foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

isan food header

อาหารพื้นเมืองอีสานมักจะต้องมีส่วนปรุงรส หรือชูรส ด้วยผักพื้นบ้านอีสาน ซึ่งมีเอกลักษณ์ทางด้านถิ่นกำเนิด กลิ่นและรสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ หายากเพราะมีผลผลิตออกมาตามฤดูกาล นอกจากนั้นยังเป็นพืชผักที่ให้คุณค่าทางด้านสุขภาพอนามัย ปลอดสารพิษ ทำให้เป็นที่นิยมกันทั่วไป ไม่ว่าจะทำอาหารประเภทลาบ ก้อย ต้ม แกง อ่อม ล้วนต้องใช้ผักพื้นเมืองเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น

samunprai

กะเพรา

กะเพรา ใช้ใบดอกประกอบอาหาร เพิ่มรสชาด สรรพคุณทางยาบำรุงธาตุ แก้ปวดท้อง ท้องขึ้น แก้ลมตาล ลมทรางในเด็ก ใช้ปรุงผสมกับสมุนไพรอื่นๆ เป็นยาเขียว ยาลมธาตุ ยาแก้กษัย ส่วนรากใช้ฝนใส่ฝาหม้อดินผสมกับสุราขาวหยอดใส่ปากเด็กโต 3-5 ขวบขึ้นไป ช่วยไล่ลมในกระเพาะ ลำไส้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ

กะเพรา มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า กอมก้อ กอมก้อดง (เชียงใหม่), ห่อกวอซู ห่อตูปลู อิ่มคิมหลำ (แม่ฮ่องสอน), กะเพราขน กะเพราขาว กะเพราแดง (ภาคกลาง), อีตู่ไทย (ภาคอีสาน) เป็นต้น

ชื่อสามัญ : Holy basil, Sacred basil
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ocimum tenuiflorum L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ocimum sanctum L.) จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)

 ka prao

กะเพรา เป็นไม้ล้มลุกที่มีความสูงของต้นประมาณ 30-60 เซนติเมตร โคนต้นออกแข็ง กะเพรามีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ กะเพราแดงและกะเพราขาว กะเพราแดงจะมีลำต้นสีแดงอมเขียว กะเพราขาวมีลำต้นสีเขียวอมขาว และยอดอ่อนมีขนสีขาว มีใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวรูปรีออกตรงข้ามกัน ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบแหลม ขอบใบเป็นจักฟันเลื่อยและเป็นคลื่น แผ่นใบมีขนสีขาว ส่วนดอกกะเพราจะออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกสีขาวแกมม่วงแดงมีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงโคนจะเชื่อมติดกัน ปลายเรียวแหลม ด้านนอกมีขน กลีบดอกแบ่งเป็น 2 ปาก ปากบน 4 แฉก ปากล่าง 1 แฉกและยาวกว่าปากบน มีขนประปราย เกสรตัวผู้มี 4 อัน ส่วนผลเป็นผลแห้ง เล็ก เมื่อแตกออกจะมีเมล็ดสีดำถึงน้ำตาลคล้ายรูปไข่

โดยกะเพราแดงจะมีฤทธิ์ที่แรงกว่ากะเพราขาว ในสรรพคุณทางยาจึงนิยมใช้กะเพราแดง โดยส่วนที่นำมาใช้ทำเป็นยาสมุนไพรก็ได้แก่ ส่วนของใบ ยอดกะเพรา (ทั้งสดและแห้ง) และทั้งต้น แต่ถ้านำมาใช้ประกอบอาหารจะนิยมใช้กะเพราขาวเป็นหลัก เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีสรรพคุณทางยาช่วยรักษาโรคได้หลายชนิด ทั้งตำรับยาไทยและต่างประเทศก็ระบุว่า กะเพราเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลายด้าน อย่างตำราสมุนไพรไทยบ้านเราก็บรรยายสรรพคุณของกะเพราเอาไว้ว่า รสฉุน ร้อน ช่วยขับลมแก้ซาง แก้ท้องขึ้น จุกเสียดแน่นท้อง ปวดท้อง ช่วยในการย่อยอาหาร และช่วยบำรุงธาตุ เป็นต้น และในต่างประเทศก็มีการใช้กะเพราในการรักษาโรคกันอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าบ้านเราเสียอีก โดยเฉพาะประเทศอินเดีย เขาถือว่า กะเพราเป็นยารักษาโรคได้ทุกโรค และยังจัดเป็นราชินีแห่งสมุนไพร (The Queen of herbs) หรือเป็นยาอายุวัฒนะ (The Elixir of life) เลยก็ว่าได้

กระเทียม

กระเทียม (Garlic) ใช้ปรุงอาหารต่างๆ ช่วยให้มีกลิ่นเผ็ดร้อน ชวนรับประทาน ใช้หัวสดตำทาแก้โรคผิวหนัง เช่น เกลื้อน กลาก ตลอดจนเม็ดผดผื่นคันตามตัวทั่วไป ปรุงผสมสมุนไพรอื่นๆ ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร ริดสีดวงลำไส้ ขับลมในกระเพาะ เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยให้นอนหลับง่าย แก้โรคหืด

ชื่อสามัญ : Garlic
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Allium sativum L. จัดอยู่ในวงศ์พลับพลึง (AMARYLLIDACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย ALLIOIDEAE (ALLIACEAE)

สำหรับในประเทศไทยนิยมปลูกกันมากในทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่สำหรับกระเทียมที่ขึ้นชื่อว่า เป็นกระเทียมไทยคุณภาพดี กลิ่นฉุนกลีบเล็ก นิยมใช้ในการประกอบอาหารไทย ก็คงหนีไม่พ้นในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ โดยเฉพาะที่อำเภอยางชุมน้อย จะเป็นแหล่งปลูกกระเทียมที่สำคัญ การมีวิตามินและแร่ธาตุในกระเทียมมากน้อยนั้น ก็ขึ้นอยู่กับดินและสภาพอากาศที่ใช้ในการเพาะปลูกด้วย

kra tiam

ประโยชน์ของกระเทียม

ประโยชน์หลักๆ ของกระเทียมคงหนีไม่พ้นการนำมาใช้เพื่อช่วยปรุงรสชาติของอาหาร ไม่ว่าจะใช้ผัด แกง ทอด ยำ ต้มยำ หรือน้ำพริกต่างๆ อีกสารพัด กระเทียมเป็นเครื่องสมุนไพรที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลากหลายชนิด และยังเป็นพืชที่ธาตุซีลีเนียมสูงกว่าพืชชนิดอื่นๆ รวมทั้งยังมีสารอะดีโนซีน (Adenosine) ซึ่งเป็นกรดนิวคลีอิกที่เป็นตัวสร้าง DNA และ RNA ของเซลล์ในร่างกาย นอกจากนี้ยังมีการนำกระเทียมไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างหลากหลาย เช่น กระเทียมเสริมอาหาร กระเทียมสกัดผง สารสกัดน้ำมันกระเทียม กระเทียมดอง เป็นต้น

สรรพคุณของกระเทียม

ช่วยบำรุงผิวหนังให้มีสุขภาพดีและแข็งแรง เสริมสร้างการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อในร่างกาย ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง เสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย ลดระดับคอเลสเตอรอลและน้ำตาลในเลือด ปรับสมดุลในร่างกาย แก้อาการวิงเวียนศีรษะ อาการมึนงง ปวดศีรษะ หูอื้อ ช่วยในเรื่องระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินปัสสาวะ เพราะมีสารที่ช่วยควบคุมฮอร์โมนทั้งหญิงและชาย ช่วยทำให้มดลูกบีบตัว เพิ่มพละกำลังให้มีเรี่ยวแรง รักษาโรคความดันโลหิต ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ ลดความเสี่ยงของหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เป็นต้น

ขี้เหล็ก

ขี้เหล็ก จัดเป็นพืชในวงศ์ Leguminosae นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกในท้องถิ่นที่แตกต่างกัน เช่น ขี้เหล็กแก่น (ราชบุรี) ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง) ขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ) ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลางบางที่) ผักจี้ลี้ (ฉาน-แม่ฮ่องสอน) ยะหา (มลายู-ปัตตานี) และขี้เหล็กจิหรี่ (ภาคใต้) เป็นต้น

ชื่อสามัญ : Siamese senna, Siamese cassia, Cassod tree, Thai copperpod
ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna siamea (Lam.) H.S.Irwin & Barneby (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cassia siamea Lam.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)

kee lek

ขี้เหล็ก เป็นพืชผักสมุนไพรที่หาได้ง่ายตามตลาด นอกจากจะนำมาใช้ทำเป็นอาหารไว้รับประทานแล้ว ในตำราการแพทย์แผนไทยยังได้มีการใช้ประโยชน์ของต้นขี้เหล็กในหลายๆ ด้าน เช่น ใช้แก้อาการท้องผูก บำรุงโลหิต บำรุงน้ำดี ช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยกำจัดรังแค ทำความสะอาดผมทำให้ผมชุ่มชื่นเงางาม เป็นต้น และนอกจากนี้ขี้เหล็กยังมีสาร "บาราคอล" (Baracol) ที่มีฤทธิ์ในการกล่อมประสาท และมีฤทธิ์เป็นยานอนหลับอ่อนๆ ทำให้นอนหลับสบาย แต่ก็ใช่ว่ามันจะได้ผลอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะในกระบวนการปรุงอาหารให้ปลอดภัยก็ต้องต้มน้ำทิ้งเสียก่อน เพื่อลดความขมและความเฝื่อน ทำให้ความเป็นพิษและฤทธิ์ดังกล่าวลดน้อยลงไปด้วย โดยส่วนที่นำมาใช้และมีสรรพคุณทางยา ได้แก่ ดอก ใบ ใบแก่ ฝัก เปลือกฝัก เปลือกต้น ลำต้น กิ่ง แก่น ทั้งต้น และราก

คนอีสานบ้านเฮานิยมนำเอาใบอ่อนนำมาต้มจนเปื่อย หมดรสขม นำมาแกงใส่อุ้งตีนวัว หรือหนังวัว/ควายตากแห้ง ปิ้งไฟทุบให้นุ่ม ใส่น้ำใบยานาง บางคนก็ชอบกะทิใส่ลงไปกลายเป็น "แกงขี้เหล็กใส่หนังวัว" แซบอีหลีเด้อสิบอกให่ สรรพคุณทางยา แก่นต้นขี้เหล็กนั้นแก้ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย บำรุงธาตุไฟแก้หนองในและกามโรคในบุรุษ ราก แก้ไข้หัวลม อากาศเปลี่ยนฤดู แก้ปวดเมื่อย เหน็บชา แก้กษัย บำรุงไต ดอก แก้โรคประสาทอาการนอนไม่หลับ แก้หอบหืด บดผสมน้ำฟอกผมบนศรีษะขจัดรังแค เปลือก แก้ริดสีดวงทวาร ริดสีดวงลำไส้ แก้โรคเบาหวาน สมานแผลให้หายเร็ว ใบแก่ แก้ถอนพิษ ถ่ายพิษ กามโรค ตำพอกที่แข้งขา มือเท้าที่มีอาการบวมเนื่องจากเหน็บชา ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย กิ่ง-ใบ ทำเป็นยาระบายถ่ายพิษ ขับเสลดในคอ แก้ไข้จับสั่น (มาลาเรีย)

โทษของขี้เหล็ก : เมื่อมีประโยชน์ก็มักจะมีโทษแฝงอยู่ เช่น การรับประทานขี้เหล็กในลักษณะที่นำใบขี้เหล็กไปตากแห้ง แล้วบรรจุเป็นเม็ด อาจทำให้เกิดการเสื่อมและการตายของเซลล์ตับ หรืออาจทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ ทำให้เกิดโรคตับได้ ซึ่งการรับประทานขี้เหล็กอย่างปลอดภัย ต้องเลือกใบเพสลาดหรือตั้งแต่ยอดอ่อนถึงใบขนาดกลาง และนำไปต้มให้เดือด เทน้ำทิ้งสัก 2-3 น้ำ แล้วค่อยนำมาปรุงอาหารหรือนำไปทำเป็นยา ซึ่งวิธีการแบบพื้นบ้านนี้จะช่วยฆ่าฤทธิ์และทำลายสารที่เป็นอันตรายต่อตับได้ และยังช่วยลดความขมลงอีกด้วย

ดอกแค

แคขาว แคแดง ยอดใบ ดอกและฝักเรานำมากินเป็นผัก นึ่งใส่ปลา ลวกจิ้มแจ่ว แซบแท้ๆ และยังเป็นยาแก้ท้องเดิน ท้องร่วง สมานแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ แก้บิด มูกเลือด แก้ไข้หัวลม เปลือกต้นแคนั้นมีสรรพคุณทางยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับเสมหะในลำคอ ใช้ฝนเอามาทาแผลเปื่อย แผลสดได้ผลดี ส่วนใบนำมาตำพอกแผลสดเพื่อสมานเนื้อให้หายเร็ว

สมุนไพรแค มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า แคขาว แคแดง แคดอกขาว ดอกแคแดง แคดอกแดง (กรุงเทพ-เชียงใหม่), แค แคบ้าน ต้นแค แคบ้านดอกแดง ดอกแคบ้าน (ภาคกลาง), แคแกง เป็นต้น

ชื่อสามัญ : Agasta, Sesban, Vegetable humming bird, Humming bird tree, Butterfly tree, Agati
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sesbania grandiflora (L.) Pers. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)

dok kae

ประโยชน์ของแค

ต้นแค นิยมปลูกไว้เป็นรั้วบ้าน ปลูกตามคันนา ริมถนนข้างทาง และปลูกไว้ในบริเวณบ้าน แคเป็นพืชที่มีจุลินทรีย์ที่ปมราก เมื่อจับกับก๊าซไนโตรเจนในอากาศจะผลิตเป็นปุ๋ยที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ต้นแคจึงเป็นพืชที่ช่วยปรับปรุงดินไปได้ในตัวอีกด้วย ใบใช้เป็นอาหารสัตว์ เลี้ยงโคกระบือได้ดี และเป็นที่ชื่นชอบของโคกระบือ ไม้ใช้ทำเป็นฟืนหรือเชื้อเพลิงได้ ลำต้นนิยมนำมาใช้ในการเพาะเลี้ยงเห็ดหูหนูได้ดี ประโยชน์ของดอกแค ฝักอ่อน ยอดอ่อน และใบอ่อน สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย เมนูดอกแค เช่น แกงแค, แกงส้มดอกแค, ดอกแคสอดไส้, ดอกแคห่อกุ้งทอด, แกงเหลืองปลากะพง, แกงจืดดอกแค, ดอกแคชุบแป้งทอด, ดอกแคผัดหมู, ดอกแคผัดกุ้ง, ดอกแคผัดเต้าเจี้ยว, ดอกแคผัดกะเพรา, ยำดอกแค, ส่วนใบอ่อน ยอดอ่อน และฝักอ่อนนำมาลวกจิ้มกินกับน้ำพริกก็ได้ เป็นต้น

สำหรับชาวอีสาน นิยมนำดอกแคและยอดอ่อนมานึ่งหรือย่าง รับประทานร่วมกับลาบ ก้อย แจ่ว และดอกยังนำมาปรุงเป็นอาหารประเภทอ่อมอีกด้วย บ้านเรานิยมกินดอกและยอดอ่อน แต่สำหรับประเทศอื่นๆ บางประเทศจะนิยมกินดอกแคสดหรือนำมานึ่งเป็นสลัดผัก ส่วนฝักจะใช้รับประทานเหมือนกับถั่วฝักยาว

สรรพคุณทางยาของแค

ดอก, ยอดอ่อนแค อุดมไปด้วยวิตามินซึ่งมีส่วนช่วยต่อต้านและยับยั้งมะเร็ง เพราะมีสารที่มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการก่อกลายพันธุ์ สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้เป็นอย่างดี ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ช่วยป้องกันและรักษาอาการหวัด ช่วยบำรุงและรักษาสายตา เนื่องจากมีเบตาแคโรทีนที่ร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้

ใบสด, ดอกโตเต็มที่ ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย แก้ร้อนใน กระหายน้ำ เปลือกต้นช่วยคุมธาตุในร่างกาย ฝักช่วยในเรื่องความจำ ป้องกันการเกิดเนื้องอก บรรเทาอาการไข้ ปวด โลหิตจาง ด้วยการใช้ฝักแคสด 20 กรัม นำมาเคี่ยวกับน้ำ 1 ลิตร ประมาณ 30 นาที กรองเอาฝักออก นำมาดื่มก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง ในช่วงเช้า เย็น และก่อนนอน

ในประเทศอินเดีย ใช้ใบช่วยแก้โรคตาบอดตอนกลางคืน ด้วยการใช้ใบสด 20 กรัม เทน้ำเดือด 1 ลิตร ทิ้งไว้ 15 นาที แล้วกรองเอาใบแคออก นำมาดื่มแก้อาการ ส่วนดอกแคมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ ลดอาการไข้ ถอนพิษไข้ในร่างกาย ช่วยแก้ไข้หัวลมหรือไข้เปลี่ยนอากาศ เปลี่ยนฤดู ด้วยการใช้ดอกหรือใบนำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้ดอกที่โตเต็มที่นำมาล้างน้ำ แล้วต้มกับหมูทำหมูบะช่อ 1 ชาม แล้วรับประทานวันละ 1 มื้อ ติดต่อกัน 3-7 วัน อาการก็จะดีขึ้น ช่วยบำรุงและเสริมสร้างกระดูกและฟัน เนื่องจากอุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัส

ตำลึง

ต้นตำลึง จัดเป็นไม้เลื้อย โคนใบมีลักษณะเหมือนรูปหัวใจ มีมือเกาะที่ยื่นออกมาจากที่ข้อ ดอกมีทั้งดอกเดี่ยวและดอกคู่ กลีบดอกมีสีขาว และดอกมีลักษณะคล้ายรูประฆัง

ตำลึง หรือ ใบตำนิน (ก็ว่า) ใบเป็นผักใช้ทำอาหารได้หลายอย่างทั้ง ผัด ลวก นึ่ง หรือจะใส่ในแกงก็อร่อย มีชื่อสามัญ : Ivy gourd และชื่อวิทยาศาสตร์ : Coccinia grandis (L.) Voigt (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cephalandra indica (Wight & Arn.) Naudin) จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE)

ตำลึง มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ตำลึง, สี่บาท (ภาคกลาง), ผักแคบ (ภาคเหนือ), ผักตำนิน (ภาคอีสาน), แคเด๊าะ (แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น

tam leung

สรรพคุณของตำลึง

ตำลึงช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันความเสื่อมความเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ช่วยบำรุงผิวพรรณ ช่วยซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อในร่างกาย ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้เถาแก่ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำหรือจะใช้น้ำคั้นจากผลดิบ นำมาดื่มวันละ 2 รอบ เช้า,เย็น จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มระดับอินซูลิน ป้องกันการเกิดโรคโลหิตจาง โรคหัวใจขาดเลือด จึงช่วยป้องกันการเกิดอัมพาตด้วย ให้แคลเซียมจึงช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง มีวิตามินเอจึงช่วยบำรุงและรักษาสายตา ช่วยบำรุงน้ำนมแม่ ฯลฯ

ประโยชน์ของตำลึง

นิยมใช้ยอดและใบกินเป็นผักสด อาจจะลวกหรือต้มจิ้มกินกับน้ำพริก และใช้ในการประกอบอาหารได้หลายอย่าง เมนูตำลึง เช่น แกงจืด ต้มเลือดหมู แกงเลียง ก๋วยเตี๋ยว ผัดไฟแดง ไข่เจียว เป็นต้น ใช้เถาและใบช่วยกำจัดกลิ่นตัว กลิ่นเต่า ด้วยการนำมาตำผสมกับปูนแดงแล้วทาบริเวณรักแร้ ส่วนยอดใช้ทำทรีตเม้นต์ทำให้ผิวหน้าเต่งตึง ด้วยการใช้ยอดตำลึงครึ่งถ้วยและน้ำผึ้งแท้ครึ่งถ้วย นำมาผสมกันแล้วปั่นในโถให้ละเอียด แล้วนำมาพอกหน้า ทิ้งไว้ประมาณ 20 นาทีแล้วล้างออก

ฟักทอง

ฟักทอง แบ่งออกเป็น 2 ตระกูล ตระกูลแรกก็คือ ฟักทองอเมริกัน (Pumpkin) ผลใหญ่ เนื้อยุ่ย และฟักทองสควอช (Squash) ซึ่งได้แก่ฟักทองไทยและฟักทองญี่ปุ่น โดยฟักทองไทยนั้น ผิวของผลขณะยังอ่อนจะเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสลับเขียว ผิวมีลักษณะขรุขระเล็กน้อย เปลือกจะแข็ง เนื้อด้านในเป็นสีเหลือง พร้อมด้วยเมล็ดสีขาวแบนๆ ติดอยู่

ฟักทอง หรือ หมากอึ (ภาคอีสาน), หมักอื้อ (เลย), มะฟักแก้ว ฟักแก้ว (ภาคเหนือ), มะน้ำแก้ว  หมากฟักเหลือง (แม่ฮ่องสอน), น้ำเต้า (ภาคใต้)

ชื่อสามัญ : Pumpkin
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cucurbita moschata Duchesne จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE)

fug thong

ฟักทอง อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุมากมายที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 วิตามินซี วิตามินอี ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุแคลเซียม ธาตุโพแทสเซียม ธาตุโซเดียม ธาตุแมงกานีส ธาตุเหล็ก ซิงค์ เป็นต้น

ฟักทอง ยังเป็นอาหารเพื่อสุขภาพของผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักอีกด้วย เพราะฟักทองมีกากใยที่สูงมาก มีแคลอรีและไขมันน้อย จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการลดความอ้วนและควบคุมน้ำหนักได้เป็นอย่างดี เพียงแค่รับประทานฟักทองหนึ่งถ้วยหรือ 3 กรัม จะทำให้ร่างกายรู้สึกอิ่มได้นานขึ้น

ฟักทอง แม้จะมีประโยชน์ต่อร่างกายอยู่มาก แต่การรับประทานอย่างไม่เหมาะสมก็อาจเกิดโทษได้เช่นกัน เนื่องจากฟักทองนั้นมีฤทธิ์อุ่น ไม่เหมาะกับผู้ที่กระเพาะร้อน เช่น ผู้ที่มักมีอาการกระหายน้ำ ปัสสาวะเหลือง ท้องผูก มีแผลในช่องปาก เหงือกบวมเป็นประจำ เป็นต้น ซึ่งผู้ที่มีอาการเหล่านี้ไม่ควรรับประทานฟักทองในปริมาณที่มากเกินไปหรือบ่อยเกินไป แม้กระทั่งในคนปกติเองก็ตาม ก็ไม่ควรรับประทานอย่างไร้สติ เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ไม่สบายท้องได้

เป็นพืชล้มลุก มีเถายาวเลื้อยปกคลุมดิน ผลมีขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นพูเล็กๆ โดยรอบเปลือกนอกขรุขระและแข็ง มีสีเขียวและจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อนและ สีเหลืองเข้ม ตามลำดับ เนื้อภายในมีสีเหลืองอมเขียว สีเหลือง และสีส้ม เมล็ดมีจำนวนมากซึ่งอยู่ตรงกลางผลระหว่างเนื้อฟูๆ มีรูปร่างคล้ายไข่ แบน มีขอบนูนอยู่โดยรอบ

เนื้อฟักทองประกอบด้วยแป้ง โปรตีน ไขมัน ฟอสฟอรัส แคลเซียม เหล็ก และ สารเบต้า - แคโรทีน ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายนำไปสร้างวิตามิน เอ เมล็ดมีฟอสฟอรัสในปริมาณสูง รวมทั้งแป้ง โปรตีน และน้ำประมาณร้อยละ 40 ส่วนเมล็ดแห้งมีสารคิวเคอร์บิทีน (Cucurbitine) เป็นสารสำคัญ ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าพยาธิได้ผลดี นอกจากนั้น ฟักทองสามารถกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ซึ่งช่วยป้องกันโรคเบาหวาน ความดันโลหิต ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด บำรุงนัยน์ตา ตับและไต เมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิตัวตืด ป้องกันการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และช่วยดับพิษปอดบวม รากช่วยแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย ยางช่วยแก้พิษผื่นคัน เริม และงูสวัด

มะเขือเทศ

"มะเขือเทศ คือ ผลไม้" ซึ่งเป็นไปตามคำนิยามของหลักทางพฤกษศาสตร์ เพราะผลไม้คือส่วนของรังไข่ที่เจริญเติบโตเต็มที่ของพืชดอก ส่วนผักคือพืชที่กินได้ของพืชล้มลุก ไม่ว่าจะเป็นราก ใบ ก้าน หัว หน่อ ดอก ซึ่งโดยปกติแล้วคนส่วนมากมักเข้าใจผิดว่า "มะเขือเทศคือผัก" เพราะนำไปใช้ประกอบอาหารกันเป็นส่วนส่วนใหญ่ และมักคิดว่าผลไม้คือสิ่งที่ให้ความหวานนั่นเอง โดยมะเขือเทศที่นิยมรับประทานมากคือ มะเขือเทศสีดา มะเขือเทศราชินี

ชื่อสามัญ : Tomato
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lycopersicon esculentum Mill. จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)

ma kua tes

มะเขือเทศ นอกจากจะเป็นผลไม้ที่นิยมรับประทานกันมากที่สุดในโลกแล้ว ประโยชน์ของมะเขือเทศยังมีอยู่มากมาย เพราะอุดมไปด้วยวิตามิน และแร่ธาตุหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินซี วิตามิเอ วิตามินเค วิตามินพี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส และธาตุเหล็ก โดยมะเขือเทศขนาดปานกลางนั้น จะมีปริมาณของวิตามินซีครึ่งหนึ่งของส้มโอทั้งลูก และมะเขือเทศหนึ่งผล จะมีปริมาณวิตามินเอที่ร่างกายต้องการจำนวน 1 ใน 3 ของวิตามินเอที่ร่างกายต้องการต่อวันเลยทีเดียว และยังมีสารจำพวกไลโคปีน (Lycopene) แคโรทีนอยด์ เบตาแคโรทีน และกรดอะมิโน เป็นต้น และมะเขือเทศยังจัดว่า เป็นผลไม้ที่มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคได้อีกด้วย เช่น ช่วยป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด ขับปัสสาวะ รักษาความดัน เป็นต้น

มะเขือเทศ ฅนอีสานบ้านเฮามักเอาใส่ตำบักหุ่ง (แซบอีหลี) ให้วิตามินซี แก้เลือดออกตามไรฟัน (ลักปิดลักเปิด) หากกินสม่ำเสมอจะทำให้ไม่เป็นมะเร็งในลำไส้ แก้โรคนอนไม่ค่อยหลับ หรือมักนอนผวา สะดุ้ง หรืออาการตกใจง่ายๆ

มะละกอ

มะละกอ (Papaya) หรือ หมากหุ่ง หรือบักหุ่ง ผลไม้สารพัดประโยชน์ในด้านอาหารของชาวอีสาน จะแห้งแล้ง อุดมสมบูรณ์ ถ้ามีหมากหุ่งละก็รอดตายเลย ใช้ทำส้มตำรสแซบ แกง หรือผัด ผลสุกกินเป็นของหวาน ตัดเป็นชิ้นๆ ลงในต้มเนื้อจะทำให้เนื้อเปื่อยง่าย เร็ว เพราะมีเอนไซม์ที่ชื่อว่า Papain ซึ่งเป็นส่วนประกอบของผงหมักสำเร็จรูปที่เราเห็นขายกันอยู่ตามท้องตลาดนั่นเอง ลูกเขยฝรั่งต่างบ้านมาได้เมียไทยก็แซบแป๋ตายกับ ตำปาปาย่า ป๊อกๆ

ชื่อสามัญ : Papaya
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carica papaya L. จัดอยู่ในวงศ์มะละกอ (CARICACEAE)

malakor

มะละกอ เป็นผลไม้เพื่อสุขภาพที่มีต้นกำเนิดจากอเมริกากลาง เป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานกันมากในบ้านเรา ด้วยการรับประทานสดๆ หรือนำมาประกอบอาหาร เช่น ส้มตำ แกงส้ม หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ก็ได้ มะละกอนั้นจัดว่าเป็นไม้ล้มลุก (หลายๆ คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นไม้ยืนต้น)

สรรพคุณทางยา ราก รสฉุนเอียนใช้แก้โรคหนองใน ขับเลือด หนองในกระเพาะปัสสาวะ บำรุงไต ก้านใบ มีสรรพคุณเช่นเดียวกัน กับทั้งฆ่าพยาธิในลำไส้และในกระเพาะอาหาร แก้โรคมุตกิต ระดูขาว เหง้า ตรงที่ฝังดินมีรากงอบโดยรอบ ใช้ทำยาขับและละลายเม็ดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ผลดี

แต่มีคำแนะนำว่า ไม่ควรรับประทานมะละกอสุกในปริมาณมากๆ หรือติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจจะทำให้ผิวของคุณเปลี่ยนเป็นสีเหลืองได้

ลิ้นฟ้า

เพกา หรือ ลิ้นฟ้า (Broken bones tree) จัดเป็นพืชสมุนไพรที่นิยมนำฝักอ่อน ยอดอ่อน และดอกมารับประทานคู่กับน้ำพริก และอาหารในเมนูซุปหน่อไม้ และลาบต่างๆ เนื่องจากให้ความกรอบ นุ่ม และมีรสขมเล็กน้อย ทำให้เพิ่มรสชาติของอาหาร ช่วยกลบรสอาหารส่วนเกิน และให้คุณค่าทางสมุนไพรในการบรรเทา และรักษาโรคต่างๆได้ดี

มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีก เช่น ลิ้นฟ้า (ภาคอีสาน), กาโด้โด้ง (กาญจนบุรี), ดุแก ดอก๊ะ ด๊อกก๊ะ (แม่ฮ่องสอน), เบโด (นราธิวาส), มะลิ้นไม้ มะลิดไม้ ลิดไม้ (ภาคเหนือ), โชยเตียจั้ว (จีน) เป็นต้น

ชื่อสามัญ : Broken bones tree, Damocles tree, Indian trumpet flower
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oroxylum indicum (L.) Kurz จัดอยู่ในวงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE)

ต้นเพกา จัดเป็นไม้ยืนต้นและเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรวมถึงประเทศไทยบ้านเราด้วย โดยพบได้ตามป่าเบญจพรรณและป่าชื้นทั่วไป แม้ว่าต้นเพกาจะมีอยู่ในหลายๆ ประเทศ แต่มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่นำเพกามารับประทานเป็นผัก (จัดอยู่ในหมวดดอกฝัก)

linfah peka

เพกา มีสรรคุณเป็นยา ตามตำรายาสมุนไพรนั้นเราจะใช้ส่วนต่างๆ ของต้นเพกาตั้งแต่ราก เปลือกต้น ฝัก ใบ รวมไปถึงเมล็ด ซึ่งจัดเป็นสมุนไพร "เพกาทั้ง 5" และหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานฝักอ่อนของเพกา เพราะอาจทำให้แท้งบุตรได้ เนื่องจากฝักของเพกามีฤทธิ์ร้อนมาก

ตามความเชื่อของคนโบราณนั้น ห้ามปลูกเพกาไว้ในบริเวณบ้าน เนื่องจากฝักของเพกามีรูปร่างคล้ายดาบหรือปลายหอก อาจทำให้ผู้อยู่อาศัยมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจเลือกตกยางออกได้ และเพกายังเป็นชื่อเรียกของเหล็กประดับยอดพระปรางค์ เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายฝักของเพกา จึงถือว่าเป็นของสูงไม่คู่ควรแก่การนำมาปลูกไว้ในบ้าน แต่ถ้าจะไปปลูกไว้ตามไร่ตามสวน หรือรั้วบ้านก็คงจะไม่เป็นไร

เพกา ผักพื้นบ้านต้านมะเร็ง จากความเชื่อของคนโบราณที่บอกว่า กินฝักเพกาแล้วจะทำให้ไม่เจ็บป่วยนั้น มีรายงานการศึกษาที่น่าสนใจในไทยคือ เพกาเป็นผักใน 4 ชนิดที่มีฤทธิ์ต้านการก่อมะเร็งสูงสุด ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลย เนื่องจากในฝักเพกามีวิตามินสูงมาก และยังมีวิตามินเอมากถึง 8,221 มิลลิกรัม ใน 100 กรัม พอๆ กับตำลึงทีเดียว เช่นเดียวกับการศึกษาพืชสมุนไพรในบังกลาเทศ พบว่าในพืชสมุนไพรพื้นบ้าน 11 ชนิด เพกาแสดงฤทธิ์ต้านมะเร็งทุกชนิดสูงสุด รองลงไปคือมะตูม

สารสกัดฟลาโวนอยด์ที่ได้จากเปลือกต้นเพกา มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ การแพ้ (anti-inflammatory and anti-allergic) ทั้งมีฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ สารลาพาคอล (lapacol) ที่สกัดได้จากรากเพกา มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ 5-ไลพอกซีจีเนส (5-lipoxygenase) ที่ทำให้เกิดการอักเสบ นอกจากนี้การรับประทานฝักเพกาหรือยอดอ่อนยังสามารถช่วยลดคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดได้

คุณค่าทางโภชนาการ ผลเพกา (ฝักอ่อน) ในส่วนที่กินได้ น้ำหนัก 100 กรัม ให้ไขมัน 0.51 กรัม คาร์โบไฮเดรต 14.3 กรัม โปรตีน 0.23 กรัม เส้นใย 4.3 กรัม แคลเซียม 13 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 4 มิลลิกรัม วิตามินเอ 8,221 หน่วย วิตามินซี 484 มิลลิกรัม มีประโยชน์ช่วยป้องกันมิให้เซลล์ร่างกายแก่เร็วเกินไป ปกป้องอนุมูลอิสระมิให้เกิดขึ้นในร่างกาย อันเป็นผลทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งได้ หากรับประทานร่วมกับอาหารที่มีวิตามินอีสูงๆ เช่น รำข้าวในข้าวกล้อง ช่วยเสริมฤทธิ์ในการป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกายได้อย่างสมบูรณ์อีกด้วย

หมากมี้

ขนุน (Jackfruit) ผลไม้ในหลากหลายชื่อ ภาษาอีสานก็เอิ้นกันว่า บักมี่, หมากมี้ ภาษาเหนือเรียกขนุนว่า บะหนุน พอลงมาทางใต้ ภาษาใต้เรียก หนุน หรือ ลูกหนุน มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ขะนู (จันทบุรี), นะยวยซะ (กาญจนบุรี), เนน (นครราชสีมา), ซีคึย ปะหน่อย หมากกลาง (แม่ฮ่องสอน), นากอ (ปัตตานี), มะหนุน (ภาคเหนือ ภาคใต้), ลาน ล้าง (ภาคเหนือ) และชื่ออื่นๆ เช่น ขะเนอ, ขนู,นากอ, มะยวยซะ, Jack fruit tree เป็นต้น

ชื่อสามัญ : Jackfruit, Jakfruit
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Artocarpus heterophyllus Lam. จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)

พันธุ์ขนุน มีอยู่หลายสายพันธุ์ ซึ่งสีของเนื้อก็แตกต่างกันออกไปด้วยตามแต่ละสายพันธุ์ ขนุนบางสายพันธุ์มีรสหวานใช้รับประทานได้ แต่บางพันธุ์มีรสจืดไม่นิยมนำมารับประทาน โดยสายพันธุ์ขนุนที่นิยมปลูกในประเทศไทยก็ได้แก่ พันธุ์ตาบ๊วย (ผลใหญ่ เนื้อหนา สีจำปาออกเหลือง), พันธุ์ทองสุดใจ (ผลใหญ่ยาว เนื้อเหลือง), พันธุ์ฟ้าถล่ม (ผลค่อนข้างกลมและใหญ่มาก มีเนื้อสีเหลืองทอง), พันธุ์จำปากรอบ (ผลขนาดกลาง รสหวานอมเปรี้ยว เนื้อสีเหลือง) ฯลฯ

mak mee kanoon

ต้นขนุน จัด เป็น 1 ใน 9 ไม้มงคลของไทย ไม้ขนุนมีความหมายว่า การช่วยหนุนบารมี เงินทอง ความร่ำรวย ให้ดียิ่งขึ้น มีผู้ให้การเกื้อหนุนจุนเจือ โดยนิยมปลูกไว้หลังบ้านด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ในส่วนของแก่นไม้หรือเนื้อไม้ของขนุนจะมีสีเหลืองเข้มออกน้ำตาล เมื่อนำมาใช้เป็นสีย้อมผ้าจะให้สีเหลืองน้ำตาล (สมัยก่อนเปลือกนำมาต้มย้อมผ้าจีวรพระ) และนอกจากนั้นไม้ขนุนยังใช้ทำอุปกรณ์เครื่องเรือน และเครื่องดนตรี (พิณ หรือ ซุง ของคนอีสานทำจากไม้หมากมี้) ได้อีกด้วย

นอกจากขนุนจะเป็นไม้มงคลนามแล้ว ก็ยังเป็นผลไม้ที่มีเนื้อหอมหวานอร่อยอีกด้วย และยังนำมาทำเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู แต่สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานควรหลีกเลี่ยงการรับประทานขนุนหรือรับประทานแต่น้อยเพราะมีรสหวาน นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรอีกด้วย ส่วนที่นำมาใช้เป็นยารักษาอาการต่างๆ ได้แก่ ใบ ยวง เมล็ด แก่น ส่าแห้งของขนุน

สรรพคุณทางยาของบักมี้ ใบขนุนอ่อนๆ จะแบบสดกินเคียงกับลาบ ส้มตำ หรือจะเอามาต้มกินกับน้ำพริกก็ได้ และรสฝาดนั้นยังใช้บดโรยแผลมีหนองเรื้อรังได้ ราก บำรุงโลหิต แก้กามโรค ขับพยาธิ ระงับประสาท แก้โรคลมชัก ยางขนุน มีรสฝาด แก้แผลอักเสบ บวม แผลมีหนองเรื้อรัง แก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เนื้อหุ้มเมล็ดสุก บำรุงกำลัง บำรุงการทำงานของหัวใจ เป็นยาระบายอ่อนๆ อีกทั้งยังนำไปหมักเหล้าได้ เนื้อในเมล็ด (จากเมล็ดขนุนต้ม) มีรสมัน บำรุงน้ำนม บำรุงกำลัง เนื้อขนุนสุก เป็นยาระบายอ่อนๆ

อีรอก

บุกอีรอกเขา หรือ ต้นอีรอก เป็นผักพื้นเมืองทางภาคอีสาน จะมีเหง้าอยู่ใต้ดิน และจะจำศีลข้ามปี เพื่อรอฤดูฝนกลับมาจึงจะแทงกิ่งก้านใหม่อีกครั้ง ต้นบุกอีรอกเขา เมื่อถึงฤดูหนาวจะเหี่ยวเฉาฝั่งตัวในดิน และรอฝนรอบต่อไป มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า บุก, อีรอก, ดอกก้าน เป็นต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amorphophallus brevispathus Gagnep. จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)

เป็นพืชอาหาร ดอกอ่อนนำมาลอกเปลือกลวกรับประทานกับน้ำพริก หรือใช้ปรุงอาหารประเภทนึ่งต่างๆ เช่น แกงเห็ด แกงหน่อไม้ เป็นต้น ลำต้นที่อ่อนอวบสามารถกินได้ นำลำต้นไปทำแกงให้ได้รสชาติตามต้องการ ให้ตัดดอกและใบออก ต้ม 5 นาที อีรอกจะอ่อนนุ่ม เพิ่มการกินได้ง่ายขึ้น

e rog

เป็นผักที่คุณค่าทางอาหาร โดยเฉลี่ยแล้ว อีรอก 100 กรัม จะมีพลังงาน 95 แคลอรี แคลเซียม 15 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัสมี 36 มิลลิกรัม คาร์โบไฮเดรต 21.1 กรัม ไขมัน 0.2 กรัม โปรตีน 0.1 กรัม เหล็ก 0.6 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัสมีมากในผักอีกรอก นิยมใช้บำรุงกำลังช่วยในการสูบฉีดโลหิต ป้องกันโรคไหลตายได้

สรรพคุณของบุกอีรอกเขา

หัวมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยลดการดูดซึมของน้ำตาลจากทางเดินอาหาร ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ลดน้ำหนัก ใช้เป็นยากัดเสมหะ เป็นยาแก้เถาดาล ที่จุดเป็นก้อนกลิ้งอยู่ในท้อง บางข้อมูลระบุว่า หัวใช้เป็นยาพอกกัดฝีหนอง

เครือหมาน้อย

หมาน้อย เป็น ไม้เถาเลื้อย ในวงศ์ MENISPERMACEAE มีชื่อเรียกอื่นๆ ตามท้องถิ่น เช่น กรุงเขมา (อ่านว่า กรุง-ขะ-เหมา) มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า เปล้าเลือด (แม่ฮ่องสอน), หมอน้อย, หมาน้อย (อุบลราชธานี), สีฟัน (เพชรบุรี), กรุงเขมา (นครศรีธรรมราช), เครือหมาน้อย (ภาคอีสาน), ก้นปิด (ภาคตะวันตกเฉียงใต้), กรุงเขมา ขงเขมา พระพาย (ภาคกลาง), อะกามินเยาะ (มลายู-นราธิวาส), ยาฮูรู้ ซีเซิงเถิง อย่าหงหลง (จีนกลาง), วุ้นหมอน้อย, หมาน้อย เป็นต้น 

กรุงเขมา ชื่อสามัญ Icevine, Pareira barva
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cissampelos pareira L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cissampelos poilanei Gagnep., Cissampelos pareira var. hirsuta (Buch.-Ham. ex DC.) Forman) จัดอยู่ในวงศ์บอระเพ็ด MENISPERMACEAE

ma noi

หมาน้อย หรือ กรุงเขมา เป็นพรรณไม้เถาเลื้อยขนาดกลางเนื้อแข็ง ไม่มีมือเกาะ เลื้อยพาดพันตามต้นไม้อื่นๆ ยาวได้ประมาณ 1 เมตร มีรากสะสมอาหารใต้ดิน มีขนนุ่มสั้นขึ้นปกคลุมหนาแน่นตามเถา กิ่ง ช่อดอก และใบ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดหรือเหง้า ชอบดินร่วนปนทราย มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย แอฟริกา และอเมริกา ในประเทศไทยพบขึ้นทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นในป่าดิบ ป่าผลัดใบ และป่าไผ่ ตามริมแม่น้ำลำธาร ตั้งแต่พื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงความสูงประมาณ 1,100 เมตร ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนธันวาคม ในปัจจุบันนิยมนำมาปลูกไว้ในครัวเรือน เพราะเป็นพืชปลูกง่าย ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี จะปลูกลงดินให้เลื้อยกับไม้ใหญ่หรือทำค้างแบบปลูกถั่วก็ได้ เพราะสามารถเก็บผลผลิตมาขายเป็นอาหารพื้นบ้าน ใช้เป็นอาหารสัตว์ของโคกระบือ และนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ดี

ประโยชน์ของเครือหมาน้อย

ใบนำมาคั้นเอาน้ำ เมื่อผสมกับเครื่องปรุงอาหารจะทำให้มีลักษณะเป็นวุ้น โดยใบกรุงเขมาจะมีสารเพกทินอยู่ประมาณ 30% (มีคุณสมบัติในการพองตัวอุ้มน้ำ) ถ้านำใบมาขยำกับน้ำ กรองเอากากออก เมื่อทิ้งไว้จะแข็งตัวเป็นวุ้น เรียกว่า "วุ้นหมาน้อย" สามารถนำมารับประทานเป็นอาหารได้ โดยนำใบมาประมาณ 20 ใบ ล้างน้ำให้สะอาด แล้วหาชามใบใหญ่ๆ นำใบกรุงเขมามาขยี้กับน้ำ 1 แก้ว ขยี้ไปเรื่อยๆ จะรู้สึกว่ามีเมือกลื่นๆ มีฟองเล็กน้อย ขยี้ไปจนได้น้ำสีเขียวเข้ม จากนั้นให้แยกเอากากออกแล้วกรองด้วยผ้าขาวบางเอาแต่น้ำไว้ (ระหว่างคั้นใบให้คั้นใบย่านางผสมลงไปด้วย ซึ่งจะช่วยให้วุ้นแข็งตัวเร็วขึ้น) หลังจากกรองได้น้ำแล้ว ก็นำไปปรุงอาหารคาวหรือหวานได้ ถ้าเป็นอาหารคาว จะมีการเติมตั้งแต่เนื้อปลาสุก ปลาป่น ปลาร้า ผักชี หัวหอม ต้นหอม ข่า ตะไคร้ พริก เกลือป่น ฯลฯ จากนั้นก็เทน้ำคั้นหมาน้อยลงในถาด พอทิ้งไว้ราว 4-5 ชั่วโมง จะได้วุ้นอาหารคาวรสแซ่บ ตัดวุ้นออกเป็นชิ้น ๆ ให้พอดีคำ จะเป็นอาหารรับลมร้อนที่ดีมาก ส่วนคนอีสานจะนิยมนำมาทำเป็นเมนู "ลาบหมาน้อย" แบบแซบ (แล้วแต่ผู้มัก)

ma noi 2

ถ้าจะทำเป็นของหวาน อาจคั้นเอาน้ำใบเตยผสมลงไปด้วย แต่งเติมด้วยน้ำเชื่อม น้ำกะทิ ถ้าให้ดีก็ผสมน้ำผึ้ง ทิ้งไว้ให้เย็น เมื่อได้วุ้นหวานเย็นนี้มาก็ให้หั่นเป็นชิ้น ๆ นำมาใส่กับน้ำแข็งน้ำหวาน ใช้ดื่มกินอร่อยนัก เป็นขนมหวานเลิศรสที่อร่อยและดีต่อสุขภาพ โดยจะมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรที่เหมาะกับฤดูร้อน เพราะให้รสเย็น ช่วยแก้ไข้ ลดความร้อนในร่างกาย อีกทั้งวุ้นหมาน้อยยังเป็นวุ้นธรรมชาติที่ให้เพกทินสูง จึงช่วยเพิ่มกากอาหารในลำไส้ ช่วยย่อย แก้ปวดท้อง แก้ร้อนใน ช่วยในการขับถ่าย ดูดสารพิษจากทางเดินอาหาร ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็ง ลดการดูดซึมของน้ำและไขมัน จึงเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ส่วนผู้ที่ฟื้นไข้เมื่อได้รับประทานแล้วจะช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า

ในด้านความงามก็สามารถนำใบมาทำเป็นสมุนไพรมาส์กหน้า บำรุงผิว แก้สิวได้ด้วย เพียงแค่เด็ดใบนำมาล้างน้ำ ขยี้ใบให้เป็นวุ้นๆ แล้วนำพอกหน้า หลังพอกจะรู้สึกผิวหน้าเต่งตึงสดใสเปล่งปลัง รู้สึกเย็นสบาย ช่วยแก้อาการอักเสบและสิวได้ ในปัจจุบันจึงมีผู้นำไปผลิตเป็นเจลพอกหน้ากันแล้ว

สรรพคุณทางยาของกรุงเขมา หรือ เครือหมาน้อย

ทั้งต้นกรุงเขมามีรสขม ชุ่มหวานเล็กน้อย เป็นยาอุ่น ใช้เป็นยาฟอกเลือด กระจายเลือด แก้เลือดกำเดา (ทั้งต้น) หรือใช้รากเป็นยาแก้โลหิต กำเดา เปลือกและแก่นเป็นยาบำรุงโลหิต ลำต้นใช้เป็นยาบำรุงโลหิตสตรี เนื้อไม้ใช้เป็นยารักษาโรคโลหิตจาง รากมีกลิ่นหอม รสสุขม ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ เป็นยาเจริญอาหาร เป็นยาบำรุง หมอยาไทยจะใช้รากนำมาทำให้เป็นผงละลายกับน้ำผึ้งกิน หรือขยี้กับน้ำ ดื่มเป็นยาอายุวัฒนะ รวมทั้งใช้รากเป็นส่วนประกอบในแป้งเหล้า โดยเชื่อว่าจะช่วยบำรุงร่างกาย ใช้เป็นยาสงบประสาท ใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาลดความดันโลหิต ส่วนหมอยาพื้นบ้านบราซิลก็ใช้กรุงเขมาในสรรพคุณนี้เช่นกัน โดยใช้ราก ต้น เปลือก และใบนำมาต้มกิน เพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

 

ผักพื้นบ้านอีสาน : ตอนที่ 1 | ตอนที่ 2 | ตอนที่ 3 | ตอนที่ 4 | ตอนที่ 5 | ตอนที่ 6

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)