foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

prawat header

pp 7

28. เช้ามืดของวันครู

สี่ทุ่มกว่าของคืนวันที่ 15 มกราคม 2535 หลวงพ่อกลับถึงกุฏิพยาบาลในวัดหนองป่าพง...

แสงไฟในห้องหลวงพ่อสว่างขึ้น หลังจากถูกปิดสนิทไว้หลายวัน เพราะหลวงพ่อเข้าโรงพยาบาล เมื่อมองผ่านหน้าต่างกระจกใสเข้าไปในห้อง พบร่างหลวงพ่อนอนสงบนิ่งอยู่บนเตียง

หมู่บรรพชิตที่พึ่งพิงร่มเงาวัดหนองป่าพง ยืนเรียงรายรอบๆ กุฏิ ดวงตาทุกคู่จ้องมองยังร่างบูรพาจารย์ ด้วยความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ เพราะต่างตระหนักดีว่า ราตรีนี้จะมีการสูญเสีย ครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน...

wat nong papong 14

ลมหนาวต้นปีใหม่ พัดโชยแผ่วผ่านบานประตูสู่ห้องพยาบาล อากาศยามดึกทวีความ เยือกเย็นยิ่งขึ้น พระอุปัฏฐากคลี่ผ้าห่มคลุมร่างให้หลวงพ่อ และยังคงทำหน้าที่ของตนอยู่อย่างสงบ... เสียงเครื่องตรวจคลื่นหัวใจไฟฟ้า แสดงค่าความถี่การเต้นของหัวใจหลวงพ่อที่ช้าลง ทุกขณะ

ภิกษุหลายรูปนั่งสมาธิที่ระเบียงกุฏิ ต่างน้อมเอาเหตุการณ์สำคัญเฉพาะหน้ามาเป็นมรณสติ สรรพสิ่งทั้งมวล ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎแห่งความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่ามนุษย์ผู้ยากดีมีจน หรือเดรัจฉานผู้อาภัพอับเฉา กระทั่งภูผาป่าไม้ ต่างสิ้นสุดลงตรงจุดเสื่อมสลายทั้งสิ้น

ดึกสงัดของคืนนั้น หลวงพ่อยังคงนอนหายใจระรวย ใบหน้าและแววตาปราศจากร่องรอยของความทุกข์ทรมาน หรือห่วงใยในชีวิตสังขาร

ลมหนาวยามดึกพัดกรรโชกหนักขึ้น ต้นไม้โยกไหวตามแรงลมอย่างมีชีวิตชีวา แต่ทว่า ลมอุ่นจากภายในกายหลวงพ่อกำลังอ่อนแรงลงทุกขณะ ดังคำปรารภเกี่ยวกับกายสังขารของ ท่านที่กล่าวไว้ที่วัดถ้ำแสงเพชรว่า

...ต่อไปนี้จะไม่ได้เห็น ลมมันก็จะหมด เสียงมันก็จะหมด มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของสังขาร... เรียกว่า ขัยยะวัยยัง คือความสิ้นไปเสื่อมไปของ สังขาร... เสื่อมไปดังก้อนน้ำแข็งที่ละลายเป็นน้ำ... เราเกิดมา ก็เก็บเอาความเจ็บ ความแก่ ความตาย มาพร้อมกัน..."

เช้ามืดของวันครู.... ลมหนาวสงบนิ่ง แมกไม้ไม่ไหวติง สรรพสิ่งในป่าพงพลันเงียบงัน... หลวงพ่อได้ละสังขารไปด้วยอาการสงบ จบการเดินทางอันยาวนานในวัฏสงสารลงอย่างงดงาม... (หลวงพ่อมรรภาพเมื่อเวลา 05.20 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2535 สิริอายุรวม 74 ปี)

lp cha 11
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ

หลวงพ่อจากไปแต่เพียงร่างกายเท่านั้น ส่วนคำสอน และข้อวัตรปฏิบัติของท่าน มิได้สูญหายไปไหน ยังคงเป็นร่มเงาแห่งโพธิญาณ ที่แผ่ปกคลุมให้ความร่มเย็นแก่สานุศิษย์ต่อไป อีกกาลนาน

the end
" ..... วาระสุดท้าย ทิ้งไว้เพียงคำสอน ..... "

wat nong papong 12

wat nong papong 15
เจดีย์ (เมรุหลวงพ่อชา) สังขารของหลวงพ่อละสิ้นลงที่ตรงนี้
เหลือไว้แต่คำสอน ที่ยังประโยชน์แก่ชนรุ่นหลังตลอดไป

งานปฏิบัติธรรมอาจริยบูชา

วัดหนองป่าพง กำหนดให้มีการปฏิบัติธรรม ถือศีลแปด เป็น "อาจริยบูชารำลึก พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)" ระหว่างวันที่ 12-17 มกราคม เป็นประจำทุกปี  โดยมีพระภิกษุสงฆ์ สามเณร จากวัดสาขาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ มาร่วมปฏิบัติธรรมจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังจะมี พระอาจารย์จากวัดต่างๆ มีเมตตามาแสดงธรรมเทศนานับร้อยรูป ตลอดช่วงเวลาจัดงาน โดยเฉพาะในวันที่ 16 มกราคม อันเป็นวันมรณภาพของหลวงพ่อชา จะถือเนสัชชิก จะมีพระอาจารย์จากวัดต่างๆ เวียนกันมาแสดงธรรมให้ฟังตลอดคืน ก่อนจะแยกย้ายในเช้าวันที่ 17 มกราคม

redline

arr 1larr 1uarr 1r

prawat header

queen

27. อาพาธ

ปี พ.ศ. 2520 หลวงพ่อมีอาการผิดปกติทางร่างกายเกิดขึ้น เริ่มจากรู้สึกว่า ร่างกายโงนเงน การทรงตัวไม่ค่อยดี ต้องใช้ไม้เท้าช่วยค้ำยันเวลาเดิน และมีอาการปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ

นับตั้งแต่นั้นมา ความผิดปกติทางร่างกายมีมาตลอดและทรุดลงเรื่อยๆ แต่หลวงพ่อยังคงทำหน้าที่ของครูอาจารย์อย่างไม่บกพร่อง พยายามอบรมสั่งสอนศิษย์อยู่ทุกโอกาส เมื่อมีเวลาว่างก็ออกไปเยี่ยมเยียนพระเณรตามสาขาทั้งใกล้ไกล ตลอดจนต้อนรับญาติโยมที่มานมัสการ โดยไม่เห็นแก่ความสุขสบายส่วนตัว

lp cha 10ครั้งหนึ่ง ขณะอบรมพระเณรอยู่ในโบสถ์ หลวงพ่อกล่าวถึงความรู้สึกของท่านว่า

"ทุกวันนี้ ผมอยู่ได้เพราะความเบิกบาน ถึงจะเจ็บป่วยไข้ จิตใจก็มีแต่ความเบิกบานตลอดเวลา"

บางครั้ง หลวงพ่อมีอาการทรุดหนัก แต่เมื่อลูกศิษย์ลูกหามาเยี่ยม ท่านจะนั่งพูดคุยด้วย หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ลูกศิษย์ต่างวิตกเรื่องการอาพาธของหลวงพ่อ แต่ท่านกลับเป็นห่วงการประพฤติปฏิบัติของศิษย์มากกว่า

หลวงพ่อปรารภถึงสังขารร่างกายของท่านว่า ตอนที่ท่านกำลังปฏิบัติอยู่ตามป่าเขานั้น ได้ทรมานร่างกายตนเองมาก ทุ่มเทชีวิตจิตใจ ปฏิบัติอย่างหักโหม แต่ร่างกายก็ทนทานมาก ไม่แตกดับเสียตั้งแต่ตอนนั้น เมื่อมันทนสู้อยู่ได้ถึงทุกวันนี้ นับว่าดีมากแล้ว

กลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2524 อาการอาพาธของหลวงพ่อทรุดลงมาก ศิษย์จึงกราบนิมนต์ ไปรักษาตัวที่ โรงพยาบาลสำโรง สมุทรปราการ ขณะนั้นหลวงพ่อยังพอเดินเองได้แต่ต้องพยุงบ้าง ผลการตรวจของแพทย์พบว่า ช่องภายในสมองมีขนาดโตผิดกว่าปกติ เป็นโรคน้ำไขสันหลังสมองคั่ง คณะแพทย์ได้ผ่าตัดรักษา หลังผ่าตัดอาการทรงตัวดีขึ้นบ้าง แต่ความจำไม่ค่อยดี

เมื่อกลับมาถึงวัดหนองป่าพง อาการทรงตัวกลับแย่ลงอีก แขนขาข้างซ้ายยกไม่ค่อยถนัด บางครั้งมีอาการอ่อนเพลีย พูดไม่มีเสียง เดินไม่ไหว ต้องนั่งรถเข็น อาการต่างๆ เป็นมากขึ้น ฉันอาหารได้น้อยลง

ต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2525 ศิษย์จึงต้องนิมนต์ท่านเข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมืพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ รับหลวงพ่อไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ผลการตรวจแพทย์ได้วินิจฉัยอาการป่วยของหลวงพ่อว่า มีสาเหตุจากเนื้อสมองเสื่อมจากเส้นเลือดอุดตัน และเนื้อสมองตายเป็นหย่อมๆ รวมทั้งเป็นเบาหวาน

ผลการรักษาระยะแรกอาการดีขึ้นบ้าง นั่งได้นานๆ และลุกเดินได้บ้าง แต่พอประมาณเดือนธันวาคมของปีนั้น เกิดอาการชักกระตุก แขนข้างซ้ายไม่มีแรง จากนั้นอาการทั่วไปไม่ดีขึ้นเลย ท่านพระอาจารย์เลี่ยม ฐิตธมฺโม (รักษาการเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง) จึงตัดสินใจนิมนต์หลวงพ่อ กลับวัดหนองป่าพง หลังจากได้พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นานประมาณ 5 เดือน

nayok lanka

เมื่อกลับถึงวัดหนองป่าพง ได้เข้าพักในกุฏิพยาบาล ซึ่งสร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และคณะศิษย์ได้ร่วมสมทบโดยเสด็จพระราชกุศล

พระอาจารย์เลี่ยม จัดพระเณรผลัดเปลี่ยนเวรกันอุปัฏฐากหลวงพ่อ และทางโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี ได้จัดแพทย์และบุรุษพยาบาลมาร่วมรักษาพยาบาลโดยตลอด

pp 6
การประชุมของคณะสงฆ์จากทุกสำนักสาขา ในวันที่ 17 มิถุนายน ของทุกปี

แม้หลวงพ่อจะอาพาธหนัก แต่บรรยากาศของวัดหนองป่าพงคงสงบและมั่นคง วัตรปฏิบัติ ของพระเณรดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะพระเถระร่วมกันปกครองหมู่คณะแทนหลวงพ่อ และทุกๆ ปี จะมีการประชุมใหญ่ในวันที่ 17 มิถุนายน (วันคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อ) พระสงฆ์ จากทุกสำนักสาขา ทั้งในและต่างประเทศ จะเดินทางมาร่วมปฏิบัติบูชารำลึกถึงคุณของหลวงพ่อ รวมทั้งร่วมประชุมกันในวันนั้น

หลวงพ่อได้อยู่เป็นมิ่งขวัญแก่ศิษย์เรื่อยมา แม้สังขารร่างกายจะไม่อำนวยต่อการทำหน้าที่ของครูอาจารย์ แต่คุณธรรมของท่านยังแผ่ความร่มเย็นอยู่ในใจศิษย์ ยังผลให้พระสงฆ์เกิดความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติบูชา และร่วมกันรักษาข้อวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อไว้อย่างมั่นคง จำนวนสาขาและพระสงฆ์ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นตามลำดับ

apat

พระมหาเถระผู้ทรงคุณธรรมรูปหนึ่งทางปักษ์ใต้ ได้กล่าวกับคณะศิษย์วัดหนองป่าพงที่ไป เยี่ยมคารวะท่านว่า

ท่านอาจารย์ชานอนป่วย ให้ลูกศิษย์ได้บุญ "

อาการของหลวงพ่อทรุด และเสื่อมลงเรื่อยๆ ตามลักษณะธรรมดาของสังขารร่างกาย ที่ตั้งอยู่บนความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และความไม่ใช่ตัวตน ครูอาจารย์บางท่านกล่าวว่า แม้หลวงพ่อ อาพาธหนักจนพูดไม่ได้ แต่ท่านยังแสดงธรรมอบรมศิษย์อยู่เสมอ หลวงพ่อใช้ร่างกายที่เสื่อมโทรม ด้วยความชราและโรคภัยนี้ สาธิตให้ศิษย์ได้เห็นภัยในวัฏสงสาร และเห็นความเสื่อมสิ้นไปของ สังขารร่างกายว่า เรามีความแก่ ความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่มีใครจะล่วงพ้นสิ่งเหล่านี้ไปได้

หลังปีใหม่ พ.ศ. 2535 ไปไม่กี่วัน หลวงพ่อเกิดอาการหอบและอ่อนเพลียมาก จึงต้องเข้า โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานีอีกครั้ง แพทย์วินิจฉัยว่า มีน้ำท่วมปอด หัวใจวายจาก เส้นเลือดอุดตัน ร่วมกับภาวะไตวายเฉียบพลัน แพทย์ถวายการรักษาเต็มที่ แต่อาการไม่ดีขึ้น

คืนวันที่ 15 มกราคม หลังจากทราบว่าอาการของหลวงพ่อครั้งนี้ สุดวิสัยจะเยียวยารักษาได้ คณะสงฆ์ร่วมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และคณะแพทย์พยาบาล จึงนิมนต์หลวงพ่อกลับวัดหนองป่าพง....

redline

arr 1larr 1uarr 1r

prawat header

walkwest 1

25. จาริกสู่ตะวันตกครั้งที่ 1

ปี พ.ศ. 2519 ท่านอาจารย์สุเมโธ เดินทางไปเยี่ยมบ้านเกิดที่อเมริกา ขากลับได้แวะพักที่ พุทธวิหารธรรมประทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ขณะพักอยู่ที่พุทธวิหารแห่งนั้น สมาชิกมูลนิธิกิจการสงฆ์แห่งอังกฤษ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้จัดตั้ง พุทธวิหาร ได้เกิดศรัทธาเลื่อมใสในปฏิปทาของท่านอาจารย์สุเมโธ จึงนิมนต์ให้ท่านพำนักอยู่ เพื่อเป็นผู้นำในการประพฤติปฏิบัติ ท่านอาจารย์สุเมโธไม่ได้ตอบรับคำ แต่ได้ชี้แจงว่าจะนำเรื่องนี้ไปกราบเรียนหลวงพ่อชา ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์เสียก่อน

หลังจากนั้นไม่นาน ประธานมูลนิธิฯ คือ นายยอร์ช ชาร์ป ก็ได้เดินทางมาเมืองไทย เพื่อนิมนต์หลวงพ่อไปเผยแผ่พุทธธรรม และพิจารณาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งสำนักสาขาในประเทศอังกฤษ

หลวงพ่อไม่ได้รับนิมนต์ทันที แต่อนุญาตให้ประธานมูลนิธิฯ พำนักอยู่ที่วัดหนองป่าพงระยะหนึ่ง โดยให้ปฏิบัติตนเหมือน "คนวัด" คือ พักที่ศาลา กินข้าวในกะละมังวันละมื้อ และทำกิจวัตรเช่นเดียวกับคนอื่นๆ เพื่อให้ทำความเข้าใจในความเป็นอยู่ของพระป่า รวมทั้งเพื่อทดสอบ ดูความอดทนและความจริงใจกันก่อน เมื่อพิจารณาเห็นว่ามีเจตนามุ่งมันจริง หลวงพ่อจึงรับนิมนต์จากประธานมูลนิธิฯ นั้น

5 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 หลวงพ่อชาได้เดินทางไปเผยแผ่พุทธธรรมที่ประเทศอังกฤษ โดยมี ท่านอาจารย์สุเมโธ เป็นผู้ติดตาม

The Buddha Comes to Sussex เป็นภาพยนตร์สารคดี ที่ BBC ถ่ายทำในขณะที่ หลวงพ่อชา สุภัทโท
และหลวงพ่อโรเบิร์ต สุเมโธ จาริกไปเผยแผ่พระธรรม ยังประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2520

หลวงพ่อได้เขียนบันทึกประจำวัน กล่าวถึงความรู้สึกส่วนตัว และเล่าถึงภาระกิจรวมทั้งเหตุการณ์ต่างๆ ในระยะสองเดือนกว่าที่ต่างประเทศ ไว้ในสมุดบันทึกด้วยลายมือของท่าน ดังได้คัดมาบางตอนว่า

จินตนาการที่เกิดขึ้นใหม่ ในการเดินทางจากเมืองไทยสู่กรุงลอนดอน ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ทั้งหลาย ก็เหมือนกับแสงของพระจันทร์ พระอาทิตย์ เมื่อถูกเมฆหมอกเข้าครอบงำ ก็เป็นอย่างหนึ่ง เมื่อปราศจากเมฆหมอกก็เป็นอย่างหนึ่ง

เป็นเหตุให้คิดต่อไปว่า การเรียนธรรม การรู้ธรรม การเห็นธรรม การปฏิบัติธรรม การเป็น ธรรมเหล่านี้นั้น เป็นคนละส่วน ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

และทำให้จินตนาการต่อไปอีกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า เมื่อเรายังไม่รู้ประเพณี คำพูด การกระทำของเขา ทุกอย่างเราไม่ควรถือตัวในที่นั้น

และคิดต่อไปอีกขณะเมื่ออยู่บนกลีบเมฆนั้นว่า ชาติ ตระกูล ความรู้ คุณธรรมเป็นอย่างไร ก็เป็นที่แปลกมาก เพราะเรื่องนี้ดูเหมือนเราได้ประสบมาก่อนแล้ว ตอนที่เราได้ถวายชีวิตในพระ พุทธ พระธรรม พระสงฆ์... ว่าเราได้มาเมืองนอกนี่... นี้คือเมืองนอกใน (วัฏฏะ) ไม่ใช่เมืองนอก นอก การเห็นเมืองนอกใน พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญ พระพุทธเจ้าสรรเสริญคนผู้เห็นเมืองนอกนอก

ความคิดของเรา มันคิดบวกคิดลบกันอย่างนี้เรื่อยไป จนถึงกรุงลอนดอน และก็ได้ปรับกาย วาจา ใจ ให้เข้ากับเขาได้เป็นอย่างดี ไม่มีอะไร

สิ่งที่แปลกนั้นก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ส่วนใจนั้นปกติอยู่ตามเดิม เพราะได้เตรียมมานานแล้ว ต่างแต่ไม่แปลก แปลกแต่ไม่ต่าง

คิดต่อไปว่า ประชาชนในยุโรปนี้ เขาได้ถึงจุดอิ่มของวัตถุทั้งหลายแล้ว แต่ยังไม่รู้จักพอเพราะขาดจากธรรม เปรียบได้เหมือนผลไม้พันธุ์ดี เกิดอยู่ในสวนที่มีดินดี แต่ขาดคนดูแลรักษา จึงทำให้ผลไม้ทั้งหลายเหล่านั้นไร้คุณค่าเท่าที่ควรจะได้ เหมือนมนุษย์ไร้คุณค่าจากการเกิดมา เป็นมนุษย์ฉะนั้น

6 พฤษภาคม 2520 บินต่อถึงเมืองการาจี ปากีสถาน บินผ่านอิตาลี ถึงลอนดอน นายยอร์ช ชาร์ปและนางฟรีดา วินท์ ได้เอารถมารับที่สนามบินฮีทโลว์

pra farang 04

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการเดินทางในวันที่ 6 ในขณะที่บินอยู่เครื่องบินได้เกิดเหตุยางระเบิด 1 เส้นบนอากาศ พนักงานการบินจึงได้ประกาศให้ผู้โดยสารเตรียมตัวรัดเข็มขัด มีฟันปลอมก็ต้องถอดออก แม้กระทั่งแว่นตาหรือรองเท้า เครื่องบริขารทุกอย่างต้องเตรียมพร้อมหมด ผู้โดยสารทุกคนเมื่อเก็บบริขารทุกอย่างเสร็จเร็ว ต่างคนต่างก็เงียบคิดว่า เป็นครั้งสุดท้ายของพวกเราทุกคนเสียแล้ว

ขณะนั้นเราก็ให้คิดว่า เป็นครั้งแรกที่เราได้เดินทางมาเมืองนอก เพื่อสร้างประโยชน์แก่พระศาสนา จะเป็นบุญอย่างนี้เทียวหรือ เมื่อระลึกได้เช่นนี้แล้ว ก็ตั้งสัตย์อธิษฐานมอบชีวิตให้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็กำหนดจิตรวมลงไว้ในสถานที่ควรอันหนึ่ง แล้วได้รับความสงบ เยือกเย็นดูคล้ายกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น พักที่ตรงนั้น จนกระทั่งเครื่องบินได้ลดระดับลงมาถึงแผ่นดิน ด้วยความปลอดภัย ฝ่ายคนโดยสารต่างก็ปรบมือด้วยความดีใจ คงคิดว่าเราปลอดภัยแล้ว

สิ่งที่แปลกก็คือ ขณะเมื่อเครื่องบินเกิดอุบัติเหตุ ต่างคนก็ร้องเรียกว่า..."หลวงพ่อช่วย ปกป้องพวกเราด้วย" แต่เมื่อพ้นอันตรายแล้วเดินลงจากเครื่องบิน เห็นประณมมือไหว้พระเพียงคนเดียวเท่านั้น นอกนั้นไหว้แอร์โฮสเตสทั้งหมดในที่นั้น... นี่เป็นสิ่งที่แปลก

15 พฤษภาคม 2520 วันนี้ประมาณ 7 โมงเช้า เราได้นั่งอยู่ในที่สงบเงียบจึงได้เกิดความรู้ ในการภาวนาหลายอย่าง เราจึงได้หยิบเอาสมุดปากกาขึ้นมา บันทึกไว้ภายในวิหารธรรมประทีป ด้วยความเงียบสงบ

ธรรมะที่เกิดขึ้นนี้เราเรียกว่า "มโนธรรม" เพราะเกิดขึ้นด้วยการปรากฏในส่วนลึกของใจว่า การที่มาบวชเจริญรอยตามพระพุทธองค์นั้นเรายังไม่ได้ทำอะไรๆ ได้เต็มที่ เพราะยังบกพร่องอยู่ หลายประการอันเกี่ยวแก่พุทธศาสนาคือ หนึ่งสถานที่ สองบุคคล สามกาลเวลา

เราจึงได้คิดไปอีกว่า เมื่อสร้างประโยชน์ตนได้เป็นที่พอใจแล้ว ให้สร้างประโยชน์บุคคลอื่น จึงจะได้ชื่อว่า กระทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง

ดังนั้นจึงมีความเห็นว่า กรุงลอนดอนนี้แห่งหนึ่งจัดเรียกได้ว่าเป็น ปฏิรูปเทศ คือ ประเทศ อันสมควรในการที่จะประกาศพระศาสนา จึงได้จัดให้ศิษย์ฝรั่งอยู่ประจำเพื่อดำเนินงานพระศาสนาต่อไป

วิธีสอนธรรมนั้นให้เป็นไปในทำนองที่ว่า ทำน้อยได้มาก ทำมากได้น้อย ให้เห็นว่าความเย็น อยู่ในความร้อน ความร้อนอยู่ในความเย็น ความผิดอยู่ในความถูก ความถูกอยู่ในความผิด ความสุขอยู่ในที่ความทุกข์ ความทุกข์อยู่ที่ความสุข ความน้อยอยู่ที่ความใหญ่ ความใหญ่อยู่ที่ความน้อย สกปรกอยู่ที่สะอาด สะอาดอยู่ที่สกปรก อย่างนี้เสมอไป นี้เรียกว่า สัจธรรม หรือ สัจศาสตร์

binbart 3

17 พฤษภาคม 2520 วันนี้เป็นวันแรกที่ได้ออกบิณฑบาตในกรุงลอนดอน พร้อมด้วยพระสุเมโธ อเมริกัน พระเขมธมฺโม อังกฤษ และสามเณรชินทตฺโต ซึ่งเป็นสัญชาติฝรั่งเศส พระโพธิญาณเถร เป็นหัวหน้า

การออกบิณฑบาตวันแรกได้ข้าวพออิ่ม ผลแอบเปิ้ล 2 ใบ กล้วยหอม 1 ใบ ส้ม 1 ใบ แตงกวา 1 ลูก แครร็อต 2 หัว ขนม 2 ก้อน

ดีใจซึ่งได้อาหารวันนี้ เพราะเข้าใจว่าเป็นอาหารของพระพ่อ คือ เป็นมูล (มรดก) ของพระพุทธเจ้านั่นเอง และเป็นอาหารที่บิณฑบาตได้ เมืองนี้ยังไม่เคยมีพระบิณฑบาตเลย เพราะเขามีความอายกันเป็นส่วนมาก แต่ตรงกันข้ามกับเรา คำว่าอายนี้เราเห็นว่าอายต่อบาป อายต่อความผิดเท่านั้น ซึ่งเป็นความหมายของพระองค์นี้เป็นความเห็นของเรา จะถูกหรือผิดขออภัย จากนักปราชญ์ทั้งหลายด้วย

23 พฤษภาคม 2520 ตอนเย็นวันนั้นเอง ได้ถูกถามปัญหาและตอบคำถามพวกเขาเป็นปัจจุบันหลายอย่าง แต่เราก็ไม่จนในการตอบปัญหานั้นตามเคย

มีผู้หญิงฝรั่งคนหนึ่งได้ถามปัญหาว่า "คนตายแล้วไปอยู่ที่ไหนและความรู้ (วิญญาณ) นั้น ไปอยู่อย่างไร"

เราได้ตอบว่า "ปัญหานี้พระพุทธเจ้าไม่ทรงให้ตอบ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เหตุ กระนั้นก็จะขออนุญาตตอบปัญหานี้ฉลองศรัทธาสักหน่อย"

ในขณะนั้นเรานั่งอยู่บนธรรมาสน์มีเทียนจุดไว้ 2 เล่ม เราจึงถามว่าโยมมองเห็นเทียนนี้ไหม เขาก็ว่าเห็น เราจึงว่านี่แหละโยมเมื่อมีไส้อยู่ก็มีไฟอยู่ฉันนั้น จากนั้นก็ได้หยิบเทียนเล่มหนึ่งขึ้นมา แล้วก็เป่าให้ดับด้วยปาก แล้วถามเขาว่า เปลวของไฟนี้หายไปในทิศไหน เขาตอบว่าไม่รู้ รู้แต่ว่าเปลวไฟดับไปเท่านั้น

แล้วเราก็ถามเขาว่า แก้ปัญหาอย่างนี้พอใจไหม เขาก็บอกว่า ยังไม่พอใจในคำตอบนี้ เราก็ตอบเขาไปอีกว่าถ้าอย่างนั้น เราก็ไม่พอใจในคำถามของโยมเหมือนกัน เขาทำตาถลึงขึ้น สบัดหน้าแล้วก็หมดเวลาพอดี

pra farang 05

หลวงพ่อเขียนสรุปตอนท้ายในสมุดบันทึกว่า...

เราเป็นพระอยู่แต่ในป่ามานมนาน นึกว่าไปเมืองนอกจะมีความตื่นเต้นก็เปล่า เพราะพระพุทธเจ้าตามควบคุมเราอยู่ทุกอิริยาบถ มิหนำซ้ำยังให้เกิดปัญหาขึ้นอีกด้วย เหมือนบัวในน้ำ ไม่ยอมให้น้ำท่วม ฉันนั้น พิจารณาตรงกันข้ามเรื่อยไป

และได้เที่ยวไปดูในมหาวิทยาลัยต่างๆ แล้ว จึงคิดว่ามนุษย์ศาสตร์ทั้งหลาย มันคงเห็นชัดเจนว่า มีแต่ศาสตร์ที่ไม่คมทั้งนั้น ไม่สามารถจะตัดทุกข์ได้ มีแต่ก่อให้เกิดทุกข์ ศาสตร์ทั้งหลายเหล่านั้นเราเห็นว่า ถ้าไม่มาขึ้นต่อพุทธศาสตร์แล้วมันจะไปไม่รอดทั้งนั้น

ความรู้สึกในเหตุการณ์ที่ได้ไปเมืองนอกในคราวนี้ ก็น่าขบขันเหมือนกัน เพราะเราเห็นว่าอยู่เมืองไทยมาก็นานแล้ว คล้ายๆ กับเป็นพญาลิงให้คนหยอกเล่นมาหลายปีแล้ว ลองไปเป็นอาจารย์กบในเมืองนอกดูสักเวลาหนึ่งจะเป็นอย่างไร เพราะภาษาของเขา "เราไม่รู้" ก็ต้องเป็นอาจารย์กบอย่างแน่นอน แล้วก็เป็นไปตามความคิดอย่างนั้น

กบมันไม่รู้ภาษามนุษย์ แต่พอมันร้องขึ้นมาแล้ว คนชอบไปหามันจังเลย... เลยกลายเป็น คนใบ้สอนคนบ้าอีกเสียแล้ว ก็ดีเหมือนกับปริญญาของพระพุทธเจ้านั้นไม่ต้องไปสอบกับเขาหรอก...

ฉะนั้น พระใบ้เลยเป็นเหตุให้ได้ตั้งสาขาสองแห่งคือ กรุงลอนดอน และฝรั่งเศส เพื่อให้คนบ้าศึกษา ก็ขบขันดีเหมือนกัน

walk oxford
15 พฤษภาคม 2520 เดินทางกลับจากกรุงลอนดอน สู่ประเทศไทย

redline

arr 1larr 1uarr 1r

prawat header

teach 1

26. จาริกสู่ตะวันตกครั้งที่ 2

ในครั้งแรกของการไปเผยแผ่พุทธธรรมยังต่างประเทศ ชาวอังกฤษบางคนเรียนถาม หลวงพ่อว่า "ชีวิตของพระเป็นอย่างไร?... ทำไมชาวบ้านถึงได้เลี้ยงดู โดยที่พระไม่ได้ทำอะไร?"

หลวงพ่อตอบแบบอุปมาว่า...

...ถึงบอกให้ก็ไม่รู้หรอก มันเหมือนกับนกที่อยากรู้เรื่องของปลาในน้ำ ถึงปลาบอกความจริงว่า อยู่ในน้ำเป็นอย่างไร นกก็ไม่มีทางจะรู้ได้ ตราบใดที่นกยังไม่เป็นปลา "

พวกเขาเหล่านั้นพอใจในคำตอบของหลวงพ่อมาก หลังจากกลับสู่เมืองไทยแล้ว ในปี พ.ศ. 2520 หลวงพ่อจึงได้รับหนังสือจาก บี.บี.ซี. แห่งประเทศอังกฤษ ติดต่อขอเข้าถ่ายทำภาพยนต์เกี่ยวกับพุทธศาสนาที่ วัดหนองป่าพง ตอนท้ายของหนังสือติดต่อฉบับนั้น มีข้อความอยู่ประโยคหนึ่ง ซึ่งเขาเน้นว่า "หวังว่าท่านอาจารย์ คงจะเป็นปลาที่เห็นประโยชน์ (เกื้อกูล) แก่นก"

The Mindful Way ภาพยนตร์สารคดี ที่ BBC เข้ามาถ่ายทำเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในเมืองไทย
และได้เข้าไปถ่ายทำชีวิตความเป็นอยู่ และข้อวัตรปฏิบัติของพระภิกษุ วัดหนองป่าพง ตุลาคม 2520

ในต้นเดือนตุลาคมปี พ.ศ. 2520 สำนักข่าวต่างประเทศ (BBC) ได้เข้ามาถ่ายทำภาพยนต์สารคดี เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ ข้อวัตรปฏิบัติ และกิจวัตรประจำวันของพระกรรมฐานที่วัดหนองป่าพง หลังจากนั้น ไม่นาน หนังสารคดีเรื่องนี้ก็ได้แพร่หลายสู่สายตาของคนค่อนโลก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 ทางมูลนิธิกิจการสงฆ์แห่งอังกฤษได้ติดต่อนิมนต์หลวงพ่อ ให้จาริกไปเผยแพร่ธรรมะที่ประเทศอังกฤษอีกครั้ง

The Buddha Comes to Sussex เป็นภาพยนตร์สารคดี ที่ BBC ถ่ายทำในขณะที่ หลวงพ่อชา สุภัทโท
และหลวงพ่อโรเบิร์ต สุเมโธ จาริกไปเผยแผ่พระธรรม ยังประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2520

หลวงพ่อกับพระอาจารย์ปภากโร จึงได้เดินทางสู่ประเทศอังกฤษ ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2522 การไปอังกฤษครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากชาวต่างประเทศมากขึ้นกว่าครั้งแรกหลายเท่า และหลวงพ่อยังได้ไปดูสถานที่ซึ่งมีคนถวาย เพื่อจัดตั้งเป็นสำนักสาขาถาวร

สถานที่แห่งใหม่เป็นป่าธรรมชาติของเมืองหนาว อยู่ใกล้ทะเลสาบ มีคฤหาสน์โบราณอยู่หลังหนึ่ง ต่อมาพระชาวตะวันตกศิษย์ของหลวงพ่อได้ย้ายจากแฮมป์สเตท กลางกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นที่พักแห่งแรก ไปอยู่สำนักใหม่ที่หมู่บ้านชิตเฮิร์ต เมืองปีเตอร์ฟิลด์ มณฑลซัสเซกซ์ตะวันตก ปัจจุบันนี้มีชื่อว่า วัดป่าจิตตวิเวก

jitvivek

หลวงพ่อพักอยู่ที่ซัสเซกซ์ระยะหนึ่ง แล้วเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา กับพระอาจารย์ปภากโร ได้ไปพักที่ สำนักกรรมฐานของนายแจ๊ค คอร์นฟิลด์ (อดีตพระสุญฺโญ) ซึ่งเป็นศิษย์เคยบวชอยู่ที่ วัดหนองป่าพง ระยะเวลาเก้าวันที่หลวงพ่อพักอยู่ที่สำนักนั้น ได้อบรมกรรมฐานแก่ชาวอเมริกัน ซึ่งได้รับความสนใจจากพวกเขาเหล่านั้นมาก

หลวงพ่อเล่าถึงประสบการณ์ครั้งหนึ่ง ในอเมริกาให้ญาติโยมฟังว่า...

"อาตมาเคยไปสหรัฐ เขาให้ไปพูดในบ้านชาวคริสต์ ก็พูดตามภาษาเรานั่นแหละ เมื่อพูดจบลง คริสต์แก่ๆ คนหนึ่งถามว่า...

ท่าน... ศาสนาพุทธอยู่เมืองไทย แต่ทำไมขโมยเยอะ? "

ใช่... จริง.. ยอมรับร้อยเปอร์เซนต์เลย.. แต่ว่าขโมยเหล่านั้นไม่ใช่ศาสนา มันเป็นคน คนเป็นขโมย ไม่ใช่ศาสนาเป็นขโมย... คนที่สอนศาสนาก็ไม่ให้ทำอย่างนั้น... ศาสนาก็ไม่ให้ทำอย่างนั้น แต่คนทำ.. ไม่ใช่ศาสนาทำ.. เขาตบมือให้เหมือนกัน

อาตมาจึงถามบ้างว่า สหรัฐมีขโมยหรือเปล่า? เขาไม่อยากตอบเหมือนกัน เพราะขโมยก็เยอะเหมือนกัน"

หลวงพ่อได้แนะนำหลักการปฏิบัติ และสนทนาตอบปัญหาธรรมแก่ผู้สนใจในสถานที่หลายแห่งในอเมริกา ซึ่งเป็นที่ยอมรับและซาบซึ้งแก่ชาวต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง

หลังจากพำนักอยู่ที่อเมริการะยะหนึ่ง หลวงพ่อได้เดินทางย้อนกลับมาอังกฤษ ได้อยู่ดูแลการเคลื่อนย้ายสำนักจากที่เก่าคือ วิหารแฮมป์สเตท ไปยังสำนักใหม่ที่มณฑลซัสเซกซ์ตะวันตก

หลวงพ่อใช้เวลาในการไปเผยแผ่ธรรมะครั้งนี้สองเดือน แล้วได้กลับสู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2522

people

การเดินทางไปประกาศสัจธรรม ในต่างประเทศของหลวงพ่อทั้งสองครั้งนั้น ทำให้หลักธรรมปฏิบัติของพุทธศาสนา ได้เผยแผ่ออกไปอย่างกว้างไกล ยังผลให้มีสำนักปฏิบัติธรรม ที่มีลักษณะคล้ายวัดป่าในเมืองไทยเกิดขึ้นหลายแห่งในซีกโลกตะวันตก เป็นสถานที่ฝึกหัดปฏิบัติ และ ให้หลักการดำเนินชีวิตที่ดีงามแก่ผู้คนในถิ่นนั้น

ปัจจุบันมีสำนักสาขาของวัดหนองป่าพง ในต่างประเทศกว่าสิบแห่ง ตั้งอยู่ในประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา เพื่อสืบเจตนารมณ์ของหลวงพ่อ ดังที่ท่านเขียนไว้ในสมุดบันทึก ตอนจาริกสู่ต่างประเทศว่า

ต้องยอม เสียสละทุกอย่างให้แก่พระศาสนา เพื่อประชาชนเป็นจำนวนมาก
ในเวลานี้ ดอกบัวกำลังจะบาน ในทิศตะวันตกอยู่แล้ว..."

redline

arr 1larr 1uarr 1r

prawat header

pra farang

24. ศิษย์ชาวต่างประเทศ

ปี พ.ศ. 2510 ท่านอาจารย์สุเมโธ (ศิษย์ชาวต่างประเทศรูปแรก) ได้ยินกิติศัพท์ความเคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อ จึงกราบลาพระอุปัชฌาย์ของท่านที่จังหวัดหนองคาย เดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อ ท่านได้เมตตารับไว้ แต่ตั้งเงื่อนไขว่า...

ท่านจะมาอยู่กับผมก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าผมจะไม่หาอะไรมาบำรุงท่านให้ได้ตามอยาก ท่านต้องทำตามระเบียบข้อวัตรเหมือนที่พระเณรไทยเขาทำ "

ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ป่าพง ท่านอาจารย์สุเมโธได้รับการฝึกฝนเคี่ยวเข็ญด้วยอุบายต่างๆ จากหลวงพ่อ ท่านอาจารย์สุเมโธเล่าให้ฟังว่า

"บางครั้งหลวงพ่อจะดุหรือตักเตือนผมในที่สาธารณะ ทำให้ผมอายมาก บางครั้งท่านเล่าให้โยมทั้งศาลาฟังเรื่องที่ผมทำไม่สวย ไม่งาม เช่น การฉันข้าวด้วยมือเปล่าแต่เปิบไม่เป็น ขยุ้ม อาหารขึ้นมาเต็มกำมือแล้วโปะใส่ปาก ใส่จมูกเลอะเทอะไปทั้งหน้า พระเณรและโยมหัวเราะกัน ลั่นศาลา ผมนั้นทั้งโกรธทั้งอาย แต่ก็ทนได้ และพิจารณาว่า นี่เป็นความกรุณาของหลวงพ่อ ที่ช่วยเปิดเผยความเย่อหยิ่งของผม ซึ่งมันเป็นจุดบอดที่เรามักจะมองไม่เห็น และยังเป็นอุบายที่ท่านจะทดสอบอารมณ์เราว่า มีพื้นฐานที่จะรองรับธรรมะได้มากน้อยแค่ไหน..."

ทุกเช้าเวลาหลวงพ่อกลับจากบิณฑบาต จะมีพระเณรหลายองค์ไปรอล้างเท้าท่าน ระยะแรกๆ ที่ผมไปอยู่วัดป่าพง เห็นกิจวัตรนี้ทีไร ก็นึกค่อนขอดพระเณรเหล่านั้นอยู่ในใจ แต่พออยู่นานเข้าผมก็เป็นไปด้วย

เช้าวันหนึ่งก่อนที่ผมจะรู้ตัวว่าเป็นอะไร ผมก็ปราดเข้าไปอยู่หน้าพระเณรองค์อื่นเสียแล้ว ขณะก้มลงล้างเท่าถวายท่าน ผมได้ยินเสียงนุ่มๆ กลั้วเสียงหัวเราะของหลวงพ่อว่า "สุเมโธ ยอมแล้วเหรอ..." ..."

"เช้าวันหนึ่ง ผมกำลังกวาดใบไม้ที่ลานวัด อารมณ์ไม่ดี รู้สึกหงุดหงิดขัดเคือง และรู้สึกว่า ตั้งแต่มาอยู่ที่วัดป่าพงเจอแต่ทุกข์ พอดีหลวงพ่อเดินตรงมายังผม ท่านยิ้มให้พร้อมกับพูดว่า "วัดป่าพงทุกข์มาก!" แล้วท่านก็เดินกลับไป ผมสงสัยว่าทำไมหลวงพ่อพูดอย่างนี้ กลับไปกุฏิพิจารณาได้สติว่า ทุกข์ไม่ได้เกิดจากวัดป่าพง แต่เกิดจากจิตใจเราเอง..."

sumedho1 Sumedho 01 sumedho2

ต่อมาปี พ.ศ. 2513 ได้มีชาวอเมริกันอีกสองคนเข้ามาบวชที่วัดหนองป่าพง แต่อยู่ได้ราวหนึ่งปีทั้งคู่ก็ลาสิกขาไป คนหนึ่งเป็นนักเขียนได้จดบันทึกคำสอนของหลวงพ่อ แล้วนำไปพิมพ์เผยแพร่ ทำให้ชื่อเสียงของหลวงพ่อเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างประเทศยิ่งขึ้น ส่วนอีกคนเป็นนักจิตวิทยา ชอบวิพากษ์ครูบาอาจารย์ต่างๆ เว้นไว้แต่หลวงพ่อองค์เดียวที่เขาเคารพเทิดทูนมาก หลังลาสิกขาบท เมื่อได้พบชาวต่างประเทศที่กำลังแสวงหาครูอาจารย์ เขามักแนะนำให้มาพบกับหลวงพ่อ ทำให้พระฝรั่งในวัดหนองป่าพงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

The Mindful Way ภาพยนตร์สารคดี ที่ BBC เข้ามาถ่ายทำเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในเมืองไทย

ผู้คนที่มาวัดหนองป่าพง ต่างทึ่งที่เห็นพระฝรั่งปฏิบัติกรรมฐานเคร่งครัดอยู่เคียงข้างกับพระไทย จึงเกิดความสงสัยว่า หลวงพ่อสอนชาวต่างประเทศได้อย่างไร ในเมื่อท่านไม่คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษ และลูกศิษย์ฝรั่งเองก็ไม่คุ้นเคยภาษาไทย หลวงพ่อชี้แจงว่า

"ที่บ้านโยมมีสัตว์เลี้ยงหรือเปล่า อย่างหมา แมว หรือวัวควายอย่างนี้ เวลาฝึกหัดมัน โยม ต้องรู้ภาษาของมันด้วยไหม?..."

"ถึงแม้มีลูกศิษย์เมืองนอกมาอยู่ด้วยมากๆ อย่างนี้ ก็ไม่ได้เทศน์ให้เขาฟังมากนัก พาเขาทำเอาเลย ทำดีได้ดี ถ้าทำไม่ดีก็ได้ของไม่ดี พาเขาทำดู เมื่อเขาทำจริงๆ ก็เลยได้ดี เขาก็เลย เชื่อ..."

ครั้งหนึ่งเมื่อถูกถามปัญหาเช่นนี้ ท่านตอบแบบขำๆ ว่า "ไม่ยากหรอกดึงไปดึงมาเหมือนควาย เดี๋ยวมันก็เป็นเท่านั้นแหละ"

ศิษย์ชาวออสเตรเลี่ยนรูปหนึ่งเล่าถึงบทเรียนอันดุเดือดว่า

"วันหนึ่งผมมีเรื่องขัดใจกับพระรูปหนึ่ง รู้สึกโกรธ หงุดหงิดอยู่ทั้งวัน รุ่งเช้าไปบิณฑบาต ก็เดินคิดไปตลอดทาง ขากลับเดินเข้าวัดพอดีสวนทางกับหลวงพ่อ ท่านยิ้มและทักผมว่า "กู๊ด มอร์นิ่ง" ซึ่งทำให้อารมณ์ของผมเปลี่ยนทันที จากความหงุดหงิดกลายเป็นปลื้มทันที

...ถึงเวลาสวดมนต์ทำวัตรเย็น หลวงพ่อให้ผมเข้าไปอุปัฏฐาก ถวายการนวดที่กุฏิของท่าน ผมรู้สึกตื่นเต้นดีใจมากกับโอกาสที่หาได้ยากเช่นนั้น เพราะเราเป็นพระใหม่ แต่ขณะที่กำลังถวายการนวดอยู่อย่างตั้งใจ หลวงพ่อก็ถีบเปรี้ยงเข้าที่ยอดอกที่กำลังพองโตของผม จนล้มก้นกระแทกพื้น ท่านดุใหญ่เลยว่า "จิตไม่มั่นคง พอไม่ได้ดังใจก็หงุดหงิดขัดเคือง เมื่อได้ตามปรารถนาก็ฟูฟ่อง" ผมฟังท่านดุไปหลายๆ อย่างแล้ว ก็ไม่โกรธและไม่เสียใจ รู้สึกซาบซึ้งในพระคุณของท่านที่ช่วยชี้กิเลสของเรา ไม่เช่นนั้น เราคงเป็นคนหลงอารมณ์ไปอีกนาน..."

นอกจากจริยาวัตรอันงดงามของหลวงพ่อแล้ว บรรยากาศของวัดหนองป่าพงและกิริยามารยาทของพระเณร ยังเป็นแรงดลใจให้ผู้มาพบเห็นเกิดความศรัทธาอย่างยิ่ง ดังท่านอาจารย์ ชาวต่างชาติรูปหนึ่งเล่าว่า

"พอผ่านเข้าประตูวัดหนองป่าพงเป็นครั้งแรก ก็เกิดความประหลาดใจ และความประทับใจก็เกิดขึ้น เมื่อเห็นบริเวณสถานที่ แม้จะเป็นป่ามีต้นไม้หนาแน่น แต่ทางเดินก็ดูสะอาดไม่มีอะไร เกะกะสายตา

...จากนั้นก็ไปเห็นกุฏิศาลาสะอาดเรียบร้อยที่สุด รู้สึกว่าวัดหนองป่าพงนี่ ระเบียบวินัยดีมากจริงๆ พอตกตอนเย็นเห็นพระเณรออกมาทำกิจท่านเรียบร้อยดี มีกิริยาสำรวมไม่ตื่นเต้นอะไรเลย ผมเคยไปวัดอื่น พอพระเณรเห็นพวกฝรั่งก็ปรี่เข้าหา เข้ามาพูดภาษาอังกฤษ ถามรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ทำเหมือนกับว่า พวกฝรั่งมีอะไรดีอย่างนั้น

...แต่ที่วัดหนองป่าพง บรรดาพระสงฆ์ ญาติโยม ผ้าขาว แม่ชี ไม่เห็นมีใครสนใจกับฝรั่งอย่างผม ท่านนั่งก็สำรวม เดินก็สำรวม มีกิจอะไรต้องทำก็ทำไป ถามก็เงยหน้ามาพูดด้วย ไม่มีอาการตื่นเต้นอะไรเลย มีความรู้สึกว่า ท่านเหล่านี้ต้องมีของดีแน่ เกิดศรัทธาขึ้นมาก..."

 pra farang 01

ปีพ.ศ. 2518 จำนวนศิษย์ชาวต่างประเทศในวัดหนองป่าพงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลวงพ่อจึงตั้ง วัดป่านานาชาติ ขึ้นที่ป่าช้าบ้านบุ่งหวาย ซึ่งอยู่ห่างจากวัดหนองป่าพงราว 7-8 กิโลเมตร เพื่อปูพื้นฐานให้พระชาวต่างชาติได้รู้จักปกครองกันเอง โดยมอบให้ท่านอาจารย์สุเมโธดูแล

ประธานสงฆ์วัดป่านานาชาติในสมัยแรก ประสบปัญหาในการปกครองหมู่คณะมาก เพราะคนฝรั่งมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง และกล้าแสดงออก จึงสร้างปัญหาให้ประธานสงฆ์ต้องเป็นทุกข์เสมอ

เมื่อเรื่องถึงหลวงพ่อ ท่านจะแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายละวางทิฐิมานะ ให้ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น สำหรับประธานสงฆ์ หลวงพ่อจะแนะนำวิธีปกครองให้ว่า "ถ้าลูกศิษย์ของเรามีเรื่องขัดแย้งกัน ก็ให้พิจารณาให้ดี อย่าตัดสินว่าผู้มาใหม่ไม่ดี อย่าไปว่าคนนั้นดี คนนี้ไม่ดี ต้องใช้เวลาดูไปนานๆ ก่อน ดุอุปนิสัยของเขาไปนานๆ อย่าไปคิดว่า ดีหรือไม่ดีเลยทันที เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่แน่นอน ต้องใช้เวลาดูไปก่อน..."

 pra farang 02

ศิษย์ชาวต่างประเทศ ต่างเคารพปัญญาบารมีของหลวงพ่อเป็นอย่างยิ่ง ท่านเต็มไปด้วยเมตตาธรรม และอารมณขันเบิกบานแจ่มใสอยู่เป็นนิจ มีความสามารถพิเศษในการสื่อสาร และแก้ปัญหาแก่ศิษย์ได้อย่างดีเยี่ยม ชาวต่างประเทศจึงเกิดศรัทธาเข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรมที่ วัดหนองป่าพงและวัดป่านานาชาติ เป็นจำนวนเพิ่มขึ้นตามลำดับ

redline

arr 1larr 1uarr 1r

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)