pra farang

มีชาวต่างประเทศจำนวนมากที่มีความเลื่อมใสในพระธรรมคำสอน แล้วมาบวชอยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมเป็นศิษยานุศิษย์ ของ หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี บ้างก็ปวารณาตัวบวชตลอดชีวิต จึงมีคำถามว่า "ศาสนาพุทธ มีดีอะไรจึงทำให้ฝรั่งต่างชาติละทิ้งอาชีพและอนาคตอันศิวิไลซ์มาบวชมากมายเช่นนี้"

วิถีพระป่าฝรั่ง ศิษยานุศิษย์ชาวต่างชาติ (2)

tira tammo 01พระอาจารย์ถิรธัมโม (Tiradhammo)

เจ้าอาวาส วัดโพธิญานาราม (Bohinyanarama) ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นหนึ่งในชาวตะวันตก ที่เกิดในประเทศแคนาดา ปี พ.ศ. 2492 และในขณะศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ก็พบว่าไม่ได้ทำให้ท่านมีความสุขที่แท้จริง จึงออกแสวงหาความหมายในชีวิตเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน ท่านเคยกล่าวไว้ว่า...

"ขณะเรียนวิชาธรณีวิทยา ตอนนั้น อาตมาเห็นความไม่มั่นคงในอิฐ หิน ดิน ทราย และความเสื่อมที่เกิดดับอยู่ทุกขณะ ทำให้ตัดสินใจละการศึกษาในมหาวิทยาลัย แล้วออกแสวงหาความหมายที่แท้จริงของชีวิต ด้วยการขี่จักรยานจากปากีสถานมายังศรีลังกา ปฏิบัติสมาธิภาวนากับ Bhikkhu Sivoli และศึกษามหาวิทยาลัยชีวิตไปจนถึงประเทศอินเดีย แล้วเดินทางมาบวชอยู่ทางเหนือในประเทศไทย"

กระทั่งได้ยินชื่อ หลวงปู่ชา สุภัทโท จึงออกตามหาไปถึงวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานีในปี 2518 หลังจากนั้น ชีวิตใหม่ของท่านก็เริ่มต้นที่นี่ ในช่วง 35 พรรษาแรก ท่านได้รับนิมนต์ไปช่วยงานก่อตั้ง วัดป่าสาขาหนองป่าพง ในประเทศอังกฤษ 5 ปี รักษาการเจ้าอาวาสวัดป่าที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นระยะเวลาประมาณ 18 ปี .ในพรรษาที่ 36 จนถึงปัจจุบัน ท่านได้รับนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิญานาราม กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ และเตรียมเกษียณตัวเองในเร็ววันเพื่อที่จะธุดงค์ไปทั่วโลก

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2555 เป็นวันคล้ายวันละสังขารของหลวงปู่ชา ท่านได้กลับมาอาจาริยบูชาที่วัดหนองป่าพง และรับนิมนต์ไปบรรยายธรรมที่ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ กรุงเทพฯ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน จึงขอน้อมนำธรรมะที่ท่านฝากไว้ให้กับชาวไทยมาแบ่งปันกัน ในวันที่โลกกำลังร้อนรุ่มไปด้วยกิเลสตัณหา และมนุษย์โลกกำลังจะละทิ้งความสุขทางใจไปบูชาเงินยิ่งกว่าสิ่งใด

พระอาจารย์ถิรธัมโม บอกว่า "ลิ้นท่านขึ้นสนิมแล้ว เพราะอยู่ต่างประเทศนาน แต่ธรรมที่ออกมาจากการปฏิบัติของท่านนั้น คมกริบ พร้อมตัดกิเลสอาสวะที่นอนเนื่องในจิตได้อย่างฉับพลันทันที อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ระลึกถึงพระธรรม ขุมทรัพย์ที่เรามีอยู่ และหันกลับมาขุดกันเพื่อดับความร้อนทางใจก่อนที่โลกจะลุกเป็นไฟมากไปกว่านี้"

รับรส "อุบาย" หลวงปู่ชา สุภัทโท

พระอาจารย์ถิรธัมโม เล่าว่า "ท่านมีประสบการณ์ทางพุทธจากมหาวิทยาลัย จากการอ่านหนังสืออย่างเดียวที่แคนาดา เรื่องฝึกจิต ต้องไปประเทศอื่น ท่านก็ไปอินเดีย แล้วก็มาเมืองไทย มีคนหนึ่งบอกว่า มีอาจารย์กัมมัฏฐานหลายองค์ ปัญหาอันหนึ่งคืออาจารย์กัมมัฏฐาน ท่านไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ พระอาจารย์ต้องอาศัยหนังสืออ่าน ตอนหลังมีข้อสงสัยเกิดขึ้น เมื่อได้อ่านหนังสือของหลวงพ่อชาที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ อ่านแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของศาสนาพุทธ แต่เป็นเรื่องของการฝึกจิต"

การฝึกจิต คือ เราควรจะนอนกี่ชั่วโมงในเวลากลางคืน เมื่อได้พบหลวงพ่อชาในภายหลัง ได้ถามท่านว่า "ในพระไตรปิฎกบอกว่า นอนสี่ชั่วโมง แต่ความจริงแล้วเราควรจะนอนเท่าไร" ท่านตอบว่า "แล้วแต่โยมนะ" อาตมาก็เลยมีกำลังใจในการปฏิบัติคำสั่งสอนของหลวงพ่อชา เป็นคำสั่งสอนที่มีปัญญามาก ไม่ใช่คำสอนที่ออกจากหนังสือ แต่เป็นคำสอนที่ออกมาจากปัญญาจริงๆ ให้รู้กาย รู้ใจ

พระอาจารย์เดินทางมาอยู่ที่เชียงใหม่ 3 ปี แล้วก็ไปอุบลราชธานี เพื่อพบหลวงพ่อชา ที่วัดหนองป่าพง ตอนที่ไปถึงครั้งแรก มาถึงแล้วมืดแล้ว ก็พยายามถามคนว่า วัดหนองป่าพงอยู่ที่ไหน ทุกคนก็รู้จัก เขาก็บอกว่า ให้ไปทางโน้น พอดีมืด เขาเลยเอาขึ้นรถมาส่งที่วัด มาถึงหน้าประตู มีคนเฝ้าประตู ชื่อพ่อทิพย์ เป็นคนตาบอด

หลวงปู่ชา สุภัทโท ท่านมีอุบายสอนคนหลายอย่าง ให้คนตาบอดมาเฝ้าประตู เขาไม่เห็นรถ เราเข้ามาแล้ว เขาก็พยายามพูดกับอาตมา อย่ามาที่นี่มืดๆ ประตูปิดแล้ว อาตมาก็ขออภัย ไม่รู้ภาษา ก็ถามเขาว่า "หลวงปู่ชาอยู่ไหน" เขาก็ชี้ไปทางนั้น ในป่า อาตมาก็เดินไปชนต้นไม้ ไม่มีไฟฉาย ลืมไปว่า เขาตาบอดไม่ต้องใช้ไฟฉาย

"วันนั้นไม่มีพระฝรั่งสักคนหนึ่ง พอพบหลวงพ่อชา ท่านพูดคำเดียว เป็นภาษาอังกฤษว่า "sleep" แต่ไม่มีที่นอน อาตมาต้องนอนข้างนอกกุฏิ แต่อาตมาก็รู้สึกว่า เข้าวัดป่าพงแล้ว อยู่ตรงไหนก็รู้สึกสบายใจ อย่างหนึ่งอาตมาเคยอ่านพระสูตร ในสมัยพุทธกาล พระก็อยู่ป่า อยู่กุฏิในป่า ที่วัดหนองป่าพงเหมือนในสมัยพุทธกาลเลย"

หลวงพ่อชา พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่รู้จักภาษาธรรมะ ท่านสอนด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ไม่พูดมาก เรื่องพุทธ หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องโบราณ หลวงพ่อชาเป็นตัวอย่างให้เราเห็นความทันสมัย ไม่ใช่สมัยพระพุทธเจ้าอย่างเดียว ตอนนี้ทั่วโลกกำลังสนใจพุทธศาสนา หลายแนว

บางคน ได้เคยฝึกโยคะ เขาเห็นว่า ทำสมาธิได้สุขภาพที่ดีขึ้น หัวใจสบาย สุขภาพดีขึ้น บางคนเข้าใจปัญหา และมีทางออก สมัยนี้ คนต้องเรียนหนังสือมากๆ เพื่อให้ได้อาชีพ เรียนมากๆ ก็คิดมากๆ ไปเรียนมหาวิทยาลัย เรียนเรื่องคิดมาก ให้ปรุงแต่ง มหาวิทยาลัยเขาไม่ได้สอนวิธีระงับความคิด

"อาตมาก็เหมือนกัน อ่านหนังสือกลางวัน กลางคืนปรุงแต่งไม่หยุดเลย แต่นั่งสมาธิทำให้จิตสบาย ตอนฝึกที่เมืองไทย คิดว่า ฝึกจิตเดือนหนึ่ง ตรัสรู้แล้วจะกลับบ้าน พอฝึกไปเดือนหนึ่ง ยังไม่ตรัสรู้ ก็ขอต่ออีกเดือนหนึ่ง ผ่านไป 9 ปี ก็ต้องเรียนต่อไปอีก อาจจะต้องหลายชาติก็ได้ อยู่เมืองนอกก็พยายามฝึก เพราะอยู่ประเทศไทยฝึกง่าย ไทยเป็นประเทศสวรรค์ของพระ ไปที่ไหน คนไทยถวายปัจจัยสี่ให้เรียบร้อย อยู่ต่างประเทศ คนมองเราแปลก เอาบาตรไปเดินตามถนน เขาคิดว่าเราจะตีกลอง เขาเห็นเราแปลกประหลาด"

หลังจากนั้น ได้รับนิมนต์ไปสวิตเซอร์แลนด์ เดินบิณฑบาต 3 ปี ได้อาหาร 3 ครั้ง ครั้งแรก เป็นคนมาที่วัด อีกคนเป็นชาวฝรั่งเคยบวชที่เมืองลาว อีกคนเป็นชาวอังกฤษ พระอาจารย์เดินบิณฑบาต เขาถามว่าทำอะไร ท่านบอกว่า กำลังขออาหาร เขาบอกว่า เดี๋ยวก่อน รอก่อน แล้วก็ไปเอาแอปเปิลมาใส่บาตรให้ แต่ท่านไม่ได้อดนะ ในสวิตเซอร์แลนด์มีคนไทยหลายคน เขาก็มาวัดเสาร์อาทิตย์ เอาอาหารมาไว้ในวัด แล้วท่านก็ไปบิณฑบาตที่โรงครัว

"อาตมาเคยไปเดินธุดงค์ในประเทศไทย กับชาวเขาที่เชียงใหม่ ไปเดินบิณฑบาต อาตมาพูดกับชาวเขาไม่ได้ ใช้ภาษามือ ทำมือเอาอาหารเข้าปาก เขาเป็นคนฉลาด เขาก็เอาอาหารให้ ในเมืองนอก บางครั้งต้องสู้กับหิมะ บางที่มีพระบิณฑบาตกลางหิมะ ต้องใส่รองเท้าบูต อยู่เมืองไทย ใส่รองเท้าไม่ได้ เราต้องสู้กับสิ่งแวดล้อม ต้องมีความอดทนคือ อยู่เมืองไทยอดทนความร้อน อยู่เมืองนอกอดทนความหนาว แต่ตอนนี้ที่เราต้องต่อสู้มากที่สุดคือวัตถุนิยม"

tira tammo 02

ศาสนา VS วัตถุนิยม

หลวงปู่ชา สุภัทโท สังเกตเมืองไทยมีวัตถุสิ่งของ มันเจริญมาก ไม่มีที่สิ้นสุด วัตถุนิยม ไม่ได้สอนให้จิตใจสบายที่สุด แต่ให้เราสบายชั่วคราว เพราะมีความสุขจากของต่างๆ แต่ถ้าของต่างๆ พังไปจิตใจจะเป็นอย่างไร

ศาสนาวัตถุนิยมไม่ได้สอนไว้ อย่างตอนนี้มีไอโฟนห้า คนที่มีไอโฟนสี่ ก็ไม่สบายใจแล้ว ต้องเอาเครื่องไปเปลี่ยนใหม่ เมืองนอกไม่มีคำสอนที่ให้จิตใจสบาย นอกจากวัตถุนิยมอย่างเดียว คนไม่รู้จักอย่างอื่น เขาไม่รู้ว่า ความสงบเป็นอย่างไร จะฝึกปฏิบัติอย่างไร ถ้าเราไปตามวัตถุนิยมมากเกินไปจะเจอโทษ เพราะหลายคนไม่รู้จักลักษณะของจิตจริงๆ เวลามีอารมณ์อะไรเกิดขึ้น เช่นไม่สบายใจ ถ้าไม่รู้จักลักษณะของอารมณ์ว่ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะทุกข์กับมัน

"เราจะสอนกัมมัฏฐานให้ชาวตะวันตกยากหน่อย เพราะเขาติดอารมณ์ เวลานั่งสมาธิสบายหน่อย แล้วพอความสบายหายไป เขาก็ไม่เอาแล้ว"

วิปัสสนากัมมัฏฐานมีหลายแนว มีอุบายมาก อาตมามาอยู่กับหลวงปู่ชา สุภัทโท อยากจะได้อุบายกับท่าน อะไรปฏิบัติแล้ว เร็วที่สุด ดีที่สุด ท่านไม่ให้ บอกว่า ไม่มี (หัวเราะ) ท่านก็มีปัญญารู้ คนสมัยนี้ อยากจะได้อะไรไวๆ มันเป็นกิเลส มันเป็นความโลภ ไม่ใช่เรื่องของพระธรรม

หลวงปู่ชา สุภัทโท ไม่ให้วิธีลัด แต่ท่านมีวิธีที่จะให้มีความสงบ คือปล่อยวางอารมณ์ต่าง และต้องปล่อยวาง ความปล่อยวางด้วย ตอนแรกท่านให้ยึดอารมณ์ความดี ทำความดีก็ให้ยึดอันนี้ไว้ก่อน ให้จิตได้มีอะไรยึด ตอนหลังท่านสอนให้เรารู้จักอารมณ์ในการฝึกจิตด้วย ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ดี หรืออารมณ์ไม่ดี เราก็ต้องปล่อยวางทั้งสอง

"การปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง เรามีหน้าที่รดน้ำเท่านั้น ส่วนการเจริญเติบโตเป็นเรื่องของเขา ตอนนี้ สาขาของวัดหนองป่าพง ขยายไปทั่วโลก หลวงพ่อสุเมโธก็ปลดเกษียณแล้ว อาตมาก็จะปลดเกษียณเหมือนกัน แล้วจะธุดงค์ไปทั่วโลก การธุดงค์สมัยนี้ไม่ใช่อาศัยเดินอย่างเดียว อาตมามีมือถือ รู้จักวัดสาขาหนองป่าพงทั่วโลก จะไปออสเตรเลีย แคนาดา ก็คงไม่อดข้าว"

summano 01พระอาจารย์ สุมโน

เป็นระยะเวลา 30 กว่าปีแล้วที่ พระอาจารย์สุมโน ภิกขุ พระฝรั่งศิษย์หลวงพ่อชา สุภัทโท อดีตชาวเมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เคยสุขสบายในชีวิตฆราวาส แล้วหันเหตัวเองสู่เส้นทางแห่งจิตวิญญาณ เพื่อดำเนินชีวิตในวิถีทางที่สันโดษและเรียบง่าย ภายใต้ร่มเงาของพระพุทธศาสนา

สิ่งที่ทำให้อดีตนักศึกษาด้านกฎหมาย และนักธุรกิจด้านตีราคาที่ดินทั้งของรัฐและเอกชน ผู้เคยใช้ชีวิตระดับไฮคลาส เดินทางไปต่างประเทศด้วยเครื่องบินชั้นธุรกิจ (Business Class) พักแต่โรงแรมระดับห้าดาว และมีเงินเหลือเฟือพอที่จะเที่ยวรอบโลก ได้ตัดสินใจทิ้งชีวิตที่หลายคนพยายามตะเกียกตะกายเพื่อจะไปให้ถึง เหตุเพราะเช้าวันหนึ่งเขาลืมตาตื่นขึ้นพร้อมกับความรู้สึกที่ว่า ชีวิตช่างน่าเบื่อ ไม่มีอะไรที่ทำให้ต้องตื่นเต้นอีกต่อไปแล้ว

พระอาจารย์สุมโน ซึ่งอดีตเคยนับถือศาสนายิว บอกเล่าว่า รู้จักพระพุทธศาสนาครั้งแรก เมื่อตอนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมปลาย ด้วยความที่มีนิสัยเป็นคนชอบอ่านหนังสือ และแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา กระทั่งวันหนึ่งจึงได้ไปเจอหนังสือบางเล่ม ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา วางอยู่บนโต๊ะในห้องสมุด แรกเริ่ม พระอาจารย์ให้ความสนใจเรื่อง การนำหลักการฝึกสมาธิของทางพระพุทธศาสนา มาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาตัวเองมากกว่า ขณะเดียวกันก็ใช้เวลาศึกษาศาสนาหลายศาสนา และหลายนิกาย โดยเคยเข้าคอร์สที่มีการอบรมด้านพระพุทธศาสนา อยู่หลายคอร์ส และใช้เวลาปลีกวิเวกอยู่แต่ในห้องโดยไม่ไปไหนเลย เป็นเวลานาน 2-3 ปี

ในวัย 32 ปี เมื่อได้ทิ้งชีวิตการเป็นนักธุรกิจแล้ว และเริ่มมีใจลึกซึ้งในพระพุทธศาสนา พระอาจารย์เห็นว่า การฝึกสมาธิอย่างเดียวช่วยอะไรได้น้อยมาก จึงมีความสนใจอยากจะศึกษาพระพุทธศาสนาให้มากขึ้น แต่เวลานั้นยังไม่ได้มีความคิดที่จะบวช

ช่วงเวลาที่ท่านกำลังจะเดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนา ที่ ประเทศอินเดีย นั้น ระหว่างทางได้ไปแวะที่เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพราะเพื่อนของพระอาจารย์ได้แนะนำให้รู้จักวัดแห่งหนึ่งที่นี่ ซึ่งเมื่อสมัยที่ท่านไปเยือนครั้งแรกนั้นยังไม่ได้เป็นวัด แต่ต่อมาได้กลายมาเป็น วัดจิตตวิเวก (วัดป่าสาขาวัดป่าหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี แห่งแรกในประเทศอังกฤษ) ที่ช่วงเวลานั้นมี พระราชสุเมธาจารย์ (พระอาจารย์โรเบิร์ต สุเมโธ) หรือท่านสุเมโธภิกขุ เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เมื่อเริ่มแรกก่อตั้งวัดในปี พ.ศ. 2522

พระอาจารย์ยังจำได้ว่า ทุกๆ เย็น จะต้องนั่งรถลีมูซีนคันหรู เพื่อไปสวดมนต์ที่วัด ก่อนจะตัดสินใจนุ่งขาวห่มขาวอยู่นานถึง 3 ปี จึงทำให้ความตั้งใจที่จะไปอินเดียในครั้งนั้น เป็นอันต้องล้มเลิกไป และในที่สุดจึงตัดสินใจบวชเมื่ออายุได้ 35 ปี

summano 02

นอกจากวัดจิตตวิเวก พระอาจารย์ได้มีส่วนร่วมในการสร้างวัดอีกแห่ง คือ วัดอมราวดี เมืองฮาร์ดฟอร์ด ประเทศอังกฤษ แต่ด้วยสเกลที่มีขนาดใหญ่ ต้องใช้เวลาในการสร้างนาน จึงไม่อยากใช้เวลาให้หมดไปกับการเป็นช่าง แต่อยากศึกษาหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนามากกว่า

วันหนึ่งเมื่อเดินทางสู่ประเทศไทย ทำให้พระอาจารย์ได้มีโอกาสแวะเวียนไปกราบไหว้ และเรียนรู้ธรรมะจากพระชื่อดังหลายรูปในประเทศไทย อาทิ ท่านพุทธทาสภิกขุ, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงพ่อพุธ ฐานิโย และหลวงพ่อชา สุภัทโท เป็นต้น โดยเฉพาะ หลวงพ่อชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี ที่พระอาจารย์รู้สึกเลื่อมใสศรัทธามากเป็นพิเศษอยู่แล้ว เพราะเคยบวชและจำพรรษาอยู่ที่วัดสาขาของท่านที่อังกฤษ พระอาจารย์จึงไม่รีรอที่จะเดินทางสู่ภาคอีสาน ไปยังที่พำนักของหลวงพ่อชาเพื่อฝากตัวเป็นลูกศิษย์

summano 03สิ่งที่พระอาจารย์ได้เรียนรู้จากหลวงพ่อชา และรู้สึกประทับใจ คือ “ในทัศนะของหลวงพ่อ พระอาจารย์ชาเป็นพระที่มีจิตบริสุทธิ์มาก และสามารถระลึกรู้ในสิ่งต่างๆ ได้โดยไม่ต้องคิด ทำให้หลวงพ่อรู้สึกว่าทึ่ง มันจะมีคำว่าดี ถูกต้อง และความเหมาะสมใช่ไหม เวลาที่เราต้องเผชิญกับอะไรสักอย่าง เรามักจะคิดก่อนว่าต้องทำอย่างไรดี ทำอย่างไรถึงจะถูก พอเป็นอย่างนั้นมันจะเกิดการคิด เพราะเราต้องคิดถึงว่า ค่านิยม กาลเทศะ กับบุคคลเหล่านี้เราต้องทำอย่างไร พอมันเกิดการคิด มันต้องคำนึงถึงอดีต ไม่ใช่ปัจจุบันขณะแล้ว เราจึงคิดตัดสินว่า เราต้องทำอย่างไร จากสิ่งที่เราเคยได้ยิน เคยได้เห็น แต่พระอาจารย์ชาท่านไม่ได้เป็นอย่างนั้น การแก้ปัญหาของท่านเป็นการรู้จากปัจจุบันขณะ และใช้คำว่าเหมาะสม”

เมื่อหลวงพ่อชามรณภาพ พระอาจารย์จึงออกธุดงค์ไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ กระทั่งสุดท้ายได้เลือกพำนักอยู่ที่ สำนักปฏิบัติธรรมถ้ำสองตา ในเขตพื้นที่เขาใหญ่ หลังจากที่เคยธุดงค์ไปพบเพียงแค่คืนเดียว ด้วยเห็นว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะต่อการปฏิบัติ การเดินทางเข้าออกค่อนข้างลำบากแม้แต่รถยนต์ก็เข้าไม่ได้ จึงทำให้ปลอดความวุ่นวายจากสิ่งต่างๆ นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ เวลาก็ได้ล่วงเลยมากว่า 20 ปีแล้ว

“ตอนนี้แก่แล้ว ไปที่ไหนไม่ได้แล้ว” พระอาจารย์บอกเล่าด้วยอารมณ์ขัน เมื่อถูกตั้งคำถามว่าทำไมจึงเลิกธุดงค์ และเลือกสำนักปฏิบัติธรรมถ้ำสองตาเป็นที่พำนักสุดท้ายของชีวิต

วัตรปฏิบัติของพระอาจารย์ที่สำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ทุกวันจะต้องตื่นจากจำวัดตอนตีสี่ เพื่อนั่งสมาธิ อ่านหนังสือ เดินจงกรม และฟังธรรมะ แม้แต่ในยามที่ย่ำเท้าไปบนถนนสายเล็กๆ ที่ทุรกันดารสู่หมู่บ้าน เพื่อไปบิณฑบาต ระหว่างทางก็ยังต้องอาศัยฟังธรรมบรรยายผ่านเครื่องเล่น MP3

ลูกศิษย์บางคนที่ใกล้ชิดพระอาจารย์บอกเล่าว่า “แม้หลวงพ่อจะมีความลึกซึ้งในหลักธรรม จนสามารถนำมาสอนผู้อื่นได้แล้ว แต่หลวงพ่อก็ยังต้องฟังธรรมบรรยายจากพระรูปต่างๆ เพื่อนำมาสอนผู้คนอยู่ และน้อยครั้งมากที่หลวงพ่อจะเดินทางเข้าเมือง ขนาดหมอนิมนต์ให้มาทำฟัน ท่านก็ยังไม่มา”

แต่พระอาจารย์สุมโนได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับการเขียนหนังสือ เพราะเห็นว่าหน้าที่หนึ่งของพระ คือการสืบทอดพระพุทธศาสนา และเผยแพร่หลักธรรมไปสู่ผู้คนให้มากที่สุด ที่ผ่านมานอกจากท่านจะมีผลงานแปลธรรมเทศนาของ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงพ่อพุธ ฐานิโย และหลวงพ่อชา สุภัทโท แล้ว ยังมีผลงานเขียนชื่อ ธรรมะจากพระภูเขา (Monk in the Mountain), จิตที่สว่างไสว (The Brightened Mind) และพบลิงแค่ครึ่งทาง (Meeting the Monkey Halfway) โดยเป้าหมายที่เหมือนกันของผลงานเขียนทั้งสามเล่ม คือ ต้องการสอนให้ผู้คนรู้จักการเจริญสติ รู้จักการใช้ปัญญา เพราะถ้าคนเราไม่มีปัญญา มีแต่ตัวตนเกิดขึ้น ก็จะเกิดความเห็นแก่ตัว

summano 05

ส่วนเหตุที่ควรต้อง “พบลิงแค่ครึ่งทาง” ผลงานเขียนเล่มล่าสุดของพระอาจารย์ ซึ่งแปลและเรียบเรียงโดย อานุภาพ ทัดพิทักษ์กุล และจัดพิมพ์โดย บริษัท ฟรีมายด์ พับลิชชิ่ง จำกัด ได้บอกเอาไว้ว่า

ในปรัชญาธรรมอันเก่าแก่ของเอเชียตะวันออก "ลิง" ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของจิตที่มีลักษณะไม่อยู่นิ่ง ยุกยิก คอยกระโดดจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง ไม่เชื่อฟัง ผันแปรเปลี่ยนแปลงง่าย และด้วย “จิตที่เหมือนลิง” นี้ แนวทางการฝึกฝนจิตของโลกตะวันออก อาทิ การปฏิบัติกรรมฐาน โยคะ และการสวดท่องมนต์ ก็เป็นวิธีการต่างๆ ที่พยายามจัดการกับจิตที่ซุกซน

“ครึ่งทาง” หมายถึง อุบายอันชาญฉลาดในการบริหารจิต เป็นวิธีที่ไม่ตึงหรือแข็งกระด้างจนเกินไป และก็ไม่หย่อนยานจนเกินไป “ครึ่งทาง” เป็นทัศนคติที่ตั้งอยู่บนหลักการของความสมดุลเป็นกลาง ไม่ถูกกระทบโดยอาการไม่อยู่นิ่งของจิตที่กระโดดไปกระโดดมา

“การพบ” แสดงออกถึงความอุตสาหะที่จะบรรลุเป้าหมาย มันหมายถึงความตั้งใจและความกระตือรือร้นในการทำจิตซึ่งเป็นสิ่งที่สงบได้ยาก ให้เกิดความตั้งมั่นและเป็นกลาง และด้วยความพยายามที่มุ่งมั่นนี้ ประกอบกับความพากเพียร ซื่อตรง ภายใต้การกำกับดูแลของปัญญา ทำให้เราสามารถเข้าถึงการเจริญในธรรมที่นำไปสู่หนทางอันถูกต้อง เพื่อที่เราจะได้ “พบลิงที่ครึ่งทาง” นั่นเอง

ในวันที่พระอาจารย์สุมโน ภิกขุ เดินทางออกจากสำนักปฏิบัติธรรมถ้ำสองตา เพื่อมาบรรยายธรรมและเปิดตัวผลงานเขียน “พบลิงแค่ครึ่งทาง” ณ สวนโมกข์ กรุงเทพฯ หลังจากที่ละทิ้งความสุขทางโลกมา 30 กว่าปี พระอาจารย์ซึ่งตอนนี้พูดภาษาไทยภาคกลางได้มากแล้ว (แต่เว้าอีสานได้ชัดกว่า) ได้บอกถึงความแท้จริงในทัศนะของพระอาจารย์ให้ผู้คนได้ฟังว่า “ถ้าไม่มีความอยาก จะได้รับความสุขทันทีเลย”

แล้วเราจะระงับซึ่งความอยาก ด้วยวิธีการอย่างไรบ้าง ? พระอาจารย์ได้กล่าวต่อไปว่า

“ให้รู้ว่าความอยากมีแต่ความทุกข์ มากกว่าความสุข เพราะถ้าเรามีความอยาก เราก็ต้องไปดิ้นรนไปหาไปทำมา ตอนที่เรากำลังหากำลังทำอยู่ เรามีความสุข อย่างเช่นการสะสมเงิน เพราะอยากจะได้แหวนเพชรสักวง ตอนที่ใกล้จะได้มา เรารู้สึกดีใจ พอไปที่ร้านถอยมันมาได้ ความสุขก็จบแล้ว เพราะช่วงเวลาที่เราอยากได้มันหมดไปแล้ว ทีนี้ก็จะดิ้นรนไปอยากได้อย่างอื่นต่อ”

summano 04

และเมื่อถูกถามว่า ถ้าโลกนี้ไม่มีความอยาก มีแต่การปล่อยวาง โลกจะไม่หยุดพัฒนา หยุดการเจริญรุดหน้าหรืออย่างไร พระอาจารย์ตอบว่า

“เคยมีคนถามหลวงพ่อว่า ถ้าทุกคนบวชเป็นพระกันหมด โลกนี้จะพัฒนาไปอย่างไร หลวงพ่อบอกว่าไม่ต้องห่วง มีคนที่สมัครใจบวชเป็นพระ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน เหมือนกับที่ไม่ใช่ทุกคนที่อยากเป็นช่างเสริมสวย (หัวเราะ) และในความเห็นของหลวงพ่อ โลกนี้ไม่ต้องเจริญ อีสานที่หลวงพ่อเคยอยู่ มีคนบอกว่าความเจริญเป็นสิ่งดี โอ้...อยากให้เมืองนี้เจริญ วารินชำราบเจริญ อุบลฯ เจริญ แต่หลวงพ่อคิดว่า ความเจริญไม่ใช่สิ่งดีเสมอไป เพราะถ้าเจริญแบบไม่มีปัญญาก็จะมีปัญหามากขึ้น อย่างเมืองไทยเจริญขึ้นแต่ความสุขกลับน้อยลงตลอด ไม่เหมือนประเทศภูฏาน ประเทศเขาไม่เจริญ แต่มีความสุข”

แม้พระอาจารย์จะเป็นตัวอย่างหนึ่งของชาวต่างชาติจากประเทศตะวันตก ที่เดินทางมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศตะวันออก เรียนรู้และศึกษาจิตวิญญาณตะวันออก โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา แต่พระอาจารย์ก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่า ตนเองเป็นหนึ่งในคนตะวันตกจำนวนมากที่หันมาสนใจจิตวิญญาณตะวันออก เพราะอาจจะเป็นหนึ่งในคนจำนวนน้อยก็ได้ หรือแม้แต่เวลานี้ก็ตาม ถามว่าคนตะวันตกสนใจจิตวิญญาณตะวันออกมากขึ้นหรือไม่ พระอาจารย์ก็ไม่อาจทราบได้ เพราะไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศตะวันตกมานานแล้ว

“หลวงพ่อไม่ได้อยู่ในประเทศตะวันตกมาสามสิบกว่าปีแล้ว หลวงพ่อรู้แต่ว่าเมื่อก่อนคนตะวันตกอยากมาเมืองไทย เพราะสนใจในประเพณี วัฒนธรรม เป็นแบ็คแพ็คเกอร์มาเที่ยว หรือนั่งเครื่องบินไปเที่ยวทะเล เที่ยวเกาะสมุยโน่น แต่ไม่ค่อยมีใครมาวัด มาอีสาน มีแต่มาเอาอย่างเดียว ไม่มีใครอยากให้อะไร”

หลายปีที่ผ่านมา อาจทำให้พระอาจารย์รู้จักประเทศไทย และเห็นความเป็นไปของประเทศไทยในหลายๆ ด้าน แต่พระอาจารย์ก็ออกตัวว่า ไม่อยากจะวิพากษ์วิจารณ์ประเทศไทย หรือคนไทยมากเท่าใดนัก มีเพียงบางสิ่งที่ทำให้รู้สึกเป็นห่วงคนไทย คือ มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่กำลังตกอยู่ในวังวนของความอยาก และการโฆษณาชวนเชื่อ ที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตนี้ยังไม่พอ และยังไม่ดีพอเสียที

“ทุกคนอยากมีรถคันใหม่ อยากมีโทรศัพท์ อยากมีโน่นอยากมีนี่ มีความอยากไปในทางโลกเสียมากกว่า และการโฆษณาก็ทำให้พวกเขาคิดว่าชีวิตฉันยังไม่พอ และรู้สึกว่าฉันยังไม่ดีพอ ฉันต้องรวยให้มากกว่านี้ หรือฉันต้องสวย ต้องขาวให้มากกว่านี้”

เมื่อปี พ.ศ. 2553 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเพราะมนุษย์นี่เองที่เป็นฝ่ายเบียดเบียนธรรมชาติ ซึ่งพระอาจารย์ได้แนะวิธีที่จะช่วยให้เราเบียดเบียนธรรมชาติให้น้อยที่สุดว่า

“ต้องรักษาศีลห้าก่อน เพราะถ้าไม่รักษาศีลห้า เราก็จะเป็นฝ่ายเบียดเบียนธรรมชาติ ปัญหาที่อยากแก้ก็จะไม่สามารถแก้ได้ และอยากให้ทุกคนมีสมาธิ เพราะสิ่งเหล่านี้มันจะทำให้จิตใจของเราสบาย มีความอยากน้อยลง มีสติ แล้วปัญญาก็จะเกิดขึ้น

ถ้าเราไม่มีปัญญา เราก็จะไม่เข้าใจอดีต และทำในสิ่งที่ผิดพลาดเหมือนเดิมไปตลอด เหมือนเราเคยเสียใจเพราะอกหักจากผู้ชายคนนี้ ถ้าเราไม่ใช้ปัญญาทำความเข้าใจว่าทำไม เราก็จะอกหักได้อีกเรื่อยๆ ดังนั้น ปัญญาช่วยให้เราสามารถพิจารณาได้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว

จริงๆ แล้วจิตเดิมของมนุษย์นั้นประภัสสร นั่นคือบริสุทธิ์ รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่เพราะว่าจิตของเรารับอะไรเข้ามาเยอะ กิเลสมันเลยเข้ามาทำให้จิตใจเราขุ่นมัว เราก็เลยไม่มีปัญญาพอที่จะมองเห็นเหตุของปัญหา แต่ไปหลงและยึดเอาค่านิยมภายนอกมากกว่า ภัยธรรมชาติที่มันเกิด มันเป็นเพราะความอยากของเราที่มันไปเป็นตัวเบียดเบียนธรรมชาติ ถ้าเราไม่อยากเบียดเบียนธรรมชาติ เราต้องถามตัวเราเองก่อนว่าเราพร้อมที่จะเสียสละไหม เช่น ถ้าเราไม่มีโรงงานนิวเคลียร์ เราก็จะไม่มีไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงงานนิวเคลียร์มาใช้นะ

summano 06

ทุกวันนี้เราพึ่งพาไฟฟ้าเพราะอะไร เพราะเราต้องการความสะดวกสบาย เวลาเราเบื่อ แทนที่เราจะนั่งสมาธิ เราต้องเปิดไฟ ดูทีวี หรืออ่านหนังสือ ตอบสนองตัวเองด้วยสิ่งบันเทิง แต่ถ้าเราพยายามอยู่กับตัวเองให้ได้บ้าง บางครั้งสิ่งบันเทิงเหล่านี้ก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็น เมื่อเราไม่ได้เปิดไฟ ใช้มันน้อยลง เราก็จะเบียดเบียนธรรมชาติน้อยลงไปด้วย”

ดังนั้น พรปีใหม่ที่พระอาจารย์อยากมอบคนไทย ไม่มีอะไรที่มากกว่าการลดความอยาก เพื่อความสุขที่แท้และใช้ปัญญาแก้ไขปัญหา “เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากตัวเราเอง”

นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมพวกเราชาวต่างชาติถึงมาที่นี่ ประเทศไทย เมืองแห่งพุทธศาสนา...

'It is not living' : สุมโนภิกขุ

 

ดอกบัวบานทางทิศตะวันตก : ตอนที่ 1 | ตอนที่ 2 | ตอนที่ 3 | ตอนที่ 4

redline

backled1