foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

siang miang header

'เซียงเมี่ยง' นิทานพื้นบ้านวัฒนธรรมร่วมอาเซียน

"เซียงเมี่ยง" เป็นนิทานพื้นบ้านเรื่องของคนเจ้าปัญญา ที่มีการเล่าสืบต่อกันมาเป็นสำนวนต่างๆ แล้วแพร่กระจายไปทั่วเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในชื่อต่างๆ กันเช่น ใน ประเทศพม่า เรียก "งะแล็ดโต่ งะโฆญ่" ประเทศกัมพูชา เรียก "ธนัญชัย (ธนัญจีย)" ประเทศเวียดนาม เรียก "จ่างกวิ่ง"  ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เรียก "อาบูนาวัส (Abu Nawas)" ประเทศฟิลิปปินส์ เรียก "ฮวน ปูซอง (Juan Pusong)และประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เรียก "เซียงเมี่ยง" เหมือนกับภาคอีสานของไทย

abu nawas

จากการศึกษาพบว่าเรื่อง "ธนัญชัย" ของกัมพูชา และ "จ่างกวิ่ง" ของเวียดนามคล้ายเรื่อง "ศรีธนญชัย" ของไทยสำนวนภาคกลาง ส่วนเรื่อง "เซียงเมี่ยง" ของสปป.ลาวนั้นเหมือนเรื่อง "เซียงเมี่ยง" ของไทยอีสาน ส่วนประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ พบว่า มีเนื้อหาคล้าย "ศรีธนญชัย" ของไทยบางตอนเท่านั้น กล่าวคือ เรื่อง "อาบูนาวัส" (Abu Nawas) ของประเทศอินโดนีเซีย มาเลเชีย และสิงคโปร์นั้น จะมีเรื่องราวเพียงตอนเดียวเท่านั้นที่เหมือนของไทย ส่วน "ฮวน ปูซอง" ประเทศฟิลิปปินส์นั้นพบว่ามีเนื้อหาคล้ายของไทยอยู่ 2 ตอน

จากการศึกษาเปรียบเทียบนิทาน "ศรีธนญชัย" ฉบับต่างๆ ในประเทศแถบตะวันออกเฉียงใต้นั้นพบว่า มีไม่มากตอนนัก และไม่มีความซับซ้อนมากเท่ากับเรื่อง "ศรีธนญชัย" ที่มีปรากฏอยู่ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ลักษณะของตัวละครที่มีปรากฏในประเทศดังกล่าวนั้น เป็นลักษณะที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป เพราะเป็นลักษณะประจำของนิทานที่มีตัวเอกเจ้าปัญญา หรือฉลาดแกมโกง ซึ่งต้องแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ต่อค่านิยมของสังคมระดับต่างๆ

แม้นิทานเรื่องนี้จะมีปรากฏเล่าสู่กันฟังหลายสำนวนก็ตาม ด้านโครงเรื่อง แนวความคิด และตัวละคร จะมีลักษณะที่คล้ายกันมาก ทั้งนี้คงเพราะนิทานเรื่องนี้มีจุดกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกัน ส่วนความแตกต่างในชื่อตัวละคร การเรียงลำดับเหตุการณ์ และรายละเอียดปลีกย่อยในเนื้อหา ในแต่ละสำนวนนั้นมีปรากฏอยู่บ้าง ก็คงเนื่องมาจากความแตกต่างกันในด้านสภาพสังคม วัฒนธรรม ลักษณะทางภูมิศาสตร์ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนค่านิยมของแต่ละชนชาติ แต่ละท้องถิ่นนั่นเอง

นิทานพื้นบ้านเรื่อง "เซียงเมี่ยง" เป็นนิทานที่ได้รับความนิยมในประเทศลาว เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการผจญภัยของชายหนุ่ม ซึ่งเกิดมาจากครอบครัวสามัญชน ในการใช้ไหวพริบและความฉลาดในการใช้สติปัญญา เพื่อเอาชนะกษัตริย์ผู้ครองนครและคหบดี โดยนิทานเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงการช่วงชิงระหว่างชนชั้น ซึ่งคล้ายคลึงกับวรรณกรรมลาวเรื่องอื่นๆ ซึ่งความฉลาดและมีศิลธรรมของตัวเอกในเรื่อง มีความสำคัญมากกว่าชาติกำเนิด

siang mian lao 01

ชื่อ "เซียงเมี่ยง" เป็นนิทานหรือวรรณคดีร่วมในดินแดนสองฝั่งโขง (อาณาจักรล้านช้าง) คล้ายคลึงกันกับการรับประทาน "ข้าวเหนียวนึ่ง" เพราะพบว่า มีการเล่าสืบต่อกันมาทั้งในฝั่ง สปป.ลาว ภาคเหนือของไทย และภาคอีสานบ้านเฮา เนื้อหาคล้ายคลึงกัน ต่างเพียงสำเนียงและคำศัพท์บางคำเท่านั้น และไปคล้ายกันกับนิทานเรื่อง "ศรีธนญชัย" ของภาคกลาง ที่เดิมนั้นแต่งเป็นกาพย์และถูกแปลงเป็นร้อยแก้วในภายหลังเช่นเดียวกัน

คนเจ้าปัญญา หรือคนฉลาดแกมโกง

ในบทความเรื่อง “ศรีปราชญ์อยู่ที่ไหน ศรีธนญชัยอยู่ที่นั้น” (ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2541) “สุจิตต์ วงศ์เทศ” ให้ความเห็นไว้ดังต่อไปนี้

ศรีธนญชัย เป็นนิทานตลกขบขัน ที่ได้ชื่อมาจากตัวเอกเจ้าปัญญาแบบฉลาดแกมโกง นิทานเรื่องศรีธนญชัยแพร่หลายทั่วไปในดินแดนประเทศไทย และในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอุษาคเนย์ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่า นิทานเรื่องนี้กำเนิดที่ไหน? หรือแพร่หลายกระจายจากดินแดนแห่งใด ?

เมื่อเอ่ยชื่อ “ศรีธนญชัย” คนไทยทั่วไปจะรู้ทันทีว่า หมายถึงคนมีปฏิภาณเป็นยอด มีไหวพริบเป็นเยี่ยม แต่มากด้วยเล่ห์เหลี่ยมเป็นร้อยเล่มเกวียน จนยากที่ใครจะรู้เท่าทัน ลักษณะดังกล่าวชวนให้นึกถึงพวก “ตลกหลวง” ที่ทำหน้าที่ถวายเรื่องราว และการกระทำที่สนุกสนาน ให้พระเจ้าแผ่นดินสมัยโบราณทรงมีอารมณ์สดชื่นรื่นรมย์

ในกฎมณเฑียรบาลสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา มีชื่อตำแหน่งที่น่าสงสัยว่าจะเป็น “ตลกหลวง” อยู่ด้วย 2 ชื่อ คือ “นักเทศ” และ “ขันที” บางแห่งเขียนติดกันว่า “นักเทศขันที” แต่หมายถึง เจ้าหนักงาน 2 คน

“นักเทศ” จากชื่อชี้ชัดว่า หมายถึงชาวต่างชาติ คือไม่ใช่พวกสยาม และน่าจะมีลักษณะพิเศษอยู่ด้วย คือเป็นพวกกะเทย เรื่องนี้มีร่องรอยหลายประการที่ทำให้เชื่อได้ว่า เป็นพวกที่ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาซื้อมาจาก อินเดีย และเปอร์เซีย ส่วน “ขันที” คงเป็นผู้ชายจีนที่ถูกตอนแล้ว (ปรากฏในนิยาย ละคร ภาพยนตร์จีนที่เกี่ยวกับราชสำนักหลายเรื่อง)

ทั้งพวกนักเทศและขันทีล้วนเป็นผู้ชายชาวต่างชาติ คือ “แขก” กับ “เจ๊ก” ที่ถูกตอน หรือหรือถูกทำให้เป็นกะเทย แล้วถูกซื้อ-ขายเข้ามารับราชการอยู่ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา และน่าเชื่อว่าจะอยู่ใกล้ชิดกับฝ่ายใน เพราะได้รับสิทธิพิเศษ

น่าสงสัยว่าพวกนักเทศขันทีเหล่านี้แหละ ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมหมายกำหนดการเข้าเฝ้า และระเบียบการต่างๆ ในราชสำนัก รวมทั้งถวายเรื่องราวอันรื่นรมย์ต่อพระเจ้าแผ่นดินด้วย บางทีพวกนักเทศหรือขันทีอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับนิทานเรื่อง "ศรีธนญชัย" ก็ได้ เพราะนิทานเรื่องนี้มีแพร่หลายทั่วไปทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์ ซึ่งน่าจะมีเค้ามาจากต่างประเทศ

siang miang 01

นิทานเรื่อง "ศรีธนญชัย" สมัยแรกเป็นคำบอกเล่าปากต่อปากสืบๆ กันต่อมา ไม่รู้ว่าเริ่มจากไหนและแพร่หลายไปอย่างไรบ้าง สมัยแรกๆ นี้ยังไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมามีผู้เอานิทานเรื่องศรีธนญชัยไปแต่งเป็นร้อยกรอง หรือเป็นกาพย์ กลอนแบบต่างๆ ที่นิยมตามท้องถิ่นนั้น เพื่อขับลำเล่านิทาน หรืออ่านเป็นทำนองให้ชาวบ้านฟัง ในประเทศไทยทางภาคกลาง และทางภาคใต้เรียกชื่อตัวเอกว่า "ศรีธนญชัย" ส่วนภาคเหนือและภาคอีสานไม่เรียกว่า "ศรีธนญชัย" แต่เรียกชื่อตัวเอกว่า "เชียงเมี่ยง"

นิทานเรื่อง "ศรีธนญชัย" จงใจกำหนดบุคลิกของ "กษัตริย์" ให้เป็นตัวตลก ต้องยอมจำนนต่อสติปัญญา เล่ห์เหลี่ยมของศรีธนญชัยเสมอ ลักษณะอย่างนี้ปรากฏว่ามีอยู่ในนิทานพื้นบ้านพื้นเมืองของไทยหลายเรื่อง ต่อมาก็นำไปแต่งเป็นบทละครนอก เช่น ท้าวสามล ในเรื่อง สังข์ทอง เป็นต้น

เหตุที่ประเพณีพื้นบ้านพื้นเมืองกำหนดให้บุคลิกของ "กษัตริย์" ในนิทาน และในตัวละครเป็นตัวตลกอย่างนั้น ดูเหมือนจะเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดทางสังคมและวัฒนธรรม เพราะตามปกติคนทั่วไปไม่มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน และไม่มีสิทธิล่วงเกินพระเจ้าแผ่นดินได้ ต่อมาเมื่อเล่านิทานหรือดูละครเท่านั้น สามัญชนจึงจะมีโอกาสละเมิดกฎเกณฑ์อันศักดิ์สิทธิ์ได้”

(สุจิตต์ วงษ์เทศ “ศิลปวัฒนธรรม” ปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๔๑)

นิทานพื้นบ้าน 'ขะต้ำป๋าค่ำตุ๊'

ส่วนเรื่อง “ขะต้ำป๋าค่ำตุ๊” หรือ “กะต้ำป๋าค่ำตุ๊” (ตุ๊ = สาธุ หมายถึง พระภิกษุ) นั้น เป็นเรื่องชวนหัวทำนองเดียวกับ "เซี่ยงเมี่ยง" แต่เปลี่ยนตัวละครจาก "เซียงเมี่ยง" เป็น "ขะต้ำป๋า" จากพระราชา หรือเจ้าเมือง ให้เป็นพระภิกษุ (ตุ๊เจ้า) มีเล่ากันทางภาคเหนือของไทยอีกสำนวนหนึ่ง

เนื้อเรื่องมีมากมาย แตกต่างกันออกไป เช่น เรื่อง “ตุ๊เจ้าห้ามขุดจิ๊กกุ่งในวัด”

ตุ๊เจ้าเห็นชาวบ้านมาขุดจิ๊กกุ่ง (จิ้งโกร่ง) ในวัดเอาไปกิน จึงเขียนประกาศว่า “ห้ามขุดจี๊กกุ่งในวัด”

ขะต้ำป๋า จึงเอาถ่านเขียนต่อท้ายป้ายประกาศนั้นว่า “ขุดได้นำถวาย”

ตุ๊เจ้าอยากกินจี๊กกุ่ง เลยเขียนต่อท้ายอีกว่า “หลังโบสถ์มีสองขุม (หลุม) อาจจะซ้อน (มีสองตัว)"

ในนิทานพื้นบ้านเหล่านี้ และบทละครที่ท้าวสามลเป็นตัวตลกนั้น เป็นวรรณกรรมเสียดเย้ยเท่านั้น ยังไม่ใช่วรรณกรรมการเมืองแต่อย่างใด

siang miang 02

ที่จังหวัดอุบลราชธานีมีทั้งศาล รูปปั้น และสระศรีธนญชัย (เล่าต่อๆ กันมา จริง-เท็จมิทราบได้)

เซียงเมี่ยง คือใคร

มาที่ชื่อ "เซียงเมี่ยง" มาจากคำ 2 คำ คือ "เซียง" หมายถึง ชายผู้ผ่านการบวชเป็นสามณรมาแล้ว (หลายปี) เมื่อสึกออกมาจึงเรียกว่า "เซียง" ในขณะที่ชายผู้ผ่านการบวชเป็นพระมาหลายพรรษาเมื่อสึกออกมาจะเรียกว่า "ทิด" [ อ่านเพิ่มเติม : กองฮด ] ส่วน "เมี่ยง" คือชื่อของคนนั่นเอง แต่เมื่อเอามารวมกันเป็นคำว่า "เซียงเมี่ยง" นั้นมีความหมายว่า "เป็นชายกะล่อน เจ้าปัญญา ไม่น่าเชื่อถือ" อย่าให้ใครให้ฉายาว่าเราเป็น "บักเซียงเมี่ยง" นะขอรับ

"เซียงเมี่ยง" บางที่เขียนเป็น "เซียงเหมี้ยง" คือนิทานพื้นบ้านที่แพร่หลายในภาคเหนือ และภาคอีสาน ค้นพบพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2501 ซึ่งมีเนื้อหาต่างจาก "ศรีธนญชัย" สำนวนกาพย์ที่แพร่หลายในภาคกลาง เนื้อเรื่องกล่าวถึง "พญาทวาละ" ผู้ครองเมืองทวาลี (ฉบับอักษรธรรม 1 ผูกวัดนามึน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ว่าเป็นเมือง สียุดทิยา) มเหสีประสูติพระโอรส แต่โหรทำนายว่า กุมารน้อยจะเลี้ยงยาก ต้องหาเด็กที่เกิดวันเวลาเดียวกันมาเลี้ยงคู่กันไปเพื่อเป็นการแก้เคล็ด

และในเมืองทวาลีนี่เอง ก็มีผู้ชายผู้หนึ่ง ชื่อว่า หมั่นตั้น กับผู้หญิงชื่อว่า นางปลี แต่งงานอยู่กินกันมาหลายปีดีดัก ก็ยังไม่มีลูก จนอยู่มาวันหนึ่ง ตอนกลางคืน นางปลีนอนหลับและฝันว่า ตนนั้นหิวข้าว จึงเดินไปหาเก็บขี้หลักเหยี่ย (ขยะ) กินจนอิ่ม สะดุ้งตื่นขึ้นมา ก็ประหลาดใจยิ่งนัก เลยไปหาพราห์มเฒ่า แถวๆ นั้นและเล่าความฝันให้ท่านพราห์มฟังว่า ''ข้าน้อยได้เดิน เลาะเก็บหยากไย่ ขี้หลักเหยี่ย กินจนอิ่มท้อง ฝันแบบนี้ มันจะเกิดอะไรหรือมีความหมายว่าอย่างไรท่าน''

พราห์มเฒ่าก็ได้ทำนายความฝันนั้นว่า ''เจ้าจักมีลูกชาย ซึ่งเป็นผู้มีบุญยาธิการ มีปัญญาล้ำเลิศ กว่าชาวบ้านทั่วทั้งแผ่นดิน เป็นคนฉลาดหลักแหลม'' หลังจากนั้นอีกไม่นาน นางปลี ก็ได้ตั้งท้องและคลอดออกมาเป็นผู้ชายจริงดังคำทำนาย จึงได้ตั้งชื่อลูกชายไว้ว่า ''เมี่ยง'' และนี่คือกำเนิดของผู้ชายคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงขจรไกลในเวลาต่อมานั่นเอง

พญาทวาละจึงไปขอลูกนางปลี ซึ่งเกิดวันเดียวกันกับพระโอรสมาเลี้ยงร่วมกัน โดยให้นางสนมเป็นคนเลี้ยง เมื่อเด็กชายโตขึ้นจึงถวายตัวเป็นมหาดเล็ก และมีช่วงหนึ่งได้ออกบวชเป็นสามเณร แล้วก็สึกออกมารับใช้กษัตริย์ต่อไป (ชายที่บวชเณรแล้วสึกออกมา ชาวบ้านจะเรียด "เซียง" นำหน้าชื่อ) นายเมี่ยง จึงถูกเรียกว่า "เซียงเมี่ยง" ซึ่งเขาเป็นผู้มีปัญญา มีปฏิภาณไหวพริบดี มีเล่ห์เหลี่ยม และฉลาดแกมโกง จึงทำให้ชีวิตของเขาต้องคอยฝ่าฟันปัญหาที่เกิดจากความฉลาดของเขานั่นเอง (เรื่องชื่อพ่อ-แม่ของเซียงเมี่ยงนี้ ไม่อาจฟันธงว่าเป็นชื่อใด เพราะผู้เขียนบทความค้นไปก็พบมากมายหลายชื่อ ตามสำนวนของแต่ละแหล่งนะครับ ก็คงเพราะเป็นเรื่องเล่าสืบต่อๆ กันมานั่นเอง อย่างสำนวนของจินดา ดวงใจ ก็ว่าชื่อ นายชัย กับ นางศรี)

เซียงเมี่ยง ฉบับ "อักษรธรรม 1 ผูกวัดนามึน" ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี นั้นเนื้อเรื่องที่แสดงถึงความเป็นเจ้าปัญญาของเซียงเมี่ยงนั้นมีเป็นตอนๆ รวม 38 ตอน ดังนี้

1) เซียงเมี่ยงเลี้ยงน้อง 2) เซียงเมี่ยงเก็บหมาก 3) เซียงเมี่ยงกินข้ออ้อยจนเกิดมีปัญญาเหนือกว่าคนอื่น 4) ลองปัญญากับสมภาร 5) พนันกับลาวส่งเมี่ยง 6) เซียงเมี่ยงแต่งงาน (เลือกคู่) 7) ให้ยาดีแก่พระราชา 8) พระราชาแกงแร้งให้เซียงเมี่ยงกิน 9) เซียงเมี่ยงหลอกพระยาเลียขี้แร้ง 10) พระราชาให้นางสนมเล่นออกไข่ 11) เซียงเมี่ยงติเรือนพระราชา 12) เซียงเมี่ยงติช้างพระยา 13) พระราชาให้ไปหาปากง่าม 14) เซียงเมี่ยงหลอกพระยาลงหนองน้ำ 15) พระราชาให้ไปหาผ้าลายตีนแต้ม 16) เซียงเมี่ยงหลอกดูก้นสมภาร 17) พระราชาสั่งให้เซียงเมี่ยงล่วงหน้าไปก่อน 18) พระราชาสั่งให้มาก่อนไก่ 19) เซียงเมี่ยงขอที่เท่าแมวดิ้นตาย 20) เซียงเมี่ยงขอเงินหนึ่งบาท

21) พระราชาให้นางสนมไปอุจจาระรดเรือนเซียงเมี่ยง 22) เจ้าต่างเมืองมาท้าชนหัวล้าน 23) ภรรยาบอกให้เซียงเมี่ยงหาเงิน 24) เซียงเมี่ยงทายใจเสนา 25) เซียงเมี่ยงหลอกให้ดมตด 26) เซียงเมี่ยงทายว่าพระราชาจะตายใน ๗ วัน 27) เซียงเมี่ยงตอบปัญหากับราชครูเมืองตานี 28) เซียงเมี่ยงแก้มือศึกเมืองปัญจานคร 29) พระราชาให้เซียงเมี่ยงไปเก็บพริก 30) เซียงเมี่ยงกองก้นรับเสด็จ 31) เซียงเมี่ยงชนวัว 32) เซียงเมี่ยงชนไก่ 33) เซียงเมี่ยงสานตะกร้าในน้ำ 34) เซียงเมี่ยงกู้เงินจะใช้คืนในสองเดือน 35) เซียงเมี่ยงเอาเปรียบเณรน้อยในเรือ 36) เณรน้อยแก้แค้นเซียงเมี่ยง 37) เซียงเมี่ยงถูกยาเบื่อตาย 38) กระดูกเซียงเมี่ยงทำพิษแก่แม่หม้าย

ยังมี "นิทานเซียงเมี่ยง" อีกหลายสำนวน ผู้เขียนค้นพบว่ามีฉบับอื่นๆ ที่มีเนื้อหาและสำนวนแตกต่างกันไปบ้าง เช่น

  • วรรณคดีไทยภาคอีสาน ศรีธนญชัย-เซียงเหมี้ยง อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระครูบริรักษ์ธรรมกิตติ สิลา ฐิติธมฺโม ปร.๕ เจ้าคณะอำเภอบรบือ มหาสารคาม พ.ศ. ๒๕๑๓
  • รวมนิทานอีสาน ชุดที่ ๒ ของ จินดา ดวงใจ สำนักพิมพ์คลังนานาธรรม จังหวัดขอนแก่น
  • เสภาเรื่อง ศรีธนญไชยเชียงเมี่ยง แต่งตามนิทานในมณฑลอุดร ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงพระศพ มหาอำมาตย์ตรี พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา พ.ศ. ๒๔๖๓

siang miang book 03

ความสำคัญของวรรณกรรมร่วมอาเซียน

ด้วยความที่ "ศรีธนญชัย" เป็นวรรณกรรมร่วมกันของภูมิภาคนี้ แต่มีชื่อเรียกแตกต่างกันดังกล่าวข้างต้น กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง วรรณกรรมอาเซียน "ศรีธนญชัย : พระเอกเจ้าปัญญา" ณ ห้องประชุมใหญ่ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา โดยมีนักวิชาการและผู้สนใจวรรณกรรมจากประเทศต่างๆ ในอาเซียนมาร่วมประชุมกว่า 200 คน เพื่อเป็นการเผยแพร่แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมมรดกร่วมอาเซียน ที่มีความคล้ายคลึงกัน เพื่อการเสนอเป็นมรดกทางวัฒนธรรมร่วมของอาเซียนต่อไป

sri tanon chai

การแสดงละคร "ศรีธนญชัย" สำนวนภาคกลางประเทศไทย ในงานสัมมนา

อ่านต่อ : เซียงเหมี้ยง นิทานพื้นบ้านลาว การใช้ภูมิปัญญาเอาชนะชนชั้นปกครอง

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)