tang wai header

ลำตังหวาย เป็นศิลปะการแสดงที่ปรากฏในวัฒนธรรมร่วมสองฝั่งแม่น้ำโขง ไทย - ลาว โดยเริ่มต้นจากการขับลำประกอบดนตรี ภายหลังมีการฟ้อนรำประกอบ ทำนองการลำตังหวาย จนเป็นที่นิยมนำมาขับลำเพื่อความบันเทิงสองฝั่งแม่น้ำโขง และมีการนำมาสร้างสรรค์การขับลำและประกอบการแสดงอยู่เสมอ การลำตังหวายเริ่มต้นที่ บ้านตังหวายโคก เมืองซนนะบุรี แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และเผยแพร่มายังประเทศไทยข้ามฝั่งแม่น้ำโขงสู่ บ้านม่วงเจียด ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ภายหลัง วิทยาลัยครูอุบลราชธานี (มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ในปัจจุบัน) ได้นำการแสดงลำตังหวายมาสร้างสรรค์การแสดงใหม่ และเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักมาถึงปัจจุบัน

การลำตังหวาย ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เนื้อหาในการแสดงเน้นหนักในเรื่องของ การร้องในทำนองลำตังหวาย เป็นหลัก มีท่าฟ้อนรำ 4 ท่า เปลี่ยนสลับไปมาไม่ซับซ้อน มีการร้องรับในบทสร้อยว่า ยวกๆ ยวกๆ (Attapaiboon, 2006) ส่วนการฟ้อนรำตังหวายที่ บ้านม่วงเจียด ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี มีการร้องบทสร้อย ยวกๆ ยวกๆ โดยมีท่าฟ้อนรำอยู่ 12 ท่า ส่วนท่าฟ้อนรำของ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มีท่ารำเปลี่ยนไปตามบทร้องทุกท่อน และมีท่าฟ้อนรำเฉพาะในบทสร้อย ยวกๆ ยวกๆ เช่นเดียวกัน

ต้นกำเนิดการลำตังหวาย

การขับลำตังหวาย คือการขับลำพื้นเมืองประเภทหนึ่ง ของชนเผ่าลาวเทิง บรูกระตาก แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และในแขวงสะหวันนะเขตจะมี 8 ชนเผ่าด้วยกัน เช่น ในเขตดอย (ภูเขาสูง) ประกอบด้วย ตะโอ้ย จะลี และ กะเลิง ในเขตที่ราบสูงและที่ราบทั่วไปมี เผ่ากะตาง ละว้า ส้อย และเผ่ามะกอง ที่ราบลุ่ม คือ กลุ่มเผ่าลาว

chonpao sawannaket lao

การแต่งกายชนเผ่าในแขวงสะหวันนะเขต จากซ้ายมือ บรูส่วย ลาว บรูกระตาง ผู้ไท บรูมังกอง
บรูตรี บรูตะโอ๋ย บรูปะโกะ เผ่าบรูกระตาง คนที่ 3 จากซ้ายมือ
ที่มาของภาพ : กระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยว แขวงสะหวันนะเขต

การลำตังหวาย เดิมเรียกว่า "ลำตำหลอย" (Tamwisit, n.d.) โดยกลอนลำตำหลอยหรือตังหวายนั้น คือได้สืบทอดมาจากการเหยายา (การลำเพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ) ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์และคณะ ที่กล่าวว่า "ลำตังหวาย" สืบทอดมาจากการขับลำในพิธีกรรม “การเหยายา” หรือการรักษาคนป่วย เช่น ลำผีฟ้า ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชนเผ่ากะตางมาเนิ่นนาน (Singyaboot et al., 2002) การลำตังหวายนี้ ถ้าหากการลำอยู่แถวที่ราบสูง เป็นภาษาชนเผ่า เรียกว่า “ลำกะล็องเยาะ” ถ้าหากลำอยู่แถวที่ราบทั่วไป เป็นภาษาเผ่าชนเหมือนกัน เรียกว่า “ลำตำหลอย” ถ้าหากลาวลุ่มใช้ขับลำตามจังหวะเดิมมาเป็นภาษาลาวลุ่มเรียกว่า “ลำตังหวาย” เหตุที่เรียกว่า ตังหวาย เพราะเรียกการขับลำนี้ตามชื่อหมู่บ้าน “ตังหวายโคก”

ລຳຕັງຫວາຍຕົ້ນສະບັບແທ້ - เจ้าพ่อลำตั่งหวายขนานแท้ สปป.ลาว

จากข้อมูลของ ท้าวทองเสน วงคีรี นายบ้านตังหวายโคก เมืองซนนะบุรี แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ให้ข้อมูลว่า "ชาวบ้านตังหวายโคก เป็นชาวกลุ่มลาวเทิง เผ่ากระตาง สื่อสารภายในหมู่บ้านใช้ภาษาบรู กลุ่มภาษามอญ-เขมร และสามารถใช้ภาษาลาวได้ อดีตนับถือผี ปัจจุบันนับถือศาสนาพุทธ แต่ยังคงถือผีควบคู่กันไป การลำตังหวายสืบทอดมาจากปู่ ย่า ตา ยาย การแสดงลำตังหวายในอดีตยังไม่มีชื่อ เรียกว่า ลำกลองเญาะ ภายหลังได้ใช้ชื่อว่า ลำตำหลอย" ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของโพสีแก้ว ทำวิสิด (Tamwisit, n.d.) ที่ได้นำเสนอข้างต้น

การลำตังหวาย สามารถลำกันได้ทุกเพศ ทุกวัย ในอดีต ผู้ชายจะเป็นฝ่ายลำเพื่อการเกี้ยวพาราสีฝ่ายหญิง (ในภาษาบรู เรียกการเกี้ยวสาวว่า ปา-รา-เยอะ-กะ-โมล) ถ้าฝ่ายหญิงมีความสามารถโต้ตอบได้ ก็จะตอบกลับโดยใช้ผญาโต้ตอบฝ่ายชาย การลำตังหวายไม่มีการประพันธ์ไว้ล่วงหน้า จึงเป็นการลำแบบด้นสด สามารถคิดการลำได้เอง โดยใช้ทำนองลำตังหวาย บุญชู วงคีรี (Wongkeeree, 2018) ให้ข้อมูลว่า "ในอดีต ตนลำตังหวายเป็นเองโดยไม่ได้เรียนกับครูท่านใด เริ่มลำจากการไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควายที่ทุ่งนา และนึกอยากจะลำก็ลองลำ และสามารถลำได้เองจนมาถึงปัจจุบันนี้"

เครื่องดนตรีประกอบ ประกอบด้วย แคน กระจับปี่ (พิณ) ซอ (ซอบั้งไม้ไผ่)

การแต่งกาย เสื้อผ้าฝ้ายย้อมคราม นุ่งซิ่นผ้าฝ้ายมัดหมี่ย้อมคราม แพรเบี่ยงโดยใช้ผ้าสีขาวหรือผ้าขาวม้า ผู้ชายสวมเสื้อย้อมคราม ใส่ผ้าโสร่ง ผ้าผูกเอว

ບົດຟ້ອນ ລຳຕັງຫວາຍ ໂດຍ: ມສ ເມືອງເງິນ

เวลามีงาน หรือเวลามีแขกต่างถิ่นมาเยี่ยมเยือน จะมีการลำตังหวายให้ชม ปัจจุบัน มีการสืบทอดรุ่นใหม่ โดยผู้ที่มีพรสวรรค์จะมาลำตังหวาย โดยส่วนใหญ่จะใช้นักเรียนในโรงเรียนเป็นผู้สืบทอด ชาวบ้านตังหวายโคก เองเคยได้รับเชิญไปทำการแสดงที่ประเทศเวียดนาม และภายในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามโอกาสสำคัญ

การลำตังหวาย สปป.ลาว สู่ราชอาณาจักรไทย

การรับเอาวัฒนธรรมลำตังหวาย จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สู่ราชอาณาจักรไทย โดยข้ามฝั่งแม่น้ำโขงเข้าสู่บ้านม่วงเจียด ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ชาวบ้านม่วงเจียด เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ไทย-ลาว มีประเพณีการเลี้ยงผีปู่ตาซึ่งสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่อดีต ในพิธีกรรมเลี้ยงผีปู่ตา จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยจัดให้มีการลำตังหวายเพื่อถวายแด่ปู่ตาในช่วงบุญเดือนหก ก่อนเริ่มการทำการเกษตรของชุมชนบ้านม่วงเจียด เพื่อขอให้ฝนตกตามฤดูกาล มีน้ำเพียงพอในการทำการเกษตร โดยทำ “การบ๋า” (การบน) ต่อปู่ตา เพื่อให้คนในชุมชนมีน้ำใช้เพียงพอต่อความต้องการอุปโภค บริโภค เพื่อให้ลูกหลานในชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์

tang wai 01

เมื่อถึงวันที่กำหนดในการทำพิธีบ๋าปู่ตา คนในหมู่บ้านม่วงเจียดจะไปพร้อมกันที่ศาลปู่ตา และจะนำเอาเครื่องเซ่นสังเวย ได้แก่ ดอกไม้ ธูป เทียน สุรา อาหารคาว ขนมหวาน น้ำดื่ม บุหรี่ หมาก พลู ไก่ต้ม เป็ดต้ม หัววัวหรือควาย หัวหมู สิ่งของเครื่องเซ่นสังเวยบวงสรวงเหล่านี้จะนำไปตั้งไว้ที่ศาลปู่ตา ผู้ประกอบพิธีกรรมคือ เจ้ากวน หรือ เฒ่ากวน เฒ่าจ้ำ จะเป็นผู้กล่าวเชิญเจ้าปู่ตาให้มารับเครื่องสังเวยเลี้ยงดูเหล่านี้ และกล่าวขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ให้พืชผลทางการเกษตรอุดมสมบูรณ์ ผู้คนอยู่ดีมีความสุข

พิธีกรรมนี้มีการละเล่นสนุกสนานรื่นเริงประกอบด้วย รำถวย (การฟ้อนรำถวายปู่ตา) หมายถึง การฟ้อนรำเพื่อถวายแด่ปู่ตา และการขับลำตังหวาย บรรเลงดนตรีพื้นบ้านอีสานในพิธีกรรมนี้ ในอดีตจะมีการขับลำประกอบดนตรีเท่านั้น ภายหลังได้มีการฟ้อนรำประกอบด้วย และสืบทอดศิลปะการแสดงนี้มาจนถึงปัจจุบัน บทประพันธ์การลำตังหวายที่ อาจารย์ประดิษฐ์ แก้วชิน อดีตครูใหญ่โรงเรียนชุมชนบ้านเจียด ได้ประพันธ์ไว้เพื่อบูชาปู่ตา มีดังนี้ (เนื้อร้องนี้ได้ข้อมูลจาก ผศ.ทินกร อัตไพบูลย์ (Attapaiboon, 2006))

ข้าขอยอ นอแหม่นมือน้อม ต่างเทียนนอ แห่แหม่นเทิงธูป ถวายแด่พระแหม่นแผ่นหล้า ฤทธีกล้ากว่าไตร ไทยเมืองแมน ยวกๆ ยวกๆ

ขอให้มานอนแม่เนายั้ง ในผามเพียงบ่อนเลี้ยงบ่าว ชาวสรรค์นอแม่แมกฟ้า จงมาพร้อมแม่นผ่ำมวล ขอเชิญชวน ยวกๆ ยวกๆ

ขอให้มานอแม่นเอาท้อน ขอถวายพรทุกถ้วนอย่าง ทางเผ่าฝูงนอแม่นข้าน้อย มายอยื่นหยื่นถวาย สายคอแนน ยวกๆ ยวกๆ

สรรพสิ่งนอแหม่นของเลี้ยง ทั้งคาวหวานทุกถ้วนถั่ว ยูถ่างสรรนอแหม่นเลือกเฟ้น ประเคนยื้อหยื่นถวาย สายคอแนน ยวกๆ ยวกๆ

มีทั้งปูนอแหม่นปลาพร้อม วัวควาย ฉีกงาด่วน ถั่วและงาเป็ดไก่พร้อม ดอกไม้แหน่มหมากพลู มูลคูนใจเอย ยวกๆ ยวกๆ

ขอให้เหวยต่อประสงค์ซึ่ง ตามพระทัยทะลอนโปรด โทษข้ามีดอก แหม่นเผื่อแก้ในปากนี้แหม่นส่วง เอาเบาใจนาง ยวกๆ ยวกๆ

ถอดความโดยสรุป

ลำตังหวายที่ใช้ในพิธีกรรมเลี้ยงปู่ตา ข้าพเจ้าขอพนมมือน้อม เทียน ธูป ถวายต่อผืนแผ่นดิน ทั้งผู้มีฤทธิ์ ขอเชิญชาวสวรรค์มายังปะรำพิธี โดยพร้อมเพียงกัน ขอให้มาประทานพร ให้แก่พวกข้าพเจ้า พวกข้าพเจ้าได้นำ ของอาหารคาวหวาน ที่เลือกสรรอย่างดีเพื่อมาน้อมถวาย ปู ปลา วัว ควาย เป็ด ไก่ ถั่ว งา หมาก พลู ดอกไม้ และของมงคล ขอให้รับประทานตามประสงค์ "

ดนตรีใช้ประกอบ ได้แก่ แคน พิณ กลอง ไม้งับแงบ ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ อิเล็กโทน (ใช้ในภายหลัง) ผู้ขับร้องลำตังหวาย สามารถขับร้องได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง

อาจารย์ประดิษฐ์ แก้วชิณ ดำรงตำแหน่ง ครูใหญ่โรงเรียนชุมชนบ้านเจียด ได้ริเริ่มการแสดงลำตังหวาย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 โดยการฝึกหัดให้ชาวบ้านรำตังหวายถวายปู่ตา และได้นำออกแสดงในงานต่างๆ จนเป็นที่นิยม จากนั้นได้พัฒนาท่าฟ้อนรำให้เหมาะสมยิ่งขึ้น พร้อมทั้งประพันธ์เนื้อร้องขึ้นใหม่ ท่านได้นำลำตังหวายมาฝึกหัดฟ้อนรำให้กับนักเรียน ตั้งแต่ระดับชั้น ป.2 ถึงชั้น ป.7 (สมัยนั้นเปิดถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 7) และได้รับความร่วมมือจากคณะครู-อาจารย์ และนักเรียนโรงเรียนชุมชนบ้านเจียดเป็นอย่างดี

tang wai 02

ต่อมา ผศ.ทินกร อัตไพบูลย์ สาขาวิชาดนตรี และผศ.ศิริเพ็ญ อัตไพบูลย์ สาขาวิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูอุบลราชธานี ได้พบการแสดงรำตังหวายของบ้านม่วงเจียดที่มาทำการแสดงในงานขึ้นปีใหม่ ที่สนามทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เห็นว่าการแสดงนี้มีเอกลักษณ์ จึงคิดที่จะส่งเสริมและสืบทอด ภายหลังได้ไปศึกษาข้อมูลการลำตังหวายจาก อาจารย์ประดิษฐ์ แก้วชิณ และได้นำเอาท่าฟ้อนรำตังหวายและบทร้องไปปรับประยุกต์ใหม่ จนเป็นเอกลักษณ์ของ วงโปงลางสังข์เงิน วิทยาลัยครูอุบลราชธานี ได้นำการแสดงฟ้อนรำตังหวาย แสดงในงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2523 ทำให้การฟ้อนรำตังหวายเป็นที่รู้จัก และได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ภายหลังได้นำการแสดงออกเผยแพร่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนทำให้การฟ้อนรำตังหวายเป็นที่รู้จัก และสร้างชื่อเสียงให้กับวิทยาลัยครูอุบลราชธานี และจังหวัดอุบลราชธานีมาถึงปัจจุบัน

"ลำตังหวาย"

เนื้อร้องฉบับของ วิทยาลัยครูอุบลราชธานี (มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ปัจจุบัน)

(เกริ่นนำ)

โอ..... บุญเอ๋ย บุญอีนางที่เคยสร้าง ซางบ่เป็นหนทาง โอ๊ยหนทาง พอให้น้องได้เที่ยว
ละซางมีบาปมาแล่นเข็น ละซางมีเวรมาแล่นต้อง ทำให้น้องห่างพี่ชาย ห่างพี่ชาย โอ๊ยละนา ....

(กล่าวคำกลอน)

ตังหวายนี้มีมาแต่โบราณ ชาวอีสานบำรุงไว้อย่าให้หาย
ของเขาดีมีไว้อย่าทำลาย ขอพี่น้องทั้งหลายจงได้ชม
เขมราฐอำเภอถิ่นบ้านเกิด ช่วยกันเถิดรักษาไว้อย่าได้สูญ
ท่าฟ้อนรำต่างๆ ช่วยเพิ่มพูน อย่าให้สูญเสียศิลปะเรา

(ขึ้นทำนองลำ)

(หญิง) บัดนี้ ข้าขอยอนอแม่นมือน้อม ชุลีกรเด้อแม่นก้มกราบ ชูสลอนนอนบนอบนิ้ว ถวายไท้ดอกผู้อยู่เทิง อ้ายพี่คนงามนี่นา หนาคิงกลม (ยวกๆๆๆ)

(หญิง) ชายเอย จุดประสงค์นอแม่นหมายแม้น เพื่อเผยศิลป์นอพื้นบ้านเก่า ของไทยเฮานอตั้งแต่ก่อน โบราณผู้ให้เฟื่องให้ฟู อ้ายพี่ของน้องนี่นา คนงามเอย (ยวกๆๆๆ)

(ชาย) คำนาง ปูเป็นทางนอเพื่อเลือกแต้ม ทางอีสานนอบ่ให้หลุดหล่น มรภ.อุบลฯ เฮาแม่นพวกพ้อง นำมาฮ้อง ออกโฆษณา หล่าพี่คนงามนี่เอย หนองหมาว้อ (ยวกๆๆๆ)

(หญิง) ชายเอย หาเอาตังกะละแม่นหวายเซิ้ง ลำแต่เทิงน้อบ้านเจียดก่อ สืบแต่กอเด้อซุมผู้เฒ่า ใบลานพู้นดอกพื้นกะหาย ดอกพื้นกะหาย ดอกพื้นกะหาย อ้ายพี่ของน้องนี่นา คนงามเอย (ยวกๆๆๆ)

(ชาย) คำนาง คนจบๆ เด้อแม่นจั่งน้อง งามๆ เด้อแม่นจั่งน้อง ซางบ่ไปน้อแม่นกินข้าว หัวมองหนอแม่นนำไก่ คนขี้ฮ้ายคือว่าจั่งอ้าย กินข้าวแม่นบ่ายปลา หล่าพี่คนงามนี่เอย ครูบ้านนอก (ยวกๆๆๆ)

(หญิง) ชายเอย คิดถึงคราวนอแม่นเฮาเว้า อยู่เถียงนาน้อบ่มีฝา แม่สิฟาดนอแม่นไม้ค้อน แม่สิย้อนนอแม่นไม้แส้ ตีน้องนั่นแต่ผู้เดียว นั่นแต่ผู้เดียว นั่นแต่ผู้เดียว อ้ายพี่ของน้องนี่นา คนงามเอย (ยวกๆๆๆ)

(ชาย) นางเอย ไปบ่เมือนอแม่นนำอ้าย เมือนำนอแม่นอ้ายบ่ ค่ารถอ้ายบ่ให้เสีย ค่าเฮืออ้ายบ่ให้จ้าง อ้ายสิตายนอแม่นเป็นซ้าง เอราวัณนอให้น้องขี่ ตายเป็นรถนอแม่นแท็กซี่ ให้น้องนี่ขี่ผู้เดียว ขี่ผู้เดียว ขี่ผู้เดียว หล่าพี่คนงามนี่เอย คนงามเอย (ยวกๆๆๆ)

(หญิง) ชายเอย ย้านบ่จริงนอแม่นจั่งว่า สีชมพูนอแม่นจั่งว่า หย้านคือตอกกะลิแม่นมัดกล้า ดำนาแล้วดอกเหยียบใส่ตม เหยียบใส่ตม เหยียบใส่ตม อ้ายพี่ของน้องนี่นา คนงามเอย (ยวกๆๆๆ)

(ชาย) บัดนี้ ขอสมพรนอแม่นไปให้ ทหารไทยนอแม่นกล้าแกร่ง ทั้งชายแดนและตำรวจน้ำ อ.ส.กล้าท่านจงเจริญ สรรเสริญภิญโญนอเจ้า ขอให้สุขนอแม่นทั่วหน้า ชาวประชาทุกคืนทุกวัน ทุกคืนทุกวัน ทุกคืนทุกวัน หล่าพี่คนงามนี่เอย คนงามเอย (ยวกๆๆๆ)

(ขึ้นทำนองเต้ยโขง)

เอ้าลาลาลาลาที เอ้าลาลาลาลาที ขอให้โชคดีเถิดนะแฟนจ๋า
เสียงจากลูกทุ่งบ้านนา เสียงจากลูกทุ่งบ้านนา โชคดีเถิดหนาลองฟังกันใหม่
ถ้าหากสนใจฉันขอขอบคุณ ถ้าหากสนใจฉันขอขอบคุณ
คันไกลคันไกลกันแล้ว คันไกลคันไกลกันแล้ว เฮือแจวมันไกลจากฝั่ง เฮือแจวมันไกลจากฝั่ง
ดอกสะมังละมันไกลจากต้น จากต้นละจากต้น จากต้น บ่มีได้แม่นกลิ่นหอม
นั่นละนาหนานวลนา ละนาคนไทยนี่นา หางตาเจ้าลักท่าลา พวกฉันขอลาไปแล้ว พวกฉันขอลาเจ้าไปแล้ว

ต้นตำหรับรำตังหวายฉบับ วิทยาลัยครูอุบลราชธานี
เรียบเรียงคำร้อง ทำนองดนตรี โดย ผศ.ดร.ทินกร อัตไพบูลย์ และท่าฟ้อนรำ โดย ผศ.ดร.ศิริเพ็ญ อัตไพบูลย์

การแสดงลำตังหวายในปัจจุบัน

ปัจจุบันการแสดงฟ้อนรำตังหวาย ได้รับการสืบทอดโดย อาจารย์อนิรุทธิ์ แก้วชิณ บุตรชายของ อาจารย์ประดิษฐ์ แก้วชิณ และยังคงยึดการแสดงนี้เป็นศิลปะการแสดง และถือเป็นต้นตำรับการแสดงฟ้อนรำตังหวาย ที่เป็นศิลปะการแสดงคู่บ้านม่วงเจียด ตำบลเจียด เป็นเอกลักษณ์ ที่ปรากฎในคำขวัญของอำเภอเขมราฐ ที่ว่า

ต้นตำรับรำตังหวาย ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์น้ำใจงาม สุดเขตแดนสยาม มะขามหวานหลายหลาก กล้วยตากรสดี ประเพณีแห่เทียนพรรษา แข่งนาวาสองฝั่งโขง "

ลำตังหวาย ลำโดย เซียงสะหวัน-นวนละออ 1

ส่วนในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว การลำตังหวาย ยังคงมีการแสดงโดยคนในชุมชน บ้านตังหวายโคก เมืองซนนะบุรี แขวงสะหวันนะเขต  และมีการสืบทอดศิลปะการแสดงนี้ และใช้การแสดงนี้เป็นหนึ่งในทุนทางวัฒนธรรมประจำแขวง ตามคำขวัญที่ว่า

สะหวันนะเขต ผืนแผ่นดินคำ พระธาตุอิงฮัง สถานบูรานงามสง่า สัตว์โลกดึกดำบรรณ ไดโนเสาร้อยล้านปี ประเพณี วัฒนธรรมเลิศล้ำ ถิ่นกำเนิด ขับลำสี่จังหวะ ”

ลำตังหวาย ลำโดย เซียงสะหวัน-นวนละออ 2

หมายเหตุ : "ขับลำสี่จังหวะ" ประกอบไปด้วย ลำคอนสะหวัน ลำตังหวาย ลำภูไท ลำบ้านซอก ซึ่งทั้งสี่ลำมีต้นกำเนิดจากแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว

redline

backled1