foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
อากาศร้อนชนิดทะลุ 40 องศามาตลอดเดือนเมษายน และน่าจะลากยาวไปจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม โปรดระวังพายุฤดูร้อนหรือลมหัวกุดบ้านเฮาที่จะมาพร้อมฝนและลูกเห็บ ฟ้าผ่า พัดเอาหลังคาบ้านเรือนกระจายไปไกลได้ ฟ้าดินลงโทษวิปริตผิดคาดก็เพราะพวกเรานี่แหละที่ตัดไม้ทำลายป่า เผาไร่เผานา จนโลกร้อนขึ้นทุกวัน รวมทั้งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้หมดไป ไม่ปลูกสร้างป่าทดแทน ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องมาช่วยกันรักษ์โลกนี้ไว้ให้ลูกหลาน...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

attalak isan

ผ้าทออีสาน

โดยทั่วไป ชาวอีสานมีสังคมแบบเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ ส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือการทำนา ซึ่งต้องใช้เวลาตั้งแต่เริ่มการเพาะปลูกจนกระทั่งถึงการเก็บเกี่ยวประมาณ 7 - 9  เดือน ในแต่ละปีตลอดฤดูฝนและฤดูหนาว ส่วนเวลาว่างในช่วงฤดูร้อนประมาณ 3 – 5 เดือน ชาวอีสานจะทำงานทุกอย่างเพื่อเตรียมอุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการทำบุญประเพณี และการพักผ่อนหย่อนใจตามโอกาสต่างๆ เป็นวงจรของการดำรงชีพที่หมุนเวียนเช่นนี้ในแต่ละปี

“ยามว่างจากงานในนา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายจักสาน” เป็นคำกล่าวที่สะท้อนให้เห็นสภาพการดำรงชีวิตและสังคมของชาวอีสาน ดังนั้นการทอผ้าจึงเป็นงานสำคัญของผู้หญิง ผ้าที่ทอจะใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ เสื้อ ซิ่น (ผ้านุ่ง) ซ่ง (กางเกง) โสร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าคลุมไหล่ เครื่องนอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม และเครื่องใช้ที่จะถวายพระในงานบุญประเพณีต่างๆ เช่น ที่นอน หมอน ผ้าห่อคัมภีร์ ผ้ากราบ ผ้าผะเหวด

pa tor isan 08

ผ้าทออีสานนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะที่งดงาม ด้วยลวดลายที่นำมาจากวิถีชีวิตและธรรมชาติ เช่น ลายสัตว์ ลายพืชพรรณต่างๆ ผ้าทออีสานมีหลายประเภท ดังนี้

ผ้าขิด

ผ้าขิด ตามความเชื่อของชาวอีสานถือว่า "ผ้าขิด" เป็นของสูง ใช้ห่อคัมภีร์ใบลาน ทำเป็นผ้าปูอาสนะ ผ้ากราบพระ นำมาเป็นผ้าคลุมหัวนาคในงานบวช ไม่นิยมใช้ผ้าขิดเป็นผ้านุ่งที่ต่ำกว่าเอว ผ้าขิดมีกรรมวิธีการผลิตที่ซับซ้อนกว่าการทอผ้าธรรมดา กล่าวคือ ใช้ไม้หรือสะกิดซ้อนเส้นยืนขึ้นแล้วสอดเส้นพุ่งไปตามแนวเส้นยืนที่ถูกวัดซ้อนขึ้นนั้น จังหวะการสอดเส้นด้ายพุ่งทำให้เกิดลวดลายรูปแบบต่างๆ ต้องใช้ความพยายามในความอดทนอย่างสูงจึงจะสามารถทอให้เป็นผืนผ้าได้ ปัจจุบันนิยมทำเป็นผ้าห่ม ผ้าคลุมไหล่ หมอน เป็นของกำนัลของผู้หลักผู้ใหญ่ในการทอดกฐิน งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น

pa kid 01

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ลวดลายบนผ้าขิดคล้ายภาพกราฟิก เรขาคณิต ลวดลายมีหลายรูปแบบ เช่น สัตว์ พันธุ์ไม้ สิ่งของเครื่องใช้ และลายตามจินตนาการ มีสีหลายสีที่กลมกลืนมากกว่าตัดกัน

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ลวดลายบนผ้าขิดมีความสัมพันธ์กับประเพณีท้องถิ่น ตามความเชื่อในการดำรงชีวิตของชาวอีสาน ถือผ้าขิดเป็นของสูง

pa kid 02

มัดหมี่

มัดหมี่ เป็นวิธีทอผ้าให้เกิดลวดลายที่เรียกว่า การมัดย้อม โดยมัดเส้นพุ่งหรือเส้นยืนด้วยเชือก ก่อนนำไปย้อมสีเพื่อให้เกิดสีและลายตามที่กำหนด แล้วจึงนำมาทอเป็นผ้าผืน เอกลักษณ์อันโดดเด่นของผ้ามัดหมี่อยู่ตรงที่รอยซึมของสี ที่วิ่งไปตามบริเวณของลวดลายที่ถูกมัด และการเหลื่อมล้ำในตำแหน่งต่างๆ ของเส้นด้ายเมื่อนำขึ้นกี่ทอ มีแม่ลายพื้นฐาน 7 ลาย คือ หมี่ขอ หมี่โคม หมี่บักจัน หมี่กงน้อย หมี่ดอกแก้ว หมี่ข้อ และหมี่ใบไผ่ ที่ดัดแปลงมาจากธรรมชาติ เช่น จากลายใบไม้ ดอกไม้ สัตว์ เป็นต้น ผ้ามัดหมี่ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น

pa mud mee 01

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม มีลวดลาย สีสันอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น มีความมันเลื่อมจากเส้นไหม

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม การใช้เวลาว่างจากการทำนาและการเก็บเกี่ยวมาทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน หรือทอผ้าเอาไว้ใช้ในงานประเพณีต่างๆ ลักษณะผ้าสามารถบอกสถานสมรสได้ ถ้ามีสามีแล้วจะเป็นผ้าสามชิ้นมาต่อกัน สำหรับหญิงสาวจะเป็นผ้าผืนเดียว

pa mud mee 02

ผ้าแพรวา

ผ้าแพรวา เป็นผ้าไหมเอกลักษณ์ของชาวกาฬสินธุ์ คำว่า "แพร" หมายถึง ผ้าผืนที่ยังไม่ได้ตัดเย็บ คำว่า "วา" หมายถึง ความยาว 1 วา ซึ่งชาวกาฬสินธุ์นิยมใช้เป็นผ้าสไบ ผ้าโพกหัว หรือผ้าพันคอ ใช้เฉพาะในโอกาสสำคัญเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานบุญ งานมงคลหรืองานประเพณีต่างๆ สามารถแสดงฐานะทางสังคมของผู้สวมใส่ เนื่องจากผ้าแพรวาของชาวภูไทในจังหวัดกาฬสินธุ์นั้น มีลวดลายวิจิตรงดงาม ต้องใช้ความสามารถและเวลาในการทอมาก ด้วยเป็นลายผสมระหว่างลายขิดกับลายจก บางผืนจึงอาจต้องใช้เวลาทอมากกว่า 3 เดือน เช่น ลายนาค ซึ่งเป็นลายเอกลักษณ์ของกาฬสินธุ์ มีความวิจิตรงดงามมากและละเอียดกว่าลายอื่นๆ จึงมีคุณค่าเปรียบเสมือนสมบัติติดกายของผู้สวมใส่

pa prae wa 01

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปแบบลวดลายผ้าแพรวามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผ้าแพรวาของชาวภูไทแต่เดิมนั้นมีสีแดงคล้ำหรือสีปูนเป็นหลัก ปัจจุบันมีหลายสี

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม สะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยมีการทอลายต้นแบบไว้ให้ลูกหลานได้สืบทอด เรียกว่า "ผ้าแซ่ว" ซึ่งจะทอไว้หลากหลายลาย

pa prae wa 02

ผ้ายกทอง

ผ้ายกทอง เกิดจากการรวบกลุ่มนักออกแบบ โดยการนำของ อาจารย์วีระธรรม ตระกูลเงินไทย เป็นผ้าที่นำลวดลายไทยและลายชั้นสูงแบบราชสำนักโบราณประยุกต์ รวมเข้ากับการทอผ้าแบบพื้นเมืองตามภูมิปัญญาชาวบ้าน ความโดดเด่นของผ้าเกิดจากการเลือกเส้นไหมที่เล็กและบางเบา นำมาผ่านกรรมวิธีการฟอก ต้ม แล้วย้อมสีธรรมชาติด้วยแม่สีหลัก 3 สี ประกอบด้วยสีแดงจากครั่ง สีเหลืองจากแก่นแกแล สีครามจากเมล็ดคราม สอดแทรกด้วยการยกดอกด้วยไหมทองจากประเทศฝรั่งเศส ลวดลายที่ทอจะเป็นลายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และความเชื่อทางศาสนา ลายเรขาคณิต ลายแบบราชสำนักไทยโบราณ ปัจจุบันผลิตในนามของกลุ่มผ้าทอยกทอง "จันทร์โสมา" หมู่บ้านท่าสว่าง ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ งานที่ทำให้มีชื่อเสียงคือ การทอผ้ายกทองทูลเกล้าถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (ในรัชกาลที่ 10) รวมถึงการทอผ้าสำหรับตัดเสื้อผู้นำ 21 ประเทศ และผ้าคลุมไหล่ภริยาที่เข้าประชุม APEC ปี 2003

pa yok thong 01

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม มีความโดดเด่นที่เป็นผ้ายกทองชั้นสูง ทอมือ ลวดลายงดงาม วิจิตรพิสดาร สีสันที่ได้ส่วนใหญ่มาจากธรรมชาติ แต่มีความคงทนไม่ซีดจางเร็ว

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม เป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูการทอผ้ายกทองชั้นสูงแบบราชสำนักไทยโบราณ ด้วยการออกแบบลวดลายที่สลับซับซ้อน งดงาม และศักดิ์สิทธิ์ จนกลายเป็นผ้าทอที่มีความงดงามอย่างมหัศจรรย์

pa yok thong 02

ผ้าย้อมคราม

ผ้าย้อมคราม เป็นผ้าฝ้ายย้อมสีที่ได้จากต้นครามธรรมชาติ ทนทานต่อการซัก สีครามที่ได้จากธรรมชาติเป็นสีที่ไม่ละลายน้ำ นำมาเปลี่ยนคุณสมบัติให้เป็นสีที่ละลายน้ำได้ตามกรรมวิธีโบราณ โดยไม่ใช้สารเคมี แล้วทำการย้อมเย็น โดยการจุ่มลงในหม้อครามแล้วผ่านออกซิเจน เปลี่ยนคุณสมบัติกลับคืนเป็นสีที่ไม่ละลายน้ำ จุ่มลงย้อมหลายๆ ครั้งจนกว่าจะได้โทนสีเข้มตามความต้องการ จึงทำให้สีไม่ตก และเส้นใยมีความเหนียวทนทานกว่าการย้อมโดยการต้ม มีรายงานการวิจัยรับรองว่า ครามมีคุณสมบัติเป็นสมุนไพร ใส่แล้วดีต่อสุขภาพและป้องกันผิวของผู้สวมใส่จากรังสีอัลตร้าไวโอเลต ลวดลายที่พบบนผ้าย้อมครามแสดงถึงวิถีชีวิตและประเพณีวัฒนธรรมของผู้ทอ เช่น พรรณไม้และลายสัตว์

pa yom kram 01

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ผ้าย้อมครามมีสีที่เป็นเอกลักษณ์สามารถย้อมให้เกิดโทนสีต่างๆ ได้ตามชนิดสีที่ผสมและเทคนิควิธีการ ผ้ามีกลิ่นเฉพาะตัวของเนื้อคราม

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ผลิตภัณฑ์ปลอดสารเคมี ขั้นตอนการผลิตประหยัดพลังงานและไม่สร้างมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม

สุขสีคราม : บ้านพันนา จังหวัดสกลนคร

pa yom kram 02

มีหลายท่านที่สนใจอยากได้ อยากซื้อผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นบ้านต่างๆ ผลผลิตจากชุมชนที่เรานำเสนอ ขอเรียนให้ทราบว่า ทางเว็บไซต์เราไม่ได้ทำการจำหน่าย หรือทำการตลาดนะครับ ถ้าท่านสนใจก็ไม่ยาก เปิดเว็บไซต์ http://www.otoptoday.com/ แล้วช็อปกันได้เลยครับ

[ อ่านความรู้เพิ่มเติม : ผ้าทออีสาน 2 | ผ้ากาบบัวเมืองอุบล | การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม | ผ้าไหมสุรินทร์ | เครื่องมือทอผ้า ]

redline

backled1

attalak isan

ธรรมาสน์

ธรรมาสน์ คือ แท่นสำหรับพระสงฆ์นั่งแสดงธรรมเทศนา เป็นแท่นหรือเป็นหลัง รูปทรงคล้ายปราสาท มีการแกะสลักสวยงาม ถือเป็นสถาปัตยกรรมพุทธบูชาที่พุทธศาสนิกชนแต่ละท้องถิ่น แต่ละชุมชนสร้างไว้ประจำวัด ในจังหวัดอำนาจเจริญมีธรรมาสน์ฝีมือช่างพื้นเมืองที่เลื่องลือว่า สวยงามเป็นพิเศษ คือ ธรรมาสน์ที่วัดพระเหลาเทพนิมิต มีลักษณะคล้ายตั่งเตี้ยๆ มีพนักด้านหลังทำเป็นรูปซุ้มสลักลายวิจิตรบรรจงเป็นลายพรรณพฤกษา ที่ขอบทั้งสี่ด้านเขียนลายรดน้ำ ภาพนักรบ และกินรีร่ายรำ และจังหวัดอุบลราชธานีมีธรรมาสน์วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ ฝีมือช่างพื้นเมืองชาวญวณ ทำเป็นรูปสิงห์เทินบุษบก ก่ออิฐถือปูนประดับลายปูนปั้น เขียนภาพด้วยสีฝุ่น บุษบกหรือปราสาททรงมณฑปปิดทองประดับกระจก และมีการเขียนลวดลายประยุกต์แบบตะวันตกและตะวันออก ในจังหวัดมุกดาหารที่วัดพิจิตสังฆาราม เป็นธรรมาสน์เสาเดียวที่สร้างขึ้นตามคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิ

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ธรรมาสน์มีรูปทรงเป็นซุ้มคล้ายปราสาททรงจตุรมุข หรือทรงปราสาทซ้อนชั้นยอดแหลมมีลวดลายและสัดส่วนสวยงาม ผิวไม้นูนเว้าจากการแกะสลักและประดับกระจก มีสีเกิดจากการระบายสีและลงรักปิดทอง

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม คติความเชื่อในการสร้างธรรมาสน์ที่มาจากพุทธประวัติตอนเสด็จไปเทศนาบนสวรรค์ กล่าวคือ ผู้สร้างธรรมาสน์ได้บุญมาก ส่งผลถึงนิพพาน

tham mas 01

ธรรมาสน์ คือ ที่สำหรับพระภิกษุสามเณรนั่งแสดงธรรม ในการประกอบศาสนกิจพิธี โดยเฉพาะการแสดงพระธรรมเทศนาต่อพุทธศาสนิกชน หรือไว้สำหรับพระภิกษุสงฆ์องค์ประธานของพิธีกรรมต่างๆ ภายในสิมของภาคอีสาน หรือเป็นศาสนกิจอย่างที่เรียกว่า การสวดปาติโมกข์ หรือ ปั่นปาติโมกข์ ซึ่งเป็นการทบทวนพระธรรมวินัยศีล 227 ข้อของพระสงฆ์ด้วยกันเอง

คำว่า “ธรรมาสน์” อ่านออกเสียงว่า “ทำ-มาด” หมายถึง ที่นั่งแสดงธรรม, แท่นที่สร้างขึ้นหรือจัดขึ้นสำหรับพระสงฆ์นั่งเทศนาโดยเฉพาะ เนื่องจากมีพระพุทธประสงค์ว่า พระธรรมเป็นที่เคารพสูงสุดของพุทธศาสนิกชน แม้พระพุทธองค์ก็ทรงเคารพพระธรรม ดังนั้น ผู้แสดงธรรมจึงต้องได้รับการเชิดชูเป็นพิเศษ ให้นั่งในที่สูงกว่าผู้ฟัง แม้ในที่ประชุมนั้นจะมี พระมหาเถระ หรือพระราชา ผู้แสดงธรรมก็ได้รับสิทธิพิเศษให้นั่งบนที่สูงกว่า ในครั้งพุทธกาลพระสาวกผู้แสดงธรรมก็นั่งบนที่สูงกว่าพระศาสดา

ความเป็นมาของ “ธรรมาสน์” ในพุทธกาล

หากสืบประวัติความเป็นมาของ "ธรรมาสน์" ในสมัยพุทธกาล ในตำนานพุทธประวัติในอดีตนั้นพบว่า ในอดีตกาลนั้นยังมีอินทะเศรษฐีคนหนึ่งมีจิตเลื่อมใสในพุทธศาสนา จึงได้สละทรัพย์และน้ำพักน้ำแรงก่อสร้างธรรมาสน์ถวายเป็นทานแก่ พระพุทธเจ้าวิปัสสี เพื่อนั่งแสดงพระธรรมเทศนา และได้สร้างรูปแพะทองคำอีก 5 ตัว รองเป็นบันไดขึ้นเพื่อเสด็จไปเทศน์ได้โดยสะดวก เมื่อสร้างเสร็จจึงได้ถวาย พร้อมตั้งปณิธานว่า ขอให้สำเร็จด้วยฤทธิ์แพะทองคำที่สร้างนั้นด้วย

เมื่ออินทะเศรษฐีสิ้นอายุขัย จึงได้ไปเกิดบนสวรรค์ ชื่อว่า อินทกเทวบุตร มีวิมานทองสูง 10 โยชน์ ประกอบด้วยแก้ว 7 ประการ มีนางฟ้าเทพอัปสรพันหนึ่งเป็นบริวาร ต่อมาได้มาบังเกิดในเมืองพาราณสีได้เป็นมหาเศรษฐีมีทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ครั้นสิ้นชีพอายุขัยก็ได้นำตนไปจุติในเทวโลกอันอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

tham mas 04

ต่อมาจนถึงศาสนาของพระพุทธเจ้า จึงได้จุติจากเทวโลกมาบังเกิดเป็น มณฑกเศรษฐี เมื่อเจริญวัยได้ 16 ปี จึงมีข้าวของเงินทองในท้องแพะไหลออกมาเป็นอันมาก และได้เสวยทรัพย์สมบัติเหล่านั้นจากการสร้างธรรมาสน์ถวาย เพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน และได้รับอานิสงส์มาจนถึงปัจจุบัน

ธรรมาสน์ นิยมสร้างให้สูงกว่าที่นั่งของผู้ฟังธรรม มีรูปร่างแตกต่างกันไปตามยุคสมัย และความนิยมของแต่ละท้องถิ่น โดยทั่วไปนั้นธรรมาสน์ทำด้วยไม้ แต่ธรรมาสน์ที่ทำด้วยศิลาก็มี รูปร่างของธรรมาสน์มีทั้งที่เป็น สี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้า หกเหลี่ยม และทรงกลม แต่ที่พบโดยทั่วไปมีรูปร่างคล้ายเก้าอี้สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ มีพนักไม้กั้น 3 ด้าน เปิดช่องด้านหน้าเป็นทางขึ้นลง ตัวธรรมาสน์มักแกะสลักเป็นลวดลาย ลงรักปิดทอง ประดับกระจก ตกแต่งให้สวยงาม ส่วนธรรมาสน์ที่มียอดอย่างบุษบกและทำด้วยไม้พบมากในวัดต่าง ๆ ทางภาคกลางและภาคใต้

ธรรมาสน์ไม้ที่ วัดพระเหลาเทพนิมิต อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ มีลักษณะคล้ายตั่งเตี้ยๆ มีพนักด้านหลังทำเป็นรูปซุ้ม สลักลายวิจิตรบรรจงเป็นลายพรรณพฤกษา ที่ของทั้งสี่ด้านเขียนลายรดน้ำภาพนักรบ และกินรีร่ายรำ

รายการจดหมายเหตุกรุงศรี - ธรรมาสน์เมืองอุบลฯ

นอกจากนั้นก็ยังมี ธรรมาสน์บุษบก หรือบุษบกธรรมาสน์ ก่อด้วยอิฐถือปูน ประดับด้วยปูนปั้นซึ่งนิยมสร้างกันทางภาคเหนือและภาคอีสาน เช่น ธรรมาสน์ที่วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นตัวอย่างธรรมาสน์พื้นบ้านที่มีลักษณะน่าสนใจ

tham mas 02

ธรรมาสน์สิงห์เทินบุษบก เป็นธรรมาสน์แห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีรูปแบบแตกต่างจากธรรมาสน์โดยทั่วไป กล่าวคือ มีลักษณะเป็นรูปสิงห์ ยืนเทินปราสาท (ตัวธรรมาสน์) สร้างด้วยอิฐถือปูน ยอดปราสาทเป็นเครื่องไม้ทำเป็นชั้นซ้อนลดหลั่น ประดับตกแต่งลายปูนปั้น และลายเขียนสีแบบศิลปะญวนทั้งหลัง ตัวธรรมาสน์ ตั้งอยู่ในหอแจก (ศาลาการเปรียญ) ทรงไทย ที่มีจิตรกรรมฝ้าเพดาน ศิลปะสกุลช่างญวณเช่นเดียวกัน

หอธรรมาสน์อีสานสกุลช่างญวน งานช่างพหุวัฒนธรรม

ธรรมาสน์แห่งนี้ สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในปี 2468-2470 โดย ช่างฝีมือไทยชีทวน กับ ช่างญวน ตามคติความเชื่อเรื่อง สิงหาสน์บัลลังก์ ลักษณะตัวสิงห์ ปราสาท หลังคาทรงมณฑป เป็นฝีมือผสมผสานของช่างญวนที่รับอิทธิพลฝรั่งเศส และที่เพดานหอแจก (ศาลาการเปรียญ) เหนือธรรมาสน์ มีฮูปแต้ม (ภาพเขียนสี) ที่งดงามฝีมือช่างญวน ถือเป็นประติมากรรมที่มีคุณค่ายิ่งทางด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

tham mas 03

ธรรมาสน์ ที่พบในชุมชนอีสานนั้น เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่นั่งแสดงพระธรรมเทศนาของพระสงฆ์ในงานประเพณีบุญมหาชาติ มีส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วนคือ ส่วนฐาน เรือนธรรมาสน์ และส่วนหลังคา ฐานของธรรมาสน์จะเป็นเสาจำนวน 4 - 8 ต้น ตามความเหมาะสม บางแห่งจะมีเสาต้นเดียวเรียกว่า "ธรรมาสน์เสาเดียว" ตัวเรือนธรรมาสน์จะมีขนาดเหมาะสมกับการนั่งของพระภิกษุ จำนวน 1 รูป

โครงสร้างของธรรมาสน์จะมีการตกแต่งด้วยประติมากรรมแกะสลักไม้ หรือฉลุไม้ โดยมีเนื้อหาที่เป็นประเด็นหลักในการประดับตกแต่ง จะสะท้อนถึงความเชื่อทางพุทธศาสนาในเรื่อง มหาเวสสันดรชาดก ส่วนเนื้อหารองจะเป็นรูปวิถีชีวิต นิทานพื้นบ้าน และภาพสลักรูปบุคคล เช่น รูปเทวดา ยักษ์ ลิง รูปสัตว์ต่างๆ เช่น นาค เต่า สิงห์ และลวดลายที่สะท้อนเนื้อหาเกี่ยวกับความเชื่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน ที่เชื่อมโยงกับพิธีกรรมในฮีตคองของชาวอีสาน ตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่น การสร้าง “ธรรมาสน์เสาเดียว” ชองชาวอีสานในอดีตมีความเกี่ยวเนื่องกับ “หลักบ้าน” หรือ “ขื่อบ้าน” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณกลางหมู่บ้าน ทั้งนี้เพื่อเป็นตัวแทนหรือเป็นสัญลักษณ์ยึดเหนี่ยวจิตใจ ตามคติความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านจิตใจ และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคม

นอกจากจะมีการการสร้าง “หลักบ้าน” ภายในหมู่บ้านแล้ว ยังมีการสร้างวัดประจำหมู่บ้านเพื่อเป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาเช่นเดียวกัน จึงนับได้ว่าทั้ง “หลักบ้าน” และ "วัด" จึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอีสานมาช้านาน

tham mas 05

ในเวลาต่อมา “หลักบ้าน” หรือ “ขื่อบ้าน” ถูกย้ายมาตั้งเป็น “เสาธรรมาสน์” ภายในศาลาการเปรียญ ซึ่งชาวอีสานเรีกว่า หอแจก หรือ “โรงธรรม” เป็นอาคารอเนกประสงค์สำหรับใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ ประกอบพิธีกรรมในวันสำคัญทางพุทธศาสนา และพิธีกรรมในสังคมของชุมชน อีกทั้งยังมีการออกแบบ “ธรรมาสน์” โดยใช้วัตถุที่คงทน และมีคุณค่าทางศิลปะแห่งยุคสมัยอย่างแท้จริงสืบมาจนถึงปัจจุบัน

tham mas 08

ธรรมาสน์เสาเดียว วัดบ้านโนนสัง​ข์ อำเภอกันทรารมย์​ จังหวัด​ศรีสะเกษ

ธรรมาสน์เสาเดียว วัดพิจิตรสังฆาราม

ธรรมาสน์ที่วัดพิจิตรสังฆาราม บ้านโนนยางนั้น มีลักษณะแตกต่างจากธรรมาสน์โดยทั่วไปในท้องถิ่นคือ มีลักษณะการก่อสร้างเป็น “ธรรมาสน์เสาเดียว” ฝังไว้กับพื้นดินภายในหอแจกของวัด ซึ่งจากข้อเขียนของ อ.สมชาย นิลอาธิ ในหนังสือเมืองมุกแม่น้ำโขง กล่าวถึงประวัติความเป็นมาว่าได้มีการก่อสร้างในปี 2484 2485 มีจารคูสีสุก น้อยทรง ช่างพื้นบ้านเป็นผู้ก่อสร้าง โดยนำไม้เนื้อแข็งทั้งต้นทำเป็นเสา มีการแกะสลักแบบประติมากรรมนูนต่ำ ลายกนกลงรักอย่างสวยงามบริเวณเสาธรรมาสน์ แขนนาง ผนังภายใน และหลังคาเก๋ง ทั้งนี้มีส่วนประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน คือ

tham mas 07

  • ส่วนที่ 1 เป็นฐานจากไม้เนื้อแข็ง โดยมีคันทวยแกะสลักเป็นรูปพญานาค 4 ตัว ติดไว้ทั้ง 4 ทิศ ทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการรับน้ำหนักของตัวธรรมาสน์
  • ส่วนที่ 2 เป็นชั้นธรรมาสน์ จะมีลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประกอบด้วยประตู 1 บาน หน้าต่าง 3 บาน
  • ส่วนที่ 3 เป็นส่วนของหลังคาธรรมาสน์ สร้างเป็นลักษณะเก๋ง 5 ชั้น มีขนาดลดหลั่นกันขึ้นไปจนถึงยอดสูงสุด

ปัจจุบัน หอแจก หรือ “โรงธรรม” ซึ่งเป็นประดิษฐานของ “ธรรมาสน์เสาเดียว” ที่วัดพิจิตรสังฆาราม บ้านโนนยาง ยังคงมีการปฏิบัติธรรมของชาวบ้านทั้งในวันธรรมดาและในวันธรรมสวนะตามกิจวัตรของชาวพุทธโดยทั่วไป

 tham mas 06

หอแจก หรือ โรงธรรม หรือ ศาลาการเปรียญ

redline

backled1

attalak isan

สามพันโบก

สามพันโบก หรือ แกรนด์แคนยอนน้ำโขง เป็นแก่งหินที่มี กุมภลักษณ์ หรือ หลุมบ่อที่อยู่ใต้ลำนำโขง ตั้งอยู่ในอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี หลุมบ่อเหล่านี้เกิดจากการขัดสีของก้อนหิน ก้อนกรวด หรือเม็ดทรายที่น้ำพัดพามากักอยู่ในแอ่งน้ำวน และกัดเซาะจนกลายเป็นหลุมบ่อมากกว่า 3,000 หลุม โดยในช่วงฤดูแล้งที่น้ำแห้งแก่งหินดังกล่าวก็จะโผล่พ้นน้ำ คล้ายผู้เขากลางลำน้ำโขง แก่งหินสามพันโบก เป็นกลุ่มหินทรายแนวเทือกเขาภูพานตอนปลายที่ทอดตัวยาวริมฝั่งโขงไทยและลาว สายน้ำแคบและเป็นคุ้งน้ำ ริมฝั่งโขงบริเวณนี้เป็นกลุ่มหินที่เรียงตัวทอดยาวเป็นสันดอนขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว่า 30 ตารางกิโลเมตร ผาหินบริเวณโค้งด้านหน้ารับแรงน้ำที่ไหลจากตอนบน ก่อเกิดประติมากรรมธรรมชาติที่งดงาม ทั้งนี้คำว่า "โบก" เป็นภาษาลาวที่ใช้เรียกบ่อน้ำลึกในแก่งหินใต้ลำน้ำโขง

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม โบกที่มีรูปร่างแปลกตา งดงามและเป็นที่ศึกษาแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดในลำน้ำโขงตามธรรมชาติแหล่งใหญ่ที่สุด

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ความสงบที่ได้สัมผัสกับธรรมชาติ

สามพันโบก ยามเย็นงามแท้

สามพันโบก อันว่า "โบก" ไม่ได้แปลว่า โบกปูน โบกมือลา หรือแม้กระทั่ง โบกรถสามพันครั้ง แต่คำว่า “โบก” ของชาวลาวนั้น แปลเป็นไทยได้ว่า “แอ่ง” “สามพันโบก” จึงหมายถึง แอ่งหิน หลุมหิน ร่องหิน หรือสภาพของหินที่เป็นหลุมหรือแอ่งจำนวนสามพันหลุมนั้นเอง

สามพันโบก เป็นแก่งหินหรือกุมภลักษณ์ที่อยู่ใต้ลำน้ำโขง ในอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี เกิดจากแรงน้ำวนที่กัดเซาะหิน กลายเป็นแอ่งมากกว่า 3,000 แอ่ง และจะปรากฏให้เห็นในช่วงฤดูแล้งที่น้ำแห้งขอด แก่งหินดังกล่าวก็จะโผล่พ้นน้ำคล้ายภูเขากลางลำน้ำโขง จนชาวบ้านเรียกว่า แกรนแคนยอนน้ำโขง ซึ่งจะปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นตั้งแต่ประมาณเดือนตุลาคม - พฤษภาคม ซึ่งหลังจากนั้นจะมีน้ำหลากมาท่วมโบกเหล่านั้นจมหายไปอยู่ใต้แม่น้ำ

แกรนด์แคนยอนกลางน้ำโขง

แก่งหินสามพันโบก ตั้งอยู่ที่ บ้านโป่งเป้า ตำบลเหล่างาม อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นกลุ่มหินทรายที่ถูกกระแสน้ำธรรมชาติ กัดเซาะผ่านกาลเวลามานานหลายพันปี จนเกิดเป็นร่องหินขนาดใหญ่สูง 3-7 เมตร กว้างเป็นสิบเมตร กลายเป็นโบกงามๆ แปลกตาจำนวนนับไม่ถ้วนกระจายอยู่บนพื้นผิวของลานหินในละแวกนี้ กินพื้นที่เลียบริมแม่น้ำโขงทั้งฝั่งไทยและลาว ทอดตัวยาวไกลตั่งแต่บ้านโป่งเป้าไปจนถึงบ้านปากกะหลาง ตำบลสองคอน เป็นระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร และรวมเป็นพื้นที่ถึงกว่า 30 ตารางกิโลเมตร ถ้าดูจากแผนที่กูเกิลจะเห็นชัดว่า ที่นี่เป็นลานหินกว้างใหญ่ มีหลุม หุบ รู และแอ่งยั้วเยี้ยอยู่นับไม่ถ้วน เห็นเป็นจุดๆ น้อยใหญ่เต็มไปหมด และดูท่าจะมีมากกว่าสามพันหลุมเสียด้วยซ้ำ

แผนที่จากกูเกิ้ลเห็นเกาะกลางลำน้ำโขง

บริเวณนี้แต่เดิมเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในลำน้ำโขง ความงามของแกรนด์แคนยอนไทยแลนด์แห่งนี้ เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เมื่อ พี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ อาสาพาหมู่เฮามาเปิดหูเปิดตาให้ได้ตะลึงตึงตึงกัน ในภาพยนตร์โฆษณาชุดหนึ่งของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และต่อมาก็ได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวโครงการ “12-เดือน-7 ดาว 9 ตะวัน มหัศจรรย์เมืองไทยต้องไปสัมผัส” ของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เจ้าเก่า ชาวไทยและชาวโลกจึงพากันไหลมาเทมาเที่ยวสามพันโบกนับแต่นั้น ด้วยประการฉะนี้

ประติมากรรมธรรมชาติ โบกหินระดับพระเอกนางเอกของสามพันโบกประกอบไปด้วย “ผาหินรูปสะพานโค้ง” ที่ใครไปก็ต้องถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกเพราะงามมาก โดยเฉพาะเมื่อต้องแสงทองยามเย็น ส่วนประติมากรรมชิ้นโบแดง ที่คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่ตรงจุดซึ่งนับเป็นทางเข้าของแกรนด์แคนยอนแม่น้ำโขงก็คือ “หินหัวสุนัข” จุดเดียวกับที่พี่เบิร์ดไปยืนเท่ให้สาวลาวกรี๊ดสลบในโฆษณานั้นแหละ นี่เป็นหินก้อนเบ้อเริ่มเทิ่ม บางคนมองว่าน้องหมาตัวนี้เป็นพันธุ์พูเดิล แต่ดูไปก็คล้ายๆ น้องหมาดัชชุนด์หรือพันธุไส้กรอก เอ้า..ก็ว่ากันไปตามจินตนาการของแต่ละคน

สะพานโค้ง และร่องน้ำลึก

จุดแวะยอดฮิตอีกแห่งคือ “สระมรกต” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “บุ่งน้ำใส” เป็นสระน้ำกลางโบกขนาดใหญ่ ลึกราว 3 เมตร น้ำใสแจ๋วแหววสีเขียวมรกตสวยเริด และมีระดับคงที่ตลอดปี ไม่ว่าน้ำในแม่น้ำจะเพิ่มหรือลดไปแค่ไหนก็ตาม ส่วนโบกฮาๆ และน่ารักๆ ที่ธรรมชาติเขาจัดมาให้แบบกิ๊บเก๋สุดๆ ก็ต้องยกให้ “โบกรูปดาว” “โบกรูปหัวใจ” และ “โบกรูปมิกกี้เม้าส์” นอกจากนี้ก็ยังมีรูปวงกลมวงรี รูปสัตว์ และรูปอื่นๆ อีกต่างๆ นานา สารพัดจะใช้จินตนาการไป

โบกมิกกี้เมาส์ แอ็คท่าประกอบโดยหลานสาวทิดหมูเอง

ยังไงโปรดระลึกไว้ว่า แก่งหินสามพันโบก จะจมอยู่ใต้ลำน้ำโขงตลอดช่วงฤดูน้ำหลาก คือ ประมาณเดือนกรกฎาคม-ตุลาคมของทุกปี และจะโผล่พ้นน้ำมาอวดโฉมงามๆ ให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชมก็ต่อเมื่อน้ำแห้งลง ราวเดือนพฤศจิกายน-มิถุนายนเท่านั้น ถ้าจะไปเที่ยวจึงต้องกะช่วงเวลากันให้ดี เพราะถ้าไปผิดฤดูจะได้เจอแต่โบกรูปแห้วนะจ๊ะ

sam pan bok 03

เที่ยวชมสามพันโบกสามารถไปได้ทั้งทางเรือและทางบก ถ้าไปทางเรือนักท่องเที่ยวนิยมไปลงเรือกันที่หาดสลึง ซึ่งอยู่ที่บ้านปากกะหลาง ตำบลสองคอน ห่างจากที่ว่าการอำเภอโพธิ์ไทรประมาณ 17 กิโลเมตร และห่างจากแก่งสามพันโบกทางรถราวๆ 20 นาที

sam pan bok 06

การเดินทาง

  • รถยนต์ส่วนตัว จากตัวเมืองอุบลราชธานี วิ่งตามทางหลวงหมายเลข 2050 ผ่านอำเภอตระการพืชผล ไปยังอำเภอโพธิ์ไทร ระยะทางประมาณ 97 กิโลเมตร และเดินทางต่อไปยังบ้านสองคอนเข้าไปในหมู่บ้านอีกประมาณ 3 กิโลเมตร
  • รถโดยสารประจำทาง มีรถทัวร์ปรับอากาศของบริษัท เชิดชัยทัวร์จากกรุงเทพฯ - สองคอน ลงที่สองคอน หลังจากนั้นก็โทรแจ้งให้รีสอร์ทขับรถมารับ (เสียค่าใช้จ่ายแล้วแต่ตกลง) หรือ อาจจะอาศัยโบกรถของชาวบ้านมาลงแถวนั้น

sam pan bok 05

Bird's Eye View ไปสัมผัส แกรนด์แคนยอนเมืองสยาม หรือ "สามพันโบก"

redline

backled1

attalak isan

ภูกระดึง

ภูกระดึง ตั้งอยู่ที่ อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ได้รับการประกาศเป็น อุทยานแห่งชาติลำดับที่ 2 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2502 "ภูกระดึง" มาจากคำว่า "ภู" แปลว่า "ภูเขา" และคำว่า "กระดึง" เป็นภาษาพื้นเมืองของจังหวัดเลย แปลว่า "กระดิ่ง หรือ ระฆัง" ด้วยเหตุนี้จึงอาจแปลได้ว่า ระฆังใหญ่ ชื่อนี้มาจากเรื่องเล่าที่ว่า ในวันพระชาวบ้านมักได้ยินเสียงกระดิ่ง หรือระฆังจากภูเขาลูกนี้ เล่ากันว่าเป็นระฆังของพระอินทร์ ส่วนอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ ในบริเวณบางส่วนของยอดเขาหากเดินหนักๆ หรือใช้ไม้กระทุ้ง จะมีเสียงก้องคล้ายเสียงระฆังซึ่งเกิดจากโพรงข้างใต้

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม จุดเด่นอยู่ที่อากาศที่หนาวเย็นและลักษณะภูมิประเทศที่มีความโดดเด่นสวยงาม ภูกระดึงมีลักษณะเป็นภูเขายอดตัด มีรูปร่างคล้ายใบโพธิ์

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม นับเป็นสถานที่เที่ยวที่มีเสน่ห์ ลักษณะภูมิประเทศมีความโดดเด่นสวยงาม

phu kra dueng 04

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตั้งอยู่ที่อำเภอภูกระดึงในจังหวัดเลย เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศไทย เนื่องจากมีธรรมชาติที่สวยงาม ในแต่ละปีจึงมีคนมาเที่ยวเฉลี่ยหลายหมื่นคน โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวมักมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปพักผ่อนบนภูกระดึงจำนวนมาก ภูกระดึงได้รับการจัดตั้งเป็นป่าสงวนแห่งชาติในปี พ.ศ. 2486 และเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2502 โดยเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่สอง ถัดจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

อุทยานตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ครอบคลุมพื้นที่ 348.12 ตารางกิโลเมตร (217,575 ไร่) ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด โดยมีที่ราบบนยอดภูกระดึง ประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร (37,500 ไร่) มีความสูงอยู่ระหว่าง 400-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล จุดสูงสุดอยู่ที่บริเวณคอกเมย มีความสูง 1,316 เมตร

phu kra dueng 01

ตามตำนานกล่าวไว้ว่า มีพรานป่าผู้หนึ่งได้พยายามล่ากระทิง ซึ่งหลบหนีไปยังยอดเขาลูกหนึ่งในตำบลศรีฐาน (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอภูกระดึง) ซึ่งเป็นภูเขาที่ไม่เคยมีใครขึ้นมาก่อน เมื่อนายพรานได้ตามกระทิงขึ้นไปบนยอดเขาแห่งนั้น ก็ได้พบว่าพื้นที่บนภูเขาลูกนั้น เต็มไปด้วยพื้นที่ราบกว้างใหญ่สวยงาม เต็มไปด้วยป่าสน พรรณไม้ และสัตว์ป่านานาชนิด มนุษย์จึงรู้จักภูกระดึงแต่นั้นเป็นต้นมา

ภูกระดึง เป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีปรากฏเป็นหลักฐานเมื่อสมุหเทศาภิบาล (พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม) ได้ทำรายงานสภาพภูมิศาสตร์เสนอต่อกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2486 ทางราชการได้ออกพระราชกฤษฎีกาป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงได้เริ่มดำเนินการสำรวจเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติขึ้นที่ ภูกระดึง จังหวัดเลย เป็นแห่งแรก แต่เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณและเจ้าหน้าที่ จึงใด้ดำเนินการไปเพียงเล็กน้อยและหยุดไป

phu kra dueng 02

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2502 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กำหนดป่าในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 แห่งเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้เป็นการถาวรเพื่อประโยชน์ส่วนรวม กรมป่าไม้จึงได้เสนอจัดตั้งป่าภูกระดึงให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าภูกระดึงในท้องที่ ตำบลศรีฐาน กิ่งอำเภอภูกระดึง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นอุทยานแห่งชาติ มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 217,581 ไร่ นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่ 2 ของประเทศ ในวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ดำเนินการเพิกถอนเขตอุทยานแห่งชาติในบริเวณที่กองทัพอากาศขอใช้ประโยชน์ ตั้งเป็นสถานีถ่ายทอดโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์ในราชการทหารมีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ทางกรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการขอเพิกถอนพื้นที่ดินดังกล่าวในปี พ.ศ. 2521 ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีเนื้อที่อยู่ประมาณ 217,576.25 ไร่

ภูมิประเทศ

ภูกระดึง เป็นภูเขาหินทรายยอดตัด ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของที่ราบสูงโคราช ใกล้กับด้านลาดทางทิศตะวันออกของเทือกเขาเพชรบูรณ์ พื้นที่ส่วนใหญ่ของภูเขามีความสูงจากระดับน้ำทะเล 400 - 1,200 เมตร ส่วนฐานหรือเชิงเขาเริ่มจากจุดต่ำสุดของพื้นที่ที่ระดับความสูง 260 เมตรไปจนถึงระดับความสูง 400 เมตร มีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขาล้อมรอบตัวภูกระดึง และพื้นที่ที่อยู่ในระดับที่สูงขึ้นมีสภาพลาดชันยกตัวขึ้นเป็นขอบเขา และหน้าผาสูงชัน พื้นที่ราบบนยอดตัดของภูเขามีพื้นที่ประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร (37,500 ไร่) มีลักษณะคล้ายรูปใบบอนหรือรูปหัวใจเมื่อมองจากด้านบน มีส่วนปลายใบอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และส่วนเว้าด้านในอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ราบบนเขาประกอบด้วยเนินเตี้ยๆ ยอดที่สูงที่สุดอยู่ที่บริเวณ คอกเมย สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,316 เมตร สภาพพื้นที่ราบบนยอดภูกระดึงมีส่วนสูงอยู่ทางด้านตะวันตกและตะวันออกเฉียงใต้ และจะค่อยๆ ลาดเทลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทำให้ลำธารสายต่างๆ บนภูเขาไหลไปรวมกันทางด้านนี้ กลายเป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำพอง

phu kra dueng 03

ภูกระดึง เกิดขึ้นในมหายุคมีโซโซอิก มีลักษณะโครงสร้างทางธรณีเป็นหินในชุดโคราช ประกอบด้วยชั้นหิน: หมวดหินภูพานเป็นหินชั้นที่มีอายุน้อยที่สุดอยู่ชั้นบนสุดของโครงสร้างภูกระดึง พบทั่วไปบนหลังแปหรือที่ระดับความสูงตั้งแต่ 990 เมตรขึ้นไป หมวดหินเสาขัวพบตั้งแต่ระดับความสูง 600 เมตรขึ้นไป หมวดหินพระวิหารพบในระดับความสูง 400–600 เมตรและ หมวดหินภูกระดึงเป็นหินชั้นฐานของโครงสร้างภูกระดึง

ภูมิอากาศ

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง มีภูมิอากาศบริเวณพื้นราบรอบเชิงเขาเหมือนกับบริเวณอื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน - ตุลาคม ฝนตกชุกที่สุดระหว่างเดือนสิงหาคม - กันยายน อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 26 °C อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ในเดือนมกราคม และอุณหภูมิสูงสุดอยู่ในเดือนเมษายน ปริมาณหยาดน้ำฟ้า 1,242 มิลลิเมตรต่อปี ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 72%

สภาพอากาศบนยอดภูกระดึง มีปริมาณหยาดน้ำฟ้าเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของปริมาณหยาดน้ำฟ้าบนที่ราบเชิงเขา สาเหตุมาจากอิทธิพลของเมฆและหมอกที่ปกคลุมยอดเขา ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 90% อุณหภูมิเฉลี่ย 19.7 °C ในฤดูหนาวช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม มีอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ระหว่าง 0-10 °C อุณหภูมิสูงสุดอยู่ระหว่าง 21-24 °C ส่วนในฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม - เมษายน อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ระหว่าง 12-19 °C อุณหภูมิสูงสุดอยู่ระหว่าง 23-30 °C อากาศบนยอดภูกระดึงมักจะแปรปรวน มีเมฆหมอกลอยต่ำปกคลุมบ่อยครั้ง อากาศจึงค่อนข้างเย็นตลอดทั้งปี

phu kra dueng 05

นิเวศวิทยา

สัตว์ป่า

ภูกระดึง ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศประกอบไปด้วยป่าไม้ ทุ่งหญ้าและลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ จากการสำรวจพบสัตว์บกมีกระดูกสันหลังรวม 266 ชนิด แบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 36 ชนิด เช่น เก้ง กวางป่า หมูป่า ลิงกัง ลิงลม บ่าง กระรอก กระแต หนูหริ่งนาหางยาว ตุ่น เม่นหางพวง พังพอน และ อีเห็น เป็นต้น ในจำนวนนี้เป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ 4 ชนิด คือ เลียงผา ช้างป่า เสือดาว และเสือโคร่ง สัตว์ปีกจำนวน 171 ชนิด เช่น เหยี่ยวรุ้ง นกเขาเปล้า นกเขาใหญ่ นกกระปูดใหญ่ นกเค้ากู่ นกตะขาบทุ่ง นกโพระดกคอสีฟ้า นกตีทอง นกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง นกนางแอ่นสะโพกแดง นกเด้าดินสวน นกอุ้มบาตร์ นกขี้เถ้าใหญ่ นกกระทาทุ่ง นกพญาไฟใหญ่ นกกางเขนดง นกจาบดินอกลาย และ นกขมิ้นดงเป็นต้น สัตว์เลื้อยคลาน 39 ชนิด เช่น ตุ๊กแก จิ้งจกหางแบนเล็ก กิ้งก่าสวน จิ้งเหลนบ้าน เต่าเหลือง งูทางมะพร้าว งูลายสอบ้าน งูจงอาง งูเห่า และงูเขียวหางไหม้เป็นต้น มี 1 ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ คือ เต่าเดือย นอกจากนี้ยังพบเต่าชนิดหนึ่งซึ่งหาได้ยาก คือ เต่าปูลู หรือ “เต่าหาง” เป็นเต่าที่หางยาวอาศัยอยู่ตามลำธารในป่าเขาระดับสูงของประเทศไทย กัมพูชา และ ลาว และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจำนวนมาก เช่น อึ่งอี๊ดหลังลาย เขียดหนอง คางคก กบหูใหญ่ และ ปาดแคระเป็นต้น

phu kra dueng 10

สัตว์ป่าที่สามารถพบเห็นได้บ่อยเมื่อขึ้นไปถึงยอดภูคือ กวาง เนื่องจากมีกลุ่มกวางจำนวนหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ ได้เลี้ยงเอาไว้ ทำให้กวางกลุ่มนี้ไม่วิ่งหนีเมื่อพบเห็นคน กวางตัวแรกที่เจ้าหน้าที่ได้เลี้ยงเอาไว้ชื่อ คำหล้า เป็นกวางตัวเมีย ตัวที่สองเป็นตัวผู้ชื่อ คัมภีร์ นอกจากนี้ยังมีหมูป่าซึ่งเคยพบตัวในบริเวณป่าปิด แต่ปัจจุบันมีกระจายอยู่ทั่วไปแม้ในส่วนลานกางเต็นท์เมื่อยามมีนักท่องเที่ยวไม่มาก และหมาใน เดิมจะอยู่ในส่วนป่าสนด้านบน หากินกันเป็นฝูงใหญ่ แต่ปัจจุบันเข้ามาหากินใกล้บริเวณที่ทำการมากขึ้น สามารถพบเห็นได้บริเวณร้านค้าที่ทำการด้วย

พืชพรรณ

ภูกระดึงเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดป่าหนึ่งในประเทศไทย มีสังคมพืชหลากหลายสามารถแบ่งได้ตามความแตกต่างของความสูง ภูมิอากาศ สภาพดิน-หิน และชีวปัจจัย จากที่ราบเชิงเขาถึงระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 600 เมตรจะเป็นป่าเต็งรังคิดเป็น 8% ของพื้นที่ มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น เต็ง รัง เหียง พลวง กราด รกฟ้า เป็นต้น พืชพื้นล่างประกอบด้วย หญ้าเพ็ก ขึ้นเป็นกอหนาแน่นแทรกด้วยไม้พุ่มและพืชล้มลุก นอกจากนี้จากพื้นที่ราบเชิงเขาและที่ลาดชันตามไหล่เขารอบภู จนถึงระดับความสูง 950 เมตรจะเป็นป่าเบญจพรรณหรือป่าผลัดใบผสมคิดเป็น 67 % ของพื้นที่ มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญเช่น แดง ประดู่ป่า กระบก ตะแบกเลือด ยมหิน เป็นต้น พืชพื้นล่างประกอบด้วยหญ้า ไผ่ ไม้พุ่ม ไม้เถา พืชล้มลุก และพืชกาฝากและอิงอาศัย

phu kra dueng 08

ป่าดิบแล้งพบตามฝั่งลำธารของหุบเขาที่ชุ่มชื้นทางทิศตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตก ตั้งแต่เชิงเขาจนถึงระดับความสูง 950 เมตรคิดเป็น 5% ของพื้นที่ มีพันธุ์ไม้สำคัญ เช่น ก่อ ตะเคียนทอง ยางแดง ยมหอม เป็นต้น พืชพื้นล่างแน่น เป็นพวกไม้พุ่ม ไม้เถา และ พืชล้มลุก เมื่อสูงจากระดับ 1,000 เมตรขึ้นไปจะเป็นป่าดิบเขาพบในทิศเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น ก่วมแดง ทะโล้ สนสามพันปี พะอง จำปีป่า เป็นต้น พืชพื้นล่างประกอบด้วยไม้พุ่มและไม้เถา ตามหน้าผาริมขอบภูพบปาล์มต้นสูง เช่น ค้อดอย

ที่ความสูงเกิน 1,000 เมตรขึ้นไปจะเป็น ป่าดิบเขาพบเฉพาะในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไปคิดเป็น 9% ของพื้นที่อุทยาน ป่าละเมาะเขาจัดอยู่ในประเภทป่าไม่ผลัดใบ พบเฉพาะบนที่ราบยอดภูกระดึงที่ระดับความสูงระหว่าง 1,200–1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1%

phu kra dueng 06

ป่าสนเขาจะพบเฉพาะบนที่ราบยอดภูที่ระดับความสูงประมาณ 1,200-1,350 เมตรคิดเป็น 10% ของพื้นที่ มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น สนสองใบ ก่อเตี้ย ทะโล้ สารภีดอย เป็นต้น พืชพื้นล่างประกอบด้วยไม้พุ่มและพืชล้มลุก ตามลานหินมีพืชชั้นต่ำพวกไลเคนประเภทแนบกับหินเป็นแผ่น และประเภทเป็นฟองเรียก ฟองหิน ปกคลุมทั่วไป นอกจากนี้จะพบเอื้องคำหิน ม้าวิ่ง และเขากวาง เป็นกอหนาแน่น บนพื้นดินที่ชุ่มแฉะพบมอสส์จำพวกข้าวตอกฤๅษีหลายชนิดขึ้นทับถมแน่น คล้ายผืนพรม บางแห่งมีพืชล้มลุกขนาดเล็กหลายชนิดขึ้นปะปนกันแน่น เช่น กระดุมเงิน สาหร่ายข้าวเหนียว ดุสิตา และหญ้าข้าวก่ำ

นอกจากนี้ยังมีพรรณพืชที่สำคัญซึ่งเป็นพืชถิ่นเดียวของภูกระดึงจำนวน 11 ชนิด เช่น ข้าวก่ำผา หญ้าระรื่น และ ซ้อ เป็นต้น

phu kra dueng 09

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศไทย เนื่องจากมีธรรมชาติที่สวยงาม ในแต่ละปีจึงมีคนมาเที่ยวเฉลี่ยหลายหมื่นคน โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวมักมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปพักผ่อนบนภูกระดึงจำนวนมาก เฉพาะบนยอดเขาภูกระดึงมีการปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-30 กันยายนของทุกปี และเปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม - 31 พฤษภาคม ของทุกปี

วิถีลูกหาบ หัวใจภูกระดึง - รายการซีรีส์วิถีคน ThaiPBS

เส้นทางขึ้นไปยังยอดเขาภูกระดึง

  • เส้นทางขึ้นที่อำเภอภูกระดึง: เป็นเส้นทางเก่าแก่และได้รับความนิยมมากที่สุด นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นเขาในเส้นทางนี้ได้ที่อำเภอภูกระดึง ณ ที่ทำการอุทยาน ในเส้นทางขึ้นจะมีบริเวณที่พักและร้านอาหารหลายช่วง มีระยะทาง 5.5 กม.จากที่ทำการถึงหลังแป และจากหลังแปถึงที่พักประมาณ 3.6 กม.
  • เส้นทางขึ้นที่อำเภอน้ำหนาว: นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางขึ้นไปยังยอดเขาภูกระดึงได้ที่ บ้านฟองใต้ อำเภอน้ำหนาว ซึ่งเป็นเส้นทางขึ้นเขาเส้นทางใหม่ โดยจะขึ้นไปที่ผาหล่มสักโดยตรง มีระยะมีระยะทาง 5.2 กิโลเมตรจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ลย.5 (หนองผักบุ้ง) ถึงผาหล่มสัก

phu kra dueng 07

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)