แสก หมายความว่า แจ้ง สว่าง เป็นชนชาติหนึ่งในตระกูลมอญ - เขมร ชาวไทแสก เป็นชนกลุ่มน้อยตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ในท้องที่จังหวัดนครพนมและจังหวัดมุกดาหาร ชาวไทแสกเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชาติพันธุ์เดิมมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในตอนกลางของสาธารณะรัฐสังคมนิยมเวียดนาม อาศัยอยู่ในแถบเมืองรอง เมืองเว้ ต่อมาชาวเวียดนาม พยายามเข้าครอบครองและรุกรานชาวไทแสกตลอดมา จนทำให้ชาวไทแสก ตกอยู่ภายใต้การปกครองของเวียดนาม มีชาวไทแสกบางกลุ่มไม่พอใจอยู่ภายใต้การปกครองของเวียดนาม ได้อพยพมาทางตอนใต้ มาทางตอนกลางของประเทศ มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ใกล้เมืองท่าแขก (อยู่ตรงข้ามกับจังหวัดนครพนม ประเทศไทย) มาอยู่ที่บ้านหม้อเตลิง บ้านทอก ท่าแค บ้านโพธิ์ค้ำ
ชาวไทแสกที่อพยพจากเมืองแสก อพยพมาตั้งอยู่ที่บ้านโคกยาว (ปัจจุบันคือบ้านไผ่ล้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม) สมัยก่อนมีอาณาเขตอยู่ใกล้เคียงกับบ้านนาลาดควาย (ปัจจุบันบ้านนาราชควาย) จำนวนชาวไทแสกที่ย้ายมาในขณะนั้นมีจำนวน 1,170 คน ต่อมาชาวไทแสกได้ย้ายถิ่นฐานจากบ้านโคกยาวมาอยู่ที่บ้าน "ป่าหายโศก" (ปัจจุบันคือบ้านอาจสามารถ) พระสุนทร ราชวงษา (ฝ้าย) ได้พิจารณาเห็นว่า ชาวไทแสก มีความสามารถ มีความสามัคคี มีความเข้มแข็ง สามารถปกครองตนเองได้ จึงยกฐานะชาวไทแสกที่อยู่ที่ "ป่าหายโศก" ให้เป็นกองอาทมาตคอยลาดตระเวนชายแดน
ปัจจุบันชาวไทแสกส่วนมากจะอยู่ที่ หมู่บ้านอาจสามารถ ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม อยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดนครพนมไป 4 กิโลเมตร และยังมีชนไทแสกบางกลุ่มที่ได้พากันอพยพโยกย้ายที่อยู่ ไปทำมาหากินในท้องถิ่นต่างๆ ในจังหวัดนครพนม และรวมทั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีชนชาวไทแสกตามถิ่นต่าง ดังนี้
- บ้านอาจสามารถ ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
- บ้านไผ่ล้อม ตำบลอาจสามรถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
- บ้านบะหว้า ตำบลบะหว้า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
- บ้านดอนเสมอ ตำบลอาจสามารถ อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
- บ้านโพธิ์ค้ำ แขวงคำม่วน เมืองท่าแขก ประเทศลาว
จากคำบอกเล่าของชาวไทแสก ทราบว่า ปัจจุบันยังมีชาวไทแสกอยู่ แคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน และที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยชาวไทแสกทุกหมู่บ้านทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะอยู่ที่ประเทศไทย หรืออยู่ที่ประเทศลาว สามารถพูดภาษาแสกสื่อสารพูดคุยกันได้ โดยใช้ภาษาแสกในการพูดจาสื่อสารกัน
หนุ่มสาวในชุดไทแสก นครพนม
ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวแสก "พิธีกินเตดเดน" เป็นประเพณีพิธีกรรมอย่างหนึ่ง โดยการประกอบพิธีกรรมขึ้นมาเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อ "โองมู้" ที่ชาวไทแสกเคารพนับถือ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวไทแสก เป็นผู้มีพระคุณต่อลูกหลานรุ่นหลังๆ สืบต่อกันมา "โองมู้" จะทำหน้าที่คุ้มครองอันตรายที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน และดลบันดาลให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นตามที่ "ผู้บ๊ะ" (บนบาน) โดยมี "กวนจ้ำ" เป็นสื่อกลางในการประกอบพิธีกรรม แต่ถ้าหากลูกหลานประพฤติมิชอบ ไม่เหมาะสม หรือทำพิธีบนบานแล้วไม่ประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งที่ถูกดีงามหรือไม่มีพิธีกรรม เก่บ๊ะ (พิธีแก้คำบนบาน) ก็จะทำให้เกิดเหตุเภทภัยในครอบครัว
เพื่อเป็นการตักเตือนให้ลูกหลานประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ตัวอย่างเช่น อาจจะเจ็บไข้ได้ป่วย เกิดอาการร้อนรนกินไม่ได้นอนไม่หลับแต่เมื่อทำ การบ๊ะ หรือ เก่บ๊ะ แล้ว เหตุร้ายก็จะกลายเป็นดี พิธีกรรมกินเตดเดน นี้ชาวไทแสกเชื่อว่า พิธีกรรมนี้มีบทบาทในการสร้างความศรัทธา ความเชื่อมั่น ความรู้สึกดีๆร่วมกัน ความรู้สึกผูกพันที่มีในสายเลือดเผ่าพันธุ์เดียวกัน เป็นการสร้างจิตสำนึกให้ชาวไทแสกทุกคน เกิดความรักความหวงแหนในวัฒนธรรมประเพณีของตน มุ่งสอนให้ผู้มีอายุมากกว่าให้ความเคารพนับถือ และแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ หรือต่อผู้มีอายุน้อยกว่า ให้เกิดความสามัคคี เคารพนับถือบรรพบุรุษ แสดงความปลื้มปีติแก่ชาวไทแสกที่มาร่วมพิธีกันทุกถ้วนหน้า
พิธีบวงสรวง "โองมู้" โดยการแสดง "แสกเต้นสาก" ในสมัยก่อนการเต้นสากชองชาวแสก ถือว่าเป็นการละเล่นประจำเฉพาะพิธีบวงสรวง "โองมู้" ในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ชาวแสก เรียกว่า "พิธี-กิน-เตด-เดน" จะมีการแสดง "แสกเต้นสากถวายโองมู้" โดยใช้ไม้สากตีกระทบกันเป็นจังหวะ สากที่ใช้ตีในการเต้นสากก็คือไม้สากที่เป็นสากตำข้าวในใสมัยโบราณ แต่ขนาดยาวกว่าตรงกลางเรียวเล็ก ไม้รองพื้นสากจะใช้ไม้อะไรรองก่อนก็ได้มีจำนวน 1 คู่ ขอให้มีขนาดเท่ากัน
อุปกรณ์ในการเต้นสาก
- ไม้สาก มีลักษณะตรงยาวประมาณ 2 เมตร ใช้เคาะจังหวะประมาณ 5-6 คู่ การวางไม้ สากจะจัดเป็นช่วง ๆ ห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตร ต่อ 1 คู่
- ไม้รองพื้นสาก มีขนาดใหญ่และยาวกว่าไม้สากมี 1 คู่ ขนาดกว้างยาวเท่ากันยาวประมาณ 5-7 เมตร สำหรับเป็นฐานรองไม้สาก
จังหวะการตีสาก
สมัยโบราณในการเคาะจังหวะจะใช้ไม้สากตำข้าวไม่มีการเตรียม จับไม้สากมาเคาะเป็นจังหวะได้เลย ปัจจุบันจังหวะการตีสากจะมีหลายจังหวะด้วยกัน หากคนตีสากไม่เป็นและเต้นสากไม่เป็น หรือ เต้นไม่ถูกจังหวะ ไม่สากก็จะตีกระทบขาคนที่เต้น ให้เกิดการเจ็บปวดได้ จะไม่เหมือนกับรำลาวกระทบไม้ เพราะต้องฝึกและต้องใช้เวลานานพอสมควร ซึ่งยากนักจะมีคนตีและเต้นได้เหมือนชาวแสก เพราะจังหวะเร็วก็เร็วมาก ถ้าไม่ฝึกจนชำนาญจะไม่สามารถเต้นได้ มิใช่ว่าจะนำไปแสดงได้ตลอดไป ก่อนที่จะนำไปแสดงที่อื่นจะต้องทำพิธีขออนุญาต "โองมู้" อนุญาตแล้วจึงนำไปแสดง การนำเต้นสากไปแสดงโดยไม่ได้ขออนุญาตก็จะมีเหตุให้มีอันเป็นไป เช่น ทำให้เจ็บไข้ไม่สบายโดยหาสาเหตุไม่ได้
ดนตรีที่ใช้ประกอบจังหวะ
ส่วนมากเป็นดนตรีพื้นบ้าน มีกลองใหญ่ กลองเล็ก ฆ้องเล็ก พังฮาด (มีลักษณะคล้ายฆ้องตรงกลางจะนูนเป็นวงกลม) ฉิ่ง ฉาบผู้ให้จังหวะส่วนมากจะเป็นผู้ชาย
ผู้แสดง "แสกเต้นสาก"
- ผู้ทำหน้าที่เคาะไม้สาก จะนั่งตรงข้าม จับคู่กันประมาณ 5 ถึง 7 คู่ แล้วแต่ความยาวของไม้รองไม้สากจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้
- ผู้เต้น จะทำท่าเต้นคล้ายๆ รำลาวกระทบไม้แต่จังหวะการเต้นจะเร็วกว่ามาก จะมีทั้งเต้นเดี่ยว เต้นเป็นคู่ มีจังหวะช้า จังหวะเร็ว ผู้เต้นจะมีทั้งชายและหญิง
- ผู้ร้อง เนื้อเพลงภาษาแสกแล้วประกอบดนตรี จะเป็นผู้หญิงหรือชายก็ได้
เครื่องแต่งกายในการแสดงสาก
ผู้ชาย เสื้อดำแขนสั้น ผ้ายอมหม้อสีคราม เสื้อคอกลมติดกระดุมด้านหน้ากางเกงขาก๊วย หรือขาครึ่งท่อ ผ้าคาดเอว เป็นผ้าขาวม้า เป็นลายตะล่องสีแดงส่วนผ้าพาดบ่า ใช้ผ้าสีแดงล้วน
ผู้หญิง เสื้อแขนยาวสีดำ ผ่าอก ติดกระดุมด้านหน้า ผ้าถุงสีดำมีเชิงที่ปลายผ้าถุง ผ้าถุงยาวกรอมเท้า ผ้าคาดเอวนิยมเป็นผ้าลายเดี่ยวกันกับลายเชิงผ้าถุงผ้าเบี่ยงซ้าย นิยมใช้ผ้าสีแดง นิยมใส่ตุ้มหู กำไลขา และสร้อยขา และสร้อยคอผมนิยมไว้ผมยาวเกล้ารัดมวย
การแสดงแสกเต้นสาก
การฟ้อนแสกเต้นสาก