foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

tao kantanam header

นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน เรื่องราวของ ท้าวคันธรรม หรือ ท้าวคชนาม หรือ คัชนาม เป็นนิทานพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังตรงกับตำนานเรื่อง "คันธนามโพธิ์สัตว์ชาดก" อันเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าของเรามาเสวยชาติสร้างบารมี ซึ่งมีหลายสำนวนและมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในรายละเอียด เป็นเรื่องราวของชายผู้หนึ่งชื่อ ท้าวคันธรรม หรือ ท้าวคชนาม หรือ คัชนาม ที่มีพละกำลังมหาศาล เพราะเป็นลูกช้าง (ที่พระอินทร์แปลงโฉมมา) ในนิทานได้กล่าวถึงการผจญภัยของชายหนุ่มผู้นี้ การสู้รบ การประลองกำลังจนได้ชัยชนะ ของท้าวคันธนาม การออกเดินทางไปตามหาพ่อที่เป็นพญาช้าง ซึ่งพบว่ามีอยู่หลายสำนวน เช่น

  • สำนวนอักษรธรรม 1 ผูก วัดท่าลาด ตำบลท่าลาด อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี (เป็นเรื่องย่อ)
  • สำนวนวัดขุมคำ ตําบลแก้งเค็ง อําเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี (คล้ายสำนวนแรก แต่แตกต่างกันในส่วนสถานที่ในเรื่อง ที่ผูกเอาสถานที่ในท้องถิ่นเป็นหลัก)
  • ปราสาทกู่คันธนาม บ้านคันธนาม ตำบลยางคำ อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด (เรื่องยาวที่ถูกเล่าขานมากที่สุด ครอบคลุมอาณาเขตล้านช้างหรือ สปป.ลาว ภาคอีสาน และประเทศกัมพูชา)
  • ท้าวคัชนาม ในหนังสือ "สารานุกรมวัฒนธรรมอีสาน เล่ม 5" โดย ธวัช ปุณโณทก, พ.ศ. 2542 หน้า 1616-1618

จึงมานำเสนอบันทึกไว้ที่นี่โดยเลือกเอาสำนวนที่ 3 เรื่อง “ท้าวคันธนาม” หรือ ท้าวคัชนาม เรื่องราวของพระโพธิสัตว์ (อดีตชาติของพระพุทธองค์) เป็นเรื่องชาดก แต่จัดเป็น "ชาดกนอกนิบาต" กล่าวคือ ได้เล่าถึงความเป็นมาเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น “คันธนโพธิสัตว์” ซึ่งเกี่ยวพันและผูกพันกับพี่น้อง 3 ชนชาติในแถบอีสานนี้คือ ไทย ลาว และเขมร อย่างใกล้ชิด ชาวอีสานนำมาเป็นนิทานอธิบายความเชื่อ ภูมิบ้าน นามเมือง อีกเรื่องหนึ่ง โดยอธิบายที่มาของชื่อภูเขาสำคัญ ชื่อสถานที่ในภาคอีสาน เนื้อเรื่อง "ท้าวคัชนาม" นี้เป็นเรื่องขนาดยาวหลายตอนจบ และบางตอนก็คล้ายกับเรื่อง “อ้ายเจ็ดทะนง” ของภาคกลาง และเรื่อง “อ้ายตะเลิ้กเคิ่ก” ของภาคเหนือ และเรื่อง “อ้ายเจ็ดจา” ของภาคใต้ ส่วนชื่อ ภูมบ้าน นามเมือง จะอธิบายในตอนท้ายของนิทานนี้

ท้าวคันธนาม (คัชนาม)

กำเนิดท้าวคันธนาม

ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน “เมืองศรีสาเกตุ” มีสาวทึนทึก (หญิงไม่มีสามี และรูปร่างหน้าตาไม่สวยงาม) วัยกลางคน ทำมาหากินอยู่ในหมู่บ้าน โดยนางมีที่นาอยู่ตรงบริเวณตรงกลางของที่นาชาวบ้านคนอื่นๆ ซึ่งรายล้อมอยู่โดยรอบ จนกาลต่อมา ได้ถึงกำหนดที่จะมี เทวบุตร (พระโพธิสัตว์) จุติมาปฏิสนธิในโลกมนุษย์ พอถึงหน้าเก็บเกี่ยวข้าว พระอินทร์ก็แปลงร่างมาเป็น ช้างใหญ่ (พญาช้างฉัททันต์) ไปบุกรุกเหยียบย่ำข้าวในนาของสาวทึนทึกนางนั้น จนบรรดาพืชพันธุ์เสียหายหมด แล้วก็หนีไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยบันดาลรอยเท้าไว้ให้เห็น

kantanam 02

ครั้นรุ่งเช้า นางมาที่ทุ่งนาเห็นความเสียหายเข้าก็เสียใจ และโกรธช้างนั้นมาก จึงตกลงใจเดินทางตามหาสัตว์ที่มาทำลายข้าวในนาของนาง ระหว่างเดินทางด้วยความเหนื่อยและหิวกระหาย นางก็ได้กินน้ำในรอยเท้าช้างแปลงตัวนั้น ต่อมานางก็เกิดตั้งครรภ์ขึ้น ประมาณสิบเดือนจึงคลอดได้เป็นบุตรชาย มีรูปร่างแข็งแรง มี ดาบศรีคันชัย (ศรีขรรค์ชัย) ติดตัวมาด้วย นางตั้งชื่อลูกชายว่า “คันธนาม” หรือ “คัชนาม” (คช อ่านว่า คะชะ หรือ คัด-ชะ แปลว่า ช้าง) ลูกชายได้ช่วยเหลือแม่เฒ่าทำงานตั้งแต่เล็กๆ

เมื่อคัชนามอายุได้ 7 ปี ในวันหนึ่งคัชนามจึงถามถึงบิดา แม่เฒ่าก็เล่าให้ฟังและพาลูกชายไปที่ป่าแห่งนั้น เพื่อดูรอยเท้าช้างที่แม่เฒ่าได้ดื่มน้ำ ขณะนั้นได้พบยักษ์ ซึ่งยักษ์จะเข้ามาทำร้ายแม่เฒ่า คัชนามจึงต่อสู้กับยักษ์ตนนั้น และใช้ดาบศรีคันชัยสู้กับยักษ์ จนยักษ์นั้นยอมแพ้ จึงได้มอบ “น้ำเต้าวิเศษ” ให้ และยังบอกแหล่งซ่อน “ขุมทอง” ให้อีกด้วย ทั้งสองแม่ลูกจึงไปค้นหาแหล่งขุมทองนั้น ก็พบทองคำเป็นจำนวนมาก จึงทำให้สองแม่ลูกมีฐานะดีขึ้นและแบ่งทองคำให้เพื่อนบ้านทุกคน

kantanam 03

เมื่อท้าวคัชนามอายุ 16 ปี มีข่าวเล่าลือว่า ท้าวคัชนามเป็นคนมีกำลังมากจนสามารถปราบยักษ์ได้ ล่วงรู้ไปถึง "พระยาศรีสาเกต" ผู้เป็นเจ้าเมือง จึงเรียกคัชนามเข้าเฝ้า แล้วสั่งให้ทดลองกำลังโดยการถอนต้นตาล 2 ต้นที่ขวางทางเสด็จ ซึ่งท้าวคัชนามก็ถอนได้ แล้วยังเหาะไปในอากาศกวัดแกว่งต้นตาลนั้นด้วยกำลัง พระยาศรีสาเกตเห็นดังนั้น จึงแต่งตั้งให้เป็นอุปราชและสร้างปราสาทให้มาอยู่ในเมือง ท้าวคัชนามก็พาแม่เฒ่ามาอยู่ด้วย และได้ใช้น้ำเต้าวิเศษรดบนร่างกายมารดา จนแม่เฒ่ากลับร่างเป็นสาวรุ่นสวยงามมาก จนเจ้าเมืองมาสู่ขอไปเป็นพระมเหสี

ตามหาบิดา

ในวันหนึ่งท้าวคัชนามก็ขอลาแม่ไปติดตามหาบิดา ท้าวได้เดินทางตามรอยเท้าช้างไปยัง “เมืองอินทปัตถา” ระหว่างทางไปพบ “ชายร้อยเล่มเกวียน” ที่กำลังลากเกวียน 100 เล่ม ด้วยกำลังตัวเพียงคนเดียว ท้าวคัชนามจึงคิดประลองกำลังโดยไปดึงเกวียนเล่มท้าย ชายร้อยเล่มเกวียนลากเกวียนไม่ไหวจึงหันมาดูข้างหลัง พบท้าวคัชนามจึงเกิดการต่อสู้กัน ชายร้อยเล่มเกวียนสู้ไม่ได้จึงขอเป็นทาสติดตามไปด้วย ต่อมาพบ “ชายไม้ร้อยกอ” กำลังลากไม้ร้อยกอ ท้าวคัชนามก็ประลองกำลังอีกด้วยการจับไม้ที่กำลังถูกลากอยู่นั้น  ชายไม้ร้อยกอโกรธที่ถูกขัดจังหวะจึงต่อสู้กัน ท้าวคัชนามก็ชนะอีก ชายไม้ร้อยกอจึงยอมเป็นทาสติดตามไปด้วยเช่นกัน

kantanam 01

ทั้งสามก็เดินทางไปตามหาบิดาท้าวคัชนามต่อไป จนกระทั่งเดินทางไปถึงป่าใหญ่รกทึบ จึงหยุดพักด้วยความเหนื่อยและหิวอาหาร พอดีเห็นตัว "จีนายโม้" (ตัวแมลงคล้ายจิ้งหรีด) กำลังขุดขุ้ยดิน ดีดกระเด็น ข้ามแม่น้ำโขงไปตกไกลถึง เมืองเวียงจันทน์ (ยังเห็นกลายเป็นก้อนหินจำนวนมากกองอยู่ในปัจจุบัน บริเวณที่เป็นค่ายทหารลาวเรียกว่า “ค่ายจีนายโม้” เพราะมีหินซึ่งกลายมาจากขี้ขุยดิน ที่ตัวจิ้งหรีดยักษ์ขุดกระเด็นมาตกไว้เมื่อครั้งกระโน้น) ท้าวคัชนามจึงให้ชายทั้งสองไปจับจิ้งหรีดยักษ์มาทำอาหาร แต่ชายทั้งสองมีกำลังสู้จิ้งหรีดยักษ์ไม่ได้ ถูกดีดกระเด็นไปไกล ท้าวคัชนามจึงลงไปในรูจับได้ขาข้างหนึ่ง ตัวจิ้งหรีดยักษ์พยายามดีดจนขาหลุดออกมาข้างหนึ่ง

เมื่อท้าวคัชนามได้ขาจิ้งหรีด จึงเดินหาเพื่อนทั้งสองก็เห็นนอนสลบอยู่ไม่ไกลนัก ท้าวคัชนามเอาน้ำในลูกน้ำเต้ารดลงที่ร่างชายทั้งสองก็ฟื้นขึ้นมา ท้าวคัชนามจึงให้ไปขอไฟที่กระท่อมที่อยู่ไม่ไกลนัก เมื่อชายไม้ร้อยกอไปถึงกระท่อมก็พบ "ยักษ์" เจ้าของกระท่อม ถูกยักษ์จับหักขาขังไว้ในสุ่มเหล็ก ครั้นให้ชายร้อยเล่มเกวียนไปตามก็ถูกยักษ์จับหักขาเช่นเดียวกัน ท้าวคัชนามคอยอยู่นานมากจึงติดตามไปดู เห็นเพื่อนผู้มีกำลังถูกขังอยู่ในสุ่มเหล็ก รู้ว่ายักษ์ตนนี้มีฤทธิ์มากจึงใช้ดาบศรีคันชัยสู้กับยักษ์ตนนั้น ยักษ์สู้ไม่ได้จึงร้องขอชีวิตไว้ ยักษ์จึงให้ไม้เท้าวิเศษ “กกชี้ตาย ปลายชี้เป็น” (คือ หากใช้ด้านรากชี้คนนั้นจะตาย เมื่อใช้ด้านปลายชี้คนนั้นจะฟื้นคืนชีพ) และให้ "พิณวิเศษ" แก่ท้าวคัชนามอีกด้วย แล้วท้าวคัชนามได้ใช้น้ำในลูกน้ำเต้ารดเพื่อนทั้งสอง แล้วทั้งสองก็หายจากการขาหัก ทั้งสามจึงย่างขาจิ้งหรีดกินเป็นอาหารจนอิ่ม แล้วจึงเดินทางต่อไป

ฆ่างูซวงครองเมืองขวางทะบุรี

ทั้งสามเดินทางเข้าเมือง "ขวางทะบุรี" พบว่า เป็นเมืองร้างไม่มีผู้คนอยู่เลย พอถึงกลางเมืองพบกลองใบใหญ่ใบหนึ่ง จึงตีกลองเพื่อเรียกให้ผู้คนออกมาพบ ครั้งตีกลองก็ได้ยินเสียงผู้หญิงร้องอยู่ในนั้น จึงใช้มีดกรีดหน้ากลองและพบหญิงสาว จึงช่วยออกมาแล้วถามความเป็นไป นางเล่าว่านางชื่อ “กองสี” เป็นธิดาเจ้าเมือง ซึ่งเจ้าเมืองนำตนมาซ่อนไว้ให้พ้นจาก "งูซวง" (งูผีของพระยาแถน) ส่วนเจ้าเมืองและไพร่พลถูกงูซวงของพระยาแถนกินหมดแล้ว เนื่องจากเจ้าเมืองและชาวเมืองประพฤติตนไม่อยู่ในจารีต เจ้าเมืองไม่อยู่ในทศพิธราชธรรม และชาวเมืองยิงนกตกปลา ฆ่าสัตว์ ทำบาป พระยาแถนจึงปล่อยงูซวงออกมากินคนจนหมดเมือง

kantanam 04

นางบอกว่าถ้าหากก่อไฟขึ้นงูซวงเห็นแสงไฟจะลงมาอีก ท้าวคัชนามจึงก่อกองไฟใหญ่ให้แสงส่องถึงเมืองพระยาแถน ครั้นงูซวงลงมาจำนวนมากก็ถูกท้าวคัชนามและสหายช่วยกันฆ่าตายหมด ท้าวคัชนามจึงช่วยชีวิตชาวเมืองขวางทะบุรี โดยใช้ "ไม้เท้ากกชี้ตายปลายชี้เป็น" ชี้ไปยังกองกระดูกคน ผู้คนชาวเมืองก็ฟื้นคืนชีพทุกคน ส่วนกระดูกงูนั้นไหลตามน้ำไป เมื่อฝนตกใหญ่พัดพาไปติดที่ดักปลาของยักษ์ซึ่งนำก้อนหินใหญ่ๆ มาทำ "ลี่ดักปลา" อยู่กลางแม่น้ำโขง เมื่อกระดูกงูลอยมาติดจำนวนมากจึงเรียกว่า “แก่งลี่ผี” และเพี้ยนเสียงเป็น “แก่งหลี่ผี” ในปัจจุบัน ส่วนกองไฟที่ท้าวคัชนามก่อนั้น เมื่อถูกฝนตกใหญ่จึงดับ กลายเป็นภูเขาเรียกว่า “ดงพระยาไฟ” แล้วเปลี่ยนเป็น “ดงพระยาเย็น” ในภายหลัง เมื่อเจ้าเมืองขวางทะบุรีฟื้นแล้วก็ดีพระทัย จึงยกเมืองให้ท้าวคัชนามพร้อมทั้งยกนางกองสีให้เป็นมเหสี ท้าวคัชนามจึงแต่งตั้งให้ ชายร้อยกอเป็น อุปราช และ ชายร้อยเล่มเกวียนเป็น แสนเมือง

สู่เมืองจัมปากนคร

อยู่ไม่นาน ท้าวคัชนาม ก็ต้องเดินทางติดตามบิดาของตนต่อไป โดยฝากเมืองขวางทะบุรีให้เพื่อนทั้งสองเป็นผู้ดูแล โดยท้าวคัชนามได้ไปอยู่กับแม่เฒ่าที่ "เมืองจำปานคร" หรือ "จัมปากนคร" ได้ “นางสีไล” ธิดามหาเศรษฐีเมืองนั้นเป็นภรรยา มีบุตรด้วยกันคนหนึ่งชื่อ “คัชเนก” วันหนึ่ง พระยาจำปา เจ้าเมืองนี้เสด็จประพาสป่าและได้พบกับยักษ์ และยักษ์นั้นจับพระยาจำปาได้ พระยาจำปาร้องขอชีวิต ยักษ์จึงแลกเปลี่ยนให้หามนุษย์มาให้ยักษ์กินวันละคน พระยาจำปารับคำแล้วเสด็จกลับเมือง

พระยาจำปาก็ทำตามสัญญา โดยสั่งให้นำนักโทษไปไว้ที่หอผีกลางเมืองตามที่ยักษ์สั่งไว้ เพื่อที่ยักษ์จะได้นำไปกินเป็นอาหาร ครั้นเมื่อหมดนักโทษในคุกแล้ว พระยาจำปาคิดว่า คงไม่สิ้นเวรสิ้นกรรม หากนำคนที่ไม่ผิดไปให้ยักษ์กิน จึงคิดว่า ตนเองควรจะไปเป็นอาหารยักษ์เสียจะได้สิ้นเวรสิ้นกรรมซะที ข่าวรู้ถึง “นางสีดา” ธิดาคนเดียวของพระยาจำปา นางจึงขออาสาพระบิดาไปเป็นอาหารยักษ์แทน พระบิดาจำใจต้องยินยอมนาง เพราะนางมีพระประสงค์และกตัญญูแรงกล้ามาก มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่แล้ว นางจึงขอเบิกเงินในท้องพระคลัง ทำบุญและแจกทานแก่ไพร่ฟ้าประชาชน ก่อนที่จะอาสาไปเป็นอาหารยักษ์ ชาวเมืองทราบข่าวต่างอาลัยพระธิดาพากันร่ำไห้กันทั้งเมือง

kantanam 05

ท้าวคัชนาม เห็นประชาชนเมืองจำปาร่ำไห้จึงไปถามแม่เฒ่า แล้วแม่เฒ่าจึงเล่าเรื่องให้ฟัง พอตกดึกท้าวคัชนามจึงเหาะไปหอผีกลางเมืองเปิดประตูเข้าไปหานางสีดา นางสีดาตกใจกลัวคิดว่าเป็นยักษ์ ท้าวคัชนามจึงแสดงตนทันที แล้วกล่าววาจาปลอบนางไม่ต้องกลัวยักษ์ ครั้นเมื่อยักษ์มาถึงท้าวคัชนามได้ฆ่ายักษ์นั้นตาย แล้วนำซากไปทิ้งไว้ที่หนองน้ำ ท้าวคัชนามกลับมาหานางสีดาที่หอผีอีกครั้ง และนางได้ขอร้องให้พานางไปส่งตำหนัก ท้าวคัชนามกล่าวว่าเป็นการไม่บังควร ผู้คนจะนินทาว่านางทำมายาคบชู้ได้ ท้าวคัชนามจึงลานางกลับด้วยความอาลัย ก่อนจากกันท้าวคัชนามจึงตัด “ผ้าแสนคำ” ไว้ให้นางสีดาดูต่างหน้า ส่วนนางสีดาก็ได้ให้แหวนตอบแทน แล้วทั้งสองก็ลาจากกันอย่างอาลัยอาวรณ์ในกันและกัน

ครั้นรุ่งเช้าชายหาหญ้าคนหนึ่งไปพบซากยักษ์ที่หนองน้ำ ก็ร้องประกาศว่ายักษ์ตายแล้ว พระยาจำปาทราบดังนั้นก็ดีพระทัยมาก จึงให้ไปรับนางสีดากลับเข้าวัง นางสีดาได้เล่าเรื่องชายผู้มีอิทธิฤทธิ์ให้ฟัง พระยาจำปาจึงให้ประกาศหาชายผู้มีฤทธิ์คนนั้น สั่งให้ทหารไปเกณฑ์ชายหนุ่มทั้งเมืองให้นำผ้ามาต่อกับชายผ้าที่ระลึกของนางสีดา มีผู้อาสามากันมากมาย แต่ไม่มีใครมีผ้าเป็นผืนเดียวกัน ทหารจึงทูลว่ามีชายหนุ่มที่อยู่อาศัยกับแม่เฒ่าในสวนไม่ยอมมา พระยาจำปาจึงให้ทหารไปตามถึงสามครั้ง ครั้งหลังพระยาจำปาจะฆ่าทหารถ้านำตัวมาไม่ได้ ท้าวคัชนามเห็นดังนั้นจึงมาที่ท้องพระโรง และนำผ้าแสนคำผืนนั้นมาต่อกับผ้าของนางสีดา

พระยาจำปาเห็นดังนั้นก็ดีพระทัยที่เห็น "ท้าวคัชนาม" บุรุษผู้มีฤทธิ์ และมีบุญญาธิการมาช่วยปราบยุคเข็ญ เจ้าเมืองจึงยกพระราชธิดานามว่า “พระนางสีดา” ให้เป็นมเหสีฝ่ายขวา และให้ “นางสีไล” ลูกสาวมหาเศรษฐีเมืองนี้เป็นมเหสีฝ่ายซ้ายอีกด้วย โดยพระยาจำปาจัดงานสมโภชในการครองเมืองของท้าวคัชนามด้วย ส่วนซากยักษ์นั้นท้าวคัชนาม ได้นำไปทิ้งในหนองน้ำเรียกว่า “หนองแช่” ในปัจจุบัน กระดูกของยักษ์ส่วนหนึ่งกลายเป็นนาค 5 ตัวในแม่น้ำโขง และกระดูกชิ้นเล็กๆ กลายเป็นปลาบึก ปลาเลิม ในแม่น้ำโขงนั่นเอง

kantanam 06

พบบิดาในป่าหิมพานต์

ต่อมาท้าวคันธนามได้ล่ำลาเจ้าเมือง พระมเหสีทั้งสองและชาวเมือง ออกติดตามหาบิดาพญาช้างฉัททันต์ต่อไป จนเข้าสู่เขต “ป่าหิมพานต์” ก็ได้พบกับบิดาพญาช้างสมปรารถนา พญาช้างได้สั่งสอนลูกชายต่างๆ นานา และได้มอบงาทั้งคู่ให้ เมื่อพญาช้างสิ้นอายุขัยแล้ว ท้าวคันธนามก็จัดการทำพิธีศพให้บิดา เสร็จแล้วก็ได้ขี่ช้างบริวารเดินทางกลับบ้านเมืองของตน

ครั้นเมื่อเดินทางถึง “เมืองตักสิลา” ก็ได้ทำสงครามกับเจ้าเมืองนี้ และก็ได้รับชัยชนะ และก็ได้ไว้ชีวิตเจ้าเมืองนี้ด้วย ส่วน “ท้าวตักสิลา” นั้นเป็นคนเจ้าเล่ห์ หลอกตั้งให้ท้าวคันธนามเป็นครูอาจารย์ เพื่อช่วยสอนศิลปศาสตร์ให้ แล้วก็หลอกเอาไม้เท้าแล้วชี้ให้ท้าวคันธนามกลายเป็นแท่งหินอยู่ ณ เมืองตักสิลานั้นเอง

ฝ่ายเมืองจัมปากนคร บัดนี้พระโอรสของท้าวคันธนามที่เกิดจากนางสีไลชื่อว่า “คัชเนก” และ “คัชจันทร์” ซึ่งเป็นโอรสที่เกิดจากนางสีดา ได้โตเป็นหนุ่มทั้งคู่ ก็คิดถึงท้าวคันธนามพระบิดา จึงล่ำลาพระมารดาออกติดตามหาพระบิดา จนมาถึงเมืองตักสิลา จึงได้รบกับเจ้าเมืองและก็ชนะ แล้วก็ได้ไม้เท้าวิเศษกลับคืนมา จึงใช้ไม้เท้าชี้แท่งหินให้พระบิดาคันธนามฟื้นคืนมา แล้วก็ยกเมืองตักสิลาให้พระบิดาปกครอง พร้อมกับทูลเชิญพระมารดาของทั้งสองพระองค์มาอยู่ที่เมืองตักสิลานี้ด้วยกัน แล้วโอรสทั้งสองก็ขอลาพระบิดาและพระมารดาเดินทางกลับ เมืองจัมปากนคร ของตนเองต่อไป

เมื่อกลับมาถึงเมืองแล้ว โอรสทั้งสองก็เกิดทะเลาะกันเพื่อแย่งชิงไม้เท้าวิเศษนั้น ซึ่งพระโอรสทั้งสองนี้มีอิทธิฤทธิ์และปาฏิหาริย์มาก หากรบพุ่งกันจะบรรลัยวอดวายและสะเทือนไปถึงพรหมโลกเลยทีเดียว จนพระอินทร์ผู้เป็นปู่ได้สั่งให้พญาแถนส่ง “ลมกระดิงหลวง” ลงมาห้ามทัพ พระยาแถนเล็งเห็นว่า ท้าวคัชเนก สิ้นบุญแล้ว จึงบันดาลลมมีดแถ (มีดโกน) ไปยังกองทัพของสองพี่น้องนั้น ลมมีดแถฟันท้าวคัชเนกสิ้นชีวิตตกลงบนแผ่นดิน ร่างท้าวคัชเนกกลายเป็นภูเขาชื่อว่า “ภูจอมศรี” เป็นภูเขาอยู่กลางเมืองหลวงพระบาง ในประเทศลาวในปัจจุบัน ส่วนศีรษะตกลงดินกลายเป็นพระยานาค ส่วนเลือดที่ตกลงมาเป็นก้อนสีแดง เรียกว่า “ภูครั่ง” ร่างกายส่วนหนึ่งตกลงมากระทบแผ่นดินเป็นหลุมใหญ่ในหุบเขา ภายหลังกลายเป็นเมือง เรียกว่า “เมืองหล่ม” ซึ่งก็คือ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ในเขตประเทศไทย

ส่วน “ท้าวคัชจันทร์” ได้ทำการต่อสู้จนเอาชนะลมนั้นได้ จึงได้รับการอภิเษกขึ้นเป็น “พระเจ้าจักรพรรดิ” ขึ้นครองเมืองจัมปากนครอย่างสงบสุขจวบจนสิ้นอายุขัย

กู่คันธนาม อโรคยาศาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 บ้านคันธนาม อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด

เรื่องราวของนิทานพื้นบ้าน "ท้าวคันธนาม" ก็จบลงเพียงนี้ จากนิทานดังกล่าวนี้ได้ปรากฏ ภูมิบ้าน นามเมือง และสถานที่ต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์ สอดคล้องกันและยังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ดังนี้

  • “ทุ่งนาข้าว” ของสาวทึนทึกมารดาของท้าวคันธนาม ก็คือ “ทุ่งกุลาร้องให้” ของประเทศไทยในปัจจุบัน
  • "หมู่บ้านช้าง” อยู่ที่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ที่ยังมีการเลี้ยงช้างกันอยู่
  • “เมืองศรีสาเกตุ” ก็คือ เมืองหนึ่งในเขต “จังหวัดร้อยเอ็ด” ของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งมีการเรียกขานอีกชื่อหนึ่งว่า เมืองสาเกตุนคร
  • “เมืองขวางทะบุรี” ก็เป็นเมืองร้างเมืองหนึ่งในบริเวณที่เรียกว่า ดงพญาไฟ หรือ ดงพญาเย็น ในเขต “จังหวัดนครราชสีมา” หรือ เมืองโคราช ของประเทศไทยในปัจจุบัน
  • “ดงพญาไฟ” ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ดงพญาเย็น” ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการเดินรถไฟ สายกรุงเทพ-นครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2443 ขณะที่เสด็จกลับทางรถไฟผ่านดงพญาไฟ ทรงมีพระราชดำรัสให้เปลี่ยนชื่อ ดงพญาไฟ เป็น ดงพญาเย็น เพื่อความเป็นสิริมงคล และความร่มเย็นเป็นสุขอาณาประชาราษฎร์ เนื่องจากชื่อดงพญาไฟฟังดูน่ากลัว
  • "ป่าหิมพานต์" ในนิทานน่าจะหมายถึงป่ารกทึบมีช้างป่าอาศัยอยู่จำนวนมาก สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นป่าทางเขตเขมรต่ำในประเทศกัมพูชา อันเป็นสถานที่ล่าช้างป่าของพรานช้างในอดีต
  • “เมืองอินทปัตถา” ก็คือ “กรุงพนมเปญ” ในประเทศกัมพูชาปัจจุบันนั้นเอง
  • “เมืองจัมปากนาคบุรี” ก็คือ “นครจำปาศักดิ์” ในประเทศสปป. ลาว ในปัจจุบัน
  • “โบราณสถานกู่คันธนาม” แห่งหมู่บ้านคันธนาม ตำบลยางคำ อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด ก็ยังมีหลักฐานให้เห็นและทำการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นรูปธรรมได้
  • “เมืองตักสิลา” คือ เมืองหนึ่งในเขตจังหวัดขอนแก่นและมหาสารคาม ของประเทศไทย ในปัจจุบันนี้ถ้าเอ่ยถึง ตักศิลานคร คนส่วนใหญ่หมายถึงจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์กลางของภาคอีสานที่เรียกว่า "สะดืออีสาน" จึงเป็น “เมืองแห่งการศึกษา” มีปราชญ์และสถานศึกษาอยู่มากมาย
  • “พระธาตุสีดา” ปัจจุบันยังปรากฏให้เห็นอยู่นั้น ตั้งอยู่ที่บ้านด่าน ตำบลด่าน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ สันนิษฐานว่าท้าวคันธนามและนางสีดาพระมเหสีได้สร้างไว้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่ออุทิศบุญกุศลให้พระมารดา และเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังเป็นอนุสรณ์ว่า มารดาของท่านเกิดที่นั่นและท้าวคันธนามก็คลอดที่นั่นด้วย โดยตั้งชื่อเมืองตรงนั้นว่า “เมืองสีดาจำปาพันธ์” โดยในอดีต "บ้านด่าน" ขึ้นกับจังหวัดร้อยเอ็ด แล้วเปลี่ยนมาขึ้นกับจังหวัดศรีสะเกษในภายหลัง

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)