![]()
|
ผ่าน พ.ศ. ใหม่มาเข้าเดือนที่สามแล้ว ภาคอีสานของเราก็ยังคงสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม ปฏิบัติตามฮีต ๑๒ คอง ๑๔ เดือนนี้เริ่มเห็นต้นไม้หลายผลิใบอ่อนบ้างก็ออกดอกสีสันสวยงาม ดอกคูณก็เริ่มจะออกดอกตูมรอเดือนเมษายน ดอกลำดวนสีเหลืองหอมก็เริ่มสะพรั่งเต็มต้นแล้ว บ่งบอกถึงกาลเวลาที่ผันเปลี่ยนเวียนมาอีกรอบ มีข่าวงานโฮมบุญที่น่าสนใจหลายงานมาบอกดังนี้
จังหวัดร้อยเอ็ด เมืองเกินร้อย มีความโดดเด่นในการปฏิบัติตาม ฮีต 12 คอง 14 ที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมานานจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเป็นเมืองเก่าแก่ และมีความเจริญรุ่งเรืองมานาน มีความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นที่โดดเด่น จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นจุดหมายปลายทางของนักบุญ และนักท่องเที่ยวเชิงธรรมะ เป็นเมืองอารยธรรมที่ต้องเดินทางมาเยือนเพื่อปฏิบัติธรรม ไหว้พระ สักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จังหวัดร้อยเอ็ดมีพุทธสถานเก่าแก่จากอดีตสู่ปัจจุบัน
ชาวจังหวัดร้อยเอ็ด จึงอยากให้พุทธศาสนิกชนทั่วทุกสารทิศ ได้มีโอกาสมาเยือนเมืองร้อยเอ็ด โดยเฉพาะงานประเพณี ฮีตเดือนสี่ ที่จะเกิดขึ้นช่วงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นงานบุญใหญ่ ที่ชาวร้อยเอ็ดสืบทอดกันมาทุกปีกับงาน “มหาทานบารมี ประเพณีบุญผะเหวด” หรือ “บุญมหาชาติ” มาร่วมสร้างศรัทธาบารมีทาน รับอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ กับการฟังเทศน์มหาชาติให้ครบทั้ง 13 กัณฑ์ สืบสานตำนาน “มหาเวสสันดร” มหาชาดก ชาติที่ 10 ก่อนกำเนิดพระพุทธเจ้า
การจัดงาน “มหาทานบารมี ประเพณีบุญผะเหวด ร้อยเอ็ด ประจำปี 2568" กำหนดการจัดงานขึ้น ระหว่างวันที่ 7-9 มีนาคม 2568 อย่างยิ่งใหญ่ ชมขบวนแห่ งานมหาทานบารมี 13 กัณฑ์ ณ บริเวณลานสาเกตนคร สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ บึงพลาญชัย อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งทางจังหวัดได้ให้ส่วนราชการทุกหน่วยงาน ด้ร่วมใจกันจัดขึ้น ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา ร่วมรณรงค์แต่งกายชุดไทยผ้าลายสาเกต เที่ยวงานบุญผะเหวดประเพณี ประดับธงผะเหวดตามสถานที่ราชการ อาคารบ้านเรือนตามความเหมาะสม
มา “กินข้าวปุ้น เอาบุญผะเหวด ฟังเทศน์มหาชาติ” ร่วมขบวนแห่กัณฑ์จอบกัณฑ์หลอน และสัมผัสวิถีชีวิตของชาวจังหวัดร้อยเอ็ด จะได้พบกับการประดับธงผะเหวด พวงดอกสะแบง มาลัยข้าวสาร มาลัยข้าวตอก ธงใยแมงมุม ดอกโน ซึ่งเป็นเครื่องพันสัญลักษณ์ของงานบุญผะเหวดประดับอย่างสวยงามทั่วทั้งเมือง ได้รับประทาน “ข้าวปุ้น” อาหารงานบุญอีสานฟรีตลอดทั้งงาน
กำหนดการจัดงาน : 7-9 มีนาคม 2568
สถานที่จัดงาน : ณ บริเวณลานสาเกตนคร สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ บึงพลาญชัย อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด
จังหวัดศรีสะเกษ ได้ชื่อว่า "เมืองดอกลำดวน" เป็นเอกลักษณ์ของดอกไม้นี้ที่จะบานและส่งกลิ่นหอมในช่วงต้นเดือนมีนาคม จนมีงานเทศกาลดอกลำดวนบานทุกปี และที่จังหวัดนี้ยังมีชนเผ่าไทพื้นเมือง 4 เผ่า คือ ลาว เขมร ส่วย และเยอ อาศัยอยู่แต่ดั้งเดิม จึงทำให้เกิดงานสำคัญขึ้นในทุกปีคืองาน "เทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่า ไทศรีสะเกษ" ไฮไลต์เด่นคือ การเปิดตัวผ้าทอเบญจศรี กลิ่นดอกลำดวน ผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดศรีสะเกษผนวกกับนาโนเทคโนโลยี ทำให้ได้ผ้าที่นุ่มและทนทาน และพิเศษเพิ่มกลิ่นหอมของดอกลำดวน ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดของจังหวัดศรีสะเกษ สร้างอัตลักษณ์ให้กับผ้าทอพื้นเมือง และเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ตลาดสากล
และการแสดงแสง-สี-เสียงที่งดงามตระการตา “อารยธรรมแห่งศรัทธา มนตรา ศรีพฤทเธศวร ตอน รอยบรรพชน” ซึ่งเป็นการแสดงละครอิงประวัติศาสตร์ โชว์ความงามของอาณาจักรขอมและเมืองดอกลำดวน ที่ยิ่งใหญ่ งดงาม ชมวัฒนธรรมสี่เผ่า ดอกลำดวนบานเต็มสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ณ บริเวณสวนสมเด็จศรีนครินทร์ศรีสะเกษ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ มีต้นลำดวน ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษ กว่า 50,000 ต้น ผลิดอกเบ่งบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมไปทั่วสวนฯ จึงขอเชิญชวนพี่น้องนักท่องเที่ยวไปชมความสวยงามของดอกลำดวน สีเหลืองอร่าม พร้อมฃมการแสดงของ 4 ชนเผ่า คือ ลาว เขมร ส่วย และเยอ แล้วท่านจะหลงรักดอกลำดวน…ดอกเล็กๆ สีเหลือง ที่ซ่อนความหอม ความน่ารัก ของเรื่องราวศรีสะเกษไว้อย่างสวยงาม
ร่วมรับประทานอาหาร "พาแลงไก่ย่างไม้มะดัน" ของเด่นของดีศรีสะเกษ เกรดพรีเมี่ยม ที่มาจากอำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษแท้ๆ รับประกันความอร่อย ด้วยเอกลักษณ์การใช้ไม้มะดันสด ที่มีความเปรี้ยว หนีบไก่ เวลาย่าง ความเปรี้ยวของเนื้อไม้มะดันจะค่อยๆ ซึมเข้าไปผสมเนื้อไก่ แล้วทำให้เนื้อไก่ย่างมีรสเปรี้ยวกลมกล่อม ผิวนอกตัวไก่ย่างจะสีเหลืองสวยงาม ช่วยดับกลิ่นคาว และเพิ่มความหอมให้ได้รสชาติที่อร่อยมากขึ้น ใน “เทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไท ศรีสะเกษ 2568” ระหว่างวันที่ 12-16 มีนาคม 2568
เฉพาะการแสดงแสง-สี-เสียงที่งดงามตระการตา ““ศรีพฤทเธศวร”” ซึ่งเป็นการแสดงละครอิงประวัติศาสตร์ เพื่อบอกเล่ากล่าวขานถึงประวัติศาสตร์โบราณของจังหวัดศรีสะเกษ แสดงให้เห็นถึงอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ และประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า ที่เคยเจริญรุ่งเรืองมานับ 1,000 ปี และวีระกรรมของบรรพชนคนศรีสะเกษที่เคยร่วมสร้างบ้านแปลงเมือง ร่วมกับกษัตริย์ขอมโบราณ โดยเฉพาะ พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จนเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในจารึก และเป็นอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ ที่เชื่อมโยงความเป็นเมืองศรีสะเกษจากอดีตถึงปัจจุบัน
กำหนดการจัดงาน : 12-15 มีนาคม 2568
สถานที่จัดงาน : ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)