![]()
|
นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน เรื่อง นกกระจอกน้อย หรือ นกจอกน้อย หรือ ท้าววรกิต-นางจันทะจร เป็นวรรณคดีเก่าแก่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะแต่งขึ้นในสมัยใด ใครเป็นผู้แต่ง ไม่มีหลักฐานปรากฎ เป็นมรดกทางวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานอีกเรื่องหนึ่งที่มีการบันทึก (จาร) บนใบลาน แล้วเอามาเล่า (เทศน์) โดยพระสงฆ์ ตลอดถึงนำมาแสดงขับลำแบบพื้นบ้าน ทั้งโดยหมอลำกลอน และลำเรื่องต่อกลอนมาหลายยุคหลายสมัย เป็นหนึ่งในวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานคลาสสิคอีกเรื่องหนึ่ง ที่พบหลักฐานมีมาหลายฉับบที่ถูกปริวรรตจากคำกลอนในใบลานมาเป็นร้อยแก้ว เช่น
ในอดีตกาล ยังมีนกกระจอกน้อยผัวเมียคู่หนึ่ง ทำรังอาศัยอยู่ในหนวดเคราของพระฤาษีอย่างมีความสุข ทุกวันนกตัวผู้จะออกไปหาเหยื่อ ส่วนตัวเมียจะกกไข่อยู่ในรัง วันหนึ่งแม่นกฟักไข่ ส่วนพ่อนกก็ออกไปหาเหยื่อตามปกติ และได้บินไปที่สระบัวแห่งหนึ่ง พ่อนกมัวแต่หาเหยื่อในดอกบัวเพลินจนพลบค่ำ ดอกบัวก็หุบกลีบทำให้พ่อนกออกมาจากดอกบัวไม่ได้ ต้องรอดอกบัวบานในเช้าวันรุ่งขึ้นจึงออกมาได้ และรีบบินกลับรังในทันที ฝ่ายแม่นกนั้นคิดว่า ผัวนอกใจไปมีเมียใหม่ จึงได้ทะเลาะกัน ตัวผู้ได้สาบานแสดงความซื่อสัตย์ต่อเมียว่า "หากตนคิดมีชู้นอกใจเมีย ขอให้เป็นบาปเป็นกรรมอันร้ายแรงตัวเท่ากับพระฤาษี ขอให้ตกนรกอยู่ในอเวจี"
ฤาษีได้ยินนกสองตัวทุ่มเถียงกันเช่นนั้นจึงโกรธ ได้ถามนกออกไปว่า "ทำไมตนจึงมีบาป ทั้งๆ ที่บำเพ็ญเพียรมีตบะแก่กล้าดังนี้" นกตัวผู้บอกว่า "เป็นเพราะฤาษีไม่มีลูกสืบสกุล ตายไปก็ตกนรก" (เป็นคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู) ฤาษีจึงได้ไล่นกทั้งคู่ให้ไปอาศัยอยู่ที่อื่น ส่วนฤาษีตนนั้นก็ลาเพศฤาษี ไปมีชีวิตครอบครัวดังเช่นคนทั่วไป
นกสองผัวเมียได้อพยพพาลูกไปอาศัยอยู่ในป่าเลา จนอยู่มาวันหนึ่งเกิดไฟไหม้ป่า และลุกลามมาจนใกล้รังนกกระจอกคู่นี้ แม่นกได้ขอคำสัญญาจากพ่อนกว่า "ถ้าไฟไหม้มาถึงรัง ทั้งคู่จะไม่ยอมไปไหน จะยอมตายด้วยกันที่รังแห่งนี้พร้อมลูกน้อย ถ้าใครผิดคำมั่นสัญญาไม่ว่าชาติไหนจะไม่ยอมพูดกับเพศตรงข้ามอีกต่อไป" พ่อนกรับคำตามสัญญานั้น ในที่สุดไฟป่าก็ลุกลามมาถึงรังนก แต่เมื่อไฟมาถึงรัง พ่อนกทนความร้อนไม่ไหว พ่อนกเห็นจวนตัวคิดว่าอยู่ไปก็ตายเปล่า จึงผิดสัญญารีบบินหนีเอาตัวรอด แต่ก็ไปไม่พ้นถูกไฟคลอกตาย ส่วนตัวเมียยอมตายในรังท่ามกลางกองเพลิงพร้อมกับลูกน้อย
ในชาติต่อมา นกกระจกตัวผู้ได้เกิดเป็นชายหนุ่มรูปงาม โอรสของเจ้าเมืองแห่งหนึ่งนามว่า "ท้าววรกิต" ส่วนตัวเมียได้เกิดเป็นธิดาของเจ้าเมืองอีกแห่งหนึ่งนามว่า "จันทะจร" นางมีรูปร่างงดงาม แต่ไม่ยอมพูดจากับผู้ชายเลยตั้งแต่นางเกิดมา แม้แต่กับพระบิดาของนางเอง
พระบิดาของนางมีความทุกข์ร้อนใจเป็นหนักหนา จึงได้ป่าวประกาศออกไปว่า "ถ้าผู้ใดสามารถทำให้ธิดาของตนพูดกับผู้ชายได้ หรือว่านางพูดกับชายใดก็จะยกนางให้ และยกเมืองให้ปกครอง" แต่ก็ยังไม่มีใครสามารถทำได้
ท้าววรกิตได้ยินกิตติศัพทฺ์ความงามของนาง และทราบข่าวที่บิดาของนางจะยกนางให้กับผู้มีความสามารถทำให้นางพูดได้ จึงได้ไปร่ำเรียนวิชาถอดจิตกับพระฤาษีจนสำเร็จ แล้วจึงกลับไปอาศัยอยู่กับย่าจำสวน แล้วจึงให้ย่าจำสวนพาไปพบกับเจ้าเมือง เพื่ออาสาพูดกับนางจันทะจร ท้าววรกิตได้ถอดจิตไว้กับหมอนและเครื่องใช้ต่างๆ ในห้องนอนของนางจันทะจร ทำให้เครื่องใช้นั้นๆ พูดได้ และเล่านิทานให้หมอนฟัง ตอนสุดท้ายได้พูดถึงผู้หญิงต้องเสียเปรียบและพ่ายแพ้ผู้ชายตลอด แต่นางจันทะจรก็ยังไม่ยอมเอ่ยวาจาใดๆ ออกมา
ตัวท้าววรกิตนั้นจำเรื่องราวในอดีตชาติเมื่อครั้งเป็นนกกระจอกได้ จึงได้นำเรื่องนกกระจอกในอดีตชาติของตนมาเล่าให้หมอนฟัง แต่ตอนจบเรื่องแกล้งเล่าให้ผิดไปว่า "นกตัวเมียบินหนีไฟป่าไปเสียก่อน ปล่อยให้ตัวเองกับลูกน้อยถูกไฟคลอกตาย" คำพูดดังกล่าวแทงใจดำของนางจันทะจรซึ่งระลึกชาติได้เช่นกัน ทำให้นางโกรธมาก จึงพูดโต้แย้งออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจว่า "เรื่องที่ท้าววรกิตพูดนั้นไม่เป็นความจริง" เมื่อพูดเพียงเท่านั้นเหล่าเสนาอำมาตย์ที่แอบดูเหตุการณ์อยู่ ก็เอาฆ้องกลองมาตีเสียงดังสนั่นก้องเป็นสัญญาณว่า นางจันทะจรได้พูดกับผู้ชายแล้ว
พระบิดาของนางรู้สึกยินดี ที่นางเอื้อนเอ่ยวาจาออกมา จึงได้จัดพิธีอภิเษกสมรสระหว่างนางจันทะจรกับท้าววรกิต พร้อมทั้งยกราชสมบัติทั้งหมดให้ท้าววรกิตได้ปกครองบ้านเมืองต่อไป และทั้งคู่ก็ครองรักปกครองไพร่ฟ้าประชาชนอยู่อย่างศานติสุขต่อมา...
ลำเรื่องต่อกลอน เรื่อง นกกระจอกน้อย - คณะเพชรอุบล (โดย ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม และคณะ)