LP sao header

พระครูวิเวกพุทธกิจ หรือ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล (2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2402 - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485) เป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ผู้เป็นบูรพาจารย์สายพระป่าในประเทศไทย ท่านเป็นอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล เป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปในทางสมถะวิปัสสนา มีความเพียรเป็นเลิศ มีความสงบเสงี่ยม กิริยามารยาทเรียบร้อย สุขุม พูดน้อย และพอใจแนะนำสั่งสอนผู้อื่นในทางนั้นด้วย เป็นผู้ใฝ่ใจในธุดงควัตรหนักแน่นในพระธรรมวินัย ชอบวิเวกและไม่ติดถิ่นที่อยู่ เดินธุดงค์ไปหาสถานที่เจริญสมณธรรมตามชายป่าดงพงไพรภูเขาต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและประเทศลาว

LP Sao 01

ชาติกำเนิด

หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล นามเดิมชื่อ เสาร์ บิดาชื่อ พ่อทา มารดาชื่อ แม่โม่ นามสกุล พันธ์สุรี ท่านเป็นบุตรคนแรกในจำนวนพี่น้อง 5 คน ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2402 ณ บ้านข่าโคม เมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไล ประเทษราช หรือเดิมรู้จักกันในชื่อ บ้านข่าโคม ตำบลหนองขอน ในปัจจุบันคือ บ้านข่าโคม ตำบลปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

การบรรพชาและอุปสมบท

ปี พ.ศ. 2417 เมื่ออายุ 15 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดใต้ เมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไล ประเทษราช ปัจจุบันคือ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ท่านมีความวิริยอุสาหะขยันขันแข็ง ตั้งใจทำกิจการงานของวัด ทั้งการท่องบ่นสาธยายมนต์ เรียนมูลน้อย มูลใหญ่ มูลสังกัจจายน์ ศึกษาทั้งการอ่านการเขียนอักษร ไทยน้อย ไทยใหญ่ และอักษระขอม จนชำนาญคล่องแคล่วทุกอย่าง

LP Sao 09

ปี พ.ศ. 2422 เมื่ออายุ 20 ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดใต้ เมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไล ประเทษราช ปัจจุบันคือ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และพำนักอยู่ที่วัดใต้ ซึ่งเป็นคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย และเมื่อพรรษา 10 ได้ศึกษาเล่าเรียนจนได้เป็น ญาคู คือครูสอนหมู่คณะทั้งพระภิกษุและฆราวาส ชาวบ้านเรียกท่านว่า ญาคูเสาร์

ต่อมา หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของ ท่านเทวธมฺมี (ม้าว) พระเถระฝ่ายธรรมยุติกนิกาย สำนักวัดศรีทอง (ปัจจุบัน วัดศรีอุบลรัตนาราม) และได้ขอ ทัฬหิกรรม ญัตติบวชใหม่เป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุตินิกาย ณ อุโบสถวัดศรีทอง ปัจจุบันคือ วัดศรีอุบลรัตนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พระครูทา โชติปาโล ซึ่งต่อมาได้รับสมณศักดิ์ที่ พระครูสีทันดรคณาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระอธิการสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ทั้งนี้ยังได้นำคณะสงฆ์พระภิกษุสามเณรใน วัดใต้ ทั้งหมด ญัตติกรรม เป็นคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ด้วยเหตุนี้ วัดใต้ หรือ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ จึงกลายเป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์และการศึกษาธรรม

หลังจาก หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ได้ญัตติเป็นพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตแล้ว ท่านได้ศึกษาธรรมและข้อวัตรปฏิบัติจาก ท่านเทวธมฺมี (ม้าว) พระเถราจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระแห่งเมืองอุบลราชธานีในขณะนั้น และได้รีบเร่งประกอบความเพียรในด้านวิปัสสนาธุระ ยึดมั่นในหลักธุดงควัตร 13 บำเพ็ญเพียรสมณธรรม

ปี พ.ศ. 2434 - พ.ศ. 2435 หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ได้สร้างสำนักสงฆ์ วัดเลียบ ขึ้น ซึ่งเดิมเป็นบริเวณป่าด้านหน้าวัดใต้ อันเป็นที่สงบเงียบเหมาะสำหรับการบำเพ็ญเพียรภาวนา ได้รับพระทานวิสุงคามสีมา ตามพระราชโองการที่ 87/303 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2434 ตรงกับ ร.ศ. 115 อันเป็นปีที่ 29 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ได้สร้าง พระพุทธจอมเมือง เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

LP Sao 07

ต่อมา หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ได้ออกธุงค์ไปพำนักปักกลดที่กุดเม็ก บ้านคำบง อำเภอโขงเจียม ในขณะนั้น ปัจจุบันคือ อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี ได้เทศนาสั่งสอน พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต สมัยยังเป็นฆราวาส จนเกิดศรัทธาเลื่อมใสและได้มอบตัวเป็นศิษย์ อยู่ฝึกสมาธิกัมมัฏฐานและติดตามอุปัฏฐากรับใช้ท่าน

ปี พ.ศ. 2536 หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ขณะนั้นบวชเป็นพระภิกษุได้ 14 พรรษา ก็ได้นำศิษย์เอกจากบ้านคำบง ที่ชื่อว่า มั่น แก่นแก้ว เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุในคณะธรรมยุต ณ วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) โดยมี พระอริยกวี (อ่อน ธมฺมรกฺขิโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย ญาณสโย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2436 ได้รับสมณฉายาว่า ภูริทตฺโต หลังจากอุปสมบทแล้ว หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้ไปพำนักฝึกอบรมด้านสมถะและวิปัสสนากรรมฐานอยู่กับหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ณ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี และจุดนี้เป็นความยิ่งใหญ่ของวงศ์พระกรรมฐานตราบจนถึงปัจจุบัน วงศ์พระกรรมฐานจึงขนานนามหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ว่า พระปรมาจารย์สายพระกรรมฐาน

ปี พ.ศ. 2440 หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ได้พาศิษย์ของท่านคือ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งยังเป็นพระนวกะบวชได้ 4 พรรษา ออกเดินธุดงค์จากวัดเลียบ ไปปฏิบัติภาวนาที่ภูหล่น ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอโขงเจียมในขณะนั้น ปัจจุบันคือ วัดภูหล่น อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงตรงข้ามกับฝั่งประเทศลาว และได้ออกธุดงค์ไปตามลำแม่น้ำโขงทั้งฝั่งประเทศไทยและประเทศลาว

LP Sao 03

ปี พ.ศ. 2443 หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และหลวงปู่หนู ฐิตปญฺโญ ต่อมาก็คือ พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) ได้มาพำนักจำพรรษา ณ พระธาตุพนม ซึ่งพระธาตุพนมในสมัยก่อน ประชาชนไม่รู้ถึงความสำคัญจึงไม่มีใครสนใจเท่าใดนัก เมื่อคณะของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล มาพำนักจำพรรษา ได้บอกให้ชาวบ้านญาติโยมทราบว่า พระธาตุพนม องค์นี้เป็นพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นพระธาตุที่บรรจุอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า เมื่อชาวบ้านได้รู้เช่นนั้นแล้ว ก็พากันบังเกิดปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงช่วยกันทำความสะอาดบริเวณพระธาตุพนม ครั้นถึงวันเพ็ญเดือน 3 ก็พาญาติโยมทั้งหลายทำบุญ จนเป็นประเพณีสืบต่อกันมา และกาลต่อมาจึงได้มีการบูรณะขึ้นกลายเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญของภาคอีสาน และประเทศไทย ปัจจุบันคือ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

ปี พ.ศ. 2459 หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล พำนักจำพรรษาที่ถ้ำจำปา ภูผากูด ตำบลหนองสูง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร และได้จำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ด้วย วันหนึ่งหลวงปู่เสาร์นั่งอยู่ในที่สงัดองค์เดียว ท่านพิจารณาถึงอริยสัจ ได้รู้ได้เห็นตามความเป็นจริง ได้ตัดเสียซึ่งความสงสัยได้อย่างเด็ดขาด จวนจะถึงกาลปวารณาออกพรรษา ท่านก็ทราบชัดถึงความเป็นจริงทุกประการ จึงได้บอกกับท่านพระอาจารย์มั่นว่า เราได้เลิกการปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว และเราก็ได้เห็นธรรมตามความเป็นจริงแล้ว พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้ยินดังนั้นก็เกิดปีติเป็นอย่างมากและได้ทราบทางวาระจิตว่าหลวงปู่เสาร์พบวิมุตติธรรมแน่แล้วในอัตภาพนี้ หลังจากนั้นหลวงปู่ใหญ่เสาร์ก็ได้ธุดงค์วิเวกไปตามเขตจังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย เป็นต้น

ปี พ.ศ. 2479 หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ได้ปรารภถึงการเดินทางกลับจังหวัดอุบลราชธานี คณะศิษย์ทั้งหลายจึงได้จัดประชุมคณะสงฆ์และร่วมทำบุญในวันมาฆบูชา ณ วัดป่าอ้อมแก้ว หรือ วัดเกาะแก้วอัมพวัน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เป็นวัดที่หลวงปู่ใหญ่เสาร์สร้างไว้เมื่อปี พ.ศ. 2473 ซึ่งการประชุมคณะสงฆ์ครั้งนี้ถือเป็นภารกิจสุดท้ายของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ที่จังหวัดนครพนม และถือเป็นการให้โอวาทครั้งสุดท้ายแก่คณะศิษย์ ที่ไม่ได้เดินทางติดตามไปที่จังหวัดอุบลราชธานี การประชุมในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการประชุมพระธุดงค์กรรมฐานครั้งใหญ่ที่สุดของจังหวัดนครพนมในสมัยนั้น

LP Sao 04

คณะศิษย์ได้เดินทางติดตาม หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ไปพำนักที่จังหวัดอุบลราชธานี ในครั้งนั้นมีพระภิกษุสามเณรไม่น้อยกว่า 70-80 รูป หลวงปู่ใหญ่เสาร์จึงแบ่งคณะศิษย์ออกเป็นหลายกลุ่มหลายคณะ โดยมีศิษย์อาวุโสรับเป็นหัวหน้าแต่ละคณะ พร้อมทั้งกำหนดหมู่บ้านต่างๆ ที่แต่ละคณะจะไปพำนักเพื่อโปรดญาติโยมชาวเมืองอุบลราชธานี เช่น หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ไปพำนักจำพรรษาที่บ้านข่าโคม บ้านเกิดของท่าน พระอาจารย์ทองรัตน์ กนฺตสีโล ศิษย์อาวุโสฝ่ายมหานิกาย ไปตั้งวัดจำพรรษาอยู่ที่บ้านชีทวน พระอาจารย์บุญมาก ฐิติปุญโญ ไปอยู่บ้านท่าศาลา พระอาจารย์ทอง อโสโก ไปอยู่บ้านสวนงัว และพระอาจารย์ดี ฉนฺโน ไปอยู่บ้านกุดแห่ ซึ่งเป็นบ้านของท่าน เป็นต้น

ปี พ.ศ. 2480 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ในขณะที่ดำรงสมณศักดิ์เป็น พระพรหมมุนี และดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดสุปัฏนารามวรวิหาร และ เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา ด้วย ได้ขอให้ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล พิจารณาสร้างวัดป่ากรรมฐานขึ้นที่อำเภอพิบูลมังสาหาร ด้วยปรากฏว่า ญาติพี่น้องของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ได้อพยพมาจากบ้านแคน ดอนมดแดง มาปักหลักตั้งถิ่นฐานที่บ้านโพธิ์ตาก อำเภอพิบูลมังสาหาร เป็นจำนวนมาก จึงอยากให้ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ไปตั้งวัดป่า เพื่ออบรมกรรมฐานให้ลูกหลานชาวอำเภอพิบูลมังสาหาร เพื่อจะได้รู้และเข้าใจในการศึกษาปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน

หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล จึงได้ธุดงค์เดินทางไปยังอำเภอพิบูลมังสาหาร และได้มอบหมายให้ พระอาจารย์ดี ฉนฺโน และ พระอาจารย์เสงี่ยม -ไม่ทราบฉายา- ตั้งสำนักปฏิบัติธรรมอบรมจิตภาวนาที่อำเภอพิบูลมังสาหาร บริเวณ ป่าช้าโคกภูดิน ซึ่งเป็นเนินภูเขาสูง โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) และชาวอำเภอพิบูลมังสาหารได้ให้การอุปถัมภ์สนับสนุน ชาวบ้านเรียกสำนักแห่งนี้ว่า วัดป่าภูดิน หรือ วัดป่าภูเขาแก้ว ซึ่งในปัจจุบันก็คือ วัดภูเขาแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

LP Sao 05

ปี พ.ศ. 2481 หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล พระอาจารย์ดี ฉนฺโน และคณะศิษย์ชาวอำเภอพิบูลมังสาหาร ได้ธุดงค์สำรวจเกาะแก่งน้อยใหญ่ในลำแม่น้ำมูลทางตอนใต้ของเมืองพิบูลมังสาหาร จนมาถึงเกาะดอนธาตุจึงได้ขึ้นพำนักปักกลดที่เกาะแห่งนี้ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ได้ปรารภว่าอยากสร้าง เกาะดอนธาตุ แห่งนี้ขึ้นเป็นวัดป่ากรรมฐานเพราะมีความเหมาะสม จึงมอบหมายให้ พระอาจารย์ดี ฉนฺโน และคณะศรัทธาญาติโยมชาวอำเภอพิบูลมังสาหาร รับหน้าที่ดูแลการสร้างวัดและเสนาสนะขึ้น

ปี พ.ศ. 2482 หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ได้กำหนดเอาตรงลานบริเวณศาลาชั่วคราวในขณะนั้น เป็นที่สร้าง พระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) โดยให้เหตุผลว่าตรงที่กำหนดจะสร้างพระนั้น เป็นพระธาตุอังคารพระบรมศาสดาแต่เดิมที่ทรุดลงไป และพังทลายแล้ว จึงได้ให้สร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ครอบเอาไว้เป็นสัญลักษณ์สำหรับกราบไหว้บูชาต่อไป โดยมี พระอาจารย์ดี ฉนฺโน เป็นช่างปั้น พระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) ในการนี้ และต่อมา หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ได้ตั้งชื่อ เกาะดอนธาตุ แห่งนี้ว่า วัดเกาะแก้วพระนอนคอนสวรรค์วิเวกพุทธกิจศาสนา ครูบาอาจารย์ในสมัยนั้นเรียกสั้นๆ ว่า วัดเกาะแก้ว ต่อมากรมการศาสนาได้เปลี่ยนชื่อให้เป็น วัดดอนธาตุ ดังปรากฏในปัจจุบัน

LP Sao 08

ซึ่งในช่วงปัจฉิมวัยขององค์หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ได้พำนักจำพรรษา ณ วัดดอนธาตุ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี แห่งนี้เป็นวัดสุดท้ายก่อนละสังขาร

การละสังขาร

เมื่อออกพรรษาทุกปี หลวงปู่เสาร์ จะพาคณะสงฆ์ออกธุดงค์ลงไปทางใต้นครจำปาศักดิ์ หลี่ผี ปากเซ ฝั่งประเทศ สปป.ลาว แล้วก็ย้อนกลับมาจำพรรษาที่วัดดอนธาตุอีกทุกปี เมื่อถึงปี พ.ศ. 2483 มีอยู่วันหนึ่งตอนบ่าย หลวงปู่เสาร์นั่งสมาธิอยู่ใต้โคนต้นยางใหญ่ พอดีขณะนั้นมีเหยี่ยวตัวหนึ่งได้บินโฉบไปโฉบมา โฉบเอารังผึ้งซึ่งอยู่บนต้นไม้ที่หลวงปู่เสาร์นั่งอยู่ รวงผึ้งนั้นได้ขาดตกลงมาใกล้ๆ กับที่หลวงปู่เสาร์นั่งอยู่ ผึ้งได้รุมกัดต่อยหลวงปู่หลายตัว จนท่านถึงกับต้องเข้าไปในมุ้งกลด พวกมันจึงพากันบินหนีไป

LP Sao 06

ตั้งแต่นั้นมา หลวงปู่เสาร์ ก็อาพาธมาโดยตลอด พอออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้ไปวิเวกทางด้านปากเซ หลี่ผี จำปาศักดิ์ แต่ไปคราวนี้หลวงปู่เสาร์ป่วยหนัก ท่านจึงสั่งให้หลวงปู่บัวพา และคณะศิษย์นำท่านกลับมาที่วัดอำมาตย์ นครจำปาศักดิ์ ประเทศ สปป.ลาว โดยมาทางเรือ ตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ ท่านนอนบนแคร่ในเรือประทุน หลวงปู่เสาร์หลับตานิ่งมาตลอด เพราะตอนนั้นท่านกำลังอาพาธหนัก อันเกิดจากผึ้งที่ได้ต่อยท่านตอนที่อยู่จำพรรษาที่วัดดอนธาตุ เมื่อถึงนครจำปาศักดิ์แล้ว ท่านลืมตาขึ้นพูดว่า

ถึงแล้วใช่ไหม ให้นำเราไปยังอุโบสถเลย เพราะเราจะไปตายที่นั่น "

หลวงปู่บัวพาจึงได้นำหลวงปู่เสาร์เข้าไปในอุโบสถ แล้วหลวงปู่เสาร์สั่งให้เอาผ้าสังฆาฏิมาใส่ แล้วเตรียมตัวเข้านั่งสมาธิ ท่านกราบพระ 3 ครั้ง พอกราบครั้งที่ 3 ท่านนิ่งงันโดยไม่ขยับเขยื้อน นานเท่านานจนผิดสังเกต หลวงปู่บัวพา และหลวงปู่เจี๊ยะ จนฺโท ซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ เอามือมาแตะที่จมูกท่าน ปรากฏว่าท่านหมดลมหายใจแล้ว ไม่ทราบว่าหลวงปู่เสาร์ท่านมรณภาพไปเวลาใด แต่พอสันนิษฐานได้ว่า ท่านมรณภาพในอิริยาบถนั่งกราบ ท่านจึงพูดขึ้นกับหมู่คณะ (ซึ่งตอนนั้นมีพระเถระผู้ใหญ่ และพระเณรมานั่งดูอาการป่วยของหลวงปู่เสาร์) ว่า "หลวงปู่ได้มรณภาพแล้ว"

ข่าวการมรณภาพของหลวงปู่เสาร์ ก็แพร่กระจายไปเรื่อยๆ จนทางบ้านเมือง ญาติโยม พระเณร ชาวนครจำปาศักดิ์ขอทำบุญอยู่ 3 วัน เพื่อบูชาคุณขององค์หลวงปู่ พอวันที่ 4 บรรดาพระเถระ ญาติโยมชาวอุบลฯ จึงได้มาอัญเชิญศพขององค์หลวงปู่ไปวัดบูรพาราม จังหวัดอุบลฯ ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่เสาร์เคยอยู่มาก่อน ปีที่หลวงปู่เสาร์มรณภาพคือปี พ.ศ. 2484 (วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2484อายุ 82 ปี 3 เดือน 1 วัน)

ออกพรรษาแล้ว ปี พ.ศ. 2486 จึงได้จัดพิธีถวายเพลิงศพของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ในงานนี้หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้มาเป็นประธาน แต่ผู้ดำเนินงานคือ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ในวันถวายเพลิงศพนอกจากศพของหลวงปู่เสาร์แล้ว ยังมีพระเถระผู้ใหญ่อีก 3 รูป ที่มีการฌาปนกิจในวันเดียวกันคือ 1. ท่านเจ้าคุณพระศาสนดิลก (เสน ชิตโสโน) 2. พระมหารัฐ รฏฐปาโล 3. พระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุญรอด นนฺตโร) รวมเป็น 4 กับองค์หลวงปู่เสาร์ วันเช่นนี้นี่จึงเป็นวันที่มีการสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่ของชาวจังหวัดอุบลราชธานี

แต่นี้จะไกลห่าง เหลือเพียงร่างร้างชีวา สุดสิ้นแห่งสังขาร สลายลับดับตามกาล

สิ้นชีพก็สิ้นห่วง บรรลุล่วงห้วงนิพพาน สุขใดไหนจักปาน เปรียบสุขนี้ไม่มีเลย... "

จากหนังสือฐานิโยวาท

LP Sao 10

หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ได้มรณภาพในอิริยาบถนั่งกราบพระประธานครั้งที่ 3 ในพระอุโบสถ วัดอำมาตยาราม อำเภอวรรณไวทยากร จังหวัดนครจัมปาศักดิ์ ประเทศไทย ในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของแขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว) เมื่อวันอังคาร แรม 3 ค่ำ เดือน 3 ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 สิริอายุ 82 ปี พรรษา 62 คณะศิษย์ได้เชิญศพของท่านกลับมา ณ วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และได้ประกอบพิธีฌาปนกิจในวันที่ 15 - 16 เมษายน พ.ศ. 2486

 ...ให้พากันละบาปและบำเพ็ญบุญ อย่าให้เสียชีวิตลมหายใจไปเปล่าประโยชน์...

…เขาสิเชื่อความดีที่เฮาเฮ็ด หลายกั่วคำเว้าที่เฮาสอน...
(เขาจะเชื่อความดีที่เราทำ มากกว่าคำพูดที่เราสอน)

— หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล

redline

backled1