foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

attalak isan

เครื่องเงิน

เครื่องเงิน ของอำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ มี 2 รูปแบบ โดยจำแนกจากวิธีการทำ คือ ตะเกา และปะเกือม ตะเกา คือ การใช้เส้นเงินดัดเป็นรูปทรงและลวดลายแต่ละชิ้น แล้วนำมาเชื่อมด้วยน้ำประสานทอง ส่วนประเกือมคือการใช้แผ่นเงินบางๆ ตีเป็นรูปต่างๆ โดยอัดชันไว้ภายใน ทำให้แกะลวดลายได้สะดวก ช่างทำเครื่องเงินที่มีชื่อเสียงซึ่งยังคงสืบสานการทำเครื่องเงินโบราณนี้ไว้คือ ลุงป่วน เจียวทอง ผู้ทำลวดลายได้สวยงามกว่า 13 ลาย คือ ตั้งโอ๋ ดอกทานตะวัน ลำหอกทึบ ลำหอกโปร่งไข่แมงดา ดอกมะลิ รังผึ้ง รังแตน ดอกบัว ดอกพริก ขจร ระเวียง และตั้งโอ๋สามชั้น นอกจากนั้น ลุงป่วนยังทำเครื่องเงินผสมหินสีเป็นสร้อย แหวน และต่างหูอีกด้วย โดยยึดรูปแบบโบราณและใช้วิธีการทำแบบดั้งเดิมมาตลอด

silver surin 01

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม การจัดวางลวดลายสวยงามด้วยการทำซ้ำ มีมิติ นูน เป็นร่อง มีทั้งสีสันเงินมันวาวและสีเงินด้านรมดำ

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม สมัยโบราณนิยมใส่เครื่องเงินร้อยลูกประคำสลับตะกรุดลงยันต์ ลงเวทมนต์คาถา เป็นเครื่องรางของขลัง ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ หากมีไว้กับตัวจะทำให้เกิดความสบายใจ มีสิริมงคล และนำความสุขความเจริญ

silver surin 02

หมู่บ้านหัตถกรรมเขวาสินรินทร์

หมู่บ้านทำเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ชมงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านโบราณ เลือกซื้อเครื่องประดับเงิน สินค้าทำมือจากหมู่บ้านที่มีชื่อเสียง และโดดเด่นในด้านการผลิตประคำเงินที่มีเอกลักษณ์ ชาวบ้านเรียกกันว่า "ปะเกือม" นิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับที่มีความสวยงาม จนเป็นงานหัตถศิลป์ขึ้นชื่อ และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว

หมู่บ้านทำเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ หรือกลุ่มหัตถกรรมเครื่องเงินบ้านโชค ตั้งอยู่ที่กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ ครอบคลุมเนื้อที่ทั้งหมด 5 ตำบล โดยชื่อตำบลและกิ่งอำเภอ มาจากภาษาท้องถิ่น คำว่า เขวา เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งพบได้มากในพื้นที่ ส่วนคำว่า สิรินทร์ มาจากชื่อเจ้าเมืองเก่า

silver surin 03

หมู่บ้านทำเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ เป็นชุมชนเก่าแก่ก่อตั้งขึ้นมากว่า 270 ปี ประชาชนส่วนหนึ่งเป็นชาวเขมร ได้อพยพหนีความวุ่นวายของสงครามจากกรุงพนมเปญ เดินทางข้ามภูเขาที่บริเวณโคกเมือง โดยมีความสามารถด้านการตีทอง เป็นเครื่องประดับต่างๆ ด้วยภูมิปัญญาเหล่านี้ได้ตกทอดสู่รุ่นต่อรุ่น จนในช่วงปี พ.ศ. 2500 - 2521 ได้หันมาตีเครื่องเงินแทนมาจนถึงทุกวันนี้ หากนักท่องเที่ยวสนใจเข้าชมการสาธิตทำเครื่องเงิน สามารถเดินทางไปชมได้ที่หมู่บ้านบ้านโชค และหมู่บ้านสดอ ซึ่งเป็นหมู่บ้านโชว์การสาธิตทำเครื่องเงินด้วยมือ

จุดเด่นของหมู่บ้านทำเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ คือ เครื่องประดับทำจากเครื่องเงินที่มีเอกลักษณ์ โดยใช้กรรมวิธีแบบโบราณ ใช้วัตถุดิบเงินประมาณ 60% ผสานกับการนำ ประเกือม (ภาษาเขมร) หรือประคำเงิน (ภาษาไทย) เม็ดเงิน เม็ดทองชนิดกลมมาร้อยเป็นเครื่องประดับ อาทิ ประเกือมสุรินทร์ เป็นลูกกลมทำด้วยเงิน แตกต่างจากที่อื่นตรงรูปแบบและลวดลายมากถึง 13 ลาย เนื่องจากทำด้วยแผ่นเงินบางๆ ที่ตีเป็นรูปต่างๆ พร้อมกับอัดครั่งไว้ภายใน ทำให้สามารถแกะลายได้สะดวก

silver surin 04

ประเกือม มีตั้งแต่ขนาดเล็กที่สุดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งเซนติเมตร ไปจนถึงขนาดใหญ่ประมาณ 2.5 – 3 เซนติเมตร มีหลายลวดลาย ได้แก่ ถุงเงิน หมอน แปดเหลี่ยม หกเหลี่ยม กรวย แมงดา กระดุม โอ่ง มะเฟือง ตะโพน ฟักทอง จารย์ (ตะกรุด)

หมู่บ้านเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ นำประเกือม มาทำเป็นเครื่องประดับของสุภาพสตรีที่สวยงาม อาทิ กำไลข้อมือ สร้อยประคำ ต่างหู แหวน และเพิ่มความหลากหลายด้วยการผสมกับวัสดุชนิดอื่น อาทิ มุก นิล ลูกปัดหิน จนกลายเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์จำหน่ายเป็นของที่ระลึก

silver surin 05

เครื่องประดับเงินของหมู่บ้านเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ เป็นงานทำมือ (Handmade) ด้วยภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น มีพัฒนาการจนมีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. สนใจสั่งซื้อติดต่อที่ กลุ่มเครื่องเงินผ้าไหมเขวาสินรินทร์ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ททท. สุรินทร์ โทร. 055-252742-3, 055-25 9907

รายการทั่วถิ่นแดนไทย : จังหวะชีวิตที่งดงาม บ้านเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

การเดินทาง ด้วยรถยนต์ จากตัวเมืองสุรินทร์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 214 (สายสุรินทร์-ร้อยเอ็ด) ไปประมาณ 14 กิโลเมตร เมื่อเจอแยกขวามือ ให้ใช้เส้นทางหลวงสายสุรินทร์-จอมพระ ขับไปจนถึง กม.ที่ 14-15 จากนั้นเมื่อ เจอแยกขวา ขับไปอีก 4 กม.ก็จะเจอหมู่บ้านเครื่องเงินเขวาสินรินทร์

silver surin 06

redline

backled1

attalak isan

เครื่องทองเหลือง

เครื่องทองเหลือง เป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับสังกะสีเป็นหลัก มีคุณสมบัติต้านทานการเกิดสนิมได้ดี จึงนำมาผลิตเป็นเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ขันทองเหลือง พานทองเหลือง แจกันทองเหลือง กระทะทองเหลือง ตลอดจนเครื่องตกแต่งทองเหลืองอีกมากมาย แต่เครื่องทองเหลืองที่มีชื่่อเสียงของภาคอีสานคือ เครื่องทองเหลืองของบ้านปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เครื่องทองเหลืองของที่นี่ไม่จำกัดชนิด และอัตราส่วนของทองแดงและสังกะสี เพราะผลที่ได้ลักษณะผิวของวัสดุไม่แตกต่างกัน ยกเว้นแต่เครื่องทองเหลืองที่มีหน้าที่ใช้สอยด้านเสียง เช่น กระดิ่ง ขิก กระพรวน เป็นต้น ต้องมีส่วนผสมของทองแดงในปริมาณมากเป็นพิเศษ อีกทั้งยังผสมดีบุกเข้าไปอีกด้วย ทองเหลืองที่ใช้เป็นวัตถุดิบที่ได้จากการซื้อของเก่าจำพวก ขัน ก็อกน้ำ มือจับ กลอนประตู ฯลฯ หรือซื้อเศษทองเหลืองจากโรงงานอุตสาหกรรม การทำเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาวจึงเป็นการผลิตที่มีกระบวนการรีไซเคิล ช่วยให้มีการใช้วัสดุอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน

baan pa ao 01

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปทรงโบราณ ลวดลายธรรมชาติ มีเส้นเหลี่ยม เส้นโค้ง

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ผลิตภัณฑ์มีความดั้งเดิมโบราณทั้งรูปร่าง รูปทรง และลวดลาย เน้นในทางอนุรักษ์นิยม

เครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว

บ้านปะอาว ชุมชนที่มีอายุมากกว่า 200 ปี และวิธีการหล่อทองเหลืองแบบโบราณ ที่ว่ากันว่าเป็นวิธีการเดียวกับการทำกระพรวนสัมฤทธิ์ สมัยบ้านเชียงเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน บ้านปะอาว เกิดขึ้นมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของเมืองอุบลราชธานี

ตำนานของชุมชนบ้านปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี นั้นมีว่า พระวอ และ พระตา ซึ่งเป็นชาวนครเวียงจันทน์ เป็นคนนำไพร่พลอพยพหนีราชภัยมาจากกรุงศรีสัตนาคนหุต หรืออาณาจักรล้านช้าง มาตั้งบ้านแปงเมืองที่หนองบัวลุ่มภู ที่ปัจจุบันเป็น จังหวัดหนองบัวลำภู ในปัจจุบัน  ต่อมาเกิดศึกสงคราม พระวอกับพระตาตาย ไพร่พลส่วนหนึ่งจึงอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านปะอาว พร้อมกับนำเอาภูมิปัญญาการทำทองเหลืองติดัวมาด้วย

baan pa ao 04

การทำทองเหลืองที่บ้านปะอาวนี้มีกรรมวิธีทำแบบวิธีโบราณ เรียกว่า การหล่อแบบขี้ผึ้งหาย หรือ แทนที่ขี้ผึ้ง ที่สำคัญคือ ไม่มีการเขียนเทคนิคการทำทองเหลืองแบบนี้ไว้ในตำรามากนัก แต่เป็นการจดจำทำกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จึงไม่แปลกที่เดินเข้าไปในหมู่บ้าน แล้วจะเห็นลูกเด็กเล็กแดงที่บ้านปะอาวนั่งพันขี้ผึ้งเพื่อเตรียมที่จะนำไปหล่อเป็นสิ่งของเครื่องใช้อย่างขะมักเขม้น...

สถานที่ซึ่งรวบรวมการทำทองเหลืองของหมู่บ้านอยู่ที่ ศูนย์หัตถกรรมเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว ซึ่งตั้งขึ้นโดยชาวบ้าน ที่นี่นอกจากจะมีการหล่อทองเหลืองแล้วยังมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้กับลูกๆ หลานๆ ด้วย

วิธีการหล่อทองเหลืองแบบขี้ผึ้งหาย จะมีขั้นตอนหลายขั้นตอนมาก เริ่มจากการ ตำดินโพน หรือ ดินจอมปลวก ที่ผสมมูลวัวและแกลบ คลุกเคล้าให้เป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นจึงนำดินที่คลุกเคล้าแล้วมาปั้นเป็นหุ่น หรือปั้นพิมพ์ที่แห้งแล้วใส่เครื่องกลึง ที่เรียกว่า โฮงเสี่ยน เพื่อกลึงพิมพ์ หรือ เสี่ยนพิมพ์ ให้ผิวเรียบและได้ขนาดตามต้องการ

เครื่องทองเหลือง : ไทยศิลป์

พอได้พิมพ์ที่มีขนาดตามต้องการแล้ว ก็จะ เคียนขี้ผึ้ง คือ ใช้ขี้ผึ้งที่ทำเป็นเส้นพันรอบหุ่น แล้วกลึงขี้ผึ้งด้วยการลนไฟ บีบให้ขี้ผึ้งเรียบเสมอกัน พร้อมกับพิมพ์ลายหรือใส่ลายรอบหุ่นขี้ผึ้งตามต้องการ แล้วจึงใช้ดินผสมมูลวัวโอบรอบหุ่นที่พิมพ์ลายแล้วให้โผล่สายฉนวนไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้โลหะหลอมไหลไปที่อื่น จากนั้นจึงใช้ดินเหนียวผสมแกลบเพื่อวางบนดินได้แล้วสุมเบ้าโดยวางเบ้าคว่ำ และนำไฟสุมเพื่อให้ขี้ผึ้งละลายออกจากเบ้า แล้วเทโลหะที่หลอมละลายลงในเบ้า ทิ้งไว้ให้อุณหภูมิเย็นลงแล้วก็จะแกะลูก คือ ทุบเบ้าดินเพื่อเอาทองเหลืองที่หลอมแล้วออกมากลึงตกแต่งด้วยเครื่องกลึงไม้และโลหะ

ขั้นตอนนี้เรียกว่า มอนใหญ่ คือ กลึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปร่างแล้ว และตกแต่งเติมรายละเอียดของลวดลายให้มีความคมชัดและสวยงาม

baan pa ao 02

เสน่ห์การทำทองเหลืองของบ้านปะอาวนี้ ถึงขนาดที่กวีซีไรต์อย่างท่าน อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ยังได้นำไปเขียนเป็นบทกวีใน หนังสือเขียนแผ่นดิน ไว้ด้วยว่า....

....ตำดินปั้นเบ้าใส่เตาสุม ฟืนรุมไฟโรมเข้าโหมเบ้า
ไม้ซาก สุมก่อเป็นตอเตา ลมเป่าเริมเปลวขึ้นปลิวปลาม
แม่เตาหลอมตั้ง กลางไฟเรือง ทองเหลืองละลายทองก็นองหลาม
สูบไฟโหมไฟไล้ทองทาม น้ำทองเหลืองอร่ามเป็นน้ำริน
รินทองรองรอลงบ่อเบ้า ลูกแล้วลูกเล่าไม่สุดสิ้น
ต่อยเบ้าทองพร่างอยู่กลางดิน สืบสานงานศิลป์สง่าทรง
ลงลายสลักลายจนพรายพริ้ง ลายอิ้งหมากหวายไพรระหง
ดินน้ำลมไฟ ละลายลง หลอมธาตุทระนง ตำนานคน.... "

เรียกว่า เป็นอัจฉริยะทางภาษา ที่บอกเล่ากรรมวิธีทำทองเหลืองได้อย่างละเอียดและงดงามจริงๆ ชาวบ้านที่บ้านปะอาวคุยให้ฟังว่า เครื่องทองเหลืองของพวกเขาเคยเข้าฉากภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์มาแล้ว ทั้งตำนานพระศรีสุริโยทัย และตำนานพระนเรศวรมหาราช ไม่ว่าจะเป็น เชี่ยนหมากลายอิงหมากหวาย หรือ กาน้ำทองเหลือง เรียกว่า ไม่ธรรมดาเลยล่ะ

ผู้เขียนอุดหนุนกระดิ่งทองเหลืองของชาวบ้านปะอาวมาหลายลูก ไม่น่าเชื่อครับ เสียงดังกังวานทีเดียว และไม่ใช่มีแค่กระดิ่งครับ เครื่องทองเหลืองที่ผลิตจากบ้านปะอาว ยังมีให้เลือกทั้ง ผอบ เต้าปูน ตะบันหมาก ขันน้ำหัวไม้เท้า ซึ่งล้วนแล้วแต่มีลวดลายที่วิจิตรบรรจง สมกับเป็นมรดกทางภูมิปัญญาแห่งอาณาจักรล้านช้างโดยแท้

baan pa ao 03

สนใจเครื่องทองเหลืองที่เป็นมรดกตกทอดของชุมชนแบบนี้ ติดต่อไปได้ที่ ศูนย์หัตถกรรม เครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว ที่ 170 หมู่ 5 บ้านปะอาว ตำบลปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โทร. 08-1548-4292, 08-3155-8265

สารคดีเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว : วัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี

แจ้งให้ทราบ : มีหลายท่านที่สนใจอยากได้ อยากซื้อผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นบ้านต่างๆ ผลผลิตจากชุมชนที่เรานำเรื่องราวมานำเสนอ ขอเรียนให้ทราบว่า ทางเว็บไซต์ประตูสู่อีสานของเราไม่ได้ทำการจำหน่าย หรือทำการตลาดสินค้านะครับ ถ้าท่านสนใจก็ไม่ยาก ติดต่อตามชื่อ/ที่อยู่ท้ายบทความนั้น หรือเปิดเว็บไซต์ OtopToday.com แล้วช็อปกันได้เลยครับ

[ อ่านเพิ่มเติม : หัตถกรรมเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว | เคริ่องทองเหลืองบ้านปะอาว ]

redline

backled1

attalak isan

เชี่ยนหมาก

เชี่ยนหมาก ในภาษาอีสานเรียกได้หลายอย่าง เช่น เชี่ยนหมาก เฆี่ยนหมาก และ ขันหมาก แต่ก็หมายความถึงภาชนะกล่องไม้ที่มีไว้ใส่ชุดหมากพลูเช่นเดียวกัน นิยมทำจากไม้เนื้อแข็งและไม้มงคล จากการศึกษาพบว่า เชี่ยนหมากไม้นี้มีอายุราว 50 - 150 ปี ทำขึ้นเพื่อใส่ชุดหมากพลูต้อนรับแขกผู้มาเยือน ใช้ประดับบ้านเป็นเครื่องแสดงฐานะ นอกจากนั้น ยังใช้ประกอบพิธีกรรมการแต่งงาน ซึ่งจะต้องจัดเชี่ยนหมากไปสู่ขอฝ่ายเจ้าสาวอีกด้วย เชี่ยนหมากอีสานที่มีลักษณะเป็นกล่องไม้นี้มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่พบในภูมิภาคอื่นในประเทศ

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปแบบของเชี่ยนหมากอีสานมีสองแบบ คือ ทรงกล่อง และทรงคางหมู (แอวขันปากพาน) ส่วนประกอบมี 4 ส่วน ได้แก่ 1) ปากหรือส่วนบนสุด แบ่งออกเป็น 3 ช่อง ใช้ใส่ชุดหมากพลู 2) ลำตัว เป็นจุดเด่นในการแสดงลวดลาย ส่วนมากเป็นลายเรขาคณิตในแบบต่างๆ เช่น ฟันปลา สามเหลี่ยม เส้นกากบาท ข้าวหลามตัด เส้นทแยง รองลงมาคือ ลายประแจจีน ลายดอกไม้ ลายเส้นอิสระ และลายคล้ายฮูปแต้ม เช่น พญานาค เทวดา คน สัตว์ พรรณไม้ 3) ส่วนเอว 4) ส่วนขา

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม บ่งบอกฐานะของเจ้าของเป็นการแสดงฝีมือเชิงช่างของฝ่ายชาย เพราะต้องนำเชี่ยนหมากที่สวยงามมอบให้แก่ฝ่ายเจ้าสาวเมื่อจัดขันหมากไปสู่ขอ

chian mak 01

การกินหมากและทำเชี่ยนหมากเกิดขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏ แต่ก็มีแพร่หลายในแถบประเทศเอเชีย เช่น จีน อินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย เป็นต้น การกินหมากในสมัยโบราณนั้นถือว่าเป็นสิ่งดีงาม เพราะคนฟันดำเป็นลักษณะของคนสวย (นึกภาพให้ออกหน่อยนะครับว่าสวยยังไง) นอกจากนี้ยังให้ความเพลิดเพลินในเวลาเคี้ยวหมาก ช่วยฆ่าเวลาและทำให้ฟันแข็งแรงทนทานอีกด้วย

chian mak 04เชี่ยนหมากอีสานในยุคเฟื่องฟู

เชี่ยนหมาก ในอีสาน เริ่มมีบันทึกเกี่ยวกับ "เชี่ยนหมากอีสาน" ในพุทธศตวรรษที่ 25 โดยนักวิจัยชาวตะวันตกคือ Dr.Howard Kaufman นักมานุษยวิทยา กล่าวว่า เชี่ยนหมาก หรือ กระบะหมาก นี้เริ่มทำในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยช่างไม้คนหนึ่งในหมู่บ้านเล็กๆ ในแถบจังหวัดมหาสารคาม แล้วค่อยๆ แพร่หลายออกไปในเขตต่างๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยช่างไม้จะทำให้แก่ผู้ที่จ้างทำ เพื่อจะนำไปมอบแก่คู่หมั้นของตน (ปวีณา ป้อมสุข ๒๕๔๗ : ๓๖) อัชราพร ทอนศรี ได้ทำการวิจัยเรื่อง องค์ประกอบของลายขันหมาก ที่พบใน ตำบลกุดน้ำใส อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด พบว่า เชี่ยนหมากมีอายุ อยู่ระหว่าง 2-3 ชั่วคน ราว 50-150 ปี ซึ่งมักเป็นมรดกตกทอดจากย่า ยายทวด สู่ยายย่า สู่แม่เฒ่า พ่อเฒ่า ในปัจจุบัน โดยมีตำนานเล่าว่า ช่างไม้ในมหาสารคามทำเชี่ยนหมากเพื่อไปสู่ขอสาวที่ตนรัก ด้วยความประณีตสวยงามจึงทำให้ชายผู้นั้นสมหวังในความรักได้

chian mak 11ครั้นต่อมาในสมัย รัชกาลที่ 5 งานช่างแขนงนี้ก็ได้เข้ามาสู่มือของ พระภิกษุ สามเณร ผู้บวชเรียน โดยทำเชี่ยนหมากตอบแทนโยมอุปัฏฐาก พ่อออก แม่ออก ที่ดูแลยามตนบวช พระบวชเรียนสมัยนั้นจะได้รับการฝึกให้ทำงานช่างฝีมือต่างๆ เช่น การทำ พวงแก้ว (ที่เก็บแก้วน้ำ หรือโจกน้ำ ที่ล้างสะอาดแล้ว ไว้รับแขกผู้มาเยือน) ไม้คาน แอบยา เชี่ยนหมาก จนไปถึงการสร้างกุฏิ สิม (โบสถ์) าตุ พระธาตุ เจดีย์ต่างๆ

จากการสัมภาษณ์ คุณยายทองใส แสงสุวอ และคุณยายทองสุข วิเศษปัดสา อายุ 78 ปีทั้งสองท่าน เพิ่งเลิกกินหมากได้ไม่นาน เนื่องจากสุขภาพทางช่องปาก (ปูนกัด) ได้เล่าให้ฟังถึงสภาพสังคมในอดีตว่า "เมื่อก่อนหญิงทุกบ้านจะกินหมาก พวกยายเริ่มกินหมากมาตั้งแต่อายุ 24-25 ปี ส่วนมากผู้หญิงจะกินหมากกัน ส่วนผู้ชายจะสังสรรค์กันด้วยเหล้าและยาสูบ จึงไม่นิยมเคี้ยวหมากนัก"

เชี่ยนหมาก สมัยก่อนมีอยู่ทุกบ้าน บ้านละอัน คุณค่าเปรียบเหมือนผ้าทอ บ้านไหนเชี่ยนหมากสวย ประณีตกว่า ก็แสดงว่ามีฐานะดี บางทีก็มีการประชันเชี่ยนหมากแข่งบารมีกันบ้าง แต่เลิกใช้ไป 30-40 ปีแล้ว

วัฒนธรรมศิวิไลซ์กับคำสั่งห้าม 'กินหมาก'

แต่การกินหมากมาถูกสั่งให้เลิกอย่างจริงจัง ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ท่านต้องการปฏิวัติวัฒนธรรม เพราะเห็นว่าการกินหมาก เป็นสิ่งสกปรก เลอะเทอะ ไม่ทันสมัย เชี่ยนหมากจึงไม่ค่อยพบเห็นกันมา ตั้งแต่ในครั้งกระนั้นแล้ว ยิ่งต่อมามี หมากฝรั่ง เข้ามาขาย สามารถเคี้ยวเล่นได้ คนสมัยใหม่ก็ไม่ลองกินหมาก ส่วนคนสูงอายุก็ค่อยๆ ล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ การกินหมากจึงคงจะค่อยๆ สูญหายไปในที่สุด ตัวเชี่ยนหมากจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปเช่นกัน ก็กลายเป็นของสะสมเล่นไปอีกอย่างหนึ่ง พวกที่ทำด้วยโลหะมีค่า ประดิษฐ์อย่างสวยงาม ก็จะมีราคาแพง และหายากมาก แต่ต่างกันคนละแบบ

"เชี่ยนหมาก" เป็นภาชนะสำหรับใส่หมากพลูของ คุณย่า คุณยาย ที่ปัจจุบันหาดูได้ยากมากแล้ว เด็กในปัจจุบันคงไม่มีใครรู้จัก "เชี่ยนหมาก" นอกจากในชนบทห่างไกล ที่ยังมีคุณย่า คุณยาย กินหมากกันอยู่

เชี่ยนหมาก เป็นเสมือนสิ่งที่ใช้ในการต้อนรับแขกประจำบ้านในสมัยก่อน ไม่ว่าแขกไปใครมาเยี่ยมเยียน เจ้าของบ้านก็จะยกเชี่ยนหมากมาต้อนรับ กินหมากกินพลูกันไปคุยกันไป ช่วยสร้างให้บรรยากาศเป็นกันเอง ถือเป็นธรรมเนียมพื้นบ้านของไทยอย่างหนึ่ง ชาวบ้านเรียกเชี่ยนหมากต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น กระทายหมาก ภาคเหนือตอนบน และภาคอีสานเรียก ขันหมาก ถ้าเป็นของใช้ในรั้วในวัง ราชาศัพท์ระดับพระมหากษัตริย์เรียก พานพระศรี ระดับราชวงศ์เรียก พานหมากเสวย

ลักษณะของเชี่ยนหมาก คือ ทำมาจากไม้เนื้ออ่อน ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม ก้นของเชี่ยนหมากเป็นพื้นเรียบใช้ไม้แผ่น เชี่ยนหมากทรงสูง 1 เชี่ยนหมากมีอยู่ 4 ช่อง แต่ละช่องมีสิ่งของอยู่ข้างใน เช่น ตลับหมาก, ตลับยาเส้น, เต้าปูน, ซองพลู, เต้าปูนที่ใส่ปูนแดงไว้, หมากสดและหมากแห้ง, กรรไกรหนีบหมาก (มีดสะนาก) และตะบันหมาก นอกจากนั้นยังมีสิ่งของกระจุกกระจิกที่อยู่ในเชี่ยนหมากอีกหลายอย่าง เช่น ขี้ผึ้ง, เข็มเย็บผ้า, ด้ายเย็บผ้า, ปุยฝ้าย, ยาดม, พิมเสน, การะบูน, ยาหม่อง และเศษเงินเหรียญที่อยู่ในเชี่ยนหมาก

เชี่ยนหมากไม้อีสานโบราณ กะต่าหมากยุคต่อมา และกล่องสังกะสีที่พอพบเห็นได้ในปัจจุบัน

เชี่ยนหมากไม้อีสานโบราณ กะต่าหมากยุคต่อมา และกล่องสังกะสีที่พอพบเห็นได้ในปัจจุบัน

เชี่ยนหมาก สามารถบ่งบอกถึงฐานะของเจ้าของได้ เพราะทำจากวัสดุที่แตกต่างกันไปตามฐานะ ชาวบ้านทั่วไป มักจะทำเชี่ยนหมากด้วยไม้ธรรมดาๆ หรืออาจหากล่องใบใหญ่ๆ (กล่องขนมคุกกี้) มาทำเชี่ยนหมาก หากมีฐานะดีหรือมีหน้าที่การงานดี เชี่ยนหมากอาจจะทำด้วยเครื่องเขิน ทองเหลือง เงิน หรือไม้แกะสลัก

แต่ตามชนบทอีสานส่วนใหญ่จะพบเชี่ยนหมากที่ทำด้วยไม้ทั่วไป เช่น ไม้สัก ไม้เนื้อแข็ง หรือไม้เนื้ออ่อน จำพวกไม้ขนุน ไม้มะม่วงป่า นิยมทาสีผิวนอกเป็นสีดำทำจากเขม่าคลุกกับน้ำมันยาง แล้วจึงแกะสลักลวดลาย โดยใช้มีดคมกรีดเป็นลายเส้นอย่างง่ายๆ เช่น ลายรูปขนมเปียกปูน ลายเส้นลวด ลายดอกผักแว่น บ้างก็แต่งลายด้วยสีแดง สีเหลือง สีปูนขาว สีเขียว ตามแต่จะหาวัสดุได้ในท้องถิ่น

chian mak 02

รูปทรงของเชี่ยนหมากอีสาน มีส่วนฐาน 2 แบบ คือ แบบขันหมากตัวผู้ มีเดือยอยู่ระหว่างขาเชี่ยนทั้งสอง แบบขันหมากตัวเมีย ทำขาแหวกขึ้นไปจรดเอวทั้ง 4 ด้าน ภายในเชี่ยนแบ่งเป็นช่องสำหรับใส่เครื่องเชี่ยน เช่น หมากพลู ตลับขนาดต่างๆ ใส่เครื่องสำหรับกินกับหมาก ยกเว้นเต้าปูนนิยมวางไว้นอกเชี่ยน แต่บางคนก็รวมไว้ด้วยกัน

chian mak 05
อุปกรณ์การกินหมากมี เต้าปูน มีดสะนาก ตะบันหมาก และเชี่ยนหมาก

ท่านที่สนใจเชี่ยนหมาก ติดต่อที่ กลุ่มทำเซี่ยนหมากและสลักไม่ติดลายลงรักษ์ บ้านเลขที่ 31 บ้านดอนขวาง หมู่ 4 ตำบลหนองไข่นก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี 34140 โดยคุณเสถียร บุตรน้อย โทรศัพท์ 084-538-5026, 045-385-026

ผลิตภัณฑ์เชี่ยนหมาก จังหวัดอุบลราชธานี

หมายเหตุ : เว็บไซต์แห่งนี้รวบรวมเรื่องราวของหัตถกรรมพื้นถิ่นอีสานที่น่ารู้ บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ แต่ไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่าย จ่ายแจกผลิตภัณฑ์เหล่านี้ หัตถกรรมบางชิ้นได้อ้างอิงแหล่งผลิต จัดทำไว้ หากท่านสนใจโปรดติดต่อกันได้โดยตรงตามชื่อ/ที่อยู่ที่ปรากฏในท้ายบทความครับ

[ อ่านความรู้เพิ่มเติม : งานวิจัยเชี่ยนหมากอีสาน | เชี่ยนหมาก 2 ]

redline

backled1

attalak isan

เครื่องจักสานพื้นบ้านอีสาน

ประชากรในภาคอีสาน นอกจากจะมีความหลากหลายของลักษณะทางชาติพันธุ์แล้ว ยังมีวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวเป็นหลัก เช่นเดียวกันกับประชาชนส่วนใหญ่ในภาคเหนือ แม้ว่าคนอีสานจะบริโภคข้าวเหนียวเหมือนกับคนภาคเหนือก็ตาม แต่เครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องด้วยการบริโภคข้าวเหนียวของภาคอีสาน มีลักษณะเฉพาะตนที่ต่างไปจากของภาคเหนือ ถึงแม้จะใช้ประโยชน์ในการใส่ข้าวเหนียวเช่นเดียวกัน เครื่องจักสานภาคอีสาน ที่เกี่ยวเนื่องด้วยวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวที่สำคัญ คือ หวดและมวยนึ่งข้าวเหนียว พร้อมภาชนะบรรจุเช่น ก่องข้าว และกระติบข้าว

กระติบข้าว ก่องข้าวเหนียว

เครื่องจักสานพื้นบ้านที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ "ตะกร้า" หรือที่ภาษาถิ่นเรียก "กะต้า" หรือ "กะต่า" ซึ่งเป็นภาชนะจักสาน ที่ใช้กันแพร่หลายในภาคอีสาน สำหรับการบรรจุสิ่งของ เช่น ข้าวเปลือก ผัก ผลไม้ ฯลฯ และยังมีเครื่องจักสานที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง ซึ่งส่วนมากจะเป็นเครื่องจักสานไม้ไผ่มากกว่าอย่างอื่น และเครื่องจักสานที่ใช้กันมากในชีวิตประจำวัน ก็เป็นพวกภาชนะต่างๆ เช่น ครุ กระบุง ตะกร้า กระจาด เปลเด็ก เครื่องจักสานที่จำเป็นต่อชีวิตอีกอย่างหนึ่งคือ เครื่องมือจับและดักสัตว์น้ำ เช่น ไซ ข้อง ตุ้มดักกบ ซ่อน ปุ่มขังปลา ฯลฯ นอกจากนี้มีเครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องกับการเลี้ยงไหม และการทอผ้า เช่น กะเพียดปั่นฝ้าย กระด้ง เลี้ยงไหม จ่อเลี้ยงไหม เครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องกับขนบประเพณีของชาวอีสาน ได้แก่ ขันเบ็งหมาก ขันกระหย่อง สำหรับใส่ดอกไม้ และเครื่องบูชาต่างๆ และก่องข้าวขวัญ สำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่ง เป็นต้น

กะต่า หวด จ่อเลี้ยงไหม

ปัจจุบันนี้ เครื่องมือเครื่องใช้ประเภทเครื่องจักสานบางอย่างของทางภาคอีสานนั้น ใกล้สูญหายไปแล้ว แม้แต่ในชนบทก็ยังเหลือน้อย หรือแทบไม่หลงเหลืออยู่เลยนอกจากในพิพิธภัณท์ เป็นที่น่าใจหายไม่น้อย เมื่อวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมค่อยๆ ถูกกลืนทีละน้อยๆ จากค่านิยมใหม่ๆ อันเนื่องมาจากความเจริญก้าวหน้าก้าวล้ำทางเทคโนโลยีต่างๆ มีวัสดุทดแทน เช่น พลาสติก เข้ามาแทนที่ไม้ไผ่ หวาย ซึ่งมีกรรมวิธีการผลิตที่ง่ายกว่า ทำได้คราวละมากๆ และมีราคาถูก จึงอดคิดเป็นห่วงไม่ได้ถ้าหากภูมิปัญญา และความภาคภูมิของบรรพบุรุษต้องมาเลือนหายไปอย่างไม่ย้อนคืนใน พ.ศ. นี้ หากไร้การสืบทอดต่อไป

เครื่องจักสาน ที่เป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน

เครื่องจักสานที่เป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ในสังคมอีสานผู้ชายและผู้หญิงจะแบ่งงานกันทำ “ยามว่างจากงานในนา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายจักสาน” ดังปรากฏในวรรณกรรมคำสอนเรื่องพระยาคำกอง (สอนไพร่) งานจักสานที่ทำจากไม้ไผ่ สามารถแยกเป็นกลุ่มตามประโยชน์ใช้สอยได้ 2 ประเภท คือ

  • เครื่องใช้ทั่วไปในบ้าน เช่น ครุ ซึ่งเป็นภาชนะบรรจุน้ำ ตักน้ำ ใส่ปลา ทำจากไม้ไผ่นำมาลงน้ำมันยางและชัน
  • ภาชนะใส่อาหาร เช่น ก่องข้าว กระติบข้าว สองสิ่งนี้ต่างกันในรูปทรงและวัสดุ แต่ใช้บรรจุข้าวเหนียวเหมือนกัน หวดและมวยนึ่งข้าวเหนียว โดยมากแล้ววัสดุสำหรับการจักสาน คือ ไม้ไผ่ ซึ่งเป็นวัสดุหาง่ายในท้องถิ่น มีคุณสมบัติยอดเยี่ยม สารพัดประโยชน์ เรียกได้ว่า เป็นพลาสติกของโลกก่อนยุคอุตสาหกรรม

ครุไม้ไผ่ตักน้ำ กระติบข้าวเหนียว

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เครื่องจักสานได้ถูกออกแบบมาเป็นอย่างแยบยล ตอบสนองการใช้สอยได้เป็นอย่างดี การสานที่ขัดกันทำให้เกิดช่อง ลวดลาย มีมิติ สีสันแบบธรรมชาติ และไม้ไผ่ยังมีกลิ่นเฉพาะตัว

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องสิริมงคล เช่น ดักเงิน ดักโชค เก็บเงิน เป็นต้น

ไซ ข้องใส่ปลา

เครื่องจักสาน ที่เป็นเครื่องมือดักสัตว์

เครื่องจักสานที่เป็นเครื่องมือดัก/จับสัตว์ เป็นเครื่องมือที่ทำจากไม้ไผ่ ได้แก่ ข้อง ไซ ซูด ต้อน ตุ้มบอง ตุ้มปลายอน โด่ง ลอบ จั่น สุ่ม หลี่ ฯลฯ เครื่องมือดักจับสัตว์เหล่านี้ เกิดจากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ที่มีหลากหลายก่อนประดิษฐ์เครื่องมือ และยังสะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาของชาวบ้านได้หลายอย่าง เช่น ความชาญฉลาดในการเลือกสรรวัตถุดิบ ที่ตนมีความรู้ในด้านคุณสมบัติเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ไผ่นำมาดัดแปลง แปรรูปทำเป็นเครื่องจักสาน นอกจากนี้ ยังมีคุณค่าทางศิลปะและความงาม ซึ่งมีรูปทรง โครงสร้าง และลวดลายที่งดงามอย่างยิ่ง ยากที่จะหาเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทอื่นเทียบได้

สุ่ม ตุ้ม เครื่องมือดับจับปลา

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปทรงและลวดลายเกิดจากการจักสาน เครื่องมือดักและจับสัตว์น้ำแต่ละชนิดมีรูปทรงแปลกตา มีเอกลักษณ์ และมีลวดลายที่งดงาม

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม นำไปใช้ประกอบพิธีกรรม เช่น นำไซไปผูกเสาเอกในพิธียกเสาเอก สะท้อนความเชื่อเรื่องสิริมงคล ดักเงิน ดักโชค เก็บเงิน เป็นต้น

การจับปลาด้วยเครื่องมือพื้นบ้าน

[ อ่านเพิ่มเติมจาก : อาชีพและเครื่องมือทำมาหากิน ]

แจ้งให้ทราบ : มีหลายท่านที่สนใจอยากได้ อยากซื้อผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นบ้านต่างๆ ผลผลิตจากชุมชนที่เรานำเสนอ ขอเรียนให้ทราบว่า ทางเว็บไซต์ประตูสู่อีสานของเราไม่ได้ทำการจำหน่าย หรือทำการตลาดนะครับ ถ้าท่านสนใจก็ไม่ยาก เปิดเว็บไซต์ OtopToday.com แล้วช็อปกันได้เลยครับ

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)