foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

isan governance

ระบอบการปกครองบ้านเมือง อันเป็นกติกาควบคุมสังคมสมัยเก่านั้น คนไทยทางภาคกลาง หรือทางใต้ ได้รับอิทธิพลจากทางตะวันตกมาก เพราะยึดถือหลักจากคัมภีร์พระมนู พระธรรมศาสตร์ ของสังคมชาวอินเดีย โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่มาจากทางด้านนี้ มักจะโน้มไปในทางจิตนิยม หรือเชื่อในสิ่งที่สมมติกันขึ้นมา เช่น นรก สวรรค์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนไม่เคยเห็น

ส่วนระบอบการปกครองของชาวลาว และชาวอีสานสมัยเก่านั้น ยังมีอิทธิพลของความเชื่อดั้งเดิม ตกทอดมาจากทางเหนืออยู่มาก โดยเฉพาะอิทธิพลแบบจีน ซึ่งมักจะโน้มไปในทางวัตถุนิยม หรือเชื่อในสิ่งที่เคยเห็นคุณเห็นโทษมาแล้ว เช่น บิดา มารดา บรรพบุรุษ วีรบุรุษ ผู้ที่ล่วงลับ ตายเป็นผีไปแล้ว ได้รับการยกย่องเชิดชูมาก จนมีการเซ่นไหว้บวงสรวงกันหลายระดับ

(จารุบุตร เรืองสุวรรณ. ของดีอีสาน : หน้า 147)

isan people 1

ถึงแม้คนไทยทางใต้กับทางภาคอีสาน จะเป็นศิษย์ของชาวชมพูทวีปด้วยกัน แต่ลักษณะการปกครองของคนไทยใต้นั้น ค่อนไปในแบบที่ใช้ประมวลกฎหมายคล้ายฝรั่งเศส เช่น การใช้กฎหมายตราสามดวง ส่วนชาวอีสานนั้นไม่ปรากฏว่า มีประมวลกฎหมาย ข้อบังคับหรือกติกาของสังคมส่วนใหญ่ ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายแบบของอังกฤษ เผ่าชนซึ่งอาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำโขงสมัยเก่า ใช้ศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นเครื่องมือ หรือวิธีการปกครองบ้านเมือง มากกว่าเผ่าชนทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทุกประเทศในสมัยเก่านั้นปกครองแบบราชาธิปไตย ซึ่งมีโครงสร้างหรือองค์กรฝ่ายปกครองดังนี้

ต่เดิมราษฎรหัวเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งบ้านเรือนภูมิลำเนากระจัดกระจายกันอยู่ ยังไม่เป็นหลักแหล่งมั่นคง อยู่ห่างกันด้วยการเดินทาง 1 คืนบ้าง 2 คืนบ้าง บางแห่ง 4-5 คืน บรรดาหัวเมืองที่มีชื่ออยู่เวลานั้น เช่น เมืองสุรินทร์ กาฬสินธุ์ สังฆะ (สังขะ) ฯลฯ เหล่านี้ ก็เคยเป็นบ้านๆ หนึ่งมาก่อน ซึ่งมีผู้คนอยู่มากหลายสิบหลังคาเรือน และผู้คนซึ่งในบ้านนั้นค่อนข้างจะมั่งคั่งด้วยทรัพย์สิน มีสติปัญญาดี มีผู้คนนับถือมากกว่าคนอื่นๆ บรรดาที่อยู่ใกล้เคียงก็พากันมาร่วมขอร้องกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์อันตนได้ขึ้นอยู่ เพื่อทรงโปรดฯ อนุมัติตั้งบ้านขึ้นเป็นเมือง เช่น เมืองกาฬสินธุ์ เดิมก็ชื่อ "บ้านแก่งสำโรง" ผู้นำหรือผู้ปกครองเมือง ก็เรียกว่า "เจ้าเมือง" บางเมืองก็ตั้งมานานเป็นร้อยๆ ปี บางเมืองก็มาตั้งในภายหลัง ถือว่าเป็นเมืองธรรมดาเพราะเป็นเมืองมิได้มีกษัตริย์ปกครองมาก่อน

ส่วนเมืองที่มีกษัตริย์หรือมีเจ้าปกครองมาตั้งแต่ดั้งเดิม เช่น หลวงพระบาง เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ ก็ยกเป็นนครใหญ่ เมืองรองลงมาก็เรียกเป็น เมืองเอก เมืองโท เมืองตรี และเมืองจัตวา โดยมี เจ้าเมือง ปกครอง การปกครองชนชาวอีสานหรือชาวตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้สืบเป็นจารีตประเพณีมาแต่โบราณนั้น เจ้าผู้ครองนคร นับเป็นตำแหน่งที่ 1 รองลงมาตำแหน่งที่ 2 เรียก เจ้าอุปราช (หรือ เจ้าอุปฮาด) เจ้าราชวงศ์ เป็นตำแหน่งที่ 3 เจ้าราชบุตร เป็นตำแหน่งที่ 4 (จากตำแน่งที่ 4 ถอยหลังถึงตำแหน่งที่ 2 อาจได้รับเลื่อนขึ้นโดยลำดับจนถึงผู้ครองนคร ตำแหน่งที่ 1 ก็ได้)

ครั้นมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงวางระเบียบแน่นอน ให้ผู้ครองนครเป็นเจ้าตำแหน่งต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ก็ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าด้วย จึงทรงพระราชดำริตั้งฐานันดรศักดิ์ใหม่ขึ้นอีก ซึ่งเป็นตำแหน่งลูกเธอหลานเธอดังนี้

1. เจ้านคร          2. เจ้าอุปราช            3. เจ้าราชวงศ์                 4. เจ้าบุรีรัตน์
5. เจ้าราชบุตร    6. เจ้าราชภาคิไนย   7. เจ้าราชสัมพันธวงศ์

ถ้าเป็น เมืองเอก เมืองโท เมืองตรี และเมืองจัตวา ตำแหน่งเจ้าเมืองก็เรียกเพียง พระ เช่น พระนั่น พระนี่ ตามในสัญญาบัตร แต่ถ้าเจ้าเมืองนั้นๆ มีความชอบสามารถในราชการบ้านเมืองเป็นพิเศษ อาจได้รับพระราชทานบรรดาศุกดิ์เป็นชั้น พระยา ก็ได้ เช่น พระยาสุนทรธรรมธาดา (คำสิงห์) เจ้าเมืองโพนพิสัย พระยาขัติยวงศา (เหลา) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด หรือ พระยาสุรินทร์ภักดีศรีไผทสมันต์ เจ้าเมืองสุรินทร์ เป็นต้น แต่เป็นการโปรดเกล้าฯ เฉพาะตัว

การพระราชทานบรรดาศักดิ์แก่เจ้าเมืองต่างๆ ส่วนมากโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทินนามตามชื่อหรือมีความหมายถึงเมืองนั้นๆ เป็นตำแหน่งประจำ เช่น โปรดเกล้าฯ ให้ หลวงภักดีจำนงค์ (พรหม) เป็น พระมโนจำนง เจ้าเมืองมโนไพร หรือให้ ท้าวเพ บุตรท้าวเชียง เป็นที่ พระพิทักษ์เขื่อนขันธ์ เจ้าเมืองหนองหาร เป็นต้น

ส่วนตำแหน่งของเมืองรองจาก เจ้าเมือง ก็เรียก อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร ไม่มีคำว่า เจ้า นำหน้า นอกจากจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งบุคคลผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในราชการเป็นความชอบพิเศษจริงๆ มีความสามารถสู้รบจับศึกมีชัยชนะ เมื่อตีบ้านเมืองได้แล้วก็มีใบบอกมายังกรุงขอถวายเมืองที่ตีได้เป็นขอบขัณฑสีมา ในกรณีเช่นนี้ก็อาจจะสถาปนาขึ้นเป็น เจ้า ก็ได้ เช่น พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) และทรงตั้ง เจ้าหน้า (พี่ชายพระประทุมฯ คำผง) เป็น พระวิชัยราชสุริยวงศ์ขัติยราช มีความชอบตั้งแต่ครั้งปราบเวียงจันทน์ พ.ศ. 2321 และปราบกบฏอ้ายเชียงแก้ว บ้านเขาโอง โปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองอุบลราชธานี และก็มีเทือกแถวเป็นราชสกุลวงศ์อยู่แล้วเป็นประเทศราช และเจ้านครจำปาศักดิ์ประเทศราช ที่ได้กล่าวมาแล้ว

หรือเช่น เจ้าราชบุตร (คำ) เมืองอุบลราชธานี มีเครื่องราชอิสริยยศหมวกตุ้มปี่ กระบี่บั้งทอง เหมือนเจ้าราชบุตรทุกประการ แต่เทือกแถวยังคงเป็น ท้าว ดังนี้เป็นต้น และทั้ง 3 ตำแหน่งดังกล่าวนี้ก็อาจเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเป็นเจ้าเมืองในตำแหน่งที่ 1 ได้

ตำแหน่งการปกครองในหัวเมืองโบราณอีสาน ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของเมือง กอปรด้วย เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร 4 ตำแหน่งนี้เรียกว่า อาญาสี่ (หรืออาชญาสี่) และต้องแบ่งเขตแคว้นเมืองที่ตนปกครองออกเป็น 4 กอง คือ กองเจ้าเมือง กองอุปฮาด กองราชวงศ์ และกองราชบุตร แล้วก็ประกาศให้ราษฎรมาขึ้นสำมะโนครัวในกองทั้ง 4 ตามสมัครใจ ส่วนหัวเมืองนอกหรือกองนอกที่ขึ้นเมืองใหญ่ ก็จัดการปกครองเช่นเดียวกับหัวเมืองใหญ่

คำว่า กองนอก คือกำลังเตรียมภูมิลำเนาเกลี้ยกล่อมให้ราษฎรเข้ามาสมัครพอสมควรที่จะตั้งเป็นเมืองได้ ก็ขอตั้งเป็นเมืองต่อไปได้

ที่มา : ประวัติศาสตร์อีสาน โดย เติม วิภาคย์พจนกิจ (289:2546)

bulletตำแหน่งในเมืองหลวง

เมืองหลวง ซึ่งเป็นเอกราชหรือเป็นประเทศราช จะมีตำแหน่งต่างๆ เรียกตามลำดับดังนี้

  1. ประมุขของรัฐ มีฐานะเป็นกษัตริย์ ดังนั้นจึงใช้คำนำหน้าว่า "พระเจ้า"
  2. อุปฮาด (อุปราช) เป็นตำแหน่งรองของกษัตริย์
  3. ราชวงศ์ เป็นตำแหน่งอันดับสาม
  4. ราชบุตร เป็นตำแหน่งอันดับสี่
    ตำแหน่งในอันดับ 2 - 3 - 4 นี้เป็นเชื้อพระวงศ์มีคำนำหน้าว่า "เจ้า"
  5. เมืองแสน
  6. เมืองจันทน์
    สองตำแหน่งนี้ส่วนมากทำหน้าที่เกี่ยวกับต่างประเทศหรือต่างเมือง และกิจการสำคัญ เช่น การรักษาความสงบตลอดจนตุลาการ
  7. เมืองขวา
  8. เมืองกลาง
  9. เมืองซ้าย
    สามตำแหน่งนี้ รักษาบัญชีกำกับการสักเลข (เกณฑ์ไพร่พล) ดูแลวัดวาอาราม ออกคำสั่งให้กักขัง - ปล่อยนักโทษ
  10. เมืองคุก
  11. เมืองฮาม
    สองตำแหน่งนี้ ทำหน้าที่พัสดีเรือนจำ
  12. นาเหนือ
  13. นาใต้
    สองตำแหน่งนี้ ทำหน้าที่ฝ่ายพลาธิการ เก็บส่วยภาษีอากร
  14. ซาเนตร
  15. ซานนท์
    สองตำแหน่งนี้ ทำหน้าที่เลขานุการของเมืองแสน เมืองจันทน์
  16. ซาบัณฑิต ทำหน้าที่อ่านโองการ ท้องตราและประการอื่นๆ รวบรวมบัญชีรายงาน คำนวณศักราชปีเดือน
    ตำแหน่งในอันดับ 5 - 16 นี้ ถือว่าเป็นขุนนางชั้นเสนาบดีหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ มีคำ นำหน้าว่า "พญา" (พระยา)

bulletตำแหน่งในหัวเมืองต่างๆ

มีโครงสร้างหรือองค์การเป็นแบบเดียวกับในเมืองหลวง แต่อาจจะเรียกชื่อต่างกันไปบ้าง คือ ประมุข หรือ หัวหน้า เรียกว่า เจ้าเมือง อุปราช เรียกว่า อุปฮาด ตำแหน่งในอันดับ 1 ถึง 4 ดังกล่าวข้างต้นมักจะเป็นเชื้อสายหรือวงศ์ญาติของเจ้าเมืองเอง ตำแหน่งในอันดับ 5 ถึง 16 เป็น ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของเมือง เป็นคณะกรรมการเมือง หรือ ตำแหน่งประจำ มีคำนำหน้าว่า "เพีย" (ไม่ใช่ เพี้ย เพราะในภาษาอีสาน ขี้เพี้ย คือขี้อ่อนวัว-ควายและไม่ใช่ เพลี้ย ที่หมายถึงแมลงศัตรูพืช) คำว่า พญา คือ เพีย นี้ก็คงมีที่มาจากคำว่า เพียร และ พีระ ตรงกับคำว่า พระยา ของคนทางใต้

ถ้าหากเมืองใดมีงานมาก อาจจะแต่งตั้งตำแหน่งพิเศษเพิ่มขึ้นได้อีก ซึ่งจะมีคำนำหน้า ชื่อว่า เพีย ทั้งนั้น เช่น เพียนามเสนา เพียมหาเสนา เพียจันทรยศ เพียซามาตย์ เพียซานุชิต เพียแก้วดวงดี เพียสุวรรณไมตรี เพียอรรควงศ์ เพียเนตรวงษ์ เพียวุฒิพงษ์ เป็นต้น

อุปฮาด คำศัพท์ที่มาจาก อุปราช ด้วยคนอีสานออกเสียง ร. เป็น ฮ. จากราชจึงกลายเป็น ฮาด (แต่ไม่ได้สะกดเป็น ฮาช ด้วยเหตุผลใด ยังไม่มีที่มาครับ)

isan people 3

bulletตำแหน่งในชุมชนเล็ก

  1. ท้าวฝ่าย หรือ นายเส้น เทียบกับตำแหน่งนายอำเภอ
  2. ตาแสง คือ นายแขวง เทียบกับตำแหน่งกำนัน
  3. นายบ้าน หรือ กวนบ้าน เทียบกับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน
  4. จ่าบ้าน เป็น ผู้ใหญ่บ้าน อาจจะมีหลายคนก็ได้
ขอขอบคุณ : ผศ. สุระ อุณวงศ์ ให้ข้อมูล

isan people 4 

การปกครองบ้านเมืองให้สงบสุข ร่มเย็นเป็นสุข นั้น ผู้ปกครองบ้านเมืองที่มีอำนาจ พระสงฆ์ และประชาชนทั่วไปจะต้องมีความสามัคคีกัน ยึดเหนี่ยวในจารีตประเภณีอันดีงาม ที่เรียกว่า "ฮีต 12 คอง 14" นอกจากนั้นยังปฏิบัติตามข้อห้าม "คะลำ" หรือ "ขะลำ" ซึ่งถือว่าเป็นข้อห้ามไม่ให้ประพฤติปฏิบัติ เพราะถ้าใครปฏิบัติฝ่าฝืนข้อห้ามนั้นจะเป็นอันตรายหรืออัปมงคลแก่ผู้ฝ่าฝืน แต่ข้อห้าม (คะลำ, ขะลำ) ดังกล่าว หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามไม่ถือว่าผิดกฎของสังคม เพราะการจะปฏิบัติตามหรือไม่นั้น ผลย่อมตกอยู่กับผู้ไม่ปฏิบัติตามนั่นเอง เช่น นั่งขวางประตูบ้าน บันได ขะลำ หรือ สามีไม่อยู่บ้าน ภรรยาใส่เสื้อแดง คะลำ เป็นต้น

การปฏิบัติตามข้อบัญญัติหรือข้อกำหนดของสังคม หรือที่เรียกว่า "กฎหมายบ้านเมือง" ซึ่งถือว่าเป็นข้อบังคับที่ทุกคนในสังคมต้องปฏิบัติ หากฝ่าฝืนจะต้องถูกลงโทษหรือปรับไหม การลงโทษจะมีหลายลักษณะ เช่น การเสียค่าผี หรือเสียค่าปรับตามระบิลเมือง การชดใช้ค่าเสียหาย ทั้งนี้เพื่อทำให้การดำเนินชีวิตของคนในสังคมเป็นไปอย่างสงบสุข ซึ่งข้อปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวนี้ จะออกมาในรูปลักษณะขนบธรรมเนียมประเพณี จึงไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นข้อตกลงที่คนในสังคมยอมรับร่วมกัน ผู้อาวุโสในสังคมจะเป็นผู้ตัดสิน หากตกลงกันไม่ได้ก็ให้นายบ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) ตาแสง (กำนัน) หรือเจ้าเมืองกรมการ เป็นผู้ตัดสิน

กฎหมายโบราณอีสาน

กฎหมายโบราณอีสาน โดยมากจะเป็นเรื่อง "คองของคนทั่วไป" ซึ่งจะประกอบด้วยเรื่องของสามี ภรรยา นอกจากนี้ยังมีประเด็นชู้สาว และการสู่ขอ ซึ่งได้กำหนดสินสอดในจำนวนแตกต่างกันไปตามสถานะระดับทางสังคม ยกตัวอย่างเช่น

“ถ้าราชตระกูลเดียวกันกับผู้ชายหากพูดจาสมัครรักใคร่ ได้จับมือถือนิ้วผู้หญิงลูกสาวท่านให้เอา ๒ บาท ถ้าจับนมชมแก้ม ให้เอาตำลึง ๑ ถ้าใครเถิงส่ำเลาบ่มีลูกให้เอา ๒ ตาลึง ถ้าเถิงส่ำเลามีลูกบ่ปลูกแปลงให้เอา ๗ ตำลึง ถ้าปลูกแปลงให้มีสินสู่ ๒ ตำลึง คำเบี้ย ๑ แล้วให้สำแดงเฮือนตามอย่างทุกข้อ” และ “ถ้าราชกูลลูกหลานพระยาแลลูกเสนาทามาส ไปขอลูกหญิงเสนาอามาสผู้ใหญ่ให้มีสินสู่ ๖ ตำลึง ถ้าล่วงประเวณีเข้าไปนอนอยู่กับลูกหญิงหลานหญิงเสนาอามาส จะให้อยู่กับด้วยกัน ให้เอาเงิน ๓ ตำลึง ถ้าผู้ชายบ่สมัครผู้หญิงบ่มีลูกให้เอา ๔ ตำลึง ถ้าหญิงมีลูกให้เอา ๓ ตำลึง ๒ บาท ถ้าสู่ขอลูกหญิงหลานหญิงเสนาอามาสผู้น้อยกว่านั้น ให้.......”

(กฎหมายโบราณวัดดาวดึงส์. ลาน 9 หน้า 1.)

ประโยคข้างต้นได้กำหนดค่าปรับไหม (ค่าปรับ) ในกรณีที่ชายหญิงในราชตระกูลเดียวกันได้จับมือลูกสาวท่าน ให้ปรับ 2 บาท ถ้าอนาจารและล่วงเกินร่างกายสตรีจะถูกปรับ 1 ตำลึง ถ้ากระทำชำเราสตรีแต่ไม่มีบุตรจากการกระทำดังกล่าว ปรับ 2 ตำลึง ถ้ากระทำชำเราแล้วมีบุตร แต่ไม่รับผิดชอบ ปรับ 7 ตำลึง ถ้ารับผิดชอบให้มีสินสอด 2 ตำลึง เงิน 1 เบี้ย แล้วให้ทำตามอย่างประเพณีการอยู่กันฉันท์สามีภรรยา

และอีกบทบัญญัติหนึ่งกล่าวว่า ถ้าลูกหลานท้าวพระยาไปสู่ขอลูกสาวของอำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่ ให้มีสินสอด 6 ตำลึง แต่หากอยู่กินฉันสามีภรรยาแล้วจะแต่งงานกันให้ปรับ 3 ตำลึง หากไม่พร้อมที่จะสมรสกัน แล้วฝ่ายหญิงก็ยังไม่มีบุตร ให้ปรับ 4 ตำลึง ถ้าหญิงมีบุตรให้ปรับ 3 ตำลึงกับอีก 2 บาท บทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ค่าปรับในกรณีที่ทาผิดประเพณีก็จะมีราคาที่แตกต่างกันออกไปตามสถานะทางสังคม สภาพเศรษฐกิจของแต่ละบุคคล ค่าสินสอดก็เป็นเช่นลักษณะเดียวกัน

isan wedding

กฎหมายโบราณยังให้ความชอบธรรมแก่ผู้ถูกปกครอง โดยประเด็นหัวข้อราชการบ้านเมืองในกฎหมายโบราณฉบับวัดดาวดึงส์ ได้กล่าวไว้ว่า

เจ้าขุนมูลนายก็ดี อย่าได้เบียดเบียนไพร่บ้านพลเมือง ยามไร่ยามนาให้วางไพร่เมือหาไร่นาหานา
อย่าเอาไปฮักเฮื้อไว้ ”

ความข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ในสมัยโบราณ นอกจากชนชั้นผู้นำมีความสาคัญแล้ว ชนชั้นผู้ถูกปกครองก็ไม่ได้ถูกกดขี่มองข้ามแต่ประการใด เมื่อถึงฤดูกาลก็ให้อิสระในการกลับไปประกอบอาชีพกสิกรรมเช่นเคย สังคมในสมัยก่อนอาศัยอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก จึงให้ความสาคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ

นอกจากนี้กฎหมายโบราณยังมีประเด็น "สัตว์เหยียบย่ำพืชผล" ปรากฏความว่า

“เถิงเทศกาลปีใหม่เดือน ๗ ให้เสนาอามาสออกป่าวร้อง นายหมวดกอง นายคุ้ม และตาแสงนายบ้าน ในขอบเขตคันทะสีมาทั้งปวง แก่ผู้มีช้างม้า โคกระบือ ให้จับมัดผูกเลี้ยงไว้ อย่าปะปล่อยทิ้งไว้แรมคืน ไปกินข้าว พิดชะเครื่องปลูกของฝัง ไร่นา รั้วสวน ของท่านใดผู้หนึ่งได้เป็นอันขาดทีเดียว ถ้าเชือกขาดปอกขาดไปกินของท่านครั้งหนึ่ง ให้เจ้านาจับเอาช้างม้าโคกระบือไว้ เจ้าของสัตว์มาขอ ให้ขืนแก่เจ้าของสัตว์สาก่อน ถ้าพิดชะเครื่องปลูกของฝังเสียน้อยมากทอใด ให้ใส่เสียตามมากน้อย ค้าข้าวของของเถิงครั้งนึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง เจ้าไร่นาบ่ส่งสัตว์นั้นให้แก่เจ้าสัตว์ หากชักย้อเอาสัตว์ไว้ ถ้าสัตว์อันตรายตาย ให้เจ้าไร่นาใส่ค่าสัตว์ท่าน ตามอย่าง”

(กฎหมายโบราณวัดดาวดึงส์. ลาน 12 หน้า 1.)

บทบัญญัตินี้ สะท้อนให้เห็นถึง "การปลูกพืชผล" เป็นสิ่งที่กฎหมายโบราณให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ถึงขนาดบัญญัติไว้ให้เป็นความผิดแก่ผู้เป็นเจ้าของสัตว์ ที่ปล่อยปละละเลยให้สัตว์เลี้ยงของตนไปสร้างความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรของผู้อื่น ถ้าสัตว์ไปกินพืชผลของผู้ใด ให้กักสัตว์นั้นไว้ก่อน เมื่อเจ้าของสัตว์มาขอสัตว์คืน ให้เจรจาค่าความเสียหายอันเกิดจากสัตว์นั้นก่อน เป็นต้น

กฎหมายโบราณถึงแม้จะมีน้อยมาตรา และมีการจัดเรียงไว้ไม่เป็นหมวดหมู่มากนัก แต่หากพิจารณาในอีกทางหนึ่ง คงจะเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า สังคมในสมัยก่อนมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่สลับซับซ้อนมากนัก เนื้อหากฎหมายจึงบัญญัติเฉพาะเท่าที่จำเป็น อาทิเช่น ประเด็นการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา การเคารพชนชั้นผู้ปกครอง ประเด็นชู้สาว ประเด็นสัตว์เหยียบย่ำพืชผล ประเด็นทาส ประเด็นราชการบ้านเมือง การทะเลาะวิวาท การลักขโมย และเรื่องหนี้ ซึ่งทั้งหมดมักจะอิงตามหลักของศีลห้าตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

จาก : การศึกษากฎหมายโบราณอีสานในสยาม : การปกครองท้องถิ่นสาเกตุนคร พ.ศ. 2397 – 2414
โดย อำนาจ พรหมกัลป์ และ ศิวัช ศรีโภคางกุล มหาวิทยาลัยขอนแก่น

toong na

ซึ่งข้อบัญญัติในเรื่องของ "สัตว์เหยียบย่ำพืชผล" ได้มีปรากฏใน "ลักษณะกฎหมายของหัวเมืองลาวตะวันออก" เกี่ยวกับเรื่อง "สัตวารักษกิจ" ดังนี้คือ

สัตวารักษกิจ  ผู้ใดมิได้ผูกช้าง ม้า โค กระบือ ในเวลากลางคืนหรือผูกแล้วแต่หลุดหลักแหล่งไป  ในเทศกาลที่ราษฎรลงมือตกกล้า ดำนา กำหนดแต่เดือน ๖ ข้างแรมไปถึงเดือนอ้ายข้างขึ้น

  • ถ้าช้าง ม้า โค กระบือ ไปกินข้าวกล้าของผู้ใดในเวลากลางคืน ต้องปรับของใช้ข้าวกล้าคืนตามจำนวน
  • ถ้าไปกินข้าวกล้าที่มีท้อง หรือออกรวง ต้องปรับเป็นเม็ดหรือฟ่อนตามมากหรือน้อย
  • ถ้าไปเหยียบย่ำลานข้าวหรือกินเมล็ดข้าวหรือพังและชนกองข้าว ต้องปรับให้เสียข้าวตามมากและน้อยที่เสียไป และปรับทำขวัญข้าว คือ ไก่ ๑ ตัว เหล้า ๑ แก้ว เป็นเครื่องบายศรีสู่ขวัญข้าว
  • หากวัว โค กระบือ ช้าง ไปกินกล้า เรือกสวน เจ้าของสวน นาจับไว้ก็ดี เจ้าของไม่ได้ติดตามภายใน ๗ วันก็ดี ๑ เดือนก็ดี หรือ ๓ เดือนก็ดี ช้าง ม้า โค กระบือ นั้นถือว่า "จำพลัด" ต้องตกเป็นของเจ้าเมืองกรมการทั้งสิ้น
  • ถ้าช้าง ม้า โค กระบือ ผู้ใดไปชนโค กระบือ ผู้อื่นที่ผูกไว้ ถ้าตายให้ใช้ค่าโค กระบือนั้นเต็มราคา
  • ถ้าขาหัก ตาบอด ให้แบ่งราคาโค กระบือ เป็นสามส่วน ให้ใช้เสีย ๑ ส่วน และให้รักษาพยาบาลจนหาย
  • ถ้าสุนัขใครดุเที่ยวกัดลูกโค ลูกกระบือนั้นตายให้ใช้ตามราคาเต็มของลูกโค ลูกกระบือ หากไม่ตายให้เสีย ๑ ใน ๓ ส่วน และให้รักษาพยาบาลให้จนหาย แต่ถ้าหากเป็นสุนัขไม่มีเจ้าของพลัดหลงมาไม่มีความผิดอะไร... "

("มณฑลอีสานและความสำคัญทางประวัติศาสตร์" ของ นางสาวอุราลักษณ์ สิถิรบุตร จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.)

สำหรับการยึดถือและปฏิบัติตาม "ฮีต 12 คอง 14" มีรายละเอียดอีกมาก อ่านต่อได้จากการคลิกหัวข้อด้านล่างนี้

ฮีตสิบสอง | คองสิบสี่ | ระบบการปกครองของชาวอีสานโบราณ

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)