art local people

meechai tae 01มีชัย แต้สุจริยา

นายมีชัย แต้สุจริยา หรือ “ครูเถ่า” เกิดเมื่อ 24 ธันวาคม 2501 ทายาทแห่ง 'บ้านคำปุน' เป็นบุตรของ นายเตียซ้ง แซ่แต้  และ คุณแม่คำปุน ศรีใส (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ทอผ้า) ประจำปี 2561) ผู้เป็นมารดาที่ได้ถักทอคุณค่าผืนผ้ามาตั้งแต่ครั้งอดีต เถ่า เริ่มหลงใหลในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมบ้านเกิดของตน หลงใหลในเสน่ห์ผืนผ้าของคุณยาย โดยเฉพาะ 'ผ้าปูมเก่า' ของคุณยาย ด้วยเป็นหลานยายของ “คุณยายน้อย จิตตะยโศธร” ซึ่งสืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองยโสธร ที่เป็นผ้าบรรดาศักดิ์ของต้นตระกูล อันมีลวดลายอันวิจิตร ผ่านการทอที่ประณีต มาตั้งแต่วัยเยาว์

ประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยของภูมิภาคแห่งนี้ เป็นแหล่งการเรียนรู้ชั้นดีในวัยเด็กของมีชัย แต่สิ่งหนึ่งที่เขาให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ ศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองอันเก่าแก่ คุณยายของเขาเป็นช่างทอผ้า ผู้ซึ่งต้องเดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ เพื่อขายงานฝีมือของตนอยู่เป็นประจำ มีชัยในวัยเด็กจะเฝ้ามองเหล่าชาวบ้านหญิงกระทบ 'ฟืม' บนกี่ทอผ้า เพื่อสานด้ายแต่ละเส้นเข้าด้วยกัน โดยในแต่ละวัน ช่างฝีมือจะบรรจงทอเส้นด้ายที่ผ่านกรรมวิธีมัดหมี่ อันเป็นวิธีการสร้างลวดลายบนผืนผ้าด้วยการมัดเส้นด้ายหรือเส้นไหม เพื่อสร้างสรรค์งานศิลป์อันประณีตงดงาม ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนั้นกินเวลานานหลายเดือน

meechai tae 05

เถ่า หรือ มีชัย อยากจะมีส่วนร่วมในการลงมือทอผ้า แต่วัฒนธรรมไทยนั้นไม่อนุญาตให้ 'เด็กผู้ชาย' ทอผ้า เขาจึงสนองความอยากรู้ของตัวเองด้วยการช่วยเหล่าช่างทอผ้าหญิงย้อมมัดด้าย การลงมือซ่อมกี่ทอผ้าโบราณของคุณยายที่ได้รับตกทอดมา (คุณยาย รุ่นที่ 2 คุณแม่ รุ่นที่ 3 และมีชัย สืบทอดเป็นรุ่นที่ 4) และเฝ้าเก็บเกี่ยวเคล็ดลับภูมิปัญญาต่างๆ ขณะนั้น ไม่มีใครรู้เลยว่า เขาจะกลายมาเป็นหนึ่งในปรมาจารย์ด้านสิ่งทอสมัยใหม่คนสำคัญของประเทศ

ขณะกำลังเรียนชั้นมัธยมในกรุงเทพฯ มีชัย มักติดตามคุณยายไปตระเวนขายผ้าไทย ที่ท่านทอเองตามตลาดนัดต่างๆ โดยบางครั้งผ้าทั้งผืนขายได้เงินเพียง 200 บาทเท่านั้น แต่แม้อาชีพช่างทอผ้าจะไม่สร้างรายได้มากนัก แต่ประสบการณ์ดังกล่าว ก็ทำให้มีชัยได้มีโอกาสรู้จักกับเหล่านักสะสม และนักค้าสิ่งทอคนสำคัญของประเทศ ผู้มักเอ่ยปากชมงานฝีมือของคุณยายเขาอยู่เสมอ ได้มีโอกาสรู้จักกับดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียง ทั้ง ยศวดี บุญหลง, สมชาย แก้วทอง และคุณโนริโกะ (นงนุช โรจนเสนา) ได้เห็นและซึมซับวิธีการทำงาน จนเข้าใจความต้องการใช้ผ้าที่แตกต่างกันไป ตามเทคนิคการออกแบบและตัดเย็บ บวกกับคำแนะนำของบรรดาดีไซเนอร์ ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจที่จะออกแบบผ้าไทยให้ตอบสนองความต้องการที่แตกต่าง

ความรู้และความสนใจในสิ่งทอของมีชัยค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ และตลอดระยะเวลา 4 ปีของการเรียนที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขารัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เขาก็ได้มีโอกาสช่วยคุณยายทอผ้าไหม และได้เรียนรู้กระบวนการอันซับซ้อนและกินเวลา ที่แม้กระทั่งช่างทอผ้าฝีมือดีก็ยังสามารถทอได้เพียงราว 4 ผืนต่อปีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในเมื่อรายได้จากการผลิตงานฝีมืออันเปี่ยมคุณค่านี้ กลับแทบไม่เพียงพอสำหรับยังชีพ ช่างทอผ้าหลายคนจึงค่อยๆ หันไปจับอาชีพอื่นที่สร้างรายได้ดีกว่าแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากจะรับได้สำหรับมีชัย

ผจญภัยไร้พรมแดน : ผ้ากาบบัวแห่งบ้านคำปุน

หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีชัยได้มีโอกาสเข้าทำงานที่ บริษัทการบินไทย ในตำแหน่ง พนักงานต้อนรับ (สจ๊วต) อยู่ถึง 8 ปี เวลาบินมีชัยจะติดกระดาษออกแบบ สำหรับออกแบบลายผ้าไปด้วยทุกครั้ง บางไฟลต์ถึงปลายทาง เพื่อนร่วมงานออกไปเที่ยวกันหมด ก็อยู่แต่ในห้องโรงแรม หรือไม่ก็ไปเดินในเมืองนิดๆ หน่อยๆ เวลาส่วนใหญ่ใช้ไปกับการนั่งทำงาน ได้งานชิ้นดีๆ เยอะ มีลายผ้าสวยๆ หลายลายที่เขียนระหว่างเดินทาง สุดท้ายก็ลาออกจากการเป็นสจ๊วต เพราะคุณแม่ห่วงในการทำงานนี้ (แม่คิดว่า 'อันตราย' จากข่าวเครื่องบินตก และในช่วงนั้นเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย เคยทำไฟลท์ไปรับคนไทยอพยพกลับบ้านที่ประเทศจอร์แดน)

กลับมาทำอาชีพทอผ้าที่เราหลงรักดีกว่า ซึ่งสามารถสร้างอาชีพให้คนอื่นได้ด้วยหลายสิบคน แล้วแต่ละคนก็เลี้ยงดูครอบครัวได้ มีชัยเลยคิดว่าจะยึดอาชีพทอผ้าเป็นอาชีพสุดท้าย จริงๆ ที่บ้านทอผ้าอยู่แล้ว เป็นการทอแบบดั้งเดิม มีแค่คุณยายกับคุณแม่ทอกันอยู่ 2 กี่ คุณยายยังชีพด้วยการทำผ้าขาย ท่านเป็นสายตระกูลเจ้าเมืองยโสธร ทำให้ได้สืบทอดความรู้เรื่องผ้ามา ก็ทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้านที่ใจกลางอำเภอเมืองอุบล (บ้านคำปุน หัวมุมถนนผาแดงตัดกับพิชิตรังสรรค์)

meechai tae 04

ตั้งแต่ปี 2520 จนบัดนี้ "บ้านคำปุน" ที่อำเภอวารินชำราบ ก็ยังเป็นโรงงานเดียวของอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลฯ ที่มีการจดทะเบียน ไม่มีโรงงานทอผ้าอื่นเลย บ้านหลังใหญ่ของคำปุนพอมีที่ตั้งกี่ทอผ้าได้ 7 กี่ ก็สร้างโรงเรือนเพิ่ม ให้ตั้งได้อีก 5 กี่ ยายทำงานที่บ้าน ให้เพื่อนบ้านมาช่วย ป้าเป็นคนมัดหมี่ แม่ทำเส้นยืน เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มทอผ้าแห่งแรกของอุบลราชธานี

ผจญภัยไร้พรมแดน : ผ้ากาบบัวแห่งบ้านคำปุน 2

อุบลราชธานีมีตำนานและชื่อเสียงด้านการทอผ้าและลายผ้าโบราณ "ผ้ากาบบัว" จังหวัดอุบลฯ ขาดการสืบสานภูมิปัญญาในด้านการทอผ้า มีชัยเลยขอทุนจากทางจังหวัด เพื่อจัดซื้อเครื่องมือทอผ้าให้หมู่บ้านนำร่อง 5 หมู่บ้าน แล้วก็ฝึกช่างทอผ้ารุ่นใหม่คนแล้วคนเล่า คนบางคนทอมัดหมี่ไม่เป็น ขิดไม่เป็น ก็ให้คนอื่นมาเก็บขิดให้ โดยมีชัยเป็นผู้ออกแบบให้ ผ้าที่ทอมีเทคนิคหลายแบบ ทั้งยก ทั้งมัดหมี่ เพื่อให้ทุกคนได้ฝึกทุกอย่าง มีชัยเล่าว่า

"เวลาไปสอน เราก็สอนทุกขั้นตอนว่า ย้อมแบบนี้นะ เราทำทั้งวันให้แม่ๆ ดู แม่ก็ยืนดูเฉยๆ บอกว่าทำแบบนี้นะแม่ แม่ก็บ่นว่า โอย แม่เฮ็ดบ่ได้ดอก แม่บ่มีแฮง ลูกมีแฮงหลาย (หัวเราะ) หรืออย่างพอวันเข้าพรรษาเราก็จะเชิญทุกคนเข้ามาดูว่าเรามีลายอะไรใหม่ หรือบางทีเราให้ผ้าไหมไปเลย มัดมาแล้ว ทอแล้ว ให้แม่ๆ ไปแกะลายทอของตัวเอง

meechai tae 07

มีหลายคนถามว่า เรามีลิขสิทธิ์ให้ผ้ากาบบัวมั้ย ผมจะตอบว่า ในวันที่ผมมอบให้ชุมชน ผมไม่ต้องการประโยชน์อะไรมากกว่าการให้มีการสืบทอดเรื่องทอผ้า และกระจายรายได้ให้ชุมชน สร้างความภาคภูมิใจให้เขา สร้างสัมมาอาชีพ เป็นสิ่งที่เราต้องการมากกว่าลิขสิทธิ์ใดๆ"

คุณมีชัยยังเล่าต่อไปอีกว่า "จริงๆ แล้วงานที่ผมทำได้มีหลายอย่าง ผมทำอาหารอีสานให้ นิตยสารดิฉัน 16 รายการ ลงในสื่อหลายครั้งเรื่องอาหารอีสาน เป็นนักจัดดอกไม้ของปาร์คนายเลิศสมัยก่อน ครบรอบ 25 ปีโรงแรมก็ยังเป็นคนจัดดอกไม้อยู่

แต่สิ่งที่สำคัญ มีความสุข และมีค่าที่สุดของชีวิต ก็คือ งานทอผ้า ตอนนั้นคิดว่าจะทำจนกว่าจะไม่มีแรงทำ ถ้าเราจะหยุดทำงานโดยที่ไม่ทำอะไร ก็ขอตายดีกว่า เพราะชีวิตของเราก็คือการทำงาน เวลาที่เราทำคือช่วงที่มีความสุขทั้งสิ้น"

บ้านคำปุน เคยทำผ้าให้มหากาพย์หนัง ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งมีชัยได้นำความรู้ดั้งเดิมมาปรับตีความใหม่ เลือกสีเข้มให้เหมาะกับความเป็นนักรบ และเอาลายอีสานไปใส่ เลือกลักษณะผ้าที่เวลาโดนแสงจะไม่วิบวับมาก เพื่อให้เหมาะกับการถ่ายทำหนัง หรืออย่างหนังเรื่อง สุริโยไท มีชัยก็ทำมัดหมี่ที่มีลูกปัด เป็นเทคนิคที่หยิบยืมมาจากการทอผ้าของ ชนเผ่ากะตู ใน สปป.ลาว

meechai tae 06

ซึ่งคุณมีชัยพูดถึงงานทำผ้าให้กับวงการภาพยนตร์ว่า "แต่ผมคงไม่ทำให้หนังอีกต่อไปแล้ว ทำแล้วเหนื่อย เพราะเยอะมากครับ ผ้าคาดเอวพระเอกคนเดียวก็ไม่รู้กี่สิบชิ้นแล้ว เราแทบต้องวางงานเราทั้งหมดของคำปุนเพื่อมาทำ แต่งานนั้นก็คุ้มเพราะทำให้ได้รับใช้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 แบบห่างๆ แล้วก็ได้มีโอกาสถวายรายงานด้วย

งานวันนั้นเขาให้เราประจำตรงนิทรรศการเรื่อง 'เครื่องแต่งกาย' คนเดียว เมื่อพระองค์เสด็จมาเราก็ถวายคำนับแล้วก็รู้สึกว่า โอ ตัวเราเล็กเหลือเกิน ทำไมพระองค์ท่านมีบารมีใหญ่หลวง แล้วพระองค์ตรัสถามเราว่า 'ผ้าปูมนี้ออกแบบเองเหรอคะ สีนี้สวยเหมือนฝันเลย' เราก็ดีใจที่พระองค์ทรงรู้จักผ้าปูม รู้ว่าไหมนี้เป็นไหมน้อย

ครั้งหนึ่งในชีวิตเราได้รับใช้พระองค์ท่านอย่างนี้ ถึงเราจะเสียหายอะไร ถ้าเทียบกับความปีติยินดีที่พระองค์ท่านทรงมี เมื่อได้ทอดพระเนตรงานของเรา ก็ไม่มีความทุกข์อีกต่อไป"

ครูศิลป์ของแผ่นดิน 2 : ครูคำปุน ศรีใส

อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ท่านเคยมาเยี่ยมบ้านคำปุนเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ท่านเขียนรูปให้รูปหนึ่งเป็นพิเศษ แล้วท่านก็บอกว่า “เถ่ารู้มั้ยว่าพระมีหลายแบบ งานที่เถ่าทำเนี่ยเหมือนขรัวกวาดลานวัด เราเลือกเป็นพระได้ จะเป็นพระปฏิมาให้คนเขากราบไหว้บูชา หรือจะเป็นขรัวกวาดลานวัด เถ่าเลือกเอา”

สมัยที่มีชัยเริ่มพัฒนาผ้าแรกๆ ยังไม่มีใครกล้าพลิกแพลงการออกแบบผ้าแบบใหม่ เนื่องจากแต่เดิมอุบลราชธานีเป็นเมืองที่รุ่งเรืองด้วยวัฒนธรรม เคยมีเจ้าครองนคร จึงมีขนบแบบแผนค่อนข้างมาก เขาจึงให้ความระมัดระวังในการที่จะออกแบบผ้าใหม่ ไปพร้อมกับรักษามรดกดั้งเดิมไปพร้อมๆ กัน มีชัยคิดว่า ไม่จำเป็นต้องเอาลวดลายจารีตเดิมมาทำซ้ำ แต่สามารถพัฒนาต่อยอดเทคนิคใหม่ได้ อย่างเช่น การพัฒนา 'ผ้ากาบบัว' ซึ่งใช้เทคนิควิธีดั้งเดิมมาผสมผสานกันถึง 4 วิธี นั่นคือ มัดหมี่ ขิด จก มับไม (Mubmai)** มารวมกันในผ้าผืนเดียว ผ้าที่เขาพัฒนาขึ้นได้กลายเป็นผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดอุบลราชธานี และได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็น 'มรดกชาติ' ในปี 2557 ทั้งยังได้รับเลือกให้เป็นของขวัญผ่านทาง คิงเพาเวอร์ ทูลเกล้าฯ ถวายเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงเคท ในโอกาสเสด็จฯ เยือนเมืองเลสเตอร์อีกด้วย (ทีมสโมสรเลสเตอร์เจ้าของทีมคือคนไทย คิงเพาเวอร์ นั่นเอง)

** มับไม คือการใช้ไหม 2 สี (สีเข้มกับสีอ่อน) ปั่นเกลียวเป็นหางกระรอก

ในการออกแบบผ้ากาบบัวของมีชัย ไม่เพียงแต่เป็นการออกแบบเทคนิคลายผ้าเท่านั้น แต่ยังมุ่งสืบสานมรดกพื้นบ้าน และสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น ปัจจุบัน เขาได้พัฒนาชุมชนทอผ้าในจังหวัดอุบลราชธานีขึ้นมาอย่างน้อย 5 ชุมชน ให้สามารถทอผ้าเพื่อเลี้ยงชีพ และพัฒนาผ้าจนเกิดลวดลายใหม่นั่นคือ 'ผ้ากาบบัวแสงแรก' ซึ่งถือเป็นผ้าที่คิดขึ้นเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง จึงกล่าวได้ว่านอกจากการพัฒนาลวดลายแล้ว เขายังช่วยพัฒนาระบบ และมุมมองของชาวบ้านที่ต่อภูมิปัญญาให้คงอยู่และสร้างแนวทางที่จะดำเนินต่อไป

meechai tae 03

เขากล่าวว่าการพัฒนาคือการเรียนรู้ การเป็นศิลปินอาจจะเรียนรู้จากภายใน แต่ในฐานะที่เราทำผ้า เราต้องเรียนรู้จากภายนอก จากคนหลาย ๆ กลุ่มซึ่งมีมุมมองที่ต่างกัน เราต้องการให้คนมีความสุขที่ได้ใช้ผ้าและได้เห็นผ้า เราจะไม่ย้อนกลับไปทำในสิ่งที่เราทำมาแล้ว การทำให้ผ้ามีเอกลักษณ์ สร้างความแตกต่าง ทำให้เราไม่ย่ำอยู่กับที่”

จากโรงงานทอผ้าคำปุน สู่ 'พิพิธภัณฑ์คำปุน' เพื่อเป็นที่เก็บรวบรวมและแสดงผ้าโบราณเมืองอุบลฯ และแสดงกรรมวิธีการผลิตการทอผ้า โดยแยกออกเป็นสองส่วนคือ

  • ส่วนโรงงานผลิตและทอผ้า จะเปิดให้เข้าชมต้อนรับอาคันตุกะจากทั่วสารทิศ เพียงปีละ 1 ครั้ง ครั้งละ 3 วัน ในช่วงเทศกาลแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี เก็บค่าเข้าชมท่านละ 100 บาท มีน้ำ-ขนม ต้อนรับ เงินที่ได้นำไปทำบุญและช่วยเหลือการกุศล
  • ส่วนพิพิธภัณฑ์คำปุน เปิดให้แวะเยี่ยมได้ทุกวัน ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งกลุ่มอาคารแบบเรือนไทยอีสานประยุกต์ 3 หลัง ได้แก่ อาคารหอพระธาตุพิพิธภัณฑ์, อาคารหอไตร เก็บรักษาตู้พระไตรปิฎกโบราณ และอาคารคำปุนมิวเซียมคาเฟ่ ซึ่งเป็นคาเฟ่กับร้านขายของทีระลึก

การเปิด “บ้านคำปุน” ปีละ 1 ครั้งนี้ เป้าหมายสำคัญคือ ให้ คุณแม่คำปุน ได้แบ่งปันความรู้ให้กับช่างทอผ้าคนอื่น รวมทั้งมีการให้ความรู้ด้านผ้าแก่ทุกคนที่เข้ามาเยี่ยมชม โดยไม่มีการปิดบังอำพราง โดยจะให้ช่างแต่ละส่วนทำงานประจำวันตามปกติ งาน “มาสเตอร์พีซ” ของที่นี่ทำกันยังไง ทุกคนจะได้เห็นอย่างนั้น และไม่มีความกังวลจะมีใครมาลอกเลียนแบบ เพราะลายเซ็นก็คือลายเซ็น ไม่มีใครเซ็นแทนกันได้ เพราะสิ่งสำคัญที่ตั้งใจคือ แบ่งปันภูมิปัญญาที่ได้รับถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ

meechai tae 09

ปัจจุบัน เป็นที่รับรู้ในแวดวงไฮเอนด์ด้านแฟชั่นว่า ผลงานผ้าทอจาก “บ้านคำปุน” นั้น มีความ “ยูนีก-Unique” ชนิดใครต่อใครต่างเต็มใจ “รอคิว” และ “ยินดีจ่าย” ให้แบบไม่เกี่ยง ขอเพียงให้ได้มาครอบครองสักผืนสองผืน เกี่ยวกับประเด็นนี้ คุณเถ่า อธิบาย ความ “ยูนีก” นี้ ไม่ใช่เพราะต้องการ “อัพราคา” แต่เพราะต้องทำงานให้ประณีตทุกขั้นตอน ซึ่งต้องใช้เวลาในการทำนั้นนานมาก

“คำปุน” เป็นแบรนด์ผ้าไทยจากจังหวัดอุบลราชธานี ที่ผู้ใช้ผ้าไทยรู้จักและเชื่อถือในคุณภาพกันมานานหลายสิบปี พูดได้เต็มปากว่าเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งมาก

คุณเถ่า บอกต่อว่า ผ้าทอของบ้านคำปุน มีราคาตั้งแต่หลาละ 4,000 บาท ถึงหลาละแสน หรือหลายแสนบาท ความพิเศษของขั้นตอนการผลิต ซึ่งเป็นเทคนิค “หนึ่งเดียว” ในโลก ที่นอกจากจะประกอบด้วยการ มัดหมี่ เกาะ ล้วง และจก แล้ว ยังเป็นงานที่มีความประณีตทุกด้าน เช่น วัสดุต้องเป็นของดีที่สุด อย่าง ไหมน้อย หรือ ไหมสีทองดีที่สุด และเราตีเกลียวเส้นไหมด้วยมือเท่านั้น เหล่านี้คือ ความพิเศษ เพราะแฮนด์เมดทุกขั้นตอน

ลูกค้าของแบรนด์ "คำปุน" มีกำลังซื้อและมีความต้องการซื้อผ้าแบรนด์โปรดอย่างต่อเนื่อง มีคนตั้งตารอว่า คำปุนจะทอผ้าผืนใหม่ออกวางขายเมื่อไหร่ และผ้าที่ออกมาในแต่ละปีจะถูกรังสรรค์ออกมาเป็นแบบไหน เหมือนคอลเล็กเตอร์ที่รอซื้อผลงานของศิลปินคนโปรด โดยไม่ทราบว่าจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร แต่รอคอยด้วยความชื่นชอบและเชื่อถือในตัวศิลปินท่านนั้น คุณมีชัยบอกว่า "การทอผ้าให้บุคคลสำคัญหรือลูกค้าที่สั่งล่วงหน้าว่า ต้องดูว่าลูกค้ารูปร่างอย่างไร สีผิวประมาณไหน จะเอาผ้าไปใช้ตัดเสื้อหรือชุดประมาณไหน แล้วคิดว่าควรจะทำสีเฉดไหน เท็กซ์เจอร์อย่างไร อย่างเช่น สีเหลืองก็มีหลายเฉด ต้องทำให้เหมาะกับผู้ใช้ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นนายกฯ ร้านก็ไม่ได้ทอให้เผื่อเลือก นายกฯ ก็ไม่ได้มีสิทธิเลือกมากกว่าลูกค้าทั่วไป"

รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ

  • พ.ศ. 2543 ได้รับ ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
  • พ.ศ. 2544 ได้รับโล่เกียรติคุณในฐานะ ศิลปินดีเด่นจังหวัดอุบลราชธานี จาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2559 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ครูศิลป์ของแผ่นดิน จาก สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน)
  • พ.ศ. 2562 ได้รับรางวัล "เพชรพาณิชย์" จาก กระทรวงพาณิชย์
  • พ.ศ. 2563 ได้รับการยกย่องเป็น ปราชญ์หม่อนไหม สาขาลวดลายผ้า (การออกแบบลวดลายผ้ากาบบัวอุบล) จาก กรมหม่อนไหม
  • พ.ศ. 2564 ได้รับพระราชทานรางวัล The Best of Best ประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" (จากผู้ส่งเข้าประกวด 15 ประเภท 3,214 ผืน) ในงาน OTOP MIDYEAR 2021 CELEBRATE THAI CULTURE จัดโดย กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สนองแนวพระดำริ ภายใต้แนวคิด “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” ยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไทยสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นให้สามารถก้าวสู่ระดับสากล ณ ทรูไอคอนฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม

meechai tae 02

  • พ.ศ. 2565 ได้รับการประกาศเกียรติคุณ "เป็นสุดยอดช่างฝีมือผู้สร้างสรรค์ผลงานที่เปี่ยมไปด้วยภูมิปัญญา" และได้รับการพิจารณาให้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายสำหรับผลงาน “Creative Hand Symbol” for silk brocade ซึ่งเป็นรางวัลระดับสูงสุด สำหรับช่างฝีมือระดับนานาชาติ ในงาน “Iran International Handicrafts Festival” ณ กรุงอิสฟาฮาน สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน จาก กระทรวงมรดกวัฒนธรรม หัตถกรรม และการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน
  • พ.ศ. 2565 ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ESS Award ด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวรังไหมและการสาวไหม Excellence in Sericulture Science (ESS) Award* (post cocoon and post yarn technology) จาก คณะกรรมการสมาคมไหมโลก International Sericultural Commission
  • พ.ศ. 2565 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) ประจำปี พ.ศ. 2564 จาก กระทรวงวัฒนธรรม

มีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า)

มีชัย แต้สุจริยา ศิลปินผู้รังสรรค์ผ้าทอ ที่ช่วยต่อลมหายใจภูมิปัญญาการทอผ้าศิลปะเฉพาะถิ่นของเมืองอุบลฯ อย่างผ้ากาบบัวให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ในช่วงวิกฤติโควิดที่ส่งผลกระทบอย่างหนัก ทว่า ครูเถ่า-มีชัย แต้สุจริยา ครูศิลป์ของแผ่นดิน ทายาทรุ่น 3 แห่งบ้านคำปุน ก็ยังยิ้มสู้ประคับประคองกิจการโรงงานทอผ้าและพิพิธภัณฑ์ให้คงอยู่ได้ อีกทั้งมีโอกาสได้สนองพระกรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ในการนำเอาลายผ้าลายขอพระราชทานมาประยุกต์ถักทอ จนได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ คุณเถ่าเชื่อในพลังความรักและการเอาใจใส่กันและกัน พร้อมยึดมั่นในหลักพรหมวิหาร 4 เขาจึงมุ่งปฏิบัติธรรมชำระจิตใจและบำเพ็ญกุศล เพื่อความสุขที่ยั่งยืนทั้งปัจจุบันและอนาคต

ในปี พ.ศ. 2565 นี้เราก็ได้ทราบข่าวดีว่า ครูเถ่า-มีชัย แต้สุจริยา ได้รับการยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ทอผ้า) ประจำปี พ.ศ. 2564 นั่นทำให้ 'บ้านคำปุน' มีศิลปินแห่งชาติถึง 2 ท่าน คือ ครูเถ่า กับ คุณแม่คำปุน ศรีใส ก็ได้รับการยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ทอผ้า) ประจำปี พ.ศ. 2561

meechai tae 08

“บ้านคำปุน” คือ แหล่งผลิตและจำหน่ายผ้าไหมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ตั้งอยู่ที่ 131 หมู่ 9 ถนนศรีสะเกษ ตำบลคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี รหัสไปรษณ๊ย์ 34190

khampun_01.jpg khampun_02.jpg khampun_03.jpg

khampun_04.jpg khampun_05.jpg khampun_06.jpg

khampun_07.jpg khampun_08.jpg khampun_09.jpg

khampun_10.jpg khampun_11.jpg khampun_12.jpg

khampun_13.jpg khampun_14.jpg khampun_15.jpg

khampun_16.jpg khampun_17.jpg khampun_18.jpg

khampun_19.jpg khampun_20.jpg khampun_21.jpg

khampun_22.jpg khampun_23.jpg khampun_24.jpg

khampun_25.jpg khampun_26.jpg khampun_27.jpg

khampun_28.jpg khampun_29.jpg khampun_30.jpg

khampun_31.jpg khampun_32.jpg khampun_33.jpg

khampun_34.jpg khampun_35.jpg khampun_36.jpg

khampun_37.jpg khampun_38.jpg khampun_39.jpg

khampun_40.jpg khampun_41.jpg khampun_42.jpg

khampun_43.jpg khampun_44.jpg

พิพิธภัณฑ์คำปุน Khampun Museum of Weaver Culture
Credit : สุขสันต์ แก้วสง่า

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ตำนานผ้ากาบบัว | ผ้าไหมกาบบัวอุบลราชธานี

redline

backled1