tok pood header

สังคมของฅนอีสานดั้งเดิมนั้นมีความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูลในการทำงานไม่ว่าจะเป็นงานส่วนตน หรือส่วนรวม เช่น การก่อสร้างบ้านเรือน การสร้างวัดวา อาราม การสร้างโรงเรียน หรือศาลากลางบ้าน ทำให้การงานสำเร็จลุล่วงไป ด้วยการลงแขก หรือ เอาแฮง ช่วยกันทำงาน

การลงแขก

ลงแขก เป็นวัฒนธรรมประเพณีแห่งความเอื้อเฟื้อ และเกื้อกูลกันของสังคมฅนอีสานในอดีต ที่นับวันจะสูยหายไปเนื่องจากระบบเศรษฐกิจที่ใช้เงินตราเป็นตัวกำหนด คนไทยในสมัยนี้รู้จักคำว่า ลงแขก ในความหมายที่จะนำไปสู่คุกตะราง เพราะหมายถึงการร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรา แต่สำหรับฅนอีสานแล้ว การลงแขก มีความหมายถึงน้ำใจที่ผู้คนในชุมชนมอบให้กัน ในการช่วยเหลือกิจการงานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว

buffalo ironคำว่า "ลงแขก" ประกอบด้วยคำสำคัญ 2 คำ คือ "ลง" หมายถึง การลงแรง ออกแรงช่วยกันทำงาน และ "แขก" หมายถึง เพื่อนบ้าน ญาติมิตร ที่สนิทชิดเชื้อไปมาหาสู่ เยี่ยมเยือนกันเป็นประจำ เมื่อนำสองคำนี้มารวมกัน "ลงแขก" จึงหมายความว่า "การขอแรงเพื่อนบ้านในการกระทำสิ่งใดๆ ร่วมกันเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วง" เช่น เมื่อถึงยามฤดูเก็บเกี่ยวข้าว บ้านใดมีแรงงานน้อยก็จะขอแรงเพื่อนบ้านในการช่วยเก็บเกี่ยว เพื่อให้สำเร็จก่อนที่รวงข้าวจะหักร่วงหล่นเสียหายหมดนั่นเอง

การลงแขกทางอีสานตอนเหนือ เช่น จังหวัดเลย จะเรียกว่า "เอาแฮง"

เนื่องจากชีวิตของคนอีสานเกี่ยวพันกับอาชีพด้านเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็น การทำนา การทำไร่ ทำสวน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาของฟ้าและฝน จะต้องเร่งรีบในการเพาะปลูก ปักดำ เก็บเกี่ยว ในครอบครัวใดมีแรงงานมากก็จะทำได้เร็วและทันเวลา แต่ครอบครัวที่มีคนน้อยก็จะทำสำเร็จได้ยาก ณ จุดนี่เองที่ก่อให้เกิดประเพณี ลงแขก เพื่อช่วยเหลือกันด้านแรงงาน ไม่มีค่าจ้างตอบแทน มีเพียงน้ำใจเลี้ยงอาหารข้าวปลาตามแต่จะหาได้ในท้องถิ่น หมุนเวียนกันไปจากครอบครัวหนึ่งสู่อีกครอบครัวหนึ่ง ทำให้กิจการงานสำเร็จลุล่วงมีอาหารเพียงพอไม่ขาดแคลน

เมื่อควายเหล็กเข้ามาสู่ชุมชน พร้อมกับการส่งเสริมให้มีการปลูกเพื่อขาย ยุคเศรษฐกิจเงินตราเป็นใหญ่ จึงทำให้การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในอดีต กลายมาเป็นการว่าจ้างแรงงานแทน และวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามอย่าง การลงแขก จึงพลอยสูญหายไปด้วย

และยิ่งมาถึงยุคสมัยที่ลูกหลานวัยรุ่น หนุ่ม - สาว ของเราหนีความแห้งแล้งไปขายแรงงานในเมืองใหญ่ การทำไร่ไถนาของบรรพบุรุษก็ยิ่งขาดแคลนแรงงานหนัก ก็ได้อาศัยเงินทองที่ลูกหลานส่งมาให้มาจ้างแรงงานในหมู่บ้านใกล้เคียงมาช่วยเหลือ ก็ยิ่งทำให้การลงแขกถูกลืมเลือนเด็ดขาดไปเลย เพราะการช่วยงานต้องมีค่าจ้างตอบแทน เลี้ยงข้าวปลาอาหารอีก นี่จึงต้องมีการฟื้นฟูและกล่าวถึงวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม การลงแขก ให้หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

long kag dam na

อย่างในภาพประกอบข้างบนนั่นก็เป็นภาพของชาวบ้านโพธิ์ศรีสมพร ตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู นับร้อยชีวิตที่มารอร่วมลงแขกดำนาบนที่ดินของ นางนิดถา ภูโคกยาว ซึ่งเป็นชาวนาที่ขัดสนไร้คนช่วยทำนา โครงการดำนาหาเสี่ยว ของจังหวัดหนองบัวลำภูนี้ เกิดขึ้นมาจากความคิดริเริ่มของหลายๆ คน ที่มองเห็นว่า ประเพณีดั้งเดิมของชาวไทยเรากำลังจะสูญหายไป เพราะต่างคนต่างทำ ความสัมพันธ์ในชุมชนมันจึงเริ่มถดถอย ส่งผลถึงผลผลิตของชาวนาบางคนลดน้อยและด้อยคุณภาพ ต่างไปจากคนที่มีกำลังคนและทุนทรัพย์อย่างมากมาย หากไม่นำประเพณีนี้กลับคืนมา เชื่อได้แน่ว่าถามเด็กๆ ก็คงจะบอกไม่ถูกว่าประเพณีลงแขกเขาทำอย่างไรกัน เพราะทุกวันนี้พวกเขาเข้าใจแค่คำว่า "ลงแขก" ที่ลงเอยต้องกลายเป็นผู้ต้องหาเป็นแน่แท้

long kag tam na

การลงแขก นอกจากจะใช้ในด้านการเกษตรกรรม (ดำนา - เกี่ยวข้าว - ตีข้าว - ตำข้าว) แล้ว ชาวอีสานยังมีการลงแขกทำงานอย่างอื่นๆ เช่น ลงแขกเฮ็ดเฮือน (สร้างบ้าน) ในสมัยโบราณดั้งเดิม ชาวบ้านจะมีการช่วยกันโดยไปตัดเอาไม้จากดอนปู่ตา หรือใครมีไม้ตามหัวไร่ปลายนาก็จะแบ่งปัน ตัด/แบก/ขนมาช่วยกันสร้างบ้านให้กัน จนแล้วเสร็จ ลงแขกสร้างศาลากลางบ้าน เป็นที่ทำกิจกรรมของส่วนรวม เช่น การทำบุญกลางบ้าน การประชุมของหมู่บ้าน รวมทั้งเป็นที่พักของแขกที่เดินทางมาจากหมู่บ้านอื่น (สมัยก่อนไม่มีที่พักสาธารณะ โรงแรม โรงเตี้ยม ศาลาวัดหรือศาลากลางบ้านจึงเป็นที่พักของคนเดินทางไกล เพื่อค้าขายหรือทำธุระอย่างอื่น ด้วยการคมนาคมที่ไม่สะดวกสบายอย่างเช่นทุกวันนี้ ต้องค้างแรมระหว่างเดินทาง)

การลงแขก ก่อสร้างทำนุบำรุงวัดวาอาราม ชาวบ้านจะมาช่วยกันในการถากถางหญ้าที่ขึ้นรก ขุดถมพื้นที่ต่ำให้ราบเรียบสม่ำเสมอ สร้างศาลาการเปรียญ อุโบสถ กุฏิพระสงฆ์ เป็นต้น

ตกพูด - ปันพูด - แบ่งพูด

"พูด" ความหมายใน "ภาษาไทยกลาง" นั้นจะหมายถึง การเปล่งเสียงออกมาเป็นถ้อยคำเพื่อการสื่อสาร เจรจากัน แต่ "พูด" ใน "ภาษาอีสาน" นั้นมีความหมายได้หลายอย่างตามบริบท ดังนี้

พูด น.
แบ่งของเป็นส่วนๆ เพื่อแบ่งปันกัน เรียก พูด เช่น พูดปลา พูดกบ พูดเขียด พูดซิ้น อย่างว่า เสี่ยวเฮาปันพูดน้อยบ่สมส่วนกับขน (ผาแดง). portion, share (of meat from hunting or fishing).
พูด ก.๑
พ่นน้ำออกจากปาก เรียก พูด อย่างว่า มณีกาบฮู้อมน้ำพูดพลัน เสด็จผ่านแผ้วผายน้ำพูดพรม (สังข์). to spray water out of mouth.
พูด ก.๒
เปล่งเสียงออกเป็นถ้อยคำ เรียก พูด. to speak.

ที่มา : สารานุกรมอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร. ปรีชา พิณทอง

ดังนั้น "พูด" ในที่นี่ไม่ได้หมายถึงการส่งเสียงเจรจา แต่ พูด เป็น คำนาม ตามความหมายในภาษาอีสานนั้นหมายถึง แบ่งของเป็นส่วนๆ เพื่อแบ่งปันกัน เรียกว่า การตกพูด แบ่งพูด ปันพูด ในอดีตนั้นชาวบ้านอีสานมักออกไปล่าสัตว์ในป่า ยิงเก้ง กวาง หมูป่า ฯลฯ โดยชวนพรรคพวกเพื่อนบ้านไปด้วยกัน บ้างก็ไปกันถึงสามวันเจ็ดวัน หรือออกไปล่าเป็นเดือนก็มี เมื่อยิงสัตว์ได้แล้ว สัตว์ทุกตัวถือว่าเป็น "สมบัติส่วนกลาง" ที่ทุกคนพึงได้รับส่วนแบ่ง ซึ่งส่วนแบ่งนี้จะได้รับเท่าเทียมกัน

forest 01คำว่า "เท่าเทียมกัน" ถ้าเป็นคนในสังคมเมืองปัจจุบัน อาจต้องใช้เครื่องมือชั่ง ตวง วัด ให้ทัดเทียมกัน ขณะที่สังคมชนบทมิได้เล็งไปที่ความเท่ากันทางตัวเลข แต่กลับยึดถือที่ผู้นำเป็นหลัก ถ้าผู้นำแบ่งให้เท่าใด ก็ถือว่ายุติ (ธรรม) แล้ว

หลักการง่ายๆ ของความเท่าเทียมกันก็คือ ทุกคนจะได้รับส่วนแบ่งที่เหมือนกันทั้งหมด เช่น หากเข้าป่าไปด้วยกัน 7 คน ล่าได้เมย (กระทิง) มา 1 ตัว จะมีการแล่เนื้อทุกส่วนออกเป็น 7 ชิ้น เช่น เนื้อขาลาย เนื้อตะโพก เนื้อสัน ฯลฯ แต่ละชิ้นจะมีขนาดเท่ากัน (ตามความรู้สึกของผู้ตัดเฉือน) แม้กระทั่งไส้ และขี้เพี้ย (น้ำย่อยที่อยู่ในลำไส้อ่อน) และเลือด ก็ได้รับการแบ่งสันไว้ด้วยเช่นกัน ต่อจากนั้นหัวหน้าจะหยิบชิ้นเนื้อไปวางไว้เป็น 7 กอง ซึ่งกองเนื้อที่ได้รับการแบ่งปันนี้เรียกกันว่า "พูด" (เป็นคำนาม) ส่วนการแบ่งด้วยวิธีนี้เรียกว่า "ตกพูด" (เป็นคำกริยา) และมีคำอื่นๆ ที่แทนค่ากันได้ คือ ยายพูด แบ่งพูด ปันพูด เป็นต้น (ยาย ภาษาอีสานหมายความว่า วางไว้เป็นระยะๆ)

ไม่ได้มีเป็นกฎที่ตราไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีธรรมเนียมปฏิบัติในการตกพูด คือ หัวหน้าหรือผู้นำจะเป็นคนได้รับพูดสุดท้าย หลังจากที่ทุกคนเลือกเอาพูด (หรือกองอื่นๆ) ไปแล้ว ดังนั้น หัวหน้าหรือผู้นำ จึงปลอดจากข้อคลางแคลงสงสัยว่า จะหยิบกองก้อนเนื้อที่มีขนาดใหญ่ไว้เป็นของตนหรือไม่ ส่วนบำเหน็จของความเสียสละที่นำพาพวกพ้องออกล่าสัตว์ ผู้นำจะได้รับหัวและขาของสัตว์ที่ล่าได้อีกโสดหนึ่ง แต่หัวหน้าอาจจะโอนของที่ได้เพิ่มมานี้ ให้แก่คนใดคนหนึ่งที่ร่วมล่าด้วยกันก็ได้ โดยต้องอยู่ในดุลยพินิจที่จะไม่ทำให้เสียการปกครองของหมู่คณะ

forest 02วิธีการดังที่ว่านี้ อาจดูคล้ายเป็นแนวทางของคนบ้านป่าเมืองเถื่อน และเปิดช่องทางให้หัวหน้าผู้มีจิตละโมบ ใช้อำนาจบังคับ หรือพลิกแพลงเอาจากพวกพ้อง แต่แท้จริงแล้ว การตกพูดเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เป็นวัฒนธรรมของการจัดสรรปันส่วน และเป็นเรื่องของระดับชั้นเพื่อการอยู่ร่วมกัน คือต้องมีผู้นำและผู้ตาม เมื่อผู้นำไม่เอาเปรียบ มีแต่จะหาทางปกป้องคุ้มครอง เสียสละและรักษาผลประโยชน์ของผู้ตาม ก็จะอยู่ร่วมกันได้นานๆ อีกทั้งยังเป็นที่รัก เคารพนับถืออีกด้วย

แม้ในปัจจุบัน ลักษณะการแบ่งปันด้วยวิธีตกพูดยังปฏิบัติกันโดยทั่วไปในหมู่ชาวบ้าน เช่น มีเหตุต้องชำแหละวัวหนุ่มตัวหนึ่ง กลุ่มผู้นำจะสอบถามความสมัครใจจากชาวบ้านว่า ใครใคร่จะได้เนื้อวัวไปทำอาหาร เมื่อทราบจำนวนคนแล้ว ก็นำตัวเลขคนที่ต้องการไปหาร แบ่งจากค่าวัวซึ่งตีราคาไว้ที่ 8,000 บาท มีผู้ประสงค์ 40 ครอบครัว ดังนั้นแต่ละคนจะต้องจ่าย 200 บาท

ในความเป็นจริง คณะกรรมการหมู่บ้านจะชำแหละวัวให้เรียบร้อย แล้วนำเครื่องชั่งมาเป็นเกณฑ์ ตรวจค่าน้ำหนักกำหนดราคาเนื้อวัว และอาจจะบวกค่าแรงและเวลาไปด้วยก็น่าจะได้ แต่ "วิถีชาวบ้าน" เลือกที่จะปฏิบัติด้วยวิธีตกพูด เพราะสิ่งที่ได้จากการที่ต้องจ่ายเงิน 200 บาท มิใช่เพียงแค่ชิ้นเนื้อล้วนๆ แต่ยังรวมถึงเนื้อส่วนอื่นๆ เช่น เนื้อส่วนที่เรียกว่าผ้าขี้ริ้ว ตับ ไส้ เลือด ขี้เพี้ย ที่ชาวบ้านนิยมบริโภค ทุกพูดจะประกอบด้วยชิ้นเนื้อที่เหมือนๆ กัน

pood seent

"พูดเนื้อวัว" จะถูกเจาะร้อยด้วยตอก หวาย หรือเครือไม้ เพื่อสะดวกในการถือหิ้วกลับบ้าน (ในยุคไร้ถุงก็อปแก็ป)

พูด ที่แบ่งกันใน พ.ศ. นี้ บรรจุลงในถุงพลาสติก แทนการห่อด้วยใบตองกุง (ใบพลวง) หรือการร้อยด้วยเส้นตอก เลือดและขี้เพี้ยถูกกรอกลงในถุงพลาสติกใบย่อมแยกกัน รัดด้วยยางรัด พื้นที่รองกองพูด เป็นตาข่ายไนล่อนแทนใบตองกล้วยป่า และไม่ว่ารูปแบบและส่วนประกอบอื่นๆ ที่นำมาใช้ในการตกพูดจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงและเป็นหัวใจกติกาการตกพูด คือ ผู้แบ่งจะได้รับเป็นคนสุดท้าย

playai nammoonการตกพูดจะไม่นิยมนับจำนวนคน ถ้ามีคนห้อมล้อมมากเกินไป คือบางครอบครัวอาจมาหลายคน จะใช้วิธีให้หักไม้มาวางแทนครอบครัวแล้ว นับจำนวน (แท่ง) ไม้ เช่น นับได้ 10 แท่ง ก็จะตกพูดให้ได้ 10 พูด การตกพูด คือ การชำแหละออกเป็นส่วนๆ สัตว์เล็กๆ เช่น ปลา กบ หรือ พืช ผัก จะเรียกเป็นกอง กองนั้น กองนี้ ยกเว้นปลาตัวใหญ่มากอย่างปลาบึก ปลาค้าว ปลาเคิง จะตกพูดก็ได้

แต่หลายที่จะปันเกินไว้อีกพูด (ถ้าเรียกกองก็ปันไว้อีก 1 กอง) เพื่อเก็บไว้กินเลี้ยงสังสรรค์กันสำหรับผู้ที่คัว (คนทำหน้าที่แล่ แบ่ง) หรือผู้ที่มาร่วมสังสรรค์ก็กินด้วยกัน

ส่วนที่เป็นส่วนเกินนี่ล่ะ นอกจากจะปันเกินจำนวนคน 1 พูด (หรือหลายพูด ถือเป็นกำไร) แล้ว หัว ขา หรือส่วนใหนที่น่าเก็บไว้กินเป็นพิเศษ สำหรับกลุ่มที่แล่เนื้อ ก็จะนำมาทำกินกันก่อนเลย ณ บริเวณที่แล่เนื้อนั่น ก่อนที่จะแยกย้ายกันนำพูดของตัวกลับบ้านไปให้ลูกเมีย ส่วนเกิน 1 พูด (หรือหลายพูด หรือพูดใหญ่ๆ ก็มี) บางทีก็ขายเพื่อนำมาซื้อเครื่องดื่ม เพราะการฆ่าเนื้อ สำหรับชาวชนบทเราจะขาดไม่ได้เลยคือ เหล้าขาว บางคนก็ควักกระเป๋ามาร่วมซื้อกินด้วยกัน บางคนเมาแล้วยังเอาพูดของตัวเองมาทำกินกับเพื่อนพ้องก็มี นี่ล่ะคือความเป็นชุมชนอีสานที่มีความสัมพันธ์กันเป็นหนึ่งเดียวเมื่อครั้งอดีต

tok pood

เมื่อยุคสมัยเปลั่ยนไปการซื้อขายด้วยน้ำหนักกิโลกรัม ก็จะได้เพียงส่วนใดส่วนหนึ่งตามที่ต้องการเท่านั้น

 


backled1