foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

pee pop header

"ผีปอบ" ถ้าถามผมผู้เขียนก็จะนึกถึงความสนุกสนานมากกว่าความน่ากลัว โดยเฉพาะ "ปอบหยิบ" ในตำนานจากหนังชุด "ผีปอบ" ที่นำแสดงโดย "ณัฐนี สิทธิสมาน" โดยการแต่งตัวของปอบหยิบในยุคนั้น หลายคนคงติดภาพยายแก่ใส่เสื้อคอกระเช้า  นุ่งผ้าถุง ยกมือสองข้างขึ้นทำท่าหยิบจับ ออกวิ่งไล่ชาวบ้านไปทั่ว หรือที่วิ่งหลบลงในโอ่งน้ำ ซึ่งใบก็ไม่ได้ใหญ่โตนักแต่ก็ลงไปอยู่ด้วยกันได้ตั้งหลายคน นั่นช่างมีความบันเทิง ตื่นเต้น สนุกสนานมาตลอดในหลายๆ ภาคต่อเนื่องกันมา จนกลายเป็นตำนานของ "ผีปอบ" เลยทีเดียว วันนี้ไม่ได้มารีวิวหนังนะครับ แต่มีหลานๆ ถามว่า "อาวทิดหมู ผีปอบมันมีอีหลีบ้อ เว้าให้ฟังแหน่" ก็เลยเป็นที่มาของบทความนี้

pee pop 01

ภาพยนตร์ "บ้านผีปอบ" ในตำนานเรื่องแรกฉายปี พ.ศ. 2532 มีภาคต่อมาอีกมากมาย...

"บ้านผีปอบ" เป็นภาพยนตร์ไทย ประเภทหนังผี ที่ไม่สยองแต่ผสมผสานด้วยความตลกขบขัน ที่มีการสร้างภาคต่อมาถึง 14 ภาคตั้งแต่ปี 2532−2554 ถือเป็นภาพยนตร์ไทยที่มีภาคต่อมากที่สุด เป็นหนังที่นำเอาตัวละครผีปอบมาจากนิยายของ เหม เวชกร มาถึงเรื่องความเป็นมาของผีปอบนั้นเป็นอย่างไร? ความจริง หรือความเชื่อ กันแน่?

ความเชื่อเรื่อง "ปอบ"

"ปอบ" เป็นผีจำพวกหนึ่ง ที่อยู่ในความเชื่อพื้นบ้านของไทย โดยเฉพาะในภาคอีสาน และในฝั่งเพื่อนบ้านของไทยอย่าง สปป.ลาว (ในภาคอื่นๆ ก็มีแต่มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป แต่ก็ไม่เป็นข่าวกันมากนัก) โดยเชื่อกันว่า "เป็นผีที่กินของดิบๆ สดๆ กินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม" โดยการสืบค้นหาแล้วพบว่า การเป็นผีปอบนั้น มักจะเป็นกับผู้ร่ำเรียนวิชาทางไสยศาสตร์ คาถาอาคม ของขลัง เวทมนตร์ คงกระพัน ซึ่งคนที่จะเรียนรู้วิชาเหล่านี้ได้ จะต้องมีความมั่นคง เชื่อมั่น และสามารถทำตามข้อปฏิบัติของครูบาอาจารย์ได้ ถ้ากระทำผิดข้อห้ามที่กำหนดไว้ไม่ได้ ซึ่งในภาษาอีสานจะเรียกว่า "คะลำ" หรือ "ขะลำ" จึงกลายเป็น "ปอบ" ซึ่งความเป็นปอบนี้จะเป็นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย (อ่านเพิ่มเติมในเรื่อง คะลำ สำหรับ ผู้ที่ร่ำเรียนวิชาความรู้)

ซึ่งข้อห้ามดังกล่าวนี้ยกตัวอย่างเช่น ห้ามลอดราวตากผ้า (ที่อาจมีผ้าชุดชั้นใน ผ้าถุง) ห้ามลอดใต้ถุนบ้าน ห้ามลอดใต้บันได เป็นต้น ในอดีตนั้นคงจะทำได้ไม่ยากนัก บ้านเมืองไม่ได้เจริญอย่างปัจจุบัน สามารถเดินหลบหลีกได้ แต่พอมายุคสมัยที่บ้านเรือนเจริญขึ้นไม่ได้มีแค่บ้านชั้นเดียวหรือสองชั้น แต่เป็นอพาร์ทเมนต์ คอนโดมีเนียม นับสิบ นับร้อยชั้น การจะไม่ลอดใต้ถุนบ้านมันก็คงทำไม่ได้แล้วล่ะ

คลิปตัวอย่าง "บ้านผีปอบ" สั้นๆ เพื่อความบันเทิง ใครเคยดูบ้าง? (มีหักมุกตอนจบด้วย)

"ปอบ" เป็นผีที่ไม่มีตัวตนเหมือนพวกผีกระสือหรือผีกองกอย แต่ "ปอบ" คือจิตวิญญาณมิจฉาทิฏฐิ จะเข้าแฝงร่างสิงสู่คนที่เป็นสื่อให้ และใช้ร่างหรือรูปลักษณ์ของคนๆ นั้น ไปกระทำการไม่ดีต่างๆ และเชื่อด้วยว่า หากวิญญาณปอบเข้าสิงสู่ผู้ใด จะกินตับไตไส้พุงของผู้ที่โดนสิงจนกระทั่งตาย ผู้ที่โดนกินจะนอนตายเหมือนกับนอนหลับธรรมดาๆ ไม่มีบาดแผล ซึ่งเรียกกันว่า "ไหลตาย"

ในทางมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์ อธิบายว่า ความเชื่อเรื่องปอบ นั้น เป็นกลไกการสร้างความเชื่อของคนในชุมชน เนื่องจากไม่วางใจบุคคลแปลกหน้า หรือแม้แต่กระทั่งคนในชุมชนเดียวกันเอง ที่มีพฤติกรรมแปลกออกไป ซึ่งในสมัยโบราณ บุคคลที่โดนกล่าวหาว่าเป็นปอบ จะถึงกับถูกขับไล่ให้ออกจากชุมชนไปเลยทีเดียว

ปอบ เป็นผีที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในสังคมไทย มีการนำไปอ้างอิงถึงในวัฒนธรรมร่วมสมัยหลายประการ อาทิ ภาพยนตร์ชุด บ้านผีปอบ เป็นต้น ตามตำนานของทางพระพุทธศาสนาเล่าว่า ผีปอบ คือ ผีสายยักษ์ อยู่ในสายการปกครอง ของท้าวเวสสุวัณ ที่เข้าสิงร่างมนุษย์ ก็เพื่ออาศัยร่างมนุษย์กินอาหาร โดยเฉพาะอาหารสดคาว หรือ สัตว์เป็นๆ เช่น ไปหักคอเป็ด ไก่ ในเล้ากิน หรืออาศัยร่างเหมือนเป็นร่างทรง จะเข้าสิงร่างมนุษย์ที่มีวิบากกรรมทางนี้ คือ อดีตเคยนับถือผีเป็นที่พึ่ง ที่ระลึกยามมีทุกข์ จนเป็นประเพณีธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมา มีจิตผูกพันกับผี และกรรมทำปาณาติบาต ฆ่าสัตว์เซ่นไหว้ผี บางทีก็ฆ่าสัตว์เล็ก เช่น เป็ด ไก่ บางทีก็ฆ่าสัตว์ใหญ่ เช่น วัว ควาย เป็นต้น

จากความเชื่อ มาสู่ ความขัดแย้ง

ในความเชื่อของชาวอีสาน (ไม่แน่ใจว่าภาคอื่นๆ ยังมีอยู่หรือไม่) ผีปอบเป็นผีที่มีความน่ากลัวอย่างมาก หากมีคนตายที่ผิดปกติมักจะกล่าวกันว่า "ถูกปอบกิน" แต่กระนั้นก็มีอาการบ่งบอกที่ชัดเจนว่า ตายอย่างไรจึงจะเรียกว่าปอบกินได้ แต่วันนี้เราจะทำความเข้าใจกันว่า "ปอบ" คืออะไร

ตามคติความเชื่อของชาวอีสาน ปอบเป็นผีชนิดหนึ่ง แต่ไม่ใช่ "วิญญาณ" ของคนที่ตายไปแล้ว น่าจะจัดอยู่ในจำพวกของ "สาง" หรือถ้าพูดแบบจักรวาลทัศน์ก็เป็นพวก "อสุรกาย" ปอบเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งผู้ที่เรียนวิชาอาคมแล้วไม่สามารถรักษาของหรือข้อ "คะลำ" ได้ ก็จะกลายเป็นปอบเรียกว่า "ปอบวิชา" อีกพวกหนึ่งเป็นปอบที่เกิดจาก "การปลูกว่าน" แล้วดูแลไม่ถูกวิธี ทำให้ว่านชนิดนั้นกลายเป็นปอบ หรือในบางครั้งคนปลูกเป็นปอบ

ในกรณีที่มนุษย์เป็นปอบ ไม่ได้หมายความว่าร่างกาย หรือตัวตนของเขาเองที่เป็นปอบ แต่มันหมายความว่าคนๆ นั้นเลี้ยงปอบ หรือมีเชื้อปอบติดตัว คล้ายกับคนที่ติดเชื้อโรคสามารถรักษาให้หายได้ เมื่อเป็นแล้วจะต้องหาเลี้ยงปอบที่ตนมี โดยการให้ไปกินคนนั้นคนนี้ ปอบที่มีคนเลี้ยงจึงเรียกว่า "ปอบเจ้า" แต่เมื่อใดที่เจ้าของปอบตายลง ปอบจะตามไปอยู่กับลูกหลานของเจ้าของเดิม เรียกว่า "ปอบเชื้อ" แต่ถ้าเจ้าของเดิมไม่มีลูกหลาน มันจะไปอาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น คำ (ป่าชุ่มน้ำ) โพน ดอน ฯลฯ เรียกว่า "ปอบเฮื้อ" (เฮื้อ = ที่รกร้าง) จัดว่าเป็นปอบที่อันตรายมาก เพราะไม่มีเจ้าของดูแล มันจึงสามารถหากินเองได้โดยไม่มีใครควบคุม

pee pop 02

เมื่อความเชื่อเรื่อง "ปอบ" ยังฝังแน่นอยู่ในความคิดของคนอีสาน การเยียวยารักษา และพิธีกรรมที่เป็นเครื่องปลุกขวัญกำลังใจ ให้กับคนในหมู่บ้านที่เกิดเหตุการณ์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“พิธีกรรมปราบผีปอบ” มีทั้งพิธีกรรมที่ทำในระดับตัวบุคคล หรือกลุ่มคนที่เชื่อว่า "ถูกผีปอบเข้าสิงร่าง" ส่วนใหญ่จะนิยมนิมนต์พระสงฆ์มาประกอบพิธีกรรม สวดคาถาอาคม รดน้ำมนต์ ขจัดปัดเป่าวิญณาณร้ายให้ออกไปจากตัว จากนั้นก็จะทำพิธีผูกข้อมือด้วยด้ายสายสิญจ์ ที่ปลุกเสกไว้แล้ว ถ้าอาการของคนไข้หรือคนที่เชื่อว่าถูกผีเข้านั้นหายเป็นปลิดทิ้ง ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อเรื่องผีปอบกันมากขึ้น (ซึ่งในทางพุทธแท้ๆ ไม่มีบัญญติไว้ ไม่ต้องสอบทาน เสาะหา เหตุผลในย่อหน้าถดไป)

ส่วนในระดับชุมชนใหญ่ๆ ถ้าหมู่บ้านไหน มีคนเสียชีวิตติดต่อกันหลายศพ อาจจะพบว่า ประชาคมของชุมชนนั้น เชื่อว่าเกิดจากฝีมือของผีปอบ ผู้นำชุมชนก็จะเป็นหัวเรือใหญ่ในการพาชาวบ้านลงขัน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการว่าจ้าง “หมอผี” มาช่วยปราบผีปอบ

ขบวนการปราบผีปอบ จึงเป็นอีกธุรกิจหรือการดำเนินการหารายได้จากความเชื่อนี้ ซึ่งจะมี "หมอผี" หรือ "เกจิดัง" เป็นที่รับรู้กันในชุมชนย่านนั้น โดยคิดราคากันเป็นรายหัว เดี๋ยวๆ อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าราคาถูกๆ นะ รายหัวนี่ไม่ใช่หัวปอบ แต่เป็น "รายหัวคนที่ได้รับผลกระทบ" ซึ่งก็คือชาวบ้านในชุมชนนั้นที่มีความกลัว โดยผู้นำชุมชน หรือคณะกรรมการหมู่บ้าน จะประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านผ่านเสียงตามสาย ให้ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อเป็น "ค่ายกครู" ให้คณะที่จะมาทำพิธีปราบปอบ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเก็บครอบครัวละ 100 บาท ถ้าเป็นหมู่บ้านใหญ่เช่นมี 500 หลังคาเรือน ก็จะเก็บเงินได้กว่า 50,000 บาท ไม่น้อยเลยใช่ไหมล่ะ

“การปราบผีปอบ” หากเป็นเรื่องของความเชื่อส่วนบุคคล กลุ่มคน หรือชุมชน การว่าจ้างเป็นไปโดยความสมัครของคนในชุมชน ผ่านการประชุมในระดับหมู่บ้าน ทำเพื่อให้เกิดความสบายใจ ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติไม่เดือดร้อนผู้อื่น แต่บางกรณีก็ต่างออกไป มีทำให้เกิดการใส่ร้ายกล่าวหาตัวบุคคลว่า "เป็นปอบ" สร้างความสับสนแตกแยกกันขึ้นในหมู่บ้าน ชุมชน ทั้งที่ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ผ่านคำพูดของกลุ่มคนที่อ้างตัวว่าเป็นหมอผีกลุ่มนี้เท่านั้น และทำให้มีผู้เดือดร้อน ถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน ตามที่เคยปรากฎเป็นข่าวในสื่อต่างๆ ก่อนหน้านี้ และยิ่งเป็นยุคสื่อสังคมออนไลน์ใกล้ตัว ที่มีการไลฟ์สดก็ยิ่งดูน่ากลัว แพร่กระจายเป็นวงกว้าง

pee pop 03

ความขัดแย้งของกลุ่มคนโดยปกติก็มีกันอยู่ทั่วไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ความขัดแย้งนั้น นำเอาไปผูกกับความเชื่อเรื่อง "ผีปอบ" ก็จะสร้างรอยร้าวแตกแยก ยากที่จะประสาน ไม่ฟังเหตุและผลของกันและกัน และถ้ามีกลุ่มที่เป็นผู้นำหรือมีความเชื่อในการปราบผีปอบมาชี้ว่า "เป็นปอบ" ก็อาจถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน ถูกผลักออกจากกลุ่มไม่คบค้าสมาคมด้วยเลย

“กลุ่มคน” ที่จะถูกยัดเยียดข้อหาว่า "เป็นปอบ" จะมีพฤติกรรมเด่นๆ อยู่ 2 แบบคือ

กลุ่มแรก เป็นคนที่ขยันขันแข็งทำมาหากิน ได้ผลผลิตเกินหน้าเกินตา จนถูกมองว่าเกินความเป็นจริง อย่างเช่น พื้นที่ทำนาแค่ 5 ไร่ เพื่อนบ้านคนอื่นจะปลูกข้าวได้ผลผลิตประมาณ 30 – 50 กระสอบ (ขึ้นอยู่กับพื้นที่) ขณะที่คนที่จะถูกกล่าวหาว่าเป็น "ปอบ" จะสามารถปลูกข้าวได้ผลผลิตมากกว่า 100 กระสอบ ซึ่งในอดีตคนส่วนใหญ่จะเชื่อว่า "ต้องเป็นปอบ หรือ เป็นผู้ที่สามารถใช้เวทมนต์คาถา จึงจะสามารถทำเช่นนั้นได้" แต่ปัจจุบัน ทฤษฎีการทำนา 1 ไร่ 1 แสนบาทก็พิสูจน์ได้แล้วว่า การปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตสูงกว่าคนอื่น สามารถทำได้จริงผ่านความรู้ทางการเกษตรและความขยันขันแข็ง

กลุ่มที่ 2 เมื่อมีคนตายในหมู่บ้านติดต่อกันหลายศพ โดยไม่ทราบสาเหตุ ฆาตกรลี้ลับอันดับแรกที่คนจะคิดถึงก็คือ “ผีปอบ” ในกลุ่มนี้จะแบ่งได้เป็นอีก 2 แบบคือ ปอบที่เข้าไปกินคนแบบเงียบแล้วตายแบบสงบ บางครั้งเรียกว่า "ไหลตาย" และแบบที่เข้าสิงร่างคนทั้งเป็น แล้วพูดจาเพ้อเจ้อไปเรื่อย มีอาการเกร็ง ชักกระตุก ตาลอย สั่นสะท้านไปทั้งตัว โดยไม่ทราบสาเหตุ อาการแบบนี้ชาวบ้านจะสรุปกันทันทีว่าผีเข้า และผีตนนั้นส่วนใหญ่ก็คือ "ผีปอบ" นั่นเอง (ในภายหลังทางการแพทย์ก็พิสูจน์ได้ว่า การไหลตาย คือโรค ไม่ใช่ผีแต่อย่างใด)

ดร.เชิดศักดิ์ ฉายถวิล นักวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ที่ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “หมู่บ้านผีปอบ” เปิดเผยว่า จากผลการวิจัยประเภทของคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ มีอยู่ 2 ชนิดคือ ปอบถูกกล่าวหา ซึ่งมีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งของคนในหมู่บ้าน ที่มีปัญหาข้อพิพาทหรือทะเลาะเบาะแว้งกัน และกลุ่มผีปอบที่เชื่อว่าโดนผีเข้าสิงร่างอย่างจริงจัง คือมีลักษณะคล้ายผีปอบ แต่ก็ไม่สามารถหาข้อสรุปหรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยันได้ โดยยังไม่มีนิยามความหมายได้ว่าเป็นอย่างไร ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษา โดยได้ลงพื้นที่คลุกคลีกับคนในหมู่บ้านปอบแห่งนี้มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง

“ขณะนี้กำลังรวบรวมเก็บข้อมูลและลงพื้นที่หมู่บ้านผีปอบ จังหวัดศรีสะเกษ แต่ขอไม่ระบุชื่อหมู่บ้าน เพราะเกรงจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนในหมู่บ้าน เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้ เป็นการรวมตัวกันของคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ และถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ของตนในแต่ละจังหวัดในภาคอีสาน การทำวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจว่า คนที่ถูกกล่าวหาเป็นผีปอบและถูกขับไล่ออกจากชุมชนหรือถิ่นฐานเดิม แล้วมารวมตัวดำเนินชีวิตกันภายในหมู่บ้านเดียวกันโดยที่ไม่มีปัญหาอย่างชุมชนเดิมที่เคยอาศัยอยู่”

“ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบส่วนใหญ่ มักมีความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ หรือมีพฤติกรรมทั้งในเชิงบวกและลบ ที่แตกต่างหรือไม่ปฏิบัติตามกลุ่ม แม้หมู่บ้านแห่งนี้จะเหลือผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบโดยตรงเพียงไม่กี่คน แต่ข้อครหา ที่ยังไม่มีใครหาคำตอบได้ ว่าปอบคืออะไร ยังส่งผลกระทบต่อสมาชิกในครอบครัวแม้จะเป็นรุ่นลูกหรือหลานก็ตาม ”

ดร.เชิดศักดิ์ กล่าวถึงเป้าหมายงานวิจัยชิ้นนี้ โดยมุ่งหวังให้คนในชุมชนคลี่คลายความกลัวจากความเชื่อ และค้นหาสิ่งที่ยังเป็นข้อสงสัยในเรื่องปอบอยู่ โดยจะนำผลการวิจัย ไปเผยแพร่ต่อในชุมชนอื่นๆ ที่มีความเชื่อเรื่องผีปอบ ในมุมมองเชิงวัฒนธรรม เพราะเห็นว่าวัฒนธรรมคือ วงจรชีวิต อาชีพ การดำรงชีวิตอยู่กับสังคม

“คนในภาคอีสานตกเป็นเครื่องมือความเชื่อเรื่องผีปอบ ทำให้เกิดความขัดแย้งกัน และมีผลกระทบต่อโครงสร้างภายในชุมชนหรือครอบครัวได้ เพราะหากหมู่บ้านใดก็ตามที่เชื่อเรื่องนี้ ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านสูญหายไป ตอนเย็นๆ ไม่กล้าออกจากบ้านไปพบปะพูดคุยกันตามวิถีชนบท” ดร.เชิดศักดิ์ กล่าว

รายการทีวีชุมชน ช่อง ThaiPBS สารคดี "ชุดสักการะ" ตอน ผีปอบ

ผีแม่ม่าย

นอกจาก "ผีปอบ" แล้วยังมีผีอีกตนที่ชาวอีสานเกรงกลัวกันมาก คือ "ผีแม่ม่าย" ถ้าใครเดินทางไปในแถบชนบทอีสานช่วงฤดูแล้ง อาจจะได้เห็นตามรายทางที่ผ่านมี "หุ่นฟางสวมเสื้อสีแดง" ตั้งไว้ตามรั้วบ้าน ที่ตัวหุ่นมีอวัยวะเพศทาสีแดงปักไว้ให้เห็นชัดเจนว่าเป็นผู้ชาย เป็นระยะๆ บ้างก็อาจมีป้ายแขวนที่คอด้วยว่า "บ้านนี้ไม่มีผู้ชาย" ไม่ต้องคาดเดาก็รู้แน่นอนว่า คงมีผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัวถึงแก่ความตายแล้ว 2-3 คนติดต่อกัน ในหมู่บ้านแห่งนี้แน่แล้ว

ความเชื่อในเรื่อง "ผีแม่ม่าย" หรือ "ผีอีซิ่นเหี้ยน" นี้เพิ่งจะมีมาไม่นานประมาณสัก 10-15 ปีได้ เป็นปรากฏการณ์เกิดขึ้นใหม่ในภาคอีสาน คนที่ทำหุ่นดังกล่าวไปปักก็เป็นผู้หญิงไม่ใช่ผู้ชาย ไม่ใช่หมอผีหรือเข้าจ้ำแต่อย่างใด เป็นความเกรงกลัวว่าจะสูญเสียสามี และเป็นอุปทานหมู่ด้วย หมายถึงไม่ได้ทำเพียงคนเดียว ครอบครัวเดียว แต่เชื่อและทำกันทั้งหมู่บ้านย่านนั้น แต่ก็ไม่ได้นัดหมายประชุมปรึกษาหารือกัน เพียงแต่ได้ยินข่าวเมื่อไปร่วมงานศพ ได้ยินเสียงซุบซิบว่า ชายคนนี้ตายเพราะผีแม่ม่ายมาเอาไป เหมือนกับหมู่บ้านโน่น หมู่บ้านนั้น เขาว่าตั้งแต่ทำหุ่นผู้ชายใส่เสื้อแดงแล้ว ก็ไม่มีคนตายอีก กลับมาแล้วก็เลยทำขึ้นมาเองแต่ว่า ให้มีหุ่นคล้ายผู้ชาย สวมใส่เสื้อสีแดง จะใหญ่โต สูงเพียงใดไม่ได้กำหนด

pee mae mai 01

การที่ "ผีแม่ม่าย" มาเอาชีวิตแต่ผู้ชายที่มีครอบครัวแล้วไป ไม่มีคำอธิบายใดๆ นอกจากความกลัวจากคำเล่าลือที่ได้ยินมา การที่จะรักษาชีวิตของ "สามี" หรือ "ผัว" ไว้ได้โดยไม่ต้องลงทุนมากมายคือ "การทำหุ่นฟาง" ที่แสดงความเป็นชายไว้หน้าบ้าน (ก็ปักส่วนความเป็นชายสีแดงเด่นไว้ด้วยอย่างชัดเจน) เพื่อให้ผีแม่ม่ายมาเอาไป การสวมใส่เสื้อสีแดงไว้ก็เพื่อให้มองเห็นได้ง่ายๆ สะดุดตา ส่วนป้ายห้อยคอ "บ้านนี้ไม่มีผู้ชาย" นั้นคงจะยืนยันว่า "ผีแม่ม่าย" มีการศึกษาอ่านภาษาไทยออกได้รู้ว่า ในบ้านไม่เหลือผู้ชายแล้ว นั่นเอง (ไปอ่านเหตุผลเต็มๆ ที่นี่ครับ)

จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีใครสามารถระบุแลยืนยันได้ชัดเจนว่า ที่แท้จริงแล้ว "ผีปอบ ผีแม่ม่าย" คืออะไร มีอยู่จริงหรือไม่? แต่สำหรับผู้เขียนนั้นเชื่อว่า "ที่ใดมีการศึกษา ความก้าวหน้าทางการรักษาโรคภัยเข้าถึง มีหมอที่สามารถอธิบาย วินิจฉัย สอบสวนโรค ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกคน ที่นั้นจะไม่มี "ผีปอบ" แน่นอน"

pee mae mai 02

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ความเชื่อเรื่องผีของคนอีสาน | พิธีกรรมการโจลมะม็วด

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)