foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

isan son name

อาวทิดหมู มักหม่วน เคยเขียนเรื่อง "การตั้งชื่อให้ดีเหมาะสมกับดวงชะตา" ซึ่งอิงตามตำราการตั้งชื่อมงคลนามหลายๆ ตำรามาไว้ แต่ก็ยังมีผู้ถามมาว่า "คนอีสานบ้านเฮาในอดีตนั้นเพิ่นตั้งชื่อให้ลูกหลานแปลกๆ พยางค์เดียวบ้าง สองพยางค์บ้าง และบางชื่อก็อาจเป็นชื่อสิงสาราสัตว์ หรือชื่อที่ไม่ตรงกับความจริง หรือไม่ตรงปก เป็นตรงกันข้ามเสมอ คนโบราณมีหลักการตั้งชื่ออย่างไร?" ซึ่งอาวทิดหมูก็ได้โยนคำถามนั้นมาทางผมพร้อมกับสำทับว่า "ครู เฉลยให้แฟนนานุแฟนฮู้แหน่ ผมเกิดบ่ทันได้ถามอีพ่อว่าเป็นหยังจั่งตั้งชื่อผมว่า 'หมู' เลาตายไปสาก่อนแล้ว" ผมเลยต้องมาค้นหาตำรามาเรียบเรียงบอกกันในวันนี้

การตั้งชื่อลูกหลานของคนอีสานโบราณ

"ชื่อ" เป็นคำเรียกแทนตัวของบุคคล ซึ่งมีทั้งชื่อเล่น และชื่อจริง ที่อาจจะไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเลยระหว่างทั้งสองชื่อก็มี (ที่คนต่างชาติไม่เข้าใจและสับสนมาก) การตั้งชื่อลูกหลานของชาวอีสานนั้นมีลักษณะที่ปรากฏชัดเจน อยู่ 2 แบบ คือ การตั้งชื่อเป็นมงคล และการตั้งชื่อแก้เคล็ด ดังนี้

  • การตั้งชื่อเป็นมงคล เมื่อเด็กเกิดมา ปู่ย่า-ตายาย หรือ พ่อแม่ มักจะเป็นคนตั้ง ชื่อเล่น ให้ก่อน และไปให้ พระสงฆ์ที่เคารพนับถือ ดูฤกษ์ผานาทีวันเวลาเกิด (คกฟาก) เพื่อตั้ง ชื่อจริง ให้ เพราะเชื่อว่าจะเกิดสิริมงคลแก่ชีวิตของเด็กตลอดไป ชื่อที่เป็นมงคลมีที่มาจากสิ่งต่างๆ ดังนี้
    • ตั้งชื่อตามธรรมชาติที่เห็นทั่วไป เช่น ภู ผา เมฆ ฟ้า ฝน จันทร์ เดือน เกิ้ง (พระจันทร์)
    • ตั้งชื่อตามชื่อพันธุ์ต้นไม้ เช่น ดู่ (ประดู่) ขาม (มะขาม) ไผ่ หวาย
    • ตั้งชื่อตามสิ่งของมีค่า เช่น แก้ว แหวน เงิน ทอง คำ นาก
    • ตั้งชื่อเป็นสีต่างๆ เช่น เขียว แดง ขาว ดำ
    • ตั้งชื่อตามชื่อสัตว์ เช่น ไก่ อึ่ง หมู หมี เสือ ช้าง

สำหรับผู้เขียนเองนั้นตั้งชื่อลูกสาว-ลูกชายเอง ตามตำรานามมงคล พรหมชาติ โหราศาสตร์ไทย ในตอนแรกคลอดต้องไปแจ้งเกิดที่ สำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานี ที่นั่นมีหนังสือ "ตำราการตั้งชื่ออันเป็นมงคลตามวัน/เดือน/ปีเกิด" ให้บริการอยู่ ก็เปิดเลือกหานามที่เป็นมงคลได้ก่อนการแจ้งเกิดครับ เอาที่มีความหมาย ไพเราะ เขียนและจดจำง่ายกันนะครับ

  • การตั้งชื่อแก้เคล็ด เมื่อเด็กเกิดมาแล้วมีลักษณะไม่สมบูรณ์ หรือพ่อแม่เกรงว่าจะเจ็บป่วยบ่อย ผู้ใหญ่มักจะตั้งชื่อที่ไม่ไพเราะ เพราะเชื่อว่าถ้าชื่อไม่ดีผีจะไม่พาตัวไป ชื่อที่ตั้งหลอกผีจะแสดงลักษณะที่ไม่สวยงาม ดังนี้
    • ตั้งชื่อเป็นของเสีย เช่น บูด เน่า
    • ตั้งชื่อไม่สมประกอบ เช่น แหมบ (จมูกบี้) หล่อย (เป๋) ส่อย (แหว่ง) เหงี่ยง (เอียง)
    • ตั้งชื่อเป็นรูปร่างที่ไม่ดี เช่น จ่อย (ผอม) แห้ง (ผอมแห้ง) เหี้ยน (สั้น,เตี้ย)
    • ตั้งชื่อตามสีที่ไม่สวย เช่น แหล่ (คล้ำ)

ชาวอีสานเชื่อว่า "ชื่อดีมีชัยไปตลอดชีวิต" หากมีเหตุต้องเปลี่ยนชื่ออาจเนื่องมาจากการถือโชคลาภ เชื่อว่าเมื่อเปลี่ยนชื่อแล้วจะโชคดี อีกกรณีคือเปลี่ยนชื่อเพื่อแก้เคล็ดเรื่องความเจ็บป่วย ดังนั้นการตั้งชื่อจึงมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตบนพื้นฐานความคิด ความเชื่อเรื่องสิริมงคลสืบเนื่องกันไป

[ การตั้งชื่อให้เหมาะสมกับดวงชะตาราศี ]

khon isan

การนับลำดับเครือญาติของชาวอีสาน

นอกจากการตั้งชื่อแล้ว ก็ยังมีเรื่อง การนับเครือญาติ ด้วย ที่มีความสำคัญ บ่งบอกความเกี่ยวดองกันในครอบครัว เพราะสภาพครอบครัวของชาวอีสานมีลักษณะเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ครอบครัวขยาย ซึ่งมีทั้งปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ-แม่ ลูก หลาน อยู่ในครอบครัวเดียวกัน หรือมีการสร้างบ้านอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ความสัมพันธ์จึงแน่นแฟ้น โดยผู้ใหญ่จะให้ความรู้แก่เด็กๆ หรือลูกหลาน ตั้งแต่เล็กจนเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาว ขัดเกลาให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม สอนให้พึ่งพาตนเองได้ ยึดมั่นในจารีตประเพณี ถ่ายทอดประสบการณ์และฝึกฝนอาชีพจากรุ่นสู่รุ่นเป็นลำดับ คำเรียกเครือญาติของชาวอีสานจึงมีความละเอียด ดังนี้

ทวด (ผู้ชาย) พ่อซ่น ทวด (ผู้หญิง) แม่ซ่น
ปู่ ปู่, ตู้ปู่ ย่า ย่า, ตู้ย่า
ตา พ่อตู้, พ่อใหญ่ ยาย แม่ตู้, แม่ใหญ่
พ่อ พ่อ, อีพ่อ แม่ แม่, อีแม่
ลุง ลุง, พ่อลุง ป้า ป้า, แม่ป้า
น้า (ผู้ชาย) น้าบ่าว น้า (ผู้หญิง) น้าสาว
น้าเขย น้าเขย น้าสะใภ้ น้านาง
อา (ผู้ชาย) อาว อา (ผู้หญิง) อา
อาเขย อา อาสะใภ้ อา
พี่ชาย อ้าย พี่สาว เอื้อย
ลูกคนโต ลูกกก ลูกคนสุดท้อง ลูกหล้า
ลูกเขย ลูกเขย ลูกสะใภ้ ลูกใภ้
พี่เขย พี่อ้าย พี่สะใภ้ พี่เอือย, พี่นาง
น้องชาย น้อง น้องสาว น้อง
น้องเขย น้องเขย น้องสะใภ้ น้องใภ้
พ่อเลี้ยง พ่อน้า แม่เลี้ยง แม่น้า

ตอนนี้ก็คงจะทราบแล้วว่า ผู้เขียน กับ อาวทิดหมู มีความเกี่ยวดองกันอย่างไร? ท่านก็ลองสำรวจเครือญาติดูครับจะได้นับลำดับญาติกันถูกต้อง คนนั้นเกี่ยวข้องกับเรา กับพ่อ-แม่เราอย่างไร

มีคำถามต่อมาอีกว่า "ได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่เรียกลูกหลานที่สืบสกุลว่า 'ลูก หลาน เหลน โหลน หล่อน แหล่น' มีความหมายลำดับกันอย่างไร" ก็ขอเรียงลำดับดังนี้

  • ลูก หมายถึง ลูกของพ่อแม่ (ลำดับที่ 1)
  • หลาน หมายถึง ลูกของลูก
  • เหลน หมายถึง ลูกของหลาน
  • โหลน หมายถึง ลูกของเหลน
  • หล่อน หมายถึง ลูกของโหลน
  • แหล่น หมายถึง ลูกของ หล่อน

ส่วน คำเรียกขาน แบ่งตามสรรพนาม ดังนี้

สรรพนามที่ 1 ข้อย สัน (ฉัน) นาง (ผู้หญิง) กู แม่ซ่น พ่อซ่น ซ่น ปู่ ย่า พ่อตู้ แม่ตู้ พ่อ แม่ อ้าย เอื้อย ลุง ป้า น้า อา อาว ฯลฯ
สรรพนามที่ 2 เจ้า มึง นาง อีนาง (ลูกสาว/หลานสาว) ท้าว อีท้าว (ลูกชาย/หลานชาย)
สรรพนามที่ 3 เพิ่น เลา มัน

ส่วนสรรพนามที่ใช้เรียกบุคคลทั่วไป ในกรณี หนุ่ม-สาว ทั่วไปนั้นจะเรียกโดยมีคำนำหน้าดังนี้

  • ฝ่ายชาย จะมีการเรียกชื่อวัยรุ่นชาย เรียกขึ้นต้นด้วยคำว่า "บ่าว" และต่อด้วยชื่อของคนที่ถูกเรียกนั้น เช่น บ่าวแดง บ่าวลอย แต่ถ้าเคยบวชเรียนมาก็จะเรียกตามศักดิ์ที่เคยบวชเรียนนั้นด้วยคำว่า "เซียง" (เคยบวชเณรมาก่อน) นำหน้าชื่อ เช่น เซียงเพ้ว เซียงสา และเรียกว่า "ทิด" (หากเคยบวชพระมาก่อน) นำหน้าชื่อ เช่น ทิดสา ทิดมี ทิดมา ทิดหมู เป็นต้น [ อ่านเพิ่มเติม : กองฮด ]
  • ฝ่ายหญิง จะมีการเรียกชื่อวัยรุ่นหญิง เรียกขึ้นต้นด้วยคำว่า "สาว" และต่อด้วยชื่อของคนที่ถูกเรียก เช่น สาวพร สาวจุ้ย สาวนิด

somma wedding isan

งานกินดอง (แต่งงาน) แบบอีสานต้องมีการสมมา (กราบฝากเนื้อฝากตัว) ญาติผู้ใหญ่

ไหนๆ ก็เขียนเรื่อง ชื่อ เรื่อง การนับลำดับญาติ แล้ว ก็ขอเสนอคำและความหมายที่คนอีสานมักจะใช้สื่อสารกัน เป็นคำวิเศษณ์ขยายคำหรือความหมายให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งท่านอาจจะได้ยินได้ฟังจากญาติผู้ใหญ่ คนเฒ่า คนแก่ ในชนบท หรือจากในกลอนลำ หรือในเพลงลูกทุ่งอีสาน โดยเฉพาะสมัยนี้ ลูกทุ่งอีสานอินดี้ มาแรงก็อาจจะมีคำเหล่านี้แทรกอยู่

คำวิเศษณ์หรือคำขยาย

คำวิเศษณ์ คือ คำที่ทำหน้าที่ขยายคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา หรือคำวิเศษณ์ด้วยกัน เพื่อให้ได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น ในภาษาอีสานมีคำวิเศษณ์เป็นสร้อยคำที่ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจน มีลักษณะเป็นคำคล้องจองไม่มีความหมายตายตัว แต่รับรู้ความหมายได้จากการออกเสียงและตีความภาษา ดังนี้

  • คำวิเศษณ์บอกสีสัน เช่น
แหล่กวดตวด สีคล้ำมาก เช่น อีนางน้อยคนนั้นผิวแหล่กวดตวด
แดงจึ่งขึ่ง แดงจัด เช่น ไฟลุกแดงจึ่งขึ่ง (ไฟลุกโชน)
แดงจายวาย สีแดงกำลังสวย เช่น ผู้สาวคนนี้คืองามแท้ ปากแดงจายวายเลย
เหลืองเอ้อเฮ่อ สีเหลืองอ๋อย เช่น แข่ว (ฟัน) เหลืองเอ้อเฮ่อ
ขาวจุนพุน ขาวสวย เช่น ผู้สาวงามหลาย ผิวขาวจุนพุนเลย
ขาวโอกโลก มอมแมม เช่น ไปล้างเนื้อล้างตัวซะ แขนขาขาวโอกโลกยุ
ดำปิ๊ด ดำสนิท เช่น ขี้หมิ่นหม้อ (คราบเขม่า) ติดมือดำปิ๊ดเลย
ดำปี้ๆ ดำมาก เช่น เสื้อผ้าดำปี้ๆ แท้ เอาไปซักแหน่อีนาง
  • คำวิเศษณ์บอกขนาด เช่น
    • คำบอกขนาดรู หรือ ช่อง เรียงลำดับจากขนาดใหญ่ไปหาเล็ก ได้แก่ ฮูจ่างป่าง ฮูโจ่งโป่ง ฮูจ่องป่อง ฮูแจ่งแป่ง และฮูจิ่งปิ่ง
    • คำบอกขนาดของก้อนหิน หรือสิ่งของในลักษณะคล้ายกัน เช่น โข่โหล่ (ก้อนใหญ่) ข่อหล่อ (ก้อนเล็ก) ข่อหล่อแข่แหล่ (เล็กๆ น้อยๆ)
  • คำวิเศษณ์บอกอาการ เช่น
ยิ่งแข้วกีกซีก ยิ้มแฉ่ง, ยิงฟันกว้างๆ, ยิ้มจนเห็นฟัน
ปากบานเพ่อเว่อ ทำปากบานๆ
อ้าปากซอวอ อ้าปากค้าง
ตาสวดโป้โล่ ทำตาโต ตาถลน ตาเหลือก
ส่องป้อล่อ แอบส่องดู
ย่างมาโพ่โว่ เดินโผล่มาพอดี
ย่างเที่ยงที่ลี่ เดินตัวตรง
ขดกอซอ นั่งหรือนอนขดตัว (หมดหวัง)
มิดซีลี เงียบสนิท ไม่มีสัญญาณตอบรับ
ยิ้มปุ้ยๆ ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่
กรนสอดๆ กรนสนั่น นอนกรนเสียงดัง (หลับสนิท นอนมีความสุขหลาย)
กัดแข่วก้วดๆ เข่นเขี้ยวเคี้ยวฟัน (อาจด้วยความโกรธที่รุนแรงมาก)
หมุ่นอุ้ยปุ้ย เละตุ้มเป๊ะ ไม่มีชิ้นดี
แปนเอิดเติด โล่งมาก ไม่มีอะไรขวางกั้น
เปิดอาดหลาด โกยอ้าว, เผ่นแนบ, หนีไปอย่างรวดเร็ว

perd ard lard

  • คำวิเศษณ์บอกสัณฐาน เช่น
แหลมปี๊ด แหลมมาก สูงโจ่นโท่น (เจิ่นเทิ้น ก็ว่า) สูงมาก
กองโจ้โก้ กองใหญ่ๆ มหึมา ซือคิ่งนิ่ง (เอียดเหลียด ก็ว่า) ตรงมาก
  • คำวิเศษณ์บอกกลิ่น เช่น
หอมฮวยๆ หอมมาก หอมฮินๆ กลิ่นตุๆ
เหม็นแหญด เหม็นอับ แหญดแต่งๆ เหม็นอับมาก
  • คำวิเศษณ์บอกรสชาติ เช่น
ส้มปี๊ด เปรี้ยวมาก ขมปี๊ด ขมจัด
ขมอ่ำหล่ำ ขมแบบกลมกล่อม หวานจ้อยๆ คำพูดหวานมาก
หวานจ้วยๆ น้ำตาลหวานมากๆ จ่อยล่อย จืดจาง ไม่มีรส

ข้อมูลจาก : ภูมิปัญญาท้องถิ่นในภาษาและวัฒนธรรมอีสาน โดย อรัญญา แสนสระ

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)