foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

AJ Juan header

พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

Juan Kulchetro 02พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

พระอริยเจ้าผู้มีกายและจิตสมควรแก่วิมุติธรรม

วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย (ปัจจุบันอยู่ที่ บ้านคำแคน ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ) พระสายวิปัสสนากัมมัฏฐานอีกรูปหนึ่งแห่งภาคอีสาน ที่มีวัตรปฏิบัติเป็นที่น่าเลื่อมใส

พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ เกิดในสกุล นรมาส เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2463 ตรงกับวันเสาร์ แรม 10 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ที่เลขที่ 28 หมู่ที่ 12 บ้านแหล่งมันแกว ตำบลดงมะยาง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ในขณะนั้น) บิดาท่านชื่อ ลา มารดาชื่อ แหวะ สกุลเดิม วงศ์จันทร์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 7 คนท่านเป็นบุตรคนที่ 6

บรรพบุรุษของท่านอพยพมาจากเวียงจันทน์ สปป.ลาว เป็นอุปฮาดของเมืองเวียงจันทน์ เมื่อมีภัยสงครามเกิดขึ้น เวียงจันทน์แตก อุปฮาดผู้เป็นต้นตระกูลก็พาครอบครัวอพยพมา ครั้งแรกตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลหนองวัวลำภู ต่อมาย้ายถิ่นฐานบ้านช่อง กระทั่งท้ายที่สุดมาอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี

บิดามีอาชีพทำนา และมีความรู้ทางด้านสมุนไพรมาก เพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียงได้อาศัยเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย คือเป็นหมอประจำหมู่บ้าน เป็นที่รักใคร่นับถือ และได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งบิดาของท่านก็ดำรงตำแหน่งนี้มาตลอดจนถึงแก่กรรม ขณะนั้นท่านอายุได้ 16 ปี

Juan Kulchetro 03

ช่วงวัยเด็กท่านได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนบ้านโคกกลาง ตำบลมะยาง อำเภออำนาจเจริญ และเข้าไปศึกษาในระดับมัธยมที่โรงเรียนประจำจังหวัด ชีวิตการเรียนของท่านสอบได้ที่ 1 มาตลอด ได้รับคำชมเชยยกย่องจากครูบาอาจารย์ ทั้งในด้านการเรียน และในด้านความประพฤติ จนครูเชื่อถือรักใคร่ ให้ช่วยสอนเพื่อนนักเรียนแทนครูตลอด เป็นประจำทุกชั้นเรียน

Juan Kulchetro 01เมื่อท่านอายุได้ 14-15 ปี ได้พบพระธุดงค์ มาปักกลดอยู่ใกล้บ้านก็บังเกิดความเลื่อมใสตั้งปณิธานว่าต่อไปจะบวชอย่างท่านบ้าง พระธุดงค์ได้มอบหนังสือ “ไตรสรณาคมน์” ของท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม แห่งวัดป่าสาลวัน นครราชสีมา มาให้ หนังสือนี้นอกจากสอนให้พุทธศาสนิกชน รู้จักการเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแท้จริงแล้ว ได้สอนวิธีปฏิบัติภาวนาด้วย

ท่านบังเกิดความคิดเลื่อมใสศรัทธา จึงจะลองปฏิบัติตามหนังสือนั้น เริ่มสวดมนต์ไหว้พระ ทำวัตรต่อ แล้วนั่งสมาธิหัดบริกรรม “พุทโธ ...พุทโธ...พุทโธ” จนกระทั่งปรากฏว่าจิตรวม จิตกับกายแยกกัน ไม่เหมือนกัน จิตอยู่เฉพาะจิต กายอยู่เฉพาะกาย เวทนาใดก็ไม่มีปรากฏเลย

ท่านเล่าว่า เวลานั้นก็ไม่รู้จักอะไรลึกซึ้ง ด้วยหัดเอง ทำเอง ทำตามลำพังคนเดียว ไม่มีผู้รู้มาสอนให้ก้าวหน้าขึ้น ได้แต่รู้สึกว่า นั่งสมาธิแล้วก็สบายดี กายเบา จิตขาวนิ่มนวลผ่องใส เหมือนนั่งนอนอยู่อากาศอันนิ่มนวล ทำให้จิตใจดูดดื่มมาก นึกอยากจะภาวนาเสมอๆ ถ้าวันไหนใจไม่สบาย ก็ต้องเข้าที่นั่งภาวนา สงบใจเสมอ

ภายหลังระหว่างทำงานได้รับหนังสือ “จตุราลักษณ์” ของท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล มาอ่านเพิ่มเติมสติปัญญาอีก เมื่อท่านอ่านไปถึง มรณานุสติ จิตก็สลดสังเวชว่า เราก็ต้องมีตายอยู่นั่นเอง และในหนังสือนั้น ท่านพระอาจารย์เสาร์ฯ ก็ได้ย้ำถึงเรื่องกรรมว่า

คนเราต่างมีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป เมื่อยังมีชีวิตอยู่ กรรมนั้นจักเป็นทายาทให้เราได้รับผลกรรมนั้นต่อๆ ไป คือ หมายความว่า กรรมต่างจำแนกสัตว์ให้เป็นไปต่างๆ นานา ให้เลว ให้ดี ให้ชั่ว ให้ประเสริฐ

เมื่ออ่านกันถึงตอนนี้ ท่านก็บังเกิดความสลดสังเวชใจอย่างยิ่ง นึกว่า คนเราที่เกิดมา ถ้าไม่ประกอบคุณงามความดี ก็ไม่มีประโยชน์แก่ชีวิตของตน และไม่มีโอกาส ที่จะได้รับความสุขต่อไปในชาติหน้าอีก ศรัทธาในพระศาสนาก็เพิ่มพูนขึ้น

กล่าวได้ว่า ท่านเป็นผู้มีนิสัยฝักใฝ่ในทางธรรมะมาแต่เด็ก นอกจากการวิ่งเล่นซุกซน สนุกสนานตามวิสัยเด็กน้อยแล้ว สำหรับนิสัยทางสร้างบาปสร้างกรรมไม่มีเลย ท่านเล่าเสมอว่า ท่านไม่ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ส่วนการหยิบฉวยลักขโมยนั้น แม้แต่เข็มสักเล่มเดียว ก็ไม่เคยหยิบฉวยของใครเลย

เมื่อเรียนจบชั้น ม.6 สมัครเข้ารับราชการที่ กรมทางหลวงแผ่นดิน อยู่นานถึง 4 ปี จนอายุครบ 21 ปี เข้าพิธีอุปสมบทฝ่ายมหานิกาย ที่วัดเจริญจิต บ้านโคกกลาง ตำบลดงมะยาง อำเภออำนาจเจริญ โดยมีหลวงพ่อบุ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “จวน กลฺยาณธมฺโม”

พรรษาแรก สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี ระหว่างที่บวชเป็นพระบ้านอยู่นั้น ท่านปรารถนาจะออกธุดงค์ เจริญรอยตามพระธุดงคกัมมัฏฐาน ที่เคยกราบคารวะเมื่อยังเด็ก จึงคิดจะญัตติเป็น 'ธรรมยุต' เพื่อออกธุดงค์ เมื่อไปขอลาอุปัชฌาย์ ท่านไม่ให้ญัตติ ให้สึกเสียก่อน ท่านจึงตัดสินใจลาสิกขาบทออกมาเป็นฆราวาสก่อนชั่วคราว

Juan Kulchetro 05

ออกมาประกอบอาชีพเป็นช่างเย็บผ้า ทำงานขยันขันแข็งหามรุ่งหามค่ำจนล้มป่วยหนัก เมื่อหายป่วย ท่านได้เดินทางไปแสวงหาอาจารย์ฝ่ายธรรมยุตกัมมัฏฐาน ได้มาพบที่สำนักวัดป่าสำราญนิเวศน์ อำเภออำนาจเจริญ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุต เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี ท่านพระครูทัศนวิสุทธิ (มหาดุสิต เทวิโร) เป็นพระอุปัชฌายะ ท่านพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ อุปัชฌาย์เพิ่งได้รับแต่งตั้งและมาบวชท่านเป็นองค์แรก จึงตั้งฉายาให้ท่านว่า “กุลเชฏโฐ” แปลว่า พี่ชายใหญ่ที่สุดของวงศ์ตระกูลนี้ องค์ที่สองที่อุปัชฌาย์บวชต่อมา คือ ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมมวโร แห่งวัดป่าแก้ว บ้านชุมพล ซึ่งท่านอาจารย์จวนได้มานั่งหัตถบาถอยู่ด้วย

เริ่มปฏิบัติกัมมัฏฐานโดยบริกรรมด้วยคำว่า “พุทโธ” และงดฉันอาหารประเภทเนื้อสัตว์ทุกชนิด ฉันแต่มังสวิรัติอย่างเดียว ด้วยเป็นอาหารธรรมชาติ ทำให้จิตใจเบาสบาย คลายความกำหนัดในกามคุณ ไม่ตกเป็นทาสของลิ้น

LP Mann 01ต่อมาท่านได้ออกเดินธุดงค์ไปยังมุกดาหาร และไปนมัสการพระธาตุพนม ระหว่างทางอาศัยที่พบเห็นเจริญอสุภกัมมัฏฐาน พิจารณาเห็นความจริงในเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นตามลำดับ และเดินทางแสวงวิเวกไปเรื่อย หยุดพักตามป่าช้าแต่เพียงลำพัง ด้วยจิตใจอันกล้าหาญ

ในช่วงระหว่างจำพรรษาที่วัดบ้านนาจิกดอนเมย บ้านหนองปลิง ตำบลนาจิก อำเภออำนาจเจริญ ท่านปฏิบัติกัมมัฏฐานด้วยการไม่หลับนอนตลอดระยะเวลา 3 เดือน และฉันอาหารมังสวิรัติ ปรากฏว่าทำสำเร็จได้ผลดีในทางกำลังใจ และมีสติสัมปชัญญะเข้มแข็ง สามารถใช้สติควบคุมจิตได้ดีขึ้น ตามหลักมหาสติปัฏฐานนอกจากนี้ ยังออกเที่ยวแสวงวิเวกบำเพ็ญเพียร ตามป่าเขาลำเนาไพรแถบเทือกเขาภูพาน ธุดงค์ขึ้นไปทางเชียงใหม่และเชียงตุงด้วย

พระอริยคุณคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) ได้พาพระอาจารย์จวนมาฝากไว้กับ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร หลวงปู่มั่น อบรมสั่งสอนพระอาจารย์จวนว่า การปฏิบัติกัมมัฏฐานต้องมุ่งมรรคผลนิพพาน ต้องมีความเพียร ตั้งสัจจะทำจริงอย่างเด็ดเดี่ยว อีกทั้งยังสอนให้พิจารณากายคตาสติ คือให้ใช้สติเพ่งพิจารณาในร่างกายมีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น ให้เห็นว่าเป็นสิ่งปฏิกูลน่าเกลียด ต้องคอยบำรุงรักษาอยู่ตลอดเวลา

พระอาจารย์จวนปฏิบัติตามคำแนะนำของหลวงปู่มั่น สามารถรวมจิตใจให้สงบลงได้คล่องแคล่ว รวดเร็ว ถูกนิสัย นั่งสมาธิได้ตั้งแต่หัวค่ำยันสว่าง จนจิตผ่องใสสว่างโพลงเป็นปรากฏมหัศจรรย์ยิ่ง ท่านได้ออกธุดงค์ไปยังที่ต่างๆ ทั่วภาคอีสานจนไปถึงทางภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้าพักที่วัดเจดีย์หลวง ซึ่งเป็นวัดที่ท่านพระอาจารย์มั่นเคยเป็นเจ้าอาวาสอยู่ พักผ่อนวิเวกที่วัดนี้ประมาณ 3 เดือน คืนหนึ่งขณะนั่งภาวนาในโบสถ์มีนิมิตเกิดขึ้นว่า มีพระเถระรูปหนึ่งได้มาให้โอวาทตักเตือนว่า

ท่านจวน ถ้าท่านจะเป็นผู้ใหญ่เขานั้น ท่านอย่าวางแผ่นดิน เพราะความประพฤติของท่านยังไม่สม่ำเสมอ ”

ท่านได้มาพิจารณาดู 'แผ่นดิน' แปลว่า ให้มีความหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน เมื่อถูกกระทบกระเทือนจากอารมณ์ก็อย่าวอกแวก ตั้งใจให้เป็นสมาธิ ไม่หวั่นไหวฟุ้งซ่าน ท่านจึงได้กราบเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่นว่า

“กราบเรียนพ่อแม่ครูอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง เกล้ากระผมได้นั่งภาวนาแล้วเกิดนิมิต ปรากฏพระเถระผู้ใหญ่มาตักเตือนว่า – ท่านจวน ถ้าท่านจะเป็นผู้ใหญ่เขานั้น ท่านอย่าวางแผ่นดิน เพราะความประพฤติของท่านยังไม่สม่ำเสมอ... ดังนี้ เกล้ากระผมเป็นผู้มีสติปัญญาน้อย ไม่สามารถจะรู้ว่าอะไรเป็นแผ่นดิน ขอนิมนต์พ่อแม่ครูอาจารย์โปรดประทานให้โอวามตักเตือนด้วย”

ท่านพระอาจารย์มั่นได้ตอบจดหมายมาว่า “ถึงท่านจวนที่อาลัยยิ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมได้แนะนำให้ท่านนั้น ขอให้ท่านจงตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติดำเนินไปตามคำที่ผมแนะนำ อย่าได้ประมาทเพื่อจะได้เป็นเกียรติยศแก่พระพุทธศาสนาต่อไป”

ท่านมีความปรารถนาจะเดินธุดงค์ไปให้ถึงประเทศอินเดีย ระหว่างเตรียมตัวเดินทาง ท่านได้อธิษฐานจิตดูว่า ถ้าสมควรจะได้ไปอินเดีย ขอให้ได้นิมิตที่ดี ถ้าไม่ควรไป ขอให้ได้นิมิตที่ร้าย อยู่ต่อมาท่านจึงได้นิมิตว่า

"ปรากฏเห็นพระพุทธเจ้า พระอานนท์ พระมหากัสสปะ และช้าง เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จไป พระอานนท์เสด็จตามห่างประมาณ 10 เมตร องค์สุดท้ายคือ พระมหากัสสปะ ตามหลังมาเป็นช้างตัวใหญ่ ช้างนั้นพอเดินมาถึงท่านอาจารย์ ก็วิ่งตรงเข้ามาจะทำร้าย ท่านได้วิ่งหนีขึ้นต้นโพธิ์ ช้างจึงทำอะไรไม่ได้ เมื่อช้างไปแล้ว ท่านจึงลงมาจากต้นโพธิ์ ที่ใต้ต้นโพธิ์มีอาสนะพร้อมทั้งหมอนและหนังสือวางอยู่ ท่านจึงลงมานั่งที่อาสนะและอ่านหนังสือ"

เมื่อตื่นจากนิมิต ท่านจึงมาพิจารณาเห็นว่า แม้นิมิตตอนต้นที่เห็นพระพุทธเจ้าจะเป็นมงคล แต่ตอนกลางนั้น แสดงถึงอุปสรรค จึงไม่ควรไปอินเดีย จึงตัดสินใจเดินทางกลับจากเชียงตุง นั่งรถไฟกลับจังหวัดอุบลราชธานี

Juan Kulchetro 04

เมื่อกลับมาอุบลราชธานีแล้ว ได้ไปรับมารดามาบวชเป็นชีที่วัดป่าบ้านเหล่ามันแกว ท่านพระอาจารย์มั่นได้จัดให้ท่านไปจำพรรษาอยู่ที่บ้านเดิม เพื่อสงเคราะห์โยมมารดา และท่านยังได้สั่งกำชับว่า “เมื่อออกพรรษาแล้ว ให้รีบกลับมาหาผมนะ เดี๋ยวจะไม่ทันผม” เพราะท่านอาจารย์มั่นกำหนดอายุของท่านไว้ 80 ปีเท่านั้น และปีนั้นท่านอาจารย์มั่นมีอายุได้ 80 ปีพอดี

หลังออกพรรษาปีนั้น ตั้งใจจะกลับไปหาท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พอมาถึงบ้านดงมะอี่ มีญาติมาส่งข่าวว่า โยมมารดาและพี่ชายเจ็บหนัก จึงต้องเดินทางกลับ อยู่พยาบาลได้ 1 เดือน พี่ชายได้ถึงแก่กรรม ต่อมาโยมมารดาก็ได้เสียชีวิตลงอีก จึงได้จัดการฌาปนกิจท่านทั้งสองเป็นที่เรียบร้อย ท่านได้รีบเดินทางไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น แต่ไม่ทันเห็นใจ เพราะท่านได้มรณภาพเสียก่อนแล้ว ได้แต่ไปช่วยงานฌาปนกิจศพของท่านพระอาจารย์มั่นอยู่เป็นเวลาเดือนเศษ

ช่วงพรรษาที่ 11-13 ได้ออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมร่วมกับ หลวงปู่ขาว อนาลโย ที่ดงหม้อทอง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร พรรษาที่ 17 (ปี พ.ศ. 2502) ได้อกธุดงค์เข้าสู่กลางดงศรีชมภู อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย เป็นดินแดนอันสงบสงัดวังเวงใจ สภาพที่เห็นคล้ายซากเมืองโบราณ มนุษย์ถือว่าเป็นถิ่นอาถรรพ์มีภูติผีปีศาจสิงอยู่มากมาย เมื่อธุดงค์เข้าไปอยู่ในถ้ำจันทร์ พระอาจารย์จวนฝึกจิตใจให้เข้าสู่ร่องรอยของพระโยคาวจร นั่งสมาธิปากเหวลึกให้จิตสงบ สร้างตบะให้แก่กล้า

หลังอยู่จำพรรษาที่ถ้ำจันทร์นาน 4 ปี พระอาจารย์จวนแสวงวิเวกมาทางภูสิงห์ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย บำเพ็ญเพียรอยู่ 1 พรรษา ก่อนมุ่งหน้าไปยังภูวัว

Juan Kulchetro 06

พรรษาที่ 27 (พ.ศ.2512) พระอาจารย์จวนอยู่ที่ ภูทอก อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย (ในขณะนั้น) คำว่า ภูทอก ในภาษาอีสานนั้น แปลว่า ภูเขาโดดเดี่ยว ที่นี่จะมีภูเขาอยู่ 2 ลูก ด้วยกัน คือ ภูทอกใหญ่ และ ภูทอกน้อย ส่วนที่สามารถชมได้คือ ภูทอกน้อย ส่วนภูทอกใหญ่จะอยู่ห่างออกไป และยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม โดยปักกลดอยู่ที่ถ้ำเชิงเขา บริเวณรอบๆ เป็นป่าทึบ รกชัฏ มีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์ เบื้องต้นภูทอกยังไม่มีแอ่งเก็บน้ำ สมัยนั้นต้องอดน้ำ อาศัยฝนที่ค้างอยู่ตามแอ่งหิน อาหารการขบฉัน อาศัยบิณฑบาตจากชาวบ้านนาคำแคน ซึ่งได้อพยพไปอยู่ใหม่ๆ ประมาณ 10 หลังคาเรือน การบิณฑบาตขาดแคลนมาก ตามมีตามได้ พอเข้าหน้าแล้ง ท่านได้ขอให้ชาวบ้านช่วยกันสร้างทำนบกั้นน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ และขึ้นมาปลูกกระต๊อบอยู่ชั่วคราวที่โขดหินตีนเขาชั้น 2

ปีแรกที่จำพรรษาอยู่ที่ภูทอก มีพระ 3 องค์ ผ้าขาวน้อย 1 องค์ ปลูกกระต๊อบชั่วคราวพออาศัยได้ 4 หลัง ทุกองค์ต่างทำความเพียรอย่างเต็มที่ เวลาพลบค่ำ ท่านอาจารย์ขึ้นไปนอนบนชั้น 5 โดยปีนขึ้นตามเครือเขาเถาวัลย์ ตามรากไม้ ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นถ้ำวิหารพระ สมัยนั้นยังเป็นป่าทึบ มีต้นไม้ขึ้นอย่างหนาแน่น

ในระหว่างกลางพรรษาที่ 27 ได้ชักชวนญาติโยมทำบันไดขึ้นเขาชั้นที่ 5 และชั้นที่ 6 จนสำเร็จ ทำอยู่ประมาณ 2 เดือนกับ 10 วัน จึงเสร็จเรียบร้อย การสร้างบันไดนี้สำเร็จในกลางพรรษา ได้อาศัยศรัทธาญาติโยมและชาวบ้านใกล้เคียงช่วยกันคนละเล็กละน้อย ช่วยกำลังแรง ส่วนกำลังทรัพย์ไม่มี เพราะต่างเป็นคนยากจน มีแต่ศรัทธาเท่านั้น

Juan Kulchetro 07

จากนั้นได้เริ่มพัฒนาภูทอกน้อย เป็นวัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อําเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย (ปัจจุบันเป็น จังหวัดบึงกาฬ) โดยทำสะพานขึ้นลงบนยอดเขาให้สามารถเดินขึ้นลงโดยสะดวก นอกจากได้ก่อสร้างในวัดแล้ว ยังได้ทำประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านใกล้เคียงอีกด้วย โดยได้สร้างทำนบกั้นน้ำให้แก่ชาวบ้าน 6 ทำนบ และในปี 2523 ได้เริ่มทำถนนรอบภูเขา 3 ลูก คือ ภูทอกน้อย ภูทอกใหญ่ และภูสิงห์น้อย ซึ่งต่างก็เป็นสำนักสงฆ์ของวัด เพื่อเป็นการกั้นเขตแดนวัด จะได้เป็นที่พึ่งพาอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด และยังเป็นการสงวนป่าไม่อีกด้วย (เมื่อท่านอาจารย์จวนมรณภาพแล้ว งานนี้ยังค้างอยู่ ทางวัดได้ทำต่อจนแล้วเสร็จ รวมทั้งทำนบน้ำแห่งใหม่ในหมู่บ้านด้วย

Juan Kulchetro 08

พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ท่านละสังขารเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2523 ด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินของบริษัทเดินอากาศไทย (การบินไทย ในปัจจุบัน) ตก ณ ท้องนาทุ่งรังสิต หมู่ที่ 4 ตําบลคลองหลวง อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ผู้โดยสารเสียชีวิต 40 ราย พร้อมกับ พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม , พระอาจารย์วัน อุตฺตโม , พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร , พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม

Juan Kulchetro 09

และพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ สิริรวมอายุ 59 ปี 5 เดือน 18 วัน พรรษา 38 สร้างความเศร้าสลดแก่คณะศิษยานุศิษย์เป็นยิ่งนัก ถิอว่าเป็นการสูญเสียครูบาอาจารย์พระป่ากรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ไปพร้อมกันทีเดียวถึง 5 รูปด้วยกัน ถือได้ว่าเป็นการสูญเสียของวงการสงฆ์ครั้งใหญ่ของเมืองไทย

redline

backled1

LP Amorn header

LP Amorn 02พระมงคลกิตติธาดา (พระมหาอมร เขมจิตโต)

หลวงพ่ออมร หรือ หลวงปู่อมร หรือ ท่านพระมหาอมร ตามที่ชาวบ้านที่เคารพนับถือเรียกหาศรัทธา หรือสมณศักดิ์ที่ได้รับพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระมงคลกิตติธาดา ท่านเป็นเจ้าคณะอำเภอม่วงสามสิบ และเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าวิเวก (ธรรมชาน์) ซึ่งเป็นวัดสาขาของวัดหนองป่าพง สาขาที่ 7 อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี

ชาติกำเนิด

เดิมท่านชื่อ นายอมร บุตรศรี เกิดวันที่ 4 มกราคม 2474 ที่บ้านหนองขุ่น ตำบลยางโยภาพ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อนายหลอด บุตรศรี มารดาชื่อนางกว้าง บุตรศรี มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน ท่านเป็นคนที่ 2 ได้รับการศึกษาทางโลกจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านหนองขุ่น ขณะที่มีอายุได้ 13 ปี จากนั้นได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดหนองขุ่น ตำบลยางโยภาพ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2487 โดยมี พระครูอัครธรรมวิจารณ์ (เลิศ ฉนโน) เจ้าอาวาสวัดหนองหลัก เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังจากการบรรพชา สามเณรอมร บุตรศรี ก็ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย โดยสามารถสอบได้นักธรรมตรีได้ในปีแรกที่บรรพชา และสอบได้นักธรรมโทในอีก 2 ปีถัดมา หลังจากนั้นท่านเริ่มมีความคิดอยากจะไปศึกษาต่อในตัวเมืองอุบลราชธานี แต่พระอุปัชฌาย์แนะให้ไปเรียนที่กรุงเทพฯ โดยฝากให้ไปอยู่กับ ท่านเจ้าคุณปริยัติยานุรักษ์ ที่ วัดทองนพคุณ คณะ 10 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2491 ท่านมีความอุตสาหวิริยะจนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค (ได้คะแนนเต็มทุกวิชา) และสอบได้นักธรรมชั้นเอกในปี พ.ศ. 2494 ขณะที่ยังเป็นสามเณร

จนกระทั่งอายุครบ 20 ปี (พ.ศ. 2494) ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดทองนพคุณ กรุงเทพมหานคร โดยมี พระเทพวิมล (ชุ่ม ติสาโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระภัทรมุนี (อิ๋น ภัทรมุนี) เป็นพระกรรมวาจารย์ พระปริยัตยานุรักษ์ (สมบูรณ์ เตมิโย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลังจากการอุปสมบทท่านก็ยังไม่ได้ละมานะที่จะเรียนบาลี โดยท่านสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค ในปี พ.ศ. 2497 และในปี พ.ศ. 2499 ท่านได้เดินทางกลับวัดหนองขุ่น ท่านเป็นเปรียญธรรมรูปแรกของบ้านหนองขุ่น

ในปี พ.ศ. 2508 เป็นครั้งแรกที่พระมหาอมรได้พบกับ หลวงพ่อชา สุภัทโท ที่วัดหนองหลัก ท่านเล่าความรู้สึกในครั้งนั้นว่า "นึกชอบในอากัปกิริยาที่ดูเคร่งขรึมอันสำรวมของหลวงพ่อชามาก แต่ด้วยเหตุที่ยังหยิ่งในภูมิปริยัติของตนเอง ที่ได้เปรียญ 6 ประโยคมาจากกรุงเทพฯ ส่วนหลวงพ่อชาแม้จะเป็นนักธรรมเอก แต่ก็เป็นพระบ้านนอก จึงทำให้ในขณะนั้นท่านยังไม่รู้สึกเลื่อมใสหลวงพ่อชามากนัก"

LP Amorn 01

แต่ในที่สุดแล้ว ท่านก็ได้ตัดสินใจไป วัดหนองป่าพง โดยตั้งใจครั้งแรกว่า "จะไปทดลองดูก่อน" เมื่อเหยียบย่างเข้าไปในวัดหนองป่าพงครั้งแรก หลวงพ่อเกิดความรู้สึกประทับใจ และเกิดความเลื่อมใสในหลวงพ่อชาเป็นอย่างมาก จากการสัมผัสในสภาพป่าที่ร่มรื่น เงียบสงบ หลวงพ่อจึงได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ หลวงพ่อชา ที่ วัดหนองป่าพง ได้รับการอบรมสั่งสอนจากหลงพ่อชาจนมีความเข้าใจในหลักปฏิบัติของพระสายวัดป่า จนถึงปี พ.ศ. 2513 ท่านได้รับบัญชาจากหลวงพ่อชา ให้ไปอยู่อบรมสั่งสอนญาติโยมที่สำนักใหม่ในอำเภอม่วงสามสิบ ซึ่งก็คือ วัดป่าวิเวก (ธรรมชาน์) ในปัจจุบัน ท่านได้เล่าถึงการไปพบกับ หลวงพ่อชา เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ไว้ดังนี้

หนึ่งเดือนในป่าพง

สมัยเมื่อข้าพเจ้าเป็นครูสอนปริยัติธรรมอยู่ที่วัดหนองขุ่น เมื่อพักจากการสอนแล้ว บางวันตอนเย็นๆ ก็นึกถึงพระที่ท่านอยู่ป่า เกิดความสงสัยว่า "พระกรรมฐาน ท่านมีอะไรดีหรือ ทั้งๆ ที่ท่านไม่ค่อยได้ศึกษาปริยัติธรรม ท่านอาศัยอยู่ในป่าก็ยังมีญาติโยมอุตส่าห์เดินทางไปหาเป็นจำนวนมาก เขาพากันไปด้วยความศรัทธาเลื่อมใส ท่านคงมีอะไรดีอยู่กระมัง"

LP Amorn 06ความสงสัยนี้มักเกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ข้าพเจ้ายังหาคำตอบไม่ได้นับเป็นเวลาหลายปี บางทีความสงสัยชนิดนี้ อาจจะเกิดขึ้นแก่เพื่อนมนุษย์ผู้ยังไม่เคยเข้าไปสัมผัสอีกเป็นจำนวนมาก ท่านผู้อ่านหาคำตอบที่ถูกต้องได้แล้วหรือยังเล่า ดูเหมือนยังมีบรรพชิตผู้เป็นนักแสดงธรรม ยังพูดแรงไปกว่านั้นอีกว่า "พระกรรมฐานจะมีดีอะไร มัวแต่นั่งหลับตาอยู่ในป่า ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมะ จะไปรู้อะไร ดูแต่อาตมาสิ... ขนาดพระไตรปิฎกอ่านอยู่ทุกวันก็ยังลืมเลย" ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับคำพูดของท่านรูปนั้น มันเป็นการหมิ่นเหม่ต่ออันตราย ดูจะเป็นการประมาทต่อการปฏิบัติธรรมของเหล่าพระอริยสาวกไป ข้าพเจ้าคิดว่า "อาหารใดที่เรายังไม่ได้ลิ้มชิมรส เราจะปฏิเสธอาหารนั้นไม่ดี ไม่มีประโยชน์ เหมือนกับอาหารที่เราได้รับประทานอยู่เป็นประจำ หาเป็นการสมควรไม่..."

บางครั้งเคยนึกถึงคำขอบรรพชา ที่เคยกล่าวต่อหน้าพระอุปัชฌาย์ ก่อนที่ท่านจะให้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ ซึ่งพอจะแปลได้ว่า "ท่านขอรับ กรุณาบวชให้กระผมด้วย เพื่อกระผมจะได้ทำการสลัดออกจากความทุกข์ทั้งมวล และเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน..." จึงได้ปรารภกับตัวเองว่า "เอ นี่...เราจะเอายังไงดี บวชมาก็หลายปี จะไม่เป็นการโกหกตัวเอง โกหกพระอุปัชฌาย์ไปหรือ"

ดังนั้น เมื่อถึงหน้าแล้ง ปี พ.ศ. 2510 ข้าพเจ้าจึงได้เดินทางไปอบรมวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่วัดปริณายก และวัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ รู้สึกว่าได้รับหลักการปฏิบัติจากครูบาอาจารย์ ซึ่งมี หลวงพ่อเจ้าคุณพระเทพสิทธิมุนี เป็นประธาน โดยได้รับความเมตตาจากท่านเป็นอย่างดีและก็ได้ตั้งใจไว้ว่า เรามีที่พักผ่อนทางจิตใจในยามว่างจากการสอนแห่งหนึ่งแล้ว หน้าแล้งจะมาปฏิบัติอีก แต่ก็ยังมีอีกแห่งหนึ่งซึ่งเราเคยตั้งใจไว้ว่า จะเข้าไปศึกษาหาประสบการณ์ ที่นั่นคือ วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งอยู่ไม่ไกล ไปมาพอสะดวก ได้ทราบว่าเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในป่า ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามาก เราควรจะเข้าไปทดลองดู

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2511 ข้าพเจ้าจึงออกเดินทางมุ่งสู่ วัดหนองป่าพง ความจริงข้าพเจ้ายังมิได้ตั้งใจว่า จะไปอยู่ที่นั่นแน่นอน เป็นเพียงจะไปทดลองดูเพราะยังไม่แน่ใจเลยว่า อาหารที่นั่น จะมีรสถูกปากถูกใจเราหรือเปล่า เรายังไม่เคยชิมดู

เมื่อเดินทางมาถึงประตูหน้าวัด เวลาประมาณ 5 โมงเย็น พอจะย่างเข้าสู่เขตวัดก็เจอป้ายแผ่นใหญ่เขียนไว้ว่า แดนเคารพ พุทธศาสนิกชนทุกเพศ ทุกชั้น เพื่อหายพยศ ลดมานะ ละทิฏฐิ มีข้อปฏิบัติเรียงลำดับเป็นข้อๆ ลงไป จากข้อที่ 1 ถึงข้อที่ 9 ซึ่งท่านผู้เคยไปเยี่ยม วัดหนองป่าพง คงได้อ่านกันมาแล้ว... เมื่ออ่านป้ายจบก่อนจะก้าวเข้าเขตวัด คิดได้ว่า พระวัดป่าท่านถือวินัยเคร่ง ท่านไม่รับเงินทอง ไม่เก็บไว้เป็นของส่วนตน เรามีติดย่ามมาด้วย จะทำอย่างไรดี จึงตัดสินใจว่า "เอาไว้ในย่ามไม่เหมาะ เพราะเราใช้ย่ามทุกวัน ไปปะปนกับท่านดูไม่เหมาะ สู้เก็บไว้ในกระเป๋าดีกว่า"

LP Amorn 07

ข้าพเจ้าจึงบอกสามเณรที่ถือกระเป๋ามาส่ง ให้วางกระเป๋าลง แล้วจึงหยิบซองปัจจัย 4-5 ซองออกจากย่าม ไขกุญแจเปิดกระเป๋าเอาซุกลงไว้ก้นกระเป๋า รูดซิบ ล็อคกุญแจเรียบร้อย แล้วเดินเข้าวัดไป ได้รับความแปลกตา แปลกใจ เห็นภายในวัด ลานวัดสะอาด มีร่มไม้ป่าไม้มาก เย็นสบายดี ความรู้สึกบอกว่า เหมือนเราได้เข้ามาสู่แดนอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเราไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน มองเห็นพระสงฆ์สามเณรหลายรูปกำลังทำกิจวัตรด้วยอาการสำรวมสังวร ไม่ได้ยินเสียงพูดคุยกัน ทุกรูปทรงผ้าสีแก่นขนุนดูช่างเข้ากับธรรมชาติเหลือเกิน

ข้าพเจ้าเดินเข้าสู่ศาลาโรงธรรม ให้สามเณรวางกระเป๋าไว้บนเตียงด้านขวามือ กราบพระประธาน มองดูพระพักตร์พระประธานคล้ายได้รายงานตัวว่า "กระผมเป็นอาคันตุกะพึ่งมาสู่ถิ่นนี้เป็นครั้งแรก ขอแสดงคารวะพึ่งร่มพุทธธรรม" มีภิกษุรูปหนึ่งเดินเข้ามาในศาลา จึงถามท่านว่า "ท่านอาจารย์อยู่ไหม" ได้รับตอบว่า "ท่านเพิ่งกลับจากกิจนิมนต์ข้างนอก นิมนต์ไปพบท่านที่กุฏิ" ข้าพเจ้าจึงออกจากศาลา เดินชมต้นไม้ ป่าไม้ ไปเรื่อยๆ มองเห็นไก่ป่า 5-6 ตัวกำลังคุ้ยเขี่ยกินอาหาร พอมันเห็นข้าพเจ้าเดินผ่านไป ทุกตัวเตรียมพร้อมที่จะบินหนี มันคงคิดว่า "ท่านผู้นี้ไม่ใช่เจ้าถิ่น ดูสีผ้าต่างจากที่เคยเห็น ไว้ใจไม่ได้อาจจะมีอันตราย"

ข้าพเจ้ามองดูมันพลางเดินพลางพร้อมกับนึกในใจว่า "หากินไปเถิดเจ้าไก่ป่าเอ๋ย ถึงสีผ้าของข้าจะต่างจากที่เจ้าเคยเห็นก็จริง แต่ข้ามาอย่างมิตร ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่พวกเจ้าหรอก" เพราะเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้เห็นไก่ป่า มันมีอยู่จำนวนมากเสียด้วย มันพากันอยู่กับธรรมชาติ อยู่อย่างอิสระ ไม่มีพันธะใดๆ อาศัยยอดไม้เป็นเรือนนอน

เมื่อข้าพเจ้าไปถึงใต้ถุนกุฏิหลวงพ่อ เห็นท่านนั่งอยู่จึงเข้าไปกราบท่าน ท่านจึงถามว่า "เอ... ใคร... มาจากไหน" ท่านคงจำไม่ได้ เพราะเคยพบกับท่านครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว ข้าพเจ้าจึงกราบเรียนให้ท่านทราบ

"อ้อ...ท่านมหารึ มาธุระอะไรล่ะ" ท่านถาม "กระผมตั้งใจมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ขอรับ" ข้าพเจ้ากราบเรียน
"มาอยู่กับผมก็ได้... แต่อย่ามีลับลมคมใน" ท่านพูดช้าๆ ฟังเย็นๆ พอได้ฟังคำพูดของท่าน ข้าพเจ้าถึงกับสะดุ้ง มีความรู้สึกหวั่นใจ เพราะรู้ตัวดีว่าเอาของผิดวินัยเข้ามา แต่ก็ข่มใจเรียนท่านไปว่า "ขอรับ...ถ้ากระผมทำผิด บกพร่อง ผิดพลาด นิมนต์ขนาบได้เต็มที่"
"เอาอะไรมาบ้างล่ะ" ท่านถาม "ก็มีผ้าสบง จีวรสำหรับผลัดเปลี่ยน และบริขารเล็กๆ น้อยๆ"
"ไม่ได้เอาบาตรมารึ" หลวงพ่อถามพร้อมกับมองหน้า "เปล่า ขอรับ" ข้าพเจ้าตอบท่าน
"อ้าว ทำไมล่ะ เป็นมหา สอนไปสอนมา ทิ้งบาตรแล้วหรือ..." "กระผมยังไม่ทราบกฎระเบียบของทางนี้ ขอรับ" ข้าพเจ้าตอบ
หลวงพ่อท่านพูดต่อไปว่า "บาตรเป็นบริขารชิ้นแรกที่พระอุปัชฌาย์แนะนำให้รู้จักและมอบให้ สำหรับใช้ใส่บริขารแทนกระเป๋าในคราวเดินทาง (เดินธุดงค์) ใช้เป็นภาชนะใส่อาหารเวลาฉัน ใช้เป็นภาชนะตักน้ำฉัน น้ำใช้ ในคราวธุดงค์"

ข้าพเจ้าสงบใจฟังท่านพูด แต่ก็นึกค้านในใจว่า "ที่ท่านพูดก็ถูกของท่าน สำหรับพระกรรมฐานเท่านั้นหรอก แต่สำหรับพระนักเรียนใครจะเอาไป มันเกะกะ เก้งกาง ไม่สะดวก ไม่ทันสมัย" แต่เอ... นี่เรากลายเป็นคนลืมบริขารชิ้นแรก ที่พระอุปัชฌาย์มอบให้เสียแล้ว จึงถูกท่านติงเอา
"เคยฉันในบาตรไหม..."
"ไม่เคย ขอรับ"
"เคยฉันหนเดียวไหม"
"ไม่เคย ขอรับ"

"ทีนี้ เมื่อเรียนมามาก สอนมามากแล้ว ลองทำตามพระพุทธเจ้าดูก่อนนะ" หลวงพ่อพูดต่อ "เราเคยเรียนธรรมะในกระดาษ รู้ธรรมะตามกระดาษ สอบความรู้ในกระดาษและท่านก็รับรองความรู้ด้วยกระดาษ ซึ่งเราเคยผ่านมาแล้ว เมื่อเรามาปฏิบัติก็จะทราบได้เองว่า ธรรมะที่เกิดจากสัญญา (เรียน จำได้) กับธรรมะที่เกิดจากการภาวนา มันต่างกันมากอยู่ มันมีความละเอียดต่างกัน... มันเหมือนกับคนหนึ่งมีรูปม้าหลายๆ แผ่น อีกคนหนึ่งมีม้าตัวเดียว ถึงคราวออกเดินทาง คนที่มีม้าตัวเดียวยังดีกว่าคนที่มีม้าหลายแผ่น เพราะอันหนึ่งมันใช้ได้ อันหนึ่งใช้ไม่ได้ เรื่องนี้ผู้มาประพฤติปฏิบัติย่อมรู้ได้เอง ไม่ใช่เรื่องบอกกัน"

LP Amorn 04ข้าพเจ้าตั้งใจฟังหลวงพ่อท่านให้โอวาทด้วยความซาบซึ้ง มันเป็นคำพูดที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน ประกอบกับเสียงของท่าน ฟังชัดถ้อยชัดคำ ช้าๆ นุ่มนวล เยือกเย็น หลั่งออกมาจากใจที่เปี่ยมด้วยเมตตา

หลวงพ่อจึงหันไปสั่งสามเณร ให้ไปเอากระเป๋าที่ศาลามาให้ ขณะที่หลวงพ่อปรารภเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อีกไม่นานสามเณรก็หิ้วกระเป๋าเดินเข้ามาถึงชานกุฏิ และแล้วสิ่งที่ไม่นึกคิดก็ปรากฏขึ้น ข้าพเจ้ามองไปดูกระเป๋า เห็นซิบแตกออกหมด ใจหายวาบ...

น่าแปลกใจ น่าอัศจรรย์ใจอะไรเช่นนี้... ซิบกระเป๋าเรารูดปิดล็อคกุญแจเรียบร้อย ก่อนจะหิ้วผ่านเข้ามาในเขตวัด มันแตกออกได้อย่างไรกัน ทั้งๆ ที่กุญแจยังล็อคอยู่ หรือว่าซิบแตกตั้งแต่หลวงพ่อพูดว่า "อย่ามีลับลมคมใน..." เป็นไปได้หรือนี่ แต่ว่ามันเป็นไปแล้ว เอ...นี่เราคงโดนท่านลองดีเข้าแล้ว

ข้าพเจ้าเริ่มหัวใจสั่น... เริ่มมีความเคารพเลื่อมใสหลวงพ่อมากขึ้น นึกละอายใจ ไม่กล้ามองหน้าท่าน เพราะเข้าใจว่าท่านคงทราบแล้วว่า เราเอาของผิดวินัยเข้ามา ท่านทิ้งช่วงแห่งคำพูดไว้ชั่วระยะหนึ่ง ดูเหมือนหลวงพ่อจะทราบว่า ภายในจิตใจของข้าพเจ้ากำลังวุ่นวาย สับสน สะดุ้ง หวั่นไหว แล้วท่านก็พูดต่อ "การเป็นอยู่ที่นี่ เราอยู่กับธรรมชาติ อยู่อย่างสบายไม่มีอะไรมาก เมื่อมาอยู่ด้วยกันก็อย่าแบกพัดแบกยศ แบกคัมภีร์เข้ามา เอาทิ้งไว้นอกวัดเสียก่อนโน่น เพราะถ้าบ่ามันหนักแล้วจะรับของใหม่ไม่ได้อีก จะดูอะไรต้องดูให้นานๆ นะ ดูเพียงเดี๋ยวเดียวก็จะไม่เห็น"

เมื่อท่านให้ข้อคิดพอสมควรแล้ว ท่านจึงสั่งให้ไปพักที่กุฏิสร้างใหม่ อยู่ทางทิศตะวันตกนับจากกุฏิของท่านไปเป็นหลังที่ 3 เมื่อขึ้นไปบนกุฏิ ข้าพเจ้ารีบเปลื้องจีวรออก ก้มลงตรวจดูซิบล้วงเอากุญแจในย่ามมาไข รูดซิปเข้าไป ก็เข้าที่ดีเหมือนเดิม มันน่าแปลกใจอะไรเช่นนี้ มากราบหลวงพ่อไม่ถึงชั่วโมงก็โดนท่านปราบเสียแล้ว ท่านผู้อ่านอาจจะค้านว่าซิบเก่าชำรุดมันจึงเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าขอยืนยันว่ายังใหม่แน่ เพราะเพิ่งซื้อมายังไม่ถึงเดือน

เมื่อข้าพเจ้ามาอยู่วัดหนองป่าพง ก็เริ่มได้รับความรู้ ความเข้าใจใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จากการฉันวันละสองมื้อมาเป็นวันละมื้อ เพราะก่อนมาอยู่เคยคิดไว้ว่าเราคงไม่ไหวแน่เพราะร่างกายเราอ่อนแอ หลวงพ่อท่านได้เมตตาข้าพเจ้าเป็นพิเศษอยู่หลายอย่าง เช่น บาตรเก่าของท่าน ท่านใช้มาเป็นเวลาสิบปี พึ่งเปลี่ยนใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2510 ท่านเก็บไว้ในตู้ พอข้าพเจ้าไปอยู่ ท่านก็สั่งให้เอามาให้ข้าพเจ้าใช้ บาตรลูกนี้มีอายุเกือบเท่าอายุของข้าพเจ้า และท่านสั่งให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ติดตามท่านเวลาออกบิณฑบาตเป็นประจำ ซึ่งผู้เป็นอาคันตุกะน้อยรูปนักที่จะได้รับอนุญาตเช่นนั้น

ตอนเย็นหลังจากทำวัตรเสร็จแล้ว ศิษย์ผู้ใคร่ต่อการฟังโอวาทก็ทยอยกันไปหาท่านที่กุฏิ ซึ่งหลวงพ่อนั่งรออยู่เกือบจะกล่าวได้ว่า แทบทุกวัน พวกเราจึงได้ฟังธรรมนอกธรรมาสน์เป็นส่วนมาก รู้สึกว่าเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติธรรม ขจัดความสงสัยที่เกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่ต้องเรียนธรรม ท่านพูดไปๆ ก็ไปตรงกับเรื่องของเราเอง

LP Amorn 03

เวลาออกบิณฑบาตเดินตามหลังท่านไป ก็ได้ฟังธรรมะไปด้วย ล้วนแต่เป็นคติเป็นแนวทางส่งเสริมการปฏิบัติธรรมได้ดี จะเรียกว่าฟังธรรมเคลื่อนที่ก็เห็นจะถูก เมื่ออยู่กับท่านหลายวันเข้า ความพอใจ ชอบใจ ในการรับฟังและในข้อวัตรปฏิบัติก็มีมากขึ้น เรื่องบางเรื่องที่เราเคยเรียนมาไม่เข้าใจ กลับได้รับความเข้าใจ แม้แต่พระวินัยบางข้อที่เคยสงสัยก็ได้รับความเข้าใจดีขึ้น

ตกหลุมพราง

พอได้เจอคำว่า ตกหลุมพราง บางท่านอาจจะตกใจไปว่า เอ... ที่วัดป่าพงมีการขุดหลุมพรางคอยดักคนเข้าไปให้ตกด้วยหรือ เปล่าหรอก... ที่ว่าหลุมพรางน่ะ มิได้หมายความว่า เป็นหลุมพรางทางภาคพื้นดิน แต่มันเป็นหลุมพรางทางอากาศ (ทางคำพูด) ต่างหาก ติดตามไปก็คงเข้าใจได้เอง

เช้าวันหนึ่ง ขณะที่ข้าพเจ้าติดตามหลวงพ่อเข้าไปบิณฑบาต พอไปถึงทางเลี้ยวซ้าย หลวงพ่อเดินชะลอเหมือนคอยจังหวะให้ข้าพเจ้าไปถึง พอเดินไปทัน ท่านเหลียวไปดูบ้านหลังหนึ่งซึ่งชำรุดเก่าคร่ำคร่า เป็นบ้านช่างไม้รับจ้างปลูกเรือน ข้าพเจ้ามองตามท่าน ทันใดนั้นก็ได้ยินท่านพูดว่า "เอ...บ้านช่างไม้นี่เก่าชำรุดเสียจริงนะ" ข้าพเจ้าจึงคล้อยเสริมตามขึ้นว่า "เป็นช่างไม้มีฝีมือ มีคนมาจ้างบ่อย คงจะยังไม่มีเวลาทำของตนเอง"

หลวงพ่อหันมามองข้าพเจ้าพร้อมกับพูดว่า "เราก็เหมือนกันนั่นแหละ มัวแต่สอนเขา" เอาเข้าแล้วไหมล่ะ เราเผลอไปตกหลุมพรางของท่านเข้า... ข้าพเจ้าได้ยินท่านพูดถึงกับสะอึกรู้สึกกินใจถึงใจ ไม่นึกว่าจะโดนท่านสอนธรรมะแบบเคลื่อนที่อย่างนี้ แต่ก็ดีแล้วทำให้ได้ข้อคิดจากที่ท่านเตือนสติ ความเงียบเกิดขึ้นชั่วขณะ เดินตามหลังท่านไป ใจก็หวนระลึกถึงเรื่องๆ หนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในหนังสือธรรมบทว่า...

ผู้ใดได้เรียนพระพุทธพจน์ที่มีประโยชน์ไว้มาก แล้วนำพระพุทธพจน์นั้นไปสั่งสอนผู้อื่น แม้จะได้ลาภสักการะและเสียงเยินยอมากก็ตาม เมื่อเขายังประมาทอยู่ ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพุทธพจน์นั้น ผู้นั้นย่อมไม่ได้รับสันติสุขที่แท้จริง
ผู้ใด ถึงจะไม่ได้เรียนพุทธพจน์มาก ไม่ได้สอนมาก แต่หากประพฤติปฏิบัติตามพุทธพจน์นั้นจนรู้แจ้งชัด ละสนิมในใจ คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว หมดความยึดถือในโลกไหนๆ ผู้นั้นย่อมได้รับสันติสุขที่แท้จริง "

LP Amorn 05พระพุทธองค์มุ่งส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้เรียนรู้ธรรม แล้วนำไปปฏิบัติจนเกิดผลขึ้นมา มิใช่ให้เรียนรู้ไว้เพียงเพื่ออวดอ้าง หรือประดับบารมีตนเท่านั้น เพราะคุณธรรมจะไม่ปรากฏผลเท่าที่ควร เปรียบเหมือนคนเตรียมเดินทาง ได้ศึกษาหาเส้นทางจากแผนที่แล้วก็ต้องออกเดินทาง โดยอาศัยแผนที่นั้นเป็นหลัก มิใช่ว่าเรียนรู้แล้วนอนกอดแผนที่ หรือเอาแผนที่ออกอวดอ้างกันอยู่ ไม่ยอมออกเดินทาง ประโยชน์ย่อมมีน้อยเต็มที

อนึ่ง ผู้เขียนแผนที่ภูมิประเทศนั้น ไม่มีใครสามารถเขียนบอกละเอียดถึงเส้นทางว่า เท่านั้นวา เท่านั้นเส้น มีสิ่งนั้นๆ อยู่ จะบอกได้แต่จุดสำคัญๆ พอเป็นแนวทาง ผู้ออกเดินทางเท่านั้ย่อมรู้เห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่ข้างทางได้ละเอียดดี และจดจำได้ติดตา เพราะประสพพบเห็นด้วยตนเอง (ปัจจัตตัง) ดีกว่าดูในแผนที่หลายร้อยเท่านัก การรู้ธรรมตามหนังสือ กับการรู้ธรรมด้วยการภาวนาย่อมมีค่าต่างกันเช่นนั้น

เป็นอันว่าคำพูดของหลวงพ่อชา เพียงประโยคสั้นๆ ว่า "เราก็เหมือนกันนั่นแหละ มัวแต่สอนเขา" มันเข้าไปสั่นสะเทือนอยู่ในจิต จนต้องคิดทบทวนถึงอดีตที่ผ่านมา บางวันแม้จะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิอยู่ หรือแม้แต่ทำกิจวัตรอย่างอื่นอยู่ จิตมันก็วิ่งไปรับเอาคำว่า "ลูกจ้าง" กับ "ลูกของพ่อ" มาพิจารณาครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งคิดไปว่า "เราบวชเพื่ออะไร เพื่อพ้นทุกข์ หรือเพื่อเพิ่มทุกข์"

ความห่วงหน้าห่วงหลังก็เกิดขึ้น มันเกิดสู้รบกันอยู่ในจิตผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ เราต้องการพบบ่อน้ำก็พบแล้ว เราต้องการพบบ่อเพชร บ่อพลอย ก็พบแล้ว ลงมือตัก ลงมือขุดหรือยัง... อยากได้ของใหม่ แต่ไม่อยากวางของเก่า ห่วงวัดก็ห่วง ห่วงโยมก็ห่วง ถ้าเราจากไปกลัวสำนักเรียนจะร้าง กลัวญาติโยมจะเสียใจ... (ขยายความ : หลวงพ่ออมรมีความห่วงใยสำนักเรียนที่บ้านหนองขุ่นที่จากมา ด้วยใจคิดเพียงว่ามาลอง มาเห็นกับตาแล้วจะกลับ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้กลับจึงมีความพะวงเป็นอันมาก : ผู้เขียน)

เย็นวันหนึ่ง หลังจากทำกิจวัตรร่วมกับเพื่อนบรรพชิตเสร็จแล้ว จึงได้พากันมาที่ใต้กุฏิหลวงพ่อเช่นเคย ฟังหลวงพ่อพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เป็นคติเตือนใจไปพอสมควรแล้ว ท่านจึงชำเลืองดูข้าพเจ้าและถามว่า "ยังมีความกังวลอะไรอยู่หรือ" ข้าพเจ้าคิดว่าท่านคงทราบความห่วงหน้าห่วงหลังของเราแล้ว สู้บอกท่านไปตามตรงดีกว่า จึงประนมมือเรียนท่านว่า

"กระผมยังห่วงสำนักเรียน ห่วงญาติโยม กลัวเขาจะเสียใจ..."
"ญาติโยมน่ะ เขากลัวแต่วัดเขาจะร้าง เขาไม่กลัวเราจะร้างหรอก" หลวงพ่อพูดต่อไปอีก "ดูแต่เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองเทวทหะ เมืองพ่อเมืองแม้ของพระพุทธเจ้า ก็ยังกลายเป็นป่ามิใช่หรือ..."

ข้าพเจ้าประนมมือรับคำท่านโดยมิได้พูด เพราะความจริงก็เป็นเช่นนั้น ดูเหมือนจะได้ยินเสียงกระซิบตามสายลมดังแว่วมาเตือน "คุณเอ๋ย...อย่าห่วงบ้าน ห่วงวัดอยู่นักเลย จงห่วงชีวิตคิดแสวงหาสัจธรรม ก่อนที่ชีวิตนี้จะแตกดับ" ความเงียบเกิดขึ้นชั่วขณะ ข้าพเจ้าได้รับฟังโอวาทที่ซึ้งใจ พอใจมาก ได้ยินหลวงพ่อพูดสัพยอกว่า "จะอดทนได้หรือเปล่าหนอ...พอมองเห็นสำรับกับข้าวที่เคยฉันตั้งอยู่หน้า จะอด(ไม่ฉัน) ได้หรือเปล่า"

ข้าพเจ้าเข้าใจความหมายในคำพูดของท่าน จึงประนมมือเรียนตอบไปว่า "ถ้าเป็นอาหารที่เคยผ่านมาแล้วอดทนได้ขอรับ" โล่งอกไปที สำหรับความกังวล ที่มันเกิดขึ้นรบกวนเราอยู่บ่อยๆ ข้าพเจ้าตัดสินใจแน่นอนแล้ว เราพร้อมแล้วทุกอย่างที่จะเข้ามาอยู่เพื่อปฏิบัติธรรม แต่จะต้องเข้ามาชนิดที่ตัดบัวให้เหลือเยื่อใย...

ธรรมะเกิดที่จิต

เมื่อข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ยังใหม่ต่อข้อวัตรปฏิบัติ ใหม่ต่อธรรมชาติ ใหม่ต่อการรับฟังโอวาทแบบพระป่า ย่อมจะพาให้เกิดมีอะไรที่บกพร่องอยู่บ้าง ถือว่าเป็นของธรรมดาแต่จะพยายาม สองอาทิตย์ผ่านไป วันนั้นดูจะเป็นวันเพ็ญเดือนห้า ตามปกติในวันพระเช่นนั้น พระภิกษุสามเณรรวมทั้งอุบาสก อุบาสิกา จะพากันถือเนสัชชิก (ถวายการนอนแก่พระพุทธเจ้า เป็นพุทธบูชาตลอดทั้งคืน)

LP Amorn 08

คืนนั้นหลวงพ่อขึ้นธรรมาสน์ ท่านนั่งหลับตาเทศน์ตั้งแต่เวลาประมาณ 3 ทุ่มครึ่ง จนกระทั่งถึงตีหนึ่ง ข้าพเจ้านั่งฟังด้วยความสบายใจ แต่เพราะความเป็นผู้ใหม่รู้สึกปวดหลัง ปวดเอว และปวดปัสสาวะ จึงต้องกราบพระประธาน เดินออกจากศาลาไปทำธุระ เสร็จแล้วเดินมาอยู่ข้างๆ ศาลา ยืนพิงผนังศาลาฟังหลวงพ่อเทศน์ไปด้วย วันนั้น หลวงพ่อเทศน์เป็นที่จับใจมาก ตอนหนึ่งท่านเทศน์ว่า...

"การปฏิบัติธรรมนั้น บางทีโยมแก่ๆ อาจจะสงสัยเกิดความหนักใจไม่สบายใจ เพราะคิดว่าตนเองท่องจำไม่ได้ สวดไม่ได้ แก่แล้วความจำไม่ดี หลงๆ ลืมๆ อันที่จริงแล้วเมื่อเรายังหายใจอยู่ เคลื่อนไหวได้อยู่ ยังรู้จักเผ็ด-เค็ม รู้จักร้อน-หนาวอยู่ ก็ปฏิบัติธรรมได้ มันเป็นธรรมทั้งนั้น ข้อสำคัญทำใจให้มันเกิดตัว "พอ" ขึ้นมา ธรรมะ คือ ความพอดี เช่น จะกินอาหาร ทำคำข้าวให้มันพอดี เคี้ยวได้สะดวก มันก็เป็นธรรม แต่ถ้าทำคำข้าวให้เล็กเท่าเม็ดพุทรา หรือโตเท่าไข่ไก่ นั่นมันไม่พอดี มันก็ไม่เป็นธรรมะ จะตัดเสื้อ-กางเกง ก็เหมือนกัน ให้มันพอดีกับคนที่จะใช้ คนโตตัดตัวเล็ก มันก็นุ่งไม่ได้ คนเล็กตัดตัวโต มันก็นุ่งรุ่มร่ามไม่เข้าท่า แม้แต่นุ่งเสื้อผ้าที่ไม่เหมาะกับเพศกับวัยของตนมันก็ไม่น่าดู มันผิดธรรมะ เสื้อผ้าที่เรานุ่งมาวัดเมื่อมันไม่ขาดไม่สกปรกก็ใช้ได้ ในเมื่อเรามันจนจะไปดิ้นรนหาของราคาแพงๆ เกินฐานะของตนมาใช้ มันก็ลำบาก ยิ่งไปเที่ยวลักขโมย ปล้นจี้เอาของเขามาเป็นของเรา ยิ่งสร้างความเดือดร้อนใหญ่ มันเลยไม่เป็นธรรมะ

การพูดจาก็เหมือนกัน ให้มันพอดีกับเพศกับวัยของตน ระวังคำพูด พูดความจริง พูดสิ่งที่มีประโยชน์ไม่กระโชกโฮกฮาก ไม่หยาบคาย รู้ตัวว่าเรากำลังพูดเรื่องอะไร พูดกับใครให้เหมาะแก่ผู้ฟัง ผู้ฟังฟังแล้วก็สบายใจ ผู้พูดก็สบายใจ

ส่วนเรื่องใจ เราก็ระวังไม่ให้เกิดความต้องการเกินพอดี เกินฐานะ เกินสิทธิที่เราจะได้รับ เมื่อต้องการก็แสวงหาในทางที่ถูกที่ควร ได้มาก็ไม่ดีใจจนเกินไป ของเสียไปก็ไม่เสียใจจนเกินไป ไม่ปล่อยใจให้หลงระเริงไปตามรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส จนกระทุ่งรู้ว่าอะไรมันเข้ามาในใจ ทำใจให้ขุ่นมัว เศร้าหมอง วุ่นวาย ก็รีบไล่สิ่งเหล่านั้น ให้มันออกไปจากใจให้ได้ เท่านี้มันก็ถูกธรรมแล้ว ได้ปฏิบัติธรรมแล้ว ใจเราสำคัญมาก มันเป็นนายของกาย มันเป็นนายของทุกสิ่งทุกอย่าง จะทำดี พูดดี ก็อยู่ที่ใจ ทำร้าย พูดร้าย ก็อยู่ที่ใจ ฉะนั้นเราจึงต้องฝึกฝนด้วยการนั่งสมาธิ ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการพิจารณา"

ข้าพเจ้ายืนพิงผนังศาลาฟังท่านเทศน์มาแค่นี้ ก็เกิดความคิดว่า... วันนี้หลวงพ่อเทศน์ฟังเข้าใจง่ายดี ยกเอาธรรมะที่ลึกล้ำ มาทำให้เราฟังง่าย เข้าใจง่าย เราจำเอาไปเทศน์ให้โยมทางบ้านฟัง เห็นจะดี

เวลาผ่านไปยังไม่ถึงนาที ก็ได้ยินหลวงพ่อท่านบรรยายไปว่า "การฟังเทศน์นั้น เรื่องจะจำเอาของคนอื่นไปพูดให้คนอื่นฟังนั้น อย่าเลย... ธรรมะของเป็นเอง เกิดขึ้นทางจิตที่จิต พระพุทธเจ้าตรัสรู้ทางจิต บรรลุธรรมทางจิต ด้วยการฝึกจิต ธรรมะต้องเกิดจากการภาวนาจึงจะมีประโยชน์ ส่วนธรรมะที่จำเขามา อันเกิดจากสัญญา มีค่าน้อย"

เจอเข้าอีกแล้วไหมล่ะ หลวงพ่อนั่งหลับตาเทศน์อยู่บนธรรมาสน์ เราก็ยืนพิงผนังฟัง คิดของเราอยู่ข้างนอก แต่ทำไมโดนท่านจี้เข้าให้ คล้ายกับท่านคอยไล่ต้อนจิตของเราทุกขณะ ทั้งๆ ที่ท่านก็ทำของท่านอยู่อย่างหนึ่ง แต่ท่านก็ทราบเรื่องของเราที่คิดอีกเรื่องหนึ่งจนได้ ข้าพเจ้าจึงเกิดความเกรงกลัวท่าน จะนึกคิดอะไรต้องระวัง... ทั้งเกิดความเคารพในท่านเพิ่มมากขึ้น...

LP Amorn 09

. พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภัทโท) ๒. หลวงพ่อมหาอมร เขมจิตโต ๓. หลวงปู่สี สิริญาโณ
๔. หลวงปู่ลัด ฐิตธัมโม ๕. หลวงพ่อมหาสุพงษ์ ธูตธัมโม ๖. หลวงพ่อคำ นิสโสโก ๗. พระเทพญาณวิเทศ (หลวงพ่อโรเบิร์ต สุเมโธ)

คิดดูอีกที พลังจิตของหลวงพ่อก็เหมือนกับเรดาร์ คอยเที่ยวสอดส่ายตรวจตราดูจิตของข้าพเจ้าอยู่เสมอ แม้แต่จะคิดอะไรก่อนจำวัด พอรุ่งเช้าก็โดนท่านพูดต้อนเอาจนต้องหยุดคิดในเรื่องนั้น... แม้ว่าท่านจะมิได้บอกตรงๆ แต่พอท่านพูดไปๆ ก็มาลงเอากับเรื่องที่เราคิด ทำให้แก้ไขได้ทันท่วงที เพราะพลังจิตอันสูงส่งประกอบด้วยเมตตาของหลวงพ่อ ย่อมหลั่งธรรมธาราสู่มวลศิษย์ผู้ซึ่งกำลังตกอยู่ในห้วงเหวแห่งความกังวลเสมอ บางครั้งท่านเคยพูดสัพยอกว่า...

มหา... ม้าพยศนี่ ถ้าเราฝึกได้ มันวิ่งดีนะ... "

ข้าพเจ้าฟังแล้ว ก็ทำตาปริบๆ ไม่ได้พูดอะไร... ซึ่งระยะเวลาประมาณครึ่งเดือนก็ทำให้ความสงสัยว่า "พระกรรมฐาน ท่านมีดีอะไร?" ได้หายไปจากจิตของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าขอยุติ "หนึ่งเดือนในป่าพง" ไว้เพียงเท่านี้ก่อน โอกาสหน้าคงจะได้บันทึกต่อ ขอฝากคติธรรมไว้ว่า...

ดู ฟังดม ลิ้มชิมรส  ปรากฏ ถูกต้อง หมองจิต
ปล่อยว่าง วางละ อย่าคิด  หมดพิษ ใจเย็น เห็นธรรม
สุขสงบ พบเห็น เด่นชัด  ปฏิบัติ ตามธรรม นำส่ง
เย็นกาย เย็นใจ มั่นคง  อาจอง สดชื่น รื่นฤทัย... "

ความอยาก

เมื่อข้าพเจ้ามาอยู่วัดหนองป่าพงครบหนึ่งเดือน วันนั้นเป็นวันแรม 14 ค่ำ เดือน 5 กำหนดวันเวลาที่อยู่วัดหนองป่าพงคงจบลงแค่นี้ก่อน จะต้องกลับวัดเดิมปรับปรุงการเรียนการสอนครบ 2 เดือน แล้วจึงจะกลับมา เรื่องการเปลี่ยนผ้าก็ไม่มีความหมายเท่าไร เมื่อใดก็ได้ พรุ่งนี้เราจะต้องกราบลาหลวงพ่อกลับแล้ว... แต่พระอนิจจังก็ทำงานของท่าน... หลวงพ่อสั่งให้ข้าพเจ้านำบริขารที่เตรียมไว้เข้าสู่อุโบสถ และเปลี่ยนให้เรียบร้อยแล้ว จึงได้ฟังสวดปาฏิโมกข์ร่วมกับคณะสงฆ์ ได้เป็นพระปฏิบัติตามรูปแบบที่ท่านเป็นอยู่ วันนั้นตรงกับวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2511

เป็นอันกล่าวได้ว่า ความอยากเปลี่ยนบริขาร ก็ได้สมใจอยากในวันนี้ แต่มันแปลก เมื่ออยากได้กลับไม่ได้ พอทอดอาลัยว่า หมดหวังช่างหัวมันไม่อยากได้แต่กลับได้ รู้สึกว่าในระยะต่อมาเป็นกฎเกือบจะพูดได้ว่าตายตัว ถ้าหากข้าพเจ้าต้องการสิ่งใดแล้ว มักจะยังไม่ได้ แต่พอทอดอาลัย ปลงเสียเถอะพ่อคุณ ไม่ได้ก็ช่างมัน ไม่นานวันกลับได้สิ่งนั้นตามที่เราต้องการ คล้ายๆ กับหลวงพ่อได้ประทานกฎอันนี้ไว้สำหรับชีวิตของเรา หรือท่านจะสอนว่า...

อยากมากทุกข์มาก  อยากน้อยทุกข์น้อย  หมดอยากหมดทุกข์
ยิ่งยึดยิ่งทุกข์  หยุดยึดหยุดทุกข์ ”

ข้าพเจ้าใคร่จะบันทึกวิธีเปลี่ยนบริขาร ที่หลวงพ่อทำมาเป็นประจำ เมื่อมีสมาชิกใหม่เข้ามาอยู่ร่วมวัด เพื่อป้องกันความเข้าใจสับสน เพราะมีคนเขาเล่าว่า “ใครจะไปอยู่กับหลวงพ่อชานั้นยากลำบากมาก จะต้องบวชใหม่หรือไม่ก็ลดพรรษา มีปัญหาหลายอย่าง” ฟังเขาว่าไม่เข้าท่า สู้เข้าไปศึกษาสัมผัสด้วยตนเองจะดีกว่า จะต้องเข้าไปฟังด้วยหู ดูด้วยตา พิจารณาด้วยใจ จึงจะมีประโยชน์รู้ความเป็นจริง เพราะผู้ใหญ่เตือนไว้ว่า “เขาว่าเอาห้าหาร” หลวงพ่อชาท่านก็เคยสอน “เขาว่า... เขาว่านี้น่ะต้องพิจารณาให้ดี เพราะเขาเกิดทีหลังหู บางทีก็หลุดร่วงได้เช่น 'เขากวาง' ...”

เมื่อมีพระภิกษุต้องการจะเข้าไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ปฏิบัติธรรม ก็จะต้องไปเป็นอาคันตุกะไปก่อน สังเกตพิจารณาดูระเบียบข้อวัตรปฏิบัติ เป็นที่พอใจดีแล้วใคร่ต่อการปฏิบัติธรรมจริงๆ จึงแจ้งความประสงค์ของตนให้ท่านทราบ เมื่อหลวงพ่อพิจารณาดูโดยถามจากศิษย์ของท่านที่คอยดูแลแทนท่าน ทราบว่าเป็นผู้มีความสำรวมเอื้อเฟื้อต่อข้อวัตรปฏิบัติพอสมควร และอยู่เป็นอาคันตุกะได้อย่างน้อยหนึ่งเดือนขึ้นไป หลวงพ่อจึงจะสั่งให้เปลี่ยนบริขารได้ แต่ถ้าหากเป็นผู้มาอยู่เพียงทดลอง มารยาทไม่ค่อยเรียบร้อย ไม่เอื้อเฟื้อต่อข้อวัตรปฏิบัติ แม้จะอยู่มา 2-3 เดือน หลวงพ่อก็ไม่รับเข้าเป็นลูกศิษย์ บางรูปก็กลับไปเอง

เมื่อได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนบริขาร พระอาคันตุกะรูปนั้น จะต้องนำผ้าและของใช้ต่างๆ ที่นำมาจากวัดเดิมเข้าสู่ที่ประชุมสงฆ์ เพื่อสอบถามว่าได้มาอย่างไร ถูกต้องตามวินัยหรือไม่ ถ้าเป็นผ้าทำพินทุอธิษฐานหรือมีอะไรที่ไม่เหมาะ หรือมีความสงสัยเกี่ยวกับบริขาร เช่น ซื้อมา หรือขอมาจากคนไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่คนปวารณา จะต้องกล่าวคำเสียสละทิ้งไป รับเอาบริขารใหม่ที่ท่านจัดให้ ครองผ้าให้ถูกต้องดีแล้ว ปลงอาบัติชำระความผิดทางวินัยให้เรียบร้อย จึงจะถือว่าบริสุทธิ์ตามวินัย และท่านจะไม่อนุญาตให้กลับวัดเดิม

หลวงพ่อท่านเน้นเสมอว่า การขอของนั้นต้องระวังให้มาก อย่าให้อำนาจของความอยากครอบงำจะทำให้เกินงาม คำว่า ญาติ หมายถึง ญาติสายโลหิตทั้งฝ่ายบิดาและมารดา ส่วนคำว่า คนปวารณา หมายถึง คนที่มิใช่ญาติ เมื่อเขาเกิดความเคารพเลื่อมใสนับถือ เขาต้องการถวายของใช้ เขาจะพุดว่า “ข้าพเจ้าขอปวารณาต่อท่าน ถ้าท่านต้องการสิ่งใดอันควรแก่สมณะบริโภคแล้ว นิมนต์เรียกร้องได้...” คนที่พูดกับพระอย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า คนปวารณา ไม่ใช่ ปวารณาออกพรรษา มันคนละเรื่องกัน

LP Amorn 11

วันนั้น (วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2511) ข้าพเจ้านำผ้าและของใช้ พร้อมทั้งกระเป๋าและซองเงินที่เอามาจากวัดเดิมเข้าสู่โรงอุโบสถ เมื่อหลวงพ่อสอบถึงการได้บริขารมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านก็ให้กล่าวคำเสียสละ ส่วนเงินนั้นท่านให้กล่าวคำเสียสละ แล้วโยนไปทางด้านหลัง ไม่ให้กำหนดที่ตก นอกนั้นก็มีร่มผ้าแบบพับได้ ปากกา ไฟฉายเล็กๆ และนาฬิกาโดยเฉพาะไพฉายเล็กหายาก และนาฬิกาข้อมือ

ขณะที่กล่าวคำเสียสละรู้สึกเสียดายคิดว่าเมื่อหลวงพ่ออนุญาตพิเศษ ให้กลับไปปรับปรุงการศึกษาเป็นเวลา 2 เดือน เราจะได้อะไรหนอดูเวลาเมื่อทำการสอน แต่ก็น่าแปลกใจมาก หลวงพ่อท่านนั่งดูในท่ามกลางสงฆ์ ได้ยินท่านพูดว่า “อ้อ เสียสละนาฬิกาด้วยหรือนี่?” ท่านล้วงเอานาฬิกาออกจากย่าม ยืนให้ข้าพเจ้าพร้อมกับพูดว่า “เอาของผมนี่...แล้วก็นี่ไฟฉาย...” ข้าพเจ้าน้อมรับ ด้วยความคารวะแสดงอาการขอบพระคุณท่าน เมื่อเราสละไป ท่านก็สละของท่านให้เรา เขาเรียกว่า “ของเก่าไหลไป ของใหม่ไหลมา” ข้าพเจ้าคิดว่า ท่านคงทราบวาระจิตของข้าพเจ้าแน่นอน ท่านจึงให้ในทันทีทันใด ถือว่าท่านเมตตาช่วยปลอบใจและให้กำลังใจข้าพเจ้าเป็นอย่างมาก

ของเก่าที่หลวงพ่อให้ข้าพเจ้าวันนั้น ยังเหลืออยู่ทุกวันนี้ก็มีบาตรและนาฬิกา นาฬิกาแม้จะชำรุดไปบ้างแต่ก็ยังพอซ่อมได้ และอีกอันหนึ่งคือ ไม้เท้า รู้สึกว่าจะเป็นไม้เท้าอันแรกที่หลวงพ่อถือเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรก (ปี พ.ศ. 2520) ครั้งเมื่อข้าพเจ้าอาพาธหนักพักรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดอุบลฯ ปี พ.ศ. 2522 นั้น หลวงพ่อกลับจากต่างประเทศครั้งที่สอง ท่านไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล เห็นการเดินทรงตัวของข้าพเจ้าไม่ดี ท่านจึงอนุญาตให้เอามาใช้ ขณะนี้ข้าพเจ้าก็ยังเก็บรักษาไว้อยู่ที่วัดป่าวิเวก

คัดลอกมาจากหนังสือ "๑ เดือนในป่าพง" เรียบเรียงโดย พระมงคลกิตติธาดา (อมร เขมจิตฺโต)
วัดป่าวิเวก(ธรรมชาน์) จังหวัดอุบลราชธานี ; พิมพ์ครั้งที่ ๑ ; ๑ มกราคม ๒๕๔๗

พระมหาอมร เขมจิตโต - เทศนาที่วัดป่าวิเวก 2539

สมณศักดิ์และหน้าที่การงาน

  • พ.ศ. 2517 ดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดม่วงสามสิบ
  • พ.ศ. 2518 ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอม่วงสามสิบ
  • พ.ศ. 2523 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอชั้นเอกที่ พระครูศรีปัญญาคุณ
  • พ.ศ. 2525 เป็นพระอุปัชฌาย์ในเขตอำเภอม่วงสามสิบ
  • พ.ศ. 2529 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าวิเวก(ธรรมชาน์) สาขาที่ 7 ของวัดหนองป่าพง
  • พ.ศ. 2530 ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าคณะอำเภอม่วงสามสิบ
  • วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระมงคลกิตติธาดา
  • พ.ศ. 2531 ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอม่วงสามสิบ

บั้นปลายชีวิต (มรณภาพ)

พระมงคลกิตติธาดา ได้อาพาธและเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยอาการโรคหัวใจ ความดันโลหิต และโรคปอดบวม ทางแพทย์ได้ดูแลเยียวจนสุดความสามารถ แต่อาการก็มีแต่ทรงและทรุดมาตลอด จนมรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา 11.30 น. เมื่อวันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 สิริอายุ 79 ปี 10 เดือน 19 วัน 59 พรรษา

LP Amorn 10

ได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 โดยอัฐิของท่านกลายเป็นพระธาตุโดยสมบูรณ์ พระลูกศิษย์ได้นำมาเก็บรักษาไว้ในภาชนะแก้วให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้ รอเวลาสร้างเจดีย์ทรงบาตรในพื้นที่พิธีพระราชทานเพลงิศพแล้วเสร็จ จะได้อัญเชิญไปประดิษฐานต่อไป

ข้อมูลวัดป่าวิเวก (ธรรมชาน์) | Facebook วัดป่าวิเวกธรรมชาน์

redline

backled1

LP Lee header

LP Lee 01หลวงปู่ลี กุสลธโร

ชาติกำเนิด

หลวงปู่ลี กุสลธโร นามเดิมขององค์ท่านชื่อ ลี สาลีเชียงพิณ เกิดเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2465 ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ปีจอ ที่บ้านเก่า ตำบลบ้านเก่า อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นบุตรของ นายปุ่น และนางโพธิ์ ชาลีเชียงพิณ มีพี่น้องร่วมกัน 9 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 5 คน การศึกษาทางโลกเรียนจบชั้นประถมปีที่ 3 เมื่ออายุ 12 ปี เมื่อวัยหนุ่มอายุประมาณ 20 ปีก็ได้แต่งงานกับนางสาวตีหญิงสาวในหมู่บ้าน จนกระทั่งนางตั้งท้อง เมื่อคลอดออกมาปรากฏว่า ลูกเสียชีวิต ท่านได้รู้สึกเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง

การแต่งงานครั้งนี้ ท่านเล่าว่า ที่แต่งงานกับนางสาวตี มิได้แต่งเพราะความรักเสน่หา หากแต่เป็นการแต่งแบบคลุมถุงชน (การเลือกให้ของพ่อ-แม่ทั้งสองฝ่ายที่เห็นว่าดี เหมาะสมกัน ได้เวลาครองเรือน) โดยที่ท่านยังไม่เคยรักผู้ใดเลย ท่านอยู่กับภรรยาได้เพียง 2 ปี 3 เดือน จึงได้ขอออกบวช เพราะได้ฟังธรรมจากพระกรรมฐานที่เป็นศิษย์ของท่าน หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่เดินธุดงค์มาพักยังป่าแถบหมู่บ้านของท่าน ได้ฟังธรรมเทศนาจนเกิดความเลื่อมใส จิตใจภายในอยากจะบวชแสวงหาความพ้นทุกข์

LP Lee 03

อุปสมบท

หลวงปู่ลี อุปสมบทที่ วัดศรีโพนเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เมือวันที่ 30 มกราคม 2493 โดยมี พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลวงปู่ลี กุสลธโร ท่านได้เล่าว่า เป็นการบวชพระเมื่อครั้งงานเผาศพ พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต และเมื่ออุปสมบทได้ฉายานามว่า “กุสลธโร” แปลว่า “พระผู้ทรงไว้ซึ่งความดี” พรรษาแรกท่านจำพรรษาที่วัดป่าทรงคุณ จังหวัดปราจีนบุรี อยู่ปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม แม้อายุพรรษามากท่านมักวางตนเป็นเสมือนผู้น้อย

LP Lee 05

หลวงปู่ลี ท่านนั้นได้ติดสอยห้อยตาม "หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน" ตลอดมา แม้หลวงตาบัวจะหนีออกวิเวกไปทางไหน หรือจะดุ จะว่า จะไล่ให้หนีไปอย่างไร หลวงปู่ลีก็อดทนติดตามไปทุกหนทุกแห่งไม่เลิก ไม่รา ไม่ท้อถอย หวังให้ท่านช่วยอบรมสั่งสอนให้ สุดท้ายหลวงตามหาบัวก็ยอมรับเป็นศิษย์ ท่านมักติดตามหลวงตามหาบัวไปตามสถานที่ต่างๆ เสมือนเณรน้อยๆ ท่านเป็นศิษย์ที่ซื่อสัตย์ เคารพยำเกรง และปฏิบัติตามคำสอนครูบาอาจารย์ อย่างหาที่ติมิได้ ท่านได้รับการยกย่องจากหลวงตาว่าเป็น “เศรษฐีธรรม” และหลวงตามักเรียกนามท่านสั้นๆ ว่า “ธรรมลี” ปีพุทธศักราช 2494 ได้ติดตามหลวงตามหาบัว ไปจำพรรษาที่เสนาสนะป่าห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ต่อจากนั้นท่านได้ติดตามหลวงตาไปจำพรรษายังจังหวัดจันทบุรี และย้อนกลับมาจำพรรษาที่วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

LP Lee 04

การมีส่วนร่วมในโครงการผ้าป่าช่วยชาติ

หลวงปู่ลี เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยมักน้อย สันโดษ มีความเคารพรักครูบาอาจารย์เป็นสำคัญ เช่นเหตุการณ์ผ้าป่าช่วยชาติที่ หลวงตามหาบัวจัดตั้งขึ้น อดีตสะท้อนปัจจุบันเป็นที่อัศจรรย์เสมอในบุญบารมี ใครจะคาดคิดได้ว่า พระรูปร่างเล็กๆ อยู่ในป่า ไม่มีโวหารเทศนาต้อนรับแขกผู้มาเยือนเช่นท่าน จะสามารถหาทองคำช่วยชาติกับหลวงตาได้ถึง 500 กว่ากิโลกรัม คิดเป็นเงินหาน้อยไม่ ขอเกาะชายฝ้าเหลืองไปด้วยนะ ท่านเล่าว่า อดีตชาติท่านเกิดเป็นสุนัขรับใช้องค์หลวงตามาหลายภพชาติ แม้ในภพชาติที่เป็นสุนัขนั้น หลวงตาก็ได้เมตตาอบรมสั่งสอน ดัดนิสัยจนเป็นสุนัขที่มีนิสัยดี ไม่เกเร นอกจากนั้น ท่านยังเคยเกิดเป็นช้าง… ซึ่งแสดงให้เห็นความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ครูอาจารย์อย่างที่สุด หลังจากนั้นสาธุชน ก็มีศรัทธาเลื่อมใสและได้มีร่วมทำบุญกับหลวงปู่ลี ตั้งแต่นั้น

LP Lee 02

พระธรรมโอวาท

...บ่ทันนาน คั่นจิตเป็นปัจจุบันอยู่ฮั่น บ่เห็นหนึ่งต้องแนวหนึ่งหละ มันซิเกิดเฮ็ดให้มันเป็นปัจจุบัน อดีตที่ล่วงมาแล้ว ก็อย่าไปคำนึงเลย มันก็ออกไปจากปัจจุบันนั่นหละ อนาคตคือกัน มันออกไปจากปัจจุบันนี่ละ อย่าไปคำนึงมันเลย คุมมันเข้า เบิ่ง ให้เบิ่งหัวใจเจ้าของนั่นละ อย่าไปเบิ่งหัวใจผู้อื่น... คั่นคุมเจ้าของแท้ๆ ต้องเห็น คั่นพิจารณาสภาพร่างกายก็พิจารณาอยู่ฮั่น แต่พื้นเท้ามาศีรษะ แต่ศีรษะลงมาพื้นเท้า ให้พิจารณาอยู่ฮั่น เอาแหมะ ๒๔ ชั่วโมงนี่ บ่ให้มันปากมาเลย ต้องเกิดแน่... อันนี้หัวใจมันแลนอยู่นำโลกนำสงสารพุ่น มันบ่ปักมั่น แล้วซิเห็นหยังฮั่น คือกินข้าวเนี่ย กินนอนอยู่ ย้ายไปนั่น นอนอยู่ก็ไปฮั่น นอนก็ไปนี่ เลยบ่อิ่มจักที นี่เรื่องมัน

 

เอ้า พิจารณามันซี คั่นคุมเข้าแท้ๆ มันซิต้องจับได้เงื่อน เดี๋ยวมันซิเกิดอันนั้นเกิดอันนี่โลด นี่เฮ็ดจริงทำจริงมันต้องรู้จริง... ไอ้ พิจารณาโตนี่ละ โตสำคัญ ถ้าหากว่าได้จับจุดได้ละ เออ มันซิออกอุทานบัดทีนี้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อริยสัจทั้งนั้น... คั่นตีแตกอริยสัจนี่ได้แล้ว ฮ่วย! กราบพระพุทธเจ้ากราบครูอาจารย์ โอ๊ย มันก็กราบอยู่จังซั่นหละ หมดคืนหละ นี่ เพิ่นเว่าจริงเฮ็ดจริง มันซิประมวลมาหมดดอก อันพระพุทธเจ้าเพิ่นเห็นนะ มันซิมาเกิดจากใจเฮานี่ละ... ให้พากันเร่งความพากความเพียร..."

หลวงปู่ลี กุสลธโร
วัดป่าภูผาแดง

LP Lee 06

ละสังขาร

ภายหลังปี พ.ศ. 2533 หลวงปู่ลี กุสลธโร ท่านได้สร้าง วัดเกษรศิลคุณธรรมเจดีย์ (วัดภูผาแดง) อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี และได้อยู่จำพรรษาที่วัดแห่งนี้มาโดยตลอด

LP Lee 08

เนื่องด้วยองค์หลวงปู่ลี กุสลธโร มีอาการอาพาธด้วยโรคชรา ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561 คณะศิษยานุศิษย์และพระอุปัฎฐากได้ส่งท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลอุดรธานี หลังจากนั้นเมื่ออาการทุเลาดีขึ้น ได้นำกลับมาพักดูแลอย่างใกล้ชิด ณ ห้องปลอดเชื้อข้างศาลาใหญ่ ในวัดภูผาแดง โดยมีทีมแพทย์โรงพยาบาลอุดรธานี และแพทย์ทางเลือกมาดูแลเป็นระยะๆ และหลวงปู่ลีได้ละสังขารอย่างสงบในวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 เวลา 15.15 น. ณ ห้องปลอดเชื้อ ข้างศาลาใหญ่ วัดภูผาแดง นี่เอง รวมสิริอายุ 96 ปี 1 เดือน 11 วัน พรรษา 69

LP Lee 09

11 พฤศจิกายน 2561 ประชาชนหลั่งไหลมาร่วมอาลัยหลวงปู่สี กุสลธโร

redline

backled1

how2teach farang

standเรื่องของพระฝรั่ง 

เรื่องที่มีญาติโยมสงสัยกันมาก คือ เมื่อเข้ามาในวัดป่าพงแล้ว จะเห็นพระฝรั่งเดินไปเดินมาอยู่ ในวัดจึงสงสัยว่า

"หลวงพ่อสอนพระฝรั่งอย่างไร พระฝรั่งจะอยู่ร่วมกับพระไทยอย่างไร เพราะความเป็นอยู่คุ้นเคยแต่เดิมมาต่างกัน"

คำถามนี้หลวงพ่อคงได้ยินอยู่บ่อยๆ ด้วยทราบว่าท่านก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ถนัดที่สุดก็ภาษาลาว (อีสาน) จนบางครั้งหลวงพ่อก็ต้องคลายข้อสงสัยเขา โดยการถามเขาย้อนกลับไปว่า "โยม ที่บ้านโยมเลี้ยงหมา เลี้ยงแมวไหม?"

พวกเขาต่างก็ตอบกันเซ็งแซ่ว่า "เลี้ยงอยู่ครับ (ค่ะ)"

ท่านจึงกล่าวต่อว่า "โยมเลี้ยงหมาต้องพูดภาษาหมาไหมล่ะ พระฝรั่งก็เช่นกันมิได้แตกต่าง จากพระไทยเลย ท่านมาบวชเพื่อแสวงหาหนทางดับทุกข์เหมือนกัน ใหม่ๆ ก็อาจมีความรู้สึกว่า ภาษาเป็นอุปสรรคกั้น อยู่ไปๆ ก็สบาย เช่น พระฝรั่งมาใหม่ๆ ฉันอาหารก็ไม่ลง อยู่ไปๆ บางองค์ฉันปลาร้าเก่งกว่าพระไทยอีก"

dog monk

น้ำร้อน น้ำฮ้อน 'hot water' ความร้อนที่เกิดขึ้นมันก็คือกัน ต่างกันก็แค่ภาษาบัญญติสมมติ จะพูดอย่างไร เมื่อนำมือจุ่มลงไปก็รู้สึกเช่นเดียวกัน เป็นธรรมะ "

การตอบปัญหาของหลวงพ่อ

พวกเราเคยสงสัยว่า ทำไม? หลวงพ่อตอบได้หลายปัญหา เช่น ครั้งหนึ่ง ท่านได้รับนิมนต์ให้ฉันภัตตาหารในพระบรมมหาราชวัง เนื่องในพิธีวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งหลวงพ่อกลับมาเล่าให้ฟังว่า "มีพระ 9 รูป เป็นพระป่า 3 รูป หลังจากที่สมเด็จพระญาณสังวรถวายเทศน์แล้ว สมเด็จฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ถวายจตุปัจจัยองค์ละสองหมื่นห้าพันบาท ส่วนองค์เทศน์ถวายห้าหมื่นบาท"

lp cha 04

ภายหลังเทศน์จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนิมนต์พระป่าเพื่อซักถามปัญหาส่วนพระองค์ ปีนั้นเป็นปีที่บ้านเมืองกำลังระส่ำระสาย นักศึกษากำลังมีเรื่องประท้วงกับรัฐบาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสถามพระป่าทั้งสามรูปถึงปัญหาของบ้านเมือง และทรงถามความเห็นว่า ท่านควรจะวางพระองค์อย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ พระอีกสองรูปให้วางอุเบกขา แต่ไม่ได้อธิบายอะไรต่อ ครั้นมาถึงหลวงพ่อ ท่านก็ตอบว่า "การวางเฉยนั้นต้องมีปัญญาเข้าประกอบด้วย การวางเฉยอย่างมีปัญญาจะต้องศึกษาว่า เหตุการณ์เป็นอย่างไร ควรใช้สติปัญญา พิจารณาถึงการควร การไม่ควร" ท่านเล่าว่าพอตอบเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแย้มพระสรวล

การเล่าเรื่องต่างๆ นี้ หลวงพ่อไม่เคยปิดบัง พบเห็นอะไรมาก็นำมาเล่าให้ลูกศิษย์ฟัง ปกครองเหมือนพ่อกับลูก ดังนั้นเมื่อลูกศิษย์ถามว่า "ท่านใช้หลักใดตอบปัญหา" ท่านก็บอกว่า "ปัญหาก็คือปัญหา การตอบก็ไม่ได้ตั้งจิตว่า ต้องการเอาแพ้หรือเอาชนะ แต่ก็ใช้จิตหยั่งสภาวะดู แล้วใช้ปัญญาตอบไปโดยธรรม ให้ตั้งพรหมวิหารธรรมไว้ในใจอยู่เสมอ และสอดแทรกธรรมแห่ง การปฏิบัติลงไปเท่าที่จะเป็นได้"

lp cha 05

แลกทุกข์กันไหม?

วันหนึ่ง ขณะที่ธุดงค์ไปพักที่วัดถ้ำแสงเพชร ซึ่งอยู่ไกลจากอำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ พอสมควร ปรากฏว่า มีโยมอุปัฏฐากที่เป็นผู้มีหน้า มีตา ของอำเภอ และเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักปฏิบัติ มานั่งร้องไห้ต่อหน้าหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ยังคงนั่งเฉยอยู่ จนเมื่อโยมได้สร่างโศกลงบ้าง ท่านก็ถามว่า "เป็นอะไรล่ะ จึงนั่งร้องไห้" โยมผู้นั้นเล่าว่า รถที่เพิ่งซื้อมาใหม่ถูกขโมยไปแล้ว แต่หลวงพ่อก็นั่งเงียบ เผอิญก็มีโยมผู้ชายคนหนึ่งมาพร้อมกับญาติ พอกราบหลวงพ่อเสร็จก็ร้องไห้ เป็นวรรคเป็นเวรเช่นกัน หลวงพ่อนั่งคอยจนเขาพอพูดได้ ก็ถามด้วยคำถามเดิมว่า "เป็นอะไรไปล่ะ"

เขาก็ตอบว่า "เมียตายสองคน ลูกตายสองคน" (เผอิญชายคนนี้มีภรรยาสองคน อยู่ในบ้านเดียวกัน) หลวงพ่อก็ถามต่อว่า "เป็นอะไรตายล่ะ" โยมผู้ชายก็ตอบว่า "กินเห็ดเบื่อตาย"

หลวงพ่อหันไปถามโยมผู้หญิงที่ยังน้ำตาซึม แต่ก็นั่งเงียบฟังโยมผู้ชายเล่าอยู่ด้วยและพูดว่า "แลกกันไหมล่ะ ดูซิ ของเขาลูกเมียตายตั้งสี่คน ของโยมรถหายคันเดียว โลกนี้เป็นอย่างนี้แหละ มีความปรารถนาอะไรแล้วไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ ไม่อยากให้รถหาย มันก็หาย ไม่อยากให้ลูกเมียตาย ก็ตาย ใครจะห้ามได้ ชีวิตทุกชีวิตเป็นอย่างนี้แหละ ใครอยากล่ะ โยม อยากให้รถหายไหม โยมอยากให้ลูกเมียตายไหม"

ทั้งคู่ก็ตอบรับหลวงพ่อว่า "ไม่อยากค่ะ (ครับ)"

หลวงพ่อกล่าวต่อไปว่า "เป็นอย่างนี้แหละ ความโศก ความร่ำไรรำพัน ให้เราพิจารณาดู ทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเราไม่หนีมัน มันก็หนีเรา คนก็เหมือนกัน เราไม่จากเขา เขาก็จากเรา มันอยู่ที่ ใครไปก่อนใครเท่านั้นเอง บางทีวัตถุก็ไปก่อนเรา บางทีเราก็ไปก่อนวัตถุ บางทีคนใกล้ชิดเราเขา ก็ไปก่อน บางทีเราไปก่อนเขา มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของกรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เราย่อมมีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นผู้ติดตาม ให้ผล ไม่ว่าบุญหรือบาป ดีหรือชั่วก็ตาม เราจะต้องรับกรรมนั้นโดยแน่นอน"

cha 4

พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)

ภาพเหมือนสีปาสเตล ฝีมือ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต

สำหรับโยมผู้ชายนั้น โยมผู้หญิงกับลูกเขาทำกรรมกับเรามาแค่นี้ เขาตายไปเขาก็ไม่ขออนุญาตเรา ไม่บอกเรา ไม่ได้เขียนใบลา เขาก็ตายไป โยมผู้หญิงก็เช่นกัน รถคันนี้มันทำกรรมกับโยมมาแค่นี้ รถมันก็ไม่บอกเราก่อนว่ามันจะถูกขโมยแล้วนะ อยู่ๆ มันก็หายไป ดังนั้นให้เราเห็นว่า เป็นธรรมดาของทุกสิ่งทุกอย่าง เราไม่หนีมัน มันก็หนีเรา เราเกิดมาเป็นอะไร เกิดที่ไหน เกิดมากี่ครั้งๆ โลกก็เป็นเช่นนี้ เราเองต่างหากที่ไปอุปาทานว่า นี่รถของเรา นี่ลูกนี่เมียของเรา รถมันไม่เคย บอกนะว่ามันเป็นของเรา เราไปซื้อมันมาตกแต่ง มารักมันเอง ที่จริงรถมันไม่ได้เป็นของใคร

มันเป็นของธรรมชาติที่ไหลไปตามเหตุปัจจัย มนุษย์ไปสมมุติขึ้นมา แล้วยึดว่าเราเป็นเจ้าของ เมื่อมันหาย ไปให้เราคิดว่า นั่นเป็นการคืนกลับสู่ธรรมชาติ โยมผู้ชายก็เหมือนกัน ลูกเมียก็เสียไปแล้ว พิจารณา มองให้เห็นว่าเป็นทุกข์ ไม่ใช่พอสร่างโศกก็ไปหามาใหม่ เป็นการเพิ่มทุกข์ขึ้นมาอีก เราควรทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล ทำภาวนา แผ่ให้ผู้ตายบ้าง เราเองก็ต้องตาย ไม่แน่ว่าเมื่อไร ขอให้เข้าใจสัจธรรม ของธรรมชาติ

lp cha 06

หลวงพ่อกล่าวเป็นสังเขป พอให้โยมสร่างทุกข์ หน้าที่ของพระก็คือ แก้ไขทุกข์ โดยคิดว่า ทุกคนเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น เมื่อกล่าวไปแล้วก็ไม่ได้คิดปรุงว่า จะแก้ได้หรือไม่ได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีคำตอบอยู่ในตัวมันเองอยู่แล้ว ผู้มีปัญญาก็จะค้นหาคำตอบ ของปัญหาของเขาเองได้ในที่สุด

wat nong papong 06

ทำบุญกับพระวัดไหนดี?

เคยมีโยมได้ปรารภกับหลวงปู่ชาว่า “หลวงพ่อ ข้าน้อยมีความสงสัยอยู่ข้อหนึ่งเกี่ยวกับการทำบุญสุนทาน ถ้าจะหาพระสงฆ์อยู่ตระกูลหลวงพ่อนั้น หายาก โดยมากมีแต่สายปริยัติธรรมดา ถ้าจะเลือกก็ไม่ได้ทำบุญ จะให้ทำอย่างไรดี ข้าน้อยทำบุญตักบาตรเกิดข้อลังเลสงสัยอยู่”

LP Cha

หลวงปู่ชาตอบว่า “การทำบุญนั้น พึงตั้งใจไว้เป็นกลางๆ ให้สบาย เมื่อเป็นของบริสุทธิ์ได้มา เวลาใส่บาตรก็ยกขึ้นอธิษฐานเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชาโน่น ส่วนพระเณรที่มารับเป็นเพียง 'บุรุษไปรษณีย์' ที่รับส่งบุญเท่านั้น แล้วก็ทำไปเถอะ ไม่ต้องคิดอะไรมาก”

โยมประณมมือว่า “สาธุ ข้าน้อยสบายใจแล้ว จะได้ถือปฏิบัติต่อไป”

[ อ่านเพิ่มเติม : ดอกบัวบานทางทิศตะวันตก ]

redline

backled1

Subcategories

ประวัติหลวงพ่อชา

พระธรรมเทศนาของหลวงพ่อ

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)