candle festival header

candle festival 001

กำเนิดและวิวัฒนาการเทียนพรรษาอุบลราชธานี

กำเนิดเทียนพรรษา

าสนาพราหมณ์-ฮินดู นับถือวัวเพราะถือว่า วัวเป็นพาหนะของพระอิศวร เมื่อวัวตาย จะเอาไขจากวัวมาทำเป็นน้ำมันเพื่อจุดบูชาพระผู้เป็นเจ้าที่ตนเคารพ

แต่ชาวพุทธซึ่งนับถือศาสนาพุทธจะทำเทียนเพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัย โดยการเอารังผึ้งร้างมาต้มเอาขี้ผึ้ง แล้วฟั่นเป็นเทียนเล่มเล็กๆ มีความยาวตามต้องการ เช่น ยาวเป็นคืบ หรือเป็นศอกแล้วใช้จุดบูชาพระ

เทียนพรรษา เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ชาวพุทธจะยึดถือเป็นประเพณีนำเทียนไปถวายพระภิกษุในเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อปรารถนาให้ตนเองเป็นผู้เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ประดุจ แสงสว่างของดวงเทียน

วิวัฒนาการของเทียนพรรษา

เทียนพรรษา คือ เทียนขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น สำหรับใช้จุดในโบสถ์ ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525)

การทำเทียนพรรษา มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ จากการนำรังผึ้งมาต้มให้ร้อน จนละลาย เอาขี้ผึ้งไปฟั่นอบเส้นฝ้ายเป็นเทียนนำไปถวายพระภิกษุ เอาเทียนเล่มเล็กๆ หลายๆ เล่ม มามัดรวมกันเป็นลำต้นคล้ายกับต้นกล้วย หรือลำไม้ไผ่ แล้วนำไปติดกับฐาน ซึ่งการมัดรวมกันแบบนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่นิยมเรียกว่า ต้นเทียน หรือ ต้นเทียนพรรษา

candle bw 01
ภาพขบวนแห่เทียนไปถวายพระที่วัดในอดีต

ต้นเทียนพรรษาประเภทแรก คือ "มัดรวมติดลาย" เป็นการเอาเทียนเล่มเล็กๆ มามัดรวมกันบนแกนไม้ไผ่ ให้เป็นต้นเทียนขนาดใหญ่ แล้วตัดกระดาษเงิน กระดาษทองเป็นลายต่างๆ ติดประดับโดยรอบต้นเทียน (ตรงเชือกที่มัดต้นเทียน) ให้ดูสวยงาม ต่อมามีการคิดทำต้นเทียนเป็นต้นเดี่ยว เพื่อใช้จุดให้ได้นานขึ้น โดยการใช้ลำไม้ไผ่ที่ทะลุปล้องเป็นแบบหล่อ เมื่อหล่อเทียนเป็นต้นเสร็จแล้วจึงนำมาติดที่ฐานไม้ และจัดขบวนแห่ต้นเทียนไปถวายพระที่วัด

การตกแต่งต้นเทียนเริ่มมีขึ้นโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้ขี้ผึ้งลนไฟ หรือตากแดดให้อ่อน แล้วปั้นเป็นรูปดอกลำดวนติดต้นเทียน หรือเอาขี้ผึ้งไปต้มให้ละลาย แล้วใช้ผลมะละกอ หรือ ผลฟักทอง นำมาแกะเป็นลวดลาย ใช้ไม้เสียบนำไปจุ่มในน้ำขี้ผึ้ง แล้วนำไปจุ่มในน้ำเย็น แกะขี้ผึ้งออกจากแบบ ตัดและตกแต่งให้สวยงามก่อนนำไปติดที่ต้นเทียน

candle festival 002

เมื่อปี พ.ศ. 2482 มีช่างทองชื่อ นายโพธิ์   ส่งศรี   เริ่มทำลายไทยไปประดับบนต้นเทียน โดยมีการทำแบบพิมพ์ลงในแผ่นปูนซีเมนต์ ซึ่งถือว่าเป็นแบบพิมพ์ หรือแม่พิมพ์ แล้วเอาขี้ผึ้งที่อ่อนตัวไปกดลงบนแม่พิมพ์ก็จะได้ขี้ผึ้งเป็นลายไทย นำไปติดกับลำต้นเทียน

ต่อมา นายสวน คูณผล ได้คิดทำลายให้นูนและสลับสี จนมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น เมื่อส่งเทียนเข้าประกวดจึงได้รับรางวัลชนะเลิศ และในปี พ.ศ. 2497 นายประดับ ก้อนแก้ว คิดประดิษฐ์ทำหุ่นให้เป็นเรื่องราวพุทธประวัติ และเอาลวดลายขี้ผึ้งติดเข้าไปที่หุ่น ทำให้มีลักษณะแปลกออกไป จึงทำให้เทียนพรรษาได้รับรางวัลชนะเลิศ และชนะเลิศมาทุกปี ในเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์

candle festival 003

ปี พ.ศ. 2502 มีช่างแกะสลักลวดลายลงในต้นเทียนพรรษาเป็นคนแรก คือ นายคำหมา แสงงาม และคณะ กรรมการตัดสินให้ต้นเทียนแบบแกะสลักนี้ชนะเลิศในการประกวด ทำให้เกิดการประท้วงคณะกรรมการตัดสินขึ้น ทำให้ในปีต่อๆ มามีการแยกประเภทของต้นเทียนพรรษา ออกเป็น 2 ประเภทให้ชัดเจน คือ

    1. ประเภทติดพิมพ์ (ตามแบบเดิม)
    2. ประเภทแกะสลัก

candle festival 022

การทำเทียนพรรษามีวิวัฒนาการเรื่อยมาไม่หยุดนิ่ง ในปี พ.ศ. 2511 ผู้คนได้พบเห็น ต้นเทียนพรรษาขนาดใหญ่และสูงขึ้น มีการแกะสลักลวดลายในส่วนลำต้นอย่างวิจิตรพิสดาร ในส่วนฐานก็มีการสร้างหุ่นแสดงเรื่องราวทางศาสนา และความเป็นไปในสังคมขณะนั้น กลายเป็นประติมากรรมเทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งช่างผู้ริเริ่มในการทำต้นเทียนยุคหลังคือ นายอุตส่าห์ จันทร์วิจิตร และ นายสมัย จันทรวิจิตร สองพี่น้อง นับเป็นงานสร้างสรรค์ทางศิลปะอันเกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน อย่างแท้จริง

รายการทีวีชุมชน ช่อง ThaiPBS ตอน ลายเทียน

กำเนิดงานแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี 

อุบลราชธานี ดินแดนแห่งปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา เป็นถิ่นกำเนิดของพระอาจารย์ทางวิปัสนา คือ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เป็นต้น กล่าวกันว่า เมืองอุบลราชธานี เป็นต้นรากแห่งการขยายพระพุทธศาสนาและวัดวาอาราม ให้แพร่หลายยิ่งกว่าในทุกหัวเมืองในภาคอีสาน

เดิมงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี มีจัดเฉพาะตามคุ้มวัดต่างๆ เท่านั้น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2444 เมืองอุบลราชธานีจัดงานบุญบั้งไฟ โดยทุกคุ้มจะนำบั้งไฟมารวมกันที่วัดหลวง ริมแม่น้ำมูล มีการแห่บั้งไฟไปรอบเมืองและจุดขึ้นไปบนท้องฟ้า ทำให้เกิดอุบัติเหตุ บั้งไฟตกลงมา ถูกชาวบ้านตายในงาน มีการชกต่อย ตีรันฟันแทงกัน ก่อเหตุวุ่นวายไปทั้งงาน กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ผู้สำเร็จราชการเมืองอุบลฯ สมัยนั้น ให้ยกเลิกงานประเพณีบุญบั้งไฟเสีย แล้วให้มาจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาแทน ในสมัยแรกๆ นั้นไม่มีการประกวดเทียนพรรษา แต่ชาวบ้านจะกล่าวร่ำลือกันไปว่า เทียนคุ้มวัดนั้นงาม เทียนคุ้มวัดนี้สวยกว่าวัดอื่นๆ

candle festival 006

ผู้สำเร็จราชการเมืองอุบลฯ จึงเห็นควรให้มี "การประกวดเทียนพรรษา" ก่อน แล้วจึงค่อยนำไปแห่รอบเมือง ก่อนจะนำไปถวายพระที่วัดได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

จากงานประจำปีท้องถิ่นสู่งานประเพณีระดับชาติ

การจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี มีการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยชาวบ้านในแต่ละคุ้มวัด ก็จัดตกแต่งต้นเทียนของวัดตนให้สวยงาม นำมารวมกันที่บริเวณทุ่งศรีเมืองเพื่อประกวดแข่งขันกัน จากงานของชาวบ้าน ก็พัฒนามาสู่การสนับสนุนอย่างจริงจังจาก ส่วนราชการ พ่อค้า ห้างร้านเอกชน ร่วมกับประชาชน ทายกทายิกาคุ้มวัดต่างๆ และใน ปี พ.ศ. 2519 จังหวัดอุบลราชธานีได้เชิญ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท. ในขณะนั้น) มาสังเกตการณ์ และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมาทางจังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้รับการสนับสนุนจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้งานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นงานประเพณีระดับชาติ โดยเฉพาะในปีท่องเที่ยวไทย (Amazing Thailand 2541-2542) งานประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็น 1 ในงานประเพณีที่ถูกโปรโมตเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับชาวต่างชาติ

เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช (รัชการที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน "เทียนหลวง" มาเป็นเทียนนำชัยขบวนแห่ แล้วจึงนำไปถวายยังอารามหลวงในจังหวัดอุบลราชธานี หมุนเวียนไปเป็นประจำทุกปี

candle festival 005

งานประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นงานประเพณีที่รวมความผูกพันของชุมชนท้องถิ่น โดยเริ่มตั้งแต่การที่ชาวบ้านร่วมกันบริจาคเทียนเอามาหลอม หล่อเป็นเทียนเล่มใหญ่เล่มเดียวกัน ทำการตกแต่งให้สวยงาม จัดให้มีขบวนแห่ฟ้อนรำประกอบการแห่รอบเมือง ให้ปรากฎแก่สายตาของชาวบ้านทุกคน ทำการตัดสินการประกวดทั้งตัวต้นเทียน นางงามประจำต้นเทียน และขบวนแห่ ก่อนจะแยกย้ายนำไปถวายวัดให้ใช้ประโยชน์ต่อไป

 

ศาสตรศึกษา : สืบสานงานพุทธศิลป์ แห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี

 กำเนิดและวิวัฒนาการเทียนพรรษา | ภูมิปัญญาชาวบ้านในงานแห่เทียน

redline

backled1