art local people

kampoon 01คำปุ่น ฟุ้งสุข

หมอลำคำปุ่น ฟุ้งสุข เป็นหมอลำอาวุโสอีกคนหนึ่งที่เคยมีชื่อเสียงโด่งดังในอดีต อยู่ในคณะหมอลำ สุนทราภิรมย์ เคยชนะการประกวดหมอลำในระดับต่างๆ หลายรางวัล เช่น เคยได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดหมอลำทั่วประเทศ ฝ่ายหญิง พ.ศ. 2502 ณ เวทีมวยลุมพินีกรุงเทพฯ หมอลำคำปุ่นเป็นหมอลำสตรีที่สามารถแต่งกลอนลำได้ดี

คนที่เป็นคอหมอลำในภาคกลางคงพอจะจำ "สุนทราภิรมย์" วงหมอลำกลอนเก่าแก่ที่ก่อตั้งขึ้นโดย อาจารย์สุนทร อภิสุนทรางกูร ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ และแม่ครูคำปุ่น ฟุ้งสุข เมื่อปี 2499 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีผลงานการแสดงผ่านวิทยุจนคนติดงอมแงม ซึ่งสมัยนั้น สุนทราภิรมย์ คือหมอลำวงใหญ่ที่รวบรวมเอา "หมอลำ-หมอแคน" แถวหน้าในภาคอีสานไว้ในวงมากที่สุด และตระเวนเดินสายรับงานในภาคกลางเป็นหลัก โดยยุคแรกมีสมาชิกในวงกว่า 100 คน

ลำกลอนโต้วาที โดย หมอลำทองลา สายแวว - คำปุ่น ฟุ้งสุข

หมอลำคำปุ่น ฟุ้งสุข และหมอลำทองลือ แสนทวีสุขหลายคนคิดว่า "สุนทราภิรมย์" นั้นแยกย้ายเลิกราตามยุคสมัยไปแล้ว แท้จริงแล้วหมอลำคณะนี้ยังคงปักหลักสืบทอด "หมอลำกลอนโบราณ" โดยผ่าน วันทิพย์ ปภัสพิศิษฐ์ หรือ ลัดดา ทาทอง (ชื่อที่ใช้จัดรายการวิทยุ) วัย 61 ภรรยาคนที่ 4 ของ อาจารย์สุนทร อภิสุนทรางกูร จากการที่บุกเข้าไปเปิดอาณาจักรหมอลำกลอนวงนี้ ที่ฝังตัวอยู่เงียบๆ บนเนื้อที่ 1 ไร่ ภายในซอยพหลโยธิน 30 ซึ่ง ป้าวันทิพย์ เล่าให้ฟังว่า

"จุดเริ่มต้นของวง "สุนทราภิรมย์" ในกรุงเทพฯ อาจารย์สุนทรเริ่มมาหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านรับราชการอยู่ที่กรมประชาสัมพันธ์ ท่านมีความคิดทำเพราะชอบหมอลำ ตอนนั้นคณะหมอลำในกรุงเทพฯ ไม่มี มีอยู่ตามต่างจังหวัด ท่านบริหารมาก็มีคนแถวภาคกลางเขาก็ชอบรูปแบบการลำแบบนี้ เขาก็มาว่าจ้างให้ไปแสดง บางวันก็ 2 คู่ 3 คู่ บางวันมีถึง 12 คู่ คำว่า "เป็นคู่" คือมีหมอลำชายหญิงสองคนลำสลับกัน มีเครื่องดนตรีประกอบเพียงชนิดเดียว คือ แคน เมื่อก่อนสำนักงานเราอยู่แถววัดนาคกลาง ฝั่งธนบุรี ถ้ามีงานก็สั่งวงดังๆ มาจากต่างจังหวัด ก็จะมาที่สำนักงานเป็นบ้านหมอลำสาวๆ หนุ่มที่ลำเป็นก็จะมารวมกันที่นี่ เมื่อก่อนก็มีวงดังๆ แต่เขารวมตัวกันไม่ได้ สุนทราภิรมย์เมื่อก่อนมีทีมงาน 200 คนเลย วงใหญ่ด้วยการแสดงที่ยึดรูปแบบของ "หมอลำแคน" ที่มีลีลาการร้องภาษากลอนที่ไพเราะ ไม่หยาบโลน นอกจากนั้นการแต่งกายที่สวมใส่ด้วยชุดไทยอีสานที่สวยงาม วันนี้เราก็ยังแต่งกายแบบนั้นอยู่ ทำให้เป็นที่ถูกใจของเจ้าภาพทั่วไปจ้างไปแสดงในงานต่างๆ อาทิ งานทำบุญกระดูก งานแต่งงาน ทำบุญบ้าน งานประจำปี ฯลฯ ป้าเข้ามาอยู่ในวงเมื่อปี 2519 แล้วเป็นภรรยาอีกคนของ อาจารย์สุนทร อาจารย์มาล้มป่วยเมื่อ 22 สิงหาคม 2535 ด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ เลยเป็นอัมพาตและเสียชีวิตเมื่อ 17 ตุลาคม 2536 อายุ 72 ปี ป้าก็รับมรดกวงมาจนถึงวันนี้"

suntara pirom

ไสว แก้วสมบัติ หมอแคนวัย 70 ปี ชาวสระแก้วที่มาอยู่กับคณะ "สุนทราภิรมย์" ตั้งแต่ปี 2517 เล่าเสริมถึงช่วงการผลัดเปลี่ยนการแสดงของวงในเวลาต่อมาว่า "สมัยเมื่อ อ.สุนทรย้ายสำนักงานมาอยู่ภายในซอยพหลโยธิน 30 บนเนื้อที่ 1 ไร่ ช่วงนั้นมีหมอลำประยุกต์ ซึ่งเขาเล่นกันมานาน อยู่ที่เจ้าภาพเขาชอบแบบไหน เล่นคู่กัน 2 คนหญิง-ชาย หัวหน้าเขาเห็นหมอลำสาวๆ มาเป็น 10 กว่าคน ตอนนั้นย้ายมาจากวัดนาคกลางมาอยู่ที่ซอยพหลโยธิน ผมมาอยู่ช่วงนั้นซึ่งเป็นยุคที่ 2 ก็ยังเป็นหมอลำใส่แคนอยู่ แต่มีบางงานที่เจ้าภาพเขาอยากได้ "ขบวนฟ้อน" คือนางรำหลายๆ คนใส่ชุดพื้นเมืองอีสาน หมอแคนใช้ 7 - 9 คนใช้ลำโพงฮอลล์ เป่าเพลงเดียวพร้อมๆ กัน มีกลองทอม มีพิณ การฟ้อนมีจังหวะภูไท เซิ้งต่างๆ คืออาจารย์เขาทำแบบนี้มาตั้งแต่ประมาณปี 2510 การทำแบบนี้เป็นการพัฒนางานเพราะคนฟังเขาก็มีการพัฒนา เขาสนใจสาวๆ ที่มารำ ช่วงหัวค่ำมีฟ้อนรำก็เป็นช่วงวัยสาว ช่วงดึกหลัง 6 ทุ่มไปก็จะเป็นภาคของคนมีอายุ เป็นหมอลำกลอน จะกี่คู่ ก็แล้วแต่เจ้าภาพ หมอลำกลอน กับขบวนฟ้อนมันมีมาด้วยกัน พอคนดูตอนนั้นเขาอยากดูสาวๆ ก็เลยลองทำดูซิ เจ้าภาพอยากได้หมอลำกลอนมีขบวนฟ้อนด้วย หัวหน้าเขาเลยมีไอเดียว่าต้องแบ่งภาคกัน"

เต้ยพม่า - หมอลำคำปุ่น ฟุ้งสุข

ในเรื่องจำนวนสมาชิกของคณะ "สุนทราภิรมย์" ในปัจจุบันนั้น ลุงไสวบอกอีกว่า "ปัจจุบัน ก็ไม่ได้ทิ้งหมอลำกลอน ยังคงมีแคน พิณ มีกลองชุด ถ้าเอาคีย์บอร์ดเข้ามา เมโลดี้มันจะกัดกับแคนไม่ค่อยเพราะต้องมีเทคนิค เราเปลี่ยนมา 10 กว่าปี กลอนเป็นแบบของการรำที่เขาเรียกว่า "ซิ่ง" เมื่อก่อน อ.สุนทรไม่นิยมให้ลำซิ่ง ช่วงหลังก่อนที่ผมเข้ามาเริ่มมีการ "ซิ่ง" เข้ามาผสมกับกลอน ซึ่งวงอื่นเขาก็มีเราปรับตัวเข้าไปตรงนั้น เอาจังหวะซิ่งมาผสมกับลำกลอนสมาชิกทุกวันนี้เหลือประมาณ 20 - 30 คน เมื่อก่อน 100 - 200 คน ทุกวันนี้เราเริ่มแสดงบางทีงานเป็นโต๊ะจีน ทำบุญ การแสดงเขาจะให้เล่นหัวค่ำ เลิก 6 ทุ่ม เรามีกติกาว่าแสดง 5 ชั่วโมง เนื้อหาการแสดงหมอลำจะเป็นลำกลอนมือหนึ่งทุกคน แก่สาวเขาไม่แคร์ขอให้สร้างความบันเทิงขึ้นเฮลงฮา โหมโรง โชว์กลอง แคน พิณ จากนั้นเป็นคู่รอง มีการไหว้ครูทุกอย่าง การแสดงกระชับ มีการกล่าวถึงเจ้าภาพ คนมาในงาน หลังจากนั้นบางคนเขาก็เอาแคนขึ้นลำแบบรำวง พอการร่ายลำเสร็จเขาก็สวมจังหวะ "ซิ่ง" ที่เขาเรียกว่า "ยาว" ลำกลอนใส่จังหวะ ท่าก็จะมี 32 ท่า ไม่ได้ใช้กลองตลอดนะมันเป็นบายฮาร์ท ทุกคนมีความสามารถอยู่แล้วเปลี่ยนกันขึ้นลง แล้วเอาเพลงลูกทุ่งมาผสมเข้าบท"

kampoon tongla 01
หมอลำทองลา สายแวว และหมอลำคำปุ่น ฟุ้งสุข

เมื่อถามถึงการรับงานในวันนี้ ป้าวันทิพย์ บอกว่า "งานทุกวันนี้เรื่อยๆ ถ้าไม่ใช่หน้างานก็ 3 - 4 งาน ส่วนใหญ่เป็นเจ้าภาพเก่าๆ ที่เคยใช้งานกันประจำ ค่าตัวไกลใกล้ว่ากันไปไม่ตายตัว ขั้นต่ำรวมเครื่องเสียงเวทีก็ 3 หมื่น เหลือกันนิดๆ หน่อยๆ เราไม่คิดเยอะ เอาเยอะเขาจะเอาเงินที่ไหนมาจ้างเรา วัฒนธรรมเราก็จะห่างเราออกไป ให้มันพออยู่ได้ เจ้าภาพเขาจะเอาไปให้พ่อแม่ฟัง กว่าที่จะจัดงานทำบุญ เขาจะเก็บเงินรวบรวมกันมาเป็นปีในหมู่พี่น้อง แล้วมาจัดงาน บางทีหัวหน้าวงก็ได้น้อยกว่าลูกน้อง ทุกวันนี้เราก็ยังเรียกหมอลำในอีสานเหมือนเดิม สะดวกด้วย ใช้โทรเอา เมื่อก่อน อ.สุนทรต้องใช้วิธีเขียนจดหมายล่วงหน้ากันนาน เจ้าภาพที่อยากให้คณะ "สุนทราภิรมย์" ไปทำการแสดงก็ติดต่อมาที่เบอร์ 0-2513-8042 หรือ 08-9694-5629"

ลำชิงชู้ - คณะสุนทราภิรมย์

ประวัติของหมอลำรุ่นเก่าๆ นี่หายากมากครับ ผู้เขียน (ทิดหมู มักหม่วน) ก็เลยจำเป็นต้องนำเอาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกันมาเสริมเข้าไปให้ได้ทราบกัน ขอบคุณแหล่งข้อมูลทุกแหล่งนะครับ

redline

backled1