pabung pataam

ป่าบุ่งป่าทาม เป็นคำที่คนเก่าๆ ในอดีตคุ้นชิน แต่เยาวชนคนรุ่นใหม่อาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อน หรือเคยได้ยินมีการกล่าวถึงแต่ก็ไม่เข้าใจ ทำหน้ายุ่งๆ ไม่เข้าใจว่าคือ "ป่า" อะไรกัน เคยได้ยินแต่ ป่าดงดิบ ป่าไม้เบญจพรรณ ฯลฯ วันนี้เลยนำมาเสนอให้ทราบกัน เพราะ "ป่าบุงป่าทาม" คือป่าที่ควรอนุรักษ์และให้ความสนใจกันให้มาก เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ในอดีต ไม่ต่างจาก "ดอนปู่ตา" ที่ได้สูญหายไปจากชนบทอีสานนั่นเอง

"ป่าบุ่งป่าทาม" นิยามและความหมาย

การตั้งถิ่นฐานของบรรพบุรุษชาวไทย ไม่ว่าจะอยู่ในภูมิภาคใดก็ตาม นิยมเลือก "พื้นที่ราบริมแม่น้ำลำธาร" ในการตั้งบ้านเรือน ชุมชน แล้วขยายตัวจนเป็นเมืองขนาดใหญ่จนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ อย่างมากมายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาทิ การสัญจรไปมาทางน้ำ มีน้ำกินน้ำใช้ อาหารจากสัตว์น้ำ พืชผัก ยาสมุนไพร ไม้ใช้สอยสำหรับสร้างบ้านเรือน ต่อเรือ ต่อรถ หรือ ต่อเกวียน ล้วนสามารถหาได้จากป่าตามริมน้ำ นอกจากนี้ พื้นที่ริมน้ำยังมีความอุดมสมบูรณ์ของ "ดินตะกอน" ที่ถูกน้ำพัดพามาพร้อมกับแร่ธาตุอันเป็นปุ๋ยที่ดีเหมาะแก่การเพาะปลูกด้วย

pabung pataam 01

"ป่าบุ่งป่าทาม" เป็น ป่าไม้ประเภทหนึ่ง อยู่ในเขตที่ราบลุ่มใกล้แม่น้ำลำธาร ที่มีน้ำท่วมยาวนานเป็นประจำทุกปี ในอดีตปรากฏมีอยู่ทั่วประเทศ พบมากในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ปัจจุบันในภาคกลางแทบจะไม่เหลือป่าชนิดนี้อยู่อีกแล้ว สำหรับในภาคอีสานยังพบได้ แต่มีจำนวนน้อยมากและขาดผู้เหลียวแล "ป่าบุ่งป่าทาม" เป็นป่าที่อยู่ใกล้ชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตที่ราบลุ่มมากที่สุด ชาวอีสานในเขตนี้จึงมีความคุ้นเคย รู้จักชื่อเรียกพรรณไม้ต่างๆ และเรียนรู้ประโยชน์และโทษของพืช สั่งสม สืบต่อกันมาหลายต่อหลายรุ่น

บุ่ง น. ที่ลุ่มติดกับลำน้ำ ฤดูน้ำมีน้ำขังอยู่คล้ายบึงหรือหนอง เรียก บุ่ง เช่น บุ่งใหม บุ่งกาแซว บุ่งค้า. seasonal marsh which adjoins stream or river.

ทาม น. นาที่ลุ่มซึ่งมีตมเลน เรียก นาทาม นาทามเป็นนาที่ดี ปีใดน้ำไม่ท่วมข้าวปลาจะอุดมสมบูรณ์. lowlying field with abundant water. "

สารานุกรม อีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย พ่อ ดร.ปรีชา พิณทอง

กระทั่งสภาพเศรษฐกิจและสังคมในช่วงประมาณ 50 ปีที่ผ่านมานี้ มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ป่าไม้และพรรณพืชท้องถิ่นในธรรมชาติเริ่มถูกทำลาย กลายสภาพไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชน คนไทยในยุคประเทศกำลังพัฒนา ลดการพึ่งพาการใช้ประโยชน์จากพรรณพืชท้องถิ่นลง หันมาปลูกพืชเกษตรเพื่อขายในตลาด ใช้ยารักษาโรคจากสารเคมีสังเคราะห์ หรือเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ทำมาจากพลาสติกและโลหะ องค์ความรู้พื้นบ้านที่สืบทอดต่อกันมาแต่โบราณ จึงกำลังค่อยๆ เลือนหายไป เมื่อมีการใช้ทรัพยากรมากขึ้น เกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่มุ่งให้ประชาชนในทุกหนแห่งเร่งทำการเกษตรเพื่อการขายให้ได้มากๆ พื้นที่ป่าถูกบุกรุกทำลาย ขยายแหล่งน้ำให้เพียงพอ เกิดการสร้างเขื่อนระบบชลประทานเก็บกักน้ำ และพื้นที่เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำนั้นก็รุกล้ำกลืนกินเอาป่าบุ่งป่าทามให้หดหายไปด้วยเช่นกัน

pabung pataam 02

ป่าบุ่งป่าทาม (Lowland floodplain forest) หรือในชื่อทางราชการว่า "ป่าบึงน้ำจืด" (Freshwater swamp forest) เป็นคำในภาษาไทยถิ่นอีสาน นำมาใช้เรียกสังคมพืชชนิดหนึ่งที่ปกคลุมพื้นที่บุ่งทาม ซึ่งมีน้ำท่วมซ้ำซากยาวนานทุกๆ ปี สังคมพืชนี้ไม่จำเป็นต้องมีเฉพาะป่าไม้ปกคลุมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสังคมพืชในบึงทุ่งหญ้า หรือไม้พุ่ม ที่ขึ้นในพื้นที่ลุ่ม ชื้นแฉะ เข้าไว้ด้วยกัน โดยสภาพภูมิประเทศแบบ พื้นที่บุ่งทาม (lowland floodplain) จัดว่าเป็นภูมิประเทศหนึ่งในเขต ที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) ที่มีพื้นที่ลุ่มต่ำกว่าส่วนอื่นๆ และมีร่องรอยทางน้ำเปลี่ยนทิศทางเป็นจำนวนมาก จึงเกิดน้ำท่วมได้ง่ายเป็นประจำมากกว่าที่ราบน้ำท่วมถึงส่วนอื่นๆ ที่อยู่ระดับสูงขึ้นไป

ป่าบุ่งป่าทาม เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsarsites) เป็นแหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และหล่อเลี้ยงชีวิตคนในลุ่มน้ำ ภาคอีสานเรียก "ป่าบุ่งป่าทาม" แต่ในทางภาคใต้จะเรียกว่า "ป่าพรุ" หากมีการอนุรักษ์พิ้นที่ชุ่มน้ำในบริเวณต่างๆ ของประเทศให้มีความสมบูรณ์ ทั้งทางด้านพืชพันธุ์ไม้ สัตว์น้ำ ให้คงอยู่ ย่อมเป็นประโยชน์ต่อทุกคนทั้งในชุมชนท้องถิ่น และรวมถึงในชุมชนเมืองด้วย เพราะความอุดมสมบูรณ์ที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลดีแก่ทุกคนในประเทศเรา นอกจากปริมาณอาหารที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแล้ว ยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกมากมายที่จะได้รับ (อ่านประโยชน์ท้ายบทความ)

"บุ่ง" เป็นคำในภาษาไทลาวและไทกลางบางท้องถิ่น หมายถึง แหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ หรือพื้นที่แอ่งกระทะที่มีน้ำท่วมขังเกือบตลอดปี หรือตลอดปีก็ได้ ในความหมายเดียวกันคือ บึง หรือ หนอง พื้นที่บุ่งในทางป่าไม้ยังรวมไปถึงแหล่งน้ำตามธรรมชาติชนิดต่างๆ ในเขตที่ราบน้ำท่วมถึง ซึ่งจะถูกปกคลุมด้วยพืชน้ำล้มลุก หญ้า และกก เราเรียกว่า "สังคมพืชในบึง" หรือ "ป่าบุ่ง"

pabung pataam 04

"ทาม" เป็นคำในภาษาไทลาว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ตรงกับคำว่า "ระนาม" ในภาษาไทโคราช และ "ระเนียม" ในภาษาเขมรอีสานใต้ หมายถึง บริเวณพื้นที่ราบ-ค่อนข้างราบ ทั้งสองข้างลำน้ำที่มีน้ำท่วมขังยาวนานเฉพาะในฤดูน้ำหลาก พื้นที่ทามจะถูกน้ำท่วมทุกปีในช่วงฤดูน้ำหลากล้นตลิ่ง ยาวนาน 1 - 3 เดือน ความสูงของระดับน้ำในทาม 1 - 5 เมตร น้ำจะเริ่มหลากในช่วงกลาง-ปลายฤดูฝน และลดลงต่ำกว่าตลิ่งประมาณต้นฤดูหนาว หลังจากนั้นทามจะแห้ง มีเพียงน้ำขังอยู่ตามบุ่งเท่านั้น บริเวณทามจะถูกปกคลุมด้วยป่าไม้ที่เป็นพรรณไม้ต้น ไม้พุ่ม และเถาวัลย์ที่ทนทานต่อน้ำท่วมได้ดี เรียกว่า "ป่าทาม" "ป่าระนาม" หรือ "ไปรระเนียม" สำหรับรายละเอียดของระบบนิเวศป่าชนิดนี้จะได้กล่าวในลำดับต่อไป

ป่าบุ่งป่าทาม มีกระจายอยู่ทั่วภาคอีสาน ตามริมแม่น้ำและลำห้วยสาขาที่มีน้ำท่วมซ้ำซากและยาวนาน เช่น แม่น้ำมูล แม่น้ำชี แม่น้ำสงคราม ห้วยน้ำโมง ห้วยน้ำก่ำ ลำเซบาย เป็นต้น ในอดีตประมาณว่าเคยมีป่าบุ่งป่าทามในภาคอีสานถึงประมาณ 4 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนสภาพไปเป็นพื้นที่ถูกจับจองทำนา ปลูกยูคาลิปตัส เหมืองดูดทราย ขุดบ่อดิน จนเหลืออยู่ประมาณ 1.5 แสนไร่ ป่าที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม ถูกตัดไม้ใหญ่ออกไป และมีการเลี้ยงสัตว์มากจนเกินไป ขาดผู้เหลียวแลเอาใจใส่ ด้วยสถานภาพเป็นที่สาธารณะประโยชน์ที่ใครๆ ก็เข้ามาใช้ประโยชน์ได้ จนแทบจะไม่เคยเห็นว่าป่าบุ่งป่าทามที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์ที่แท้จริงเป็นเช่นไร

บางคนมองว่า ป่าบุ่งป่าทามเป็นเพียงพื้นที่รกร้างที่มีไม้ไผ่ ไม้พุ่ม เถาวัลย์รก หรือเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งมีน้ำท่วมซ้ำซากยากที่ต้นไม้ใหญ่จะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นป่าหนาแน่นได้เช่นป่าบกทั่วๆ ไป นั่นไม่ผิดอะไรสำหรับความเห็นของคนที่อายุน้อยกว่า 50 ปีลงมา ที่เห็นสภาพป่าเป็นแบบนี้มาตั้งแต่จำความได้ แล้วความเป็นจริงป่าบุ่งป่าทามที่สมบูรณ์ควรจะเป็นอย่างไร ในความเห็นของผู้เขียน?

pabung pataam 03

ท่านผู้อ่านสามารถค้นหาความจริงได้ โดยลองเดินเข้าไปในป่าบุ่งป่าทามแล้วจะพบว่า มีกล้าไม้และตอไม้ต้นที่แตกแขนงจำนวนมาก รอการฟื้นฟูขึ้นมาเป็นไม้ใหญ่ ต้นไม้เหล่านี้เราเคยเห็นทั่วไปตามท้องทุ่งนาในเขตที่ราบน้ำท่วมถึงเกือบทั่วประเทศไทย ว่าธรรมชาติของมันมีความสูงและต้นใหญ่ได้แค่ไหน หรือท่านที่เคยไปเที่ยว "โตนเลสาบ" ประเทศกัมพูชา ก่อนที่เรือจะเข้าเขตพื้นน้ำกว้างใหญ่ เราจะล่องเรือผ่านป่าที่มีเรือนยอดทึบหนาแน่น สูง 7 - 15 เมตร สภาพคล้ายป่าชายเลน นั่นเองคือ "ป่าบุ่งป่าทาม" ที่สมบูรณ์ ที่ประเทศไทยเราก็เคยมี

พรรณไม้ในป่าบุ่งป่าทามมี 232 ชนิดจากการศึกษานี้ ประมาณ 30 % (ไม่รวมพืชน้ำ) เป็นพืชที่มีวิวัฒนาการมาคู่กับระบบนิเวศที่มีน้ำท่วมซ้ำซาก หรือเรียกว่ามีความเฉพาะตัวกับระบบนิเวศป่าบุ่งป่าทาม ส่วนใหญ่มีการเจริญเติบโตรวดเร็ว เพื่อยืดลำต้นให้สูงพ้นระดับน้ำท่วม ทนต่อน้ำท่วมขังได้นาน มีผลสุกและงอกต้นกล้าออกมาสัมพันธ์กับฤดูน้ำหลาก-น้ำลง กล้าไม้บางชนิดสามารถทนทานจมอยู่ใต้น้ำได้นานตลอดฤดูก็มี พืชบางชนิดเป็นพืชหายากใกล้สูญพันธุ์ของประเทศไทย เช่น กะสิน/รวงผึ้ง (Schoutenia glomerata subsp. peregrina) ที่กำลังนิยมปลูกกันมาก แต่แทบจะไม่มีใครทราบเลยว่า เคยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าบุ่งป่าทามในเขตภาคกลาง ที่ในธรรมชาติได้สูญพันธุ์ไปเกือบหมดแล้ว

pabung pataam 07

แห่น้อย (Cynometra craibii) และ เขทาม (Maclura thorelii) พืชทั้ง 3 ชนิดพบในลุ่มน้ำสงคราม ซึ่งพบเพียงไม่กี่ต้น ยกเว้น ยอพญาไม้ (Morinda nana) พบมาก แต่พบเฉพาะในลุ่มน้ำสงครามตอนล่างเท่านั้น พรรณไม้บางชนิดชาวอีสานพบเห็นได้ทั่วไป หรือกินเป็นอาหารได้ แต่น่าประหลาดใจสำหรับนักพฤกษศาสตร์ที่ชนิดเหล่านั้น มีความสำคัญเป็น พืชถิ่นเดียวของภาคอีสาน (endemic species of Northeastern Thailand) หรืออาจพบเข้าไปในฝั่งลาวใกล้ชายแดนไทยอีกด้วย เช่น เปือยน้ำสงคราม (Lagerstroemia spireana), มันแซง (Dioscorea oryzetorum), อินถวาน้อย (Kailarsenia lineata), และ ตีนจ้ำ (Ardisia aprica) นอกจากนี้ยังพบว่า ต้นแสงคำทาม (Terminalia sp.) และ ปอทาม (Colona sp.) เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกที่รอการตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ ซึ่งพบเฉพาะในเขตลุ่มน้ำสงครามเท่านั้นอีกด้วย

ป่าทามราษีไศล ศรีสะเกษ รายการ อยู่ดีมีแฮง ThaiPBS

การพบพืชสำคัญจำนวนมากในป่าบุ่งป่าทามเช่นนี้ แสดงให้เห็นความสำคัญของระบบนิเวศที่มีความเฉพาะตัว หากยังไม่มีการอนุรักษ์ป่านี้ไว้ ประเทศไทยคงต้องสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอีกเป็นจำนวนมาก และตามมาด้วยการเสียความสมดุลของธรรมชาติต่อไป

ความเสื่อมถอยของทรัพยากรสัตว์น้ำและปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นในระบบนิเวศตามลำน้ำต่างๆ ของภาคอีสานมีหลายสาเหตุที่เกี่ยวพันกันอยู่ ทรัพยากรดิน น้ำ อากาศ ป่าไม้ สัตว์ และมนุษย์ ต่างพึ่งพาอาศัยกัน การใช้ประโยชน์ของมนุษย์ที่มากเกินพอดีต่ออัตราการฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติของทรัพยากรทั้ง 5 ภายในลุ่มน้ำภาคอีสาน จึงแสดงออกมาให้เห็นในแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ อย่างน้อยป่าบุ่งป่าทามที่เหลืออยู่ในพื้นที่สาธารณะประโยชน์ที่ยังไม่มีการจับจอง ก็ควรจะรักษาสภาพป่าไว้ แล้วดูแลให้ฟื้นฟูตัวเองกลับมาสมบูรณ์เหมือนในอดีต เพื่อให้ป่าสามารถให้ผลตอบแทนเป็นบริการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อมนุษย์ และยังสัตว์น้ำได้ กลับมาอุดมสมบูรณ์ขึ้น เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา กบ เขียด ให้ชาวอีสานได้พึ่งพาเป็นอาหารพื้นบ้านรสชาติถูกปากตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน

ประโยชน์ของป่าบุ่งป่าทาม

ชาวอีสานจำนวนมากอาศัยอยู่ในเขตที่ราบน้ำท่วมถึง ซึ่งมิน่าจะมีคนไม่รู้จัก ป่าทามหรือป่าบุ่งป่าทามอย่างแน่นอน คนที่เคยเข้าไปทำมาหากินหรือเที่ยวไปในป่าแห่งนี้ จะต้องได้อะไรติดไม้ติดมือกลับออกมาทุกคน โดยเฉพาะแม่บ้านชาวอีสาน ป่าบุ่งป่าทามเปรียบเสมือนตลาดสดท้ายหมู่บ้านเปิดรออยู่ตลอดเวลา มีทั้งผักป่าพื้นบ้านอันปลอดสารพิษ ผลไม้ป่ารสแซบ และกุ้ง หอย ปู ปลา ที่หาได้ตลอดทั้งปี นี้เป็นสิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่นึกขึ้นมาได้ เมื่อคิดถึงประโยชน์จากการมีป่าบุ่งป่าทาม ประโยชน์ของป่าชนิดนี้มิได้มีเพียงแนวกิน แนวใช้ ที่เราได้รับอยู่เป็นประจำเท่านั้น ยังมีประโยชน์ที่เห็นเป็นรูปธรรมจับต้องได้จากข้อมูลการศึกษา และที่บางท่านยังมองไม่เห็นว่าสรรพสิ่งต่างๆ ล้วนเกี่ยวพันกันในระบบนิเวศที่ราบน้ำท่วมถึงแห่งนี้

pabung pataam 05

ประโยชน์ทางตรง

  • เป็นอาหารของชุมชน พบพืชประมาณ 70 ชนิด ที่ใช้เป็นผักแนม 40 ชนิดใช้ทำอาหารคาว-หวาน และอีก 40 ชนิด เป็นผลไม้ป่า นอกจากนี้ยังมีแหล่งโปรตีนจากสัตว์น้ำและสัตว์บกอีกมากมาย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า แหล่งน้ำในป่าบุ่งป่าทามเป็นแหล่งอาศัยของปลา และเป็นพื้นที่หาปลาที่สำคัญมาก
  • เป็นพืชสมุนไพร มีพืชที่ใช้เป็นยาสมุนไพรได้มากถึง 96 ชนิด (จากพืชที่นำมาสอบถามประมาณ 150 ชนิด) ส่วนใหญ่เป็นยาในกลุ่มอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อ และกระดูก, กลุ่มยาบำรุงกำลัง-ธาตุ แก้อ่อนเพลีย, กลุ่มยาบำรุงน้ำนมและการอยู่ไฟ และ กลุ่มยาแก้ท้องเสีย-ท้องร่วง ซึ่งกลุ่มอาการเหล่านี้เป็นความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเป็นประจำในวิถีชีวิตของคนทั้งในชนบทและในเมือง
  • เป็นเชื้อเพลิง มีไม้ต้น ไม้พุ่ม หรือไม้เถาขนาดใหญ่ประมาณ 50 ชนิด ที่ใช้เป็นไม้ฟืนหรือเผาถ่านได้ เพราะมีไม้โตเร็วเป็นจำนวนมากและหาง่าย การใช้ฟืนและถ่านในการหุงต้มอาหาร หรือย้อมผ้าเป็นสิ่งจำเป็นในชนบท นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังทำให้รสชาติอาหารที่ดีกว่าการใช้แก๊สในการหุงต้ม
  • เป็นไม้ก่อสร้างหรือทำเครื่องมือและวัสดุต่างๆ ไม้ในป่าบุ่งป่าทาม มีประมาณ 30 ชนิด ที่เป็นไม้เนื้อแข็งแรง หรือแข็งแรงปานกลาง ที่ใช้ในการก่อสร้าง และทำเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และอีกประมาณ 70 ชนิด ให้วัสดุในการทำงานหัตถกรรม งานประดิษฐ์เส้นใย สี และสารฟอกย้อม
  • เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ พวกปศุสัตว์วัว ควาย แกะ หรือเป็ด ได้เข้ามาหากินพืชหรือสัตว์ขนาดเล็ก ในพื้นที่ป่าบุ่งป่าทาม ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ ลดความเครียดของสัตว์ และลดปัญหาการจัดการโรงเรือนเลี้ยง

พื้นที่ทามกับปลาแม่น้ำมูน : Mekong Watch

ประโยชน์ทางอ้อม

  • เป็นที่อาศัยและหากินของสัตว์ป่าตามธรรมชาติ ได้เข้ามาอาศัยหลบภัย หาอาหาร และผสมพันธุ์วางไข่ โดยเฉพาะพวกปลา ที่เป็นอาหารหลักอย่างหนึ่งที่ชาวอีสานนิยมกิน ยามฤดูน้ำหลากปลาจะเข้ามาวางไข่ตามพื้นที่น้ำท่วมในบุ่งทาม เพราะน้ำจะอุ่นกว่าและมีกระแสน้ำไหลช้ากว่าน้ำในแม่น้ำ เหมาะสมต่อการวางไข่ เป็นที่หลบภัยของลูกปลาตามพุ่มไม้ กอหญ้า และได้รับอาหารจากพืชน้ำ สาหร่าย ไม้พุ่มและไม้ต้นที่ให้ผล/ใบร่วงหล่น หรือแมลงต่างๆ ที่อยู่บนต้นไม้เป็นอาหารให้แก่ปลาอีกด้วย การลดลงของปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติจึงมีสาเหตุหลักส่วนหนึ่งมาจากการทำลายป่าบุ่งป่าทามอย่างแน่นอน
    นอกจากนี้สภาพแวดล้อมที่มีพร้อมทั้งพรรณไม้ที่หลากหลาย และมีพืชน้ำล่องลอยอยู่ในหนองบึง ป่าบุ่งป่าทามจึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการทำรังวางไข่ของนกและนกน้ำอย่างยิ่ง ซึ่งมูลและเศษอาหารของนกก็จะเป็นอาหารแก่ปลาต่อไป หากนกไม่มีที่อาศัยแล้วก็จะไปทำรังในเขตบ้านเรือนสร้างความรำคาญและเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคระบาดต่อไปอีก
  • ป้องกันการพังทลายและยึดตลิ่ง พืชในป่าบุ่งป่าทามมีการปรับตัวให้ทนทานต่อความรุนแรงของกระแสน้ำได้ดี มีการกระจายพันธุ์เข้าปกคลุมตามส่วนต่างๆ ของพื้นที่บุ่งทามอย่างรวดเร็ว ช่วยให้หน้าดินและชายฝั่งมีความแข็งแรงตามธรรมชาติ เพิ่มการตกตะกอนได้ดีขึ้น และชะลอการเปลี่ยนทิศของทางน้ำ เช่น กกหญ้า ไม้ล้มลุก ไม้พุ่ม ไม้เลื้อยจะคลุมอยู่ตามชายฝั่ง/ตลิ่ง ไม้ต้นและไม้พุ่มจะปกคลุมหนาแน่นตามคันดินธรรมชาติ ในเขตทุ่งหญ้าหรือหนองน้ำ พรรณไม้น้ำต่างๆ จะช่วยจับตะกอนและชะลอกระแสน้ำทำให้น้ำตกตะกอนและใสเร็วขึ้น
  • เป็นพื้นที่รับน้ำหรือแก้มลิง พื้นที่บุ่งทาม เป็นที่ลุ่มต่ำและแอ่งกระทะมากที่สุดในเขตที่ราบน้ำท่วมถึง ดังนั้นจึงมีพื้นที่รองรับน้ำหลากได้เป็นจำนวนมากกว่าพื้นที่ราบที่อยู่สูงขึ้นไป น้ำที่ล้นตลิ่งจะเข้าท่วม กุด ร่อง หนอง และทาม ตามลำดับความลึก/ความจุของอ่างต่างๆ ก่อนที่จะล้นไปสู่ทุ่งราบด้านบนซึ่งมักจะเป็นนาข้าว ดังนั้นการเข้าไปถมที่ให้สูงขึ้นหรือการสร้างคันกันน้ำท่วมในเขตนี้
    จึงเป็นการลดความจุของแก้มลิง และทำให้ระดับน้ำในทุ่งเพิ่มสูงขึ้นได้หรือท่วมสูงขึ้นจนถึงเขตที่อยู่อาศัย
  • เป็นแหล่งฟอกอากาศและบำบัดน้ำเสีย เป็นที่ทราบชัดเจนแล้ว สำหรับการทำหน้าที่ของพืชต่อการฟอกอากาศ ยิ่งป่าไม้ที่มีพรรณพืชหนาแน่นและโตเร็วด้วยยิ่งแล้ว ก็จะทำให้มีอัตราการฟอกอากาศเสียให้กลับมาเป็นอากาศดี และช่วยตรึงธาตุคาร์บอนไว้ในเนื้อไม้ได้มากยิ่งขึ้น ส่วนพรรณไม้น้ำนอกจากจะช่วยให้น้ำขุ่นตกตะกอนเร็วแล้ว ยังช่วยเติมออกซิเจนในน้ำ และใช้ส่วนของราก ลำต้นและใบ ช่วยดูดสารเคมีและแร่ธาตุต่างๆ ไว้อีกด้วยสำหรับต้นไม้หรือพุ่มไม้ต่างๆ จะช่วยดักเศษซากพืช และขยะจากชุมชุน ที่ลอยตามน้ำมาให้เกาะติดอยู่ตามกิ่งก้าน นอกจากนี้การเสียดสีของกระแสน้ำกับกิ่งและลำต้น ยังช่วยเพิ่มฟองอากาศเติมลงในน้ำอีกด้วย

คนเยอราษีฯ กินทามน้ำมูล รายการ อยู่ดีมีแฮง ThaiPBS

แรมซาร์ไซต์ในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยเราได้ร่วมลงนามเป็นภาคีใน "อนุสัญญาแรมซาร์ไซต์" เป็นลำดับที่ 110 ของโลก ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ ด้วยการสนับสนุนการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด ปัจจุบันไทยมีพื้นที่แรมซาร์ไซต์ 15 แห่ง มีพื้นที่รวมกว่า 2,515,165 ไร่ ได้แก่

  • พรุควนขี้เสี้ยน จังหวัดพัทลุง
  • บึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ (เดิมอยู่ในจังหวัดหนองคาย ขณะที่ประกาศ)
  • ดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม
  • ปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่
  • หนองบงคาย จังหวัดเชียงราย
  • พรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส
  • หาดเจ้าไหม เกาะลิบง จังหวัดตรัง
  • แหลมสน ปากแม่น้ำกระบุรี ปากคลองกะเปอร์ จังหวัดระนอง
  • หมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • อ่าวพังงา จังหวัดพังงา
  • กุดทิง จังหวัดบึงกาฬ
  • อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  • เกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • เกาะระ-เกาะพระทอง จังหวัดพังงา

pabung pataam 10

  • แม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม ประกาศล่าสุด 13 สิงหาคม 2563new1234

ในจำนวนนี้มีในภาคอีสานเพียง 3 แห่ง คือที่ บึงกาฬ และนครพนม ทั้งๆ ที่ในภาคอีสานมีพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามอีกมากมาย เช่น ป่าบุ่งป่าทามที่ลุ่มแม่น้ำสงคราม ในเขตจังหวัดนครพนม ที่กำลังเร่งดำเนินการอนุรักษ์ และทำความเข้าใจกับราษฎรในพื้นที่ให้เข้าใจว่า จะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการทำมาหาเลี้ยงชีพในเขตอนุรักษ์ ส่วนในลุ่มแม่น้ำมูล แม่น้ำชี ก็มีป่าบุ่งป่าทามหลายแห่ง แต่ยังไม่เข้าเกณฑ์ในการเป็น เขตอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้(Ramsarsites) เพราะมีสิ่งที่เรียกว่า "ความเจริญ" หรือ "การพัฒนา" มาขวางกั้น คือ การที่รัฐเข้าไปสร้างเขื่อนขวางกั้นลำน้ำ ทำให้ป่าบุ่งป่าทามมีผลกระทบเกิดขึ้นในทันที เช่น ที่บริเวณ "เขื่อนราษีไศล" จังหวัดศรีสะเกษ

 บทความนี้เรียบเรียงจาก : ป่าบุ่งป่าทาม มูลมังแผ่นดินอีสาน โฮงอาหารครัวไทบ้าน
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ข่าวดีล่าสุด

แม่น้ำสงครามตอนล่าง ขึ้นทะเบียนเป็น แรมซาร์ไซต์ ลำดับที่ 2420 ของโลก และลำดับที่ 15 ของประเทศไทย มีเนื้อที่ 5,504.5 เฮกตาร์ (34,381 ไร่) มีขอบเขตเริ่มตั้งแต่ ปากน้ำบ้านไชยบุรี ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน ไปจนถึงบ้านปากยาม ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม ความยาวทั้งสิ้น 92 กิโลเมตร โดยการกำหนดพื้นที่เสนอเป็นแรมซาร์ไซต์นี้ ครอบคลุมเฉพาะส่วนที่เป็นตัวแม่น้ำสงครามตอนล่าง และพื้นที่ป่าบุ่งป่าทาม ที่ติดกับสองฝั่งแม่น้ำ และพื้นที่ป่าสาธารณะ หรือป่าบุ่งป่าทามที่ผู้นำชุมชนและคณะกรรมการหมู่บ้านเห็นชอบ และไม่มีพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่เอกสารสิทธิ์ของราษฎร

pabung pataam 09

ความสำคัญที่ทำให้ลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ เพราะมีระบบนิเวศที่มีความสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ที่มีความหายาก (เกณฑ์ 1) ได้แก่ ป่าบุ่งป่าทามผืนใหญ่ ที่มีความสำคัญในเชิงความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ในระบบนิเวศ เป็นแหล่งที่อยู่ของพันธุ์ปลาน้ำจืด ซึ่งบางชนิดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากตลอดลำแม่น้ำโขงของไทย ไม่มีป่าบุ่งป่าทามให้ปลาได้ใช้เป็นสถานที่อนุบาลสัตว์น้ำ และในลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง จะมีเพียงป่าบุ่งป่าทามอยู่ในลุ่มน้ำสงครามตอนล่างเพียงแห่งเดียวเท่านั้น จึงเป็นเสมือนมดลูกของพันธุ์สัตว์น้ำทุกชนิด

เป็นแหล่งประมงพื้นบ้าน ที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของคนในพื้นที่ ตลอดจนเป็นแหล่งอพยพเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ของพันธุ์ปลาจากแม่น้ำโขง ในช่วงฤดูน้ำหลาก (เกณฑ์ 7 และ 8) พบความหลากหลายของพันธุ์ปลาอย่างน้อย 124 ชนิด พันธุ์พืช 208 ชนิด รวมทั้งมีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศได้ถูกกำหนด และตั้งชื่อตามชื่อสถานที่จัดให้มีการประชุม เพื่อรับรองอนุสัญญา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2514 ณ เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน อนุสัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาล ซึ่งกำหนดกรอบการทำงานสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำ อันเป็นการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกน้ำ

ต่อมา ขอบเขตการดำเนินการของอนุสัญญาฯ ได้ขยายครอบคลุมกว้างขึ้น โดยเน้นการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด ในทุกๆ ด้าน ตลอดจนเพื่อยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำในโลก โดยมีพันธกิจที่สำคัญในการดำเนินงานระดับชาติ โดยความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกภูมิภาคของโลก โดยอนุสัญญามีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2514 และเพื่อให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ จึงได้กำหนดให้ทุกวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาแรมซาร์เป็นลำดับที่ 110 มีพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ (Ramsarsite) เฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน คือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ กุดทิง จังหวัดบึงกาฬ และแม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม

pabung pataam 08

ใบประกาศรับรองพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม

ที่มา : ข่าว ThaiPBS 15 พฤษภาคม 2563

redline

backled1