คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกพยากรณ์อากาศช่วง 7 วันข้างหน้าดังนี้
ในช่วงวันที่ 25 – 29 กันยายน 2567 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลาง พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีลมฝ่ายตะวันออกพัดปกคลุมบริเวณอ่าวไทย และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังอ่อน โดยคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 30 กันยายน – 1 ตุลาคม 2567 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวตอนบน เวียดนามตอนบน และทะเลจีนใต้ ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในขณะที่มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนและอ่าวไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง โดยบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและภาคตะวันออกมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่
ในช่วงวันที่ 30 กันยายน – 1 ตุลาคม 2567 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ตลอดช่วง
คาดหมายอากาศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 26 – 28 กันยายน 2567 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 – 40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม.
ส่วนในช่วงวันที่ 29 กันยายน – 1 ตุลาคม 2567 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 - 20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22 – 25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30 – 35 องศาเซลเซียส
หลังจากที่เกิดภัยพิบัติใหญ่จากน้ำท่วมที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่ขณะนี้ก็ยังกู้ความเสียหายจากโคลนตมถล่มยังไม่หมด ต่อมาก็มีท่วมที่หนองคาย บึงกาฬ และจังหวัดที่ติดกับริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่มีปริมาณน้ำหลากมากมายจากฝนที่ตกหนักจากพายุ 2 ลูกในบริเวณประเทศจีน สปป.ลาว และพม่า รวมกับปริมาณน้ำที่ถูกปล่อยออกจากเขื่อนที่เกินพิกัดกักเก็บตลอดลุ่มแม่น้ำโขงมากมายหลายเขื่อน
ช่วงนี้ก็เป็นการเผชิญกับปริมาณน้ำในแม่น้ำทางภาคเหนือ ทำให้เกิดมวลน้ำมหาศาลไหลเข้าท่วมหลายจังหวัด เช่น พะเยา ลำปาง น่าน และตอนนี้ก็เชียงใหม่อาการหนักจากปริมาณน้ำในแม่น้ำปิง เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 26 กันยายน 2567 มีรายงานว่า บริเวณถนนลอยเคราะห์และกำแพงดิน ได้มีเจ้าหน้าที่นำรถสิบล้อและรถบรรทุกขนาดใหญ่ รวมทั้งเรือ เข้าไปบรรทุกนักท่องเที่ยวที่อยู่ข้างในอย่างทุลักทุเล บางคนติดอยู่ในโรงแรมไม่สามารถออกมาได้ เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูง บางจุดเกือบ 2 เมตร
ทั้งนี้ ทางเจ้าของโรงแรม รวมทั้งเจ้าหน้าที่อาสากู้ภัย ต้องใช้รถขนาดใหญ่เข้าไปรับนักท่องเที่ยว ซึ่งบางคนยังไม่กลับอยากจะไปพักที่โรงแรมน้ำไม่ท่วม ขณะที่บางครอบครัวก็ต้องการจะเดินทางกลับไปที่สนามบินเชียงใหม่ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้จัดรถไว้บริการให้กับนักท่องเที่ยวทุกราย ซึ่งขณะนี้เริ่มทยอยนำนักท่องเที่ยวออกมาจากโรงแรมแล้ว
ในส่วนของพนักงานที่ทำงานโรงแรม ก็พากันเดือดร้อนเนื่องจากเข้าไปในโรงแรมไม่ได้ จำเป็นต้องรอคิวรถขนาดใหญ่มาขน ส่วนพระวัดลอยเคราะห์ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางสายน้ำปิงที่ไหลท่วมเต็มวัด ทำให้ต้นไม้หรือสิ่งของมีค่าถูกน้ำท่วมตาย พระเณรจึงได้พากันนำออกมาไว้ข้างนอกวัด หรือเอาไปฝากบ้านโยมที่น้ำไม่ท่วม ขณะเดียวกันเริ่มมีหน่วยงานนำของมาแจกจ่ายให้กับผู้ที่ติดอยู่ข้างใน บางคนยังไม่ได้ดื่มน้ำและกินข้าว
ในปี พ.ศ. 2567 ปริมาณมวลนัำน้อยกว่า น้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ. 2554 แต่ความเสียหายและความรุนแรงกลับมากมายกว่า เพราะเหตุใด?
ภาคเหนือได้รับความเสียหายจากอุทกภัยเทียบเท่ากับเหตุน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 และบางพื้นที่เกิดความเสียหายมากกว่าด้วยซ้ำ เช่น เชียงราย น่าน และ สุโขทัย แต่ในขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นยังมีปัจจัยซับซ้อนมากกว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติ นั่นคือ กิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้ภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
“น่านและเชียงราย เรายอมรับว่าฝนตกหนักกว่าปกติและใกล้เคียงปี 2554 แต่ที่แพร่ฝนตกไม่หนัก กลับเสียหายหนัก แสดงให้เห็นว่ากายภาพของพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้น้ำท่วมแพร่หนักมาก แม้ว่าฝนตกไม่หนัก การที่บอกว่าท่วมไม่เหมือนปี 2554 เป็นการสื่อความหมายที่ผิด ถามว่าปริมาณน้ำเมื่อปี 2564-2565 เท่ากับปี 2554 ไหม มันไม่เท่ากันแน่นอน แต่ระดับน้ำสูงกว่าปี 2554 แน่ๆ เพราะว่าเกิดการบีบอัดลำน้ำจากการสร้างคันป้องกันตนเองของหลายหน่วยงาน”
ในจังหวัดเชียงราย เราจะพบว่า มีพื้นที่ตอนบนเหนืออำเภอแม่สายมีการแผ่วถางป่าเขา ในลำน้ำกกมีการสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำทั้งทางฝั่งแม่สายของไทย และทางฝั่งท่าขี้เหล็กของเมียนมาร์ เมื่อมีมวลน้ำมหาศาลจากพายุฝนในฝั่งพม่าไหลลงมา กอร์ปกับดินโคลนจากเขาริมน้ำด้านบนสไลด์เลื่อนลงมา จึงพุ่งลงมากองทับถมในตัวอำเภอแม่สายมากมายชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ดินโคลนมาจากเมียนมาและในลุ่มน้ำที่ลงมาในแม่สายของเมียนมา คาดว่าอาจจะไม่มีต้นไม้ปกคลุมพื้นที่ภูเขา เพราะตะกอนโคลนมากับน้ำ ซึ่งทางสทนช.กำลังเจรจากับเมียนมาเพื่อขอติดตั้งอุปกรณ์วัดระดับน้ำเพื่อเตือนภัย"
นักธรณีวิทยา ระบุว่า ตะกอนที่มาค่อนข้างหนามาก และสังเกตว่าเป็นตะกอนโคลนเลนนุ่ม เวลาเกิดดินโคลนไหลตะกอนใหญ่จะมาใกล้เป็นก้อนกรวด หิน แต่ตะกอนเลนที่พัดมาแสดงว่าพัดมาไกลมาก ยิ่งละเอียดมากยิ่งมาไกลและท่วมทั้งอำเภอ ไกลจากต้นกำเนิดที่เกิดการชะล้าง
ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของเพจ มิตรเอิร์ธ ได้ถอดบทเรียนภัย เรื่องแม่สาย ดินโคลนไหลหลาก โดยระบุว่า นี่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย หากไม่ได้รับการแก้ไข ดินโคลนไหลหลากที่อำเภอแม่สายในครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะจากภาพจะเห็นได้ว่าแม่สายตั้งอยู่พื้นที่ เนินตะกอนรูปพัด ในทางธรณีวิทยา ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ก่อนจะมีชุมชนแม่สาย มีดินโคลนไหลหลากมาแล้วหลายครั้ง ดังนั้น นี่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่แม่สายจะต้องเผชิญ หากไม่มีการวางแผนปรับปรุงภูมิทัศน์ในพื้นที่ เพื่อให้สอดรับกับพลวัตของธรรมชาติ และที่สำคัญ ในอนาคต เราควรใส่ใจและต้องค้นหา เนินตะกอนรูปพัด ตามพื้นที่ราบริมเชิงเขาอื่นๆ ทั่วประเทศ เพราะนี่คือตัวบ่งชี้ของภัย
ศ.ดร.สันติ ระบุว่า ตะกอนน้ำพา (alluvial sediment) เป็นการสะสมตัวของตะกอนในบริเวณที่มีการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการพัดพาตะกอนจากร่องน้ำในหุบเขาสู่ที่ราบ ทำให้น้ำซึ่งเคยไหลเร็วอยู่ในร่องแคบๆ แผ่ซ่านและลดความเร็วลงอย่างรวดเร็ว ตะกอนตกทับถมบริเวณปลายร่องเขาแผ่กระจายทุกทิศทางในที่ราบคล้ายกับพัด เรียก เนินตะกอนรูปพัด (alluvial fan) โดยตะกอนที่ตกทับถมในช่วงต้นของเนินตะกอนรูปพัดจะมีขนาดใหญ่และมีการคัดขนาดแย่ (หลากหลายขนาดคละเคล้ากัน) แต่จะมีขนาดเล็กลงและคัดขนาดดีขึ้นบริเวณปลายเนินตะกอนรูปพัด
ประเทศไทยเราประสบภัยพิบัติมามากมายนับครั้งไม่ถ้วน หลังภัยพิบัติเราก็มาถอดบทเรียนเพื่อหาสาเหตุกันทุกที แล้วเราก็ลืม... ลืมไปเลย ไม่นำมาต่อยอดพัฒนาหาทางป้องกัน สร้างความตระหนักรับรู้ให้กับประชาชนในการป้องกันภัย หน่วยงานรับผิดชอบก็จ้องจะหาทำแต่โครงการใหญ่ๆ งบเยอะๆ เพื่อฉ้อฉลกลโกงกินงบในแต่ละครั้งอิ่มหนำสำราญใจ รอภัยครั้งหน้าจะมาอีกครา เวรกรรมประเทศไทยจริงๆ หรือใครจะเถียงว่าไม่จริงบ้าง
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)