“ท้าวปาจิต-นางอรพิม” เป็นนิทานหรือเรื่องเล่าแบบมุขปาฐะ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในท้องถิ่นอีสาน นำมาจากชาดกนอกนิบาตเรื่อง “ปาจิตตกุมารชาดก” ใน “ปัญญาสชาดก” เนื้อเรื่องแบ่งเป็นการเล่าแบบสอนศาสนา และเล่าเป็นแบบนิทานชาวบ้าน ผนวกการอธิบายชื่อบ้านนามเมือง “ปาจิต-อรพิม” จึงมีความสำคัญต่อการศึกษาความเป็นมาของคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะในบริเวณอีสานใต้ ซึ่งใช้อธิบายที่มาของ "ชื่อบ้านนามเมือง" แถบปราสาทหินพิมาย และสถานที่หรือหมู่บ้านในท้องถิ่นได้อย่างชัดเจนที่สุด
ที่มาแห่งนิทานหรือเรื่องเล่า
จากเอกสาร “ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน” ฉบับตัวเขียนในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ. 2316, ฉบับหลวงบำรุงสุวรรณ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสำนวนแต่งคล้ายคลึงกับในสมัยกรุงธนบุรี, “ปาจิตต-อรพินท์” ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2436 โดยหลวงระงับประจันตคาม และนิทานธรรมเรื่องนางอรพิน ฉบับจารึกใบลาน วัดบ้านยาง อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม และการเล่าเรื่องของประชาชนในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ รวมทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดบ้านยางในจังหวัดมหาสารคาม และวัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ล้วนมีเรื่องเล่าที่คล้ายคลึงกัน
แผ่นดินอีสานใต้เป็นส่วนหนึ่งของที่ราบสูงโคราช มีเทือกเขาพนมดงรักหรือเขาไม้คาน พาดผ่านเป็นแนวยาวจากดงพญาเย็นเขาใหญ่ผ่านเทือกเขาบรรทัด แดนลาว แนบชิดกับภูค่าวซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดพูในเขตจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เทือกเขาพนมดงรักเป็นกำแพงธรรมชาติที่กั้นระหว่างไทยและเขมร เป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำสายสำคัญ เช่น แม่น้ำมูล ทำให้เกิดลำน้ำสาขามากมาย เช่น ลำมาศ ลำจักราช ซึ่งไหลผ่านแหล่งอารยธรรมที่สำคัญในบริเวณนี้ มีภูเขาไฟที่ดับแล้วหลายลูก ซึ่งคนโบราณได้ใช้ประโยชน์จากกายภาพของธรรมชาติ ผนวกกับความเชื่อทางศาสนาก่อสร้างสถาปัตยกรรมทางศาสนาสำคัญๆ ในบริเวณนี้ ความอุดมสมบูรณ์จากความคดเคี้ยวของแม่น้ำและลำน้ำสาขา ก่อให้เกิดดินตะกอนเหมาะแก่การเพาะปลูก จึงทำให้คนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ลาว เขมร ส่วยหรือกูย จีน ฯลฯเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เกิดการอพยพย้ายถิ่นตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน
เรื่องนี้มีตำนาน : ตามรอยเมืองพิมายในนิทานปาจิต-อรพิม
คนทางภาคกลางยกเรื่อง "ปาจิต-อรพิม" ไว้ในปัญญาสชาดกในเรื่อง “ปาจิตตกุมารชาดก” ส่วนคนลาวทางอีสานจารึกคำประพันธ์ไว้ในรูปใบลาน ด้วยตัวอักษรธรรมลาวเรียกว่า “นิทานคำกลอนเรื่องนางอรพิน” และพบว่า การประพันธ์ในเชิงสอนธรรมในรูปปัญญาสชาดก ไม่มีบทว่าด้วยการเล่าเรื่องชื่อบ้านนามเมือง และรักษาขนบของชาดกเคร่งครัดกว่าในนิทานกลอนอ่าน เห็นได้ชัดจากโครงเรื่องที่ผู้ประพันธ์ชาดกจะให้บทบาท "ผู้ฆ่า" เป็นของ "นางอรพิม" แทน "ท้าวปาจิต" ดังเช่น อรพิมเป็นผู้ฆ่าพรหมทัต พรานป่า และสามเณร ในขณะที่ฉบับกลอนอ่าน ปาจิตเป็นผู้ลงมือฆ่าพรหมทัต และพรานป่า
ดังนั้นกลอนอ่านจึงเป็นเรื่องของชาวบ้าน ซึ่งน่าจะเป็นคนลาวที่อยู่กระจายตัวอยู่ในเขตต่างๆ ของภาคอีสานเป็นผู้เล่าเรื่อง ซึ่งมีการอธิบายเรื่องราวในท้องถิ่นของตนในเขตพิมาย บุรีรัมย์ และสุรินทร์ และจากหลักฐานเอกสารและเรื่องเล่าของคนในท้องถิ่นพิมาย ยังมีด้วยกันอีกหลายสำนวน ทั้งที่เกี่ยวข้องกับตำนานชื่อบ้านนามเมืองของคนแถบเมืองพิมาย และเมืองที่เกี่ยวข้อง กับฉบับของคนแถบพนมรุ้งเมืองต่ำ และสุรินทร์ ซึ่งเป็นการเล่าชื่อบ้านนามเมืองซึ่งสอดคล้องกับภาษาเขมร ที่ใช้ตั้งชื่อบ้านนามเมืองในบริเวณนั้น
และยังมีความแตกต่างกันในตำแหน่งที่ตั้งบ้านของปาจิตและอรพิม ในตำนานของคนพิมายบอกว่าบ้านนางอรพิมอยู่ที่บ้านสัมฤทธิ์ ส่วนวังของปาจิตอยู่ที่นครธม แต่ทางฝั่งบุรีรัมย์บอกว่าอยู่ที่เมืองต่ำจากการเนรมิตของปาจิต มีพระราชวังอยู่ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง การทิ้งขันหมากของปาจิตในที่ต่างๆ ทางบุรีรัมย์ก็มีชื่อบ้าน เช่น ถ้ำเป็ดทองซึ่งอยู่ที่อำเภอปะคำ ส่วนบ้านตาจรู๊ค เป็นที่ปาจิตทิ้งขันหมากที่เป็นหมูบริเวณนี้ เนื่องจากคำว่า จรู๊ค เป็นภาษาเขมรแปลว่า หมู ฯลฯ
ปาจิตตกุมารชาดก : ตำนานเมืองพิมาย (ท้าวปาจิต – นางอรพิม)
“ปาจิตตกุมารชาดก” นี้เป็นนิทานชาดกเรื่องหนึ่งใน “ปัญญาสชาดก” อันเป็นเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ที่ได้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้ เพื่อบำเพ็ญบุญบารมีให้ครบถ้วน 30 ทัศน์ (บารมี 30 ทัศน์) ในการที่จะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง
แต่ที่น่าสนใจและน่าตั้งข้อสังเกตก็คือว่า เรื่องราวของชาดกนี้ตรงกันกับเรื่อง “ท้าวปาจิต-นางอรพิม” ซึ่งเป็นตำนานของ “เมืองพิมายปุระ” (อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา หรือโคราช ของไทยในปัจจุบัน) ซึ่งเกิดขึ้นในยุคขอมเรืองอำนาจในสุวรรณภูมิทวีปแห่งนี้ ราวๆ พุทธศตวรรษที่ 15-16 (ยุคนั้นยังไม่มีราชอาณาจักรสยาม หรือประเทศไทยของเราแต่อย่างใด) ซึ่งยังพอมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้สามารถศึกษาค้นคว้าได้จนถึงทุกวันนี้ และเรื่องนี้ก็มีการบอกต่อและเล่าเป็นตำนานและเป็นนิทานพื้นบ้านสืบต่อมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
นิทานพื้นบ้าน : ท้าวปาจิต - นางอรพิม
นืทานเรื่อง ท้าวปาจิต-นางอรพิม
ในราวพุทธศตวรรษที่ 15 ในดินแดนสุวรรณภูมินี้ ซึ่งมี “ท้าวปาจิต” ได้เกิดเป็นโอรสของ “พระเจ้าอุทุมราช” กับพระอัครมเหสี "สุวรรณเทวี" กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองนครธม แห่งราชอาณาจักรขอมอันยิ่งใหญ่และเกรียงไกรมากที่สุดในยุคนั้น เมื่อเจริญวัยเป็นหนุ่ม (พระชันษาประมาณ 15 ปี) พระบิดาก็ให้เลือกคู่ครอง โดยการให้ทหารไปประกาศเรียกหญิงสาวบรรดามีในมหานคร และหัวเมืองประเทศราชทั้งหลายนั้น มาให้ท้าวปาจิตเลือกเป็นคู่ครอง
ประตูทางเข้านครธม (สภาพเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่ผู้เขียนไปเที่ยวมา)
สาวๆ ที่มานั้นมีทั้งลูกสาวเสนา อำมาตย์ ข้าราชการ ลูกพ่อค้า ชาวนา ชาวไร่ มากันจนหมดเมือง แต่ท้าวปาจิตก็ไม่สนใจเลยแม้สักคนเดียว จึงมิได้คล้องมาลัยให้สาวคนไหนแต่อย่างใด พระเจ้าอุทุมราชทรงกลุ้มพระทัย จึงได้รับสั่งให้โหรหลวงมาทำนายโชคชะตาราศี และเนื้อคู่แก่พระโอรส เมื่อโหรหลวงได้ตรวจดูดวงชะตา ตามวันเดือนปีเกิดแล้วกราบทูลว่า
เนื้อคู่ของท้าวปาจิตยังไม่เกิด ขณะนี้อยู่ในครรภ์หญิงชาวนาผู้หนึ่ง ในเขตเมืองพิมาย อันเป็นเมืองประเทศราชของนครธม ซึ่งอยู่ทางทิศพายัพของพระนครธม โดยท้าวปาจิตจะต้องเดินทางไปหาหญิงผู้นั้น และอภิบาลครรภ์ ตลอดจนอบรมและเลี้ยงดูกุมารีด้วยพระองค์เอง ซึ่งจะสามารถสังเกตได้ง่ายว่าหญิงคนนั้นกำลังมีครรภ์ และมีเงากลดกางกั้นอยู่เหนือศรีษะ ไม่ว่าจะเดินไปไหนและทำอะไรอยู่กลางแจ้งก็ตาม "
ท้าวปาจิต เมื่อทราบดังนั้นก็ไม่รอช้า รีบเร่งเสด็จออกเดินทางไปตามคำทำนายของโหรหลวง จนกระทั่งมาถึงเขตเมืองพิมาย ท้าวปาจิตไม่แน่ใจจึงกางแผนที่ออกดู ที่ตรงนั้นถูกเรียกในภายหลังว่า บ้านกางตำรา และเพี้ยนเป็น บ้านจารตำรา ท้าวปาจิตข้ามถนนเพื่อเข้าเขตเมือง บริเวณนั้นเรียกว่า บ้านถนน แล้วเดินมาตามทางถึงหมู่บ้านหนึ่งมีต้นสนุ่นมาก ได้ชื่อว่า บ้านสนุ่น เลยบ้านสนุ่นก็มาถึงท่าน้ำใหญ่ ปัจจุบันเรียก บ้านท่าหลวง
แต่ปรากฎว่า เป็นเส้นทางผิด จึงออกไปอีกทิศทางหนึ่งถึง บ้านสำริด พบหญิงครรภ์แก่ชื่อ “ยายบัว” กำลังดำนาอยู่ เหนือศรีษะของนางมีเงาคล้ายกลดกั้นอยู่ ท้าวปาจิตก็แน่ใจว่า ใช่ตามคำทำนาย จึงเข้าไปแสดงตัวว่าเป็นใคร มีความประสงค์อะไร และแสดงความตั้งใจว่า จะอยู่ช่วยทำนาให้ จนกว่าจะคลอดลูก หากลูกคลอดออกมาเป็นชายจะยกย่องให้เป็นน้องชาย แต่ถ้าเป็นหญิงจะขอนำไปเป็นมเหสี
ซึ่งยายบัวและสามีชื่อ “นายมี” ก็ตอบตกลง และพระองค์ได้ขอร้องไม่ให้เปิดเผยตัวตนของพระองค์ให้ใครทราบ แม้แต่ลูกที่กำลังจะคลอดออกมาก็ตาม ท้าวปาจิตอาศัยอยู่กับยายบัวและนายมีเรื่อยมา โดยช่วยทำงานหนักทุกอย่าง ทั้งๆ ที่พระองค์เกิดมาเป็นลูกกษัตริย์ พระองค์ไม่เคยตกระกำลำบากและลงมือทำเองให้เหนื่อยเช่นนี้มาก่อนเลย เช่น ทั้งดำนา เลี้ยงโคกระบือ เกี่ยวข้าว นวดข้าว เป็นต้น
จนยายบัวครบกำหนดคลอด จึงได้ไปตามหมอตำแยมาทำคลอด (หมู่บ้านนั้นจึงได้ชื่อว่า บ้านตำแย ในปัจจุบันนี้) ทารกในครรภ์ของยายบัวก็คลอดออกมาเป็นทารกเพศหญิง ตรงตามคำทำนายของโหร ยายบัวตั้งชื่อให้ว่า “อรพิน” แต่ในภาษาท้องถิ่นอีสานจะเรียกว่า “อรพิม” ทารกหญิงนั้นมีหน้าตาน่ารัก สวยงาม และมีผิวพรรณผ่องใส เป็นที่พอใจแก่ท้าวปาจิตยิ่งนัก
ท้าวปาจิตต้องทำงานหนักและช่วยดูแล ตลอดจนอบรมสั่งสอนนางตั้งแต่เป็นเด็ก จนกระทั่งโตเป็นสาวแสนสวยโสภายิ่งนัก ครั้นนางเจริญวัยเป็นสาวสวยก็ได้ผูกสมัครรักใคร่กับท้าวปาจิตเช่นเดียวกัน จนในวันหนึ่งท้าวปาจิตได้บอกถึงฐานะและตัวตนของพระองค์ให้นางทราบ และขออนุญาตนางบัว นายมี และนางอรพิมว่า ตนจะกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนของตน เพื่อยกขันหมากจากพระนครธม มารับนางอรพิมไปอภิเษกสมรสตามราชประเพณีที่พระนครธมต่อไป
เมื่อมาถึงนครธม ท้าวปาจิต ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระเจ้าอุทุมราชพระราชบิดา และพระราชมารดา พระองค์จึงให้จัดให้มีขบวนขันหมากอย่างดี และมีจำนวนรี้พลมากมาย เดินทางไปเมืองพิมาย โดยที่หารู้ไม่ว่า บัดนี้ได้เกิดเหตุร้ายขึ้นกับนางอรพิม
ปราสาทหินพิมาย และรูปสลักพระเจ้าพรหมทัต
นั่นคือ “พระเจ้าพรหมทัต” กษัตริย์ผู้ครองเมืองพิมายได้ทราบข่าวความงามของนาง จึงได้ให้ “พระยาราม” และเหล่าทหารไปนำตัวนางมาไว้ในพระราชวัง นางอรพิมสุดที่จะขัดขืนได้ จำต้องมา แต่นางได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า "ถ้ามิใช่ท้าวปาจิตแล้ว ผู้ใดแตะต้องตัวนางก็ขอให้กายนางร้อนเหมือนไฟ" ดังนั้นพระเจ้าพรหมทัตจึงแตะต้องตัวนางมิได้ โดยพระเจ้าพรหมทัตพยายามเอาอกเอาใจต่างๆ นาๆ และจะพยายามเข้าใกล้นางอรพิม แต่เมื่อเข้าใกล้ตัวนางเมื่อใหรก็รู้สึกร้อนเป็นไฟ จึงได้ถามนางอรพิม นางได้กราบทูลว่า ให้รอพี่ชายมาถึงเสียก่อน
กระบวนขันหมากของท้าวปาจิต ยกออกจากนครธมมาหลายคืนหลายวัน จนมาถึงลำน้ำแห่งหนึ่ง (อยู่ในตำบลงิ้ว ปัจจุบันนี้) ท้าวปาจิตให้ทหารหยุดกระบวนขันหมาก เพื่อให้ทหารและสัตว์พาหนะได้พักและบริโภคน้ำ ชาวบ้านเห็นผู้คนมากันมากมายจึงเข้ามาไต่ถามว่า มาทำไมและจะไปไหน พวกทหารตอบว่า จะไปบ้านสำริด เพราะพระโอรสกษัตริย์แห่งเมืองขอมจะแต่งงานกับสาวบ้านนี้ ชาวบ้านจึงถามชื่อหญิงคนนั้น ทหารบอกว่าชื่อ นางอรพิม ชาวบ้านจึงเล่าให้ฟังว่า พระเจ้าพรหมทัตได้นำตัวนางเข้าไปไว้ในปราสาทเมืองพิมายเสียแล้ว
ซึ่งทั้งพระเจ้าอุทุมราชและท้าวปาจิต ทรงตกพระทัยเป็นยิ่งนัก โดยเฉพาะท้าวปาจิต โกรธมากถึงกับโยนทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้ และขันหมากทิ้งลงแม่น้ำหมด (ที่ตรงนั้นเรียกว่า “ลำมาศ” หรือ “ลำปลายมาศ” ที่ไหลไปสู่ลำน้ำมูลจนทุกวันนี้) ส่วนรถทรงก็ตีล้อ ดุมรถ และกงรถ จนหักทำลายหมดสิ้น ชาวบ้านจึงนำมากองรวมกันไว้ จนที่แห่งนั้นเรียกว่า บ้านกงรถ
ลำมาศและทุ่งนา ที่จินตนาการถึงสมัยที่ท้าวปาจิตมาพบนางบัวตอนมีครรภ์แก่
จนเมื่อพระทัยเย็นลงแล้ว ท้าวปาจิต ก็ได้ขออนุญาตพระบิดาไปตามนางกลับคืนมาตามลำพังด้วยพระองค์เอง ดังนั้นพระเจ้าอุทุมราชและข้าทหารทั้งหลายจึงเดินทางกลับนครธมไปก่อน ส่วนท้าวปาจิตรีบไปพบยายบัว และนายมี แล้วปลอบโยนทั้งคู่ว่า พระองค์จะใช้สติปัญญา นำนางอรพิมออกมาให้ได้อย่างปลอดภัย และได้มอบทรัพย์จำนวนหนึ่ง และม้าให้นางบัว และนายมีหลบไปอยู่ที่อื่นสักพักหนึ่งก่อน เพื่อความปลอดภัย
แล้วพระองค์ก็ปลอมตัวเป็นลูกชายยายบัว เพื่อเข้าไปตามหาน้องสาวชื่อ อรพิม โดยได้ไปบอกนายประตูเมืองพิมายว่า จะขอเข้าไปเยี่ยมน้องสาว นายประตูถามว่า จะพบใคร ท้าวปาจิตตอบว่า นางอรพิม ซึ่งจะเป็นพระมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตในไม่ช้านี้ นายประตูจึงพาไปพบนางอรพิม
ครั้นเมื่อนางอรพิมพบหน้าท้าวปาจิต นางก็ตื่นเต้นดีใจเป็นอย่างมาก จนนางร้องออกมาว่า “อ้อ! พี่มา!...” 3 ครั้ง (คำนี้เพี้ยนเป็น “พิมาย” อันเป็นชื่อเมืองหรืออำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา หรือโคราช ของประเทศไทยของเราในปัจจุบันนี้นั้นเอง)
พระเจ้าพรหมทัตเสด็จมาหานางอรพิม และได้มาพบเห็นท้าวปาจิตอยู่กับนางอรพิม จึงถามว่าเป็นใคร? นางตอบว่า เป็นพี่ชายของนางเอง พระเจ้าพรหมทัตถามว่า ทำมาหากินอะไร? ทำไร่ทำนา หรือค้าขายอะไร? ท้าวปาจิตตอบว่า ค้าขายทางไกล ทราบว่าน้องสาวจะอภิเษกสมรสเป็นพระมเหสีของพระองค์ จึงมาอวยพรให้ และอยากรู้จักกับพระองค์และให้พระองค์รู้จักตนด้วย
พระเจ้าพรหมทัตดีใจอย่างมาก เพราะนางอรพิมจะได้ยอมเป็นพระมเหสี อย่างที่เคยลั่นวาจาไว้เสียที จึงสั่งให้หาเหล้ายา อาหาร มาเลี้ยงดูท้าวปาจิตอย่างดี ท้าวปาจิตจึงดื่มเพียงเล็กน้อย แต่พระเจ้าพรหมทัตถูกนางอรพิมมอมเหล้าเสียจนเมามาย จนเสียสติจนถึงขั้นลวนลามนางอรพิมต่อหน้าต่อตาท้าวปาจิต ท้าวปาจิตจึงใช้พระขรรค์ฟันคอพระเจ้าพรหมทัตขาดสิ้นพระชนม์อยู่ ณ ที่นั้น แล้วจึงอุ้มนางอรพิมหนีออกมาทางประตูลับ
ท้าวปาจิตและนางอรพิมบุกป่าฝ่าดงอย่างทุลักทุเล และยากลำบากจนเดินทางมาถึงป่าใหญ่แห่งหนึ่ง พอดีเป็นเวลารุ่งสว่างได้พบนายพรานคนหนึ่งชื่อ “พรานนกเอี้ยง” ซึ่งออกมาเที่ยวล่าเนื้ออยู่ พรานนกเอี้ยงเห็นนางอรพิมสวยงามมากก็นึกรักนาง จึงใช้หน้าไม้ยิงท้าวปาจิตถึงแก่ความตายแล้วก็ฉุดพานางอรพิมไป นางจึงทำเล่ห์กลว่า มีกำลังน้อยเดินทางมาเหน็ดเหนื่อยมาก จะเดินทางไปไม่ไหว ถ้ามีรถ หรือเกวียน หรือช้างม้าให้นางนั่งไป นางก็ยินดีจะไปด้วย
พรานหลงเชื่อจึงไปหากระบือมาให้นางขี่ ตัวนายพรานจึงนั่งข้างหน้าคอยบังคับกระบือ ส่วนนางอรพิมนั่งข้างหลัง พอได้โอกาสนางก็ใช้พระขรรค์ของท้าวปาจิตแทงนายพรานตาย แล้วนางจึงรีบกลับมาที่ศพของท้าวปาจิต นางร่ำไห้คร่ำครวญอย่างน่าสมเพชทุกขเวทนายิ่งนัก จน “พระอินทร์” เกิดความสงสารจึงได้ชวนเอา “พระเวสสุกรรม” แปลงกายเป็น “งู” กับ “พังพอน” มาสู้กันให้นางได้เห็น
สู้กันจนถึงเมื่อพังพอนตาย งูก็ไปกัดเปลือกไม้ชนิดหนึ่งมาเคี้ยว แล้วพ่นใส่บาดแผลพังพอน พังพอนจึงฟื้นขึ้นมาแล้วก็ต่อสู้กันต่อไป ครั้นงูตายพังพอนก็ทำเช่นเดียวกัน สัตว์ทั้งสองผลัดกันตายผลัดกันฟื้นเช่นนี้เป็นเวลาพอสมควรแล้วหายไป นางอรพิมซึ่งเฝ้าสังเกตอยู่ เห็นหนทางที่จะทำให้ท้าวปาจิตฟื้น จึงไปเอาเปลือกไม้นั้นมาเคี้ยวพ่นใส่บาดแผลท้าวปาจิตเช่นกัน ท้าวปาจิตจึงฟื้นขึ้นมาได้อีก แล้วทั้งคู่ก็ได้ช่วยกันเก็บเปลือกไม้นั้นติดตัวไปเท่าที่จะนำไปได้แล้วออกเดินทางต่อไปยังนครธม
หลังจากรอนแรมกันมาเป็นเวลาพอประมาณ ก็มาถึงฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่งซึ่งกว้างใหญ่มาก ไม่มีเรือแพหรือขอนไม้จะข้ามไปยังฝั่งตรงข้ามได้ จึงนั่งปรึกษาหาหนทางอยู่ ขณะนั้นมีเถรคนหนึ่งซึ่งชาวบ้านเรียก “เถรเรือลอย” เพราะเถรลงเรือไปบิณฑบาตตามแม่น้ำเป็นประจำ เถรพายเรือผ่านมา ท้าวปาจิตขอร้องให้ช่วยส่งข้ามฟากให้ด้วย เถรเห็นนางอรพิมสวยงามมาก ก็คิดจะพานางไปกับตน จึงบอกว่าเรือลำนี้ขึ้นได้ครั้งละ 2 คนเท่านั้น มิฉะนั้นเรือจะล่ม ท้าวปาจิตจำต้องให้นางอรพิมไปกับเถรก่อน
เถรเจ้าเล่ห์พานางลอยน้ำไปเรื่อยๆ ท้าวปาจิตจะเรียกอย่างไรก็มิได้หยุด จึงต้องพลัดพรากกันอีกครั้งหนึ่ง นางอรพิมจำต้องคิดอุบายหนีจากเถรให้ได้ จนกระทั่งมาพบต้นมะเดื่อต้นหนึ่ง ซึ่งสูงมากและมีลูกดกเต็มต้นและมีผลงามๆ น่ากินทั้งนั้น นางบอกเถรว่า อยากกินมะเดื่อ ให้เถรปีนขึ้นไปเก็บมาให้เลือกเอาลูกที่งามที่สุดอร่อยที่สุดสุกที่สุด ซึ่งจะอยู่บนยอดสูงๆ เถรหลงเชื่อปีนต้นไม้ไปหาลูกมะเดื่อที่นางต้องการ นางจึงรีบเอาหนามมากองสุมไว้โคนต้นมะเดื่อนั้น เพื่อไม่ให้เถรสามารถลงมาได้นั้นเอง แล้วนางก็รีบลงเรือพายหนีไปตามหาท้าวปาจิต ก่อนไปนางได้สั่งไว้เป็นวาจาสิทธิ์ว่า ให้เถรอยู่บนต้นมะเดื่ออย่าไปไหน เถรจึงตายอยู่บนต้นมะเดื่อนั่นเอง ก่อนเถรตายได้แช่งให้มีแมลงหวี่มาเกิดในลูกมะเดื่อทุกลูกไป (จึงปรากฏว่าว่า 'ลูกมะเดื่อมีแมลงหวี่' อยู่ข้างในจนทุกวันนี้)
นางอรพิมพายเรือกลับมาหาท้าวปาจิตแต่ไม่พบ จึงจอดเรือแล้วขึ้นฝั่งเที่ยวตามหาท้าวปาจิตตามสถานที่ต่างๆ อย่างยากลำบากและตัวคนเดียว จนพระอินทร์เกิดความสงสาร จึงลงมาประทานแหวนให้วงหนึ่ง พร้อมกับบอกนางว่า ถ้าสวมไว้ที่นิ้วชี้จะกลายร่างเป็นชาย แต่ถ้าถอดออกสวมนิ้วอื่นจะกลายเป็นหญิงดังเดิม นางอรพิมดีใจมาก จึงได้ควักนมทั้งสองข้างออกมาแล้วปาเข้าป่ากลายเป็นต้น "นมนาง" จากนั้นนางจึงจิกแก้มอันอวบอิ่มจิ้มลิ้มเป็นพวง แล้วเหวี่ยงทิ้งไปกลายเป็นต้น "แก้มอ้น" และควักโยนีขึ้นปาเข้าป่ากลายเป็นต้น "โยนีปีศาจ"
ลำต้นและผลของพันธุ์ไม้ "โยนีปีศาจ" ในตำนาน
นางจึงสวมแหวนที่นิ้วชี้จึงกลายร่างเป็นชาย แล้วเดินติดตามท้าวปาจิตต่อไป พบใครที่ไหนก็สอบถามว่า เห็นใครรูปร่างหน้าตาอย่างนี้ไหม? รู้จักคนชื่อท้าวปาจิตไหม? สอบถามจนทั่วแล้วก็ไม่มีผู้ใดรู้จักหรือเห็นเลย นางจึงร่อนเร่ไปโดยอยู่ในเพศชายตามลำพัง จนกระทั่งมาถึงเมืองหนึ่ง ชื่อ “เมืองครุฑราช” ซึ่งมีลูกสาวชื่อ “แตงโม” เป็นหญิงสาวสวยงามและนิสัยดีของเศรษฐีคนหนึ่ง พึ่งจะเสียชีวิตลง รักษาอย่างไรก็ไม่หาย นางอรพิมจึงขออาสารักษา และก็สามารถทำให้นางฟื้นขึ้นมาได้ เศรษฐีและภรรยาดีใจมาก จะยกสมบัติและให้แต่งงานกับลูกสาวของตน
แต่นางอรพิม (ในร่างชาย) ไม่ยอมขอเดินทางตามหาญาติต่อไป ซึ่งลูกสาวเศรษฐีก็ขอติดตามไปด้วย จนกระทั่งมาถึง “เมืองจัมปากนคร” โดยที่เมืองจัมปากนครที่นางอรพิมมาถึงนี้ พระมหากษัตริย์ผู้ปกครองเมืองมีพระราชธิดาสวยงามมากชื่อ “ปทุมวดี” แต่ไม่ทราบว่าเป็นอะไรตาย หมอคนใดก็ช่วยไว้ไม่ได้ ชาวเมืองพากันร้องไห้อาลัยรักนางอยู่
นางอรพิมรู้เข้าก็อยากจะลองช่วยนางดู จึงให้คนพาไปเฝ้าพระมหากษัตริย์ทูลขออนุญาตรักษา เมื่อพระองค์อนุญาต นางอรพิมได้ใช้เปลือกไม้ที่ได้จากป่า คราวรักษาท้าวปาจิตมาเคี้ยวพ่นใส่พระราชธิดาจนฟื้นขึ้น พระมหากษัตริย์และพระญาติทั้งหลายดีใจมาก ปรึกษากันว่าจะให้นางอรพิมอภิเษกกับพระธิดา แต่นางอรพิมบ่ายเบี่ยงว่า ขอเวลาสักปีหรือสองปีให้ได้บวชเรียนและศึกษาศิลปศาสตร์ให้จบก่อน พระมหากษัตริย์จำต้องยอมตามใจนาง
นางอรพิมจึงขอลาไปตามหาท้าวปาจิต ด้วยความรู้สึกสิ้นหวัง ว่าคงจะไม่พบกันเป็นแน่แล้ว นางได้ไปบวชเป็นพระอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย จนมีความรู้แตกฉานมาก พระในวัดและลูกศิษย์ตลอดจนชาวบ้านต่างก็ยกให้เป็นพระสังฆราช (น่าจะเป็นตำแหน่งเจ้าอาวาสในปัจจุบัน) ซึ่งนางอรพิมได้ให้สร้างโบสถ์ขึ้นหลังหนึ่ง แล้วเขียนภาพเล่าเรื่องของนางกับท้าวปาจิตที่ฝาผนังโบสถ์ไว้ เริ่มตั้งแต่แต่ท้าวปาจิตได้อาศัยอยู่กับยายบัว จนถึงตอนนางมาบวชอยู่ที่วัดนี้ ซึ่งแต่ละตอนละเอียดครบถ้วนกระบวนความ และนางยังสั่งไว้ว่า หากมีผู้ใดที่มาดูภาพเขียนฝาผนังแล้วร้องไห้ ก็ให้คนเฝ้าโบสถ์รีบไปบอกให้ตนรู้ทันที
วันหนึ่ง ท้าวปาจิตเดินทางรอนแรมมาจนถึงเมืองนี้ ได้ขอเข้าพักอาศัยในโบสถ์ แล้วนอนหลับไปด้วยความเหน็ดเหนื่อย ครั้นตื่นขึ้นมาก็มองไปรอบๆ เห็นภาพเขียนบนฝาผนังโบสถ์ จึงได้ลุกขึ้นไปเดินดูโดยรอบ ก็รู้ว่าเป็นเรื่องราวของตนกับนางอรพิม จึงทรุดลงร่ำไห้อยู่ตรงนั้น คนเฝ้าโบสถ์เห็นดังนั้นจึงรีบนำความไปเล่าให้พระสังฆราชรู้ พระสังฆราชจึงให้นำท้าวปาจิตไปพบ ท้าวปาจิตได้สอบถามความเป็นมาของรูปเขียน พระสังฆราชตื่นเต้นดีใจและมีความสุขมากแต่ข่มใจไว้
วัดขุนก้อง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีตำนานเกี่ยวกับความรักของท้าวปาจิต-นางอรพืม
จึงได้เล่าความจริงให้ฟังและบอกว่าตนคือ นางอรพิม จากนั้นก็ได้ถอดแหวนออกจากนิ้วชี้แล้วสวมที่นิ้วนางแทน แล้วก็กลายรูปเป็นหญิงตามเดิม ทั้งสองต่างโผเข้าสวมกอดกันร่ำไห้ด้วยความยินดีและตื้นตันใจเป็นที่สุด แล้วนางอรพิมก็บอกความจริงกับทุกคน และขอลาชาววัดและชาวบ้านเดินทางกลับพระนครธม
ตลอดจนได้ขออนุญาตจากเจ้าเมืองจัมปากนคร และเศรษฐีเมืองครุฑราช ให้ยกลูกสาวให้กับท้าวปาจิตแทน ซึ่งทุกคนต่างก็ตกลงและยินดียกให้เป็นมเหสีของท้าวปาจิต ผู้ซึ่งเป็นองค์รัชทายาทแห่งราชอาณาจักรขอมนครธมนั้นเอง
เมื่อกลับถึงนครธมพระเจ้าอุทุมราชและพระราชมารดา ตลอดจนพระประยูรญาติและชาวพระนครทั้งหลายต่างปลื้มปิติ และมีความยินดีเป็นอย่างมาก จึงจัดให้มีพระราชพิธีอภิเษกสมรสให้กับท้าวปาจิตและพระมเหสีทั้งสาม หลังจากนั้น ท้าวปาจิตและพระมเหสีทั้งสามก็ได้มาปกครองที่เมืองพิมายปุระ อันเป็นหัวเมืองประเทศราชของนครธม แทนพระเจ้าพรหมทัตที่พึ่งจะสิ้นพระชนม์ไป
โดยพระองค์ได้จัดให้มีพิธีพระราชทานเพลิง และจัดให้สร้างปราสาทไว้เป็นอนุสรณ์แก่พระเจ้าพรหมทัตที่สวรรคตแล้วนั้นด้วย โดยพระองค์ได้ทำการปกครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรม และนำความร่มเย็นเป็นสุขให้กับเมืองพิมายอยู่เป็นเวลาหลายปี ครั้นเมื่อพระเจ้าปทุมราชพระราชบิดาของพระองค์เสด็จสวรรคต พระองค์ก็ได้เสด็จกลับพระนครธม และได้รับการอภิเษกให้ขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรขอมแทน โดยพระองค์และพระมเหสีทั้งสามได้ทำการปกครองและทำนุบำรุงบ้านเมือง และประเทศราชทั้งหลายให้มีความร่มเย็นเป็นสุข และอยู่ดีกินดีกันโดยทั่วหน้าสืบมาจนสิ้นอายุขัย
บทส่งท้าย
ท้าวปาจิต-นางอรพิม นั้นมีมากมายหลายสำนวน ตั้งแต่แบบล้านช้าง ล้านนา มาจนถึงอีสานทางตอนบนและตอนใต้ ที่มีเรื่องลาวต่างๆ คล้ายคลึงกัน และดูจะเข้าทีกับสำนวนนิทานทางอีสานใต้มากที่สุด เพราะมีชื่อบ้านนามเมือง เส้นทางเดินในอดีตสอดคล้องมากที่สุด จนกลายเป็นตำนานเมืองพิมายปุระที่ใช้แสดงในงานเทศกาลเที่ยวพิมาย ณ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ในปัจจุบัน
กงรักพรหมทัต เดอะมิวสิคัล 2558