นิทานพื้นบ้าน ที่พบกันในภาคอีสานนั้นมีมากมายหลายร้อยเรื่อง เป็นการเล่าถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อๆ กันมา ส่วนใหญ่ตัวละครที่กล่าวถึงจะมีลักษณะเฉพาะโดดเด่น และเป็นตัวแทนสะท้อนสภาพสังคม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ทัศนคติ ความเชื่อและค่านิยมแห่งยุคสมัย ซึ่งสามารถจัดเป็นกลุ่มๆ ตามลักษณะเด่นได้ดังนี้
- นิทานมหัศจรรย์ (fairy tale) คือ ตัวละครเอกของเรื่องมักจะเป็นกำพร้า ยากจน แต่มีความเก่งกล้าสามารถ และมีคุณธรรม แนวคิดที่สำคัญของนิทานมหัศจรรย์ คือ ธรรมะชนะอธรรม
- ตำนานปรัมปรา (myth) ส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาอธิบายเรื่องธรรมชาติรอบๆ ตัว และสัมพันธ์กับเทพเจ้า ผู้วิเศษ ที่นับถือกันในท้องถิ่น
- ตลกขบขัน (jest) ส่วนใหญ่เสนอแนวคิดเรื่อง คนเจ้าปัญญา รองลงมาได้แก่นิทาน คนจอมโง่ และนิทานเสียดสีล้อเลียนคนชั้นสูง
- สิงสาราสัตว์ (tale) มักมีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้สติปัญญา เพื่อเอาตัวรอดจากอันตราย และนิทานคติสอนใจ
- เรื่องราวประจำถิ่น (legend) มักเป็นเรื่องของตำนานสถานที่ รองลงมาคือ เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธ์ในท้องถิ่น ได้แก่ พญานาค เงือก และปลาศักดิ์สิทธิ์ ตำนานวีรบุรุษ และนิทานประจำถิ่นเบ็ดเตล็ด
จากการเล่าสืบทอดต่อๆ กันมาด้วยกลวิธีเล่าเรื่องด้วยปากธรรมดา มาจนถึงการขับเป็นบทกลอน การใส่ทำนองเล่าเรื่อง (มีดนตรีประกอบ) เมื่อมาถึงยุคที่มีตัวอักษรใช้ ก็มีการบันทึกด้วยการจารลงบนใบลาน ด้วยอักษรตัวธรรม และอักษรไทยน้อย และใช้สํานวนภาษาถิ่นอีสาน มีลักษณะฉันทลักษณ์ หรือรูปแบบคําประพันธ์ อยู่ 2 รูปแบบ คือ โครงสาร และกาพย์ ซึ่งโดยปกติแล้ววรรณกรรมส่วนใหญ่นิยมประพันธ์เป็นโครงสาร ส่วนกาพย์นิยมใช้ประพันธ์นิทานคําสอน หรือนิทานที่ใช้ในการเซิ้ง เพื่อความสะดวกในการจดจํา
นิทานพื้นบ้านอีสานไม่นิยมบอกชื่อผู้แต่ง ผู้คัดลอก หรือผู้เขียน แต่มีความเชื่อกันว่า การสร้างหนังสือถวายวัดถือได้ว่า เป็นการถวายที่ได้อานิสงส์แรง เพราะเป็นการสืบต่ออายุของพุทธศาสนา ซึ่งสมัยก่อนนิยมใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอด ตลอดจนการอนุรักษ์นิทานเหล่านี้ไปพร้อมๆ กันด้วย ต่อมาก็ได้มี "การปริวรรต" คือการถอดความออกมาเป็นเนื้อหาร้อยแก้ว บันทึกด้วยการพิมพ์ลงในกระดาษเป็นรูปเล่มอย่างปัจจุบัน จนถึงการนำไปสร้างเป็นสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้งบันทึกลำเรื่องต่อกลอน ภาพยนตร์ ละคร การ์ตูน เป็นต้น
นิทานอีสาน จะมีส่วนร่วมในการควบคุมสังคม คือ สอนจริยธรรม และระเบียบจารีตประเพณีอันพึงปฏิบัติแก่ประชาชน เช่น เรื่องเกี่ยวกับ ฮิตสิบสอง คองสิบสี่ เนื้อหาของนิทานอีสานส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ พุทธศาสนา เพราะวัดเป็นสถาบันกลางในการส่งเสริมและการอนุรักษ์ไว้ เช่น เรื่องชาดก จริยธรรม คติธรรม ตอบสนองความเชื่อในเรื่อง ภูตผีวิญญาณ และศาสนาชาวบ้าน เช่น บทบายศรีสู่ขวัญต่างๆ ความเชื่อเกี่ยวกับบุญ กรรม นรก สวรรค์ ภพนี้ ภพหน้า เป็นต้น นอกจากนี้เนื้อหาของนิทานอีสานยังสะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ และค่านิยมทางสังคม ซึ่งผู้แต่งได้บันทึกความเชื่อ อุดมการณ์เหล่านั้นในรูปแบบจริยวัตรของตัวเอกในเรื่อง ซึ่งตัวเอกในนิทานนั้น ส่วนใหญ่มักจะมีจริยาวัตรแบบพระเวสสันดร คือมุ่งแสวงหาธรรมะ สร้างบุญบารมี และมีความเก่งกาจ อิทธิฤทธิ์ เพื่อใช้ในการปราบฝ่ายอธรรม (ธวัช ปุณโณฑก, 2522)
ในภายหลังจึงมีการรวบรวมบรรดานิทานเหล่านี้ไว้ ซึ่งเมื่อจัดกลุ่มให้แคบเข้า ก็จะแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท ดังนี้
นิทานวรรณคดี
เป็นนิทานขนาดค่อนข้างยาว ถึงยาวมากๆ ซึ่งมักจะมีผู้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือจารลงในใบลาน โดยมากที่พบมักแต่งเป็นคำกลอนอีสาน เมื่อนำมาเล่าสู่กันฟังในยุคหลัง จึงถูกนำมาปริวรรตหรือเรียบเรียงใหม่ให้เป็นร้อยแก้ว เพื่อให้อ่านทำความเข้าใจได้ง่าย โดยนิทานประเภทวรรณคดีนี้ มีวิธีถ่ายทอดไปสู่ชาวบ้านในรูปแบบหรือ 3 วิธีใหญ่ๆ คือ
- พระภิกษุสามเณร นำมาเทศน์ ในงานบุญประเพณีที่ชาวบ้านมารวมกันที่วัดเป็นจำนวนมากๆ เช่น บุญออกพรรษา โดยแต่ละปีจะมีการกำหนดว่า ออกพรรษาปีนี้ จะเทศน์เรื่องอะไร ซึ่งแต่ละวัด จะมีหนังสือใบลานวรรณคดีนิทานเรื่องต่างๆ เก็บไว้ พอถึงงานบุญออกพรรษา ก็จะเตรียมหนังสือใบลานนิทานเรื่องนั้นๆ ไว้สำหรับพระภิกษุสามเณร ทั้งในวัดนั้น หรือเชิญนักเทศน์จากวัดอื่นๆ ได้เวียนสลับกันมาอ่าน (เทศน์) ให้พ่อออก แม่ออกได้ฟังกัน จนหนังสือใบลานหมดผูก หรือนิทานเรื่องนั้นจบ
- นักปราชญ์ หรือผู้มีความสามารถในการแต่งกลอนลำ นำนิทานไปแต่งเป็นกลอนลำ แล้วให้หมอลำเป็นผู้ถ่ายทอด เล่าเรื่องราวนิทานนั้นๆ เช่น หมอลำพื้น (มีคนลำเพียงหนึ่งคน ทำหน้าที่เป็นตัวละครทั้งหมด ใช้เสียง ผ้า และเครื่องแต่งกายประกอบการแสดง) หมอลำเรื่องต่อกลอน เป็นต้น
- คนเฒ่าคนแก่ (ซึ่งได้ฟังลำ หรือได้ฟังเทศน์จากพระ หรือผู้ที่สึกจากพระ) นำมาเล่าให้คนอื่นๆ ฟัง ให้เด็กๆ ฟัง ในตอนเย็นหลังกินข้าว หรือในช่วงก่อกองไฟผิงในหน้าหนาว
นิทานประเภทวรรณคดีนี้ โดยมากเป็นเรื่องราวทางจินตนาการ หรือเป็นเรื่องแต่ง แต่อาจมีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง เช่น ขูลูนางอั้ว ผาแดงนางไอ่ กำพร้าไก่แก้ว บักหูดสามเปา เป็นต้น
นิทานก้อม
"ก้อม" แปลว่า สั้น นิทานก้อมจึงเป็นนิทานขนาดสั้น กะทัดรัด ซึ่งลักษณะพิเศษของนิทานก้อมคือ มีมุขตลก มุขขำขัน อยู่ในตอนท้ายเรื่อง ซึ่งเมื่อเล่าถึงจุดขำขัน หรือจุดปล่อยมุข นิทานก็จบเรื่อง หรือจบตอน นิทานก้อมนี้ไม่ค่อยมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร มักจะถ่ายทอดโดยวิธีเล่าสู่กันฟัง ในสถานการณ์ที่อำนวยให้เล่านิทานก้อมก็คือ เมื่อมีการรวมกลุ่ม หรือชุมนุมกัน เช่น หลังกินข้าวตอนเย็น ลงแขกเกี่ยวข้าว หรือ รวมกันทำกิจกรรมส่วนรวมในวัด เป็นต้น
นิทานก้อม โดยมาก ต้นเค้าหรือที่มา มักจะมาจากเรื่องจริง ที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน แต่ที่เป็นเรื่องแต่งหรือคิดขึ้นเองก็คงมีบ้างเช่นกัน ตัวอย่างนิทานที่เข้าข่ายเป็นนิทานก้อม เช่น พ่อเฒ่ากับลูกเขย หลวงพ่อกับเณรน้อย เป็นต้น
นิทานก้อมเรื่อง "พ่อเฒ่ากับลูกเขย" หรือ "เจ้าหัวกับจัวน้อย" นั้นตัวละครเอกคือ ลูกเขย และจัวน้อย (เณรน้อย) นั้นมักจะเป็นผู้ชนะ เนื่องจากผู้เล่าเรื่องพวกนี้มักจะเป็นคนในวัยกลางคน ผ่านประสบการณ์ที่ได้เป็น ลูกเขย (ผู้น้อยกว่า) และการเคยเป็นสามเณรหรือพระหนุ่มมาก่อน ได้รับการข่มเหงเต็งเต็ก หรือเป็นเบี้ยล่างมายาวนาน เมื่อมาเล่านิทานก้อมจึงมักสร้างให้ตัวเอกชนะ พ่อเฒ่า หรือเจ้าหัว (หลวงพ่อเจ้าอาวาส) เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการผ่อนคลายความตึงเครียดทางสังคม และวัฒนธรรม ที่ไม่อาจทำได้ในชีวิตจริง เมื่อมีการเล่านิทานจึงสมมุติให้ ผู้น้อยเอาชนะผู้ใหญ่ด้วยเล่ห์ เพทุบายต่างๆ ให้สะใจทั้งบรรดาคนเล่า และคนฟังที่อยู่ในสถานะทางสังคมเดียวกัน เป็นการละเมิดกฏทางศีลธรรมประเพณีได้ เพื่อความสนุกสนาน ผ่อนคลายความเครียดนั่นเอง
นิทานก้อม ถ้าจะแบ่งให้ละเอียดลงไปอีก จะประกอบไปด้วยท้องเรื่อง ดังนี้
- เจ้าหัวกับจัวน้อย (หลวงพ่อกับสามเณรน้อย) เนื้อเรื่องจะกล่าวถึงความฉลาดแกมโกงของสามเณรน้อย และความไม่ทันคน ทันโลกของหลวงพ่อ บางคนกล่าวว่า เณรน้อยก็คือ เซียงเมี่ยง (ศรีธนญชัย) ในตอนที่ไปบวช ก่อนที่จะสึกออกมาเป็นฆราวาส จริงๆ แล้วอาจไม่ใช่เป็นเพียงการสมมุติขึ้นเป็นตัวแทนของคนเล่าในสถานะหนึ่งเท่านั้น
- พ่อเฒ่ากับลูกเขย (พ่อตากับลูกเขย) กล่าวถึงลูกเขยกับพ่อเฒ่าที่ชิงความได้เปรียบเสียเปรียบ ที่พ่อเฒ่าอยากทดสอบว่า ลูกเขยคนนี้จะฉลาดหรือสามารถเลี้ยงดูบุตรสาวของตน หรือพาบุตรสาวของตนให้เจริญก้าวหน้าต่อไปหรือไม่ แต่สุดท้ายพ่อเฒ่าก็มักจะพ่ายแต่ความกะล่อน และฉลาดของลูกเขย นิทานในชุดนี้ อาจจะมีเรื่องของ แม่เฒ่า (แม่ยาย) กับลูกเขย ลูกใภ้กับแม่ย่า ร่วมด้วยเสมอ ตามแต่ผู้เล่าจะเป็นใคร
- เรื่องของทิด จารย์ เซียง (บุคคลที่เคยเข้าไปบวช แล้วสึกออกมาใช้ชีวิตทางโลก อ่านเพิ่มเติมที่นี่) กล่าวถึงความไม่ประสีประสาของคนที่สึกออกมาใช้ชีวิตทางโลก แล้วไม่เท่าทันเล่ห์มารยาหญิง
- พี่อ้ายกับน้าสาว (พี่เขยกับน้องเมีย) กล่าวถึงความไม่ประสีประสาของเมีย น้องเมีย หรือผู้สาวขึ้นใหม่ เป็นการสะท้อนสังคมอีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะเล่ห์เหลี่ยมของพี่อ้ายผู้หมายปองน้องเมียมาเป็นคู่อีกคน
- หัวหงอกหยอกสาว กล่าวถึงคนแก่หรือคนมีอายุ หยอกล้อสาวน้อย ประมาณว่า โคแก่อยากกินหญ้าอ่อน บางทีก็ถูกสาวๆ หลอกจนหงายเงิบ หมดทรัพย์สินจำนวนมาก แต่ไม่ได้แอ้ม บ่ได้ซูนคิงสาวเลย ก็มี
- สามเกลอ กล่าวถึงสามสหาย คนหนึ่งตาบอด หูดี อีกคน หูหนวกหรือหูตึง ตาดี และอีกคน ตาดี ปากกืก (เป็นใบ้) เนื้อเรื่องมักจะกล่าวถึงความพิการไม่สมประกอบ แต่ชอบแสดงตัวหรืออวดฉลาดไม่สมกับสารรูปของโตเอง หรือ เว้าใหญ่เกินโต คุยโวโอ้อวด จนเกิดเรื่องขำขันตามมา
- เรื่องเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ทั่วไป อาจเป็นคำสอนหรือคติสอนใจ ปริศนา ขำขัน เช่น กระต่ายกับหอย ย่ากินปลิง กระต่ายในดวงจันทร์ เป็นต้น
นิทานพื้นบ้านอีสาน
นิทานพื้นบ้านอีสาน ที่นำมาเสนอต่อไปนี้ เป็นเพียงบางส่วนที่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็มีหลายสำนวนที่อาจมีความแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อยในรายละเอียด แต่แก่นเรื่องมีความคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ (รวมทั้งหลายๆ เรื่องก็ตรงกันกับนิทานของทางเพื่อนบ้าน สปป.ลาว หรือกลุ่มประเทศใกล้เคียง อันเป็นวัฒนธรรมร่วมกันนั่นเอง) ท่านใดมีนิทานเหล่านี้อยากเผยแพร่ก็แจ้งกันมาได้ครับ ทางอีเมล์ webmaster (@) isangate.com ได้เลยครับ
- เซียงเมี่ยง - ศรีธนญชัย นิทานพื้นบ้านวัฒนธรรมร่วมอาเซียน ที่ปรากฏในประเทศเพื่อนบ้านของเรา
- เซียงเหมี้ยง ฉบับ สปป.ลาว นิทานพื้นบ้านที่เต็มไปด้วยความตลกขบขัน การใช้ภูมิปัญญาเอาชนะชนชั้นปกครอง
- ขูลูนางอั้ว ตำนานรักดั่งอมตะนิยายที่มีผู้เปรียบเทียบว่าเป็น "โรเมโอ แอนด์ จูเลียต แห่งแดนอีสาน" เรื่องนี้ทาง สปป.ลาว เรียกชื่อนิทานว่า ຂຸນລູນາງອົ້ວ (ขุนลูนางอั้ว) เป็น ຕຳນານລາວ
- ผาแดงนางไอ่ เป็นตำนานการเกิด "หนองหาน" ต้นลำน้ำปาว ตำนานรักอันลึกซึ้งของหนึ่งหญิงสองชาย (ได้รับการยกย่องให้เป็น อัตลักษณ์อีสาน)
- นางคำกลอง (จำปาสี่ต้น) วรรณกรรมพื้นบ้าน ของทั้ง สปป.ลาว และภาคอีสานของไทย ให้คติเรื่องความอดทนและความกล้าหาญ สะท้อนขนบธรรมเนียม ประเพณี และศิลปวัฒนธรรมอีสาน (ได้รับการยกย่องให้เป็น อัตลักษณ์อีสาน)
- สินไซ หรือ สังข์ศิลป์ชัย วรรณกรรมพื้นบ้านที่นำเอาแก่นธรรมะเคลือบชั้นนอก แต่มีเนื้อเรื่องที่สนุกสนาน ผจญภัย มีความรัก-โลภ-โกรธ-หลง (ได้รับการยกย่องให้เป็น อัตลักษณ์อีสาน)
- พญาคันคาก เรื่องราวการต่อสู้ของพญาแถนกับพญาคันคาก ปฐมเหตุแห่งประเพณี "บุญบั้งไฟ" ฮีตเดือนหก ของชาวอีสาน
- ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ นิทานพื้นบ้านอีสานที่เกี่ยวกับการมีสติ การมีคุณธรรม และระลึกถึงพระคุณของบิดา-มารดา
- บักหูดสามเปา (ท้าวแสนปม) นิทานพื้นบ้านอีสานให้คติสอนใจ "อย่าดูคนที่ภายนอกเพียงอย่างเดียว ให้ดูที่จิตใจด้วย"
- กำพร้าไก่แก้ว (ไก่แก้วหอมฮู) นิทานพื้นบ้านอีสานที่ให้คติสอนใจว่า "กตัญญูกตเวทีต่อบุพการี จะทำให้ผู้นั้นมีความเจริญในชีวิต"
- ท้าวกาฬเกษ นิทานพื้นบ้านที่สื่อถึงความซื่อสัตย์ต่อคนรัก ความเชื่อเรื่องกรรมเก่า และคุณธรรมค้ำจุนโลก
- นิทานเสียวสวาด นิทานพื้นบานที่ปรากฏทั้งใน สปป.ลาว และภาคอีสานของไทย เป็นนิทานที่แสดงถึงความมีสตืปัญญาหลักแหลม และกล่าวถึงการมีคุณธรรม ศีลธรรม ปรัชญาแนวคิดในการปกครองให้สังคมเป็นสุข
- ท้าวก่ำกาดำ เป็นนิทานวรรณกรรมที่ย้ำสอนให้คน "เห็นคุณค่าของคน ไม่ได้อยู่ที่รูปร่างหน้าตา แต่ให้มองที่ความสามารถ" ความช่างพูด กตัญญูและได้พรรณนาความไพเราะของเสียงแคนดนตรีมหัศจรรย์ของไทอีสาน
- กำพร้าผีน้อย นิทานพื้นบ้านสองฝั่งโขง เรื่องของเด็กหนุ่มกำพร้าที่มีเพื่อนเป็นผี ที่ขยันขันแข็งทำมาหากิน เมื่อทำความดีย่อมได้ดี
- นกกระจอกน้อย นิทานพื้นบ้านอีสานคลาสิคอีกเรื่องหนึ่ง ที่มีการเล่าขานผ่านการเทศนาของพระสงฆ์ การเล่าเรื่องของผู้เฒ่าผู้แก่ และการแสดงหมอลำเรื่องต่อกลอน
- ท้าวสีทน-นางมโนราห์ นิทานพื้นบ้านร่วมในอุษาคเนย์อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นที่นิยมมาก ซึ่งถ่ายทอดผ่านทางภาษาบาลีไปเป็นภาษาอื่นๆ แล้วค่อยมีการแต่งเติมเป็นหลายสำนวนในหลายๆ ภาคของประเทศไทยเรา
- ขุนทึงขุนเทือง นิทานพื้นบ้านวรรณคดีร่วมของสองฝั่งแม่น้ำโขง ทั้งประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
- ท้าวปาจิต-นางอรพิม นิทานพื้นบ้านหรือเรื่องเล่าแบบมุขปาฐะ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในท้องถิ่นอีสาน นำมาจากชาดกนอกนิบาตเรื่อง “ปาจิตตกุมารชาดก” ใน “ปัญญาสชาดก” อธิบายที่มาของ "ชื่อบ้านนามเมือง" แถบปราสาทหินพิมายได้ดีที่สุด
- ตำนานพระมอเฒ่า นิทานพื้นบ้านของชาวไทกูย ผู้ชำนาญในเลี้ยงช้าง การล่าช้างป่ามาใช้งานตั้งแต่โบราณกาล
- ตำนานนางเงือก นิทานพื้นบ้านชาวไทยกูยและเขมร นิทานแสดงถึงคุณธรรมและความซื่อสัตย์ของมนุษย์
- หมาขี้เรื้อน นิทานพื้นบ้านชาวกูย เรื่องราวของความไม่พอใจในชาติกำเนิดไม่พิจารณาตนมีแต่อยากสบาย สุดท้ายก็หนีไม่พ้นตนเอง
- ท้าวคันธนาม (คัชนาม) นิทานพื้นบ้านเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ (อดีตชาติของพระพุทธองค์) เป็นเรื่องชาดก แต่จัดเป็น "ชาดกนอกนิบาต"