isan governance 2

ในสมัยโบราณอีสานนั้น การปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข ผู้ปกครองจะต้องปฏิบัติตามจารีตประเพณี ขนบธรรมเนียมดั้งเดิม คนอีสานจะมี "ฮีต 12 คอง 14" ซึ่งมีความหมายคือ "ฮีต" คือ จารีตประเพณี ส่วน 12 หมายถึงเดือนในหนึ่งปีมี 12 เดือน ส่วน "คอง" คือ ครรลอง คลอง แบบแผนหรือแนวทางดำเนินชีวิตคล้ายๆ กับคำฝรั่งคำหนึ่งว่า "Way of life" ซึ่งมีจำนวน 14 ข้อ แต่คองในที่นี้มุ่งไปทางศีลธรรมประเพณีที่ถูกผิดมากกว่าด้านอาชีพ เห็นจะตรงกับภาคกลางว่า ทำนองคลองธรรม นั่นเอง แต่ชาวอีสานออกเสียง คลอง เป็น คอง ไม่มีกล้ำ เช่น ถ้าทำไม่ถูกไม่ต้อง ผู้ใหญ่ท่านจะเตือนว่า "เฮ็ดบ่แม่นคอง" (ทำไม่ถูกต้องตามครรลอง) หรือว่า "เฮ็ดยังให้ถืกให้ถือฮีตถือคอง" (ทำอะไรให้ถูกต้องให้ถือตามจารีตตามครรลอง) เป็นธรรมเนียมที่พึงปฏิบัติได้ไม่ล้าสมัย

bulletคองสิบสี่ (ครรลอง 14)

องสิบสี่ คือ ครองธรรม 14 อย่าง เป็นกรอบหรือแนวทางที่ใช้ปฏิบัติระหว่างกันของ ผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง พระสงฆ์ และระหว่างบุคคลทั่วไป เพื่อความสงบสุขร่มเย็นของบ้านเมือง 

  1. ฮีตเจ้าคองขุน เป็นแนวทางของเจ้าเมือง ขุนนางผู้ใหญ่ในการปกครองบ้านเมือง เช่น การพิจาณาคดีความให้พิจารณาตามที่ผิดที่ถูก ไม่เห็นแก่ญาติ พี่น้อง หรือคนสนิท ให้ยึดความยุติธรรมเป็นหลัก
  2. ฮีดเจ้าคองเพีย เป็นแนวทางปฏิบัติของท้าวพระยา เช่น ในการคัดเลือกบุคคลเข้ามารับราชการให้กระทำอย่างรอบคอบ เพื่อจะได้คนดีเข้ามารับราชการบริหารบ้านเมืองให้ราษฎรมีความสุข
  3. ฮีตไพร่คองนาย เป็นแนวปฏิบัติของนายกับไพร่ เช่น ไพร่ดีก็ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของตน ไม่ประจบสอพลอ ส่วนนายที่ดีต้องไม่ลืมตน ให้ปฏิบัติต่อไพร่ฟ้าอย่างสม่ำเสมอยุติธรรม เสมอต้นเสมอปลาย ไม่เป็นคนเห็นแก่ได้ ทุจริตคอรัปชั่น ถ่อมตนไม่แบ่งชั้นวรรณะ เพื่อจะได้เข้าถึงทุกข์สุขของประชาชนได้ทั่วถึง
  4. ฮีตบ้านคองเมือง เป็นแนวทางหลักหรือปฏิบัติของบ้านเมือง กำหนดขึ้นมาเพื่อให้คนในหมู่บ้านในเมืองปฏิบัติต่อกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กันและกัน ไม่เห็นแก่ตัว เช่น ไม่ถมบ่อน้ำที่ชาวบ้านใช้ร่วมกันแม้อยู่ในที่ของตน หรือล้อมรั้วกั้นทางเดินของคนทั่วไป ฯลฯ
    นอกจากนี้ยังมีหลักปฏิบัติเพื่อความสงบสุขตามจารีตประเพณีที่เคยมีมา เช่น การไม่ปลูกบ้านคร่อมตอ บ่อน้ำ หรือจอมปลวก เพราะถือว่าเป็นการเข็ดขวง (ไม่เจริญ) การรวมบ้านสองหลังมาปลูกเป็นหลังเดียว หรือนำเอาบ้านไปปลูกเป็นกระท่อมหรือฉางข้าว ก็เป็นสิ่งไม่ดี เพราะผู้กระทำเช่นนั้นจะทำให้การประกอบอาชีพค้าขาย ทำไร่นา ไม่เจริญ ผู้อยู่อาศัยไม่มีความสุข เป็นต้น
  5. ฮีตปีคองเดือน แนวทางปฏิบัติตามจารีตที่กำหนดไว้ตลอด ๑๒ เดือนในหนึ่งปี ซึ่งทุกสังคมต้องไม่ละเลย หรือ ฮีตสิบสอง
  6. ฮีตไฮ่คองนา แนวทางปฏิบัติตามจารีตประเพณี เกี่ยวกับไร่นาให้ถูกต้องตามที่สังคมกำหนด เช่น ก่อนทำนาต้องบอกผีนา ผีไร่ก่อน เมื่อทำนาไร่เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จก็ต้องเลี้ยงผีนา (ตาแฮก) หรือผีไร่ด้วย ฯลฯ
  7. ฮีตเฒ่าคองแก่ แนวทางปฏิบัติของคนเฒ่าคนแก่ (ผู้สูงอายุ) เพื่อสร้างสรรค์สังคมบ้านเรือนให้อยู่กันอย่างสงบสุข เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานในทางที่ดี เช่น เมื่ออายุมากขึ้นทำงานไม่ค่อยไหว ก็ให้หันไปยึดมั่นในธรรมะ ที่เรียกว่า "อยู่ในศีลกินในธรรม" ไม่ใช่เอาแต่บ่น ด่า ตำหนิติเตียนผู้อื่นหรือลูกหลาน หรือมัวหลงระเริงกับการเสพกามารมณ์ เป็นต้น
  8. ฮีตปู่คองย่า แนวทางปฏิบัติสำหรับปู่ย่าต่อลูกหลาน ให้สั่งสอนบุตรหลานให้ประพฤติปฏิบัติในทางที่ดี และทำตนเป็นแบบอย่างแก่ลูกหลาน
  9. ฮีตพ่อคองแม่ แนวทางปฏิบัติของผู้เป็นพ่อแม่ที่มีต่อลูก เช่น การเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนลูกให้มีความรู้ในการประกอบสัมมาอาชีพ ลูกชายเมื่อมีอายุสมควรก็ให้บวชเรียนในบวรพระพุทธศาสนา ลูกชาย-หญิงเมื่อสมควรก็สนับสนุนให้มีคู่ครองที่เหมาะสม แต่งงานตามจารีตประเพณี มีทรัพย์สมบัติก็มอบให้ลูกดูแลครอบครองแทนต่อไป
  10. ฮีตป้าคองลุง แนวทางปฏิบ้ติของลุง ป้า ต่อลูกหลาน ช่น มีความยุติธรรมเป็นแบบอย่างที่ดีต่อลูกหลาน เป็นกำลังสำคัญในวงศ์ตระกูลช่วยดูแลความประพฤติของลูกหลาน เป้นดั่งเจ้าโคตรในตระกูล
  11. ฮีตใภ้คองเขย เป็นหลักปฏิบัติของเขย สะใภ้ ว่าควรประพฤติปฏิบัติอย่างไรจึงจะทำให้ครอบครัวมีความสุข เช่น เป็นสะใภ้ ต้องขยันทำงาน ไม่เกียจคร้าน เป็นเขยต้องไม่ลบหลู่ดูหมิ่นบิดามารดา ของภรรยา ฯลฯ
  12. ฮีตลูกคองหลาน เป็นแนวทางปฏิบัติของลูกหลานต่อพ่อแม่ พี่ ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย เช่น ลูกๆ หลานๆ ไม่ควรจะดื้อดึง หัวแข็ง หรือ ทำกริยาที่ไม่ดีต่อท่าน ควรเคารพ เชื่อฟังท่าน ทำตนให้เป็นคนดีเป็นที่ชื่นชมต่อวงศ์ตระกูล รักษาทรัพย์สมบัติที่พ่อแม่มอบให้ สร้างตนเองให้เป็นหลักเป็นฐานส่งต่อลูกหลานต่อไปในภายภาคหน้า
  13. ฮีตวัดคองสงฆ์ เป็นแนวทางปฏิบัติของคนในสังคมต่อวัดวาอาราม พระสงฆ์ และเป็นแนวทางของพระสงฆ์จะต้องปฏิบัติตนให้เป็นที่เลื่อมใสแก่คนในสังคม เช่น พระสงฆ์ จะต้องยึดมั่นในพระธรรมคำสอน ระเบียบ วินัยของสงฆ์อย่างเคร่งครัด ประชาชนทั่วไปจะต้องปฏิบัติวัฎฐากต่อพระสงฆ์และวัดอย่างสม่ำเสมอ เช่น ช่วยปรับปรุงก่อสร้างวัดวาอาราม เตรียมข้าวปลาอาหารถวายพระสงฆ์อย่าได้ขาด หาดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระสงฆ์ ปู่ย่า ตายาย บิดามารดา ทุกวันพระ และนำข้าวปลาอาหารผลผลิตที่ดีที่สุดไปถวายพระ และงดเสพกามาคุณในวันพระ เป็นต้น
  14. ฮีตสมบัติคูณเมือง หมายถึงเมืองที่จะมีความเจริญมั่นคงต้องประกอบไปด้วยสิ่งที่ดีต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ หูเมือง (ราชทูตผู้ฉลาด) ตาเมือง (นายหนังสือผู้รอบรู้) แก่นเมือง (พระสงฆ์ผู้ทรงวินัย) ประตูเมือง (เครื่องศัตราวุธที่ดีและทันสมัย) ฮากเมือง (รากเมือง - โหราจารย์ผู้สามารถ ฉลาดและหยั่งรู้) เง่าเมือง (เสนา ผู้เฒ่าผู้แก่ ในเมืองที่ฉลาด รอบรู้ กล้าหาญ มั่นคง) ขื่อเมือง (กรมการเมืองที่มีความสัตย์ซื่อ) ฝาเมือง (ทหารผู้กล้าหาญ) แปเมือง (ท้าวพระยาผู้ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม) เขตเมือง (เสนาอำมาตย์ผู้ฉลาด) สติเมือง (พ่อค้า เศรษฐี ผู้มั่งคั่งและสัตย์ซื่อ) ใจเมือง (แพทย์ หมอยาที่มีความสามารถ) ค่าเมือง (ที่ตั้งเมืองที่ดีมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์) เมฆเมือง (เทวาอารักษ์ ผีมเหสักหลักเมืองที่ศักดิ์สิทธิ์)

(ฮีตในข้อที่ 8-12 เป็นธรรมเนียมที่พึงปฏิบัติระหว่างคนในครอบครัว)

king rama9

 ผู้ปกครอง | พระสงฆ์ - บุคคลทั่วไป

alert2ครอบสิบสี่ข้อสำหรับผู้ปกครอง

ครอบสิบสี่ข้อ - กฎหมายสำหรับพระราชา ผู้ปกครองบ้านเมือง พึงปฏิบัติเพื่อไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมีความสุขร่มเย็น (ถอดออกมาจากคำกลอนโดยไม่เปลี่ยนแปลงสำนวนเดิม)

ข้อหนึ่ง เป็นท้าวพระยาจัดตั้งแต่งซื่อซามนามกร เสนาอามาตย์ ราชมุนตรี พิจารณา สืบหา ผู้ซื่อผู้คด ผู้ฮ้ายผู้ดี ผู้ช่างแถลงแปงลิ้น มักสับส่อถ้อยคำอันหนักอันเบา อันน้อยอันใหญ่ ให้ไว้ในใจนั้นก่อ สมที่จะฟัง จิ่งฟัง บ่สมที่จะฟังอย่าฟัง สมตั้งใจซื่อ ให้เพียงใดจิ่งตั้งใจเพียงนั้น ให้แต่งตั้งผู้ซื่อสัตย์สุจริตให้หมั่นเที่ยง ผู้ฮู้จักราชการบ้านเมืองแต่ก่อนมา บ่มข่มเห็งไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ให้หายใจเข้าออกได้ จิ่งตั้งให้เป็นเสนาอามาตย์
ข้อสอง เป็นท้าวพระยา ให้เนามุนตรี เป็นสามัคคีพร้อมเพียงกัน ให้หมั่นประชุมกัน อย่าให้ขาด อันใดอันหนึ่งจักให้อาณัติข้าเสิก (ข้าศึก) เกรงขาม และให้เขาอยู่ในเงื้อมมือเจ้าตน ด้วยยุทธกรรมปัญญา ให้บ้านเมืองก้านกุ่งฮุ่งเฮือง เป็นที่กว้างขวาง ให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอยู่เย็นเป็นสุข อย่ากดขี่ข่มเห็ง เทอญ
ข้อสาม เป็นท้าวพระยา เถิงวันขึ้นสังขารปีใหม่ ถ่ายสังวาสมาสเกณฑ์ ให้เชิญพระแก้ว พระบาง พระพุทธฮูป สรงน้ำอบ น้ำหอม ไว้ในสระพัง สักการะด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ฟังธรรมจำศีล คบงัน 7 วัน ทุกๆ วัดให้เป็นการซื่นซมยินดีแก่พระศาสนา ตบพระเจดีย์ทราย บูชาเทวดาทั้งหลายทางน้ำทางบก บ้านเมืองจิ่งวุฒิซุ่มเย็น น้ำฟ้าสายฝน เข้าไฮ่เข้านาบริบูรณ์
ข้อสี่ เป็นทางพระยา วันสังขารขึ้น ให้นิมนต์พระภิกขุ แห่น้ำฝ่ายใต้เมือฝ่ายเหนือ วันสังขารพักให้ฝ่ายเหนือมาวัดฝ่ายใต้ เพื่อบูชาเทวดา หลวงไปยามหัวเมือง ท้ายเมือง ของทุกๆ ฤดูปี บ้านเมืองจิ่งวุฒิจำเริญ ให้ราษฎรอาบน้ำอบน้ำหอม หดสรงพระภิกษุสงฆ์บ้านเมือง จิ่งอยู่เย็นเป็นสุข ให้ราษฎรแต่งหม้ออุบัง เพื่อกั้งบังโพยภัยอันตรายแก่ราษฎรทั่วไป เทอญ
ข้อห้า เป็นท้าวพระยา วันสังขารปีใหม่ ให้เสนาอามาตย์ ราชมุนตรี พญาเพีย ท้าวขุน หัวบ้านหัวเมือง ตำหรวดอาสา มหาดเล็กสีพายใต้แจก มีเทียนคู่ขึ้นทูนเกล้า ทูนกระหม่อมถวายราชบาส เพียกะซักมุงคุลถวายพานหมากหมั้นหมากยืน ปุโรหิตถวายพร ให้มีอายุ วัณโณ สุขัง พะลัง แก่องค์พระเจ้ามหาชีวิต แล้วเอา น้ำมหาพุทธาภิเศก อันพระรัสสิไปสถาปนาไว้ ถ้ำนกแอ่นถ้ำนางอั่น อันชื่อว่า น้ำเที่ยงนั้น แห่มาสรงพระพุทธฮูปวัดหลวงในเมืองทุกวัด ในถ้ำติ่งทวารทวาราที่ปากน้ำอู ประตูเมืองฝ่ายเหนือ แล้วจิ่งนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ นำบาลีพระพุทธฮูป ในพระราชวังตามธรรมเนียม จิ่งเป็นอันโครพย่ำแยง แด่พระสงฆ์เจ้าถืกต้อง ตามพระอรรถกถาจารย์ กล่าวไว้หั้นแล
ข้อหก เป็นท้าวพระยาในวันสังขาร เป็นวันเสี้ยงฤดูเก่า ปีใหม่จักมาเถิง ให้เจ้านาย เสนา ข้าราชการ มุนตรีผู้มีนามยศ และเพียหัวหลิ่งหัวพัน หัวบ้านหัวเมือง สิบเอ็ดฮ้อยน้อยใหญ่ ซึ่งเป็นข้าน้อยขันฑสีมาตำบล เข้ามาถือน้ำพิพัฒน์สัตยานุศัตย์ต่อพระพักตร์ พระพุทธเจ้า พระสังฆเจ้า ให้เป็นการซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน ป้องกันก่อให้ขบถคึดฮ้ายต่อแผ่นดิน
ข้อเจ็ด ท้าวพระยา คันเถิงฤดูเดือนเจ็ด ให้เลี้ยงเทพยดาอาฮักษ์ มเหศักดิ์ หลักเมือง ตาเมือง เสื้อเมือง ทรงเมือง ตามคองสิบสี่ แล้วให้เชิญเทพดาอาฮัก มเหศักดิ์ ให้เข้ามาซำฮะบ้านเมือง ป้องกันอันตราย ตามบูฮานราชประเพณีสั่งไว้ว่า เมืองชั่วบ่มีธรรมเป็นเครื่องคุ้มครอง ได้เอาไสยศาสตร์คือ ผีเมืองคุ้มครอง จิ่งมีฤทธิ์อันนี้สืบต่อมา เพื่อบ่ให้เกิดอันตรายโพยภัยด้วยผีสางคางแดง
ข้อแปด เป็นท้าวพระยา คันเถิงเดือนแปด ให้สูตรซำฮะบ้านเมือง สืบซะตาเมือง บูชา เทวดาอาฮักษ์ทั้งแปดทิศ บูชาพระรัสสีทั้งแปด สองพี่น้องพระยานาค 15 ตระกูล สูตรเถิงสามวันเจ็ดวัน แล้วให้ราษฎรฮอบเมืองยิงปืน หว่านหินแห่และทราย เพื่อให้หายพยาธิโรคา โพยภัยอันตราย ให้อยู่เย็นเป็นสุขแก่บ้านเมือง ทุกประการ
ข้อเก้า เป็นท้าวพระยาคันเถิงเดือนเก้า จำเริญ (ดับ) ให้ป่าวเตินราษฎรบ้านเมืองท่าน ห่อเข้าประดับดิน ไปหาปู่ย่าตายาย ลูกเต้า หลานเหลน อันเถิงแก่อนิจกรรม ไปสู่ปรโลกทั่วทุกแห่งแล้ว ให้เจ้านายเสนาข้าราชการ ทั่วบ้านเมืองสิบฮ้อย น้อยใหญ่ ลงมือถือน้ำพระพิพัฒนิสัยานุศัตย์อีกเทื่อหนึ่ง แล้วซ่วงเฮือฉลองอุสุภนาคราชปากดงและปากคาน กับพระยานาคสิบห้าตระกูล อันฮักษาบ้านเมือง จิ่งจะอยู่เย็นเป็นสุข เข้าก้าไฮ่นาบริบูรณ์
ข้อสิบ เป็นท้าวพระยา คันเถิงเดือนสิบเพ็งให้ป่าวราษฎร ให้ทานสลากภัตร หยาดน้ำ อุทิศไปหาเทพดาอาฮักษ์เมือง อันฮักษาพระพุทธศาสนา กับทั้งพ่อแม่เผ่าพงษ์ วงศาแห่งตนเทอญ
ข้อสิบเอ็ด เป็นท้าวพระยา เถิงฤดูเดือนสิบเอ้ดเพ็ง ให้ฉลองพุทธาภิเศก พระธาตุจอมศรี ทุกๆ ปีอย่าขาด ด้วยเป็นศรีบ้านศรีเมือง แล้วให้ไปไหว้พระภิกษุสังฆะเจ้า มาขอดสิม (ผูกพัทธสีมา) ในสนามแล้วให้สังฆเจ้าปวารณาในที่นั้น คันแล้วกิจสงฆ์ ให้สูตรถอนสิมนั้นเสีย บ้านเมืองจิ่งวุฒิจำเริญ เสนาอามาตย์จิ่งจักเป็นสามัคคี พร้อมเพียงกันจัดราชการบ้านเมือง จิ่งบ่ขัดข้องแก่กันและกัน คันเถิง แฮมค่ำหนึ่ง ให้ป่าวเตินราษฎรไหลเฮือไฟ บูชาพระยานาคสิบห้าตระกูล บ้านเมืองจิ่งจักอยู่สุขเกษมเติมครองแล
ข้อสิบสอง เป็นท้าวพระยา คันเถิงเดือนสิบสองขึ้นหนึ่งค่ำ ให้เตินหัวบ้านหัวเมือง สิบฮ้อย น้อยใหญ่ในขอบขันฑะสีมา เข้ามาโฮมพระนครหลวงพระบาง เป็นต้นว่า ข้าลาว ชาวดงดอย เพื่อแห่พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิต ไปลงพ่วง (ด่วง) ส่วงเฮือ และนมัสการพระธาตุศรีธรรมาโสกราช คือ เดือนสิบสองขึ้นสามค่ำ ถือน้ำ ขึ้นสี่ค่ำ สิบสามค่ำ ซ่วงเฮือ ฉลองอุสุภนาคราช วัดหลวงให้เพียวัด มีเฮือวันละลำ อัครมหาเสนาบดีตั้งแต่เมืองแสนเมืองจันทน์ ลงไปเถิงศรีสะคุตเมืองแก นาใต้นาเหนือ ให้ตั้งเป็นผามทุกตำแหน่ง เป็นเทศกาลบุญส่วงเฮือ ฉลองพระยานาค 15 ตระกูล และพระเสื้อเมือง ทรงเมือง อาฮักษ์เมือง และมีเครื่อง กิยาบูชา เป็นต้นว่า โภชนะอาหาร ดอกไม้ ธูป เทียน สวายไปหาเทพยดา ทั้งทางน้ำและทางบก จิ่งจักอวยพรแก่บ้านเมืองอยู่เย็นเป็สุข

และเดือนสิบสองเพ็ง เสนาอามาตย์ และเจ้าราชคณะสงฆ์ ราษฎร พร้อมกันแห่พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิต และเจ้าย่ำขม่อมทั้งห้าพระองค์ ไปนมัสการพระธาตุศรีธรรมาโศกราช พร้อมทั้งเครื่องบูชา มีต้นเทียนและดอกไม้ บั้งไฟดอก ไฟหาง กะทุน ว่ายกองปิด กองยาวฮูปหุ่นละคอน ลิงโขนและเครื่องเล่นมหรสพต่างๆ ไปเล่น อยู่ที่เดิ่นหน้าพระลาน พระธาตุถ้วนสามวัน สามคืน แล้วจิ่งเสด็จคืนมาเทอญ เพื่อให้เป็นที่ชื่นชมยินดีซึ่งกันและกัน ข้าลาวชาวดอยทั้งหลาย ก็จักได้เห็นกันและกัน และจักได้เว้าโลมกัน เป็นมิตรสหายแก่กันและกัน จิ่งจักเป็นเกียรติยศ ฤชา ปรากฏแก่หัวบ้านเมืองน้อยใหญ่ อันอยู่ใกล้เคียงนั้นซะแล
ข้อสิบสาม เป็นท้าวพระยา ให้แต่งแปงทาวทุกอย่าง เป็นต้นว่า ถวายผ้ากะฐินและบวช พระหดเจ้า ตั้งมะไลไขมหาชาติ ฮักษาศีลห้าศีลแปดเป็นนิจกาล ทุกวันอุโบสถ และมีหัวใจอันเต็มไปด้วยพรหมวิหารทั้ง 4 ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เสนาอามาตย์ ราษฎร ข้าน้อยใหญ่ ในขอบเขตขัณฑะสีมา อย่ามีใจอันกระด้างกระเดื่อง เคืองไปด้วยพาล เป็นต้นว่า ไปหลิ้นป่าล่าเนื้อ จุ่งเลี้ยงนักปราชญ์ผู้อาจให้แก้วยังกิจการเอาไว้ และให้มีเสนาอามาตย์ผู้ฉลาดกล้าหาญ กับทั้งสมณะชีพราหมณ์ ผู้ดีมีศีลบริสุทธิ์และความฮู้ สั่งสอนทายก อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายเทอญ และให้ประกอบด้วย ทศพิธราชธรรมสิบประการ บ้านเมืองจิ่งจะวุฒิจำเริญ แล
ข้อสิบสี่ เป็นท้าวพระยาให้มีสมบัติ อันประเสริฐ 14 ประการ คือ หูเมือง ตาเมือง แก่น เมือง ประตูเมือง ฮากเมือง เหง้าเมือง ขื่อเมือง ฝาเมือง แปเมือง เขตเมือง สติเมือง ใจเมือง ค่าเมือง และเมฆเมือง

 

14

มบัติอันประเสริฐ 14 ประการ สำหรับผู้ปกครองบ้านเมือง มีความหมายดังต่อไปนี้

หูเมือง ได้แก่ ราชฑูต ผู้ฉลาดอาจนำเข้าออกต่างประเทศ
ตาเมือง ได้แก่ ทางหนังสือ ผู้ฉลาดอาจสอนอักขระบาลี
แก่นเมือง ได้แก่ พระสังฆะเจ้า ฉลาดทรงธรรมทรงวินัย
ประตูเมือง ได้แก่ เครื่องศาสตราวุธทั้งหลายต่างๆ สั่งสมไว้
ฮากเมือง ได้แก่ โหราศาสตร์ อาจฮู้เหตุฮ้ายและดี
เหง้าเมือง ได้แก่ เสนาผู้เฒ่าแก่ กล้าหาญมั่นคง
ขื่อเมือง ได้แก่ กวนบ้านและตาแสง ราษฎรผู้ซื่อสัตย์
ฝาเมือง ได้แก่ ทแกล้วทหาร ผู้สามารถอาจทำยุทธกรรมกับข้าศึกชนะได้
แปเมือง ได้แก่ ท้าวพระยาองค์ประกอบด้วยศีลธรรมอันดีล้วน
เขตเมือง ได้แก่ เสนาอามาตย์ ผู้ฉลาดฮู้เขตบ้านเมืองดินเมือง ว่าที่นั่นดีหรือบ่อ มีคุณ หรือมีโทษ ฯลฯ
สติเมือง ได้แก่ เศรษฐีและพ่อค้าผู้มั่งมีเป็นดี ฯลฯ
ใจเมือง ได้แก่ หมอยาวิเศษ ฮู้พยาธิใช้ยาถืก ฯลฯ
ค่าเมือง ได้แก่ ภาคพื้นภูมิประเทศและพลเมือง ฯลฯ
เมฆเมือง ได้แก่ เทพยดาอาฮักษ์ทั้งหลายเขตบ้านเมือง

ดังมีคำบรรยายไว้เป็นกลอนดังนี้

หูเมืองนั้น ได้แก่ ทูตาผู้คนดีฉลาด อาจนำความนอกพุ้นมาเข้าสู่เมือง ตาเมืองนั้น ได้แก่ นายหนังสือ เว้าคนดีผู้ฉลาด สามารถสอนสั่งให้บาลีก้อม คู่ซู่แนว สอนหมู่แถวพันธุ์เซื้อวงศ์ วานน้อยใหญ่ อันแก่นเมือง ได้แก่ สังฆะเจ้าผู้ทรงธรรม วินัยสูตรนี้ละเป็นแก่นแท้เมืองบ้านแห่งเฮา ประตูเมือง ได้แก่ ปืนหรือหน้าลาหลาว ง้าวหอก เครื่องอาวุธทุกชั้น ให้หั้นแหม่นประตู ที่พวกเสนา ข้ามนตรีฮักษาอยู่

ฮากเมือง นั้นได้แก่ โหราเจ้าหมอโหรผู้ฉลาด ฮู้เหตุดีและฮ้ายสิมาเข้าสู่เมือง เหง้าเมืองนั้น ได้แก่ เสนาผู้คนหาญเฒ่าแก่ เป็นผู้คงเที่ยงหมั้น บ่ผันลิ้นเปลี่ยนแปร อันขื่อเมือง ได้แก่ ตากวนบ้าน ตาแสงผู้สัตย์ซื่อ ราษฎรก็หากสุขอยู่ด้วยดอมเจ้าคู่ซู่กัน ฝาเมืองนั้น ได้แก่ พลาหาญกล้า โยธาทแกล้วเก่ง กับทหารผู้กล้าอาจฟันข้าหมู่เขา กับข้าเสิกสิเข้ามายาดชิงเมือง

แปเมืองนั้น ได้แก่ คุณพระยาเจ้า ผู้ทรงธรรมทศราช เป็นผู้อาจเก่งกล้าผญาล้ำลื่นคน ผู้ตั้งในธรรม พร้อมและศีลธรรมสัตย์ซื่อ เป็นผู้ดียิ่งล้ำ พลข้าอยู่เกษม เขตเมืองนั้น ได้แก่ เสนา ข้ามนตรี ผู้อามาตย์ ผู้ฉลาดอาจรู้เขตบ้านและเขตเมือง บ่อนนั้นดีหรือฮ้ายมีคุณหรือบ่ นี้ละเป็นเขตบ้าน เมืองแท้อย่างดี สติเมือง ได้แก่ เศรษฐีเจ้า ผู้เป็นดีมีมั่ง และ ผู้ตั้งตลาดซื้อค้า หาซื้อจ่ายของ ผู้ที่ ทำถืกต้องครองราชธรรมเนียม บ่แม่นแนวโจโรหลอกหลอนลวงต้ม นี้ละเจ้าสติเมืองเกินมันแม่น อันใจเมือง ได้แก่ แพทย์ผู้ฮู้ยาแก้ใส่คน อันไทเฮาเรียกว่า หมอกล้า ผู้หายามาปัวปิ่น ฮู้จักพยาธิ ฮ้ายยาแก้ถืกกัน นี้ละเป็นใจแท้เมืองคนเจริญยิ่ง

อีกค่าเมือง ได้แก่ ภูมิภาคพื้นดินฟ้าค่าแพง ภูมิประเทศ บ่อนแล้งหรือชุ่มดินงามอีกทั้งชาวพลเมืองก็ดั่งเดียวกันแท้ ผู้สิทำคุณให้เมืองตน เจริญเด่นและดินฟ้าหมู่นั้นสำคัญแท้กว่าเขา นี้ละสินำผลมาหลายอย่าง ของต่างๆ หมากไม้ ก็มี ด้วยแผ่นดิน เมฆเมืองนั้น ได้ เทพดาเจ้า มหาศักดิ์ตนอาจ อาฮักขาอยู่เฝ้าแถวนั้นเขตเมือง นี้กะ ดีเหลือล้นฮักษาสุขยิ่ง นี้กะเป็นมิ่งบ้านเมืองแท้อย่างดี มันหากเหมิดท่อนี้ครองราชราชาฯ

บทกลอนนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเฟื่องฟูรุ่งเรืองทางวรรณคดีของชาวอีสานว่า มีอัจฉริยะ หรือเป็น เจ้าบทเจ้ากลอน เพียงใด แม้แต่จารีตประเพณีอันเป็นกรอบสำหรับประพฤติปฏิบัติของแต่ละบุคคล ตลอดจนกระทั่งกติกาในการปกครองบ้านเมือง สำหรับชนชั้นปกครอง ประดุจรัฐธรรมนูญ จารีตประเพณีของประเทศอังกฤษ ก็ยังจารึกไว้เป็นบทกลอน เพื่อที่จะให้เป็นภาษาที่สละสลวย แพร่หลาย จนซึมซาบเข้าถึงจิตใจของสมาชิกในสังคมทุกคนได้ง่าย

 ผู้ปกครอง | พระสงฆ์ - บุคคลทั่วไป


ฮีตสิบสอง | คองสิบสี่ | ระบบการปกครองของชาวอีสานโบราณ