มแม่น้ำโขง ยังคงยึดมั่นกับความเชื่อในเรื่อง ภูติ ผี วิญญาณ ผีฟ้า ผีแถน ผีปู่ย่าตายาย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ดังนั้น ลูกหลานที่สืบทอดความเชื่อนี้ จะต้องให้ความเคารพและเซ่นสังเวย เพื่อบูชาเป็นประจำทุกๆ ปี ซึ่งเชื่อว่า เมื่อได้ทำการเซ่นสังเวยตามพิธีกรรมแล้ว จะทำให้ผู้ปฏิบัตินั้นได้รับผลดี ถ้าไม่ปฏิบัติแล้วจะให้ร้ายแก่ผู้ไม่ปฏิบัติ ดังนั้น จึงมีการฟ้อนเพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภูตผี วิญญาณ นั้นพึงพอใจ เพื่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข การฟ้อนเพื่อเซ่นสรวงบัดพลีหรือบูชานั้น สามารถแบ่งย่อยได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

bulletการฟ้อนเพื่อบูชา

การฟ้อนเพื่อบูชา นั้น ส่วนใหญ่เป็นการฟ้อนชุดดั้งเดิมที่มีมาแต่โบราณ เพื่อบูชาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นที่นับถือของคนโดยทั่วไป เช่น การฟ้อนผู้ไท เพื่อบูชาพระธาตุเชิงชุม ของชาวจังหวัดสกลนคร เพื่อบูชาวิญญาณบรรพบุรุษ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชนกลุ่มนั้น การฟ้อนเพื่อบูชา ได้แก่



3diamondฟ้อนภูไทหรือผู้ไท

พระธาตุเชิงชุม เป็นปูชนียสถานที่สำคัญของจังหวัดสกลนคร ซึ่งในสมัยโบราณนั้นต้องมีคนคอยเฝ้าดูแล รักษาทำความสะอาดอยู่ตลอดทั้งปี ซึ่งพวกที่ดูแลทำนุบำรุงพระธาตุเชิงชุมนี้ จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีรัษฏชูปการ ซึ่งมีหลายชนเผ่าด้วยกัน ซึ่งในกลุ่มผู้ดูแลนั้นมีชาวผู้ไทรวมอยู่ด้วย ในตอนนั้นมักจะมีงานบุญทอดผ้าป่าและฉลององค์พระธาตุเชิงชุม ชาวบ้านจะนำข้าวเม่า ปลาย่าง มาติดกัณฑ์เทศน์ ชาวผู้ไทซึ่งเป็นกลุ่มที่อาสาเป็นผู้ปฏิบัติรักษาองค์พระธาตุ โดยเฉพาะผู้ชายจะแต่งตัวนุ่งกางเกงขาก๊วย และนุ่งโสร่งทับ สวมเสื้อดำ จะฟ้อนด้วยลีลาอันอ่อนช้อยสวยงาม โดยร้องและฟ้อนกันเป็นหมู่ๆ แล้วจึงถวายผ้าป่า ต่อมาได้มีการดัดแปลงท่าฟ้อนให้สวยงามยิ่งขึ้น เปลี่ยนจากผู้แสดงชายมาเป็นหญิงล้วน

เครื่องแต่งกาย

ผู้แสดงหญิงจะนุ่งผ้าซิ่นสีดำขลิบแดง นุ่งยาวกรอมเท้า สวมเสื้อสีดำขลิบแดง หรือแดงขลิบดำก็ได้ แต่ขลิบคอ แขนและชายเสื้อ สวมเล็บมือแปดเล็บ ติดพู่สีแดง ผมเกล้ามวยผูกผมด้วยผ้าสีแดง

ฟ้อนภูไทสกลนคร

เครื่องดนตรี

ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ลายผู้ไท ของจังหวัดสกลนคร ซึ่งมีลีลาและจังหวะเร็วกว่าลายผู้ไทของจังหวัดอื่นๆ

เพลงประกอบการฟ้อนผู้ไท

เพลงประกอบการฟ้อนผู้ไทของจังหวัดสกลนครจะมีเนื้อร้องประกอบ แต่งโดย คุณคมคาย ณ หนองคาย ซึ่งมีเนื้อเพลงดังนี้

เพลงฟ้อนผู้ไท (สกลนคร)
          ไปเยอเฮาไป
ไปโฮมพี่และโฮมน้อง
เทิงเขาแสนจน
ข้อยสู่ทนยาก
มีโชคมีชัย
พ้นภัยไร้ทุกข์
หลับไปให้ได้เงินหมื่น
อิ่มใจเหมือนแป้น
มาเน้อเฮามา
มาให้พรทั้งพี่และน้อง
ไปให้เอาชัยเอาช่อง (ซ้ำ)
ไปโห่เอาช่องเอาชัย
หนทางก็ลำบาก (ซ้ำ)
มาฟ้อนรำให้เพิ่นเบิ่ง
ให้ท่านมีสุขสมใจ
ตื่นให้ได้เงินแสน
มีคู่มีแฟนคู่ใจเงินทองไหลมาไวไว
มาโห่มาลาพี่น้อง
มาโห่เอาช่องเอาชัย

แต่เนื้อร้องที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปนั้น แต่งโดย คุณครูบัวผัน วงศ์เทพ โรงเรียนบ้านหนองศาลา ตำบลพังขว้าง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร และเพลงฟ้อนภูไทนี้ทางกรมศิลปากรได้นำไปเผยแพร่ จนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ซึ่งมีเนื้อเพลงดังนี้

เพลงฟ้อนผู้ไท
          ไปเย้อเฮาไป
ไปโฮมพี่โฮมน้อง
เพิ่งเขาแสนจน
ข้อยสู้ทนยาก
ข้อยอยู่เทิงเขา
พวกข้อยขออำนวย
ขออำนาจไตรรัตน์
ชาวไทยทั่วหน้า
เวลาก็จวน
ขอความมีชัย
ข้อยลาละเน้อ
ไปโห่เอาชัยเอาช่อง (รับ)
ไปช่วยแซ่ฮ้องอวยพร
หนทางก็ลำบาก (รับ)
มาร้องรำให้เพิ่นซม
เอาใจมาช่วย (รับ)
อวยชัยให้ละเนอ
จงปกปักฮักษา (รับ)
ให้วัฒนาสืบไป
ข้อยสิด่วนไป (รับ)
แต่ทุกท่านเทอญ
ข้อยลาละเน้อ

การฟ้อนภูไทของจังหวัดสกลนครนี้ จะมีการฟ้อนใน 2 ลักษณะ คือ

  1. ฟ้อนตีบทตามเนื้อเพลง ให้เหมาะสมกับเนื้อเพลงในแต่ละท่อน
  2. ฟ้อนประกอบทำนองเพลง ซึ่งก็คือเพลงรับนั้นเอง เมื่อขับร้องเนื้อเพลงจบในแต่ละท่อนก็จะมีดนตรีรับ ซึ่งท่าฟ้อนนั้นจะใช้ท่ามาตรฐานที่ชาวผู้ไทประดิษฐ์ขึ้นเป็นท่าหลักที่ใช้ในการฟ้อนซึ่งได้แก่

ท่าดอกบัวตูม มีลักษณะคล้ายฟ้อนเล็บของภาคเหนือ ใช้สองมือจีบกรีดนิ้วออกหลังมือชนกันหมุนสลับไปสลับมา เป็นท่าเริ่มต้นของการฟ้อน

ท่าดอกบัวบาน มีลักษณะคล้ายท่าสร้อยมาลาแปลง คือ มีการตั้งวงบนสลับกับการจีบหงายระดับหัวเข็มขัด สลับกับการคลายจับไปตั้งวงบน

ท่าแซงแซวลงหาด มือซ้ายและขวาจีบหงายพร้อมกันที่ระดับเอว เริ่มจากจีบด้านซ้ายแล้วเปลี่ยนมาด้านขวา คล้ายจีบส่งมือไปด้านหลังในท่ายูงฟ้อนหาง ลากมือกลับจีบระดับหน้าแล้วม้วนมือคลายจีบในระดับศีรษะ

ท่าบังแสง คล้ายท่าชักแป้งผัดหน้า หงายมือทั้ง 2 ข้าง มือขวาปะที่แก้ม มือซ้ายเหยียดตึงไปข้างหน้า

ท่านางไอ่เลาะดอนหรือนางไอ่เลียบหาด มือขวายกสูงจีบและคลายมือแบหงาย มือซ้ายจีบส่งไปด้านหลัง หมุนตัวอยู่กับที่ 2 ครั้ง หมุนครั้งที่สองสลับมือสูงมาต่ำ มือต่ำไปสูงเดินสลับแถว หมุนตัว 2 ครั้ง แล้วกลับมาแถวเดิม

ท่านาคีม้วนหาง มือทั้งสองจีบเข้าหาตัวพร้อมกันในระดับเอว แล้วกรีดมือทั้งสองออกพร้อมกัน มือหนึ่งคลายจีบออกด้านนอก ตั้งวงบน มือหนึ่งคลายจีบส่งมือไปด้านหลังแล้วกลับมาเริ่มด้านใหม่เป็นท่าจบ

 

3diamondแสกเต้นสาก

ชาวแสก มีถิ่นฐานเดิมอยู่ใกล้กับญวณแถบเมืองรอง ซึ่งขึ้นอยู่กับกรุงเว้ ในตอนกลางของประเทศเวียตนาม จากนั้นค่อยๆ อพยพเข้ามาอยู่ตามลุ่มแม่น้ำโขงในประเทศลาว และอพยพเข้ามาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ในราวสมัยพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา และอพยพครั้งใหญ่อีกครั้งในสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวส่งกองทัพไปปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์ ได้กวาดต้อนผู้คนจากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทย โดยเริ่มตั้งถิ่นฐานที่บ้านอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ในปัจจุบัน นอกจากที่บ้านอาจสามารถแล้ว ยังมีชาวแสกที่ บ้านมะหว้า บ้านดอนส้มมอ บ้านท่าบ่อสงคราม อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม และยังกระจัดกระจายอยู่ในจังหวัดสกลนคร และมุกดาหารอีกด้วย

ชาวแสก ซึ่งยังคงดำรงรักษาขนบธรรมเนียมและความเชื่อดั้งเดิม ดังนั้นในเดือนสามข้างขึ้น 1-3 ค่ำของทุกปี ชาวแสกจะมีประเพณีตรุษแสก ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อบวงสรวงบูชาศาลเจ้าองมู่ ซึ่งชาวแสกเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษ ซึ่งคุ้มครองรักษาให้ชาวแสกปราศจากภยันตรายทั้งปวง โดยมี หมอเหยา หรือ เจ้าจ้ำ หรือที่ภาษาแสกเรียกว่า ก๋วนจ้ำ เป็นผู้ทำพิธี เมื่อทำพิธีบวงสรวงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะร่วมรับประทานอาหารดื่มสุรา และร้องรำทำเพลงกัน การละเล่นที่นิยมเล่นในวันตรุษนี้ก็คือ การเต้นสาก ซึ่งชาวแสกเองเรียกว่า แสกแซงสาก ซึ่งในคราวที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปตรวจราชการมณฑลอุดรและมณฑลอีสานในปี พ.ศ. 2449 นั้นได้ทรงเล่าถึงการเต้นสากไว้ในหนังสือนิทานโบราณคดีไว้ว่า

"เขาพาพวกผู้หญิงแสกมา มีการเล่นให้ฉันดูอย่างหนึ่งเรียกว่า "เต้นสาก" มีผู้หญิง 10 คู่นั่งหันหน้าหากันเรียงเป็นแถว แต่ละคนถือปลายไม้พลองมือละอันทั้งสองข้าง วางไม้พลองบนไม้ขอนที่ทอดไว้ตรงหน้า 2 ท่อน มีทางอยู่ตรงกลาง เวลาหญิงทั้งสิบคู่นั้นขับร้อง แล้วเอาไม้พลองที่ถือลงกระทบไม้ขอนพร้อมๆ กัน เป็นจังหวะ 1 กับจังหวะ 2 คือ ไม้พลองให้ห่างกัน ถึงจังหวะ 3 รวบไม้พลองเข้าชิดกัน มีหญิงสาว 4 คน ผลัดกันเต้นทีละคู่ เต้นตามจังหวะไปในระหว่างช่องไม้พลองทั้ง 10 คู่นั้น ต้องระวังเมื่อถึงจังหวะ 3 อย่าให้ถูกไม้พลองหนีบข้อเท้า กระบวนการเล่นมีเท่านั้น"

 
ฟ้อนแสกเต้นสาก

การเต้นสากของชาวแสกนี้นับว่า เป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวอีสานที่เก่าแก่ และยังคงรูปลักษณ์ของการละเล่นพื้นบ้านไว้คงเดิมมากที่สุด การแสดงเต้นสากนี้ถ้าเป็นการแสดงของชาวบ้านจริงๆ จะไม่มีดนตรีประกอบ จะใช้เสียงกระทบไม้พลองเป็นจังหวะที่เร้าใจ การเต้นสากนี้ผู้เต้นไม่จำกัดเพศและวัย แต่ส่วนใหญ่ผู้หญิงยังคงนิยมเต้นมากกว่าผู้ชาย ในสมัยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ การแสดงแสกเต้นสากนี้มีการร้องประกอบ แต่ในปัจจุบันไม่มีการขับร้องแต่อย่างใด ส่วนท่ารำก็ไม่มีแบบแผนมาตรฐาน มีเพียงการเต้นเข้าสากตามจังหวะกระทบของสากเท่านั้น มือก็จีบขึ้นลงแบบง่ายๆ

เครื่องแต่งกาย

การแสดงแสกเต้นสากนี้ถ้าเป็นการแสดงของชาวบ้านแท้ๆ จะใช้ผู้แสดงหญิงล้วน สวมชุดสีดำแขนกระบอก ผ้าซิ่นดำห่มสไบแดง ส่วนการแสดงแสกเต้นสากที่วิทยาลัยครูสกลนครนำไปประยุกต์นั้น จะใช้ผู้แสดงชายและหญิง ผู้แสดงหญิงจะสวมชุดสีดำ แขนกระบอก ผ้าถุงดำห่มสไบแดงเช่นกัน แต่ผู้ชายจะใส่เสื้อม่อฮ่อม กางเกงขาก๊วย ดพกผ้าขาวม้า และใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว

เครื่องดนตรี

อาศัยจังหวะของการกระทบไม้ เครื่องดนตรีจึงประกอบด้วยไม้กระทบ 5 - 6 คู่ กลอง ฉิ่ง ซึ่งจังหวะในการกระทบไม้จะมี 2 จังหวะ จังหวะช้าและเร็ว การแสดงจะเริ่มต้นด้วยจังหวะช้าเพื่อเป็นการเริ่มต้น จากนั้นจะเริ่มเร็วขึ้น การกระทบไม้ในจังหวะเร็วจะทำให้เกิดความสนุกสนานมีชีวิตชีวา ดังนั้นผู้ที่มีความสามารถหรือเป็นผู้ชำนาญเท่านั้น ที่จะเข้าออกตามจังหวะของการกระทบไม้ได้ ในขณะเดียวกันจะต้องฟ้อนประกอบให้เกิดความสวยงามกลมกลืนกับลีลาการเต้นสากด้วย โดยทั่วไปการเต้นสากจะมี 3 ลีลาคือ ลีลาการเต้นเดี่ยว ลีลาการเต้นคู่ในทิศทางเดียวกัน และลีลาการเต้นคู่สลับสวนทิศกัน การเต้นสากของวิทยาลัยครูสกลนครจะใช้เพลง บ้งไต่ขอน ประกอบการกระทบสาก

 

3diamondโส้ทั่งบั้ง

ชาวโส้ เป็นชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ที่ ตำบลนาโพธิ์ ตำบลโพธิ์ไพศาล ตำบลนาเพีย อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร และยังกระจัดกระจายอยู่ที่อื่นๆ เช่น ตำบลล้านค้อ ตำบลขมิ้น อำเภอท่าอุเทน อำเภอปลาปาก อำเภอศรีสงคราม กิ่งอำเภอดงหลวง และกิ่งอำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม ในคราวสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปตรวจราชการมณฑลอุดรและอีสานในปี พ.ศ. 2449 ซึ่งกล่าวถึงคนต่างจำพวกไว้ว่า

"พวกกะโซ้ เป็นข่าผิวคร้ามกว่าชาวเมืองพวกอื่น และพูดภาษาของตนต่างหาก มีในมณฑลอุดรหลายแห่ง แต่รวมกันอยู่มากเป็นปึกแผ่นที่เมืองกุสุมาลย์มณฑลในจังหวัดสกลนคร เจ้าเมือง กรมการเมือง และราษฎรล้วนเป็นข่ากะโซ้ทั้งนั้น บอกว่าถิ่นเดิมอยู่ ณ เมืองมหาชัยกรองแก้วทางฝ่ายซ้าย" ชาวโส้มีการอพยพถิ่นฐานหลายครั้งด้วยกัน ส่วนใหญ่การอพยพเกิดขึ้นหลังจากไทยส่งกองทัพไปปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์ ในปี พ.ศ. 2369 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึงการละเล่นของชาวโส้ในนิทานโบราณคดี ไว้ว่า

"ฉันเห็นการเล่นอย่างหนึ่ง ซึ่งพระอรัญอาษาเจ้าเมืองกุสุมาลย์มณฑลเอามาให้ดูเรียกว่า "สะลา" คนเล่นล้วนเป็นชายเปลือยตัวเปล่า นุ่งผ้าขัดเตี่ยวหรือมีชายห้อยข้างหน้ากับข้างหลังอย่างเดียวกับเงาะนุ่ง "เลาะเตี๊ยว" ลักษณะเล่นนั้นมีหม้ออุตั้งอยู่ตรงกลางหม้อหนึ่ง คนเล่นเดินเป็นวงรอบหม้ออุ มีต้นบทนำขับร้องคนหนึ่ง สะพายหน้าไม้คนหนึ่งมีฆ้องเรียกว่า "เพนาะ" คนหนึ่ง ถือไม้ไผ่ 3 ปล้องสำหรับกระทุ้งดินเป็นจังหวะ 2 คน คนรำ 3 คน ถือชามติดเทียน 2 มือคนหนึ่ง ถือตะแกรงคนหนึ่ง ถือมีดกับสิ่วเคาะกันเป็นจังหวะคนหนึ่ง รวม 8 คนด้วยกัน กระบวนการเล่นไม่มีอะไรนอกจากเดินร้องรำเวียนเป็นวง เล่นพักหนึ่งแล้วก็นั่งลง กินอุ แล้วก็ร้องรำไปอีกอย่างนั้น เห็นได้ว่าเป็นการเล่นของพวกข่าตั้งแต่ยังเป็นคนป่า เมื่อมาเล่นให้ดู ดูคนเล่นก็ยังสนุกกันดี"

การฟ้อนโส้ทั้งบั้งได้มีการปรับปรุงขึ้นใหม่โดยใช้ผู้แสดงหญิงล้วน ซึ่งแตกต่างจากการแสดงดั้งเดิม มีดนตรีประกอบทำนองลำผู้ไทของสกลนคร การฟ้อนโส้ทั้งบั้งประกอบด้วย

1. ล่ามผู้ชาย
3. เพื่อนนางเทียม
5. คนทั่งบั้ง
7. นางรำ
1 คน
3 คน
6 คน
10-12 คน
   2. นางเทียม
   4. นักดนตรีชาย
   6. ผู้แสดงประกอบ
 
1 คน
6 คน
6 คน
 

เครื่องดนตรี

เครื่องดนตรีประกอบด้วย กลองเส็ง 1 คู่ ฉาบ แคน ฉิ่ง กระจับปี่ ซอ บั้งไม้ไผ่ และพะเนาะ การแสดงจัดรูปขบวนโดยล่ามนางเทียม เพื่อนนางเทียม พร้อมด้วยนักดนตรี 3 คน นั่งเป็นวงกลมล้อมรอบคายขนาบด้วยนางรำ 3-5 คู่ ปิดท้ายด้วยคนตีกลองข้างหลังของพวกตีกลองจะเป็นนักดนตรีและคนทั่งบั้ง

 
ฟ้อนโส้ทั่งบั้ง

เมื่อเริ่มการแสดง ล่ามจะสะเหน็ดโส้ เชิญผีฟ้าให้เข้าทรงนางเทียม ล่ามพร้อมนางเทียม เพื่อนนางเทียม และนักดนตรีจะลุกขึ้นร่ายรำไปรอบๆ คาย เมื่อเสร็จพิธีจะนั่งลง คนตีกลองจะเริ่มรัวกลองเป็นสัญญาณ ให้นางรำลุกขึ้นฟ้อน ดนตรีจะเริ่มบรรเลงเพลงผู้ไท ล่ามจะสะเหน็ดโส้ไปเรื่อยๆ พร้อมกับทิ้งจังหวะให้พวกทั่งบั้งเปล่งเสียง เออเลอะ เออเลอะ เออเลอะ เออเลอ ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจบท่าฟ้อนซึ่งมีท่าต่างๆ ดังนี้ ท่าเชิญผีฟ้า ท่าส่งผีฟ้า โส้ทั่งบั้ง ถวายแถน และเลาะตูบ

 

blueline

next green คลิกไปอ่าน  การฟ้อนศิลปาชีพ

 

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)