heet m 07

บุญเดือนเจ็ด

ฮีตหนึ่งนั้น พอเมื่อเดือนเจ็ดแล้วจงพากันบูชาราช ฝูงหมู่เทพเหล่านั้นบูชาแท้สู่ภาย ตลอดไปฮอดอ้ายอาฮักษ์ใหญ่มเหสัก ทั้งหลักเมืองสู่หนบูชาเจ้า พากันเอาใจตั้งทำตามฮีตเก่า นิมนต์สังฆเจ้าขำระแท้สวดมนต์ ให้ฝูงคนเมืองนั้นทำกันอย่าได้ห่าง สูตรชำระเมืองอย่าค้างสิเสีย เศร้าต่ำศูนย์ ทุกข์สิแล่นวุ่นๆ มาโฮมใส่เต็มเมือง มันสิเคืองคำขัดต่ำลงศูนย์เศร้า ให้เจ้าทำตามนี้ แนวเฮาสิกล่าว จึงสิสุขอยู่สร้างสวรรค์ฟ้าเกิ่งกัน ทุกข์หมื่นฮ้อยซั้นบ่มีว่าพาน ปานกับเมืองสวรรค์ สุขเกิ่งกันเทียมได้ "

ประเพณีบุญเดือนเจ็ด หรือ บุญซำฮะ เป็นงานบุญที่ชาวอีสานจะจัดงานประเพณีขึ้น มีจุดประสงค์เพื่อ ปัดรังควานและขับไล่เสนียดจัญไร ตลอดถึงเหล่าภูติผีปีศาจหรือสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากหมู่บ้าน คำว่า "ซำฮะ" ก็คือ "ชำระ" ที่หมายถึง การล้างให้สะอาด บุญซำฮะ อาจจะเรียกว่าเป็น บุญเบิกบ้าน หรือ บุญบ้าน ซึ่งในงานบุญนี้นอกจากจะทำพิธิขับไล่สิ่งชั่วร้ายแล้ว ยังต้องมีการทำพิธีบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่หมู่บ้านและประชาชน

boon sum ha 1

ด้วยความเชื่อตามตำนานอันนี้ ชาวอีสานจึงได้จัดให้มี ประเพณีบุญซำฮะ ขึ้นในเดือนเจ็ดเป็นประจำทุกปี ในการจัดงานบุญซำฮะหรือบุญเบิกบ้าน ชาวบ้านจะทำบริเวณพิธีด้วยการนำ ต้นกล้วยมาสี่ต้น ทำเป็นเสา ผูกยึดด้วยสายสิญจ์ และจะมีการโยงสายสิญจ์ไปยังบ้านทุกหลังในหมู่บ้าน แล้วนิมนต์มาเจริญพระพุทธมนต์ นอกจากนี้จะมีการนำหินเข้าพิธีเมื่อปลุกเสกแล้ว พระหรือพราหมณ์ก็จะนำหินที่ปลุกเสกไปหว่านทั่วหมู่บ้าน เพื่อปัดรังควาน ในปัจจุบัน บางหมู่บ้านที่มีขนาดใหญ่ชาวบ้านจะนำหินใส่ถุงเขียนชื่อตนเอง เมื่อเสร็จพิธีก็จะมารับกลับไปหว่านที่บ้านของตนเอง บ้างก็นำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้านของตนไปเข้าพิธีเพื่อสูตร หรือ ปลุกเสก โดยพระสงฆ์ร่วมด้วย

เรื่องเล่าเกี่ยวกับบุญซำฮะ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ เมืองไพสาลี เป็นยุคเข็ญ เกิดทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง ฟ้าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล สรรพสิ่งต่างก็พากันเจ็บป่วยล้มตาย ด้วยโรคห่า หรือ อหิวาตกโรค ชาวบ้านที่ยังมีชีวิตอยู่จึงไปนิมนต์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อมาปัดเป่าทุกข์ภัย พระพุทธองค์จึงเสด็จมาพร้อมกับพระสงฆ์จำนวน 500 รูป กว่าพระองค์จะเดินทางมาถึงเมืองไพสาลีก็ใช้เวลานานถึง 7 วัน เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงพร้อมคณะสงฆ์ก็เกิดฝนห่าแก้วตกลงมาอย่างหนัก จนน้ำท่วมเมืองไพสาลีสูงถึงหัวเข่า แล้วน้ำก็ไหลพัดพาเอาซากศพต่างๆ ลงสู่แม่น้ำจนหมดสิ้น พระองค์จึงทำน้ำพระพุทธมนต์ให้พระอานนท์ไปประพรมทั่วเมือง นับตั้งแต่บัดนั้นโรคร้ายก็สูญหายไปจากบ้านเมือง

boon sum ha 2

บุญซำฮะ นิยมทำกันในเดือน 7 จัดทำได้ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม การชำฮะ (ชำระ) สะสางสิ่งสกปรกโสโครกให้สะอาด ปราศจากมลทิลโทษ หรือความมัวหมอง เรียกว่า การซำฮะสิ่งที่ต้องการทำให้สะอาด นั้นมี 2 อย่างคือ

  1. ความสกปรกภายนอก ได้แก่ ร่างกาย เสื้อผ้า อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย และ
  2. ความสกปรกภายใน ได้แก่ จิตใจเกิดความความโลภมากโลภา โกรธหลง เป็นต้น

แต่สิ่งที่จะต้องชำระในที่นี้คือ บุญชำระล้างสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไร อันจะทำให้เกิดข้าศึกมาราวีทำลาย เกิดผู้ร้ายโจรมาปล้น เกิดรบราฆ่าฟันแย่งกันเป็นใหญ่ ผู้คนช้างม้าวัวควายล้มตาย ถือกันว่าบ้านเดือดเมืองร้อน ชะตาบ้านชะตาเมืองขาด จำต้องซำฮะให้หายเสนียดจัญไร การทำบุญมีการรักษาศีลให้ทานเป็นต้น

รายการกระจกหกด้าน ชุด "ร้อยเรื่องเมืองไทย" ตอน "บุญซำฮะ"

บางแห่งทำเมื่อฝนแล้งหรือไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อทำบุญทำทานนี้แล้ว เชื่อว่าจะทำให้ฝนตกและบ้านเมืองก็จะอยู่เย็นเป็นสุข เพราะจะได้ทำนาและปลูกพืชพันธ์ธัญญาหารต่างๆ เมืองใดที่มีมเหศักดิ์หลักเมือง ก็ทำพิธีเซ่นสรวงหลักเมือง หมู่บ้านใดที่มีผีประจำหมู่บ้านซึ่งเรียกว่า "ผีปู่ตา" หรือ "ตาปู่" หรือ "เจ้าบ้าน" ก็ทำพิธีเลี้ยงในเดือนเจ็ดนี้ และนำข้าวปลาอาหารพร้อมสิ่งอื่นๆ ไปเลี้ยงผีประจำไร่นา ซึ่งเรียกว่า "ผีตาแฮก" ด้วย

boon sum ha 3

การทำบุญซะฮะนี้มักทำกัน 3 คืน โดยมีการฟังพระสวดมนต์เย็น และถวายอาหารบิณฑบาตทุกเช้าวันรุ่งขึ้น และในวันสุดท้ายของบุญซำฮะ นอกจากมีถวายอาหารบิณฑบาตแล้ว ชาวบ้านจะนำสิ่งปฏิกูลต่างๆ เช่น ขยะมูลฝอย กระติบข้าว ตะกร้า หวด ฯลฯ ที่ชำรุดแล้ว กระบอกปลาร้าที่ไม่ได้ใช้ เศษหม้อ เศษถ้วยชามที่แตก เป็นต้น ขนไปทิ้งนอกหมู่บ้านอีกด้วย หรือทำการเผา หรือฝัง เพื่อทำให้บริเวณบ้านสะอาดเรียบร้อย ถือว่าเป็นการนำสิ่งอัปมงคลออกจากบ้าน จะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากสิ่งเสนียดจัญไรและโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง บุญซำฮะปรกติทำปีละครั้ง แต่บางปีชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุขอาจเว้นไม่ทำบ้างก็ได้

 

บุญซำฮะ ของชาวบ้านนาอ้อ ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย

เอกสาร "บุญซำฮะ" ของ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

redline

backled1