mp3

sak siam 04ศักดิ์สยาม เพชรชมพู

บุญชื่น เสนาราช (บางที่ก็บอก เสนาลาส) หรือ ศักดิ์สยาม เพชรชมพู (บ้างก็เขียนเป็น เพชรชมภู) เกิดที่บ้านนานกเขียน ตำบลโคกก่อ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 ครอบครัวมีฐานะยากจนมีอาชีพทำนา เขาจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านหัวช้าง ที่อยู่ห่างจากบ้านนกเขียนไประยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร หลังจากนั้นก็ไม่ได้เรียนต่อ สมัยวัยเด็กชอบฟังเสียงเพลงจากสถานีวิทยุ AM กรมประชาสัมพันธ์จังหวัดขอนแก่น ชื่นชอบและร้องตามนักร้องลูกทุ่งสมัยนั้นได้เกือบทุกเพลง ไปบวชเป็นสามเณรอยู่ 1 พรรษา ญาติโยมชื่นชอบในเสียงสวดมนต์ของสามเณรชื่นกันมาก หลังลาสิกขาก็ได้ออกมาช่วยครอบครัวทำนาอย่างเต็มตัว เข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการเป็นนักร้องเชียร์รำวง

ได้เข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกของ "คณะรำวงดาวอีสาน“ ที่จัดตั้งขึ้นในตำบลโคกก่อ หลังจากที่ตามไปเป็นเพื่อนพี่สาวที่เป็นนางรำวงของคณะ ต่อมา ก็เลยผูกขาดการเป็นนักร้องเชียร์รำวงของคณะอยู่เพียงคนเดียว แม้ต้องร้องเพลงตั้งแต่ 3 ทุ่มไปจนถึงรำวงเลิกเวลาตี 2 ตี 3 โดยได้ค่าร้องแค่ไม่กี่บาทต่อ 3 คืน แต่เขาก็พอใจเพราะว่าได้ขึ้นร้องเพลงโชว์ ระหว่างนั้นเขาก็ฝึกตีกลองชุดไปด้วย

sak siam 06

บุญชื่น เสนาลาส โปรดปรานการร้องเพลงลูกทุ่งอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงของ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ อย่างเพลง ลาก่อนบางกอก และ ลาน้องไปเวียดนาม และเสียงของเขาก็เป็นที่จับใจของคนในหมู่บ้านที่ได้ฟังทุกครั้งไป

ในยามที่วงไม่มีงาน เขาก็จะติดตามพี่ชายอีกคนที่เป็นหมอลำไปกับ คณะทองดีพัฒนา ของบ้านนานกเขียน ต่อมาพี่ชายย้ายไปอยู่ คณะสุภีร์คะนองศิลป์ ที่ขอนแก่น เขาก็ติดตามไปเช่นเดิม และซึมซับเอาศิลปะหมอลำไปไม่น้อย แต่ที่คณะนี้เขาได้เข้าร่วมวงในฐานะมือกลอง โดยได้ค่าตัวคืนละ 50 บาท เขากับพี่ชายอยู่ที่นี่ได้ราว 1 ปีก็กลับมาอยู่กับ หมอลำคณะขวัญใจจักรวาล ที่บ้านเกิด โดยรับหน้าที่มือกลองเช่นเคย แต่มีโอกาสได้ร้องเพลงบ้าง เขาอยู่ที่นี่ 2 - 3 ปี

จากนั้นได้ย้ายมาอยู่กับ หมอลำคณะเพชรสยาม ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจบันเทิงของ เทพบุตร สติรอดชมพู โดยศักดิ์สยามยังคงรับหน้าที่ตีกลองและร้องเพลงบ้างเช่นเดิม แต่ได้ค่าเหนื่อยเพิ่มขึ้นเป็นคืนละ 70 บาท เขาอยู่ที่นี่อีกราว 2 - 3 ปี

ต่อมา บุญชื่น รื่นฤดี ซึ่งเป็นชื่อของเขาในการทำหน้าที่ร้องเพลงขัดตาทัพในวง ก็ถูกชวนให้ย้ายมาอยู่ใน คณะหมอลำรังสิมันต์ วงหมอลำที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้นนำโดย หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน หมอลำทองคำ เพ็งดี และน้องใหม่ หมอลำบานเย็น รากแก่น แต่วงนี้ก็ยังอยู่ในเครือของ เทพบุตร สติรอดชมพู เช่นกัน โดยในยุคนั้น วงรังสิมันต์ มีการเปลี่ยนแปลงจากวงหมอลำแท้ๆ มาเป็นวงหมอลำ-ลูกทุ่ง เพื่อขยายตลาดไปยังภาคอื่นๆ ที่นี่ ศักดิ์สยาม ยังคงทำหน้าที่มือกลองและร้องเพลงเช่นเดิมทุกประการ

sak siam 03

ในยุคนั้น บางครั้งวงรังสิมันต์ ก็ต้องแปลงร่างไปเป็นวงดนตรี “จิระ จีรพันธุ์“ เจ้าของเพลงดัง เศรษฐีขายขี้กระบอง ด้วย เพราะว่า วงดนตรีจิระ จีรพันธุ์ ก็อยู่ในเครือข่ายธุรกิจของเทพบุตร สติรอดชมพู เช่นกัน แต่ในการแสดงวันหนึ่ง ตัวหัวหน้าวงเกิดมาไม่ทันการแสดง วงจึงเปิดการแสดงไปก่อนโดยใช้ชื่อวงอื่นแทน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับหัวหน้าวงผู้มาสายอย่างมาก จึงเกิดการอาละวาดต่อหน้า เทพบุตร สติรอดชมพู เขาจึงมีคำสั่งดอง จิระ จีรพันธุ์ และดันเอา ศักดิ์สยาม ให้ขึ้นมาแทน โดยได้ยื่นกระดาษให้แผ่นหนึ่งโดยบอกให้เอาไปท่อง ซึ่งในกระดาษดังกล่าวก็คือเนื้อเพลง "ตามน้องกลับสารคาม" ที่เตรียมเอาไว้ให้ จิระ จีรพันธุ์ สำหรับการบันทึกแผ่นเสียงนั่นเอง

ตามน้องกลับสารคาม เพลงสร้างชื่อให้ ศักดิ์สยาม เพชรชมพู

ไม่กี่วันถัดมา เขาก็เข้าเมืองหลวงเพื่ออัดแผ่นเสียงที่ ห้องอัดของห้างแผ่นเสียงศรีกรุง ถึง 6 เพลงรวด ซึ่งหาได้ไม่ค่อยได้บ่อยนักสำหรับนักร้องหน้าใหม่ 6 เพลงดังกล่าวก็คือ ตามน้องกลับสารคาม,  เสน่ห์สาวเวียงจันทน์, ธิดากัมปงจา, คิดฮอดอย่างแฮง, คุยเขื่อง และ เศรษฐีขายขี้กระบอง งานนี้ เขาหันมาใช้ชื่อใหม่ ศักดิ์สยาม เพชรชมพู ตามที่ เทพบุตร สติรอดชมพู ตั้งให้

จากนั้นไม่นาน เพลงตามน้องกลับสารคาม ก็ฮิตติดหูแฟนเพลงในภาคอีสานตามที่หวังกันไว้ จึงมีการตั้ง วงดนตรีศักดิ์สยาม เพชรชมพู ขึ้นรองรับความดังทันที ความโด่งดังของเขา สามารถกลบความดังของวงหมอลำในเครือของเทพบุตร สติรอดชมพูเสียหมดสิ้น ภายในปีเดียว ความดังของเขาก็ติดลม เมื่อเข้าไปเปิดการแสดงในกรุงเทพฯ ที่สนามมวยลุมพินี ก็เกิดปรากฏการณ์เวทีแตกแฟนๆ มาฟังและต้องการเห็นหน้านักร้องที่ร้องเพลง ตามน้องกลับสารคาม มีหน้าตาเป็นอย่างไร มีการบันทึกเสียงเพิ่มเติมต่อมาอีกหลายเพลง และก็ได้รับความนิยมมากมาย อาทิ คักใจเจ้าแล้วบ่, สัญญาเดือนสาม และอื่นๆ

sak siam 05

วงดนตรีศักดิ์สยาม เพชรชมพู ในยุคนั้น ถือเป็นวงดนตรีอีสานวงแรก ที่มีรูปแบบเป็นลูกทุ่งมาตรฐาน โดยไม่ต้องอาศัยหมอลำมาเรียกความนิยมเช่นแต่ก่อน และความนิยมที่ได้รับก็ทำให้วงนี้กล้าประชันวงกับ สายัณห์ สัญญา ที่กำลังดังจากเพลง ลูกสาวผู้การ และรักเธอเท่าฟ้า ส่วนเรื่องรายได้จากการเก็บค่าผ่านประตู ก็เคยทำสถิติมาแล้วในการแสดงที่เวทีมวยลุมพินี ซึ่งในยุคโด่งดังมี ดาว บ้านดอน และ เทพพร เพชรอุบล ก็เคยมาร่วมงานกับวงนี้ด้วยเช่นกัน

sak siam 01แต่ในด้านรายได้ในฐานะหัวหน้าวงตัวปลอม ศักดิ์สยาม มีรายได้แค่คืนละ 400 บาทเท่านั้น ไม่ว่าวงจะเปิดการแสดงวันละกี่รอบก็ตาม ก่อนที่จะขยับขึ้นมาเล็กน้อยอีก 100 บาท เรื่องนี้สร้างความอึดอัดให้กับตัวนักร้องอย่างมาก แม้ว่า วิเชียร สติรอดชมพู ซึ่งเป็นน้องชายของเทพบุตร จะแอบมุบมิบยัดเงินช่วยเหลือศักดิ์สยามอยู่บ้างในหลายๆ ครั้ง

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ศักดิ์สยาม ก็ถึงขั้นหลบหนีออกจากวงไป แต่ก็ถูกตามตัวกลับมา ซึ่งจากความอึดอัดเรื่องรายได้ ซึ่งก็ทำให้ทั้ง ดาว บ้านดอน และ เทพพร เพชรอุบล ต่างก็แยกตัวออกไปจากวงเช่นเดียวกัน

ต่อมา เทพบุตร สติรอดชมพู หันไปทุ่มเทกับ บานเย็น รากแก่น เพื่อให้เป็นนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง ขณะที่ความนิยมในศักดิ์สยามก็เริ่มลดลง และหลังยุคเพลง ทุ่งกุลาร้องไห้ และ อ.ส. รอรัก ผลงานของ ครูสุรินทร์ ภาคศิริ ความบาดหมางระหว่างหัวหน้าวงตัวปลอมกับหัวหน้าวงตัวจริง (เทพบุตร) จากเรื่องเงินๆ ทองๆ ก็ปรากฏออกมาเรื่อยๆ

จนในที่สุด ในปี 2521 ศักดิ์สยาม เพชรชมพู ก็แยกตัวออกมา และได้เปลี่ยนวงรัตนวาริน วงดนตรีโนเนมแถวสระบุรีให้เป็น วงศักดิ์สยาม เพชรชมพู โดยมีเสี่ยคนหนึ่งเป็นนายทุนให้ ที่นี่เขามีรายได้วันละ 1,200 บาท และเปิดการแสดงครั้งแรกในวันขึ้นปีใหม่ปี 2522 ที่สระบุรี วงของเขาออกเดินสายเฉพาะเขตจังหวัดภาคกลาง และภาคตะวันออก

เนื่องจากเครือข่ายของวงไม่กว้างขวางพอ สำหรับการเดินสายแสดงไปทั่วประเทศ เขาเดินสายจนถึงปี 2525 ชื่อเสียงก็เริ่มจางหายจนเกือบหมด พี่ชายจึงชวนออกมาตั้งคณะหมอลำชื่อ เพชรเม็ดเยี่ยม ศักดิ์สยาม จากนักร้องจึงถูกแปลงไปเป็นพระเอกหมอลำ แต่การที่เป็นนักร้องที่ใช้เสียงสูง เมื่อมาเป็นหมอลำที่ต้องใช้เสียงต่ำลงมา ทำให้เขาเกิดความอึดอัด ก็เลยประกาศเลิกเป็นหมอลำ ต่อหน้าแฟนหมอลำที่มาชมการแสดง เมื่อเดือนเมษายน 2525 ก่อนที่จะหันมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็น นักร้องรับเชิญตามห้องอาหาร และผลิตผลงานใหม่ออกมาบ้างตามโอกาส

เคยเข้าไปร่วมงานในยุคท้ายๆ กับวงดนตรีเพชรพิณทอง ของ นพดล ดวงพร (ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2542-2543) พร้อมกับ เหลือง บริสุทธิ์ และ ร้อยเอ็ด เพชรสยาม

ศักดิ์สยาม เพชรชมพู (บุญชื่น เสนาลาด) ศิลปินมรดกอีสาน พ.ศ.๒๕๕๒ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รางวัลเกียรติยศ

  • ได้รับโล่ห์เกียรติยศจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และอื่นๆ อีกมากมายในฐานะนักร้องและวงดนตรีที่อุทิศตนช่วยเหลืองานการกุศลต่างๆ
  • ได้รับรางวัลเกียรติคุณ ผู้ขับร้องเพลงลูกทุ่งดีเด่น (เพลงทุ่งกุลาร้องให้ ผลงานของ ครูสุรินทร์ ภาคศิริ) เป็นมรดกแกว่งลูกทุ่งไทย จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เนื่องในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2 ซึ่งเป็นรางวัลพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปี 2534
  • ได้รับเกียรติเป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ขับร้องเพลงลูกทุ่ง) ประจำปี พ.ศ. 2552 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ทุ่งกุลาร้องไห้ - ศักดิ์สยาม เพชรชมภู (กึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 2)

ผลงานเพลงดัง

คักใจเจ้าแล้วบ่, สัญญาเดือนสาม, ตามน้องกลับสารคาม, เสน่ห์สาวเวียงจันทน์, ขันหมากลูกกำพร้า, คิดฮอดอย่างแฮง, รวมอักษร, ช่างหัวมันเถาะ, เซียงบัวล่องกรุง, เสียงซอ, คุยเขื่อง, ธิดากัมปงจา, นัดตีสี่, เจ็บๆ แสบๆ, อย่าไปตามดวง, ร้องไห้ทำหยัง, จดหมายรักฉบับแรก, คงมีสักวัน, หงส์ปีกหัก, กอดหมอนนอนหนาว, ตามน้องทั่วอีสาน, แอมจ๋า, ฮักสาวรำวง, หัวใจแหว่ง, อย่าเห็นกันดีกว่า, ผิดด้วยหรือที่เกิดมาจน, นักร้องกลัวเมีย, สาลิกาหลายรัง, แคนสะกิดสาว, ศักดิ์สยามเดินกลอน, ศักดิ์สยามกราบแฟน, พระพรหมช่วยที, วาสนาอ้ายน้อย, จากบ้านนาด้วยรัก, อาลัยสาวเรณู, น้ำในคลอง

sak siam 02

งานนี้ต้องขอขอบคุณอย่างสูงสำหรับข้อมูล จากหนังสือ อีสานคดีชุดลูกทุ่งอีสาน ประวัติศาสตร์อีสานตำนานเพลงลูกทุ่ง เขียนโดย แวง พลังวรรณ และภาพจากผู้ใจบุญในอินเตอร์เน็ต

ที่มา : คันทรี่แมน

เพลง อ.ส. รอรัก ของ ศักดิ์สยาม เพชรชมพู

redline

backled1