foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

dance header

bulletการฟ้อนพื้นบ้านแบบต่างๆ

ศิลปการฟ้อนรำของชาวอีสาน มีหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละถิ่น ตามอิทธิพลของกลุ่มชนพื้นเมืองในละแวกนั้นๆ เช่น ทางอีสานใต้ก็จะมีอิทธิพลของเขมรปะปนอยู่มาก ทางด้านเหนือก็มีอิทธิพลจากทางล้านช้าง ทางสกลนคร นครพนม มุกดาหารก็มีชนเผ่าพื้นเมืองในถิ่นนั้นเช่น ย้อ โซ้ ภูไท อย่างไรก็ตามเราก็พอจะจำแนกการฟ้อนออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

fon silapa cheep

3diamondฟ้อนเข็นฝ้าย

ชาวอีสานได้รู้จักทำเครื่องนุ่งห่มขึ้นมาใช้เองแต่โบราณกาลแล้ว นับได้ว่าชาวอีสานเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องผ้า ซึ่งมีการทอผ้าทั้งที่เป็นผ้าไหมและผ้าฝ้าย จังหวัดเลยนับว่าเป็นจังหวัดที่มีการปลูกฝ้ายมากที่สุด จนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในงาน "ดอกฝ้ายบานที่เมืองเลย" การปลูกฝ้ายนั้นนิยมปลูกในราวเดือนพฤษภาคม เมื่อถึงราวเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ฝักฝ้ายก็จะแก่และแตกปุยพอดี ชาวอีสานก็จะลงมือเก็บฝ้ายโดยมีขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนการเข็นฝ้าย

  1. เก็บฝ้าย จะเริ่มเก็บฝ้ายเมื่อเห็นว่า ฝ้ายแตกกอและมีปุยฝ้ายฟูเต็มที่แล้ว เก็บโดยถือเอาเฉพาะปุยฝ้ายออกจากกลีบสมอใส่ตะกร้าหรือถุงผ้าซึ่งคล้องไหล่ไว้ข้างหลัง
  2. ตากฝ้าย นำฝ้ายที่เก็บไว้ออกผึ่งแดดเพื่อให้ปุยฝ้ายที่เก็บไว้นั้นฟูขึ้นเพื่อสะดวกในเวลาแยกเม็ดฝ้ายออกจากปุย นำปุยฝ้ายไปแยกเม็ดออกเรียกว่า อิ้วฝ้าย
  3. ดีดฝ้าย นำฝ้ายที่แยกเม็ดออกแล้วนำมาดีดโดยใช้ไม้ไผ่ทำเป็นคันโค้งเหมือนคันธนู โดยเอาเชือกผูกปลายให้โค้งเข้าหากัน ดีดฝ้ายเพื่อให้ฝ้ายมีเนื้อละเอียดเหมือนสำลี แล้วเอาฝ้ายที่ได้ไปล้อเป็นติ้วกลมๆ ยาวประมาณ 9 นิ้ว
  4. เข็นฝ้าย การเข็นฝ้ายจะใช้ "หลา" การเข็นฝ้ายต้องเอาปลายของฝ้ายที่ล้อเป็นติ้วข้างใดข้างหนึ่งไปจ่อที่เหล็กไนพร้อมกับหมุนกงหลาซึ่งมีสายต่อมาถึงเหล็กไน เหล็กไนก็จะหมุนปั่นเอาฝ้ายซึ่งติ้วแล้วออกเป็นเส้นเล็กๆ เมื่อปั่นได้เต็มเหล็กไนก็จะใช้ไม้ซึ่งเรียกว่า "เปีย" เปียออกจากเหล็กไนเพื่อจะนำให้เป็นไนฝ้าย นำฝ้ายที่ได้ไปย้อมสีตากให้แห้งสนิท นำเอาไปใส่ในกงปั่นฝ้ายเรียกว่า "การกวักฝ้าย" แล้วนำเส้นด้ายไปขึงกับ "เผือ" เพื่อให้เส้นด้ายไม่ยุ่ง แล้วเอาเส้นด้ายที่เฝือนั้นไปกรอเข้ากับฟืม โดยกรอจนเต็มฟืมและนำไปสืบหูก คือการร้อยเส้นฝ้ายจากรูแล้วสอดกับฟันฟืม
  5. การทอ เมื่อเตรียมเส้นยืนและเส้นพุ่งเรียบร้อยแล้วจะหวีด้าย เพื่อให้แผ่กระจายออกเป็นแผ่นเรียบเสมอกัน เมื่อขึงด้ายเข้ากี่เรียบร้อยแล้วก็ใช้กระสวยซึ่งบรรจุไว้ในร่องของกระสวยสำหรับสอดเส้นด้ายในแนวทางขวาง การสอดก็จะต้องสอดสลับกลับไปกลับมาเสมอ เวลาสอดครั้งหนึ่งก็เหยียบครั้งหนึ่ง และใช้ฟืมกระทบเพื่อให้เส้นด้ายแน่น เมื่อทอผ้าได้ยาวจนฟืมยืดออกไปไม่ถึงก็ม้วนผ้าเก็บไว้ กระทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสำเร็จ

ฟ้อนเข็นฝ้าย จึงได้นำเอาวิธีการเก็บฝ้ายและเข็นฝ้ายของชาวอีสานมาจัดทำเป็นชุดฟ้อนขึ้น

เครื่องแต่งกาย การแสดงใช้ผู้หญิงแสดงล้วน สวมเสื้อแขนกระบอกสีดำนุ่งผ้าถุงมัดหมี่ โดยนุ่งให้เห็นหัวซิ่นสีแดงคาดเข็มขัดเงิน โพกหัวด้วยหัวซิ่นสีแดง คล้องด้วยฝ้ายเฉวียงไหล่

เครื่องดนตรี ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อนจะใช้ทำนองเพลงคอนสวัน ทำนองเซิ้งและทำนองตังหวาย ซึ่งในการฟ้อนเข็นฝ้ายของวิทยาลัยครูอุบลราชธานีจะมีเพลงประกอบการฟ้อนเฉพาะ

ลำดับขั้นตอนของการแสดง การฟ้อนชุดเข็นฝ้ายเป็นการนำวิธีการและขั้นตอนของการทอผ้าฝ้าย เริ่มใช้ผู้แสดง 10 คน แบ่งเป็น 5 คู่ ดังนี้

  1. คู่แรก จะแสดงขั้นตอนของการเก็บฝ้าย โดยใช้กระทอห้อยข้างหลัง
  2. คู่ที่สอง จะแสดงขั้นตอนของการตากฝ้าย โดยใช้กระจาดแล้วนำฝ้ายไปเรียงในกระจาดเพื่อตากฝ้าย
  3. คู่ที่สาม จะแสดงขั้นตอนการดีดฝ้าย โดยใช้ไม้ไผ่โค้งเป็นรูปะธนูแสดงวิธีดีดฝ้ายให้ฟู
  4. คู่ที่สี่ จะแสดงการปั่นฝ้าย
  5. คู่ที่ห้า จะแสดงวิธีการทอฝ้าย

สาวเข็นฝ้าย จิ๋ว อมรรัตน์

3diamondเซิ้งสาวไหม

ผ้าไหมเป็นผ้าพื้นเมืองของชาวอีสานที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ชาวอีสานส่วนใหญ่รู้จักวิธีทอผ้า ทั้งที่ใช้เองในครอบครัวและประกอบเป็นอาชีพในครัวเรือน โดยชาวบ้านอีสานจะเลี้ยงไหมเอง เมื่อได้รังไหมแล้วก็จะนำมาสาวไหม

วิธีการสาวไหม โดยนำหม้อมาใบหนึ่งใส่น้ำต้มให้เดือด นำฝักไหมหรือรังไหมใส่ลงไปในหม้อพอประมาณ ปากหม้อนั้นทำเป็นวงโค้งคล้ายวงครุมีไม้อันหนึ่งลักษณะแบนๆ เจาะรูไว้ตรงกลาง เมื่อนำเดือดแล้วเอาเส้นไหมสอดรูไม้ที่ปากหม้อ สาวขึ้นมาพันกับรอกรอบหนึ่ง ซึ่งที่บนรอกมีไม้ซึ่งเรียกว่า ไม้ขืนยาวประมาณ 2 คืบ ใช้มือหนึ่งสาวไหมจากรอกลงไปในภาชนะที่รองรับอีกมือหนึ่งถือไม้ขืนกด และเขย่ารังไหมที่ลอยตัวอยู่ในหม้อเพื่อทำให้ไหมไม่แน่น การสาวไหมแบ่งเป็นสองชนิดคือ การสาวไหมหลืบ และการสาวไหมลวด ซึ่งเป็นไหมน้อย

sao mai

เมื่อสาวไหมเสร็จจะนำไปใส่ไว้ในกระบุง แล้วจึงทำเป็นไจ โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า เส็ง เมื่อทำไหมเป็นไจแล้วจึงนำเอามาใส่กงแล้วนำอักมาสาวเส้นไหมออกจากกง เพื่อให้เส้นไหมแน่นขึ้น

ก่อนที่จะย้อมไหมเป็นสีต่างๆ ต้องซักฟอกให้ขาวเสียก่อน วิธีการฟอกไหมของชาวบ้านแบบพื้นเมืองนั้นใช้ ผักหม เหง้ากล้วย ใบกล้วย ก้านกล้วย งวงตาล ไม้ขี้เหล็ก ใบเพกา ทั้งหมดนี้ใช้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ นำมาหั่นฝานให้บางตากแดดให้แห้ง แล้วเอาไปเผาจนกระทั่งเป็นเถ้า จากนั้นจึงนำเถ้าไปแช่ในน้ำตั้งทิ้งไว้ให้นอนก้น แล้วจึงเอาไหมที่จะฟอกลงไปแช่ในน้ำด่าง พอไหมเปียกชุ่มดีแล้วก็เอาใส่หม้อต้มได้เวลาพอสมควร จึงเอาไหมขึ้นจากหม้อไปแช่ล้างน้ำเย็น ล้างให้สะอาดสงไหมขึ้นจากน้ำใช้มือกระทกให้ไหมหายยุ่ง แล้วใส่ไหมลงในกระเส่า เขย่าให้แห้งหมาด จึงนำไปผึ่งให้แห้ง หากไหมยังไม่สะอาดก็เอาไปแช่น้ำด่างตามวิธีการเติมอีกครั้งหนึ่ง

การย้อมไหมของชาวพื้นเมืองอีสานในสมัยโบราณนั้น ย้อมสีต่างๆ ด้วยครั่ง เข คราม ลูกกระจายดินแดง และแถลง ซึ่งมีวิธีการอย่างเดียวกันกับการย้อมผ้าฝ้าย แต่เนื่องจากการย้อมไหมและฝ้ายด้วยรากไม้และลูกไม้ป่าชนิดต่างๆ เป็นวิธีการที่ยากและกินเวลามาก ทำให้ชาวพื้นเมืองในปัจจุบันที่ยังทอผ้าใช้อยู่หันมาใช้สีวิทยาศาสตร์ที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไป ซึ่งสะดวกสบายกว่ามาย้อมไหมแทนวิธีการย้อมแบบดั้งเดิม

วิธีการทอผ้าซิ่นมัดหมี่

เครื่องมือที่ใช้ทอ ชนิดเดียวกันกับที่ใช้ทอผ้าฝ้าย แต่มีวิธีการแตกต่างกว่าคือก่อนที่จะทอเป็นซิ่นหมี่ จะต้องมัดหมี่เสียก่อนแล้วจึงนำไปทอ คือคัดเลือกไหมที่ฟอกแล้วเอามาดันใส่หลักหมี่ วิธีค้นไหม ค้นกลับไปกลับมาสองหน เรียกว่า หนึ่งคู่ เรียงลำดับไปจนพอผืนไหมที่ต้องจะทอ เอาเชือกกล้วยมาผูก แล้วแต่จะเอาลวดลายอย่างไร เช่น หมี่ขอ หมี่นาค หมี่ดอกหญ้า หมี่เฮื้อ หมี่หงส์ เป็นต้น การที่เอาเชือกกล้วยมาผูกไว้นั้นเพื่อป้องกันมิให้สีถูกที่ผูก เวลาย้อมสีต้องเอาสีแต้มตามลาย เสร็จแล้วเอาไหมที่ผูกทำไว้แล้วนั้นมากรอเข้ากับหลอด เวลาทอก็เอาหลอดที่กรอไว้พุ่งไป ก็จะได้ลายไปในตัว ส่วนผ้าผืนสำหรับนั้นจะเอาสีอะไรสุดแต่ความพอใจของผู้ทอ ลายต่างๆ ของผ้าซิ่นมัดหมี่ เช่น ลายหมี่นาคน้อย หมี่นาคต้นสน หมี่ดอกแก้ว หมี่ขอ ฯลฯ

เซิ้งสาวไหม ได้แนวความคิดจากการทำผ้าไหมพื้นเมืองของชาวอีสาน ทางภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูสกลนคร จึงได้ประดิษฐ์เป็นชุดฟ้อนขึ้น เพื่อถ่ายทอดลีลาของการทอผ้าไหม

รำสาวไหม วงโปงลางมรดกอีสาน

เครื่องแต่งกาย การแสดงใช้ผู้หญิงแสดงล้วน ใช้ผ้าขาวม้าห่มแบบผ้าแถบนุ่งซิ่นมัดหมี่ ใช้ผ้าพันรอบเอว ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้

เครื่องดนตรี ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อนจะใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานลายเซิ้ง

 

3diamondฟ้อนแพรวา 

แพรวา คือผ้าขิดชนิดหนึ่งของชาวอีสาน ซึ่งนิยมทำกันในหมู่ของชาวผู้ไท เพื่อใช้ห่มไปในงานพิเศษ เช่น งานแต่งงาน ที่เรียกว่า แพรวา นั้น เพราะขนาดความยาวของผืนผ้าแต่เดิมนี้ความยาวขนาด "วา" ของผู้ทอซึ่งมักจะอยู่ในเกณฑ์ 2 เมตร กว้าง 50 - 60 เซนติเมตร ถิ่นแพรวาที่มีชื่อเสียงอยู่ที่บ้านโพน ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ การทอผ้าแพรวานับเป็นศิลปการช่างที่มีมาแต่บรรพบุรุษ ถือว่าผ้าแพรวานั้นเป็นของสูงที่มีค่ามาก ชาวผู้ไทจะเก็บรักษาเป็นอย่างดี เปรียบได้กับของมีค่าอื่นๆ การจะใช้ก็จะใช้ในงานพิธีสำคัญ เช่น งานบุญประจำปี หรือ งานแต่งงาน ชาวอีสานถือว่า "การก้าวข้ามผ้าขิด หรือนั่งบนหมอนขิดไม่เหมาะสมยิ่ง"

การทอผ้าแพรวาต้องใช้ความประณีตบรรจงละเอียด ผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนและต้องอาศัยความเพียรพยายามอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ชาวอีสานจึงถือว่า ผ้าที่ทอด้วยลายขิดเป็นของสูง และจะเก็บไว้ในที่อันควร

ฟ้อนแพรวา เป็นชุดฟ้อนที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ โดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม ได้นำวิธีการทอผ้าแพรวา แสดงให้เห็นทุกขั้นตอน ผ้าแพรในที่นี้หมายถึงผ้าที่มีความยาว 1 วา ปกติใช้คลุมไหล่ผู้หญิงหรือทำผ้าสไบ มีทั้งทำด้วยผ้าและทำด้วยไหม ท่าฟ้อนแพรวาจะแสดงลำดับขั้นตอนของการทอผ้าแพรวาตามแบบพื้นเมือง โดยเริ่มจากการเก็บฝ้าย การตากฝ้าย ล้อฝ้าย เปียฝ้าย ย้อมฝ้าย ค้นหูก จนกระทั่งถึงการทอเป็นผืน ผู้ประดิษฐ์ท่าฟ้อนคือ คุณจริยา เปาว์อินทร์ และอาจารย์วีณา วีสเพ็ญ

ฟ้อนแพรวากาฬสินธุ์

เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงใช้ผู้หญิงล้วน แต่งกายด้วยผ้าถุงมัดหมี่สีดำ สวมเสื้อคอกระเช้าสีขาว ซึ่งเป็นเสื้อที่ชาวบ้านอีสานนิยมสวมอยู่กับบ้าน คลุมไหล่ด้วยผ้าแพรวา

เครื่องดนตรี ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อนจะใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ทำนองเพลงลาวอุบล

ลำดับขั้นตอนของการแสดง

ท่าที่ 1 การเก็บดอกฝ้าย - ชาวอีสานจะต้องออกไปเก็บดอกฝ้ายที่ในไร่ ฝ้ายแก่จัดและเริ่มแตก
ท่าที่ 2 การตากฝ้าย - ฝ้ายที่เก็บมาใหม่ๆ จะต้องนำมาตากให้แห้ง เพื่อให้ปุยฝ้ายร่วนดี
ท่าที่ 3 อิ้วฝ้าย - เมื่อดอกฝ้ายแห้งดี ก็นำมาอิ้วเพื่อรีดเอาเมล็ดออก แล้วดีดในลักษณะเดียวกัน
   เพื่อให้ได้ปุยสำลี
ท่าที่ 4 ล้อฝ้าย - แล้วนำสำลีมาปั่นให้เป็นหลอด เพื่อใช้เข็นให้เป็นเส้นด้าย
ท่าที่ 5 เข็นฝ้าย - ดึงสำลีที่ใช้ติดปลายเข็มที่หลาเป็นฝ้าย เพื่อให้ได้เส้นด้ายที่ยาวติดต่อกัน
ท่าที่ 6 เปียฝ้าย - ใช้วาเปียคล้องเส้นด้ายเพื่อให้ได้ไจฝ้าย พร้อมที่จะนำมาย้อมสีต่างๆ
ท่าที่ 7 ย้อมฝ้าย - ใช้ฝ้ายชุบสีต่างๆ ตามที่ต้องการแล้วตากให้แห้งกระตุกไจฝ้าย เพื่อไม่ให้เส้นฝ้าย
   ติดกัน
ท่าที่ 8 ค้นหูก - ปั่นใส่อักแล้วนำมาขึงเส้นยืน เพื่อทอเป็นผืนผ้าต่อไป
ท่าที่ 9 ทอผ้า - เมื่อขึงเส้นยืนเสร็จนำมาตรึงที่กี่ สอดกระสวยด้ายกระตุกเขาที่ผ่านเส้นด้าย ขึ้นลง
   สลับกับการสอดฝ้าย กระทบให้แน่นด้วยฟืม ก็จะได้ผืนผ้าตามต้องการ

 

3diamondเซิ้งข้าวปุ้น

ข้าวปุ้น หรือ ขนมจีน ชาวอีสานโดยเฉพาะในจังหวัดมหาสารคามนิยมทำกันในงานบุญพระเวส หรือบุญมหาชาติ และงานกฐินของทุกๆ ปี จนเรียกกันติดปากของชาวมหาสารคามว่า บุญข้าวปุ้น

บุญข้าวปุ้นจะมีพิธีการแบ่งออกเป็น 2 วัน วันแรกหรือวันโฮมนั้น ชาวบ้านจะเตรียมอาหารพวกข้าวต้ม ข้าวปุ้น พอเวลาประมาณ 4 โมงเย็นก็จะมารวมกันที่วัด แล้วมีพิธีแห่พระเวสสันดรและพระอุปคุต เข้ามาในเมือง หลังจากนั้นจะมีพิธีเทศน์มาลัยหมื่น มาลัยแสน พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ตามบ้านต่างๆ ชาวบ้านจะมีการกินเลี้ยงกันอย่างสนุกสนาน

การทำข้าวปุ้น มีอุปกรณ์ดังนี้คือ เผีย ซึ่งทำด้วยโลหะ กระชอน ถาดหรือบม ครกมอง ถุงผ้า ตระกร้า ข้าวสารเจ้า ใบตอง ปี๊บ มีขั้นตอนการทำคือ จะนำข้าวสารเจ้าแช่น้ำหมักในตระกร้าโดยใช้ใบตองปูรองปิดไว้ประมาณ 2-3 วัน จะนำข้าวที่หมักไว้นั้นยุ่ยเปื่อย จากนั้นนำมาตำโดยใช้ครกมอง แล้วนำแป้งมาผสมกับน้ำโดยใช้มือขยี้ จากนั้นนำถุงผ้าใส่แป้งเก็บทิ้งไว้ในตระกร้าประมาณ 2-3 วัน ซึ่งเรียกว่า การนอนแป้ง เพื่อให้แป้งจับตัวกัน

นำแป้งมาทำเป็นก้อนขนาดพอเหมาะ แล้วไปต้มในปิ๊บประมาณ 15 นาที นำไปบดหรือตำด้วยครกมองอีกครั้งหนึ่ง จนกว่าแป้งจะกลายเป็นเนื้อเดียวกัน นำมานวดบนถาดไม้หรือบ่มให้มีความเหนียวพอประมาณ โดยใช้น้ำร้อนและน้ำเย็นผสมลงทีละนิด นวดไปเรื่อยๆ จนได้ที่ แล้วนำไปบีบเป็นเส้นแป้งลงไปในน้ำเดือด พอแป้งสุกก็จะฟูลอยขึ้น ใช้กระชอนตักนำไปใส่ลงในน้ำเย็น แล้วซาวขึ้นมาเพื่อนำข้าวปุ้นที่ได้มาม้วนเป็นไจหรือหัวอีกครั้งหนึ่ง นำไปใส่ในตระกร้าหรือกระจาดที่มีใบตองรองไว้

ทางวิทยาลัยครูมหาสารคาม เห็นว่า เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีของชาวอีสานไว้ให้ชนรุ่นหลังได้รู้จักขั้นตอนในการทำข้าวปุ้นแบบดั้งเดิม อาจารย์ทิวา นวราช จึงได้จัดทำชุดเซิ้งข้าวปุ้นขึ้น

เซิ้งข้าวปุ้น แกนอีสาน

เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงใช้ผู้หญิงล้วน แต่งกายด้วยผ้าถุงมัดหมี่ สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มสไบเฉียง

เครื่องดนตรี ที่ใช้ประกอบการฟ้อนจะใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานลายลำเพลิน

 

blueline

next green คลิกไปอ่าน  การฟ้อนเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง

 

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)