foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

hor mok huak

นตกมาทุ่งนาบ้านทิดหมูเป็นต้องได้ยินเสียงร่ำร้องด้วยความดีใจของ ฝูงกบ เขียด และอึ่งอ่าง ร่ำระงมด้วยความยินดี (คงต้องคลอด้วยเพลงของรุ่งเพชร แหลมสิงห์ ประกอบบทความนี้ด้วย ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพรำๆ..) นั่นแสดงว่า ถึงเวลาที่เราจะได้ออกหากินอาหารแซบตามฤดูกาลกันอีกแล้ว นั่นคือ "ฮวก" คือ ลูกกบที่ยังมีหางตัวเล็กๆ ที่คนอีสานมัก(ชอบ)เอามาทำอาหารกัน ถือว่าเป็นของหายาก เพราะจะมีแค่ในช่วงต้นฤดูฝนเท่านั้น พิมพ์ไป คึดไป กะน้ำลายย้อยไปพี่น้องเอย... มาทำความลู้จักกับ "ฮวก" ในทางวิชาการกันก่อนเนาะ

รู้จักกับฮวกกันก่อน

ฮวก หรือ ลูกอ๊อด (ภาษาอังกฤษ: Tadpole, Pollywog, Porwigle) หรือ อีฮวก ในภาษาเหนือ เป็นชื่อเรียกของตัวอ่อนของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในอันดับ กบ (Anura) เมื่อโตเต็มวัย ลูกอ๊อดจะมีรูปร่างเช่นเดียวกบปกติทั่วไป แต่กระนั้นก็ยังมีกบบางชนิดที่ไม่มีช่วงวัยลูกอ๊อด

cyclelife of frog
วงจรชีวิตของกบ (ภาพจาก Encyclopedia Britannica, Inc.)

ลูกอ๊อด มีรูปร่างโดยทั่วไปคล้ายปลา มีหาง ไม่มีขา หายใจด้วยเหงือก ส่วนหัวมีขนาดโตมาก ซึ่งลูกอ๊อดของกบแต่ละวงศ์ก็มีรูปร่างและลักษณะแตกต่างออกไป โดยแบ่งตามโครงสร้างของปาก โครงสร้างของห้องเหงือก จำนวนและตำแหน่งของช่องเปิดเหงือกที่เป็นทางผ่านออกของน้ำ ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 4 แบบ คือ

  • มีช่องปากยาวและแคบ ไม่มีจะงอยปากและไม่มีตุ่มฟันบริเวณปาก ช่องเปิดห้องเหงือกมี 2 ช่องอยู่ทางด้านข้างของลำตัว กินอาหารด้วยการกรองเข้าปาก เช่น กบในวงศ์ Pipidae
  • มีช่องปากเล็กและซับซ้อนมากกว่าแบบที่ 1 แต่ไม่มีจะงอยปาก และไม่มีตุ่นฟันที่บริเวณปาก ช่องเปิดของห้องเหงือกมีช่องเดียวอยู่ทางด้านท้ายตัว และในแนวกลางลำตัว กินอาหารด้วยการกรอง เช่น กบในวงศ์ Microhylidae
  • ช่องปากมีจะงอยปากและมีตุ่มฟัน ช่องเปิดของห้องเหงือกมีช่องเดียว อยู่ในแนวตรงกลางลำตัว ได้แก่ กบในวงศ์ Ascaphidae, Bombinatoridae, Discoglossidae
  • ช่องปากมีจะงอยปากและมีตุ่มฟัน ช่องเปิดของห้องเหงือกมีช่องเดียว อยู่ทางด้านข้างลำตัวและทางซ้ายของลำตัว ซึ่งลักษณะของกบส่วนใหญ่

นอกจากนี้ ลูกอ๊อดแต่ละชนิดจะมีรูปร่างแตกต่างกัน แล้วยังมีระบบนิเวศน์ที่อาศัยแตกต่างกันอีกด้วย ลูกอ๊อดบางชนิดจะว่ายน้ำระดับผิวน้ำ หรือกลางน้ำและกินอาหาร แต่บางชนิดจะไม่กินอาหาร แต่จะใช้อาหารจากถุงไข่แดงที่ติดมาจากไข่แทน บางชนิดเกาะติดอยู่กับก้อนหินหรือโขดหินในลำธารที่มีน้ำไหลแรง บางชนิดซุกซ่อนตัวอยู่ในโคลนใต้พื้นน้ำ ขณะที่บางชนิดจะอยู่ในน้ำบนใบไม้ก็มี

ลูกอ๊อด หรือ ฮวก สามารถนำไปปรุงเป็นอาหารได้ในอาหารพื้นบ้านแบบอีสาน หรืออาหารแบบชาวเหนือ เช่น แอ็บ, หมก แกง อ่อม หรือทำน้ำพริก

hauk 01

มาไปนา ไปหาส่อนฮวก

ฮวก หรือ ลูกอ๊อด คือ ลูกกบ ลูกเขียด ตอนที่มันยังเป็นตัวเล็กๆ ในช่วงที่ฝนตกใหม่ๆ หรือย่างเข้าหน้าฝน ตามท้องนาอีสานบ้านเฮาพอฝนตกมา กบ เขียด มันก็จะออกมาจับคู่ผสมพันธุ์และวางไข่ หลังจากนั้นไม่นาน ในแหล่งน้ำที่เกิดขึ้นใหม่โดยเฉพาะในนาก็จะมี ลูกอ๊อด หรือ ฮวก เต็มไปหมด จังหวะนี้แหละที่พวกเฮาชาวอีสานจะเตรียมสวิง บ้างก็ใช้ตาข่ายขนาดใหญ่ เตรียมคุไม้ไผ่ เตรียมข้อง ไปหาส่อน (ช้อน) เอาตัวฮวก มาประกอบอาหารรสเด็ดกินกัน (เรื่องนี้บ่ต้องเอาไปฝากป้า มันมีน้อย พอกินแต่พวกเฮานี่หละ อิอิ)

hauk 02 

พอถึงทุ่งนาได้ทำเลเหมาะๆ เห็นว่ามีฮวกแน่นอนแล้ว เราก็เริ่มลงน้ำส่อนสวิง หรือกวาดดางมองตาข่ายกันเลย ส่อนลงจักหน่อยยกขึ้นมาดูว่าในการส่อนครั้งนี้มีฮวกติดมากี่ตัว ในบางแหล่งที่มีฮวกเยอะๆ แป๊บเดียวก็ได้ปริมาณพอกินแล้ว บางแหล่งฮวกยังไม่โตเต็มวัย (หัวแหลมๆ หางยาวๆ) เราก็ข้ามไปก่อน รอให้มันโตขึ้นมาค่อยกลับมาส่อนในวันหลัง (ข้อควรระวังคือ ดูให้ออกว่ามันเป็นฮวกกบ หรือฮวกเขียดตะปาด เบิ่งสีมัน ถ้าสีดำๆ ล้วนๆ ละบ่แม่นเด้อ มันต้องออกเหลืองๆ จักหน่อย อันนี้ทิดหมูเคยพ้อสมัยเป็นบ่าว ยังดื่มหนักๆ อยู่ ด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล์ชวนกันไปส่อนฮวก พัดได้ฮวกตะปาดมาหมกพากันเมาฮากแอ่ ฮากแอ่น นอนเป็นตายไปหลายมื้อพุ้นตั่ว) ในการส่อนสวิงแต่ละรอบ อาจจะมีตะกอน เศษต้นไม้ใบหญ้าติดมาด้วย เราก็เก็บโยนทิ้งขึ้นริมฝั่ง เพื่อรอบต่อไป จะได้ไม่ต้องมาเก็บออกซ้ำ ระวังบางที่ส่อนไปส่อนมาไปเจอกองขี้ควายติดมาเต็มสวิงเลยก็มี

hauk 03

สิ่งที่เราจะได้ในการส่อนแต่ละครั้ง บ่อได้แม่นแต่ฮวกเด้อ อาจจะได้อย่างอื่นติดมามาด้วย เช่น แมงง้องแง้ง แมงระงำ บางทีโชคดีอาจจะได้แมงตับเต่ามาด้วย โชคดีไปอีกอาจได้แมงดา ปลาดุกนามาพร้อม เอาใส่ข้องรวมๆ กันไปก่อน แล้วค่อยไปคัดแยกกันอีกที หมานๆ ครับ

ได้เวลาเข้าครัวทำ "หมกฮวก"

เมื่อส่อนหลายๆ เทื่อ จนรวบรวมฮวกมาได้มากพอที่จะเอามาประกอบเป็นอาหารกันแล้ว ก็กลับบ้านเตรียมเข้าครัวกันได้เลย แต่ว่าตัวฮวกที่ได้มาก็ใช่ว่าจะเอาไปทำอาหารได้เลยนะครับ ต้องมีอีกขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง นั่นก็คือ การเอาขี้ของฮวกออก ภาษาอีสานเรียกการ “ไส่ขี้” (เบิ่งจากรูป ฮวกตัวอ้วนๆ ป่องๆ นั้นมีขี้เต็มเลย ฮวกพวกนี้มันอาศัยกินขี้ไคลน้ำ เศษพืชที่อยู่ในนา) วิธีการบีบท้องฮวกให้ขี้มันแยกออกจากตัว ให้เอาสวิงหรือกระด้งตาถี่ๆ มารองไว้ไม่ให้ฮวกไหลออก จะทำให้ง่ายบีบขี้ฮวกออกได้ง่ายขึ้น จากภาพประกอบข้างล่างแล้วก็ไม่ต้องบรรยายมากครับพี่น้อง ว่าขี้ฮวกมันจะเยอะขนาดไหน

hauk 04

หลังจากไส่ขี้เรียบร้อยแล้ว ให้ทำการล้างด้วยน้ำสะอาดอีกสักรอบสองรอบ เพียงเท่านี้ฮวกก็จะไม่มีขี้ขมๆ และพร้อมที่จะนำไปประกอบอาหารให้ขั้นตอนต่อไปแล้วครับ

"หมกฮวก" บ่เอาฝากป้า

ต่อไปเป็นขั้นตอนสำคัญแล้วครับ เราจะทำอาหารแบบแซบหากินยาก หากินได้เฉพาะบางฤดูกาลเท่านั้น คือ การทำหมกฮวก นั่นเอง (อย่าเสียงดังให้ป้าได้ยิน ของมันมีน้อยบ่พอกินดอก หายาก เฮ็ดกินกะยากอีก ยังสิเอาไปฝากเพิ่นอีก อีแม่กะดาย) ทำกิ่นง่ายๆ ครับ เตรียมอุปกรณ์และเครื่องปรุงให้พร้อมเลย

  • ฮวก ของสำคัญที่ทำการไส้ขี้ล้างให้สะอาดเรียบร้อย ปริมาณมากน้อยตามที่หาได้
  • ใบตองกล้วย สำหรับการทำห่อหมก พร้อมไม้กลัด (ใช้ไม้จิ้มฟันก็ได้สะดวกดี)
  • เครื่องปรุงรสประกอบด้วย เกลือ น้ำปลาแดก (ปลาร้าหอมๆ) น้ำปลา ผงนัว (ชูรส) ตามชอบ
  • เครื่องเทศและผักหอมต่างๆ ได้แก่ ตะไคร้ (ดับกลิ่นคาว) หอมแดง ต้นหอมสด พริกสด ใบอีตู่ (แมงลัก) ผักขะแยง

วิธีการทำ นำเอาตะไคร้มาซอยละเอียด หอมแดงซอย แล้วนำมาตำกับพริกสดให้ละเอียด ต้นหอมสดหั่นท่อน พร้อมเด็ดใบอีตู่และผักขะแยง เอาลงไปคลุกกับฮวกที่เตรียมไว้แล้วให้เข้ากันดี ปรุงรสด้วยเกลือเล็กน้อยใส่น้ำปลาแดกลงไปกะให้นัวๆ พอดี (อย่าให้เค็มเด้อ สิเสียของ) ส่วนน้ำปลาและผงนัวจะใส่หรือไม่ก็ตามใจ (คนที่ไม่เชื่อมั่นในฝีมือมักจะขาดสิ่งนี้ไม่ได้) แล้วนำไปห่อด้วยใบตองกล้วยขนาดพอเหมาะ (มีปริมาณเยอะก็ต้องหลายห่อ เผื่อแม่ป้า พ่อลุงนำแหน่กะตามใจ) แล้วนำไปตั้งย่างไฟอ่อนๆ กลิ่นของใบตองไหม้ไฟจะเพิ่มความหอมและรสชาสของหมกฮวกให้อร่อยมากยิ่งขึ้น เว้ามาแล้วน้ำลายแตกแตนเลยพี่น้อง

hauk 05

นอกจากการหมกฮวกแล้ว บางคนก็เอาไปทำอ่อมฮวก หรืออู๋ฮวกก็ได้เช่นกัน ความแตกต่างของการอ่อมฮวกกับอู๋ฮวกนั้น อยู่ที่ปริมาณของน้ำและผักที่ใส่ลงไปในอาหาร แต่กระบวนการทำเหมือนกันคือ ใช้ภาชนะที่เป็นหม้อ (หม้อดิน หรือหม้ออะลูมิเนียมก็ได้) ใส่น้ำและเครื่องแกงลงไปพอขลุกขลิก เติมฮวกและผักต่างๆ ลงไปเช่น ใบอีเลิด (ชะพลู) ผักชีลาว ใส่เครื่องปรุงรสน้ำปลาร้า ถ้าปริมาณผักมากกว่าตัวฮวกต้มให้สุก มีน้ำเล็กน้อยเติมข้าวคั่วลงไปจะเป็นอ่อมฮวก

hauk 06

ส่วนการอู๋ฮวกนั่น ก็ใช้หม้อตั้งไฟ ใส่น้ำไม่ต้องเยอะมาก ใส่เครื่องปรุง ผักหอมต่างๆ (เหมือนหมก) ใส่ฮวก ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า ตั้งไฟให้สุกจนน้ำงวดลงเกือบแห้ง ได้กลิ่นหอมยกลง ไม่ต้องใส่ข้าวคั่ว ก็จะได้อู๋ฮวกแซบๆ แล้ว แต่ถ้าใส่น้ำลงไปเยอะๆ จะกลายเป็นต้มฮวกนะพี่น้อง ซึ่งไม่มีใครทำกันนักสำหรับอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์เล็กสัตว์น้อยแบบนี้ แนวแซบอีกอย่างสำหรับการปรุงอาหารด้วย ฮวก คือ แกงฮวกใส่หน่อไม้ส้ม แต่ทิดหมูกินบ่ได้ครับผิดโรคนับบ่เถิงสิบ (เก๊าท์) อย่างแฮงเลย (กรรมของข้าน้อยอีหลี อยากปานได๋กะบ่ได้กิน) ความเป็นอาหารอีสานขนานแท้ที่ขาดไม่ได้เลยคือ น้ำปลาร้า ครับ เพราะจะได้ความแซบนัวแบบไม่ต้องมีผงชูรสเลยนั่นเอง

hauk 07

อ่านจบแล้ว "พากันคึดฮอดบ้านกันบ่น้อพี่น้องเอย" ว่าแล้วกะสิลงไปจอบหนองในนาใกล้เฮือนเบิ่งก่อน เทื่อมันสิยังพอมีให้ได้กินจักหน่อยน้อพี่น้องนอ... ไปพากันเมือยามบ้านหาอีแม่พอได้กินแนวแซบๆ กัน สวัสดีครับ

อาว์ทิดหมู มักหม่วน
กระท่อมน้อยฮิมมูลพุ้นแหล่ว
29 กรกฎาคม 2562

"ฮวก" นอกฤดูกาลก็มี

หนุ่มอุดรธานี กลับจากไปทำงานต่างจังหวัดมาอยู่บ้านเกิด คิดเลี้ยงกบเพื่อขาย "ลูกอ๊อด" หรือ "ฮวก" โดยผสมพันธุ์พ่อแม่กบนากับกบพันธุ์บลูฟร็อก จับขายนอกฤดูฝนได้กิโลกรัมละ 300-400 บาท รายได้เดือนละหมื่น (คิดต่างก็ร่ำรวยได้)

hauk 08

นอกจากขายฮวกแล้ว ยังมีรายได้จากการขายกบขนาดเล็กอายุ 1 เดือน ที่ขายตัวละ 1 บาท ส่วนกบอายุ 3 เดือน จะขายปลีก-ส่งกิโลกรัมละ 120 บาท ส่วนพ่อแม่พันธุ์จะมีอายุ 3 ปี จากนั้นก็จะเปลี่ยนพ่อแม่พันธุ์ใหม่

"สาเหตุที่เลี้ยงกบพันธุ์บลูฟร็อกผสมกับกบนา เพราะกบพันธุ์บลูฟร็อกมีขนาดใหญ่ ส่วนกบนาพันธุ์พื้นเมืองมีขนาดเล็กแต่เนื้อแน่น แข็งแรง ทนต่อโรค ทำให้สามารถเลี้ยงเป็นกบพันธุ์เนื้อขายส่งได้ราคาดี หากต้องการให้กบมีขนาดใหญ่ ให้กินอาหารเม็ดกบ แต่ถ้าอยากให้เนื้อแน่นไม่โตมาก จะให้กินอาหารปลาดุก ส่วนการทำให้กบผสมพันธุ์กัน ก็ทำง่ายๆ (หลอกกบกะเป็นน้อ) คือฉีดน้ำใส่สังกะสีทำให้เหมือนเสียงฝนตก และใช้แสงแฟลชกล้องถ่ายรูปให้เหมือนฟ้าแลบ จะทำให้กบผสมพันธุ์กัน ใน 1 ปีจะขายลูกอ๊อด หรือฮวก ได้ 7 เดือน จากเดือนมีนาคม–ตุลาคม ส่วนฤดูหนาวกบจะจำศีล"

hauk 09

ใครสนใจก็ติดต่อ นายธนากร หอมดวง บ้านเลขที่ 15 หมู่ 12 บ้านธาตุสามัคคี ตำบลกุดจับ อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี ครับ

ที่มา : ข่าวไทยรัฐออนไลน์

 

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)