liang mod daeng

มดแดง หรือ มดส้ม เป็นมดที่คนไทยรู้จักกันทั่วไป และนำมาใช้ประโยชน์หลายด้านช้านานแล้ว นอกจากการบริโภคเป็นอาหารแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ในการควบคุมศัตรูพืชบางชนิด หรือใช้เป็นยาตามความเชื่อได้อีกด้วย การนำมดแดงมาเป็นอาหารหรือสร้างรายได้นั้นถือเป็นที่นิยม จึงทำให้มีการเลี้ยงมดแดงกันมากขึ้น

การเลี้ยงมดแดง หรือ สร้างเป็นฟาร์มมดแดง จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายไข่มดแดง พร้อมทั้งยังช่วยลดการใช้สารเคมีซึ่งถือเป็นต้นทุนที่สูงมาก โดยมดแดงช่วยกำจัดศัตรูพืช ตลอดจนยังเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีอีกด้วย

ปัจจุบันนี้ มีการบริโภคไข่มดแดงกันมากขึ้น มีเมนูยอดฮิตหลากหลาย จึงทำให้ไข่มดแดงมีราคาค่อนข้างแพงคือ 300-500 บาทต่อกิโลกรัม (บางแห่งอาจสูงกว่านี้ ด้วยปัจจัยของการหามาจำหน่าย ความต้องการที่มากขึ้น และการขนส่ง) สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน 300-1,000 บาทต่อวัน ทำให้ปัจจุบันไข่มดแดงมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากธรรมชาติและปริมาณที่ได้ค่อนข้างต่ำคือ 10-300 กรัมต่อรังเท่านั้น การแก้ปัญหานี้คือ ต้องมีการเลี้ยงและดูแลทำให้รังมดแดงแต่ละรังมีปริมาณไข่มดแดงมากขึ้น เป็น 500 – 2,000 กรัมต่อรัง

liang mod daeng 01

อย่างไรก็ตาม "ไข่มดแดง" ก็เป็นอาหารที่มีตามฤดูกาล มีการเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาเฉพาะในหน้าแล้ง การเลี้ยงมดแดงจึงเป็นอาชีพเสริมกับการทำเกษตรอื่นๆ คือการทำเกษตรผสมผสานให้มีรายได้ตลอดปีนั่นเอง ไม่สามารถทำเป็นอาชีพเดี่ยวๆ ได้ แต่ก็มีการวิจัยและทดลองเพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้มากขึ้น ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปพัฒนาปรับปรุงใช้ประโยชน์ได้

มารู้จัก "มดแดง" กันก่อน

มด เป็นแมลงในอันดับ Hymenoptera ในกลุ่มเดียวกับ ผึ้ง ต่อ และแตน การเจริญเติบโตจะผ่านการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ มีวงจรชีวิต 4 ระยะ คือ ไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย มดอยู่ในวงศ์ Formicidae ลักษณะเด่นที่ใช้ในการจำแนกมดได้แก่ หนวดแบบข้อศอก (geneiculate) และเอว (pedicel) เอวของมด คือ ส่วนอกที่ลดรูป มดแต่ละวงศ์อาจมีส่วนเอว 1–2 ปล้อง และมีลักษณะที่แตกต่างกัน เราจึงมองเห็นสัดส่วนของร่างกายมดมี 4 ส่วนคือ ส่วนหัว (head) ส่วนอก (alitrunk) ส่วนเอว (pedicel) และส่วนท้อง (gaster)

มดแดงที่เรากล่าวถึงนี้ คือ มดแดงส้ม จัดอยู่ในวงศ์ย่อย Formicinae สกุล Oecophylla ลักษณะเด่นของมดชนิดนี้คือ ส่วนเอวมี 1 ปล้อง ส่วนของกราม (mandible) มีฟัน 10 ซี่ หนวดมีปล้องจำนวน 12 ปล้อง ส่วนท้องยกขึ้นเหนือส่วนอก ทั่วโลกพบมดในสกุล Oecophylla 13 ชนิด ในประเทศไทยมีเพียงหนึ่งชนิด คือ Oecophylla smaragdina และมีชื่อสามัญว่า Weaver ants หรือ Green ants ลักษณะเด่นของมดชนิดนี้ คือ มีขนาดใหญ่ และทำรังบนต้นไม้ แต่มีการสำรวจพบการทำรังในบ้านเรือนด้วยเช่นกัน

liang mod daeng 02

มดแดงส้ม มีพฤติกรรมการสร้างรังที่เป็นเอกลักษณ์ คือ มดจะต่อตัวโดยมดงาน และใช้กรามคาบส่วนประกอบของร่างกายมดภายในรังด้วยกัน เพื่อดึงใบไม้มาชิดติดกัน และเชื่อมขอบใบไม้ภายในและภายนอกด้วยสารจากส่วนท้องของตัวอ่อนมด มาถักทอรังให้เชื่อมคิดกัน ลักษณะของใย มีลักษณะคล้ายใยแมงมุม

มดแดงส้ม เป็นสัตว์กินเนื้อ และอาจเสริมด้วยน้ำหวานจาก เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น และผีเสื้อบางชนิด มดแดงส้มมีวรรณะภายในรังเช่นเดียวกับมดชนิดอื่นๆ คือ มี 3 วรรณะ คือ นางพญา (Queen) ราชา (King) และมดงาน (Workers) มดงานยังแบ่งการทำหน้าที่แตกต่างกันตามขนาดที่ต่างกัน เช่น มดงานขนาดเล็ก มีหน้าที่ดูแลตัวอ่อนและไข่ มดงานขนาดย่อม มีหน้าที่ดูแลซ่อมแซมรังและหาอาหาร ส่วน มดงานขนาดใหญ่ มีหน้าที่หาอาหารและปกป้องรังจากผู้รุกราน มดแดงส้มไม่มีเหล็กในเพื่อปกป้องจากศัตรู แต่พวกมันใช้วิธีกัดและฉีดสารที่มีคุณสมบัติเป็นกรด ที่ชื่อ Formic acid มดจะฉีดสารนี้เพื่อขับไล่ศัตรู หรือฉีดเข้าใส่บาดแผลของศัตรูทำให้เกิดอาการระคายเคืองและแสบ สารนี้นอกจากมีค่าความเป็นกรดแล้วยังมีกลิ่นฉุน ทำให้ศัตรูร่นถอย

การเลี้ยงมดแดงเอาไข่

การเตรียมพื้นที่เลี้ยงมดแดง

สถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงมดแดง พบว่า มดแดงชอบอาศัยบริเวณพื้นที่เปิดโล่ง มีแสงมาก ต้นไม้ได้รับแสงแดดรอบต้น ไม่ร่มทึบหรือมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นมาก ควรเป็นที่ราบและเปิดโล่งมีต้นไม้สูงไม่เกิน 6 เมตร (เพื่อความสะดวกในการเก็บผลผลิต) มดแดงสามารถสร้างรังหรืออาศัยต้นไม้ได้ทุกชนิด แต่มีความเหมาะสมแตกต่างกัน ลักษณะที่เหมาะสมได้แก่ ขนาดใบไม่เล็กหรือใหญ่มากเกินไป ใบต้องไม่หยาบหรือแข็ง มีใบจำนวนมาก ควรเป็นใบเดี่ยวดีกว่าใบประกอบ ต้องไม่ผลัดใบในช่วงหน้าแล้ง เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ และเรือนยอดที่ไม่เบียดชิดหรือรกทึบมากเกินไปจนแดดส่องไม่ถึงพื้น เช่น มะม่วง ชมพูหวาน เงาะ ลองกอง ลําไย เป็นต้น ต้นไม้ที่ไม่เหมาะสม เช่น กระถิน สัก ยางนา ขนุน ไม้ที่ผลัดใบต่างๆ สำหรับภาคอีสานบ้านเฮา ต้นมะม่วง ดูจะเหมาะสมที่สุด ควรมีแหล่งน้ำอยู่ใกล้ๆ

liang mod daeng 03

กำจัดศัตรูของมดแดง

มดแดง ดูเหมือนจะสามารถกัดเราเจ็บๆ ได้ ไม่น่าจะมีศัตรูมาทำลาย ไม่จริงนะครับ! มีสัตว์ที่เป็นอันตรายต่อมดแดงส้มเป็นจำนวนมากเช่น ด้วงดอกไม้อกเหลืองแต้ม หนอนของผีเสื้อมอธ (Moth butterfly) แมงมุมเลียนมด แมงมุมกระโดด ปลวก และมดชนิดอื่นๆ

โดยเฉพาะ หนอนของผีเสื้อมอธตัวอ่อน เป็นศัตรูที่สำคัญของมดแดงส้ม มอธเพศเมียจะหาที่วางไข่ที่เหมาะสมนั่นก็คือ บริเวณต้นไม้ที่มีรังมดแดงอยู่นั่นเอง หนอนจะตามกลิ่นของฟีโรโมนของมดที่ติดอยู่บริเวณเส้นทางเดินของมด จากนั้นมันจะเริ่มปล่อยฟีโรโมนเลียนแบบมด เพื่อแปลงกายปลอมเป็นสมาชิกภายในรัง แล้วจึงมุ่งหน้าเข้าสู่ห้องเก็บตัวอ่อนเพื่อกินตัวอ่อนมดเป็นอาหาร จนเติบโตเป็นตัวเต็มวัยต่อไป แมงมุมก็เช่นกันจากการที่มันมีตารวม (compound eyes) ที่มีประสิทธิภาพสูงมันจึงหลีกเลี่ยงจากการถูกมดโจมตีได้อย่างง่ายดาย จากนั้นจะเข้าไปขโมยตัวอ่อนของมดกินเป็นอาหาร และบางครั้งก็พบว่า มันเข้าโจมตีมดตัวเต็มวัยกินเป็นอาหารด้วยเช่นกัน

liang mod daeng 04

เราจึงต้องทำลายทางเดินของปลวก ที่ทำทางเดินหุ้มลำต้น หรือส่วนของโคนต้นไม้ และกำจัดพวกมดดำบริเวณต้นไม้ที่จะเลี้ยงมดแดงให้หมดก่อนเลี้ยง เพราะมดดำเป็นศัตรูสำคัญของมดแดง โดยมดดำ 1 ตัว สามารถทำลายมดแดงได้ถึง 10 ตัว

การเตรียมที่ใส่อาหารและน้ำให้มดแดง

การทำอุปกรณ์ให้น้ำและอาหารเลี้ยงมดแดงง่ายๆ ใช้ไม้กระดานขนาดประมาณ 16×21 นิ้ว หรือมะพร้าวแห้งผ่าครึ่ง ทำเป็นแท่นให้อาหาร โดยตอกด้วยตะปูหรือผูกมัดคิดเอาไว้เป็นภาชนะใส่อาหารติดกับไม้ยืนต้น คงความเป็นธรรมชาติ และลดผลกระทบจากไอร้อนของแสงแดด วางสูงจากพื้นดินประมาณ 1.50 เมตร เพื่อป้องกันสุนัขไปกินเศษอาหาร

มดแดงจะกินอาหารสดมากกว่าอาหารสุกหรือแห้ง มดแดงจะกินสัตว์ขนาดเล็กที่ใกล้ตาย หรืออ่อนแอ หรือกำลังจะตาย หรือตายใหม่ๆ หรือยังไม่เน่า โดยส่วนมากเป็นแมลงที่อาศัยบริเวณนั้นเป็นหลัก ซึ่งอาหารจากธรรมชาติจะไม่เพียงพอต่ออาณาจักรมดขนาดใหญ่ จึงควรมีการให้อาหารเพิ่ม อาหารที่ใช้เลี้ยงมดแดง ได้แก่ ข้าวสุก เศษเนื้อต่างๆ ปลา แมลงทุกชนิด หอยชนิดต่างๆ ควรสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ ให้มดสามารถขนกลับเข้าในรังได้ ในช่วงแรกควรให้ปริมาณมากและค่อนข้างถี่ เพื่อช่วยเร่งให้มดงานสร้างรังขนาดใหญ่

liang mod daeng 05

พร้อมจัดภาชนะใส่น้ำ (ขวดพลาสติก) ผูกยึดหรือแขวนติดกับต้นไม้ใกล้กับอาหาร ควรมีเศษกิ่งไม้หย่อนไว้ภายในขวดให้มดสามารถไต่ลงไปกินน้ำได้สะดวก เมื่อฝูงมดแดงได้กลิ่นอาหารดังกล่าว ก็จะพากันเดินไต่มากินอาหารกันอย่างอุดมสมบูรณ์ และควรให้น้ำตาลเพื่อเป็นแหล่งพลังงานแก่มด (ควรมีความเข้มข้น 80%) โดยเฉพาะหน้าแล้ง เพราะเป็นแหล่งพลังงานของมดแดงที่ต้องทำงานหนักในช่วงนี้ โดยนำน้ำหวานใส่ขวดขนาดเล็ก อุดด้วยสำลีมัดติดกับกิ่งแบบคว่ำลง มดแดงจะมากินน้ำหวานบริเวณลำลี อาหารและน้ำจะช่วยทำให้ราชินีสมบูรณ์สามารถผลิตไข่ได้มากขึ้นต่อปี

สร้างอาณาจักรให้มด

มดแดง เป็นสัตว์สังคม มีการอยู่อาศัยในขอบเขตของตนเรียกว่า อาณาจักร โดยแต่ละอาณาจักรจะครองต้นไม้ระหว่าง 1-30 ต้น เราจึงควรจำกัดขอบเขตของอาณาจักรเป็นกลุ่มๆ เพราะมดแดงต่างอาณาจักรจะกัดกัน ทำให้ต้องสูญเสียบางอาณาจักรได้ แต่ละอาณาจักรต้องแยกออกจากกันชัดเจน ภายในอาณาจักรเดียวกันควรมีการเชื่อมโยงด้วยสะพานเชื่อม เพื่อให้มดแดงเดินไปมาหาสู่กันสะดวกและรวดเร็ว ในกรณีที่ต้นไม้ที่เลี้ยงมีหลายกิ่ง หรือเลี้ยงมดแดงไว้หลายต้น ให้ใช้เชือกมัดโยงจากกิ่งหนึ่งไปยังอีกกิ่งหนึ่ง และจากอีกต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง หรือใช้กิ่งไม้แห้งพาดไปก็ได้ ถ้าต้นไม้ที่เลี้ยงยังไม่มีมดแดงก็ให้หามดแดงมาปล่อย 

liang mod daeng 06

การนำมดแดงมาปล่อย ให้หารังมดแดงนอกพื้นที่ ยิ่งไกลยิ่งดี เพื่อไม่ให้เกิดเลือดชิด (การผสมพันธุ์ในสายพันธุ์เดียวกัน) เพราะถ้าเลือดชิดจะทำให้การเกิดไข่น้อย หลังจากที่ได้รังมดแดงแล้ว ให้ทำการตัดรังมดแดงใส่ในถุงปุ๋ยรังละถุง นำรังมดแดงที่ตัดมาได้เอาปล่อยในตอนเย็น โดยมัดถุงปุ๋ยที่ใส่มดแดงไว้กับต้นไม้ ตอนเช้าค่อยให้น้ำและอาหาร มดแดงจะไต่ออกมาและสร้างรังใหม่เอง พบว่า อาณาจักรมดแดงที่ให้ปริมาณไข่มากได้ผลดีคือ อาณาจักรที่ครองต้นไม้ระหว่าง 5-8 ต้น หากเกินกว่านั้นประชากรมดจะไม่มากพอที่จะสร้างรังให้ใหญ่ได้

การกระตุ้นการออกไข่ของมดแดง

มดแดงจะเริ่มวางไข่มดแดงตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม และกลายเป็นตัวหนอนและดักแด้ (ที่เรียกว่าไข่มดแดง) ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงต้นพฤษภาคมของทุกปี ดังนั้นการเก็บไข่มดแดงจะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน รังที่ควรเก็บจะเป็นรังขนาดกลางถึงใหญ่ จากการสังเกตพบว่า รังที่มีไข่มดแดงจะห้อยหรือโน้มลง ส่วนมากเป็นรังขนาดกลางและใหญ่ที่อยู่รอบนอกเรือนยอด รังขนาดเล็กอาจมีบ้างแต่ไม่มาก

ธรรมชาติของมดแดงถ้าไม่มีฝน มดจะไม่สร้างรังและไม่ออกไข่ แต่ถ้ามีฝนเมื่อไรมดจะทำรัง แล้วเริ่มออกไข่ตามธรรมชาติ เทคนิคที่จะกระตุ้นให้มดแดงทำรังก่อนคนอื่นคือ สร้างฝนเทียม ซึ่งควรทำในช่วงฤดูหนาว และฤดูร้อน โดยจะนำเครื่องฉีดพ่นน้ำ พ่นน้ำขึ้นเป็นละอองด้านบนต้นมะม่วงในช่วงตอนเย็น โดยจะทำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อหลอกมดว่า ไกล้ถึงฤดูฝนแล้ว มดก็จะสร้างรังและวางไข่นั่นเอง

liang mod daeng 07

การเก็บไข่มดแดงไม่ควรทำลายรังให้แตกหมดทั้งรัง เพราะมดแดงจะซ่อมแซมรังใหม่และสามารถเก็บได้อีกในคราวหน้า การแหย่ไข่มดแดงให้ใช่ตระกร้าผูกติดปลายไม้ไผ่ แหย่เข้าไปในรังแล้วเขย่า มดแดงและไข่จะร่วงลงไปในตะกร้า จากนั้นนำมาเทลงในกระด้งหรือกระจาดที่โรยด้วยแป้งมันสำปะหลังบริเวณโคนต้นไม้ เกลี่ยให้มดและไข่กระจายออก มดแดงจะไต่ออกไปจากไข่ทันทีโดยไม่คาบเอาไข่ไปด้วย เหตุที่เราวางกระจาดหรือกระด้งไว้ที่โคนต้นไม้ที่เลี้ยงมดแดง ก็เพื่อให้มดแดงจะได้ไต่ขึ้นไปบนต้นไม้และเตรียมสร้างและซ่อมรังต่อไปนั่นเอง

การดูแลหลังเก็บเกี่ยวไข่มดแดง

หลังจากเก็บเกี่ยวไข่มดแดงแล้ว สภาพอาณาจักรจะอ่อนแอลงเพราะมดงานบางส่วนถูกทำลาย ทำให้ง่ายแก่การเข้าทำลายของมดอื่นที่เข้มแข็งกว่า หรือมดแดงที่มีอาณาจักรใหญ่กว่า นอกจากนี้อาหารประเภทเนื้อและน้ำจะขาดแคลนอีกด้วย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องให้อาหารและน้ำอย่างเพียงพอก่อนถึงฤดูฝน โดยปกติช่วงนี้ ต้นไม้จะไม่ค่อยสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นหน้าแล้ง อากาศร้อน จึงควรรดน้ำ ตัดแต่งกิ่งที่แห้งออก เพราะกิ่งแห้งเป็นที่อาศัยของมดชนิดอื่นที่สามารถไล่มดแดงได้

liang mod daeng 08

แนวทางการเพิ่มผลผลิตไข่มดแดง

การที่จะทำให้ผลผลิตของไข่มดแดงเพิ่มปริมาณมากขึ้น หรือมีความสม่ำเสมอจะประกอบด้วยปัจจัย 3 อย่างคือ

  • ต้นไม้ จะต้องมีความอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคมของทุกปี จะต้องแตกใบใหม่ (ยอดอ่อน) เพราะช่วงนี้มดแดงจะเร่งสร้างรังขนาดใหญ่เพื่อไว้เก็บไข่มดแดง ใบควรมีความโปร่งพอควรให้แสงแดดส่องถึง จึงควรตัดแต่งกิ่งให้เป็นทรงพุ่มคุมความสูงอย่าให้เกิน 5-6 เมตร ใบควรเรียงต่อเนื่องกัน เพราะทำให้ง่ายแก่การสร้างรังขนาดใหญ่มาก ถ้ามีใบไม่ต่อเนื่องกันหรืออยู่ห่างๆกัน จะได้รังขนาดเล็กเท่านั้น
  • อาหาร จะต้องให้ถูกช่วง กล่าวคือช่วงที่ต้องให้มาก คือ ช่วงก่อนถึงฤดูวางไข่ ตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคม ช่วงฤดูวางไข่ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน และช่วงหลังเก็บไข่มดแดง คือเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ต้องให้อาหารในปริมาณที่มากและบ่อยๆ ช่วงนี้มดแดงต้องการอาหารมากสำหรับสร้างประชากรมดให้มาก เพื่อรองรับการสร้างรังขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็จะทำให้ราชินีมดมีความสมบูรณ์ ถ้าราชินีมดสมบูรณ์จะผลิตไข่ได้มากตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การให้อาหารมากควรกระทำระหว่างเดือนกันยายน-มิถุนายน นั่นคือ ก่อนเก็บไข่มดแดง ระหว่างเก็บไข่มดแดง และหลังเก็บไข่มดแดง ช่วงฤดูฝนไม่ต้องให้บ่อยก็ได้ เพราะหาอาหารได้ง่าย อาหารที่ดี เช่น ปลาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ หรือกุ้งฝอย เป็นต้น
  • ประชากรมดแดง จะสร้างรังขนาดใหญ่มากได้ต้องมีจำนวนมากพอต่อต้น ซึ่งพิจารณาได้จากปริมาณมดแดงที่เดินตามต้น ถ้ามีการเดินน้อยไม่ต่อเนื่อง แสดงว่ายังมีปริมาณไม่มากพอ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้มดแดงเพิ่มประชากร การเพิ่มประชากรมดแดงขึ้นอยู่กับอายุของอาณาจักร และความพร้อมของราชินี โดยต้องได้รับอาหารอย่างเพียงพอแล้วจะผลิตมดแดงออกมามาก โดยเฉพาะก่อนจะถึงฤดูวางไข่มดแดง เพราะจะต้องมีมดแดงมาสร้างรังจำนวนมากเพื่อรองรับไข่มดแดง จะเห็นได้ว่า อาหารมีความสำคัญต่อการเพิ่มจำนวนประชากรมดแดง นอกจากนี้ต้องคอยดูแลอย่าให้ศัตรูธรรมชาติเข้ามารบกวนหรือไล่มดแดงออกจากต้นนั้นไป โดยเฉพาะมดต่างๆที่อาศัยตามกิ่งไม้ตาย ต้องกำจัดออกไปด้วยการตัดแต่งกิ่งแห้งนั้น

ที่มา : การเลี้ยงมดแดงเพื่อการค้า

ข้อห้ามในการเลี้ยงมดแดง

อย่าจุดไฟใต้ต้นไม้ หรือการใช้ขี้เถ้าหว่านบนต้นไม้ และไม่ควรใช้สารเคมีพ่นบริเวณใกล้เคียงที่เป็นแหล่งมดแดง

อาหารชั้นสูง (สอยจากที่สูง)

สำหรับเมนูจานเด็ดที่ถือว่าเป็น "อาหารชั้นสูง" ก็สอยมาจากที่สูงคือ ยอดไม้ ล่ะนะ "ไข่มดแดง" ที่เหล่าสายกินแสวงหาและไม่ควรพลาด ได้แก่ ยำไข่มดแดง ไข่เจียวไข่มดแดง ก้อยไข่มดแดง แกงผักหวานใส่ไข่มดแดง เป็นต้น ส่วนราคาขายไข่มดแดงนั้นต้องบอกว่าราคาดีมากที่เดียว มีราคาที่ กิโลกรัมละ 400-500 บาท บางปีราคาพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 1,000 บาท ซึ่งไข่มดแดงนั้นจะบอกว่า "มีเท่าไรก็ไม่พอขาย" เป็นคำพูดที่ไม่เกินจริงเลย

liang mod daeng 09

ไข่มดแดง เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของคนชนบทมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยในจำนวนไข่มดแดงปริมาณ 100 กรัม มีไขมัน 2.6 กรัม โปรตีน 8.2 กรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.16 กรัม และวิตามินบีสอง 4.68 มิลลิกรัม เมื่อนำมาเทียบกับไข่ไก่จัดว่าไข่มดแดงมีไขมันน้อยกว่า เนื่องจากไข่ไก่มีไขมันสูงถึง 9.65 กรัม โปรตีน 12.77 กรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.17 มิลลิกรัม และวิตามินบีสอง 0.37 มิลลิกรัม นอกจากนี้ ตัวมดแดงมีกรดน้ำส้มให้รสเปรี้ยว ใช้แทนมะนาวหรือน้ำส้มสายชูได้อีกด้วย

redline

backled1