foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

art local people

Mek srikampol 01นายเมฆ ศรีกำพล

นายเมฆ ศรีกำพล เกิดวันที่ 7 มิถุนายน พุทธศักราช 2485 ที่บ้านกุดหว้า ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ สำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษา เมื่อปีพุทธศักราช 2516 จากโรงเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ และได้ร่ำเรียนศาสตร์ดนตรีพื้นบ้าน (ปี่ผู้ไทและแคน) กับครูพิมพ์ (ครูภูมิปัญญาในท้องถิ่น) จนชำนาญ จากนั้นได้ประกอบอาชีพเป็นนักดนตรีพื้นบ้านร่วมกับคณะหมอลำในชุมชน

ต่อมาได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งวงดนตรีชื่อ "หนุ่มมะพร้าวห้าว สาวดอกคูณ" ซึ่งเป็นวงดนตรีพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป โดยได้ใช้ศิลปะการเป่าปี่ภูไทและเป่าแคน ประกอบการร้องลำผู้ไทในงานแสดงต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ วงดนตรีวงนี้ถือเป็นวงโปงลางในยุคแรกๆ ของภาคอีสาน มีความสามารถจนได้รับการยอมรับ และเชิดชูเกียรติจากหลายหน่วยงานทั้งในภาครัฐและเอกชน อีกทั้งได้มีโอกาสเป่าเพลง "ปี่ผู้ไท" เพื่อใช้ประกอบละครเรื่อง "ปอบผีฟ้า" จึงทำให้มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในวงวิชาชีพเพิ่มขึ้น

เดี่ยว ปี่ภูไท - คุณตาเมฆ ศรีกำพล

นายเมฆ ศรีกำพล เป็นนักดนตรีพื้นบ้านที่มีความสามารถสูง โดยเฉพาะ การเป่าปี่ผู้ไท เสียงปี่จะดังกังวาน มีความไพเราะ และสะกดผู้ฟังให้เกิดความประทับใจและจำไม่ลืม นอกจากนั้น นายเมฆ ศรีกำพล ยังได้เป่าปี่ผู้ไทประกอบการแสดงในวงดนตรีพื้นบ้านในโอกาสต่างๆ รวมทั้งได้รับเชิญให้เป็นครูภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อถ่ายทอดศิลปะการเป่าปี่ผู้ไท และสอนการทำปี่ผู้ไทให้แก่นักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไป ด้วยความสามารถในการแสดงและถ่ายทอดการเป่าปี่ผู้ไท จึงทำให้ได้รับรางวัลที่แสดงถึงศักยภาพและความสามารถในอาชีพหลายรางวัล จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

เมฆ ศรีกำพล - ศิลปินมรดกอีสาน 2559

ด้วยความเป็นผู้ที่มีความทุ่มเท มุ่งมั่น เสียสละ มีความสามารถในการแสดงและถ่ายทอดศิลปะการเป่าปี่ผู้ไทให้แก่ชุมชน และสังคมจนเป็นที่รู้จัก อีกทั้งยังได้สร้างคุณประโยชน์แก่ชุมชนในวาระต่างๆ อีกมาก นายเมฆ ศรีกำพล จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน - ปี่ผู้ไท) ประจำปีพุทธศักราช 2559 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Mek srikampol 02

กาฬสินธุ์นี้ ดินดำน้ำซุ่ม ปลากุ้มบ่อน คือแข่แก่งหาง

ปลานางบ่อนคือขางฟ้าลั่น จั้กจั่นฮ้องปานฟ้าฟ้าลวงบน

แตกจ้นๆ คนเป่าปี่โฮแซว มีซู่แนวซู่อัน แอ่นระบำรำฟ้อน ”

ผญาอีสานบทนี้ ได้เล่าถึงจุดเด่นของจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นดินแดนที่มีวัฒนธรรมอันดีงาม รวมถึงศิลปินดนตรีพื้นบ้านเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป อย่าง พ่อเปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2529 ผู้ประดิษฐ์ คิดค้น พัฒนาการทำโปงลาง และวิธีการเล่นจนเป็นเอกลักษณ์ เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดกาฬสินธุ์แล้วผู้คนก็ต้องพูดถึงและจดจำถึง เครื่องดนตรีโปงลาง ผ้าไหมแพรวา และไดโนเสาร์ และอีกคนหนึ่งที่จะลืมเสียมิได้คือ พ่อเมฆ ศรีกำพล บรมครูแห่งปี่ภูไท บ้านกุดหว้า ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

Mek srikampol 03

นอกจากการเป็นนักดนตรีแล้ว พ่อเมฆ ศรีกำพล ยังเป็นผู้ผลิตปี่ผู้ไทคุณภาพอีกด้วย โดยเขาเรียนรู้มาจากครูช่างทำปี่ผู้ไทฝีมือแห่งหมู่บ้านบุ่งคล้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ด้วยมองเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ดนตรีของชนเผ่าผู้ไท โดยเฉพาะ การลำผู้ไท ที่นับวันจะมีผู้ชื่นชอบและอนุรักษ์สืบสานน้อยลงทุกที เขาจึงทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ในฐานะครูภูมิปัญญาให้แก่โรงเรียนต่างๆ ตลอดจนผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้การเป่าปี่ผู้ไทและดนตรีอีสานให้เป็นที่รู้จักในสังคม โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ มีผู้ติดตามทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ปี่ภูไท - ตาเมฆ ศรีกำพล

ด้วยเหตุนี้ พ่อเมฆ ศรีกำพล จึงได้รับรางวัลและการเชิดชูเกียรติจากสถาบันต่างๆ มากมาย ดังนี้

  • ปี 2537 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ใน การประกวดดนตรีพื้นบ้าน จากสถานีวิทยุ 909 กรป.กลาง จังหวัดสกลนคร
  • ปี 2538 ได้รับรางวัลเป็น ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จังหวัดกาฬสินธุ์ (ระดับจังหวัด) จากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์
  • ปี 2539 ได้รับรางวัลชนะเลิศ ดนตรีพื้นบ้าน ถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานกาชาดประจำปี จังหวัดกาฬสินธุ์
  • ปี 2545 ได้รับรางวัลชนะเลิศ เดี่ยวปี่ผู้ไทจังหวัดมุกดาหาร (ระดับจังหวัด) อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร
  • ปี 2550 ได้รับรางวัล ศิลปินพื้นบ้านอีสาน จากสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • ปี 2559 ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน – ปี่ผู้ไท) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

Mek srikampol 04

ขอแสดงความอาลัย

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ได้ข่าวว่า พ่อเมฆ ศรีกำพล เสียชีวิตอย่างสงบในวัย 79 ปี ด้วยโรคประจำตัว ประกอบกับมีอายุมากแล้ว นับเป็นความโศกเศร้าของวงการดนตรีพื้นบ้านอีสานอย่างยิ่ง ที่ต้องสูญเสียเสาหลักปรมาจารย์ด้านการเป่าปี่ภูไทในครั้งนี้ ทางญาติได้กำหนดการฌาปนกิจศพ พ่อเมฆ ศรีกำพล วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.  2563 ณ บ้านกุดหว้า ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

บรมครูดนตรีพื้นบ้านอีสาน งานสตมวาร คนอีสานร่วใจสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพ่อของแผ่นดิน

redline

backled1

art local people

songsak 01ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์

นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2498 ที่บ้านเลขที่ 1 หมู่ 2 ตำบลหนองพอก อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นบุตรของ นายใส ประทุมสินธุ์ และ นางกองสี ประทุมสินธุ์ เป็นบุตรคนที่ 2 จากบุตร - ธิดา 8 คน ในครอบครัวของนักดนตรีพื้นบ้าน จึงได้มีโอกาสคลุกคลีอยู่ในวงดนตรีมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

ส่งผลทำให้เกิดความสนใจในเครื่องดนตรีทุกประเภท ทั้ง พิณ แคน โปงลาง รวมถึง โหวด จึงได้เรียนรู้จากคนใกล้ชิดในครอบครัวบ้าง จากนักดนตรีอาชีพบ้าง จนสามารถพัฒนาทักษะ เชิงชั้นการดนตรีอีสานขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในเครื่องดนตรีแทบทุกชนิด ซึ่งสามารถนำมาเล่นร่วมกันกับ พิณ แคน และโปงลาง

ด้านการศึกษา

  • พ.ศ. 2509 จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านหนองพอก อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด
  • พ.ศ. 2535 จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด
  • พ.ศ. 2548 ปริญญาบัตร ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

songsak 07

ด้านครอบครัว

สมรสกับ นางดุษฏี ประทุมสินธุ์ มีบุตร 2 คน คือ นายชัชวาลย์ ประทุมสินธุ์ และ นายชาญยุทธ ประทุมสินธุ์

songsak 02

การทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมดนตรี

ในช่วงปีพุทธศักราช 2519 นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ได้เริ่มจัดตั้งวงดนตรีเล็กๆ ขึ้นในหมู่บ้าน โดยการรวมญาติพี่น้องสามตระกุลมาร่วมเล่นดนตรี ในนามวง “โหวดเสียงทอง” ซึ่งเป็นวงดนตรีพื้นบ้านของจังหวัดร้อยเอ็ด ที่นำเสนอศิลปะพื้นบ้านทั้งที่เป็นแบบอนุรักษ์นิยม ผสมกับความทันสมัยตามค่านิยมในขณะนั้น ความมีชื่อเสียงโด่งดังของ คณะโหวดเสียงทอง ซึ่งมี นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ เป็นผู้บรรเลงเครื่องดนตรีโหวด ทำให้เป็นที่รู้จักไปทั่วจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งส่งให้ท่านได้รับเชิญให้ไปเป็นผู้ถ่ายทอดศิลปะดนตรีในด้านนี้ ในสถาบันการศึกษาชั้นนำของภาคอีสาน อาทิ วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด และมหาวิทยาลัยสารคาม รวมทั้งได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาในส่วนกลางหลายแห่ง

songsak 03

หอโหวด @บึงพลาญชัย สัญลักษณ์ของเมืองเกินร้อย

นอกจากนั้น ความชำนาญพิเศษในการบรรเลงโหวด ของนายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ทำให้โหวดกลายเป็นเครื่องดนตรีที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดร้อยเอ็ดในเวลาต่อมา และได้รับการเชื้อเชิญให้นำผลงานไปเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ อาทิ บันทึกเทป บรรเลงประกอบภาพยนตร์ ซึ่งก็ส่งผลให้ตัวท่านได้รับชื่อเสียงมาขึ้นตามลำดับ และได้เดินทางไปแสดงฝีมือในการบรรเลงดนตรีอีสานในต่างประเทศมากว่า 10 ประเทศ จนกระทั่งปัจจุบันท่านยังทำหน้าที่ ขับเคลื่อนวัฒนธรรมด้านดนตรีพื้นบ้านอีสานอันทรงคุณค่าต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง

songsak 05

การทำงานพิเศษ

  • พ.ศ. 2523 – พ.ศ. 2545 ผู้เชี่ยวชาญการสอนดนตรีพื้นบ้าน วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด
  • พ.ศ. 2546 ถึง ปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญดนตรีพื้นบ้าน (โหวด) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ นับเป็นบุคคลตัวอย่างทางด้านวัฒนธรรมที่น่ายกย่องท่านหนึ่ง เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้มีความสามารถในการบรรเลงดนตรีพื้นบ้านอีสาน ในระดับสูงหลายประเภทเช่น พิณ แคน โปงลาง และโหวด เป็นต้น นับว่าเป็นผู้ทำหน้าที่สืบสาน ถ่ายทอด เผยแพร่ และพัฒนา วัฒนธรรมทางด้านดนตรีพื้นบ้านอีสานให้คงอยู่เป็นมูนมังแห่งบรรพชน ส่งผลสู่ลูกหลานในยุคต่อไป

songsak 04

ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ - ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสาน

เกียรติประวัติ

  • พ.ศ. 2550 ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน โหวด) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • พ.ศ. 2554 รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ด้านนันทนาการ ปี 2554 โดย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

songsak 06

  • พ.ศ. 2555 เข็มเชิดชูเกียรติ บุคคลทำคุณประโยชน์กระทรวงวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. 2555 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • พ.ศ. 2562 ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติขึ้นเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน) จากกระทรวงวัฒนธรรม

ศิลปะแผ่นดิน ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2562 : ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์

redline

backled1

huny sri isan

Hunny 01ฮันนี่ ศรีอีสาน มีชื่อจริงคือ สุพิณ เหมวิจิตร เกิดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2513 เป็นลูกสาวคนสุดท้องของพี่น้อง 14 คน ของนายคำทา และนางมี เหมวิจิตร เกิดที่บ้านเมย ตำบลดงลิง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ จบการศึกษาภาคบังคับ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนโคกเมยประชาพัฒนา เมื่อปี พ.ศ. 2526 ด้วยใจรักในชีวิตศิลปิน ปี พ.ศ. 2529 ขณะอายุ 16 ปี ก็ได้เข้าสู่วงการหมอลำ เป็นนางเอกหมอลำยอดนิยมอยู่หลายคณะ เช่น ดอกฟ้ามหากาฬ เลิศฟ้าพรสวรรค์ ฯลฯ

ก้าวเข้าสู่วงการ

เธอเริ่มบันทึกเสียงชุดแรกเมื่อ 25 มกราคม พ.ศ. 2534 กับบริษัท เยนาวี่ โปรโมชั่น ในอัลบั้มชุด "น้ำตาหล่นบนที่นอน" โดยการชักชวนของครูเพลงหมอลำ ดาว บ้านดอน และในขณะนั้นเพลง "เสือ" ของดารานักร้อง ฮันนี่ ภัสสร บุณยเกียรติ กำลังโด่งดัง หลายๆ คนทักว่าหน้าตาของเธอคล้ายกับ ฮันนี่ ภัสสร บุณยเกียรติ เธอจึงใช้ชื่อในการแสดงว่า "ฮันนี่ ศรีอีสาน" (ซึ่งฮันนี่เป็นหมอลำคนแรก และคนเดียวที่สวมชุดว่ายน้ำ ขึ้นปก "มาลัยไทยรัฐ") ช่วงนั้นนักร้องหมอลำนิยมตั้งชื่อตามอย่างดารา หรือนักร้องสตริงดังๆ อาทิ จินตหรา พูนลาภ อำพล ภูไท มาช่า ฟ้าอิสาน ฯลฯ

Hunny 02

ด้วยน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และแนวการลำที่ไม่เหมือนใคร ทำให้เธอประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากกับผลงานชุดแรก ต่อมาวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2534 เธอก็มีผลงานชุด "วอนพี่มีรักเดียว" ตามมาอีก ซึ่งผลงานทั้งสองชุดได้รับการต้อนรับอย่างดีจากแฟนเพลงทั่วประเทศ

ฮันนี่ ศรีอีสาน จึงได้เปิดวงดนตรีของตนเองตามคำเรียกร้องของแฟนเพลง จวบจนถึงบั้นปลายของชีวิต ซึ่งเธออยู่ในวงการเพลงระดับชาติได้เพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น หลังการเสียชีวิต ทางต้นสังกัดได้จัดทำเทปชุด "บันทึกการแสดงสดด้านหน้าเวทีของฮันนี่ ศรีอีสาน" ตามออกมาอีก 1 ชุด

Hunny 07

แม่แบบของนักร้องหมอลำยุคปัจจุบัน

ถ้า พุ่มพวง ดวงจันทร์ คือ ต้นแบบของนักร้องลูกทุ่งสำเนียงภาคกลางเป็นจำนวนมาก ฮันนี่ ศรีอีสาน ก็ถือเป็นต้นแบบหมอลำรุ่นหลังๆ เกือบทุกคน โดยเฉพาะกับ ต่าย อรทัย ที่ฝึกร้องเพลงด้วยการร้องเพลงของฮันนี่ และถือว่าเป็นครูในดวงใจคนหนึ่ง เมื่อไปทำการแสดงที่ใดพอไหว้และระลึกถึงฮันนี่ทุกครั้ง ก็จะทำให้การแสดงลุล่วงไปได้ไม่มีอุปสรรค์ใดๆ และถือเอาแนวของฮันนี่ ศรีอีสาน เป็นแบบอย่างในการร้องเพลง ไม่ว่าจะร้องหรือลำ รวมทั้งการเอาผลงานขงฮันนี่ไปขับร้องใหม่หลายเพลง ยังมีนักร้องรุ่นหลังที่ตามมาอย่าง นุช วิลาวัลย์ รวมทั้งนางเอกรุ่นใหม่วัยทีนอย่าง ยูกิ เพ็ญนภา (คณะนามวิหค) เป็นต้น ก็ล้วนใช้ฮันนี่เป็นต้นแบบในการร้องและลำ

Hunny 03

"ผลงานเพลงของฮันนี่มีไม่มากนัก แต่ฟังไพเราะทุกเพลง อาทิ น้ำตาหล่นบนที่นอน วอนพี่มีรักเดียว ขอแล้วไม่แต่ง เขาแต่งเราตรม รักสองแผ่นดิน ฯลฯ ซึ่งมีผู้นำมาขับร้องใหม่มากมาย แม้แต่ศิลปินแห่งชาติ "บานเย็น รากแก่น" ก็มีผลงานล่าสุดกับค่ายบีบีเรคคอร์ด ก็นำเพลงของฮันนี่มาขับร้องใหม่เกือบทั้งหมด”

Hunny 05

แถมยังมิบรรดาเกจิในวงการหมอลำบางคนกล่าวกันว่า "ถ้าฮันนี่ยังอยู่ ก็คงไม่มีหมอลำหลายๆ คนได้เกิดแน่ๆ เพราะเธอมีลีลาลำที่เก่งกาจ เสียงดีและสวยเพียบพร้อมแบบที่หาได้ยากที่จะมีคุณสมบัติครบถ้วนเช่นนี้"

ชีวิตในวงการบันเทิงแสนสั้น

ฮันนี่ ศรีอีสาน มีช่วงชีวิตของความเป็นดาวเด่นในระดับประเทศ ให้คนไทยวงกว้างได้มีความสุขเพียงขวบปีเท่านั้น ฮันนี่ ศรีอีสาน เสียชีวิตขณะกลับจากการแสดงที่ อำเภอปรางกู่ จังหวัดศรีสะเกษ โดยเดินทางมากับรถยนต์ปิกอัพแล้วมาพลิกคว่ำ ที่ถนนศรีสะเกษ-อุบลราชธานี กิโลเมตรที่ 6-7 ตำบลหนองแก้ว อำเภอเมืองศรีสะเกษ เมื่อวันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 เวลา 04.30 น. คอหักเสียชีวิตคาที่ (ตามข่าวกล่าวว่า "เธอไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย" จึงทำให้เสียชีวิต)

Hunny 04

ฮันนี่ ศรีอีสาน เสียชีวิตขณะที่มีอายุเพียง 21 ปี 4 เดือน 4 วัน จุดที่ฮันนี่ประสบอุบัติเหตุ มีการสร้างศาลไว้เป็นที่ระลึก และในวันครบรอบการเสียชีวิตของเธอ ก็จะมีการจัดการแสดงคอนเสิร์ตอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้วันครบรอบเสียชีวิตของฮันนี่ บรรดานักร้องลูกทุ่งหลายคน เช่น ต่าย อรทัย และนักร้องหมอลำหลายๆ คณะจะแวะไปสักการะศาลของฮันนี่กันทุกปี

มีบางคนเล่าว่า.... เมื่อขับรถผ่านตอนประมาณ ตี 1- ตี 2 จะเห็นเป็นเวทีแสงสีเสียงยิ่งใหญ่อลังการ เหมือนมีงานคอนเสิร์ตตรงศาลนั้น ซึ่งมารู้อีกทีตอนที่มีคนบอกว่า "ตรงนั้นเป็นศาลของนักร้องดังฮันนี่" จึงเป็นเรื่องที่น่าขนลุก และใครที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับศพของเธอ และนำทรัพย์สมบัติของเธอไปจากที่เกิดเหตุจะมีอันเป็นไปทุกราย แม้กระทั่งนายตำรวจที่พบศพเธอคนแรก ก็มีอันเป็นไปเสียชีวิตในสถานีเดียวกับฮันนี่

Hunny 09

จึงยังคงเป็นที่กล่าวขานถึงความเฮี้ยน และอาถรรพ์จวบจนทุกวันนี้ ในเรื่องวิญญาณของ "สุพิณ เหมวิจิตร" หรือ "ฮันนี่ ศรีอีสาน" ราชินีลูกทุ่งหมอลำผู้ล่วงลับ จนกระทั่งล่าสุด มีการเปิดเผยเรื่องย้ายศาลมาตั้งใหม่ที่บ้านเกิด เพราะเธออยากกลับบ้าน จึงมาบอกให้ย้ายศาลจากศรีสะเกษ มาตั้งใหม่ที่กาฬสินธุ์

จากการเปิดเผยของ "คำศรี เหมวิจิตร" ซึ่งเป็นพี่สาวแท้ๆ ของฮันนี่ ทั้งนี้ พี่สาวราชินีลูกทุ่งหมอลำในตำนาน อ้างว่าวิญญาณน้องสาวตน ได้ไปเข้าฝันพระอาจารย์ประจักษ์ เมื่อถูกถามว่าชื่ออะไร ได้ตอบทันทีว่า นางสาวสุพิณ เหมวิจิตร พร้อมกับร้องห่มร้องไห้ บอกว่า "หนูอยากกลับมาอยู่บ้านเกิดหนู" อยากให้พระอาจารย์ช่วยสร้างศาลให้ ที่บ้านเลขที่ 62 หมู่ 11 บ้านเมย ตำบลดงลิง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์

Hunny 10

จากนั้นพระอาจารย์ได้ดูที่ดินที่จะสร้างศาล และนัดช่างก่อสร้างมาเริ่มสร้างศาลเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ปีเดียวกัน ใช้งบประมาณกว่า 700,000 บาท และได้นำเอาอัฐิฮันนี่เข้าศาลเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2558 และได้ฉลองเปิดศาลใหม่ ซึ่งก่อนจะได้นำดวงวิญญาณ "ฮันนี่ ศรีอีสาน" กลับมาสู่บ้านเกิดไม่ใช่เรื่องง่าย ได้ทำพิธีถึง 3 ครั้ง ถึงได้ดวงวิญญาณของฮันนี่กลับมาบ้านเกิดตัวเอง ครั้งที่ 3 ได้นิมนต์พระชั้นผู้ใหญ่เจ้าคณะอำเภอไปขอดวงวิญญาณฮันนี่ถึงได้มา ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวเป็นความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านด้วยนะครับ

Hunny 06

ถ้าวันนี้ (พ.ศ.2564) ฮันนี่ ศรีอีสาน ยังมีชีวิตอยู่ เธอจะเป็นสาวทรงเสน่ห์ วัย 51 ปี ที่หลายคนต้องยกย่องให้เป็น “ราชินีหมอลำ” กันเลยทีเดียว เกจิในวงการหมอลำบางคนกล่าวกันว่า "ถ้าฮันนี่ ยังอยู่ ก็คงไม่มีหมอลำหลายๆ คนได้เกิดแน่ๆ เพราะเธอมีลีลาลำที่เก่งกาจ เสียงดีและสวยเพียบพร้อมแบบที่หาได้ยากที่จะมีคุณสมบัติครบถ้วนเช่นนี้"

วมกลอนลำฮิตดนตรีแบบต้นฉบับ จากราชินีหมอลำ "ฮันนี่ ศรีอีสาน"

ข้อมูลจาก : คอลัมน์ เป็นคุ้งเป็นแคว โดย... เคน สองแคว
และภาพบางส่วนมาจาก
Facebook : ฮันนี่ ศรีอีสาน

redline

backled1

looktung morlum artists

got 01จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ

จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ มีชื่อ-นามสกุลจริง จักรพรรณ์ อาบครบุรี ชื่อเล่น ก๊อท เกิดวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2511 ที่บ้านไทรโยง ตำบลครบุรี อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา เป็นลูกคนที่ 3 จาก 4 คน มีมารดา พื้นเพเป็นชาวอำเภอครบุรี และบิดาเป็นทหารชาวอเมริกัน ที่ย้ายมาประจำการที่จังหวัดนครราชสีมา จึงพบมารดาซึ่งขณะนั้นเป็น "แม่ครัว" อยู่ในค่ายทหาร ทั้งคู่แต่งงานกัน มีลูกด้วยกัน 4 คน บิดาถูกเรียกตัวกลับสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เขายังเด็กมาก โดยไม่มีรูปทิ้งไว้ เขาจึงจำหน้าไม่ได้

มารดาไม่ย้ายตามบิดาไปด้วยตามคำชักชวน เพราะว่าห่วงในตัวยายของเขา และเกรงจะมีปัญหาจากการปรับตัวเพราะด้อยในการศึกษา และบิดาต้องย้ายไปประจำการในอีกหลายๆ ประเทศ จึงขาดการติดต่อทางจดหมายโดยไม่รู้ชะตากรรมในที่สุด

เขาจะเป็นเด็กเงียบๆ ชีวิตวัยเด็กลำบากมาก เพราะมารดายากจน มีลูก 4 คน อยู่บ้านเช่า ทำงานรับจ้างได้ค่าแรงรายวันไม่มาก พี่สาวและพี่ชายได้เรียนแค่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก็ต้องออกมาทำงานหาเงิน มารดาจึงส่งเขาไปให้อยู่กับตายายที่ อำเภอครบุรี เมื่อเขาอายุได้ 6 ปี เขาเกือบไม่ได้เรียนหนังสือ แต่โชคดีที่มีคนรู้จักกันขอไปเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม ที่จังหวัดกาญจนบุรี มารดาตัดสินใจยกให้เพื่ออนาคตของลูก

บิดาบุญธรรมเป็นทหาร มารดาบุญธรรมเป็นแม่บ้าน ซึ่งดูแลเขาเป็นอย่างดี ชีวิตเปลี่ยนไปเหมือนเกิดใหม่ มีห้องของตัวเองจากที่เคยนอนรวมกันกับพี่น้อง และได้เข้าเรียนในโรงเรียน เขาเริ่มได้รับอิทธิพลเรื่องเพลงตั้งแต่ช่วงนั้น บิดามารดาบุญธรรมชอบฟังเพลงลูกกรุง จึงได้ฟังบ่อยๆ จนซึมซับเข้ามาในความทรงจำ สมัยนั้นการเดินทางและารสื่อสารไม่สะดวก จึงไม่ได้กลับไปเยี่ยมแม่ แม่เองก็ไม่ได้มาหาเพราะภาระทางด้านการเงิน ซึ่งเขามักถามเสมอว่า "ทำไมแม่ถึงไม่มาหา อยากเจอ"

got 02

จนถึงปี พ.ศ. 2523 เมื่อก็อทอายุ 11-12 ปี ยังไม่ทันจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 บิดามารดาบุญธรรมจึงอนุญาต โดยขอให้คนช่วยสืบหาให้ ใช้เวลานานหลายเดือนจึงรู้ว่า มารดาเช่าบ้านอยู่ในซอยบริเวณสามแยกปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ก็อทออกเดินทางโดยลำพังจากจังหวัดกาญจนบุรี จนได้พบแม่ที่แท้จริง และกอดกันกลมร้องไห้ด้วยความดีใจ และได้รู้จักกับสามีใหม่ของแม่ ซึ่งเรียกว่า "ป๋า" เมื่อทุกคนขอร้องให้อยู่ที่นี่และเริ่มปรับตัวได้ จึงตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านกับแม่โดยไม่เรียนต่อ ผ่านมาได้ 3 สัปดาห์ ก็ไปทำงานกับป๋าที่อู่ซ่อมรถ เริ่มจากเด็กฝึกงาน จนเลื่อนเป็นช่างทำสีรถ เมื่ออายุ 13 ปีเท่านั้น

ต่อมา เขาต้องออกจากงานช่างซ่อมรถ กลับไปอยู่กับตายายที่อำเภอครบุรี เพราะน้า (ที่เคยอยู่กับยาย) เข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ เขาจึงต้องกลับไปช่วยเลี้ยงควาย 3 ตัวแทนน้า ก็อทต้องปรับตัวใหม่อีกครั้ง เพราะบ้านของยายอยู่ในชนบทที่กันดาร ไม่มีไฟฟ้าใช้ การเป็นเด็กลูกครึ่งในท้องถิ่นบ้านนอกที่นั่นเป็นเรื่องแปลก เพราะผิวขาวกว่าทุกคน อยู่จนปรับตัวได้ มีเพื่อนจำนวนมากที่ต้อนควายไปเลี้ยงด้วยกันกลางทุ่งนา

got 03

วันหนึ่ง เมื่อต้อนควายไปเลี้ยงตามปกติ ได้พบ "วิทยุทรานซิสเตอร์" เครื่องใหม่เอี่ยม แต่มีสนิม ห่อผ้าซ่อนอยู่ในที่รกๆ กลางทุ่งนา จึงคาดว่า น่าจะถูกขโมยมาซ่อนไว้แต่ลืมทิ้งหรือหาไม่เจอ ก็อทจึงเก็บเอามาใช้ ทำให้เป็นช่วงเวลาที่ผูกพันกับเพลงลูกทุ่ง โดยใช้วิทยุเป็นเสมือนครูเพลงที่เปิดฟังและร้องตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงโปรดที่ร้องเล่นบนหลังควาย มาแต่เล็กแต่น้อยคือเพลงของ ครูสุรพล สมบัติเจริญ อยู่กับตายายได้ 4 ปี จนถึงปี พ.ศ. 2527 ก็กลับไปอยู่กับแม่อีก ทำงานเป็นช่างเช่นเดิม

แรกเริ่มเข้าสู่วงการเพลง

ทุกๆ วันอาทิตย์ ในตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา จะมีการประกวดร้องเพลงที่จัดโดย นที สุนันทา ดีเจชื่อดัง ซึ่งผู้ชนะเลิศจะได้เข้าประกวด "รายการชุมทางคนเด่น" ของ ประจวบ จำปาทอง เขาก็ไปดูทุกครั้งและอยากประกวดมากแต่ก็ยังไม่กล้า

ต่อมา ก็อทได้ไปสมัครทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟในโรงแรม ซึ่งอยู่ใกล้กับเวทีประกวด โดยไปดูการประกวดทุกครั้งกับเพื่อนที่ชื่นชอบเหมือนกัน เขาร้องเพลงขณะทำงาน เหมือนเป็นการฝึกร้องให้ชำนาญ เพลงที่มักจะใช้ร้องเป็นเพลงของ สายัณห์ สัญญา หรือ ยอดรัก สลักใจ และได้ใช้เพลงดังกล่าวนี้ไปประกวด และได้เข้ารอบในครั้งที่ 3 ทางดีเจนที ผู้จัดประกวดจึงให้ผู้เข้ารอบทุกคนได้ร้องเพลงใส่เทปบันทึกเสียง เพื่อนำไปเปิดในรายการวิทยุ สำหรับให้คนทางบ้านช่วยในการโหวดตัดสิน

got 04

ช่วงที่รอผลการแข่งขัน มีเซลส์แมนขายเครื่องเสียงตามบ้านมาพักที่โรงแรมที่ก็อททำงานอยู่ ซึ่งขณะทดสอบเครื่องเสียงได้ให้เขาร้องเพลงลองเครื่องเสียงให้ และเป็นที่ถูกใจ ชื่นชอบ จึงชวนให้ก็อทไปอยู่ด้วย ช่วยในการขายของ และร้องเพลงเรียกลูกค้า รับเงินเดือนประจำ เขาสนุกกับชีวิตตะลอนทัวร์ประมาณ 2 ปี โดยไม่กลับบ้านเลย ส่งแต่เงินกลับไปให้ทางครอบครัว

จนเดินสายมาถึงจังหวัดระยอง เพื่อนของหัวหน้ากลุ่มเซลล์แมนเปิดร้านคาเฟ่ เขาเห็น "ร้านคาเฟ่" เป็นครั้งแรกและชอบมากอยากเข้าทำงาน หัวหน้าจึงฝากงานให้ แต่ได้เป็นแค่หัวหน้าพนักงานเสิร์ฟ ไม่ได้ขึ้นร้องเพลงสักที จึงไปหางานทำที่พัทยา เพราะเพื่อนชวน หางานอยู่หลายที่ จนได้งานที่ร้านแห่งหนึ่ง แม้เงินเดือนไม่มาก แต่ได้ทิปหลักหมื่นต่อเดือนในสมัยนั้น เริ่มจากการเป็นนักเต้น จนมีโอกาสได้ร้องเพลง ก็ร้องทุกเพลงทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไหร่ได้ร้องเพลงลูกทุ่ง จะได้รับการต้อนรับดีมาก เพราะเป็นเรื่องแปลก ที่คนหน้าตาเป็นฝรั่งมาร้องเพลงลูกทุ่ง จึงมีความเป็นอยู่ดีขึ้นมา มีเงินส่งกลับจำนวนมาก

สู่อ้อมอก GMM Grammy

ทำงานประมาณ 1 ปี ได้ย้ายมาประจำที่ ร้านไอส์แลนด์ ว่าว อนุวัฒน์ ซึ่งขณะนั้นเป็นโปรดิวเซอร์ของ คีตา เรคคอร์ดส มาพบ ชวนให้เข้ากรุงเทพฯ เพื่อทดสอบเสียงแต่ไม่ผ่าน จึงกลับไปทำงานที่เดิมอีกครั้ง

อีกประมาณ 3-4 เดือนต่อมา เขตอรัญ เลิศพิพัฒน์ นักแต่งเพลงประจำค่ายแกรมมี่ ไปเจอเข้าสนใจเลยชักชวน แต่ก๊อตก็ไม่กล้ารับปาก เพราะไม่มั่นใจว่าจะเป็นความจริง จนเขตอรัญต้องพา พี่เต๋อ เรวัติ พุทธินันท์ ผู้ก่อตั้งร่วมและโปรดิวเซอร์ของ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (ขณะนั้นชื่อ บริษัท แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเม้นท์) ไปดูตัว จึงมีการพูดคุยชักชวนเจรจาจนที่สุด ก๊อท ก็ยอมเซ็นสัญญาเป็นนักร้องในสังกัดแกรมมี่ โดยต้องเรียนเพิ่มเติม ทั้งการร้องเพลง ภาษา วิธีการทำงานในห้องอัด และอื่นๆ รวมถึงปรับปรุงบุคลิกอย่างผู้มีการศึกษาระดับสูง ตามกระแสนิยม โดยทางแกรมมี่ได้เช่าอพาร์ตเมนต์ให้อยู่ มีเงินเดือนให้ รุ่นเดียวกันที่เรียนร้องเพลงคือ ใหม่ เจริญปุระ

got 05

ทางแกรมมี่ตั้งใจปั้นก็อทให้เป็น "นักร้องเพลงป๊อป" ตัวก๊อทเองก็ชื่นชอบอยากเป็นเหมือนอย่าง พี่เบิร์ด - ธงไชย แมคอินไตย์ แต่ร้องแล้ว ฟังแล้วก็หาทางออกไม่เจอสักทีว่าจะใช่ตามที่ตั้งใจ

จนกระทั่ง เจนภพ จบกระบวนวรรณ เสนอให้ร้องเพลงเก่าเป็นเพลงลูกทุ่ง และทำขึ้นมาเป็นโครงการแม่ไม้เพลงไทย มีนักร้องร่วมโครงการหลายคน อาทิ นันทิดา แก้วบัวสาย, ชรัส เฟื่องอารมณ์, ปั่น ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว, ภัทรา ทิวานนท์ และ จักรพรรณ์ อาบครบุรี นำเพลงเก่าอมตะมาทำเรียบเรียงให้ขับร้องใหม่ให้เป็นรูปแบบของตนเอง โดยเฉพาะตัวก๊อตนั้น ทางเจนภพ จบกระบวนวรรณ คัดเพลงให้และควบคุมการร้องการผลิตทุกขั้นตอนเอง

หัวใจผมว่าง - จักรพรรณ์ อาบครบุรี

ชื่อ ก๊อต จักรพรรณ์ อาบครบุรี มีคนรู้จักขึ้นมาทันทีด้วยเพลง "หัวใจผมว่าง" เพลงเก่าของ ครูสุรพล สมบัติเจริญ

วิสัยทัศน์ที่แม่นยำของ เต๋อ เรวัต พุทธินันท์

ยุคนั้น แนวเพลงไทยสากล (สตริง) มีกระแสนิยมมากกว่าแนวเพลงลูกทุ่ง ก็อตจึงเสนอทางค่ายว่า "เพราะเขาอายุยังน้อย น่าลองทำผลงานเพลงสตริงก่อน เพื่อให้ตรงกับการตลาดในช่วงนี้" แต่นายใหญ่ เต๋อ เรวัต พุทธินันท์ ยืนยันมาตั้งแต่แรกว่า ก็อตเหมาะกับเพลงลูกทุ่ง แต่ก็ไม่คัดค้าน โดยพูดว่า "นายจะประสบความสำเร็จกับการร้องเพลงลูกทุ่ง เพราะเราเห็น แต่ถ้าอยากจะลองทำสตริงดูก็ได้"

จึงเกิด อัลบั้มชุดที่ 2 "ก๊อต ช็อต" ที่เปลี่ยนแนวเป็นสตริง และ อัลบั้มชุดที่ 3 "ก๊อต เพราะใจไม่เหมือนเดิม" เป็นเพลงฟังสบาย แต่อาจเพราะฟังยาก ไม่ติดหู จึงไม่ค่อยได้รับความนิยม

ในปี พ.ศ. 2538 จึงกลับมาปรึกษากันใหม่ว่า อยากลองเปลี่ยนกลับมาเป็นแนวเพลงลูกทุ่ง เต๋อ เรวัต พุทธินันท์ ดีใจมาก เพราะคิดว่าเหมาะสมเข้าทางที่สุด เป็นช่วงเดียวกับที่ได้ก่อตั้ง "แกรมมี่ โกลด์" เป็นบริษัทใหม่ในเครือ โดยแยกสายการผลิตเพลงลูกทุ่ง ออกมาจากแนวสากล โดยมี กริช ทอมมัส เป็นกรรมการผู้จัดการและหนึ่งในโปรดิวเซอร์

got 06

ทีมงานจึงผลิต เช็ตอัลบั้มชุด "ก๊อต หัวแก้วหัวแหวน" ชุดที่ 1-5 (ออกมาพร้อมกันทีเดียวถึง 5 ชุดรวดในเซ็ต) โดยมี กริช ทอมมัส เป็นโปรดิวเซอร์ประจำตัวของก็อท นับแต่นั้นเรื่อยมา แม้ว่า สร้างหลายอัลบั้มพร้อมกัน แต่ก็ขายได้ถล่มทลายเป็นประวัติการณ์ ประมาณ 2 ล้านตลับ (ยุคนั้นยังจำหน่ายแต่ เทปคาสเส็ตยังไม่มีซีดี) จนถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่สร้างชื่อและแจ้งเกิดในวงการลูกทุ่งของเขา (ความนิยมนั้นแม้ผ่านมา 20 ปี ก็ยังผลิตอัลบั้มรวมฮิตขายได้อยู่)

จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์เพลงลูกทุ่ง

เหตุการณ์ "หัวแก้วหัวแหวน" นี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของวงการเพลงลูกทุ่งด้วย เพราะเริ่มมีการผสมดนตรีแบบไทยสากลในเพลงลูกทุ่งเล็กน้อย โดยก่อนหน้านั้นเพลงลูกทุ่งจะมีแบบแผนรูปแบบเครื่องดนตรีชัดเจน ผู้นิยมเพลงสตริงรับได้เป็นปกติ ส่วนผู้นิยมเพลงลูกทุ่งเอง ช่วงแรกยังมีความเห็นขัดแย้ง แต่เมื่อเผยแพร่สักระยะหนึ่ง ก็เริ่มเป็นที่นิยมและยอมรับในที่สุด

และในภายหลัง แนวเพลงลูกทุ่งประยุกต์นี้ ก็กลายเป็นกระแสสร้างความนิยมที่พบได้มากในผลงานของศิลปินรุ่นต่อๆ มา ทั้งค่ายเพลงนี้และค่ายเพลงอื่นๆ ในลักษณะที่ค่อยๆ ผสมความเป็นไทยสากลมากขึ้นไปอีก

ในปี พ.ศ. 2538 ทีมงานผลิต เช็ตอัลบั้มชุด "ก๊อต หัวแก้วหัวแหวน" ชุดที่ 1-5 และในปี พ.ศ. 2539 ผลิตชุดที่ 6-9 ออกมาอีก ยอดขายรวมทั้ง 9 ชุด กว่า 10 ล้านตลับ ความสำเร็จที่มาอย่างท่วมท้นนี้ เต๋อ เรวัต พุทธินันท์ ได้เตือนก็อตไว้ว่า "ขอให้มีสติดี ๆ เพราะความสำเร็จที่เข้ามาขนาดนี้ จะทำให้เราเขวได้" ซึ่งเขาจดจำยึดถือเรื่อยมา

got 07

เนื่องจากในช่วงแรกของอัลบั้ม ทาง แกรมมี่ โกลด์ ยังไม่สันทัดและมีประสบการณ์ในการจัดการแสดงบนเวทีของเพลงลูกทุ่ง นอกจากการร้องเพลงแล้ว เขายังมีส่วนร่วมในการผลิตอัลบั้มอยู่มาก เช่น การเลือกเพลง การเลือกดนตรี การจัดหานักเต้นประกอบ (แดนเซอร์) การผลิตเครื่องแต่งกายนักเต้นประกอบ ฯลฯ จนกลายเป็นแนวทางการทำงานในทุกอัลบั้มต่อๆ มา (ในระยะหลัง ยังช่วยควบคุมด้านดนตรีด้วย)

กรณีเครื่องแต่งกายนักเต้นประกอบ ผู้จัดการประจำตัวที่เขาเรียกกันว่า "พี่มด" ซึ่งเคยเป็นดีไซเนอร์ของ "อัลคาซ่า" มาก่อน ได้รับผิดชอบจึงจัดหาชุดจากอัลคาซ่ามาดัดแปลงให้นักเต้นประกอบได้สวมใส่ และเน้นความอลังการในการแสดง ซึ่งได้รับความนิยมจนกลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงบนเวที ที่บรรดาวงดนตรีลูกทุ่งนิยมจัดมาแสดง รวมถึงทุกอัลบั้มต่อมาของเขาเอง เขาถือว่า "การแสดงบนเวทีที่อลังการเป็นหัวใจหลักของอัลบั้ม" เพราะแฟนคลับชื่นชอบ อีกทั้งพัฒนาการที่เนื้อหาเพลงหลากหลายขึ้น จึงยิ่งเพิ่มความหลากหลายเครื่องแต่งกาย และเพิ่มรูปแบบการแสดงมากขึ้น เช่น ผสมรูปแบบการแสดงแบบ "โรงละครเวทีบรอดเวย์" ของต่างประเทศ ฯลฯ

คอนเสิร์ต แทนความผูกพัน 20 ปี หัวแก้วหัวแหวน - ก็อท จักรพันธ์

ก็อตเป็นคนที่ทำงานจริงจังมาก และชอบในการทำบุญ ศิลปินต้นแบบของเขา ได้แก่ เบิร์ด ธงไชย เพราะสนุกกับงานได้เสมอ และ ตู่ นันทิดา เพราะให้กำลังใจและสอนดีมาก เขาเองก็เป็นต้นแบบของศิลปินรุ่นน้องจำนวนมากด้วยเช่นกัน

ชีวิตหลังประสบความสำเร็จ

จักรพันธ์ อาบครบุรี หลังประสบความสำเร็จ มีรายได้มากขึ้น ความเป็นอยู่ที่บ้านก็ดีขึ้น เขาดูแลช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในบ้านของแม่และน้อง ขณะช่วยเหลือพี่สาวกับพี่ชายตามโอกาส เพราะทั้งสองแต่งงานมีครอบครัวของตน

ใน พ.ศ. 2549 หลังจาก อัลบั้มชุดที่ 4 "ก๊อต จักรพรรณ์ 4 เจริญ เจริญ" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ก๊อท จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ เพราะถูกทักว่า "เกิดวันศุกร์ ไม่ถูกโฉลกกับ ร.เรือ หลายตัว" ส่วนนามสกุล เปลี่ยนให้ความหมายดีขึ้นเป็น ครบุรีธีรโชติ แปลว่า เมืองแห่งความรุ่งเรืองของนักปราชญ์

มีช่วงหนึ่งเคยดำเนินกิจการร้านอาหาร แต่เลิกกิจการไปเมื่อมีงานอัลบั้มต่อเนื่อง ก่อนผลิตอัลบั้ม "แทนความคิดถึง" และก่อนผลิตอัลบั้ม "แทนความผูกพัน 20 ปี หัวแก้วหัวแหวน" เขาได้พักผ่อนยาว ใช้เวลากับครอบครัว และใช้โอกาสนี้ปลูกบ้านใหม่ที่อยู่กับแม่และน้อง โดยดูแลการก่อสร้างทั้งหมดเอง

เป็นนักร้องรุ่นใหม่ที่มีแฟนคลับชัดเจนมีคนนิยมมาก ตั้งแต่รุ่นย่ารุ่นยายหิ้วตะกร้าหมาก มาจนถึงวัยรุ่นสมัยใหม่ และรุ่นเด็กๆ ทั่วทุกภาคของประเทศที่เหนียวแน่นไม่แพ้รุ่นพี่อย่าง เบิร์ด ธงไชย เรื่องการแสดงหน้าเวทีการเอนเตอร์เทนผู้ชมนั้นเก่งมากๆ และตั้งอกตั้งใจทำงานเต็มที่ทุกครั้ง และได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในเรื่องการโชว์ที่มีการลงทุนสร้างอย่างอลังการ มีทีมเต้น (แดนเซอร์) ของตนเองที่คล้ายทีมงานในต่างประเทศที่ตามไปร่วมการแสดงทุกครั้ง

got 08

ได้มีโอกาสแสดงละครหลายเรื่อง เป็นพระเอกนักร้องเนื้อหอมที่สุดคนหนึ่งในยุคปัจจุบัน มีฐานะดีมาก และได้ชื่อว่าเป็น "นักร้องลูกทุ่งที่มีค่าตัวแพงที่สุดในประเทศไทย" อีกด้วย ติดตามผลงานการแสดงและความเคลื่อนไหวได้ทาง Instragram : Got Jakraphun

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)