boon katin

ความหมายของกฐิน | ตำนานกฐิน | กฐินหลวง | กฐินรษฎร์ | ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับกฐิน

bulletกฐินราษฎร์

ฐินราษฎร์ เป็นกฐินที่ประชาชน หรือราษฎรที่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีกำลังศรัทธานำผ้ากฐินของตนเองไปทอดถวาย ณ วัดต่างๆ (เว้นไว้แต่วัดหลวงที่กล่าวมาแล้วในกฐินหลวง) การทอดกฐินของราษฎรตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีการเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปตามลักษณะวิธีการทอดถึง 4 รูปแบบคือ

  • กฐิน หรือ มหากฐิน
  • จุลกฐิน หรือ กฐินแล่น
  • กฐินสามัคคี
  • กฐินตกค้าง

boon ka tin 06

3diamondกฐิน หรือ มหากฐิน

เป็นกฐินที่ราษฎรนำไปทอด ณ วัดใดวัดหนึ่ง ซึ่งตนมีศรัทธาเป็นการเฉพาะ กล่าวคือ ท่านผู้ใดมีศรัทธาจะทอดกฐิน ณ วัดใด ก็ให้ทำใบปวารณาจองกฐินติดใบบอกไว้ ณ เขตวัดนั้นๆ เมื่อถึงเวลากำหนดก็นำผ้ากฐิน บางครั้งเรียกว่า ผ้าที่เป็นองค์กฐิน ซึ่งจะเป็นผืนเดียวก็ได้ หลายผืนก็ได้ เป็นผ้าขาวซึ่งยังมิได้ตัด ก็ตัดออกเป็นชิ้นๆ พอที่จะประกอบเข้าเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ทำเสร็จแล้วยังมิได้ย้อมหรือย้อมแล้วก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งจัดเป็นองค์กฐิน นำไปทอด ณ วัดที่ได้จองไว้นั้น

นอกจากองค์กฐินแล้ว เจ้าภาพบางรายอาจศรัทธาถวายของอื่นๆ ไปพร้อมกับองค์กฐินเรียกว่า บริวารกฐิน ตามที่นิยมกันประกอบด้วยปัจจัย 4 คือ

  1. เครื่องอาศัยของพระภิกษุสามเณร มี ไตร จีวร บริขารอื่นๆ ที่จำเป็น
  2. เครื่องใช้ประจำปี มีมุ้ง หมอน กลด เตียง ตั่ง โต๊ะ เก้าอี้ โอ่งน้ำ กระถาง กระทะ กระโถน เตา ภาชนะสำหรับใส่อาหารคาวหวาน
  3. เครื่องซ่อมเสนาสนะ มี มีด ขวาน สิ่ว เลื่อย ไม้กวาด จอบ เสียม
  4. เครื่องคิลานเภสัช มียารักษาโรค ยาสีฟัน แปรงสีฟัน อุปกรณ์ซักล้าง เป็นต้น

หรือจะมีอย่างอื่นนอกจากที่กลาวมานี้ก็ได้ ขอให้เป็นของที่สมควรแก่พระภิกษุ สามเณร จะใช้อุปโภคบริโภคเท่านั้น หากจะมีของที่ระลึกสำหรับแจกจ่ายแก่คนที่อยู่ในวัดหรือคนที่มาร่วมงานกฐินด้วยก็ได้ สุดแต่กำลังศรัทธาและอัธยาศัยไมตรีของเจ้าภาพ

นอกจากนั้น ยังมีธรรมเนียมที่เจ้าภาพผู้ทอดกฐินจะต้องมี ผ้าห่มพระประธานอีกหนึ่งผืน เทียนสำหรับจุดในเวลาที่พระภิกษุสวดปาติโมกข์ ที่เรียกสั้นๆ ว่า เทียนปาติโมกข์ จำนวน 24 เล่ม และมีธงผ้าขาวเขียนรูปจระเข้ หรือสัตว์น้ำอย่างอื่น เช่น ปลา นางเงือก สำหรับปักหน้าวัดที่อยู่ตามริมน้ำ เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้ว (ถ้าเป็นวัดที่อยู่ไกลแม่น้ำให้มีธงผ้าขาวเขียนรูปตะขาบปักไว้หน้าวัดแทนรูปสัตว์น้ำ) การปักธงนี้เป็นเครื่องหมายให้ทราบว่าวัดนั้นๆ ได้รับกฐินแล้ว และอนุโมทนาร่วมกุศลด้วยได้

ธงจระเข้ ปัญหาที่ว่าเพราะเหตุไรจึงมีธงจระเข้ยกขึ้นในวัดที่ทอดกฐินแล้ว ยังไม่ปรากฎหลักฐาน และข้อวิจารณ์ อันสมบูรณ์โดยมิต้องสงสัย เท่าที่รู้กันมี 2 มติ คือ

  1. ในโบราณสมัย การจะเดินทางต้องอาศัยดาวช่วยประกอบเหมือน เช่น การยกทัพเคลื่อนขบวนในตอนจวนจะสว่าง จะต้องอาศัยดาวจระเข้นี้ เพราะดาวจระเข้นี้ขึ้นในจวนจะสว่าง การทอดกฐิน มีภาระมาก บางทีต้องไปทอด ณ วัดซึ่งอยู่ไกลบ้าน ฉะนั้น การดูเวลาจึงต้องอาศัยดาว พอดาวจระเข้ขี้น ก็เคลี่อนองค์กฐินไปสว่างเอาที่วัดพอดี และต่อมาก็คงมีผู้คิดทำธงในงานกฐิน ในชั้นต้น ก็คงทำธงทิวประดับประดาให้สวยงามทั้งที่องค์กฐิน ทั้งที่บริเวณวัดและภายหลัย คงหวั่นจะให้เป็นเครื่องหมายเนื่องด้วยการกฐิน ดังนั้น จึงคิดทำธงรูปจระเข้ เสมือนประกาศให้รู้ว่าทอดกฐินแล้ว
  2. อีกมติหนึ่งเล่าเป็นนิทานโบราณว่า ในการแห่กฐินในทางเรือของอุบาสกผู้หนึ่ง มีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญจึงอุตส่าห์ว่ายตามเรือไปด้วย แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดกำลังว่ายตามต่อไปอีกไม่ไหว จึงร้องบอกอุบาสกว่า เหนื่อยนักแล้ว ไม่สามารถจะว่ายตามไปร่วมกองการกุศล วานท่านเมตตาช่วยเขียนรูปข้าพเจ้า เพื่อเป็นสักขีพยานว่าได้ไปร่วมการกุศลด้วยเถิด อุบาสกผู้นั้นจึงได้เขียนรูปจระเข้ยกเป็นธงขึ้นในวัดเป็นปฐม และสืบเนื่องมาจนบัดนี้

นอกจากนี้แล้วยังมีประเพณีนิยมอีกอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับเวลาของการทอดกฐิน ถ้าเป็นเวลาเช้าจะมีการทำบุญถวายอาหารเพลแด่พระภิกษุ สามเณร ในวัดด้วย

กฐินที่ราษฎรเป็นเจ้าภาพนำองค์กฐินและบริวารกฐินไปทอดยังวัดต่างๆ นี้เรียกว่า กฐิน หรือ มหากฐิน เหตุที่เรียกว่ามหากฐินอาจเป็นเพราะจะให้เห็นความแตกต่างจากกฐินอีกชนิดหนึ่งคือ จุลกฐิน ก็ได้

 

3diamondจุลกฐิน หรือ กฐินแล่น

เป็นกฐินที่ต้องอาศัยความร่วมมือของคนหมู่มาก ต้องเร่งรีบทำให้เสร็จ เลยเรียกว่า กฐินแล่น (ความหมายคือเร่งรีบ ฟ้าว ต้องแล่น (วิ่ง) จึงจะเสร็จทันกาล) เจ้าภาพผู้ที่จะคิดทำจุลกฐินเพื่อทอดถวาย ณ วัดใดวัดหนึ่งจะต้องมีบารมี มีพวกพ้องคอยช่วยเหลือ เพราะต้องเริ่มจากการนำฝ้ายที่แก่ใช้ได้แล้วแต่ยังอยู่ในฝัก มีปริมาณมากพอที่จะทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้แล้ว ทำพิธีสมมติว่าฝ้ายจำนวนนั้นได้มีการหว่านแตกงอก ออกต้น เติบโต ผลิดอก ออกฝักแก่สุก แล้วเก็บมาอิ้วเอาเมล็ดออก ดีดเป็นผง ทำเป็นเส้นด้าย เบียออกเป็นไจ กรอออกเป็นเข็ด แล้วฆ่าด้วยน้ำข้าว ตากให้แห้ง ใส่กงปั่นเส้นหลอด ใส่กระสวยเครือแล้วทอเป็นแผ่นผ้าตามขนาดที่ต้องการนำไปทอดเป็นผ้ากฐิน

เมื่อพระสงฆ์รับผ้านั้นแล้ว มอบแก่พระภิกษุผู้เป็นองค์ครอง ซึ่งพระภิกษุองค์ครองจะจัดการต่อไปตามพระวินัย

หลังจากนั้นผู้ทอดต้องช่วยทำต่อ คือ นำผ้านั้นมาขยำ ทุบ ซัก แล้วไปตากให้แห้ง นำมาตัดเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง แล้วเย็บย้อม ตากแห้ง พับ ทับรีดเสร็จเรียบร้อยนำไปถวายพระภิกษุองค์ครองอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ท่านทำพินทุอธิษฐาน เสร็จการพินทุอธิษฐานแล้วจะมีการประชุมสงฆ์ แจ้งให้ทราบ พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดจะอนุโมทนาเป็นเสร็จพิธีจุลกฐิน

แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ทอดกฐินไม่มีกำลังมาก พอจะตัดวิธีการในตอนต้นๆ ออกเสียก็ได้ โดยเริ่มตั้งแต่การนำเอาผ้าขาวผืนใหญ่ มากะประมาณให้พอที่จะตัดเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งแล้วนำไปทอด เมื่อพระภิกษุสงฆ์ท่านนำไปดำเนินการตามพระวินัยแล้ว ก็ช่วยทำต่อจากท่าน คือ ซัก กะ ตัด เย็บ ย้อมให้เสร็จ แล้วนำกลับไปถวายพระภิกษุองค์ครองเพื่อพินทุ อธิษฐานต่อไปเหมือนวิธีทำที่กล่าวมาแล้วในการทำจุลกฐินเต็มรูปแบบ

ส่วนบริวารของจุลกฐิน ผ้าห่มพระประธาน และเทียนปาติโมกข์ ตลอดจนธงจรเข้ ตะขาบ ก็คงเป็นเช่นที่กล่าวมาในเรื่องของกฐินหรือมหากฐินนั่นเอง

 

3diamondกฐินสามัคคี

เป็นกฐินที่มีเจ้าภาพหลายคนร่วมกัน จะบริจาคมากน้อยอย่างไรไม่กำหนด เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากในการดำเนินการก็มักจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการ ตั้งแต่มีหนังสือบอกบุญไปยังผู้อื่น เมื่อได้ปัจจัยมาก็นำมาจัดหาผ้าอันเป็นองค์กฐินรวมทั้งบริวารต่างๆ เมื่อมีปัจจัยเหลือก็นำถวายวัดเพื่อช่วยเป็นค่าใช้จ่ายในการบูรณปฏิสังขรณ์ กุฏิ โบสถ์ เจดีย์ เป็นต้น กฐินสามัคคีนี้มักจะนำไปทอดยังวัดที่กำลังมีการก่อสร้างหรือปฏิสังขรณ์ เพื่อเป็นการสมทบทุนให้สิ่งอันพึงประสงค์ของวัดให้สำเร็จเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว

เรื่องของกฐินสามัคคีเป็นที่นิยมแพร่หลายกันมาก เพราะนอกจากจะถือกันว่าเป็นบุญเป็นกุศลแล้ว ยังเป็นการช่วยทำนุบำรุงวัด ตลอดจนเป็นการสร้างความสมานสามัคคีของชุมชน ให้มีความรักมั่นกลมเกลียวอันเนื่องมาจากอานิสงส์ของกฐินสามัคคีนั่นเอง

 

3diamondกฐินตกค้าง

กฐินประเภทนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กฐินตก กฐินโจร ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน ได้กล่าวถึงเหตุผลที่เกิดกฐินชนิดนี้ ตลอดจนชื่อเรียกที่ต่างกันออกไปว่า (จากเรื่องเทศกาลออกพรรษา)

"...แต่ที่ทำกันเช่นนี้ ทำกันอยู่ในท้องถิ่นที่มีวัดตกค้างไม่มีใครทอดก็ได้ จึงมักมีผู้ศรัทธาไปสืบเสาะหาวัดอย่างนี้เพื่อทอดกฐินตามปกติในวันใกล้ๆ จะสิ้นหน้าทอดกฐินหรือในวันสุดท้ายของกาลกฐิน (คือวันก่อนวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12) การทอดกฐินอย่างนี้เรียกว่า กฐินตกค้าง หรือเรียกว่า กฐินตก บางถิ่นก็เรียก กฐินโจร เพราะกิริยาอาการที่ไปทอดอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว จู่ๆ ก็ไปทอด ไม่บอกกล่าวเล่าสิบล่วงหน้าให้วัดรู้ เพื่อเตรียมตัวกันได้พร้อมและเรียบร้อย การทอดกฐินตกถือว่าได้บุญอานิสงส์แรงกว่าทอดกฐินตามธรรมดา บางคนเตรียมข้าวของไปทอดกฐินหลายๆ วัด แต่ได้ทอดน้อยวัด เครื่องไทยธรรมที่ตระเตรียมเอาไปทอดยังมีเหลืออยู่ หรือบางวัดทอดไม่ได้ (อาจเป็นที่ไม่ครบองค์สงฆ์) ก็เอาเครื่องไทยธรรมเหล่านั้นจัดทำเป็นผ้าป่า เรียกกันว่า ผ้าป่าแถมกฐิน

กฐินประเภทนี้ เรื่ององค์กฐิน บริวารกฐิน ยังคงเป็นเช่นเดียวกับกฐินอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว ส่วนข้อแตกต่างที่ชัดเจนคือ ไม่มีการจองวัดล่วงหน้า การทอดก็ทอดได้เฉพาะวัดที่ยังไม่มีใครทอด และเจ้าภาพเดียวอาจจะทอดหลายวัดก็ได้ ตลอดจนสามารถนำเอาของไทยธรรมที่เหลือ ทำเป็นการบุญชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ผ้าป่าแถมกฐิน ได้อีก

การแก้ปัญหาเรื่องกฐินตกค้าง

ในกรณีที่วัดใดวัดหนึ่งไม่มีผู้จองกฐิน หรือที่เรียกว่ากฐินตกค้างนั้น ถ้าเข้าใจความมุ่งหมายของการทอดกฐินแล้วแก้ปัญหาได้ง่าย เพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่าการทอดกฐินนั้นต้องใช้จ่ายสิ้นเปลืองมาก ถ้าไม่มีกำลังทรัพย์พอก็ไม่ค่อยกล้าแสดงความจำนงจองกฐิน

ความจริงการทอดกฐินนั้นมีเพียงผ้าผืนเดียว ซึ่งอาจตัดเย็บย้อมเป็นผ้านุ่ง หรือผ้าห่มซ้อนอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ หรืออาจถวายผ้าสำเร็จรูปผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ นับเป็นการทอดกฐินแล้ว ที่เราสิ้นเปลืองกันมากนั้นเป็นการไปเพิ่มโน่นเพิ่มนี่ขึ้นมากันตามกำลังศรัทธา เพื่อให้มีองค์ประกอบสวยงาม โดยเฉพาะมหรสพคบงันต่างๆ ที่สร้างความครึกครื้นนั้นไม่ได้มีบัญญัติไว้แต่อย่างใด ซึ่งไม่ใช่สิ่งจำเป็นใดๆ เลย

พราะฉะนั้นถ้ามีปัญหาเรื่องวัดใดวัดหนึ่งไม่มีใครจองกฐิน ใครก็ได้ที่มีศรัทธาและทุนไม่มากไปซื้อผ้าสำเร็จรูปผืนใดผืนหนึ่งมาถวาย ก็เรียกว่า ทอดกฐิน แล้ว หรือในกรณีที่บางวัดมีประเพณีให้ตัดเย็บ ย้อมให้เสร็จในวันนั้นก็ซื้อผ้าขาวผืนเดียวมาถวาย ก็จัดเป็นการทอดกฐินที่สมบูรณ์ตามพระวินัย เป็นอันแก้ปัญหาเรื่องกฐินตกค้างอย่างง่ายๆ เพียงเท่านี้

boon ka tin 07

ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับกฐิน

มื่องานบุญกฐินเป็นงานมหากุศลที่พุทธศาสนิกชนเลื่อมใสศรัทธา การปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดงานบุญประเพณีนี้ต้องทำให้ถูกพระธรรมวินัยจึงจะได้อานิสงส์ ข้อปฏิบัติที่น่าสนใจมีดังนี้

การจองกฐิน

การจองกฐิน ก็คือ การแจ้งล่วงหน้าให้ทางวัดและประชาชนได้ทราบว่าวัดนั้นๆ มีผู้ศรัทธาทอดกฐินกันเป็นจำนวนมากถ้าไม่จองไว้ก่อนอาจไม่มีโอกาส จึงเกิดเป็นธรรมเนียมขึ้นว่าจะทอดกฐินต้องจองล่วงหน้า เพื่อให้มีโอกาสและเพื่อไม่ให้เกิดการทอดซ้ำ วัดหนึ่งวัดปีหนึ่งทอดกฐินได้ครั้งเดียว และในเวลาจำกัด คือหลังจากออกพรรษาแล้วเพียงเดือนเดียวดังได้กล่าวมาแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม กฐินหลวงไม่มีการจองล่วงหน้า เว้นแต่กฐินพระราชทาน ผู้ประสงค์จะขอรับพระราชทานกฐินไปทอดต้องจองล่วงหน้า โดยแจ้งไปยังกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวมาแล้ว

ตัวอย่างใบจองกฐิน

ข้าพเจ้าชื่อ ................................................... บ้านเลขที่ ............ ตำบล ...................................... อำเภอ .................................................... จังหวัด ...................................... มีศรัทธาปรารถนาจะทอดกฐินแก่พระสงฆ์วัดนี้ มีองค์กฐิน .................... มีบริวารกฐิน ....................... กำหนดวัน ............. เดือน ............................................. ปี ..................... เวลา ........................

ขอเชิญท่านทั้งหลายมาร่วมกุศลด้วยกัน หากท่านผู้ใดมีศรัทธามากกว่ากำหนด ขอผู้นั้นจงได้โอกาสเพื่อทอดเถิด ข้าพเจ้ายินดีอนุโมทนาร่วมกุศลด้วย

ถ้าหากว่ามีผู้ศรัทธามากกว่าจะนำกฐินมาทอด ณ วัดเดียวกัน ก็ต้องทำใบจองดังกล่าวมานี้มาปิดไว้ที่วัดในที่เปิดเผย เช่น ศาลาการเปรียญ เป็นต้น และเป็นธรรมเนียมที่ถือกันว่า การที่มีผู้มาจองทับเช่นนี้ไม่เป็นการเสียมารยาทแต่อย่างใด แต่ถือเป็นเรื่องสนุกสนานในการทำบุญกุศลอย่างหนึ่ง ในภายหลังไม่นิยมจองทับกันแล้ว ถ้ามีศรัทธาวัดเดียวกันก็มักจะรวมกันซึ่งเรียกว่า กฐินสามัคคี

ในการทอดกฐินสามัคคีนี้ ผู้ทอดอาจเชิญชวน ผู้มีจิตศรัทธาให้มาร่วมกันทำบุญ โดยแจกใบบอกบุญหรือเรียกว่า ฎีกา ก็ได้

การทอดกฐิน

เมื่อได้ตระเตรียมพร้อมแล้ว ถึงกำหนดก็นำผ้ากฐินกับบริวารไปยังวัดที่จองไว้ การนำไปนั้นจะไปเงียบๆ หรือจะแห่แหนกันไปก็ได้เมื่อไปถึงแล้ว พักอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งที่สะดวก เช่น ที่ศาลา ท่าน้ำ ศาลาโรงธรรม โรงอุโบสถ หรือที่ใดที่หนึ่งซึ่งทางวัดจัดไว้ เมื่อพระสงฆ์พร้อมแล้วก่อนถวายกฐิน อาราธนาศีล รับศีล เมื่อรับแล้ว ทายกประกาศให้รู้พร้อมกัน หัวหน้าผู้ทอดกฐินหันหน้าไปทางพระพุทธรูป ตั้งนโม 3 จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์กล่าวถวายเป็นภาษาบาลี ภาษาไทย หรือทั้งสองภาษาก็ได้ ว่าคนเดียวหรือว่านำแล้วคนทั้งหลายว่าตามพร้อมกันก็ได้ การกล่าวคำถวายจะกล่าวเป็นคำๆ หรือจะกล่าวรวมกันเป็นวรรคๆ แล้วแต่ความสะดวกของผู้กล่าวนำและผู้กล่าวตาม คำถวายมีดังนี้

คำถวายภาษาบาลี แบบที่ 1

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า 3 หน)
อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ
ทุติยัมปิ อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ
ตะติยัมปิ อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ

คำแปล

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์
แม้คำรบสอง ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์
แม้คำรบสาม ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์

คำถวายภาษาบาลี แบบที่ 2

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า 3 หน)
อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ
ทุติยัมปิ อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ
ตะติยัมปิ อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ
สาธุ โร ภันเต อิมัง สะปริวารา กะฐินะทุสสัง ปฏิคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

คำแปล

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์
แม้คำรบสอง ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์
แม้คำรบสาม ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงรับ ซึ่งผ้ากฐินทั้งบริวารนี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญฯ

คำถวายภาษาบาลี แบบที่ 3

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า 3 หน)
อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ
สาธุ โน ภันเต สังโฆ อิมัง สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง ปะฏิคคันหาตุ
ปะฏิคคเหตะวา จะ อิมินา ทุสเสนะ กะฐินัง อัตถะระตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

คำแปล

ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินกับทั้งบริวารนี้แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐินกับบริวารนี้ ครั้นรับแล้วจงกรานกฐินด้วยผ้าผืนนี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญฯ

เมื่อจบคำถวายแล้ว พระสงฆ์รับสาธุพร้อมกัน องค์กฐินพร้อมทั้งบริวารนั้นถ้าปรารถถวายเป็นของสงฆ์ทั้งหมดก็ไม่ต้องประเคน ถ้าปรารถนาจะประเคนก็อย่าประเคนสมภาร หรือองค์ที่รู้ว่าจะต้องครอง ให้ประเคนองค์อื่น องค์ที่เหมาะสมก็คือองค์รองลงมา เฉพาะองค์กฐินนั้นไม่จำเป็นต้องประเคน ส่วนบริวารนั้น ถ้าจำนงถวายแก่ภิกษุสามเณรในวัดนั้นส่วนเฉพาะ ก็ช่วยกันถวายโดยทั่วกัน เมื่อประเคนเสร็จแล้วจะกลับเพียงนั้นก็ได้ แต่ถ้ายังไม่กลับจะรอจนพระสงฆ์อปโลกน์ และมอบผ้ากฐินเสร็จแล้วก็ได้

ถ้าผ้ากฐินนั้นต้องทำต่อไปอีกเช่น ต้องซัก กะ ตัด เย็บย้อม จะอยู่ช่วยพระก็ได้ จึงมีธรรมเนียมอยู่ว่า ประเคนเฉพาะองค์กฐินแก่พระรูปใดรูปหนึ่งเท่านั้น แล้วรออยู่เมื่อพระสงฆ์ทำพิธีเบื้องต้นของท่านเสร็จจึงประเคนบริวารกฐินในภายหลัง พระสงฆ์อนุโมทนา ผู้ถวายทั้งหมดตั้งใจฟังคำอนุโมทนา และขณะนั้น เจ้าภาพกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล

เพียงเท่านั้นก็เสร็จพิธีถวายกฐินสำหรับทายกผู้มีศรัทธา ต่อจากนั้นเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์จะได้ดำเนินการในเรื่องกรานกฐินต่อไป

หมายเหตุ ปี พ.ศ. 2563

ผู้เขียนได้มีโอกาสได้ไปร่วมทำบุญทอดกฐินที่วัดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีญาติโยมพุทธศาสนิกชนมาร่วมงานกันเป็นจำนวนมากในปีนี้ เมื่อก่อนไม่ค่อยได้ข่าวการทอดกฐินของวัดนี้นัก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นกฐินที่ "โยมอุปัฏฐาก" วัดตระกูลหนึ่งได้จองกฐินไว้ทอดถวายทุกปี แต่ปีนี้เป็น "กฐินสามัคคี" ที่ไม่มีใครจอง ทางวัดได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านทั่วไปได้ทราบทั่วกัน ผู้เขียนเลยได้มีโอกาสมาร่วมพิธีด้วย ได้สอบถามญาติโยมผู้เฒ่าผู้แก่ใกล้เคียงวัดนี้ว่า "ทำไมปีนี้ ไม่มีเจ้าภาพจองกฐินเช่นปีก่อนๆ"

ได้รับคำตอบว่า "หลวงพ่อเจ้าอาวาสและคณะกรรมการวัดมีมติไม่ให้จอง เพราะได้ปัจจัยน้อย ไม่เพียงพอต่อการดูแลศาสนสถานที่เริ่มชำรุดทรุดโทรม ให้ทำเป็นงานบุญกฐินสามัคคีดีกว่า ได้ปัจจัยมากกว่า" ซึ่งก็เป็นนเช่นนั้นจริงๆ ด้วย หลายปีก่อนย้อนไป 10 ปี ได้ปัจจัยปีละไม่เกิน 2 แสนบาท แต่ปีนี้ "กฐินสามมัคคี" มีญาติโยมมาร่วมงานคับคั่งจากทุกสารทิศที่ทราบข่าว ได้ปัจจัยเพื่อบูรณะพระอุโบสถและศาลาการเปรียญมากเกือบ 2 ล้านบาท ก็แล้วแต่จะคิดต่อกันนะครับ แค่เอามาเล่าสู่กันฟังเท่านั้น

 

redline [ กฐินหลวง | กฐินราษฎร์ ]