art local people

boonpeng 01

นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย

ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี พ.ศ.  2540

นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย เกิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2475 บิดาชื่อ นายช่วย ไผ่ผิวชัย มารดาชื่อ นางต่อน ไผ่ผิวชัย จบการศึกษาชั้น ประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านดอนจิก ตำบลดอนจิก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี สนใจแสดงหมอลำมาตั้งแต่อายุ 12 ปี ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของ หมอลำทองมี สายพิณ หมอลำสุบรรณ พละสูรย์ เด็กหญิงบุญเพ็งเป็นผู้ที่มีความจำและไหวพริบปฏิภาณสูง ฝึกลำอยู่เพียง 2 ปี ก็สามารถรับงานแสดงเป็นของตนเองได้ และเนื่องจากเป็นหมอลำที่มีสำนวนคมคาย สามารถโต้ตอบกับหมอลำฝ่ายชายได้อย่างฉลาดเฉลียว เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม ทำให้มีชื่อเสียงขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ได้ชื่อว่าเป็นหมอลำที่มีคารมกล้า โต้ตอบกับคู่ลำด้วยไหวพริบที่ฉับไว

ชีวิตครอบครัว ได้สมรสกับ นายพั่ว พูลทอง (ถึงแก่กรรม) มีบุตรและธิดา 8 คน ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ได้สมรสกับ นายเคน ดาเหลา หรือ "หลมอลำเคน" ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี พ.ศ. 2534 ไม่มีบุตรด้วยกัน

boonpeng 03

กลอนลำแต่ละกลอนมีสาระเชิงปรัชญาชีวิต ให้คติสอนใจที่แยบคาย จนเธอได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมาก จนทำให้ บริษัท กมลสุโกศล ติดต่อให้บันทึกเสียงลงแผ่น เป็น หมอลำหญิงคนเดียว เมื่อปี พ.ศ. 2498 ที่ได้รับการบันทึกแผ่นเสียงมากที่สุด มีงานแสดงทั้งกลางวัน กลางคืน เป็นศิลปินของประชาชนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นราชินีหมอลำ เคยได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จังหวัดขอนแก่น พ.ศ. 2533 ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) พ.ศ. 2537 จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

ลำล่องนิทานก้อม - บุญเพ็ง ไผ่ผิวชัย

นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ประจำปี พ.ศ. 2540

boonpeng 02

ข่าวเศร้าของการจากไป

วงการหมอลำสูญเสีย "หมอลำบุญเพ็ง ไฝผิวชัย" ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นภรรยาของ นายเคน ดาเหลา หรือ "หลมอลำเคน" ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี พ.ศ. 2534 โดยจากการเปิดเผยของนายเคน บอกว่า นางบุญเพ็ง ได้เสียชีวิตเมื่อเวลา 01.30 น. วันที่ 1 เมษายน 2551 จากอาการเส้นเลือดในสมองแตก ภายหลังประสบอุบัติเหตุลื่นล้มห้องน้ำในบ้านพัก เลขที่ 258/155 หมู่ 22 ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 28 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมา

boonpeng 04

นายเคน เล่าว่า นางบุญเพ็ง มีอาการเจ็บปวดที่ข้อเข่าเรื่อยมาเป็นเวลา 3-4 ปี ที่ต้องใช้ไม้เท้าค้ำยันช่วยขณะเดิน โดยในวันเกิดอุบัติเหตุ เวลาประมาณ 20.00 น. วันที่ 28 มีนาคม ขณะเข้าไปอาบน้ำสักพักได้ยินเสียงไม้ค้ำยันหล่นลงพื้น จึงได้รีบวิ่งไปดูก็พบว่า ภรรยาล้มหัวฟาดฟื้นจนสลบไป ญาติๆ จึงได้นำตัวส่งโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ปรากฎว่าเตียงผู้ป่วยเต็ม จึงได้นำตัวมารักษาที่ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น โดยตลอดระยะเวลา 2 วัน ที่นางบุญเพ็ง เข้ารับการรักษาก็ไม่ได้สติอีกเลย กระทั่งเสียชีวิตเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา

boonpeng 06

ญาติๆ จึงนำศพตั้งบำเพ็ญกุศลอยู่ที่วัดหนองแวงพระอารามหลวง อำเภอเมืองขอนแก่น ส่วนกำหนดการบำเพ็ญกุศลยังไม่ได้หารือกับลูกๆ แต่อย่างใด พร้อมกับกล่าวว่า "พ่อและแม่บุญเพ็ง ได้แต่งงานใช้ชีวิตคู่กันมาตั้งแต่ปี 2514 และครองคู่มาจนถึงปัจจุบัน เมื่อสิ้นภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากแล้วก็รู้สึกเสียใจ และใจหาย" พ่อเคน กล่าว

boonpeng 05

กลอนลำประวัติลาวเดิม-หมอลำบุญเพ็ง ไฝผิวชัย

อ่....ละนอ.... แก้มองต่งคันแก้มอ้ายองต่ง ลงไปท่งขี่ตะโหลกหลายๆ คันเดือนหงายงามๆ น้องโหลดห่ำคะนิง... แต่นำอ้าย โอย... น้อ.... นวลเอ๋ย...

แม่นว่าฟังเบิ่งก่อน นักปราชญ์อาจารย์ แต่สมัยโบราณเวียงจันทน์ล้านซ้าง พวกลาวยังตกค้างเป็นซาติตาขาว ตั้งแต่พญาลาวปกครองแต่ปู่ ลาวได้อยู่ด้วยความสุขขา แต่พระวอพระตาสิ้นวงศ์ไสญาติ ลาวเป็นชาติหนองบัวลุมภู ให้พากันคิดดูลาวเดิมแต่เก่า เหล้าก็กินพอเหล้า ซากะสูบพอซา ยากะกินพอยาจนไหง่กิ่นกิ่น หมู่ทางสูบยาฝิ่น กินเหล้าเป็นสาย บ่มีเจ้ามีนายจับกุมคุมโทษ บ่มีไผสิโจทก์โจทก์กี่สีไฟ มักอยากซ้ากะให้ค่อยเดินไป มักอยากไวกะให้พากันแล่น ความใด๋แม่นกะอย่าให้มันผิด พญาลาวเฮาคิดเปลี่ยนแปลงมาใซ้

ความตกพ่อไฮ่ให้พอไฮ่มาจา ความตกพ่อนาให้พ่อนามาเว้า ตกผู้เฒ่าให้ผู้เฒ่าพิจารณา ตกญาครูญาซามอบให้ถุงให้พระ ความตกป่ามอบให้ซ้างให้เสือ ความตกเฮือตกแพมอบให้พายให้ถ่อ บ่แม่นคิดหม่อหม่อ ตื้นตื้น เบาเบา ตั้งแต่พญาลาวเวียงจันทน์ล้านซ้าง บ่ได้เฮ็ดได้สร้างหยังถ่อหัวเหา เงินค่าไฮ่กะบ่ได้เว้าหา เงินค่านากะบ่ได้เว้าฮอด คันว่าค่าสินสอดผู้ละสองสามไพ บ่ซ่างได้ร่ำไรคือคนเดี๋ยวนี้ บ่ได้กดได้ขี่ลูกลูกหลานหลาน คันว่าค่าเสียการปีละสองสามลาด บ่ซ่างมีเงินบาทใบสิบใบซาว ตั้งแต่พญาลาวสมัยเงินหมากค้อ

บ่มีผู้ขี่ส่อดูหมิ่นนินทา เพิ่นให้สืบฮอยตาเพิ่นให้ว่าฮอยปู่ ยูท่างพากันอยู่ด้วยความสุขขี โทษพอตีเพิ่นกะบอกให้ด่า โทษพอฆ่าเพิ่นกะบอกให้ตี เจ้ากะเจ้าอีหลีนายกะนายแท้แท้ แม่นคักแม่นแนเจ้าเก่านายเดิม บ่หาเพิ่มหาเติมไผผิดไผพลาด มันบ่มีคำยากพวกปวงประซา กุ้งกะโตท่อขา ปลาซิวคามองแปด คันปลาแตบคามองคามัน สิไปยากอีหยังของกินของอยู่ ยูท่างพากันอยู่ล้านเก่าลาวเดิม บ่ซั่งได้เสียเงินค่านาค่าไฮ่ ยูท่างทั้งกินต้มไก่กับเหล้าสุรา สีนาวาเลี้ยงน้องแนหน่า นาอ้ายหน่า...

ลำประวัติลาวเดิม - บุญเพ็ง ไผ่ผิวชัย

วันที่ 22 กันยายน 2564 เมื่อเราเปิดเข้าเว็บ Google ประเทศไทย วันนี้ก็คงจะได้เห็นภาพวาดของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเธอคือ บุญเพ็ง ไฝผิวชัย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี พ.ศ.2540 และเป็นเจ้าของฉายา ราชินีหมอลำกลอน อีกด้วย ที่ Google ทำ Doodle ครบรอบวันเกิด บุญเพ็ง ไฝผิวชัย 89 ปี เจ้าของฉายา ราชินีหมอลำกลอน เริ่มฝึกหมอลำตั้งแต่ 12 ขวบ

boonpeng 07

ผลงานที่โดดเด่น ของนางบุญเพ็ง ไผ่ผิวชัย

  • ในปี พ.ศ. 2514-2521 บริษัทเสียงสยามและบริษัท กรุงไทยได้ผลิตเทปผลงานของนางบุญเพ็ง ไผ่ผิวชัย ออกจำหน่ายถึง 500 ชุด ซึ่งเป็นระยะที่ได้รับความนิยมสูงสุด ต้องรับงานแสดงทั้งกลางวันกลางคืน และยังสละเวลาแสดงผลงานให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐบาลและเอกชนต่างๆ มากมาย
  • ในปี พ.ศ. 2522 ได้เข้าร่วมแสดงในการสาธิตวัฒนธรรมอีสานในงานประสาทปริญญา พุทธศาสนบัณฑิตและงานอนุสรณ์ครบรอบ 90 ปี แห่งการสถาปนามหาธาตุวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เป็นวิทยากรอบรมพัฒนาสื่อพื้นบ้าน ณ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดอุดรธานี
  • ในปี พ.ศ. 2526 ช่วยเหลืองานการศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดกาฬสินธุ์
  • ในปี พ.ศ. 2529 และ พ.ศ. 2533 ร่วมสาธิตในสารคดีจากที่ราบสูง ของสถานีทัศน์สีกองทัพบกช่อง 5
  • ในปี พ.ศ. 2534 รณรงค์โครงการอีสานไม่กินปลาดิบ ของ จังหวัดกาฬสินธุ์ และรณรงค์ประชาธิปไตย ณ โรงเรียนพลวิทยาคม
  • ในปี พ.ศ. 2535 เข้าร่วมการสัมมนา และประชาสัมพันธ์ป้องกันเอดส์ภาคตะวันออกเฉียงเหลือ ของกรมประชาสัมพันธ์ และร่วมสนับสนุนการจัดงาน คาราวานอีสานไม่กินปลาดิบ ร่วมกิจกรรมไหว้ครู ณ วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ดร่วมกิจกรรมเทิดพระเกียรติและ รณรงค์กินปลาดิบกับสมาคมปราบพยาธิใบไม้ตับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

รางวัลเกียรติคุณ

  • เป็นผู้ที่มีผลงานดีเด่น ทางด้านวัฒนธรรม จังหวัดขอนแก่นประจำปี พ.ศ.2533
  • ได้รับเกียรติจากศูนย์วัฒนธรรมญี่ปุ่น เชิญไปแสดง แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างวันที่ 14-25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 ณ ประเทศญี่ปุ่น
  • ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ประจำปี พ.ศ. 2537 จากสำนักงาน คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
  • ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ประจำปี พ.ศ. 2540 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2540

redline

backled1