thong lueng baan pa aua

นื้อหานี้ทำขึ้นใหม่ทดแทนเนื้อหาเดิม Banpaaua ที่ลูกศิษย์ผมเคยทำไว้ เพื่อเข้าประกวดเมื่อสิบกว่าปีก่อน ซึ่งใช้ Macromedia Flash ทำก็สวยจนไ้รับรางวัล แต่พอเทคโนโลยีเปลี่ยนไป Browser สมัยนี้ไม่สนับสนุนการใช้ Flash ซึ่งไม่มีความปลอดภัยจากบรรดาผู้ไม่ปรารถนาดีนำมาเป็นช่องโหว่โจมตีบนโลกไซเบอร์ จึงทำให้ไม่สามารถแสดงผลได้อีกต่อไป ก็เลยมีการปรับปรุงเนื้อหาเพิ่มเติมอีกนิดให้ตรงกับกาลสมัย

baan pa ao 02

เมื่อเดินทางจากตัวเมืองอุบลราชธานี ไปตามทางหลวงหมายเลข 23 จาก อุบลราชธานีมุ่งหน้าจังหวัดยโสธร เพียงแค่ 18 กิโลเมตร สังเกตหลักกิโลเมตรที่ 273 เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ก็ถึงบ้านปะอาว ตำบลปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ที่เราจะได้พบกับ "หัตถกรรมเครื่องทองเหลือง" และ "ผ้าไหม ผ้ากาบบัว" ที่เป็นผลิตภัณฑ์เลื่องชื่อของที่นี่

ที่นี่คือ "แหล่งผลิตหัตถกรรมเครื่องทองเหลือง" ที่ได้ชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดในภาคอีสาน... ทั้งด้วยการเป็นหมู่บ้าน ชุมชนที่มีอายุมากกว่า 200 ปี และวิธีการหล่อทองเหลืองแบบโบราณ ที่ว่ากันว่าเป็นวิธีการเดียวกับการทำกระพรวนสัมฤทธิ์ สมัยยุคบ้านเชียงเมื่อ 2,000 ปีก่อน

ความเป็นมาในอดีต

เมื่อประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว ท้าวคำผง ท้าวทิศพรหม และท้าวคำ บุตร พระวอ พระตา หนีภัยสงคราม "พระเจ้าสิริบุญสาร" เจ้าแห่งนครเวียงจันทร์เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของสมเด็จตากสินมหาราช ซึ่งต่อมาได้สร้างเมืองขึ้นบริเวณ "ดงอู่ผึ่ง" ใกล้แม่น้ำมูล ครั้ง พ.ศ. 2322 ได้ปักหลักสร้างคูเมืองจนแล้วเสร็จ จึ่งได้มีหนังสือกราบบังคมทูลขอขึ้นอยู่ในขอบขัณทสีมาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเมื่อ พ.ศ. 2323 พระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสุภาวดีเชิญท้องตราพระราชสีห์มาพระราชทานเมืองว่า "อุบลราชธานี" ทรงให้ "ท้าวคำผง" เป็นเจ้าเมืองคนแรก ต่อมาได้พระราชทานศักดิ์เป็น "พระปทุมวงศา" เมืองอุบลราชธานีได้มีเจ้าของสืบต่อกันมาถึง 4 คน ตราบจนถึงปี 2425 จึงได้มีการแต่งตั้งข้าหลวง และผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลปกครองจนถึงปัจจุบัน

ชุมชนบ้านปะอาว

ประวัติดั้งเดิมเล่าว่า ผู้ก่อตั้งบ้านปะอาวมีชื่อว่า "ท้าวแสนนาม" เป็นไพร่พลของ พระวอ พระตา ผู้ก่อตั้งเมืองอุบลฯ หลังจากการก่อตั้งเมืองอุบลฯ แล้วเสร็จมีความมั่นคง กลุ่มคนผู้ที่ติดตามมาก็ได้อพยพแยกย้ายออกมาทางด้านทิศตะวันตกของเมืองอุบลฯ เพื่อหาทำเลอันเหมาะสมในการตั้งหมู่บ้านอยู่อาศัยเป็นการถาวร ได้มีพี่น้องสองคนเดินทางมาด้วยกัน พอมาถึงสถานที่อันมีความเหมาะสมทำเลดี มีหนองบึง หนองบัวใหญ่ หนองบัวน้อย ผู้น้องจึงตัดสินใจก่อตั้งหมู่บ้านขึ้น ชื่อว่า "บ้านป๋าอาว" คำว่า "ป๋า" แปลว่า ละทิ้งจากกัน ส่วนคำว่า "อาว" หมายถึง อา น้องของพ่อ ต่อมามีการเรียกเพี้ยนออกไปว่า "บ้านปะอาว" จนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งหมายถึง "เป็นหมู่บ้านที่ผู้เป็นพี่ละทิ้งผู้เป็นน้องชายไว้" ส่วนผู้เป็นพี่นั้นได้เดินทางออกไปหาทำเลที่มีความเหมาะสมถัดออกไปอีก มีหนอง มีน้ำอุดมสมบูรณ์เช่นเดียวกัน เลยก่อตั้งหมู่บ้านชื่อ "บ้านโพนเมืองมะหัน" ตำบลหนองเหล่า อำเภอม่วงสามสิบ ในปัจจุบัน

สารคดี "เครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว" มรดกภูมิปัญญา เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

เมื่อพูดถึง "บ้านปะอาว" ผู้คนส่วนใหญ่จะนึกถึง "ผลิตภัณฑ์จากทองเหลือง" ด้วยชาวบ้านปะอาวทำการหล่อทองเหลือง เป็นการสืบทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ ในยุคแรกๆ การหล่อทองเหลืองก็เพื่อทำเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น เต้าปูน กระดิ่ง หมากหิ่ง (ลูกกระพรวน) หมากหวิน (ใช้รัดปลอกคอวัว) ต่อมาเมื่อมีการตั้งกลุ่มเพื่อผลิตหัตถกรรมเครื่องทองเหลือง "เครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว" จึงเป็นที่รู้จักและผลิตออกสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ในรูปแบบต่างๆ

บ้านปะอาว มีทำเลที่ตั้งสงบร่มเย็น อุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับทำนา ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ใช้ชีวิตเรียบง่าย ปลูกผัก หาปู ปลา หอย มาเป็นอาหาร แบ่งปันกัน ไม่มีการลักขโมยกัน ผู้คนมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน ดังคำขวัญของหมู่บ้าน ที่ว่า

ทองเหลืองสดใส ผ้าไหมสุดสวย ร่ำรวยน้ำใจ บั้งไฟแสนเลื่องลือ ยืดถือคุณธรรม "

สำหรับการผลิตหัตถกรรมทองเหลืองเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้ชุมชน มี "ศูนย์อนุรักษ์หัตถกรรมทองเหลืองบ้านปะอาว" ตั้งอยู่ที่ บ้านปะอาว หมู่ที่ 5 ตำบลปะอาว อำเภอเมืองอุบลราชธานี ซึ่งจากการบอกเล่าของ นายบุญมี ล้อมวงศ์ ทายาทรุ่นที่ 6 ผู้สืบทอดการทำหัตถกรรมทองเหลืองจากบิดา (นายทอง ล้อมวงศ์) ได้เล่าให้ฟังว่า "ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พากันทำเครื่องทองเหลืองมาก่อนแล้ว ผมก็ได้เรียนรู้และช่วยเหลือครอบครัวทำเครื่องทองเหลืองมาตั้งแต่เด็ก พอพ่อทองได้เสียชีวิตลง ก็ได้สืบทอดมรดกอันล้ำค่านี้ไว้ และถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได็ศึกษาเรียนรู้ ปัจจุบันได้เปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้การหล่อทองเหลืองโบราณที่มีเพียงหนึ่งในสองของประเทศไทย"

pamai paaua

นอกจากการทำเครื่องทองเหลืองแล้ว สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์และมีชื่อเสียงของชุมชนอีกอย่างหนึ่ง คือ การทอผ้าไหม และผ้ากาบบัว (ผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี) ชาวบ้านสืบทอดการทอผ้าไหมมาแต่โบราณ สำหรับการใช้ในครัวเรือน ซึ่งลวดลายและสีสันของผ้าก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ใช้ไหมแท้ในการทอจึงเป็นผ้าไหมที่มีคุณภาพ จนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย มีการรวมกลุ่มทอผ้าขึ้นในชื่อ "กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านปะอาว" ได้ทำการทอผ้าไหมด้วยมือมีฝีมือประณีต ส่งเข้าร่วมการประกวดในงานแสดงและจำหน่ายผ้าไหมต่างๆ ได้รับรางวัลเป็นจำนวนมาก จนเป็นที่ยอมรับในฝีมือ ลวดลาย สีสันผ้าไหมไปทั่วประเทศ

ใกล้กับ "ศูนย์หัตถกรรมท้องเหลืองบ้านปะอาว" เป็นที่ตั้งของวัดบูรพา ที่ภายในเป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านปะอาว" โดยดัดแปลงชั้นล่างของกุฏิพระสงฆ์เป็นที่จัดแสดงวัตถุต่างๆ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2540 หัวเรือใหญ่ที่ริเริ่มคือ หลวงพ่อพระครูธรรมสุทรนิวิฐ เจ้าอาวาส พระอาจารย์มหาพยนต์ สนตจิตโต รองเจ้าอาวาส และนายอภิชาติ พานเงิน กำนันตำบลปะอาว โดยขอรับบริจาคสิ่งของตางๆ จากชาวบ้าน และของส่วนหนึ่งที่ทางวัดเก็บรักษาไว้ วัตถุที่จัดแสดงมีหลากหลายชนิดวางบนชั้นไม้และในตู้กระจก อาทิ พระเครื่อง ตู้พระคัมภีร์ อาสนะ เครื่องมือทอผ้า ที่ฟักไข่และออกใยไหมของตัวหม่อน โฮงกระบอง โบม (ถาดใส่ข้าวเหนียว) กระติบข้าว กระดึง เงินฮาง ผ้าหอคัมภีร์ ผ้าไหม-บังสุกุล เครื่องปั้นดินเผา เครื่องทองเหลือง พานหมาก ตะเกียง วิทยุเก่า เป็นต้น ของบางชิ้นมีป้ายคำอธิบายสามภาษา ไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น

baan pa aua musium

เงินงบประมาณส่วนหนึ่งที่นำมาจัดทำตู้จัดแสดง ป้าย แผ่นพับ เป็นเงินสนับสนุนจาก "โครงการรุ่งอรุณ" ที่ส่งเสริมให้นักเรียนโรงเรียนปะอาว เรียนรู้สังคมและสิ่งรอบตัว ไม่ใช่เรียนรู้แค่ในโรงเรียนอย่างเดียว

กรรมวิธีในการทำเครื่องทองเหลือง

ในการทำ "หัตถกรรมเครื่องทองเหลือง" นั้น เป็นการทำทองเหลืองด้วยการหล่อและหลอมออกมาในรูปแบบต่างๆ เช่น เต้าปูน ตะบันหมาก กระดิ่ง กระพรวน ผอบ ชุดเชี่ยนหมาก และอีกมากมาย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านแท้ๆ ซึ่งเราทำด้วยมือสมกับเป็นหัตถกรรมจริงๆ บ้านปะอาวเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เป็น "บ้านนายช่าง" "บ้านนายฮ้อย" หรือ "หมู่บ้านช่างหล่อ" ในอดีต เพราะชอบการหล่อหลอม และชอบค้าขาย (นายฮ้อย) สมัยก่อนนั้นเมื่อทำการหล่อเสร็จแล้วก็นำไปขาย โดยหาบบ้าง สะพายบ้าง ตามแต่กำลังที่จะเอาไปได้ รอนแรมไปตามหมู่บ้านต่างๆ จนกว่าสินค้าจะหมดจึงจะหวนเดินทางกลับบ้าน การทำทองเหลืองนั้นทำเป็นกลุ่ม สมัยก่อนทำกันแทบทั้งหมู่บ้าน แต่เดี๋ยวนี้เหลืออยู่ไม่กี่กลุ่ม เพราะเลิกลากันไปทำอาชีพอย่างอื่นๆ

เครื่องทองเหลือง ชุมชนบ้านปะอาว : รายการไทยศิลป์

ผลิตภัณฑ์เครื่องทองเหลือง

  • หมากหิ่ง ทำจากทองเหลือง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ซม. สูง 5 ซม. ใช้สำหรับห้อยคอสัตว์ เช่น วัว หรือสุนัข
  • กระดิ่งใบโพธิ์ ทำจากทองเหลือง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 ซม. สูง 5.5 ซม.ใช้ สำหรับแขวนประดับตามหน้าต่างประตู เหมาะอย่างยิ่งสำหรับบ้านทรงไทย
  • แจกัน ทำจากทองเหลือง มีความกว้าง 5 ซม. สูง 11 ซม. ฐาน 4.5 ซม. ทำด้วยมือ สามารถใช้งานได้จริง หรือตกแต่งบ้าน เหมาะกับตู้โชว์
  • กระพรวนเล็ก ทำจากทองเหลือง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 ซม. ใช้สำหรับห้อยคอสัตว์ เช่น วัว หรือสุนัข หรือใช้เป็นพวงกุญแจ ใช้เป็นของฝากก็ได้
  • ผอบหัวมงกุฏขนาดใหญ่ ทำจากทองเหลือง สูง 15 ซม. กว้าง 10 ซม. ฐาน 5.5 ซม. สามารถใช้งานได้ หรือนำไปเป็นของฝากและประดับตกแต่งบ้าน
  • เชี่ยนหมาก ทำด้วยทองเหลือง สำหรับใส่ผอบ ตะบันหมาก และเต้าปูน มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 ซม.กว้าง 17 ซม. สูง 10 ซม. สามารถใช้งานได้ และนำไปประดับตกแต่งบ้านได้เป็นอย่างดี
  • เชิงเทียนขนาดใหญ่ ทำจากทองเหลือง ลวดลายสวยงาม เหมาะสำหรับโต๊ะหมู่บูชา หรือใช้ประดับบ้าน ทนทาน และทำความสะอาดง่าย ขนาดสูง 14.5 ซม. ฐานกว้าง 10 ซม.
  • ผอบขนาดใหญ่ ทำจากทองเหลือง มีความกว้าง 9 ซม. สูง 11 ซม. ฐาน 5 ซม. ทำด้วยมือ สามารถใช้งานได้จริง หรือตกแต่งบ้าน เหมาะกับตู้โชว์

thong lueng 03

สำหรับกรรมวิธีทำหัตถกรรมหล่อทองเหลืองโดย "วิธีการหล่อแบบขี้ผึ้งหาย" ของชุมชนบ้านปะอาว เริ่มจากการเตรียมดิน โดยนำดินโพน (ดินจอมปลวก) มาตำให้ละเอียดผสมกับมูลวัวและแกลบ คลุกเคล้าจนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นจึงปั้นหุ่นต้นแบบหรือพิมพ์ โดยนำดินที่ตำเสร็จแล้วผสมน้ำและปั้นเป็นหุ่นให้มีรูปร่างลักษณะตามที่ต้องการ จากนั้นใช้ไม้มอนเสียบกลางหุ่นเพื่อให้สามารถจับยึดกลึงได้ แล้วนำไปตากให้แห้ง

thong lueng 01

ตัวอย่างการผลิตลูกกระพรวน

บ้านปะอาว มีการประดิษฐ์ลูกกระพรวนสืบต่อมาจากบรรพบุรุษมาช้านานประมาณ 200 ปี ลักษณะและรูปแบบการผลิต เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนเอง การทำลูกกระพรวนมีขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1 การปั้นหุ่นดิน หุ่นดิน คือ หุ่นที่กำหนดขนาดและรูปแบบของลูกกระพรวนมีขั้นตอนคือ

  • การทำรูปหุ่น ปั้นก้อนขี้ผึ้งให้เป็นลูกกลมๆ เส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4 มม. (เล็ก-ใหญ่ตามชนิดและขนาดของลูกกระพรวน) เสียบด้วยก้านไม้ขนาด 1 มม. ยาว 5 ซม. (ลูกหุ่นหลังจากขั้นตอนเททองแล้วจะเป็นลูกภายในที่ทำให้เกิดเสียงดัง)
  • การพิมพ์หุ่นดิน ใช้ดินเหนียวจากโคลนจอมปลวก ผสมกับมูลโคลน ในอัตราส่วน 2 ต่อ 1 โดยปริมาตร

วิธีผสมดิน

  • ตำมูลโค ด้วยครกมือให้ละเอียด แล้วเติมดินเหนียวลงไป ตำให้ละเอียดจนผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน
  • นวดผสมน้ำให้เหนียวพอดี

วิธีพิมพ์หุ่นดิน

  • ใช้ดินเหนียวที่เตรียมเสร็จแล้วปั้นเป็นก้อนพอกหุ้มลูกหุ่นขี้ผึ้งให้มีขนาดพอเหมาะ
  • เตรียมแบบพิมพ์ด้วยการใช้เศษผ้าบางๆ ชุบน้ำให้ชุ่มรองร่องแบบพิมพ์
  • นำก้อนหุ่นดินใส่ในแบบพิมพ์ แล้วประกบให้เข้ากัน กดแบบพิมพ์ให้ก้อนดินได้รูปร่างตามแบบหุ่น
  • นำหุ่นดินออกจากแบบพิมพ์ วางเรียงกันในกระด้ง เพื่อตากหุ่นให้แห้ง

thong lueng 04
ขอบคุณภาพประกอบจาก Guideubon.com

ขั้นที่ 2 การพันด้วยเส้นผึ้ง

  • การเตรียมขี้ผึ้ง ใช้ขี้ผึ้งผสมกับชันและชันโรง ในอัตราส่วนขี้ผึ้งต่อชันต่อชันโรง 1 ต่อ 1 ต่อ 1 โดยน้ำหนัก ต้มผสมให้เข้ากัน ปล่อยให้เย็นแล้วตัดเป็นแผ่นขนาดพอประมาณ
  • การเตรียมเส้นผึ้ง ใช้แผ่นขี้ผึ้งที่ผสมแล้วอังไฟ นวดให้นิ่ม -ปั้นแท่นขี้ผึ้งให้มีขนาดพอดีกับรูกระบอกฉีดเส้นขี้ผึ้งและความยาวพอดี -นำแท่นขี้ผึ้งใส่ในรูกระบอกฉีด พร้อมทั้งฉีดเส้นขี้ผึ้งด้วยแท่งไม่อัดฉีดให้เป็นเส้นขี้ผึ้งแล้วใส่ในกระด้ง
  • การพันด้วยเส้นผึ้ง
    • ตัดแต่งส่วนเกินของหุ่นดินออกให้เรียบร้อย
    • นำเส้นขี้ผึ้งพันรอบหุ่นดิน โดยเริ่มจากแผงดินปากลูกกระพรวน พันรอบขึ้นไปเรื่อยๆ จนเต็ม แต่งรอยช่องและร่องขี้ผึ้งจนเรียบร้อย
  • การติดหูและติดชนวน
  • เตรียมเส้นขี้ผึ้ง ให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕ มม.
  • นำเส้นขี้ผึ้งพันรอบแท่งไม้ไผ่เหลากลมๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓ มม. แล้วใช้ปลายมีดตัดขี้ผึ้งตามยาวของแท่ง
  • ค่อยๆแกะวงขี้ผึ้งออกจากไม้
  • ใช้วงขี้ผึ้งแตะแผ่นสังกะสีที่อังไฟร้อนๆ และนำหุ่นขี้ผึ้งลูกกระพรวนแตะแผ่นสังกะสี เพื่อให้ขี้ผึ้งส่วนหัวที่ติดหูหลอมเหลว
  • ติดหูวงขี้ผึ้งเข้ากับลูกกระพรวน
  • ติดชนวนเข้ากับหูหุ่นขี้ผึ้งลูกกระพรวน

ขั้นที่ 3 การโอบเพชร การโอบเพชร คือ การใช้ดินเหนียวหุ้มพอกหุ่นขี้ผึ้งลูกกระพรวน เพื่อให้เกิดช่องว่าง เมื่อขี้ผึ้งหลอมเหลวและเผาไหม้ เป็นขั้นตอนการเททอง

  • การเตรียมดินโอบเพชร ใช้ดินเหนียวผสมมูลโค อัตราส่วน 2 ต่อ 1 ตำด้วยครก แล้วนวดผสมน้ำให้เหนียวพอดี
  • การพอกหุ้มด้วยดินเหนียว ใช้ดินเหนียวอุดตอมช่องรูหูลูกกระพรวน แล้วโอบพอกดินโดยรอบตรงกลางหุ่น ใช้นิ้วหัวแม่มือกรีดดินหุ้มทุกส่วนให้สนิทเหลือเพียงส่วนชนวน เพื่อรวมแท่งชนวนเททองเหลือง ตากหุ่นที่โอบเพชรแล้วให้แห้ง 1-2 วัน

ขั้นที่ 4 การโอบเบ้า การโอบเบ้า คือ การรวมชนวนลูกกระพรวนให้เป็นแท่งเดียวกัน และลูกกระพรวนจะอยู่รวมกันเป็นกระจุก มีประมาณเบ้าละ 25-30 ลูก

  • การเตรียมดินโอบเบ้า ใช้ดินเหนียวผสมแกลบ อัตราส่วน ดินเหนียว ต่อ แกลบ 1 ต่อ 1 โดยปริมาตร ตำนวดผสมน้ำให้เหนียวพอดี
  • การติดรวมชนวน ลูกกระพรวนที่โอบเพชรแห้งแล้วในเบ้าไฟ ใช้ดินดิบเหนียวเป็นแกนติดรวมหุ่นลูกกระพรวนโดยรอบ แล้วรวบชนวนรวมกันอังไฟให้อ่อนนิ่มติดรวมเป็นแท่งเดียว
  • การติดรวมเบ้า ใช้ดินเหนียวติดพอกรวมเบ้า ใช้ดินเหนียวผสมแกรบปิดช่องระหว่างหุ่นลูกกระพรวน
  • ใช้ดินเหนียวติดรอบเบ้าให้หุ้มตลอดส่วนคล้ายก้นรูปขวดก้นมน ส่วนบนทำคอคอดและปากรูปถ้วย เพื่อรองรับการเททอง
  • การตากเบ้า เบ้าหุ่นที่โอบเสร็จแล้วตากให้แห้ง ประมาณ 3-5 วัน

ขั้นที่ 5 การเททอง การเททอง คือ การเตรียมน้ำทองในเบ้าหลอม น้ำทองหลอมเหลวส่วนผสมทองเหลืองและอลูมิเนียม อัตราส่วน 100 : 1 โดยน้ำหนัก

  • การสุมเบ้าทอง เตรียมดินเหนียว ใช้ดินเหนียวผสมแกลบอัตราส่วน 1 : 1 นวดผสมให้เข้ากันพอดี ปั้นเป็นรูปขันน้ำก้นลึกเส้นผ่านศูนย์กลางปากกว้าง 12 ซ.ม. สูง 17 ซ.ม. หนา 1.5 ซ.ม.

baan pa ao 04

เสน่ห์การทำทองเหลือง

เสน่ห์การทำหัตถกรรมทองเหลืองของบ้านปะอาวนี้ ถึงขนาดที่กวีซีไรต์อย่างท่าน อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ยังได้นำไปเขียนเป็นบทกวีใน หนังสือเขียนแผ่นดิน ไว้ด้วยว่า....

....ตำดินปั้นเบ้าใส่เตาสุม  ฟืนรุมไฟโรมเข้าโหมเบ้า
ไม้ซาก สุมก่อเป็นตอเตา  ลมเป่าเริมเปลวขึ้นปลิวปลาม
แม่เตาหลอมตั้ง กลางไฟเรือง  ทองเหลืองละลายทองก็นองหลาม
สูบไฟโหมไฟไล้ทองทาม  น้ำทองเหลืองอร่ามเป็นน้ำริน
รินทองรองรอลงบ่อเบ้า  ลูกแล้วลูกเล่าไม่สุดสิ้น
ต่อยเบ้าทองพร่างอยู่กลางดิน  สืบสานงานศิลป์สง่าทรง
ลงลายสลักลายจนพรายพริ้ง  ลายอิ้งหมากหวายไพรระหง
ดินน้ำลมไฟ ละลายลง  หลอมธาตุทระนง ตำนานคน....

เครื่องทองเหลืองของชาวบ้านปะอาวนั้น ไม่ใช่ไก่กานะขอรับ เคยได้รับเกียรตินำไปเข้าฉากภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์กันมาแล้วนะครับ ทั้ง ตำนานพระศรีสุริโยทัย และ ตำนานพระนเรศวรมหาราช ไม่ว่าจะเป็น เชี่ยนหมากลายอิงหมากหวาย หรือ กาน้ำทองเหลือง ที่สวยงามอลังการยิ่ง

thong lueng 02

ท่านสามารถอุดหนุน "กระดิ่งทองเหลือง" ของชาวบ้านปะอาว ที่มีเสียงดังกังวานทีเดียว ไม่ใช่มีแค่กระดิ่งนะ เครื่องทองเหลืองที่ผลิตจากบ้านปะอาว ยังมีให้เลือกทั้ง ผอบ เต้าปูน ตะบันหมาก ขันน้ำ หัวไม้เท้า ซึ่งล้วนแล้วแต่มีลวดลายที่วิจิตรบรรจง สมกับเป็นมรดกทางภูมิปัญญาแห่งอาณาจักรล้านช้างโดยแท้

ท่านที่สนใจเครื่องทองเหลืองที่เป็นมรดกตกทอดของชุมชนแห่งนี้ ติดต่อไปได้ที่ ศูนย์หัตถกรรมเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว ที่ 170 หมู่ 5 บ้านปะอาว ตำบลปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โทร. 08-1548-4292, 08-3155-8265

รายการทุกทิศทั่วไทย ตอน เที่ยวชุมชนทำเครื่องทองเหลือง อุบลราชธานี

เครื่องทองเหลือง : อัตลักษณ์ท้องถิ่นอีสาน

redline

backled1