คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
บ้านเชียง เป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งค้นพบว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยและที่ฝังศพของคนก่อนประวัติศาสตร์ ยุคโลหะ เมื่อราว 5,000 กว่าปีมาแล้ว มีความเจริญก้าวหน้าทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีสูงมาแต่โบราณ ชาวบ้านเชียงโบราณเป็นชุมชนยุคโลหะ ที่รู้จักทำเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ นิยมทำเครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับจากสำริดในระยะแรก และรู้จักใช้เหล็กในระยะต่อมา แต่ก็ยังคงใช้สำริดควบคู่กันไป ชาวบ้านเชียงรู้จักทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นภาชนะสีเทา ทำเป็นลายขูดขีด ลายเชือกทาบและขัดมัน รู้จักทำภาชนะดินเผาลายเขียนสี รูปทรงและลวดลายต่างๆ มากมาย
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ลายก้นหอยบนภาชนะเครื่องปั้นดินเผาเป็นลายที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวบ้านเชียง
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม แหล่งโบราณคดีที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนบ้านเชียงในอดีต
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญแห่งหนึ่ง อยู่ที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ที่ทำให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปกว่า 5,000 ปี ร่องรอยของมนุษย์ในสมัยดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่มีพัฒนาการแล้วในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านความรู้ความสามารถ หรือภูมิปัญญา อันเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยให้ผู้คนเหล่านั้น สามารถดำรงชีวิต และสร้างสังคม - วัฒนธรรมของมนุษย์ได้สืบเนื่องต่อกันมา เป็นระยะเวลายาวนาน วัฒนธรรมบ้านเชียง ได้ครอบคลุมถึงแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกกว่าร้อยแห่ง ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ที่มีมนุษย์อยู่อาศัยหนาแน่นมาตั้งแต่หลายพันปีแล้ว ด้วยเหตุนี้องค์การยูเนสโกจึงได้ยอมรับขึ้นบัญชีแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียงไว้เป็นแห่งหนึ่งในบรรดามรดกโลก
ศิลปะเครื่องปั้นดินเผา ของบ้านเชียงนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ยุค ได้แก่
ชาวบ้านเชียงโบราณนิยมทำเครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับจากสำริดในระยะแรก ก่อนที่จะได้รู้จักใช้การใช้เหล็ก ชาวพอลินีเซียมีหลักฐานว่านิยมใช้สำริดเช่นกัน เช่น ใช้ทำเป็นกลองมโหระทึก
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ได้จดทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2535 อันดับที่ 359 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 16 ที่เมืองแซนตาเฟ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผ่านข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก เพราะเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง แบ่งพื้นที่การจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 ตั้งอยู่ทางด้านขวาของทางเข้า ในเขตวัดโพธิ์ศรีใน เป็นพิพิธภัณฑ์เปิดที่เป็นแหล่งโบราณคดีแห่งแรกในประเทศไทย จัดทำเป็นนิทรรศการถาวร จัดแสดงจำลองขั้นตอนการขุดค้นทางโบราณคดีที่ยังคงลักษณะของศิลปวัตถุที่พบตามชั้นดิน เพื่อให้ผู้เข้าชมได้ศึกษาถึงการขุดค้นทางโบราณคดี และโบราณวัตถุ โดยส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผาที่ฝังรวมกับศพที่เป็นโครงกระดูก
ส่วนที่ 2 ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของทางเข้า เป็นอาคารจัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวและวัฒนธรรมของบ้านเชียง ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตลอดจนเครื่องมือ เครื่องใช้ ที่แสดงถึงเทคโนโลยีในยุคนั้น รวมถึงวัตถุโบราณและนิทรรศการบ้านเชียงที่เคยไปจัดแสดง ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในส่วนนี้ยังมีห้องนิทรรศการ ห้องบรรยายและการให้บริการด้านการศึกษาแก่ผู้ที่สนใจอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงหลุมขุดค้นทางโบราณคดี ตั้งอยู่ภายในวัดโพธิ์ศรีใน ห่างจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 500 เมตร เป็นสถานที่สำคัญที่ได้เก็บรักษาศิลปะเครื่องปั้นดินเผาของบ้านเชียง เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมได้ และยังเป็นสถานที่ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาทอดพระเนตรการทำงานของนักโบราณคดี ในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2515 โดยกรมศิลปากรได้ดำเนินการปรับปรุงหลุมขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีใน และเก็บรักษาหลักฐานทางโบราณคดีไว้ในสภาพดั้งเดิม จัดแสดงในรูปแบบของพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้งแห่งแรกของประเทศไทย
หลุมขุดค้นทางโบราณคดี วัดโพธิ์ศรีใน เป็นหลุมขุดค้นที่จัดอยู่สมัยปลายของวัฒนธรรมบ้านเชียง มีอายุระหว่าง 2,300 - 1,800 ปีมาแล้ว สมัยนี้ภาชนะดินเผาจะเขียนลายพื้นสีแดงบนลายสีนวล เขียนลายสีแดงบนพื้นสีแดง และฉาบด้วยน้ำดินสีแดงแล้วขัดมัน ส่วนทางด้านโลหะกรรม ยุคนี้รู้จักการนำเหล็กมาใช้ประโยชน์ได้แล้ว ส่วนสำริดถึงแม้จะพบทำเป็นเครื่องใช้น้อยลง แต่ยังคงทำเป็นเครื่องประดับที่พัฒนาด้านความประณีต และสวยงามมากกว่าทุกสมัย
ทั่วถิ่นแดนไทย ตอน ย้อนรอยความงดงามทางประวัติศาสตร์บ้านเชียง
การเดินทางไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง สามารถขับรถตามเส้นทางหมายเลข 22 เส้นอุดรธานี-สกลนคร ตรงกิโลเมตรที่ 50 ถึงปากทางเข้าบ้านปูลูจะเห็นป้ายบอกทางไปพิพิธภัณฑ์ทางด้านซ้ายมือ เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2225 อีกประมาณ 6 กิโลเมตร จะถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง
สัมพันธ์ไทย – สหรัฐ ผ่านการวิจัยแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อุดรธานี
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)