attalak isan

กกไหล

กกไหล หรือ ต้นไหล บ้างเรียกว่า กกราชินี เป็นพืชล้มลุกมีอายุหลายปี ขนาด 1 - 2 เมตร ชอบขึ้นในดินเหนียวที่ชุ่มชื้นและมีอินทรีย์วัตถุสูงจนถึงน้ำลึก 60 เซนติเมตร ใบแผ่ออกเป็นแฉกตรงไม่ห้อยลู่ลง ชาวบ้านบุ ตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ นำกกไหลมาทำผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ เสื่อพับ เสื่อปูนั่ง ที่รองจาน ที่รองแก้ว รองเท้า หมอนอิง กระเป๋า ที่ใส่ไม้จิ้มฟัน ที่ใส่กระดาษทิชชู่ ผลิตภัณฑ์โดดเด่นของหมู่บ้านนี้ คือ เสื่อยาวสำหรับปูในศาลาวัด และเสื่อยกลาย ซึ่งมีเทคนิคการทอคล้ายการทอผ้าขิด และการทอเสื่อยกลายทอเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายปราสาทพนมรุ้ง ลายปราสาทนครวัด ลายผีเสื้อ เป็นต้น

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เสื่อมีสีสันสดใส ลวดลายสวยงามและหลากหลาย ปรับทอตามลวดลายและการใช้งาน

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม การทอเสื่อยาวสำหรับปูในศาลาวัด สะท้อนความศรัทธาที่มีต่อพุทธศาสนา

kok lai 01

กก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cyperaceae; อังกฤษ: Sedge) เป็นไม้ล้มลุก มีประมาณ 4,000 ชนิด แพร่พันธุ์กระจายทั่วโลก ชอบที่ชื้นแฉะ ขึ้นในที่ระดับต่ำตามหนอง บึง ทางระบายคันคูน้ำและโคลนเลน ใน 46 ประเทศ จัดพืชวงศ์กกเป็นวัชพืช มีหลายชนิดใช้เป็นอาหาร เช่น Eleocharis toberosa และ Scirpus toberosus และหลายชนิดนำมาทำเครื่องจักสานได้อย่าง เสื่อ กระจาด กระเช้า หมวก เช่น กกชนิด Scirpus mucronatus, Lepironia mucronata, Carex brizoides เป็นต้น

กกมีรูปร่างลักษณะและนิเวศวิทยาเหมือนหญ้ามาก มีลักษณะที่แตกต่างจากหญ้าคือ กกมักมีลำต้นตัน และเป็นสามเหลี่ยมหรือสามมุม บางชนิดมีผนังกั้นแบ่งเป็นห้องๆ มีกาบใบอยู่ชิดกันมาก และที่สำคัญคือเกือบไม่มีลิ้นใบ บางชนิดไม่มีเลย ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของกกคือ ดอกแต่ละดอกจะมีกาบช่อย่อยห่อหุ้มหรือรองรับเพียงอันเดียว กกมีไหลเลื้อยไปใต้ดินและจากไหลก็จะแตกเป็นลำต้นที่ตัน โผล่พ้นขึ้นมาเหนือดิน และเมื่อผ่าลำต้นดูตามขวาง จะมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมหรือสามมุมดังได้กล่าวมาแล้ว ลำต้นกกจะไม่แตกกิ่งเหมือนพืชชนิดอื่น ใบของกกเหมือนกับใบของหญ้า แต่จะเรียงตัวอัดกันแน่นเป็นสามมุมหรือสามตำแหน่งรอบโคนต้นและมีกาบห่อหุ้มลำต้นและไม่มีลิ้นใบ

kok lai 04

“ต้นกก” เป็นพืชธรรมชาติที่ขึ้นอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ การทอเสื่อกกนั้นนับเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีการสืบสานมายาวนาน โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนของทุกปี ชาวบ้านก็มักจะใช้เวลาที่ว่างเว้นจากการทำไร่นา มาทอเสื่อกกเพื่อใช้ในครัวเรือน และขายเป็นรายได้เสริม

แต่ปัจจุบัน ภูมิปัญญาในการทอเสื่อกกเริ่มจางหายไป มีสินค้าจากวัสดุสังเคราะห์เข้ามาแทนการใช้เสื่อกกมากมาย ทำให้กระแสความนิยมในการใช้เสื่อลดลง ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็ไม่ให้ความสนใจ จะเหลือก็เฉพาะคนเก่าคนแก่ที่ยังคงสืบสานการทอเสื่อกกอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน

kok lai 02

ในการทอเสื่อกกนั้น เมื่อก่อนชาวบ้านจะใช้พืชที่ขึ้นในน้ำที่เรียกว่า “ผือ” มาทอและใช้เชือกฟางผูกเชื่อมเป็นเสื่อมาหลายปี แต่เมื่อมี “กก” มาทดแทน และยังพบว่า "กก" สามารถย้อมสีทนและสวยงามกว่าผือ จึงหันมาใช้กกในการทอ และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นเสื่อกกพับดังเช่นในปัจจุบัน

ขั้นตอนการทอเสื่อกก

  • นำกกหรือไหลมาตัดให้เท่ากัน ไหลที่นำมาตัดนั้นจะต้องเป็นลำที่สวยงาม ไม่แก่มาก และไม่อ่อนมากจนเกินไป หลังจากนั้นนำกกหรือไหลมาสอย (ฉีก) เอาไส้ทิ้งเอาแต่เส้น
  • นำกกหรือไหลมาตากให้แห้ง จะย้อมได้สวยตากแดดประมาณ 1 อาทิตย์ และนำไหลมาย้อมสีตามที่ต้องการโดยสีที่ย้อมเป็นสีเคมีอย่างดี

kok lai 05

วิธีการย้อม

  • เลือกสีสำหรับย้อมที่มีสีสันสวยงาม เช่น สีแดง สีบานเย็น สีม่วง
  • ก่อไฟแล้วนำปี๊ป หรือกระทะใส่น้ำพอประมาณท่วมเส้นกกนำมาตั้งบนเตารอให้น้ำเดือด ก็นำสีที่เลือกมาเทลง จากนั้นกำกกหรือไหลลงย้อม
  • นำเส้นกกที่ย้อมสีแล้วลงล้างในน้ำเปล่าเพื่อให้กกอ่อนนุ่ม ยืดหยุ่น เหนียว และไม่ขาด ซึ่งจะง่ายต่อการทอ ทอแล้วนำไปตากแดดที่จัดจนแห้ง

kok lai 06

วิธีการทอ

  • นำเชือกไนลอนหรือเชือกเอ็นขึงที่โฮมทอเสื่อให้เป็นเส้นตามโฮม
  • นำกกหรือไหลสอดเข้ากับไม้สอดเพื่อที่จะสอดเข้ากับโฮมทอเสื่อ เมื่อสอดกกหรือไหลเข้าไปแล้วผลักฟืมเข้าหาตัวเองให้กกหรือไหลแน่นติดกัน เป็นลายต่างๆ

ปัจจุบันชาวบ้านได้ทอเสื่อเป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ของคนในชุมชน ชุมชนได้เรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์เสื่อกก โดยการตกแต่งและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น เป็นเสื่อกกเก็บพับได้ กระเป๋าจากเสื่อกก แฟ้มเก็บเอกสาร หมวก ที่ใส่ไม้จิ้มฟัน ที่รองจาน แก้ว เป็นต้น

kok lai 03

แจ้งเมื่อทราบ : มีหลายท่านที่สนใจอยากได้ อยากซื้อผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นบ้านต่างๆ ผลผลิตจากชุมชนที่เรานำเสนอ ขอเรียนให้ทราบว่า ทางเว็บไซต์ประตูสู่อีสานของเราไม่ได้ทำการจำหน่าย หรือทำการตลาดนะครับ ถ้าท่านสนใจก็ไม่ยาก เปิดเว็บไซต์ OtopToday.com แล้วช็อปกันได้เลยครับ

redline

backled1