after covid 19

นี่ก็เดือนกรกฎาคมแล้ว ผ่านมานานถึง 6 เดือนที่เราต้องเผชิญกับสถานการณ์อันเลวร้าย จากวิกฤตการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ทุกอย่างดูเลวร้ายลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน บ้างก็การงานหดหาย ตกงาน รายได้ไม่มี ไม่ใช่เฉพาะแต่อีสานบ้านเฮาเป็นไปกันทั้งโลกทีเดียว ดีที่ชีวิตบ้านเรานั้นยังอยู่ใน "สังคมเกษตรกรรม" ที่มีการพืชพันธุ์ธัญญาหาร เลี้ยงสัตว์ ที่สามารถปลูก-เลี้ยงเองได้ นำมาบริโภคกันเองภายในครอบครัวไม่ต้องซื้อหา หรือซื้อได้ในราคาถูกกว่าประเทศอื่น

New Normal : หรือ ภาวะปกติใหม่

อีหยังๆ กะเป็น New Normal ไปเบิดแล้วตอนนี้ นั่นก็คือสภาวะการดำเนินชีวิตตามปกติแบบใหม่ที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่ "การล้างมือ" ปกติพวกเฮากะสิล้างมือกันอยู่แล้วย้อนว่าเป็น "ลูกข้าวเหนียว" เฮ็ดเวียกการงานสร้างมา สินั่งล้อมวงกินเข้าเฮากะล้างมือก่อน สิได้แซบแบบปลอดภัยซำบายใจ แต่สิ่งที่เป็นที่เอิ้นกันว่า "นิวนอร์มอล" นั่นต้องเพิ่มขึ้นมาอีก บ่ว่าสิเฮ็ดหยังมา ถ้าสิจับสิบายแนวใด๋กะควรสิล้างมือให้สะอาดสาก่อน สิกอด สิหอม ลูกหล้าลูกคำ ตอนเข้ามาบ้านก็ต้องล้างมือสาก่อน เพราะเฮาบ่แน่ใจว่า ที่ไปข้างนอกบ้านมานั่นได้สัมผัสเอาเชื้อโรคร้ายมาบ่ ต้องทำจนเป็นปกติวิสัยแบบใหม่อีหลี

ออกจากบ้านไปที่ใดๆ ก็ต้อง "สวมหน้ากากเข้าหากัน" อันนี้บ่แม่นขาดความจริงใจ ตอหลดตอแหลอีหยัง แต่เพื่อให้มั่นใจในกันและกันว่า ข่อยบ่ได้เอาเชื้อโรคร้ายมาแพร่ให้เจ้า หรือเจ้ากะบ่ได้เอามาแพร่ใส่ข่อย เพื่อไปติดเผยแพร่ให้ลูกหลานว่านเครือ เฮาคือสิได้เฮ็ดแบบนี้ไปอีกดน (นาน) อยู่ จนกว่าสิมี "วัคซีน" ป้องกันโรคนี้ได้ มื้อวานนี้อยู่ กทม. ลูกสาวพาไปกินสุกี้ในร้านอาหาร ก็รู้สึกอึดอัดขัดใจอยู่พอควร ใส่หน้ากากเข้าไปกันทุกคน (หมดทั้งร้าน) แต่พอหม้อสุกี้มาเท่านั้นแหละ พร้อมเพรียงกันถอดออกแบบไม่ได้นัดหมาย (บ่ถอดสิกินแนวใด๋ นี่กะบ่ค่อยเข้าใจคือกัน)

after covid 19 2

โชคดีอยู่ที่ยังนั่งโต๊ะเดียวกันได้แบบภาพซ้าย (ไม่เกิน 4 คน) ไม่มีคอกกั้นแบบภาพขวา

การเว้นระยะห่างกันอันนี้ก็สร้างปัญหาพอสมควร ถ้าอยู่ที่บ้าน โรงเรียน วัดวาอาราม มันก็พอทำได้แหละ แต่เมื่อเดินทางที่ต้องใช้บริการสาธารณะอย่าง รถเมล์ รถสองแถวโดยสาร รถไฟ รถไฟฟ้า เรือโดยสาร หรือเครื่องบิน คนอีสานบ้านเฮาอาจสินึกบ่ค่อยออกหรือบอกว่า "ข่อยบ่ได้ไปขี่นำเขาดอก" อันนี้อยากให้นึกถึงลูกหลานเฮาไปเฮียนหนังสือในเมือง ที่ต้องอาศัยรถสองแถวไปตอนเช้า-แลง แอ๋แอ่นกันเด้อพี่น้อง มันเว้นบ่ได้ ถ้าสิเว้นกะบ่ได้ไปแท้ๆ มันบ่มีรถหลายเที่ยวคือคนในกรุงเทพฯ บ้านเพิ่น บ้านเฮามันต้องอาศัยรถหมู่บ้านที่มีอยู่คันเดียว หรืออย่างเก่งกะสองถึงสามคัน ที่ไปส่งแม่ค้าไปตลาดท่อนั้นมันสิเว้นระยะห่างได้จั่งใด๋นี่หล่ะ

after covid 19 3

เว้นระยะห่างในโรงเรียนได้ แต่ตอนกลับบ้านมีรถคันเดียวสิเว้นแบบใด๋ดีน้อ

after covid 19 6

สิ่งที่ต้องทำเป็น "ปกติในวิถีใหม่" ใน พ.ศ. นี้

ห่วง "โควิด" แล้วอย่าลืมห่วง "น้ำ"

เข้าพรรษาแล้วฝนกะฮวยมาหลายเติบอยู่ แต่กะยังบ่สามารถสิทำนายทายทักได้ว่า "ปริมาณน้ำฝน" สิพอเพียงต่อการเฮ็ดไฮ่ใส่นาบ่ ย้านไปแล้งตอนกลางพรรษา ตอนนี้มีรายงานสภาวะน้ำในเขื่อน ในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ทางภาคอีสานบ้านเฮาของทางชลประทาน เพิ่นบอกว่ายังมีน้อย ฝนที่ตกลงมาก็ยังไหลเข้าอ่างเก็บน้ำไม่ถึง 40% ของการเก็บกักที่มีทั้งหมด มาถึงเวลานี้ก็พิสูจน์ได้แล้วว่า "การทำการเกษตรที่รอคอยแต่น้ำจากฟ้าฝนนั้น ไม่สามารถจะทำให้ลืมตาอ้าปากได้" เมื่อฝนแล้งพืชพันธุ์ก็มีแต่จะเสียหาย แล้วยังมีเคราะห์ซ้ำตามมาอีก เมื่อเกิดความพิโรธของธรรมชาติ พายุมาเอาตอนปลายปีอย่างช่วงปีที่แล้ว ก็อาจจะเกิด "น้ำท่วม" จนผลิตผลต่างๆ เสียหายหมดอีก แล้วน้ำที่ท่วมนั้นก็ไหลหายไปไม่เหลือหรอในเวลาอันรวดเร็วจริงๆ

นอกจาก "การสร้างแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่การเกษตร" ของแต่ละคนเท่านั้น เป็น "หนองน้ำ" ในไร่นาถ้ามีจำนวนมากพอในทุกพื้นที่ หรือจะเรียกว่า "การสร้างธนาคารน้ำ" ไว้ในพื้นที่การเกษตรของตนเอง ที่จะสามารถช่วยเหลือให้การทำเกษตรเพื่อเลี้ยงตนเองประสบผลสำเร็จ จนมีการกล่าวว่า "ถ้าใครมีแรง มีทรัพย์ มีพื้นที่มากพอในเวลานี้ ให้ปลูก "น้ำ" ขายแทนปลูกข้าว" ไม่ต้องสงสัยนะครับกับคำกล่าวนี้ "การปลูกน้ำ" หมายความว่า ทำแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ให้มีจำนวนมากๆ เพื่อส่งขายไปยังคนที่ไม่มีน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการอุปโภค-บริโภค หรือเพื่อการเกษตรกรรม ซึ่งเราเห็นกันแล้วในช่วงแล้งเมษาที่ผ่านมา ที่มีการขายน้ำกิน-น้ำใช้กันในบางพื้นที่ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว เรื่องแบบนี้ใครคิดได้ก่อนก็ "รวย" ก่อนนะครับ

after covid 19 7

ไม่งั้นเราก็จะได้ยินแต่ข่าว "สงครามแย่งน้ำ" กันอยู่ทุกปี ระหว่างคนที่อยู่เหนือน้ำในแหล่งชลประทานกับคนที่อยู่ท้ายน้ำที่น้ำจากระบบชลประทานมาไม่ถึง แล้วก็ร้องให้รัฐบาลช่วย เอิ่ม! จะช่วยอย่างไรได้ ถ้าเกษตรกรไม่ช่วยตัวเองก่อน

บันทึกประวัติศาสตร์ใหม่ยุคโควิด-19

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เราได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดว่าจะได้เห็นในช่วงชีวิตนี้ จนถึงกับพูดกันว่า "นี่คือสิ่งที่ควรบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์สมัยใหม่" นั่นก็คือ

1. หวยรัฐบาลเลื่อนการออกรางวัล

สลากกินแบ่งรัฐบาล (หวยรัฐ) เลื่อนการออกรางวัลไปถึง 3 งวด 45 วัน (ตั้งแต่งวดวันที่ 1, 16 เมษายน กับ 1 พฤษภาคม 2563 มาออกรางวัลเอาวันที่ 16 พฤษภาคม) จนทำให้บางคนเกือบฉีกสลากงวดวันที่ 1 เมษายนทิ้ง เพราะคิดว่าไม่ถูกรางวัล ก็มันดันมาออกเอาวันที่ 16 พฤษภาคม นะสิ (ซึ่งจริงๆ แล้วสลากของวันที่ 1 และ 16 พฤษภาคมมันไม่มีขายเลย) และทำให้สลากกินแบ่งรัฐบาลที่เคยโก่งราคาขายกันเกิน 80 บาทถึงกับขายไม่ออก จนเร่ขายกันในราคาใบละ 70 บาทก็มี ผลของเหตุการณ์นี้ รัฐสูญเสียรายได้จากที่เคยได้งวดละ 1,800 ลานบาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 5,400 ล้านบาท

2. ไม่มีวันสงกรานต์ 2563

13-15 เมษายน 2563 วันสงกรานต์ไทยครั้งแรกที่ไม่เปียกเลย เพราะทุกคนพร้อมใจกันอยู่บ้าน หยุดกิจกรรมการรดน้ำขอพร หยุดการขนถังนัำขึ้นรถยนต์ปิ๊กอัพไปประกาศสงครามสาดน้ำกันดึกดื่น หยุดการดื่มเหล้า เมาหัวทิ่ม เปิดเพลงเสียงดัง เต้นแรงเต้นกากลางถนน หันมาอวยพรสงกรานต์ผ่านทางสื่อออนไลน์กันเป็นครั้งแรก ไม่มีการหยุดงานแห่แหนกลับบ้าน รถติดหนึบขัามวันข้ามคืนในถนนสายหลักของประเทศ และยอดอุบัติเหตุลดลงมากมายจนมควรบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์จริงๆ

3. 7-11 ไม่เปิด 24 ชั่วโมง

สโลแกน "หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา" เพราะเราเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ก็ไม่เป็นความจริงนานหลายเดือน เพราะเจอประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกับเคอร์ฟิวช่วงเวลา 24.00 น. ถึง 05.00 น. เข้าให้ ซึ่งก็รวมกับการที่หลายๆ จังหวัดประกาศบังคับห้ามขาย "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" ด้วย จึงเกิดความซบเซามากขึ้นทำให้มีข่าว "นักดื่มลิซึ่ม" ลงแดงตายไปหลายคน ปัจจุบันแม้จะเปิดให้บริการได้แล้ว ก็ยังคงมีมาตรการ "ไม่สวมหน้ากาก" ไม่ให้เข้าร้านอยู่นะ อยากได้สินค้าอะไรร้องบอกพนักงานหยิบเอามาขายให้นอกร้าน
นอกจากนี้ ยังมีผลไปถึง "ห้างสรรพสินค้า" ใหญ่ๆ หลายแห่งทั่วประเทศที่ต้องหยุดให้บริการไปด้วยเช่นกัน ทำเอาพนักงานหลายๆ คนตกงาน ขาดรายได้กันเลยทีเดียว แม้ภายหลังจะเปิดดำเนินการแล้วแต่ผู้คนก็ไม่พลุกพล่านดังเดิม

after covid 19 4

4. ร้านอาหารไม่มีที่ให้นั่ง

เพื่อป้องกันการรวมคนมากๆ ในสถานที่ มีผลให้ธุรกิจร้านอาหาร "ไม่มีเก้าอี้หรือโต๊ะให้นั่งทานในร้าน" ต้องสั่งใส่ภาชนะนำกลับไปทานกันที่บ้านเท่านั้น ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ คือ บริการรับ-ส่งอาหารถึงบ้าน (Food Delivery) เติบโตขึ้นทันตาเห็น 2-3 เท่าตัว ผู้คนก็ไม่อยากออกมานอกบ้าน สั่งเอาง่ายกว่า ร้านที่ไม่เคยไปรับประทานเพราะหาที่จอดรถยาก ก็ขายดีขึ้นมาทันตา ร้านอาหารหลายแห่งก็ต้องปรับตัว จากการที่เคยขายหน้าร้านก็หันมาเปิดการขายออนไลน์กันมากขึ้น บางคนก็เพิ่งรู้ความจริงว่า "ร้านอาหารอร่อยๆ" นั้นอยู่ไม่ไกลจากบ้าน เพราะมีรีวิวกันว่า "เด็ด" ในสื่อออนไลน์นั่นเอง

5. โรงหนัง โรงนวด เสริมสวย ปิดให้บริการ

จากการปิด "ล็อกดาวน์" กันไปทั่วโลก คนไม่ออกจากบ้านไปไหน (ถ้าไม่จำเป็น) ก็ทำให้ธุรกิจบันเทิง ทั้งโรงภาพยนตร์ ไนท์คลับ บาร์ สถานอาบอบนวด ร้านเสริมสวย ตัดผมชาย-หญิง ปิดให้บริการกันไปหมด เกิดปรากฏการณ์ต้องตัดแต่งทรงผมกันเอง ปัตตาเลี่ยนไฟฟ้าขายดีในร้านช็อปปิ้งออนไลน์เป็นปรากฏการณ์จริงๆ (แม้แต่ผู้เขียนเอง ที่สั่งซื้อตอนแรกเอามาตัดแต่งขนหมา ตอนหลังก็ต้องเอามาไถหัวตัวเองเหมือนกัน)

ยังมีอีกมากมายนะครับ เก็บมาเขียนไม่หมดเพราะบางเรื่องดูไกลตัวไปหน่อย แต่บางเรื่องก็ใกล้ตัวเช่น ราคาน้ำมันร่วงลงเป็นประวัติการณ์ (อีตอนไปไหนไม่ได้นั่นแหละ) ราคาทองคำผันผวนมาก มีคน (มีทอง) แห่ไปขายทองมากจนร้านทองต้องปิดร้านหนี (หมดเงินจะซื้อ) ราคาทองถีบตัวสูงขึ้นทะลุบาทละ 27,000 บาทเลยทีเดียว รวมทั้งมีคนที่ต้องตกงานเพราะการหยุดกิจการของธุรกิจต่างๆ แบบไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวทั้ง ไกด์ทัวร์ ภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรม บริการขนส่งทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ไม่ได้เป็นเฉพาะปะเทศไทยนะครับ เป็นกันทั้งโลกเลยทีเดียว

after covid 19 5