foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

isan governance 2

บุญประเพณีอีสานในรอบปี ฮีต ๑๒

บุญฮีต ๑๒ มาจากคำว่า "ฮีต" หรือ "จารีต" หมายถึง ความประพฤคิดี ธรรมเนียม ประเพณี ส่วน "๑๒" หมายถึง จำนวนเดือน ดังนั้น "ฮีต ๑๒" จึงหมายถึง ประเพณีที่ในภาคอีสานปฏิบัติกันมาในโอกาสต่างๆ ทั้ง ๑๒ เดือนในรอบปี ได้แก่ เดือนอ้าย-บุญเข้ากรรม เดือนยี่-บุญคูณลาน เดือนสาม-บุญข้าวจี่ เดือนสี่-บุญผะเหวด เดือนห้า-บุญสงกรานต์ เดือนหก-บุญบั้งไฟ เดือนเจ็ด-บุญซำฮะ เดือนแปด-บุญเข้าพรรษา เดือนเก้า-บุญข้าวประดับดิน เดือนสิบ-บุญข้าวสาก เดือนสิบเอ็ด-บุญออกพรรษา เดือนสิบสอง-บุญกฐิน

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เป็นงานบุญประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของทางภาคอีสานที่สืบทอดมาจากบรรพกาล เช่น บุญข้าวจี่ บุญบั้งไฟ บุญเข้าพรรษา เป็นต้น

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม เป็นการผสมผสานพิธีกรรมเรื่องผีและพิธีกรรมทางการเกษตร เข้ากับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นอีสานปฏิบัติสืบต่อกันมา

heet 12

ในสมัยโบราณอีสานนั้น การปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข ผู้ปกครองจะต้องปฏิบัติตามจารีตประเพณี ขนบธรรมเนียมดั้งเดิม คนอีสานจะมี "ฮีต 12 คอง 14" ซึ่งมีความหมายคือ "ฮีต" คือ จารีตประเพณี ส่วน 12 หมายถึงเดือนในหนึ่งปีมี 12 เดือน ส่วน "คอง" คือ ครรลอง คลอง แบบแผนหรือแนวทางดำเนินชีวิต คล้ายๆ กับคำฝรั่งคำหนึ่งที่ว่า "Way of life" ซึ่งมีจำนวน 14 ข้อ แต่คองในที่นี้มุ่งไปทางศีลธรรมประเพณีที่ถูกผิดมากกว่าด้านอาชีพ เห็นจะตรงกับภาคกลางว่า ทำนองคลองธรรม นั่นเอง แต่ชาวอีสานออกเสียง คลอง เป็น คอง ไม่มีกล้ำ เช่น ถ้าทำไม่ถูกไม่ต้อง ผู้ใหญ่ท่านจะเตือนว่า "เฮ็ดบ่แม่นคอง" (ทำไม่ถูกต้องตามครรลอง) หรือว่า "เฮ็ดหยังให้ถืก ให้ถือฮีตถือคอง" (ทำอะไรให้ถูกต้องให้ถือตามจารีตตามครรลอง) เป็นธรรมเนียมที่พึงปฏิบัติได้ไม่มีล้าสมัย

bulletฮีตสิบสอง (ประเพณี 12 เดือน)

นบธรรมเนียมประเพณีของอีสานแตกต่างจากภาคกลางตรงที่ ขนบธรรมเนียมประเพณีของภาคกลาง ได้รับอิทธิพลจาก ศาสนาฮินดู และ คัมภีร์พระมนูธรรมศาสตร์ ส่วน ขนบธรรมเนียมของอีสาน ได้รับอิทธิพลจากล้านช้าง เข้าใจว่า วัฒนธรรมล้านช้างได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีน นั่นคือ การเคารพบรรพบุรุษ ผีปู่ตา ผีแถน ผีฟ้า ผีตาแฮก (ผีนา ผีไร่) ขนบธรรมเนียม ประเพณีของภาคกลางจึงมีลักษณะเป็นแบบพราหมณ์มากกว่าพุทธศาสนา

ฮีตสิบสอง หรือ จารีตประเพณี ประจำสิบสองเดือน ที่สมาชิกในสังคมได้มีโอกาสร่วมชุมนุมกันทำบุญ เป็นประจำเดือนในทุกๆ เดือนของรอบปี "ฮีต" มาจากคำว่า "จารีต" ถือเป็นจรรยาของสังคม ถ้าฝ่าฝืนมีความผิด เรียกว่า ผิดฮีต หมายถึง ผิดจารีต ซึ่ง ฮีตสิบสอง มีรายละเอียดดังนี้

3diamondเดือนเจียง (เดือนอ้าย)

นิมนต์สังฆเจ้าเข้ากรรมฯ ชาวบ้านเลี้ยงผีแกนและผีต่างๆ ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนเจียง เข้ากลายมาแถมถ่าย ฝูงหมู่สังฆเจ้าก็เตรียมเข้าอยู่กรรม มันหาธรรมเนียมนี้ถือมาตั้งแต่ก่อน อย่าได้ละห่างเว้นเข็นสิข่องแล่นนำ แท้แหล่ว "

บุญเข้ากรรม เป็นเดือนที่พระสงฆ์เข้ากรรม (ปริวาสกรรม) เพื่อให้พระสงฆ์ผู้กระทำผิดได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ เป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตน และมุ่งประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยต่อไป ทางด้านฆราวาสก็จะมีการทำบุญเลี้ยงผีต่างๆ เพราะถือว่าได้บุญมาก

[ อ่านความรู้เพิ่มเติม ]

 

3diamondเดือนยี่ (เดือนสอง)

ฮีตหนึ่งนั้น พอแต่เดือนยี่ได้ล้ำล่วงมาเถิง ให้พากันหาฟืนสู่คนโฮมไว้ อย่าได้ไลคองนี้ มันสิสูญเสียเปล่า ข้าวและของหมู่นั้นสิหายเสี่ยงบ่ยัง จงให้ฟังคองนี้แนวกลอนเฮาบอก อย่าเอาใด ดอกแท้เข็นฮ้ายแล่นเถิงเจ้าเอย "

หลังการเก็บเกี่ยวจะทำบุญคูณข้าวหรือบุญคูณลาน นิมนต์พระสวดมนต์เย็น เพื่อเป็นมงคลแก่ข้าวเปลือก รุ่งเช้าเมื่อพระฉันเช้าแล้ว ก็จะทำพิธีสู่ขวัญข้าว นอกจากนี้ ชาวบ้านจะเตรียม เก็บสะสมฟืนไว้หุงต้มที่บ้าน ดังคำโบราณว่า

.... เถิงฤดูเดือนยี่มาฮอดแล้ว ให้นิมนต์พระสงฆ์ องค์เจ้ามาตั้งสวดมุงคูณเอาบุญคูณข้าว เตรียมเข้าป่าหาไม้เฮ็ดหลัว เฮ็ดฟืนไว้นั่นก่อน อย่าได้ หลงลืมถิ่น ฮีตของเก่าเฮาเดอ... "

3diamondเดือนสาม

ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเมื่อเดือนสามได้จงพากันจี่ข้าวจี่ไปถวายสังฆเจ้าเอาแท้หมู่บุญ กุศลยัง สินำค้ำตามเฮามื้อละคาบหากธรรมเนียมจั่งซี้มันแท้แต่นาน ให้ทำบุญไปทุกบ้านทุกที่เอาบุญพ่อ เอย คองหากเคยมีมาแต่ปางปฐมพุ้น อย่าพากันไลถิ่มประเพณีตั้งแต่เก่า บ้านเมืองเฮาสิเศร้า ภัยฮ้ายสิแล่นตาม "

ในมื้อเพ็ง (วันเพ็ญ เดือนสาม) จะมีการทำบุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชา การทำบุญข้าวจี่ จะเริ่มตอนเช้า โดยใช้ข้าวเหนียวปั้นใส่น้ำอ้อย นำไปจี่บนไฟอ่อนแล้วชุบด้วยไข่ เมื่อสุกแล้วนำไป ถวายพระ ดังความว่า

.... พอเถิงเดือนสามคล้อย เจ้าหัวคอยปั้นข้าวจี่ ปั้นข้าวจี่บ่ใส่น้ำอ้อย จัวน้อยเช็ดน้ำตา..."

[ เรื่องที่เกียวข้อง การแห่มาลัยข้าวตอก ] [ อ่านความรู้เพิ่มเติม ]

3diamondเดือนสี่

ฮีตหนึ่ง พอเถิงเดือนสี่ได้ให้เก็บดอกบุปผา มาลาดวงหอมสู่คนเก็บไว้ อย่าได้ไลหนีเว้น แนวคอง ตั้งแต่เก่า ไฟทั้งหลายสิแล่นเข้าเผาบ้านสิเสื่อมสูญ ให้ฝูงซาวเฮาแท้อย่าไลคองตั้งแต่ก่อน มันสิหมองเศร้าเมืองบ้านสิทุกข์จนแท้แหล่ว "

ทำบุญพระเวสฟังเทศน์มหาชาติ มูลเหตุเนื่องมาจากพระคัมภีร์มาลัยหมื่นและมาลัยแสนว่า ถ้าผู้ใดปรารถนาที่จะพบพระศรีอริยะเมตไตย หรือเข้าถึงศาสนาของพระพุทธองค์แล้ว จงอย่าฆ่าบิดามารดา สมณะ พราหมณาจารย์ อย่ายุยงให้พระสงฆ์แตกสามัคคีกัน กับให้อุตส่าห์ฟังเทศนาเรื่อง พระมหาเวสสันดรชาดกให้จบสิ้นภายในวันเดียว เป็นต้น ในงานบุญนี้มักจะมีผู้นำของมาถวายพระผู้เทศนาในช่วงเวลานั้น (ไม่เฉพาะเจาะจง) ซึ่งเรียกว่า "กัณฑ์หลอน" หรือถ้าจะถวายเจาะจงเฉพาะพระนักเทศน์ที่ตนนิมนต์มา หรือเคารพเลื่อมใสเป็นการเฉพาะ ก็เรียกว่า "กัณฑ์จอบ" เพราะต้องแอบซุ่มดูให้แน่เสียก่อนว่าใช่พระรูปที่จะถวายเฉพาะเจาะจง หรือไม่? นั่นเอง

 [ อ่านความรู้เพิ่มเติม ]

 

3diamondเดือนห้า

ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนห้าได้พวกไพร่ซาวเมือง จงพากันสรงน้ำขัดสีพุทธรูป ให้ทำทุกวัด แท้อย่าไลม้างห่างเสีย ให้พากันทำแท้ๆ ไผๆ บ่ได้ว่า ทุกทั่วทีปแผ่นหล้าให้ทำแท้สู่คน จั่งสิสุขยิ่งล้น ทำถืกคำสอน ถือฮีตคองควรถือแต่ปฐมพุ้น "

ตรุษสงกรานต์ หรือ บุญสรงน้ำ การสรงน้ำมีการสรง หรือรดน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ ผู้หลักผู้ใหญ่ ด้วยน้ำอบน้ำหอม เพื่อขอขมาและขอพร เป็นประเพณีอันดีงามควรรักษาไว้ มีการทำบุญถวายทาน การทำบุญสรงน้ำกำหนดเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนห้า บางทีเรียกว่า บุญเดือนห้า ถือเป็นเดือนสำคัญ เพราะเป็นเดือนเริ่มต้นปีใหม่ไทย (และใน สปป.ลาว ด้วย)

[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ตำนานนางสงกรานต์ทั้งเจ็ด ] [ อ่านความรู้เพิ่มเติม ]

 

3diamondเดือนหก

ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนหกแล้วให้นำเอาน้ำวารีสรงโสก ฮดพระพุทธรูปเหนือใต้สู่ภาย อย่าได้ละเบี่ยงบ้ายปัดป่ายหายหยุด มันสิสูญเสียศรีต่ำไปเมือหน้า จงพากันทำแท้แนวคองฮีตเก่า เอาบุญไปเรื่อยๆ อย่าถอยหน้าหากสิเสีย "

เดือนหกทำบุญบั้งไฟและบุญวันวิสาขบูชา การทำบุญบั้งไฟเพื่อขอฝน และจะมีงานบวชนาคพร้อมกันด้วย การทำบุญเดือนหกเป็นงานสำคัญก่อนการทำนา หมู่บ้านใกล้เคียงจะนำ เอาบั้งไฟมาจุดประชันขันแข่งกัน หมู่บ้านที่รับเป็นเจ้าภาพจะจัดอาหาร เหล้ายามาเลี้ยงโดยไม่คิด มูลค่า เมื่อถึงเวลาก็จะตั้งขบวนแห่บั้งไฟและรำเซิ้งออกไป ณ ลานที่จุดบั้งไฟ การเซิ้งจะกระทำด้วย ความสนุกสนาน ไม่มีการทะเลาะวิวาท คำเซิ้งและการแสดงประกอบจะออกไปในเรื่องเพศ แต่ก็ไม่ถือสา หรือคิดเป็นเรื่องหยาบคายแต่อย่างใด (ไปชมประเพณียิ่งใหญ่นี้ได้ที่จังหวัดยโสธร ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปี) ส่วนการทำบุญวิสาขบูชานั้น ก็มีการทำบุญเลี้ยงพระ ฟังเทศน์ ช่วงเย็น มีการเวียนเทียนเช่นเดียวกับภาคอื่นๆ

[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง พิธีการขอฝนของฅนอีสาน ] [ อ่านความรู้เพิ่มเติม ]

3diamondเดือนเจ็ด

ฮีตหนึ่งนั้น พอเมื่อเดือนเจ็ดแล้วจงพากันบูชาราช ฝูงหมู่เทพเหล่านั้นบูชาแท้สู่ภาย ตลอดไปฮอดอ้ายอาฮักษ์ใหญ่มเหสัก ทั้งหลักเมืองสู่หนบูชาเจ้า พากันเอาใจตั้งทำตามฮีตเก่า นิมนต์สังฆเจ้าขำระแท้สวดมนต์ ให้ฝูงคนเมืองนั้นทำกันอย่าได้ห่าง สูตรชำระเมืองอย่าค้างสิเสีย เศร้าต่ำศูนย์ ทุกข์สิแล่นวุ่นๆ มาโฮมใส่เต็มเมือง มันสิเคืองคำขัดต่ำลงศูนย์เศร้า ให้เจ้าทำตามนี้ แนวเฮาสิกล่าว จึงสิสุขอยู่สร้างสวรรค์ฟ้าเกิ่งกัน ทุกข์หมื่นฮ้อยซั้นบ่มีว่าพาน ปานกับเมืองสวรรค์ สุขเกิ่งกันเทียมได้ "

เดือนเจ็ดทำบุญซำฮะ (ล้าง) หรือ บุญบูชาบรรพบุรุษ มีการเซ่นสรวงหลักเมือง หลักบ้าน ปู่ตา ผีตาแฮก ผีเมือง เป็นการทำบุญเพื่อระลึกถึงผู้มีพระคุณ

[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง ผีตาแฮกและดอนปู่ตา ] [ อ่านความรู้เพิ่มเติม ]

 

3diamondเดือนแปด

ฮีตหนึ่งนั้น พอเถิงเดือนแปดได้ล้ำล่วงมาเถิง ฝูงหมู่สังโฆคุณเข้าวัสสาจำจ้อย ทำตาม ฮอยของเจ้าพระโคดมทำก่อน บ่ทะลอนเลิกม้างทำแท้สู่ภาย แล้วจงพากันผ่ายหาของไปเททอด ทำทานไปอย่าได้คร้านเอาไว้หมู่บุญ สิเป็นของหนุนเจ้าไปเทิงอากาศ สู่สวรรค์บ่ฮ้อนด้วยบุญนี้ส่งไป เพิ่นจึงตรัสบอกไว้ฮีตเก่าคองหลัง อย่าขาดได้ไปแท้สู่คน โอกาสนี้เพิ่นให้เที่ยวซอกค้นขุดก่นขุมบุญ เอาทุนไปภายหน้า เมื่อตายไปแล้วเป็นแนวนำเฮาขึ้นบันไดทองเทียวท่อง ขึ้นสู่ห้องชั้นฟ้าสวรรค์พุ้น อยู่เย็น ฝูงหมู่วิบากเว้นบ่มีว่าสิมาพาน เนาว์วิมานแสนทุกข์หายบ่มาใกล้ "

เดือนแปด ทำบุญเข้าพรรษา เป็นประเพณีทางพุทธศาสนาโดยตรง จึงคล้ายกับทางภาคอื่นๆ ของประเทศไทย เช่น มีการทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์สามเณร มีการฟังธรรมเทศนาตอนบ่าย ชาวบ้านหล่อเทียนใหญ่ถวายเป็นพุทธบูชา และเก็บไว้ตลอดพรรษา การนำไปถวายวัดจะมีขบวนแห่ฟ้อนรำเพื่อให้เกิดความคึกคักสนุกสนาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา ที่ยิ่งใหญ่แน่นอนต้องเป็นที่ จังหวัดอุบลราชธานี

[เรื่องที่เกี่ยวข้อง ประเพณีแห่เทียนพรรษา ] [ อ่านความรู้เพิ่มเติม

 

3diamondเดือนเก้า

ฮีตหนึ่งนั้น พอเถิงเดือนเก้าแล้วเป็นกลางแห่งวัสสกาล ฝูงประชาชนชาวเมืองก็เล่า เตรียมตัวพร้อม พากันทานยังเข้าประดับดินกินก่อน ทายกทานให้เจ้าพระสงฆ์พร้อมอยู่ภาย ทำ จั่งซี้บ่ย้ายเถิงขวบปีมา พระราชาในเมืองก็จงทำแนวนี้ ฮีตหากมามีแล้ววางลงให้ถือต่อ จำไว้เด้อ พ่อเฒ่าหลานเว้ากล่าวจา "

ทำบุญข้าวประดับดิน เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศแก่ญาติผู้ล่วงลับ เพื่อบูชาผีบรรพบุรุษและผีไร้ญาติ โดยชาวบ้านจะทำการจัดอาหาร ประกอบด้วยข้าว ของหวาน หมากพลู บุหรี่ ห่อด้วยใบตองกล้วย ร้อยเป็นพวง เตรียมไว้ถวายพระช่วงเลี้ยงเพล บางพื้นที่อาาจะนำห่อข้าวน้อย เหล้า บุหรี่ แล้วนำไปวางหรือแขวนไว้ตามต้นไม้หรือที่ใดที่หนึ่ง พร้อมทั้งกล่าวเชิญวิญญาณของบรรพบุรุษ และญาติมิตรที่ล่วงลับไปมารับส่วนกุศลในครั้งนี้ ต่อมาใช้วิธีการกรวดน้ำหลังการถวายภัตตาหารพระสงฆ์แทน

[ อ่านความรู้เพิ่มเติม ]  

 

3diamondเดือนสิบ

ฮีตหนึ่งนั้น เมื่อเทิงเดือนสิบแล้วทายกทอดบวยบาน เบิกพลีทำทานต่อมาสองซ้ำ ข้าว สลากนำไปให้สังโฆทานทอด พากันหวังยอดแก้วนิพพานพุ้นพ้นที่สูง ฝูงหมู่ลุงอาว์ป้าคณาเนือง น้อมส่ง ศรัทธาลงทอดไว้ทานให้แผ่ไป อุทิศให้ฝูงเปรตเปโต พากันโมทนานำสู่คนจนเกลี้ยง "

เดือนสิบ ทำบุญข้าวสาก หรือ ข้าวสลาก (สลากภัตร) ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบ ผู้ถวายจะเขียนชื่อของตนลงในภาชนะที่ใส่ของทาน และเขียนชื่อลงในบาตร ภิกษุสามเณรรูปใดจับได้สลากของใคร ผู้นั้นจะเข้าไปถวายของ เมื่อพระฉันเสร็จแล้ว มีการฟังเทศน์ เป็นการอุทิศให้แก่ ผู้ตายเช่นเดียวกับบุญข้าวประดับดิน

[เรื่องที่เกี่ยวข้อง ประเพณีวันสาร์ทของชาวสุรินทร์ ] [ อ่านความรู้เพิ่มเติม

 

3diamondเดือนสิบเอ็ด

ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนสิบเอ็ดแล้วก็เป็นแวทางป่อง เป็นช่องของพระเจ้าเคยเข้าแล้ว อย่าเซา "

เดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด พระสงฆ์จะแสดงอาบัติ ทำการปวารณา คือการเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ต่อมาเจ้าอาวาสหรือพระผู้ใหญ่ จะให้โอวาทเตือนพระสงฆ์ ให้ปฏิบัติตนอย่างผู้ทรงศีลเป็นอันเสร็จพิธี พอตกกลางคืนมีการจุดประทีป โคมไฟ นำไปแขวนไว้ตามต้นไม้ในวัดหรือตามริมรั้ววัด จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญจุดประทีป ในจังหวัดนครพนมจะมีประเพณีการไหลเหลือไฟ ซึ่งตกแต่งด้วยตะเกียงน้ำมันก๊าดเป็นรูปต่างๆ สวยงามกลางลำน้ำโขง

[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง แห่ปราสาทผึ้ง ]  [ อ่านความรู้เพิ่มเติม ]

 

3diamondเดือนสิบสอง

ฮีตหนึ่งนั้น เดือนสิบสองมาแล้วลมวอยหนาวสั่น เดือนนี้หนาวสะบั้นบ่คือแท้แต่หลัง ในเดือนนี้เพิ่นว่าให้ลงทอดพายเฮือ ซ่วงกันบูชา ฝูงนาโค นาคเนาว์ในพื้น ชื่อว่าอุชุพะนาโค เนาว์ ในพื้นแผ่น สิบห้าสกุลบอกไว้บูชาให้ส่งสะการ จงทำให้ทุกบ้านบูชาท่านนาโค แล้วลงโมทนาดอม ชื่นชมกันเล่น กลางเว็นกลางคืนให้ระงมกันขับเสพ จึงสิสุขอยู่สร้างสบายเนื้ออยู่เย็น ทุกข์ทั้งหลาย หลีกเว้นหนีห่างบ่มีพาน ของสามานย์ทั้งปวงบ่ได้มีมาใกล้ ไผผู้ทำตามนี้เจริญขึ้นยิ่งๆ ทุกสิ่งบ่ไฮ้ ทั้งข้าวหมู่ของ กรรมบ่ได้ถึกต้องลำบากในตัว โลดบ่มีมัวหมองอย่างใดพอดี้ มีแต่สุขีล้นครองคน สนุกยิ่ง อดในหลิงป่องนี้เด้อเจ้าแก่ชรา "

เดือนสิบสอง เป็นเดือนส่งท้ายปีเก่าตามคติเดิม มีการทำบุญกองกฐิน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันแรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ดถึงกลางเดือนสิบสอง แต่ชาวอีสานครั้งก่อนนิยมเริ่มทำบุญทอดกฐินกัน ตั้งแต่ข้างขึ้นเดือนสิบสอง จึงมักจะเรียกบุญกฐินว่า บุญเดือนสิบสอง สำหรับประชาชนที่อาศัย อยู่ตามริมฝั่งน้ำใหญ่ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี จะมีการจัดส่วงเฮือ (แข่งเรือ) เพื่อระลึกถึง อุสุพญานาค ดังคำกลอนข้างต้น

บางแห่งทำบุญดอกฝ้ายเพื่อใช้ทอเป็นผ้าห่มกันหนาว ถวายพระเณร จะมีพลุตะไล จุดด้วย บางแห่งทำบุญโกนจุกลูกสาวซึ่งนิยมทำกันมากในสมัยก่อน

[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง ความหมาย ตำนาน ประเภทบุญกฐิน ] [ อ่านความรู้เพิ่มเติม

 

ประเพณีที่กล่าวมานี้ถือว่า เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ตั้งแต่ เดือนอ้ายจนถึงเดือนสิบสอง ใครที่ไม่ไปช่วยงานบุญก็จะถูกสังคมตั้งข้อรังเกียจ และยังไม่คบค้าสมาคมด้วย การร่วมประชุมทำบุญเป็นประจำเช่นนี้ จึงทำให้ชาวอีสานมีความสนิทสนมรักใคร่กัน ไม่เฉพาะแต่ในหมู่บ้านของตนเท่านั้น แต่ยังสร้างความสามัคคีกันในหมู่บ้านใกล้เคียงอีกด้วย เพราะจะมีการบอกบุญที่จะเกิดขึ้นไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงเป็นประเพณีสืบต่อกันมา

new1234[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ผญาโบราณอีสาน : ฮีตสิบสอง ]

 สารคดีน่ารู้ "ฮีตสิบสอง"


ระบบการปกครองอีสานโบราณ | ฮีตสิบสอง | คองสิบสี่

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)