คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
หลบหลีกออกจากบ้านต้องในคืนนั้น หลวงพ่อเดินทางไปยังวัดป่าหนองฮี ตำบลหนองฮี อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ซึ่งมี หลวงปู่กินรี จนฺทิโย เป็นประหนึ่งร่มโพธิธรรมอยู่ที่นั่น ได้ศึกษา ประพฤติปฏิบัติอยู่กับท่านหลายวันได้กำลังใจคืนมา ขณะนั้นเป็นฤดูแล้ง เป็นช่วงเวลาที่เหมาะต่อ การหลีกเร้นภาวนาในป่าตามธรรมชาติ หลวงพ่อจึงกราบลาหลวงปู่กินรีออกจาริกธุดงค์ ต่อไป
ครั้นย่างเข้าฤดูฝนในปี พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นพรรษาที่เก้าของหลวงพ่อ ท่านได้ย้อนกลับมา จำพรรษากับหลวงปู่กินรีที่วัดป่าหนองฮี
หลวงปู่กินรี เป็นครูบาอาจารย์ที่มีปฏิปทาเรียบง่าย น่าเคารพบูชา ชอบใช้ชีวิตโดดเดี่ยว มั่นคงในข้อปฏิบัติ มักน้อยสันโดษ บริขารเครื่องใช้ของท่าน ล้วนแต่เป็นของปอนๆ เรียบง่าย และส่วนใหญ่ท่านทำใช้เอง แม้ไม่สวยงาม แต่มันจะถูกใช้จนสึกกร่อนไปตามกาลเวลา
อุปนิสัยพิเศษอย่างหนึ่งของหลวงปู่คือ ความขยันในการงานทุกอย่างที่พระจะพึงทำได้ ท่านไม่เคยอยู่นิ่งเฉย นอกจากขณะทำสมาธิภาวนาเท่านั้น แม้ในวัยชรา หลวงปู่ก็ยังรักษาปฏิปทา นี้ไว้อย่างมั่นคง
หลวงพ่อเล่าถึงปฏิปทาของหลวงปู่กินรีว่า...
"ในพรรษาที่อยู่กับหลวงปู่นั้น ท่านเองทำความเพียรอย่างหนัก เดินจงกรมทั้งวัน ฝนตก แดดออกอย่างไรก็เดินจนทางจงกรมเป็นร่องลึก แต่หลวงปู่กลับไม่ค่อยเดิน บางครั้งเดินเพียงสองสามเที่ยวก็หยุด แล้วไปเอาผ้ามาปะ มาเย็บ หรือไม่ก็นั่งทำนั่นทำนี่...
เราประมาท คิดว่าครูบาอาจารย์จะไปถึงไหนกัน เดินจงกรมก็ไม่เดิน นั่งสมาธินานๆ ก็ไม่เคยนั่ง คอยแต่จะทำนั่นทำนี่ตลอดวัน แต่เรานี่ปฏิบัติไม่หยุดเลย ถึงขนาดนั้นก็ยังไม่รู้ไม่เห็น อะไร ส่วนหลวงปู่ปฏิบัติอยู่แค่นั้น จะไปรู้เห็นอะไร
เรามันคิดผิดไป หลวงปู่ท่านรู้อะไรๆ มากกว่าเราเสียอีก คำเตือนของท่านสั้นๆ และไม่ค่อยมีให้ฟังบ่อยนัก เป็นสิ่งที่ลุ่มลึกแฝงไว้ด้วยปัญญาอันแยบคาย ความคิดของครูบาอาจารย์ กว้างไกลเกินปัญญาของเราเป็นไหนๆ ...ตัวแท้ของการปฏิบัติ คือ ความพากเพียรกำจัดอาสวะ กิเลสภายในใจ ไม่ใช่ถือเอากิริยาอาการภายนอกของครูอาจารย์มาเป็นเกณฑ์..."
ในปีนั้นจีวรของหลวงพ่อเก่าคร่ำคร่า จนผุขาดเกือบทั้งผืน แต่ท่านไม่ยอมออกปากขอใคร หลวงปู่กินรีก็มองดูอยู่เงียบๆ ไม่ว่ากระไร
วันหนึ่งหลวงพ่อนั่งปะชุนจีวรอยู่ ขณะเย็บผ้าคิดอยากให้เสร็จเร็วๆ จะได้หมดเรื่องหมดราว แล้วไปนั่งภาวนา เดินจงกรมให้เต็มที่สักที หลวงปู่กินรีเดินมาหยุดยืนดูอยู่ใกล้ๆ หลวงพ่อก็ยังไม่รู้ เพราะจิตกังวลอยากเย็บผ้าให้เสร็จเร็วๆ เท่านั้น
หลวงปู่ถามว่า "ท่านจะรีบร้อนไปทำไมเล่า"
"ผมอยากให้เสร็จเร็วๆ"
"เสร็จแล้วท่านจะไปทำอะไร" หลวงปู่ถามอีก
"จะไปทำอันนั้นอีก"
"ถ้าอันนั้นเสร็จ ท่านจะทำอะไรอีก" หลวงปู่ถามต่อ
"ผมจะทำอย่างอื่นอีก"
"เมื่ออย่างอื่นของท่านเสร็จ ท่านจะไปทำอะไรอีกเล่า ?"
หลวงปู่กินรีให้ข้อคิดว่า... "ท่านรู้ไหม นั่งเย็บผ้านี่ก็ภาวนาได้ ท่านดูจิตตัวเองสิว่า เป็นอย่างไร แล้วก็แก้ไขมัน ท่านจะรีบร้อนไปทำไมเล่า ทำอย่างนี้เสียหายหมด ความอยากมันเกิดขึ้นท่วมหัว ท่านยังไม่รู้เรื่องของตัวเองอีก"
คำพูดสั้นๆ แต่มีความหมายและเจือความปรารถนาดีของหลวงปู่ ทำให้หลวงพ่อหูตาสว่างขึ้น ท่านปรารภให้ฟังว่า "เรานึกว่าทำถูกแล้ว อุตสาห์รีบทำ อยากให้มันเสร็จเร็วๆ จะได้ภาวนา แต่ที่ไหนได้ เราคิดผิดไปไกลทีเดียว"
อยู่ต่อมา หลวงปู่กินรีปรารภกับญาติของท่านว่า มีพระรูปหนึ่งมาอยู่ด้วย จีวรขาดหมดแล้ว ช่วยตัดจีวรใหม่ถวายท่านด้วย พอดีมีคนเอาผ้าฝ้ายด้ายดิบเนื้อหนามาถวาย หลวงปู่จึงให้แม่ชีช่วยกันตัดเย็บถวายหลวงพ่อ
หลวงพ่อเล่าถึงความรู้สึกตอนนั้นว่า... "ดีใจที่สุด ใช้อยู่ตั้งหลายปีก็ยังไม่ขาด ใส่ในครั้งแรกดูกระปุกกระปุย เพราะผ้าหนาและแข็งกระด้าง ยิ่งใส่สังฆาฏิซ้อนเป็นสองชั้น ยิ่งดูตัวเองอ้วนใหญ่ เวลาเดินดังสวบสาบๆ เพราะผ้ามันแข็ง ใส่ไปตั้งปีสองปีผ้าจึงอ่อน แต่เราก็ไม่เคยบ่น ได้อาศัยผ้าผืนนั้นมาเรื่อย ยังนึกถึงบุญคุณของท่านอยู่เสมอ..."
เมื่อปัญหาเรื่องเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งทำให้ใจเร่าร้อนกระสับกระส่ายถูกดับลงด้วยการภาวนา และหยาดน้ำใจจากครูอาจารย์ผ่านไปไม่นาน ศัตรูคู่ปรับเก่าที่หลวงพ่อเคยออกปากในทำนองว่า ยากยิ่งสิ่งเดียวได้หวนกลับมาย่ำยีจิตใจอีกครั้ง...
คืนหนึ่ง ขณะหลวงพ่อพากเพียรภาวนาอยู่ตามลำพัง อารมณ์แห่งกามราคะได้เกิดขึ้น
คืนนั้นไม่ว่าจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือพลิกยุทธวิธีใดๆ ก็ไม่สามารถกำราบกิเลสมารลงได้ รูปลักษณ์ของอวัยวะเพศหญิงปรากฏเป็นมโนภาพเด่นชัดตลอดเวลา เกิดความรู้สึกทางธรรมชาติของบุรุษอย่างรุนแรง จนแทบภาวนาต่อไปไม่ได้ ต้องอดทนต่อสู่กับความรู้สึกและมโนภาพนั้นอย่างยากเย็น
หลวงพ่อเปรียบเทียบว่า จิตใจถูกกิเลสย่ำยีอย่างหนักพอๆ กับครั้งที่เกิดความกลัวในคราวอยู่ป่าช้าครั้งแรกนั่นเอง
การต่อสู้กับราคะดำเนินไปอย่างดุเดือด ขับเคี่ยวรุกไล่กันอยู่ถึง 10 วัน ความรู้สึกและมโนภาพนั้นจึงได้เลือนหายไป
หลังการต่อสู้กับกามราคะในวันนั้น หลวงพ่อยิ่งบากบั่นเร่งภาวนาหนักขึ้น เพื่อสร้างเกราะและภูมิคุ้มกันภัยให้มั่นคง ศรัทธาและกำลังใจกล้าแกร่ง ขึ้นตามลำดับ
คืนหนึ่งในพรรษานั้น หลังทำความเพียรเป็นเวลาพอสมควร หลวงพ่อได้ขึ้นไปพักผ่อนบนกุฏิ กำหนดสติเอนกายลงนอน พอเคลิ้มไปเกิดนิมิตเห็นหลวงปู่มั่น เดินเข้ามาหยุดยืนอยู่ใกล้ๆ แล้วส่งลูกแก้วให้ลูกหนึ่ง พร้อมกับกล่าวว่า...
ชา... เราขอมอบลูกแก้วนี้แก่ท่าน มันมีรัศมี สว่างไสวมากนะ "
ในนิมิตนั้น ปรากฏว่าตนได้ลุกขึ้นนั่ง พร้อมกับยื่นมือไปรับลูกแก้วจากหลวงปู่มั่นมากำไว้ พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นแปลกใจมาก ที่พบตัวเองนั่งกำมืออยู่ดังในความฝัน จิตใจ เกิดความสงบระงับผ่องใส พิจารณาสิ่งใดไม่ติดขัด มีความปลื้มปิติตลอดพรรษา
หลวงพ่อได้อยู่ร่วมศึกษาปฏิบัติ และอุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่กินรีเรื่อยมา กระทั่งถึงฤดูแล้ง ของปี พ.ศ. 2491 หลวงพ่อจึงได้กราบลาครูบาอาจารย์จาริกต่อไป
ก่อนจาก หลวงปู่กล่าวตักเตือนศิษย์สั้นๆ ตามอัธยาศัยของท่านว่า
ท่านชา อะไรๆ ในการปฏิบัติ ท่านก็พอสมควรแล้ว...
แต่อยากให้ระวังเรื่องการเทศน์นะ "
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)