foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

huen isan boran

สุขเพราะมีข้าวกิน สุขเพราะมีดินอยู่
สุขเพราะมีคู่นอนนำ สุขเพราะมีคำเต็มไถ่
สุขเพราะมี 'เฮือน' ใหญ่มุงแป้นกระดาน สุขเพราะหลานหลายนั่งเฝ้า "

“เฮือน” ตามพจนานุกรมภาษาถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นคำนาม มีความหมายเช่นเดียวกับเรือน และพจนานุกรม ภาคอีสาน – ภาคกลาง ฉบับปณิธาน ของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ “เฮือน” เป็นคำนาม หมายความว่า สิ่งปลูกสร้าง สำหรับเป็นที่อยู่ = เรือน

เฮือนโข่ง, เฮือนโล่ง น. เรือนเปิด มีแต่โครงไม่กั้นฝาห้อง ระบายอากาศได้ดี

เฮือนไฟ น. เรือนครัว เรือนสำหรับปรุงอาหาร และเก็บถนอมอาหารบางอย่างที่อาศัยการรมควันไฟ เช่น หัวหอมแดง กระเทียม ปลาแห้ง ที่นำมาผูกแขวนเหนือเตาไฟ

เฮือนย้าว น. เรือนชั่วคราว, เรือนเล็กๆ ส่วนมากมีสองห้อง เสาไม้ไม่ทุบเปลือก เฮือนเหย้า ก็ว่า

เฮือน น. สิ่งปลุกสร้างสำหรับเป็นที่อยู่อาศัย เรียก เฮือน เฮือนนั้นเฉพาะที่จำเป็นแก่ชีวิตประจำวัน มี 3 คือ เรือนนอน เรือนครัว เรือนผม อย่างว่า ญิงใดสมบูรณ์ด้วยเฮือนสามน้ำสี่ เป็นญิงดีเลิศล้ำสมควรแท้แม่เฮือน (บ.). house, home, any of three buildings which form traditional Isan house. (สารานุกรม อีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง)

คำว่า "บ้าน" กับ "เฮือน" สำหรับความเข้าใจของชาวอีสานแล้วจะมีความแตกต่างกัน คำว่า "บ้าน" มักจะหมายถึง "หมู่บ้าน" มิใช่เป็นหลังๆ แต่เป็นชุมชนมีอยู่หลายหลังคาเรือน ส่วนคำว่า "เฮือน" นั้น ชาวอีสานหมายถึง เรือนที่เป็นหลังๆ

นอกจากคำว่า "เฮือน" แล้ว อีสานยังมีสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะการใช้สอยใกล้เคียงกัน แต่รูปแบบแตกต่างกันไป เช่น คำว่า "โฮง" หมายถึงที่พักอาศัยที่ใหญ่กว่า "เฮือน" มักมีหลายห้อง เป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองในสมัยโบราณ เช่น โฮงเจ้าเมือง

คำว่า "คุ้ม" หมายถึง บริเวณที่มี "เฮือน" รวมกันอยู่หลายๆ หลัง เป็นหมู่อยู่ในละแวกเดียวกัน เช่น คุ้มบ้านเหนือ คุ้มบ้านใต้

คำว่า "ตูบ" หมายถึง กระท่อมที่ปลูกไว้เป็นที่พักชั่วคราว มุงด้วยหญ้าหรือใบไม้ สร้างไว้ใช้ชั่วคราว หรือเป็นที่พักของครอบครัวใหม่ อาศัยอยู่กับพ่อตา-แม่ยาย สร้างแบบชั่วคราวต่อกับเล้าเข้า (ยุ้งข้าว) เรียก ตูบต่อเล้า เมื่อทำมาหากิน (ทำนา) ได้ข้าวขายมีรายได้ก็จะออกไปสร้างเฮือนใหม่ในที่ดินที่พ่อ-แม่แบ่งให้ หรือไปสร้างที่หัวไร่ปลายนา หรืออพยพไปสร้างหมู่บ้านใหม่ใกล้ที่ทำกินของตัวเอง

huen isan 02

เรือนพื้นถิ่นอีสาน หมายถึง ที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ไทย-ลาว ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของภาคอีสาน สร้างด้วยไม้จริง มีขนาดความยาว 3 ห้องเสา หลังคาทรงจั่ว ใต้ถุนสูง ที่เรียกว่า “เรือนใหญ่” อันเป็นเป้าหมายในการสร้างชีวิตครอบครัวในอดีต เพราะเป็นเรือนที่มีความพร้อมจะใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ อย่างสมบรูณ์พร้อมใน ระบบครอบครัวรวม (Stem Family) หรือ ครอบครัวขยายชั่วคราว ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความเชื่อ การขัดเกลาทางสังคมและการควบคุมพฤติกรรม ที่สัมพันธ์สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตในครอบครัว เครือญาติทั้งภายใน-ภายนอกชุมชนและธรรมชาติแวดล้อมในท้องถิ่น

เฮือน ขนาด 3 ห้องเสานี้จะประกอบด้วยส่วนใช้สอยที่แบ่งไว้ชัดเจนโดยนับจากด้านสกัดจะได้ดังนี้

  • ห้องเปิง คือ ห้องที่อยู่ของผีเรือน ซึ่งเป็นความเชื่อเรื่องผีบรรพชนของคนโบราณอีสาน และเป็นที่เก็บรักษาวัตถุเครื่องมงคลต่างๆ ด้วย ต่อมาภายหลังเมื่อรับความเชื่อในพุทธศาสนาเข้ามาแทนที่ จึงมีการนำวัตถุมงคลทางศาสนามาเก็บรักษาบูชาร่วมด้วย และวิวัฒนาการกลายเป็นห้องพระไปในที่สุด
  • ห้องกลาง คือ ห้องนอนของพ่อแม่ เป็นห้องนอนใหญ่ ปกติจะนอนรวมกันทั้งหมด พ่อ-แม่ ลูกทุกคน
  • ห้องส้วม คือ (ออกเสียงว่า - ห่องส่วม) ห้องนอนของลูกสาวและลูกเขยที่ออกเรือนใหม่ ห้องนอนที่กั้นไว้เฉพาะเพื่อไว้ให้ลูกสาวลูกเขยนอน เรียก ส้วม อย่างว่า กูจักนอนในส้วมปักตูเฮือนอัดหี่ (กาไก่) คงจะเคยได้ยินภาษิตที่ว่า "มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน" อย่าเข้าใจว่า "สิมีไผแวะมาขี้ใส่ส้วม แล้วบ่ล้างเด้อ..." ความหมายของภาษิตนี่หมายถึง ต้องคอยระมัดระวัง ไม่ให้ไอ้หนุ่มหน้าไหนมาแอบเจาะไข่แดงลูกสาว ก่อนเวลาอันสมควร เพราะถ้าเฝ้าไม่ดีอาจมีเสียงนินทาว่าร้ายในภายหลัง ให้เหม็น (ข่าวไม่ดี) ดังมีส้วมอยู่หน้าบ้านได้

เฮือนอีสาน มีวิวัฒนาการมาจาก "ถ้ำ" หรือ "เพิงผา" ที่เป็นที่อยู่อาศัยของบรรพชนในอดีต ที่ยังคงหาอาหารด้วยการล่าสัตว์ คลี่คลายมาเป็น "เถียงนา" ซึ่งเป็นบ้านแบบชั่วคราว สร้างไว้คุ้มแดด คุ้มฝนไว้หัวไร่ปลายนา เมื่อมีการทำการเกษตร ปลูกพืชผักต่างๆ รวมทั้งการปลูกข้าวในนา ใช้วัสดุง่ายๆ เช่น ไม้ไผ่เป็นโครงสร้างหลักและพื้นเป็นไม้ฟาก มุงด้วยใบตอง หรือหญ้าคา ต่อมาเมื่อรวมกันเป็นชุมชนหรือหมู่บ้าน จึงมีการใช้วัสดุที่มั่นคงแข็งแรงขึ้น เช้น ใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นเสา ตง คาน โครงสร้างหลังคา ผนังกั้นห้อง ส่วนการมุงหลังคาได้หันมาใช้กระเบื้องดินเผา หรือแผ่นไม้เนื้อแข็งมามุงแทนหญ้าคา หรือใบตอง เรียก "ไม้แป้นเกล็ด" จะเห็นว่า หลังคาเฮือนอีสานจะเป็นจั่วสูง มีความชันมาก เพื่อให้การไหลของน้ำฝนผ่านหลังคาได้รวดเร็ว ไม่รั่วซึมง่ายนั่นเอง

huen isan 03
"เฮือนเกย" บ้านตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร
(ภาพจากหนังสือ "เรือนไทย" โดยสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

การจำแนกประเภทเฮือนอีสาน

  • ลักษณะชั่วคราว สร้างไว้ใช้เฉพาะบางฤดูกาล เช่น "เถียงนา" หรือ "เถียงไฮ่" ทำยกพื้นสูงเสาไม้จริง โครงไม้ไผ่หลังคามุงหญ้าหรือแป้นไม้ที่รื้อมาจากเรือนเก่า พื้นไม้ไผ่สับฟาก ทำฝาโล่งหากไร่นาไม่ไกลสามารถไปกลับได้ มีอายุใช้งาน 1-2 ปี สามารถรื้อซ่อมใหม่ได้ง่าย
  • ลักษณะกึ่งถาวร คือ กระต๊อบ หรือเรือนเล็ก ไม่มั่นคงแข็งแรงนัก มีชื่อเรียก "เรือนเหย้า" หรือ "เฮือนย้าว" หรือ "เย่าเรือน" อาจเป็นแบบเรือนเครื่องผูก หรือเป็นแบบเรือนเครื่องสับก็ได้ เรือนเหย้ากึ่งถาวรยังมี "ตูบต่อเล้า" ซึ่งเป็นเพิงที่สร้างอิงกับตัวเล้าข้าว และ "ดั้งต่อดิน" ซึ่งเป็นเรือนที่ตัวเสาดั้งจะฝังถึงดิน และใช้ไม้ท่อนเดียวตลอดสูงขึ้นไปรับอกไก่ เป็นเรือนพักอาศัยที่แยกมาจากเรือนใหญ่ เรือนเหย้ากึ่งถาวรอีกประเภทหนึ่ง คือ "ดั้งตั้งคาน" หรือ "ดั้งตั้งขื่อ" ลักษณะคล้ายเรือนเกยทั่วไป แต่พิถีพิถันน้อยกว่า อยู่ในประเภทของเรือนเครื่องผูก แตกต่างจากเรือนดั้งต่อดิน ตรงที่เสาดั้งต้นกลาง จะลงมาพักบนคานของด้านสะกัด ไม่ต่อถึงดิน

toob tor lao 01
"ตูบต่อเล้า" เป็นเฮือนเหย้าของ "เขยกก" ที่แยกเรือนออกมาให้ "เขยใหม่" หรือ "เขยรอง" เข้าไปอยู่ "ห้องส้วม" แทนตน
ตามภาษิตอีสานที่กล่าวว่า "น้ำใหม่เข้า น้ำเก่าออก" หมายถึง เมื่อมีเขยใหม่เข้ามาแล้ว เขยเก่าก็จะแยกเรือนไปสร้างครอบครัวใหม่

  • ลักษณะถาวร เป็นเรือนเครื่องสับหรือเรือนไม้กระดาน อาจจำแนกได้เป็น 3 ชนิด คือ คือ เฮือนเกย เฮือนแฝด เฮือนโข่ง ลักษณะใต้ถุนสูงเช่นเดียวกับภาคอื่นๆ เรือนเครื่องสับเหล่านี้ ไม่นิยมเจาะช่องหน้าต่าง มักทำหน้าต่างเป็นช่องแคบๆ เรียกว่า "ป่องเอี้ยม" สำหรับการมองออกมาภายนอกได้ แต่ไม่สามารถปีนป่ายเข้าออกทางช่องนี้ ส่วนประตูเรือนทำเป็นช่องออกทางด้านหน้าเรือนเพียงประตูเดียว ภายในเรือนจึงค่อนข้างมืด เพราะในฤดูหนาวมีลมพัดจัดและอากาศเย็น จึงต้องทำเรือนให้ทึบและกันลมได้ หลังคาเรือนทำเป็นทรงจั่วอย่างเรือนไทยภาคกลาง มุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือกระเบื้องไม้สัก จั่วกรุด้วยไม้ตีเกล็ดเป็นรูปรัศมีของอาทิตย์ทั้งสองด้าน รอบหลังคาไม่มีชายคาหรือปีกนกยื่นคลุมตัวบ้านเหมือนอย่างเรือนไทยภาคกลาง

เอกลักษณ์ของเรือนไทยภาคอีสาน

  • ไม่นิยมทำหน้าต่างทางด้านหลังตัวเรือน ถ้าจะทำจะเจาะเป็นช่องเล็กๆ พอให้ยี่นศีรษะออกไปได้เท่านั้น
  • ไม่นิยมต่อยอดป้านลมให้สูงขึ้นไปเหมือนเรือนของชาวไทยล้านนาที่เรียกว่า "กาแล"
  • ไม่นิยมตั้งเสาเรือนบนตอม่อเหมือนเรือนของชาวไทยมุสลิมทางภาคใต้ ด้วยเหตุที่ชาวไทยภาคอีสานปลูกเรือนด้วยการฝังเสา และพื้นดินส่วนใหญ่แข็ง มีหินรองรับ จึงไม่มีการตั้งบนตอม่อ

huen isan 04
เรือนโข่ง : มีลักษณะเป็นเรือนทรงจั่วเช่นเดียวกับเรือนนอนใหญ่ แต่ต่างจากเรือนแฝด
ตรงที่โครงสร้างของเรือนโข่งจะแยกออกจากเรือนนอนโดยสิ้นเชิง บันไดขึ้นชานเรือนจะมี "ฮ้านแอ่งน้ำ"

องค์ประกอบของเรือนไทยภาคอีสาน

  • เรือนนอนใหญ่ จะวางด้านจั่วรับทิศตะวันออก-ตะวันตก หรือเรียกว่า "วางเฮือนตามตะเว็น" เจาะหน้าทางทางทิศใต้ ส่วนมากจะมีความยาว 3 ช่วงเสา เรียกว่า "เฮือนสามห้อง" ใต้ถุนโล่ง มีการแบ่งออกเป็นพื้นที่ส่วนเปิดโล่ง และพื้นที่ส่วนตัว ชั้นบนแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ
    - ห้องเปิง หรือ ห้องที่อยู่ของผีเรือน ใช้เก็บเครื่องรางของขลัง บูชาบรรพบุรุษ และเป็นห้องนอนของลูกชาย เป็นส่วนเปิดโล่งมักไม่มีการกั้นห้อง หรือจะกั้นเพียงบางด้านก็ได้ แต่เดิมนั้น จะห้ามลูกเขย หรือลูกสะใภ้ก้าวล่วงขึ้นไปในห้องเปิง โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นข้อห้ามที่มีบทบาทหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมลูกเขยหรือลูกสะใภ้ที่ต้องเคารพยำเกรงผู้ใหญ่ และจะมีผลต่อการใช้แรงงานทางเศรษฐกิจในครอบครัวของลูกเขย และการอบรมเลี้ยงดูลูกหลานของลูกสะใภ้
    - ห้องพ่อ-แม่ เป็นพื้นที่ส่วนตัว อาจกั้นเป็นห้องเฉพาะขนาดใหญ่ หรืออาจปล่อยโล่งบางด้านก็มี เป็นที่นอนรวมของทุกคนในครอบครัวในวัยเด็ก เมื่อเติบโตหรือมีครอบครัวก็จะย้ายออกไป
    - ห้องส่วม หรือเรียกว่า ห้องนอนลูกสาว มีประตูเข้า มีฝากั้นมิดชิด เป็นพื้นที่ส่วนตัวเฉพาะ หากมีลูกเขยก็จะให้นอนในห้องนี้ ก่อนจะขยับขยายออกไปสร้างครอบครัวใหม่

huen isan 05

ส่วนชั้นล่างของเรือนนอนใหญ่ (ใต้ถุน) อาจใช้สอยได้อีก เช่น กั้นเป็นคอกวัวควาย ที่เก็บอุปกรณ์ในการทำนา พวกคราดไถ เกวียน หรืออุปกรณ์ทอผ้า ฯลฯ รวมทั้งเป็นที่พักผ่อนทำกิจกรรมในฤดูร้อนของครอบครัว หรือสังสรรค์กับเพื่อนบ้าน

  • เกย คือ บริเวณชานโล่งที่มีหลังคาคลุม เป็นพื้นที่ลดระดับลงมาจากเรือนนอนใหญ่ มักใช้เป็นที่รับแขก หรือที่รับประทานอาหาร ส่วนของใต้ถุนจะเตี้ยกว่าปกติ อาจไว้ใช้เป็นที่เก็บฟืน
  • เรือนแฝด เป็นเรือนทรงจั่วแฝดเช่นเดียวกับเรือนนอน โครงสร้างทั้งคานพื้นและขื่อหลังคาจะฝากไว้กับเรือนนอน แต่หากเป็นเรือนแฝดลดพื้นลงมากกว่าเรือนนอน ก็มักเสริมเสามารับคานไว้อีกแถวหนึ่งเพิ่มต่างหาก
  • เรือนโข่ง มีลักษณะเป็นเรือนทรงจั่วเช่นเดียวกับเรือนนอนใหญ่ แต่ต่างจากเรือนแฝดตรงที่ "โครงสร้างของเรือนโข่งจะแยกออกจากเรือนนอนโดยสิ้นเชิง สามารถรื้อถอนออกไปปลูกใหม่ได้ โดยไม่กระทบกระเทือนต่อเรือนนอน" การต่อเชื่อมของชายคาทั้งสองหลังใช้รางน้ำ โดยใช้ไม้กระดาน 2 แผ่น ต่อกันเป็นรูปตัววี แล้วอุดด้วยชันผสมขี้เลื่อยกันการรั่วของน้ำฝน ในกรณีที่เรือนไม่มีครัวก็สามารถใช้พื้นที่ส่วนเรือนโข่งนี้ทำครัวชั่วคราวได้
  • เรือนไฟ (เรือนครัว) ส่วนมากจะเป็นเรือน 2 ช่วงเสา มีจั่วโปร่งเพื่อระบายควันไฟ ฝานิยมใช้ไม้ไผ่สานลายทแยงหรือลายขัด ให้ลมพัดผ่านได้บ้าง
  • ชานแดด เป็นบริเวณนอกชานเชื่อมระหว่างเกย เรือนแฝดกับเรือนไฟ มีบันไดขึ้นด้านหน้าเรือน มี "ฮ้างแอ่งน้ำ" (นั่งร้านยกขึ้นเพื่อวางอ่างน้ำดินเผา) อยู่ตรงขอบของชานแดด บางเรือนที่มีบันไดขึ้นลงทางด้านหลังจะมี "ชานมน" ลดระดับลงไปเล็กน้อยโดยอยู่ด้านหน้าของเรือนไฟ
  • เสาแฮก (แรก) เสาขวัญ จะยึดเสาคู่ในทางตะวันออก เสาแฮกจะอยู่ด้านใน ซึ่งเป็นด้านขยายตัวเรือนออกเป็นเฉลียง ชาน ถ้ากรณีหันหัวนอนไปทางทิศใต้ตำแหน่งเสาแฮก-เสาขวัญจะสลับกันกับเสาลักษณะแรก การเลือกเสาคู่นี้ต้องเลือกเสาที่ดี วิธีผูกเสาแฮก-เสาขวัญ การผูกเสาจะใช้สิ่งที่เป็นมงคลและที่มีความหมายเป็นศรีแก่เรือนและผู้อยู่อาศัย ให้มีความเป็นสิริมงคล เช่น ใบยอ ใบคูน ยอดอ้อย กล้วย ไซใส่เงิน-ทอง อัก (เครื่องมือสำหรับเก็บด้ายทอผ้า) ดูรายละเอียดในเรื่อง การปลูกเฮือน

lao kao 06

ทุกข์บ่มีเสื้อผ้า ฝาเฮือนเพกะพออยู่ ทุกข์บ่มีข้าวอยู่ท้อง นอนลี้อยู่บ่เป็น "

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ในบริเวณบ้าน คือ บริเวณในแนวเขตที่ดินของตนที่อยู่นอกบริเวณใต้ถุนเรือน จะมีการแบ่งพื้นที่ใช้สอยที่หลากหลาย คือ พื้นที่ทำครัวมักจะอยู่บริเวณใกล้ๆ บันได หรือด้านข้างชานแดด ส่วนพื้นที่ปลูกพืชสวนครัวมักจะอยู่บริเวณริมรั้วใกล้ทาง ด้านหลังบ้านมักจะปลูกพืชไม้ผล ส่วนเล้าข้าว (ยุ้งข้าว) จะสร้างไว้ห่างตัวเรือนใหญ่ไปเล็กน้อย ใกล้ๆ กันหรือริมชายคาเรือนใหญ่จะตั้งครกมองสำหรับใช้ตำข้าว

lao kao 01

 เล้าเข้า หรือ ยุังข้าว ไว้เก็บข้าวเปลือกสำหรับไว้ทำพันธุ์ และไว้ตำด้วยครกมอง หรือสีด้วยเครื่องสีข้าวเพื่อการบริโภค

krog mong 04

redline

backled1

 

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)