foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

nam pa na

วันก่อนเขียนเรื่อง ผักพื้นบ้านอีสาน : สุดยอดสมุนไพรพื้นบ้าน เพิ่มเติม ได้มีการกล่าวถึง พุทธโอสถ และน้ำปานะ ไปในบทความด้วย ทันควันเลยทีเดียว วันนี้ได้รับคำถามมาทางอินบอกซ์ให้ช่วยขยายความเรื่องนี้หน่อย โดยมีการกล่าวว่า "หลายคนนิยมเข้าวัดทำบุญช่วงเทศกาลที่มีพระสงฆ์มาร่วมพิธีกรรมจำนวนมาก ด้วยการ 'ถวายน้ำปานะ' แก่พระสงฆ์ ซึ่งมักอยู่ในรูปแบบน้ำดื่มหรือเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาล มีรสหวาน ซึ่งพระสงฆ์ไม่สามารถปฏิเสธน้ำปานะที่ญาติโยมนำมาทำบุญได้ (ในบางกรณี ความรู้ที่มีไม่ชัดแจ้ง) จึงทำให้พระสงฆ์ต้องอาพาธด้วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ" ทางเว็บมาดเซ่อน่าจะค้นหาความรู้มาเผยแพร่ต่อ เพื่อให้ทุกคนได้ทำความรู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับ 'น้ำปานะ' ให้มากขึ้น เพื่อจะได้เครื่องดื่มที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งที่ถวายพระสงฆ์ และทำดื่มแจกจ่ายกันทั่วไป

ต้องขอขอบพระคุณเป็นอย่างมากที่ได้ช่วยชี้แนะมา 'เว็บมาดเซ่อ' เองก็ยังไม่รู้ในเรื่องเหล่านี้เพียงพอ ด้วยเกิดมาไม่นานนัก ไม่สันทัดกับครูบา-อาจารย์นักบวช จึงส่งไม้ต่อมาให้ 'อาวทิดหมู' ผู้เคยบวชเรียนมาก่อนและคุ้นเคยกับครูบา-อาจารย์สายวัดป่า ได้ช่วยสืบเสาะหาความรู้จึงมาเป็นบทความในวันนี้นั่นเอง

ความรู้เรื่อง น้ำปานะ

จากหนังสือ "ตามรอยโพธิญาณ ชีวิตพระกรรมฐานในป่าพง" กล่าวในตอนที่ชื่อว่า "ฉันน้ำปานะ" ไว้ว่า

" ...เวลาประมาณ 16 นาฬิกา เสียงระฆังสัญญาณบอกเวลาฉันน้ำปานะก็ดังขึ้น ภิกษุสามเณรจะหยุดปล่อยวางภารกิจที่กำลังทำกันอยู่โดยพร้อมเพรียงกัน แล้วมานั่งบนอาสนะที่ระเบียงโรงฉัน เรียงตามลำดับอายุพรรษาเพื่อฉันน้ำปาะ ทุกรูปจะมีความรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้น หลังจากต้องเหน็ดเหนื่อยออกกำลังปฏิบัติภาระหน้าที่ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน น้ำปานะจะช่วยบรรเทาความหิว และความอ่อนเพลียให้ลดลงได้มาก รวมทั้งมีประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจด้วย

chan nam pana

น้ำปานะ เป็นน้ำที่คั้นซึ่งได้มาจากผลไม้ โดยภิกษุสามเณรดื่มได้ในเวลาวิกาล เมื่อรับประเคนแล้วเก็บไว้ได้ชั่ววันกับคืนหนึ่งเท่านั้น ในพระวินัยอนุญาต ให้ใช้ผลไม้ที่ประเทศนั้นๆ ไม่ได้ใช้เป็นอาหารตามปกติ นำมาทำน้ำปานะได้ และเมื่อพุทธกาลผลไม้สำหรับทำน้ำปานะมีดังนี้ มะม่วง ชมพู่หรือลูกหว้า กล้วยมีเม็ด กล้วยไม่มีเม็ด มะซาง ลูกจันทน์ หรือองุ่น เหง้าบัว มะปราง ลิ้นจี่

บางโอกาส ภิกษุสามเณรจะได้ฉันสิ่งที่พระวินัยกำหนด ไว้ว่าเป็น เภสัช เพื่อเสริมแร่ธาตุบางอย่างแก่ร่างกาย เพราะพระมีชีวิตอยู่ได้เนื่องด้วยผู้อื่น อาหารการขบฉันก็แล้วแต่ชาวบ้านจะจัดนำมาให้ ไม่สามารถกำหนดเอา หรือแสวงหาได้ตามปรารถนา จึงอาจจะขาดธาตุอาหาร ที่จำเป็นต่อร่างกายบ้าง ดังนั้น จึงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุฉัน สิ่งที่เรียกว่า "เภสัช 5" คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยได้

ในบางฤดูแม่ชีจะเก็บ ลูกสมอ มะขามป้อม ซึ่งอยู่ในกลุ่มของเภสัชตลอดชีพ อันมียารักษาโรคประเภทต่างๆ เกลือ ใบไม้ รากไม้ เป็นต้น มาถวายแก่ภิกษุ สามเณรในวันโกน 7 ค่ำ และ 14 ค่ำ วันนั้นเป็นวันที่สดชื่นสำหรับภิกษุสามเณรพอสมควร แต่ก็อาจกลายเป็นวันที่อ่อนเพลียได้เช่นกัน หากไม่รู้ประมาณในการฉัน เพราะสมอและมะขามป้อมจะเปลี่ยนคุณสมบัติจากสิ่งเอร็ดอร่อย กลายเป็น "ยาถ่าย" ขนาดรุนแรงขึ้นมาทันที ถ้าฉันมากเกินไป... "

ดาวน์โหลด : หนังสือตามรอยโพธิญาณ ชีวิตกรรมฐานใน 'ป่าพง'

ปานะ แปลว่า เครื่องดื่ม หรือ น้ำสำหรับดื่มที่คั้นจากลูกไม้ (น้ำคั้นผลไม้) จัดเป็น "ยามกาลิก" คือ ของที่พระภิกษุสงฆ์รับประเคนไว้แล้ว ฉันในช่วงหลังเที่ยงวันได้ทั้งวัน ทั้งคืนจนถึงก่อนรุ่งเช้า ผู้ถวายการดื่มน้ำปานะขึ้นเป็นท่านแรกคือ เกณยชฎิล เมืองอาปณนิคม ปรากฏหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฎกพระวินัย เล่มที่ 5 ข้อที่ 86 ว่า “พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตน้ำปานะ 8 ชนิด" คือ

  • อมฺพปานํ น้ำมะม่วง
  • ชมฺพุปานํ น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า
  • โจจปานํ น้ำกล้วยมีเม็ด
  • โมจปานํ น้ำกล้วยไม่มีเม็ด
  • มธุกปานํ น้ำมะทราง (มะซาง ต้องเจือน้ำจึงจะควร)
  • มุทฺทิกปานํ น้ำลูกจันทร์หรือองุ่น
  • สาลุกปานํ น้ำเหง้าอุบล (เหง้าบัว)
  • ผารุสกปานํ น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่

นิยมเรียกว่า อัฏฐบาน หรือ น้ำอัฏฐบาน (น้ำปานะ 8 อย่าง)

nam pa na

วิธีทำน้ำปานะ

วิธีทำน้ำปานะ ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แนะไว้ คือ ปอกหรือคว้านผลไม้เหล่านี้ที่สุก เอาผ้าขาวบางห่อแล้วบิดให้ตึง อัดเนื้อผลไม้ให้คายน้ำออกจากผ้า อย่าให้มีกาก จากนั้นเติมน้ำลงไปให้พอดี แล้วผสมกับน้ำตาลและเกลือเป็นต้น เพื่อให้ได้รสชาติที่ดีขึ้น

แต่ปานะดังกล่าวก็มีข้อจำกัดที่จะพึงทราบคือ ปานะนี้ให้สุกด้วยแสงแดดเท่านั้น ห้ามให้สุกด้วยไฟ และน้ำปานะจัดเป็นยามกาลิก จึงควรเก็บไว้ฉันได้ตลอด 1 วัน กับ 1 คืนเท่านั้น เมื่อขึ้นอรุณของวันใหม่แล้วเป็นอันฉันไม่ได้

เมื่อทราบถึงวิธีการทำน้ำปานะแล้ว ยังต้องทำความเข้าใจถึงวัตถุดิบที่จะนำมาทำน้ำปานะด้วยว่า เป็นของที่สมควร หรือไม่สมควร เพื่อเป็นการป้องกันการล่วงละเมิดพระบัญญัติ ดังต่อไปนี้

  • น้ำปานะที่ไม่สมควรตามหลักพระวินัย ได้แก่
    - น้ำแห่งธัญชาติ (ข้าว) 7 ชนิด คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย และหญ้ากับแก้
    - น้ำแห่งมหาผล (ผลไม้ใหญ่) 9 ชนิด คือ ผลตาล มะพร้าว ขนุน สาเก น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไทย แตงโม และฟักทอง
    - น้ำแห่งอปรัณณชาติ ได้แก่ ถั่วชนิดต่างๆ มีถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วดำ และงา เป็นต้น แม้จะต้มจะกรอง ทำเป็นเครื่องดื่มชนิดต่างๆ เช่น น้ำนมถั่วเหลืองชนิดกล่อง หรือชนิดขวดที่วางขายตามท้องตลาด และน้ำนมข้าว เป็นต้น จัดเป็นน้ำปานะที่ไม่สมควรทั้งนั้น
  • น้ำปานะที่สมควรตามหลักพระวินัย ได้แก่ น้ำปานะ 8 ชนิดข้างต้น และน้ำปานะแห่งผลไม้เล็ก เช่น ลูกหวาย มะขาม มะงั่ว มะขวิด สะคร้อ และเล็บเหยี่ยว เป็นต้น เมื่อพิจารณาตามนี้จะพบว่า น้ำผลไม้ชนิดไม่มีเนื้อปน ที่วางขายอยู่โดยส่วนใหญ่ จัดเป็นน้ำปานะที่สมควร

อย่างไรก็ดี ที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ เห็นจะเป็นเรื่องราวของ “น้ำนม” เนื่องจากมีสิกขาบทหนึ่ง ระบุว่า น้ำนมเป็นโภชนะอันประณีต ไม่ควรดื่มในเวลาวิกาล แต่ในเรื่องนี้ก็ยังมีข้อความจากพระไตรปิฎกที่ขัดแย้งกันอยู่ 2 แห่งด้วยกัน กล่าวคือ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 29 ขุททกนิกาย มหานิเทส ได้ระบุว่า “ปโยปานํ” หรือน้ำนม จัดเป็นน้ำปานะ และในพระไตรปิฎกเล่มที่ 2 ว่าด้วยเรื่อง เสขิยกัณฑ์ ได้กล่าวถึง พราหมณ์คนหนึ่งปรุงน้ำนมถวายสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายได้รับน้ำนมมาแล้วก็ดื่มน้ำนมทำเสียงดังซู้ดๆ จึงเป็นที่มาของสิกขาบทที่พระพุทธองค์ทรงห้ามพระภิกษุ ไม่ให้ฉันทำเสียงดังซู้ดๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจทำให้เกิดการสับสนขึ้นได้ว่า “น้ำนม” หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำนมควรหรือไม่ควรกันแน่

nam pa na 2

ในปัจจุบัน วัดหรือสำนักปฏิบัติธรรมบางแห่งก็อนุญาตให้ดื่มน้ำนมได้ ส่วนบางแห่งก็ไม่อนุญาตให้ดื่ม ในเรื่องนี้ แม้แต่ในพระไตรปิฎกก็ยังมีข้อความที่ก่อให้เกิดความสับสนทางความคิด เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงขอทำการแบ่งประเภทของ 'น้ำปานะ' ออกเป็น 3 ระดับขั้น โดยพิจารณาจากเครื่องดื่มที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นเกณฑ์การตัดสิน ดังนี้

1. ขั้นหยาบ ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีเนื้อปน เช่น น้ำเฉาก๊วย เครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูปต่างๆ น้ำผลไม้ที่มีเนื้อปน แม้แต่น้ำนมถั่วเหลืองก็ดื่มไม่ได้

2. ขั้นกลาง ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีเนื้อปน เช่น น้ำผลไม้แท้ 100% ชนิดที่ไม่มีเนื้อปน น้ำหวาน น้ำอัดลม กาแฟผสมครีมเทียม และน้ำนม เนื่องจากน้ำนมก็ได้รับการอนุญาตไว้ตามพระไตรปิฎกข้างต้น ท่านใดเห็นว่าควรดื่ม ก็ไม่ควรไปตำหนิเขา ส่วนท่านใดเห็นว่าไม่ควรดื่ม ก็งดเว้นเสีย

3. ขั้นละเอียด ได้แก่ น้ำปานะที่ทรงอนุญาตไว้ 8 อย่าง น้ำผลไม้แท้ 100% กาแฟชนิดที่ไม่มีครีมเทียมอันเป็นส่วนผสมของน้ำนม

เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ข้างต้น ก็คงพอจะกำหนดได้ถึงความเหมาะสมของเครื่องดื่มแต่ละประเภท แต่หากพิจารณาถึงคุณค่าที่แท้จริงของการดื่มน้ำปานะแล้ว จะพบว่า การดื่มน้ำปานะก็เพื่อบรรเทาความหิวกระหาย และการดับธาตุไฟที่เผาผลาญอาหารอยู่ภายในร่างกาย เพื่อให้ผู้ปฏิบัติมีกำลังในการเจริญสมณธรรม ไม่ถูกความหิวบีบคั้นจนกระสับกระส่ายเกินไปในการปฏิบัติธรรม

นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้ถวาย ที่เป็นทายก ทายิกา มีความต้องการที่ช่วยเหลือส่งเสริมเหล่านักปฏิบัติ เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปในช่วงขณะหนึ่งเท่านั้น หาใช่ต้องการให้ดื่มจนอิ่มหนำอันเป็นที่มาแห่งความกำหนัดไม่

สำหรับฆราวาสผู้มุ่งหวังบุญกุศลในการใส่บาตร ถวายเครื่องดื่มในปัจจุบัน ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมของเครื่องดื่มดังกล่าว โดยใช้เกณฑ์การตัดสินข้างต้นเป็นหลักสำคัญ กล่าวคือ เครื่องดื่มที่จัดอยู่ในขั้นหยาบ ไม่ควรถวายเลยจะดีที่สุด แต่ควรถวายเฉพาะเครื่องดื่มที่จัดอยู่ในขั้นกลางและขั้นละเอียดเท่านั้น เมื่อถวายแล้วก็ควรทำใจให้เป็นกุศลในบุญที่ได้ทำไว้ ส่วนนักปฏิบัติก็ควรดื่มพร้อมทั้งพิจารณาถึงคุณค่าและเจตนาที่แท้จริงของผู้ถวายด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องดื่มในยุคปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงไปมากจากครั้งอดีตกาล หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า เครื่องดื่มเกือบทุกประเภทจะต้องผ่านการพาสเจอร์ไรส์ (Pasteurization) ซึ่งเป็นกระบวนการถนอมอาหารโดยใช้ความร้อนในอุณหภูมิที่สูง เพื่อยืดอายุการเก็บอาหาร และทำให้อาหารปลอดภัยควรแก่การบริโภค เมื่อเป็นเช่นนี้ เครื่องดื่มเหล่านั้นก็ชื่อว่า ได้รับการหุงด้วยไฟ ไม่ใช่เป็นของที่ให้สุกด้วยแสงแดด ตามพระบัญญัติ ครั้นจะบอกว่า เครื่องดื่มเหล่านั้นไม่ควรดื่ม เนื่องจากได้รับการหุงด้วยไฟ แต่ก็เป็นกรรมวิธีที่มีความปลอดภัยสูงและเหมาะสมแก่การบริโภคด้วย จึงเป็นการตัดสินที่ยากเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น เมื่อจะเลือกเครื่องดื่มใด ก็ควรพิจารณาตามความเหมาะสมของยุคสมัยด้วย แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดการติเตียนขึ้นในภายหลัง จึงจะถือได้ว่า เครื่องดื่มนั้นมีความเหมาะสมและควรค่าแก่ความเป็นน้ำปานะ

จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 147 มีนาคม 2556
โดย พระมหาอดิเดช สติวโร (สุขวัฒนวดี) วัดเกตุมดีศรีวราราม จังหวัดสมุทรสาคร

nam pa na 3

อย่าลืม "น้ำปานะ" ถ้ามาจากผลไม้ ต้องลูกไม่โตกว่ากำปั้น ไม่มีกาก ไม่ต้มด้วยไฟ

จากทั้งหมดทั้งมวลที่รวบรวมมานั้น สรุปได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด ยกเว้น น้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก น้ำใบไม้ทุกชนิดทานได้ เว้นน้ำผักดอง น้ำดอกไม้ทุกชนิดทานไม่ได้ เว้นน้ำดอกมะซาง ทรงอนุญาต "น้ำอ้อยสด”

*** สรุปได้ว่า ในเวลาวิกาลพระท่านดื่มน้ำผลไม้ได้ทุกชนิด เว้นผลไม้ที่มีผลใหญ่กว่าผลมะตูม หรือผลมะขวิด วิธีทำก็ต้องคั้นเอาแต่น้ำ และกรองให้ไม่มีกาก จะทำให้สุกด้วยแสงอาทิตย์ก็ได้ แต่ห้ามผ่านการสุกด้วยไฟ ***

น้ำที่ห้ามพระสงฆ์ดื่มในยามวิกาล คือ

  • น้ำจากมหาผล ผลไม้ใหญ่ 9 ชนิด คือ ผลตาล ผลมะพร้าว ผลขนุน ผลสาเก น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไทย แตงโม และฟักทอง
  • น้ำที่ได้จากธัญชาติ 7 ชนิด ข้าวสาลี ข้าวเปลือก หน้ากับแก้ ข้าวละมาน ลูกเดือย ข้าวแดง ข้าวฟ่าง
  • น้ำที่ได้จากพืชจำพวกถั่ว ถั่วเขียว ถั่วเหลือง
  • ห้ามดื่มโภชนะอันประณีต คือ น้ำนมสด (แต่ทรงอนุญาต เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย แม้จะเป็นอาหาร – แต่ก็เป็นเภสัชด้วย พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ฉันได้ทั้งในกาลและวิกาล)

ดังนั้น น้ำนม น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง โอวัลติน ไม่จัดว่าเป็น 'น้ำปานะ' ดอกนะโยม

เอาเป็นว่าให้ระมัดระวังพวกบรรดา น้ำผลไม้ต่างๆ ที่เป็น 'มหาผล' คือ ประมาณว่า โตกว่ากำปั้น หรือ โตกว่าลูกมะตูม ท่านห้ามไว้ อย่างเช่น พวกแตงโม ส้มโอ มะพร้าว สับปะรด ฯลฯ เผลอๆ ก็ไปเจอ 'น้ำสับปะรด' เข้าไปอีก โยมเขาไม่รู้เขาก็เอามาถวาย พระก็อย่าไปทำเป็นไม่รู้ด้วยแล้วกัน ระวังไว้นิดหนึ่ง ข้อนี้ท่านปรับโทษเท่ากับฉันข้าวเลยทีเดียว

ตอนแรก อาวทิดหมู ก็ได้แต่สงสัยว่า ทำไมหนอ? พระพุทธเจ้าท่านปรับโทษแรงขนาดนั้น

หลังจากสองพันกว่าปีมาแล้ว ตอนหลังนี่เอง ที่ทางฝรั่งเขาไปศึกษาและวิจัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผลบอกมาว่า พวก ผลไม้ที่เป็นมหาผล ประกอบไปด้วยฮอร์โมนที่สูงมาก พระหนุ่มๆ ฟาดฮอร์โมนเข้าไปเยอะอยู่บ่ได้ดอก.. กระจาย..! (คิดต่อเอาเองเด้อ)

nam pa na 4

8 สูตรน้ำปานะที่ดีต่อสุขภาพ

1. น้ำมะม่วง

มีรสหวาน ให้พลังงานสูง ประกอบด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ มากมาย น้ำมะม่วงมีสรรพคุณแก้กระหาย บำรุงร่างกาย มีวิตามินซีช่วยต้านอนุมูลอิสระ มีวิตามินเอและเบตาแคโรทีนช่วยบำรุงสายตา นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น แต่ผู้เป็นเบาหวานไม่ควรดื่มบ่อยเกินไป เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นได้

วิธีทำ นำมะม่วงสุก 1 ผล ล้างให้สะอาด ปอกเปลือก แล้วฝานเอาแต่เนื้อมาปั่นหรือบดให้ละเอียด ใส่น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะเพื่อเพิ่มรสชาติ (สามารถปรับได้ตามความชอบ) จากนั้นใช้ผ้าขาวบางกรองเอาแต่น้ำ โดยไม่ให้มีกากปนในน้ำ จะได้น้ำมะม่วงประมาณ 1 แก้ว

mamuang kluay

2. น้ำกล้วยน้ำว้า

จะใช้กล้วยสุกซึ่งมีรสหวานจากน้ำตาลธรรมชาติ คือ ซูโครส กลูโคส และฟรุกโทส จึงให้พลังงานแก่ร่างกาย มีกรดอะมีโน วิตามิน แร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม วิตามินเอ วิตามันบี 6 วิตามินบี 12 และวิตามินซี มีสารต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยบำรุงร่างกาย และยังช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น

วิธีทำ นำกล้วยน้ำว้าสุก 3 ผล มาปอกเปลือก แล้วปั่นหรือบดให้ละเอียด กรองด้วยผ้าขาวบาง โดยไม่ต้องบีบคั้นน้ำ สูตรนี้จะได้น้ำประมาณ 1 แก้ว

3. น้ำมะขาม

มีรสเปรี้ยว ช่วยให้รู้สึกสดชื่น ดับกระหาย ช่วยให้ขับถ่ายสะดวก มะขามนั้นอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ มากมายช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน บำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ

วิธีทำ นำมะขามเปียก 300 กรัม มาแช่น้ำสะอาดประมาณ 500 มิลลิลิตร ระยะเวลาประมาณ 15 นาที หรือจนเนื้อมะขามละลายจนเป็นน้ำมะขามเปียกเข้มข้น กรองแยกกากด้วยผ้าขาวบาง เติมน้ำสะอาด 500 มิลลิลิตร เติมน้ำผึ้ง เกลือ และน้ำมะนาวได้ตามชอบ

4. น้ำมะนาว

มีรสเปรี้ยว เมื่อดื่มแล้วทำให้รู้สึกสดชื่น แก้ร้อนใน ดับกระหาย ช่วยขับเสมหะ ช่วยให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการไอ เจ็บคอ บรรเทาอาการปวดศีรษะ และเป็นยาระบายอ่อนๆ นอกจากนี้ยังมีมีวิตามินซีสูง ช่วยรักษาเลือดออกตามไรฟัน

วิธีทำ นำมะนาวที่ล้างสะอาดแล้วจำนวน 5 ลูก มาฝานแล้วคั้นน้ำ กรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อเอากากออก นำน้ำที่ได้ผสมกับน้ำสะอาด 250 มิลลิลิตร เติมน้ำผึ้งและเกลือเพื่อปรับรสชาติ

5. น้ำลูกหว้า

มีรสชาติหวานฝาดอมเปรี้ยว ลูกหว้าเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีสารแอนโทไซยานินที่เป็นสารสี ให้สีม่วง น้ำเงิน หรือแดง ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง และยังมีแทนนินที่ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร รักษาอาการท้องเสีย

วิธีทำ นำลูกหว้าสุกประมาณ 500 กรัม ไปล้างน้ำให้สะอาด ฝานเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วปั่นหรือขยำเพื่อคั้นน้ำ จากนั้นกรองด้วยผ้าขาวบาง เติมน้ำสะอาด 500 มิลลิลิตร และเติมน้ำผึ้ง เกลือ มะนาว เพื่อปรับรสชาติได้ตามชอบ

6. น้ำส้มเขียวหวาน

มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน มีวิตามินซีสูง มีแร่ธาตุและกรดจากธรรมชาติที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยแก้กระหาย แก้ไอ ขับเสมหะ ป้องกันโรคหวัด ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน ช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น

วิธีทำ นำส้มเขียวหวาน 5 ผล มาล้างให้สะอาด ผ่าครึ่งลูกและคั้นเอาน้ำ กรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อแยกเอากากและเนื้อออก นำน้ำส้มที่ได้มาเติมน้ำผึ้งและเกลือเพื่อปรับรสชาติตามชอบ

a ngoon makam pom

7. น้ำองุ่น

มีรสชาติหวาน เปรี้ยวเล็กน้อย ทำให้รู้สึกสดชื่น ช่วยดับกระหาย บำรุงร่างกาย เป็นน้ำผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย ทั้งวิตามินซี วิตามินบี วิตามินเอ มีสารฟลาโวนอยด์ ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดการอักเสบ ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

วิธีทำ นำองุ่นประมาณ 500 กรัม มาล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปปั่นหรือขยำเพื่อคั้นน้ำ จากนั้นกรองด้วยผ้าขาวบาง เติมเกลือและน้ำมะนาวเพื่อเพิ่มรสชาติ

8. น้ำมะขามป้อม

เป็นน้ำผลไม้ที่มีสรรพคุณมาก อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก ที่สำคัญคือมีวิตามินซีสูงมาก วิตามินซีที่ได้จากมะขามป้อม 1 ผล จะมีปริมาณเทียบเท่ากับส้ม 1-2 ผล ซึ่งสารประกอบในมะขามป้อมนี้จะช่วยต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันหวัด บำรุงโลหิต บำรุงร่างกาย และน้ำจากมะขามป้อมจะมีรสเปรี้ยวฝาด ที่จะช่วยให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการเจ็บคอ ไอ ช่วยละลายเสมหะ ดับกระหาย และยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยแก้อาการท้องผูก

วิธีทำ นำมะขามป้อม 1 กิโลกรัม มาล้างให้สะอาด ฝานเอาแต่เนื้อมาปั่น เติมน้ำลงไป 500 มิลลิลิตร จากนั้นกรองด้วยผ้าขาวบาง เพิ่มรสชาติด้วยการเติมน้ำผึ้งและเกลือ

ในสมัยก่อน ผู้เฒ่าผู้แก่ดันไปห้ามคนท้องกินน้ำมะพร้าว ใช่ไหม? แต่สมัยนี้หมอบอกว่า กินไปเยอะๆ มีฮอร์โมนที่เป็นประโยชน์แก่เด็กเยอะมากเลย บางเรื่องในอดีตความรู้ทางวิทยาศาสตร์เราไม่ก้าวหน้า ก็ห้ามโน่นนี่ คะลำยุบยับจน 'แม่มาน' กินได้แต่ปลาขาวนากลัวจะผิดกระบูน ต้องอยู่กรรม อยู่ไฟบนแคร่ไม้ไผ่ ข้างล่างสุมถ่านสุมฟืนให้ร้อนแดง ให้กินน้ำร้อนกันมากเพื่อให้มดลูกข้าวอู่ แต่สมัยนี้ไม่ต้องแล้ว ต้องบำรุงแม่ให้มีน้ำนมเลี้ยงลูกกันแล้ว อาหารดีๆ จัดหามาบำรุง เอิ่ม...! จากเรื่องพระมาจบเรื่องแม่ออกจนได้ สวัสดีครับ...

ทิดหมู มักหม่วน
14 กันยายน 2564

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)