koy kapom header

ถ้าจะถามว่า "อะไรคือ 'อาหารอีสาน' ที่นับวันจะหากินได้ยากชนิดหนึ่ง และมีเฉพาะบางฤดูกาลเท่านั้น" ก็คงต้องตอบว่า "ก้อยกะปอม" ซึ่งจะมีกินกันเฉพาะในหน้าแล้ง เพราะเหตุใด... ไปอ่านหาความรู้กันหน่อย

กะปอม (ในภาษาอีสาน น. กิ้งก่า กิ้งก่าเรียก กะปอม กะปอมมีหลายชนิด ชนิดคอสีครามเรียก กะปอมก่า ชนิดคอสีแดงเรียก กะปอมคอแดง ชนิดมีลายสีเหลืองยาวตามข้างเรียก กะปอมไหม หรือกะปอมแม่ ก็ว่า ชนิดมีปีกบินได้เรียก กะปอมปีก ชนิดมีคอสีดำและสีแดง เรียก กะปอมขาง. chameleon.) หรือเรียกชื่อให้รู้จักแบบสากลว่า กิ้งก่า เป็นสัตว์เลื้อยคลานในอันดับย่อย Lacertilia หรือ Sauria ในอันดับใหญ่ Squamata หรือ อันดับกิ้งก่าและงู โดยสัตว์ในอันดับนี้รวมถึงงูที่อยู่ในอันดับย่อย Serpentes ด้วย เหตุที่จัดอยู่ในอันดับเดียวกันเพราะมีลักษณะร่วมบางประการมากถึง 70 อย่าง (โปรดใช้ Google ค้นหาเองนะครับ)

โดยทั่วไปแล้ว กะปอม หรือ กิ้งก่า มี 4 ขา มีเกล็ดปกคลุมลำตัว แต่บางสกุลหรือบางชนิดก็ไม่มีขา หรือมีแต่ก็เล็กมากจนสังเกตได้ยาก เช่น จิ้งเหลนด้วง ในวงศ์จิ้งเหลน (Scincidae) หรือในวงศ์ Amphisbaenidae

kapom 01

กะปอม หรือ กิ้งก่า โดยมากแล้วเป็นสัตว์กินเนื้อ โดยจะกินแมลงและสัตว์ขาปล้องเป็นหลัก แต่สำหรับในวงศ์ที่มีขนาดใหญ่ เช่น วงศ์เหี้ย (Varanidae) จะกินสัตว์มีกระดูกสันหลัง ซากสัตว์ด้วย แต่ขณะที่บางชนิด เช่น อีกัวน่าเขียว (Iguana iguana) ที่พบในอเมริกากลางและทวีปอเมริกาใต้ กินพืชและผักเป็นอาหารหลัก (มังสวิรัต)

กะปอม หรือ กิ้งก่า พบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกมุมโลก ยกเว้นในบริเวณอาร์กติกแถบขั้วโลกเหนือ และทวีปแอนตาร์กติกาแถบขั้วโลกใต้ มีขนาดแตกต่างกันมากตั้งแต่เพียงไม่กี่เซนติเมตร จนถึงเกือบ 3 เมตร ใน มังกรโคโมโด (Varanus komodoensis) ที่หนักได้ถึงเกือบ 100 กิโลกรัม ซึ่งนับเป็นชนิดที่ใหญ่ที่สุดในอันดับย่อยนี้

kapom 02

ปัจจุบัน มีการอนุกรมวิธานไว้แล้วกว่า 19 วงศ์ ประมาณ 555 สกุล รวมทั้งหมดราว 4,184 ชนิด ซึ่งจำนวนนี้ไม่แน่นอน เพราะมีการสำรวจค้นพบชนิดใหม่ๆ ขึ้นทุกปีเลยทีเดียว

กะปอม อาหารอีสานบ้านเฮา

เดี๋ยวจะวิชาการเกินไป กิ้งก่า หรือ กะปอม เป็นสัตว์ประเภทเลื้อยคลานที่จะอาศัยอยู่ตามป่า หรือตามต้นไม้กินพวกแมลงเล็กๆ เป็นอาหาร จะออกมาให้เห็นตัวก็แค่ช่วงที่มีแสงแดดเท่านั้น ยิ่งถ้าเป็นหน้าร้อนหรือหน้าแล้งก็จะออกมาให้เห็นกันเยอะมาก กะปอม หรือ กิ้งก่า สามารถเปลี่ยนสีเพื่ออำพรางตัว ซึ่งเป็นความเข้าใจแบบผิดๆ แต่ความจริงแล้วปัจจัยที่ทำให้กิ้งก่าเปลี่ยนสีนั่นคือ การควบคุมอุณหภูมิร่างกาย เนื่องจาก กิ้งก่าไม่สามารถสร้างความร้อนในร่างกายได้ (เป็นสัตว์ในกลุ่มเลือดเย็น) และอีกปัจจัยหนึ่งคือ ด้านอารมณ์ อย่างเช่นในภาวะปกติผิวหนังของ กิ้งก่าคามิเลี่ยน จะแสดงสีเขียว ในขณะที่โกรธจะแสดงสีเหลือง สดใสขึ้นมา เป็นต้น

กิ่งก่า หรือ กะปอม จะพบตามต้นไม้ ไม่ว่าจะใจกลางเมืองใหญ่หรือว่าตามชนบท โดยมากแล้วจะไม่นิยมนำมาทำเป็นอาหาร เพราะหลายคนนั้นไม่ชอบหรือไม่เคยได้ลิ้มลองมาก่อน แต่สำหรับคนทางภาคอีสานแล้ว "กะปอม" คืออาหารที่ต้องบอกว่าหนึ่งปีมีครั้งเลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อไหร่ที่เข้าสู่หน้าแล้งหากขับรถไปตามถนนในภาคอีสานจะเห็นเด็กเล็ก เด็กโต แม้แต่ผู้ใหญ่ถือไม้ยาวๆ สะพายย่าม เดินไปตามต้นไม่มองหาเจ้ากิ้งก่าหรือกะปอม ซึ่งเป็นภาพที่หลายคนที่เห็นครั้งแรกอาจจะมองว่าเป็นสิ่งที่แปลก แต่สำหรับคนทางภาคอีสานแล้ว นี่คือวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นที่เห็นกันเป็นประจำเมื่อเข้าสู่หน้าแล้ง การถือไม้ไผ่ยาวที่ปลายมีเชือกทำเป็นบ่วงกระตุก ไว้คล้องคอกะปอมกระชากลงมาใส่ย่ามหรือข้อง ถ้าในกรณีที่ กิ้งก่า หรือ กะปอม จับบนกิ่งไม้สูงๆ คล้องไม่ถึงก็จะใช้อาวุธหนัก (บวกฝีมือ) คือ หนังสะติ๊ก เล็งแล้วยิงให้ตกลงมา (จริงๆ แล้วก็ไม่นิยม มันจะช้ำเลือดช้ำหนอง สู้คล้องเอาไม่ได้ ใช้การผิวปากเบาๆ ให้กะปอมผงกหัว แล้วคล้องหมับ จะฝีมือกว่าเยอะ)

kapom 03

มาถึงตรงนี้หลายๆ ท่านในภูมิภาคอื่นๆ คงสงสัยละซิว่า "ก้อยกะปอม" ทำไมชอบกินกันในฤดูแล้ง และทำเป็นสุดยอดอาหารกันอย่างไร

กิ้งก่า หรือ กะปอม จัดเป็นสัตว์เลือดเย็น ไม่ได้หมายความว่า มันมีความอำมหิตดุร้ายแต่อย่างใด แต่หมายถึงสัตว์ที่ไม่สามารถรักษาอุณหภูมิภายในร่างกายให้คงที่ได้ แต่จะเปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่ สัตว์เลือดเย็นมักออกมาอาบแดดเพื่อเพิ่มอัตราการเผาผลาญ เช่น กิ้งก่า จะออกมานอนอาบแดดหันหน้าไปทางแสงแดด มันจะพองตัวและทำสีให้คล้ำลง เพื่อเพิ่มพื้นผิวในการรับแดดและกักเก็บความร้อน เมื่อพวกมันร้อนเกินก็จะเขาไปหลบแดดและอ้าปากกว้างระบายความร้อน ปรับสีให้อ่อนลงและฝังตัวในพื้นดินที่เย็น เราจึงเห็น กะปอม หรือ กิ้งก่า ในช่วงเช้าหน้าแล้งมากกว่าปกตินั่นเอง

และในฤดูร้อนนี้ก็จะมี หมากม่วง หรือ บักม่วง (มะม่วง) ออกผลดกมากมายในช่วงนี้ ที่เหมาะแก่การเอามาสับ เพื่อคลุกทำก้อยให้มีรสเปรี้ยวกลมกล่อม ให้รสชาติที่พอดียิ่งกว่ามะนาว

วิถีของนักล่ากะปอม

การหาจับ "กะปอม" มาทำอาหารในภาคอีสานนั้น นักล่าทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ จะมีอยู่ 3 วิธีหลักๆ ดังนี้

1. การใต้กะปอม คือการออกจับในเวลากลางคืนด้วยการส่องไฟ เพราะกะปอมชอบเกาะนอนอยู่ที่ปลายกิ่งไม้ต้นที่ไม่สูงนัก ทำให้มองเห็นท้องขาวๆ ง่าย และตัวกะปอมเองสายตาไม่ดีในเวลากลางคืน มันจึงไม่วิ่งหนี และถูกจับได้โดยง่าย แต่ส่วนใหญ่จะได้เป็นกะปอมคอแดงตัวไม่ใหญ่นัก

2. การยิงด้วยหนังสะติ๊ก เป็นวิธีการแบบรุนแรงหน่อยหนึ่ง เป้าที่เล็งคือ หัว ไม่ใช่ลำตัวเพราะจะทำให้เละขี้แตกได้ จำเป็นต้องมีทักษะความแม่นยำสูงมากๆ กะปอมที่ตกเป็นเป้าก็พวกกะปอมก่า ที่ตัวใหญ่ๆ เพราะพวกนี้วิ่งหนี หลบหลีกได้เร็วมาก และชอบขึ้นไปบนต้นไม้สูงๆ (ระวัง! อย่าไปใช้ปืนยิงนะครับ มันจะเป็นการใช้งานไม่คุ้มค่า "ขี่ช้างจับตั๊กแตน" และผิดกฎหมายอาวุธปืนด้วย อย่าหาทำ)

kapom 04

3. การคล้องกะปอม เป็นวิธีการที่คลาสสิกใช้ฝีมือและฝีปาก (ในการผิวปาก ส่งเสียงล่อหลอกให้กะปอมผงกหัว อยู่นิ่งๆ) ด้วยการใช้ไม้ไผ่ลำที่มีลักษณะเรียวยาว แข็งแรง เบา ที่ปลายมีเชือกหรือด้ายเส้นเล็กๆ ทำเป็นบ่วงรูด ทำการคล้องกะปอมที่ลงมาอาบแดดที่กิ่งไม้ระดับต่ำๆ ทำการผิวปากเบาๆ เรียก เจ้ากะปอมจะไม่วิ่งหนี มองหาที่มาของเสียงและผงกหัวด้วยความพอใจ จนโดนคล้องจนได้ หากนำไปขายในตลาดกะปอมตัวเป็นๆ จะได้ราคาดีกว่าพวกที่โดนยิงจนเละ

การทำก้อยกะปอมแบบแซบ "อาวทิดหมูสไตล์"

การเตรียมการและอุปกรณ์เครื่องปรุง

  • กะปอม 10-15 ตัว (ถ้าได้ กะปอมก่า ตัวใหญ่เนื้อเยอะก็ใช้น้อยลง) ปริมาณตามจำนวนผู้ร่วมวงบริโภค (สงวนไว้กินฤดูกาลหน้าหน่อยนะ อย่าจับมาจนหมดป่า)
  • หมากม่วง หรือบักม่วง ถ้าได้บักม่วงน้อยจะเปรี้ยวจี๊ดดี หรือเป็นหมากม่วงปุ้ม ดิบธรรมดาก็ได้ (ถ้าไม่มีก็มะนาว แต่มันไม่เข้ากันดอกครับ)
  • พริกแห้ง ข้าวคั่ว หัวหอม (นานาชนิดตามชอบ ตามที่มี) น้ำปลาร้า น้ำปลา ผงนัว (ตามชอบ)

kapom 05

วิธีการทำก้อยกะปอม

  • ทำการชำแหละกะปอม เอาเครื่องในออก บ้างก็ใช้วิธีลอกหนังออก แต่สำหรับอาวทิดหมูใช้วิธีนำไปย่างลนไฟ แล้วขูดเกล็ดออกให้หมดก่อน จากนั้นจึงทำการชำแหละเอาเครื่องในออก นำไปปิ้งหรือย่างไฟให้กรอบหอม (บางสูตร ก็ใช้วิธีสับ/ฟักให้ละเอียดแล้วค่อยนำไปคั่วให้สุก ก็มี) แล้วจึงนำมาสับให้ละเอียดรอไว้
  • ทำการล้างมะม่วง แล้วฝานเปลือกมะม่วงออก ล้างให้สะอาด แล้วสับละเอียดกะให้พอเหมาะกับเนื้อกะปอมที่ได้ ถ้ามากไปก็จะเปรี้ยวเกิน น้อยไปก็ขาดรสชาติที่ดี (มะม่วงนอกจากจะได้ความเปรี้ยวแล้ว ยังได้รสสัมผัสในการขบเคี้ยว เพิ่มปริมาณให้พอกับเพียงกับสมาชิกที่ล้อมวง และมันเข้ากันกับก้อยกะปอมมากกว่ามะนาวเป็นร้อยเท่าจริงๆ)

kapom 06

  • นำเอากะปอมสับและมะม่วงฝานลงไปตำในครกให้เข้ากัน จะทำให้เนื้อ กระดูกกะปอมละเอียด ไม่แข็งทิ่มใปาก และได้ความส้ม (รสเปรี้ยว) จากหมากม่วงซึมลงไปในเนื้อกะปอม
  • ใส่ข้าวคั่ว พริกป่น ลงไปในปริมาณพอเหมาะ ตามด้วยผักหอมนานาชนิดเช่น หอมแดงหั่นฝอย ต้นหอมซอย ผักหอมเปซอย ผักชีหอม เติมน้ำปลาร้า หรือน้ำปลาดีลงไป คนให้เข้ากัน ชิมให้มีรสเปรี้ยวนำ เค็มตาม ขาดสิ่งใดเพิ่มสิ่งนั้นลงไป ส่วนผงนัวจะใส่หรือไม่ก็ตามชอบ ถ้ามีน้ำปลาแดกนัวๆ แล้วผงชูรสก็ไม่จำเป็น
  • ตักใส่ภาชนะ ตกแต่งหน้าด้วยใบสะระแหน่ พริกสดหั่น เคียงด้วยผักสดนานาชนิด และข้าวเหนียวฮ้อนๆ จะมีบักสองซาวมาล่องคอจักหน่อยกะแล้วแต่มักเด้อ

kapom 07

หลายๆ คนไม่กล้ารับประทานเพราะทราบว่า กะปอม หรือ กิ้งก่า อยู่ในจำพวกเดียวกับ น้องนุช (ตัวเหี้ย) มังกรโคโดโม่ หรือ พวกตระกูลงู มองว่า มันกินอาหารสกปรกซากเน่าของสัตว์ แต่พวกกะปอมจะกินพวกแมลงเป็นอาหารหลัก และในช่วงฤดูแล้งกะปอมจะไม่มีกลิ่นสาป เมื่อนำไปเผาขูดเกล็ดออกจนหมด หรือลอกหนังจะสะอาดเพียงพอที่จะรับประทานได้ นอกจากนำไปทำเป็น ก้อยกะปอม แล้วยังเห็นนำไปย่างเกลือ ลอกหนังเอาเครื่องในออกคลุกเครื่องเทศและเกลือ ย่างไฟจนสุกหอมๆ กินกับข้าวเนียวฮ้อนๆ แค่จินตนาการก็น้ำลายไหลแล้วครับ

ກ້ອຍກະປອມ : ก้อยกะปอม (สปป.ลาว)

หมายเหตุ : กะปอม หรือ กิ้งก่า มีสถานภาพถูกจัดเป็น "สัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535" อยู่เด้อครับ เอาแต่พอดีอย่าล่าจนหมดป่า

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ปลาแดก | พืชผักสมุนไพรพื้นบ้านอีสาน | ข้าวเหนียว

redline

backled1