foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

nok hasadee link

ตำนานนกหัสดีลิงค์ (ต่อ)

คำว่า นกหัสดีลิงค์ นี้ เป็นชื่อนกใหญ่ชนิดหนึ่งในเทวนิยายว่า อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ รูปตัวส่วนใหญ่เป็นนก เว้นแต่จงอยปากเป็นงวงอย่างงวงช้าง ชื่อนกหัสดีลิงค์ไม่ค่อยปรากฎในเทวนิยาย คนส่วนมากทราบเรื่องนกขนาดใหญ่ในนิยายก็มี เช่น หงส์ พญาครุฑ นกหัสดิน สำหรับนกหัสดิน รูปร่างเป็นนกทั้งตัวใหญ่โต ขนาดโฉบเฉี่ยวเอาช้างในป่าไปกินเป็นอาหารได้ ไม่เกี่ยวโดยตรงกับนกหัสดีลิงค์

นกที่มีจงอยปากเป็นงวงช้างนี้ ปรากฏในภาษาบาลีว่า หัตดีลิงค์สกุโณ (หัตดี คือ ช้าง ลิงค์ แปลว่า เพศ สกุโณ แปลว่า นก) ในภาษาสันสกฤต คือ หัสดิน ลิงคะ แปลอย่างเดียวกัน ไทยเลือกใช้คำว่า หัสดีลิงค์ แปลกที่คำนี้ไม่มีในปทานุกรม กรมตำรากระทรวงธรรมการ พิมพ์ พ.ศ. 2470 ไม่มีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 และ พ.ศ. 2525 ค้นคว้าต่อไปพบในอักขราภิธานศรันท์ ของหมอปรัดเล พิมพ์ พ.ศ. 2416 หน้า 328 และพบในปทานุกรม บาลีไทย-อังกฤษ-สันสกฤต ของกรมพระจันทบุรีนฤนาถ ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2513 หน้า 867 หรือแม้ในบาลีสยามอภิธานของนาคะประทีป เรียบเรียงไว้ พ.ศ. 2465 ก็มีปรากฏคำนี้อยู่ แสดงว่าคนไทยเรารู้จักคำนี้มานาน

nok hasadee link 02

นกหัสดีลิงค์ เป็นชื่อเต็มๆ ของนกประเภทนี้ แต่ในล้านนานั้นเรียกเพียงสั้นๆ ว่า “นกหัส” ส่วนชื่ออื่นที่ปรากฏก็มีชื่อเรียกเป็นภาษาบาลีว่า “หตฺถิลิงฺคสกุโณ” ซึ่งเมื่อแปลออกมามีความหมายว่า นกมีเพศเหมือนช้าง เรื่องราวของนกหัสดีลิงค์นี่ไม่ปรากฏชัดเจนเฉพาะเรื่อง แต่พอจะประมวลได้จาก นิทานชาดกบ้าง ตำราสัตว์ป่าหิมพานต์บ้าง เมื่อสรุปจะได้ความสังเขปว่า นกหัสดีลิงค์นี้เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ลำตัวเป็นนก มีปีก มีหางอย่างนก แต่มีหัวเป็นช้าง มีลำตัวที่ใหญ่อีกทั้งมีกำลังเทียบเท่าช้าง 5 เชือกมารวมกัน นกหัสดีลิงค์ที่ว่านี้นั้นน่าจะถือกำเนิดในอินเดียก่อนแล้ว จึงแพร่เข้ามาในดินแดนล้านนาดังปรากฏในหนังสือของ ส.พลายน้อยว่า เรื่องนกประหลาดในวรรณคดี หรือนิยายปรัมปรานี้มีอะไรแปลกๆ เป็นเรื่องที่น่าคิดเล่น ชื่อนกในนิยายชองชาติต่างๆ ที่พบจะเทียบเคียงกันได้ก็มีนกเฮาะของจีน นกร้อคของอาหรับ และนกรุค (rukh) ซึ่งท่านผู้รู้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอย่างเดียวกัน

เพราะตามเรื่องก็ว่า เป็นนกใหญ่มีอำนาจไม่ผิดอะไรกันนัก ขุนวิจิตรมาตราได้เล่าถึงเรือง นกเฮาะ ไว้ว่า ในทะเลเหนือของจีน มีนกมหึมาเรียกว่า ไต้เฮาะ รูปร่างใหญ่โตมหึมาเหลือประมาณ ถึงเดือน 6 หน้าคลื่นลม นกเฮาะจะกางปีกออกปกฟ้ามิด เริ่มวิ่งฝ่าระลอกคลื่นเป็นระยะไกล 3,000 ลี้ก่อน แล้วก็โผทยานขึ้นสู่อากาศเป็นระยะสูง 9,00 ลี้ บินมาอาศัยอยู่ในเกาะมลายู นกเฮาะฝรั่งว่าเป็นนกที่เรียกว่า นกรุค (rukh) ถ้าเป็นนกรุคก็ตรงกับนกร้อค (roc) ตามที่มีในอาหรับราตรี เมื่อเช่นนี้นกเฮาะก็เห็นจะเป็นนกร้อคนั่นเอง เสียงเฮาะกับร้อคเข้ากันได้ดีอาจจะเป็นคำเดียวกัน แต่หากเรียกเพี้ยนกันไปตามสำเนียงแขกและสำเนียงจีน

nok hasadee link 13

นิยายเรื่องนกร้อคของอาหรับเล่าว่า นกร้อคเป็นนกใหญ่อยู่ในเกาะทางทะเลจีน คราวหนึ่งพวกเดินทะเลไปจอดทอดสมออยู่ที่เกาะแห่งหนึ่ง ได้ขึ้นไปบนเกาะและพบไข่เข้าฟองหนึ่ง มีขนาดใหญ่มาก จึงเอาขวานผ่าออกพบลูกนกขนาดมหึมาอยู่ข้างใน ก็เอาไปทำเป็นอาหารเลี้ยงกัน คนที่กินเข้าไปปรากฏว่า ผมหงอกกันหมด คนที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยหนวดเคราดำเป็นมัน

พอรุ่งเช้านกร้อคกลับมารู้ว่าพวกเดินเรือกินลูกของมันก็โกรธ มันขนก้อนหินมาทุ่มจนเรือแตกจมทะเล เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความใหญ่โตเก่งกาจของนกร้อค ซึ่งก็เห็นจะพอๆ กันกับนกรุคที่เล่ามาแล้ว ตามภาพเขียนของเปอร์เซียแสดงให้เห็นกำลังของนกรุคที่สามารถใช้เท้าจับช้าง ได้ข้างละตัวและที่ปากยังคาบช้างได้อีกตัวหนึ่ง นกร้อคกับนกรุคจึงน่าจะเป็นตัวเดียวกันอย่างแน่นอน

การที่เล่าเรื่องนกเฮาะ นกรุค และนกร้อค เท่าที่จะมีเรื่องกล่าวเท้าความถึง ก็เพื่อให้นำมาเปรียบเทียบกับ นกหัสดีลิงค์ ว่า เป็นนกที่ใหญ่โตเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะเป็นนกชนิดเดียวกันก็ได้ แต่เมื่อนำมาเขียนเป็นรูปภาพก็แตกต่างกันออกไปแล้วแต่ความนึกคิด

nok hasadee link 04

ความเข้าใจอย่างช่างเขียนจะกำหนดให้เป็นอย่างไร ส่วนเรื่องของนกหัสดีลิงค์ที่ ปรากฏอยู่ในพงศาวดารโยนกในการสร้าง เมืองหริภุญชัย ว่า พระวาสุเทพดาบส ถึงกล่าวว่า เราควรสร้างนครในสถานที่นี้ แต่นครอันเราจักสร้างนี้จักควรตั้งเป็นรูปทรง สัณฐานดังใดฤาจะดี พระสุกทันตฤาษีจึงกล่าวว่า เมื่อครั้งอนุสิษฏฤาษีสหายแห่งเราสร้างเมืองหฬิทวัลลี (เมืองสัชนาลัยสวรรคโลก) นั้นวางสัณฐานเมืองดังรูปเกล็ดหอย เมืองนั้นคนทั้งหลายอยู่เป็นสุขเกษม สำราญยิ่งนัก เราจะสร้างนครครั้งนี้ควรจะเอาเยี่ยงนั้น พระวาสุเทพดาบสจึงว่า ทำไฉนจึงจักได้เกล็ดหอย ในตำนานลำพูนว่า พระดาบสทั้งสองไปเองสู่สำนักพระอนุสิษฏฤาษี

พระอนุสิษฏฤาษี ปฏิสันถารต้อนรับกันแล้ว พระดาบสทั้งสองก็แจ้งยุบลเหตุอันมีประสงค์นั้นแก่พระอนุสิษฏสหายแห่งตน พระอสุสิษฏดาบสก็รับจะจัดหาหอยสังข์หรือเกล็ดหอยส่งไปให้ ครั้นพระดาบสทั้งสองลากลับไปแล้ว พระอนุสิษฏดาบสจึงให้นกหัสดีลิงค์ไปยังมหาสมุทร นำเอาหอยสังข์ขนาดใหญ่มาได้ แล้วก็ให้นำหอยนั้นไปส่งแก่พระดาบสทั้งสอง ยังสถานที่อันจะสร้างนครนั้น จากพงศาวดารการสร้างเมืองลำพูนจะเห็นได้ว่า นกหัสดีลิงค์ก็มีส่วนช่วยในการสร้างเมืองแก่ฤาษีทั้งสอง

ทั้งนี้เนื่องด้วย เป็นนกที่มีขนาดลำตัวที่ใหญ่มีกำลังมากมายสามารถนำเอาสิ่งที่ เกินวิสัยของสัตว์ทั่วไปจะพึงกะทำได้นำมาให้แก่ฤาษีทั้งสอง การรับรู้เรื่องสัตว์หิมพานต์เป็นสิ่งที่มีอยู่ในความเชื่อของคนล้านนามาแต่โบราณ บางทีอาจจะมีมาก่อนที่จะยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาก็อาจเป็นไปได้ เมื่อได้หันมานับถือพุทธศาสนาแล้วก็แปลงความเชื่อที่มีต่อสัตว์ศักดิ์สิทธิ์นั้น เข้ามารับใช้คติในทางพุทธศาสนา แล้วในประวัติพุทธศาสนาเองก็ดี วรรณกรรมเกี่ยวกับพุทธศาสนาเองก็ดี ก็เอ่ยถึงสัตว์เหล่านั้นด้วย ที่บางครั้งก็มาช่วยเหลือพระพุทธเจ้า ช่วยเหลือเหล่าพระสาวก จึงไม่แปลกที่จะเราจะเห็นสัตว์ประเภทต่างๆ ที่มีรูปร่างไม่เหมือนกับสัตว์ที่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงปรากฏอยู่ตามศาสนสถาน ไม่เว้นแม้แต่จะนำเข้ามาใช้ในพิธีกรรมแห่งความตาย อย่างนกหัสดีลิงค์นั้นถ้าหากจะกล่าวว่าจริงๆ แล้วในตำนานก็ดีในหนังสือทางศาสนาก็ดีต่างก็บอกถิ่นที่อยู่ลักษณะของนกหัสดีลิงค์ไว้ดังนี้ว่า นกชนิดนี้มีถิ่นที่อยู่ ณ เชิงเขาพระสุเมรุ ณ สถานที่นั้นเองเป็นป่าไม้ที่ชื่อว่า หิมพานต์ นิสัยของนกหัสดีลิงค์ชอบที่จะกินของสดๆ เป็นอาหาร

ส่วนสำเนียงเสียงร้องของนกชนิดนี้ ในหนังสือสัตว์หิมพานต์กล่าวไว้ว่า "หัสดีลิงค์ก็โผผินส่งเสียงสำเนียงฟังวังเวงใจ” สำหรับรูปร่างของนกชนิดนี้มีลักษณะของการผสมกันระหว่างช้างกับนก โดยมีลักษณะที่หัวเป็นช้าง ส่วนลำตัวเป็นนกทั่วๆ ไป แต่ทว่า นกหัสดีลิงค์นี้มีพละกำลังมากเท่ากับช้าง 5 ตัวรวมกันเลยทีเดียว ดังปรากฏอยู่ในหนังสือธัมมปทัฏฐคาถา ภาคที่ 2 โดยมีเรื่องเล่าไว้ว่า

nok hasadee link 07

ในอดีตมีเมืองอยู่เมืองหนึ่งชื่อว่า โกสัมพี เมืองนี้มีพระราชาทรงพระนามว่า พระเจ้าปรันตปะ ปกครองอยู่และทรงมีพระราชเทวีองค์หนึ่ง ซึ่งทรงพระครรภ์แก่องค์หนึ่ง ในวันหนึ่งพระราชากับพระเทวีทรงนั่งผิงแดดอุ่นอยู่ที่กลางแจ้ง พระราชาก็ได้ให้พระเทวีห่มผ้ากัมพลสีแดงของพระองค์ ขณะที่ทรงนั่งปราศรัยกันอยู่นั้น ก็ได้มีนกหัสดีลิงค์ตัวหนึ่งบินผ่านมาเห็น พระเทวีทรงห่มผ้ากัมพลสีแดง จึงชะลอปีกบินโผลงโดยนักหัสดีลิงค์เข้าใจว่า พระเทวีเป็นก้อนเนื้อฝ่ายพระราชาทรงตกพระทัยด้วยเสียงโผลงของนกหัสดีลิงค์ จึงเสด็จหนีเข้าสู่พระราชนิเวศน์

ส่วนพระเทวีไม่อาจจะเสด็จไปโดยเร็ว เพราะทรงพระครรภ์แก่ นักหัสดีลิงค์โผลงและจับพระนางไว้ในกรงเล็บแล้วก็บินขึ้นสู่อากาศ ธรรมดานกเหล่านี้มีกำลังเท่าช้าง 5 เชือก นกหัสดีลิงค์พาพระนางไปสู่ป่าหิมพานต์แล้ว ก็ไปจับที่ต้นไทรต้นหนึ่งเพื่อที่จะกินพระนาง จากสิ่งที่ปรากฏในตำนานก็ดีหรือหนังสืออื่นๆ ก็ดีต่างก็ยืนยันว่า นกหัสดีลิงค์นั้นเป็นนกที่มีการผสมกันระหว่างช้างบวกกับนก มีกำลังมากมายมหาศาลเท่ากับช้าง 5 ตัวมารวมกัน อาศัยที่ป่าหิมพานต์

ส่วนที่ว่า เมื่ออยู่ในป่าเหตุโฉนทำไมต้องเกี่ยวกับสวรรค์ชั้นดุสิต นี่เป็นปัญหาที่จะต้องวิเคราะห์กันต่อ เพราะในสวรรค์นั้นสัตว์เดรัจฉานนั้นไม่สามารถเข้าไปถึงได้ ส่วนการที่มีสัตว์อื่นๆ เช่น ช้างเอราวัณก็ดีแท้จริงแล้วเป็นการจำแลงตนของเทวดาเท่านั้น หรือแม้แต่เทวดาองค์อื่นๆ จะมีสัตว์เป็นพาหนะก็จะมีอยู่ในสถานที่ต่างหากไม่อยู่รวมกัน ถ้าหากต้องการใช้งานจึงเรียกหาดังนี้ เป็นต้น ถึงจะอย่างไรก็ตาม คนล้านนาก็ได้ยึดถือเอานกหัสดีลิงค์และสัตว์หิมพานต์ตัวอื่นๆ มาใช้ในการต่างศพของผู้มีบรรดาศักดิ์ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

nok hasadee link 10

สาระสำคัญ

เจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี หรืออาญาสี่ ซึ่งประกอบด้วย เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร ถือเป็นราชสกุลที่มาแต่เมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า เมื่อท่านเหล่านี้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ให้เชิญศพขึ้นเมรุรูปนกหัสดีลิงค์ หรือ นกสักกะไดลิงค์ แล้วชักลากออกไปบำเพ็ญกุศลที่ ทุ่งศรีเมือง เป็นเวลา 3 วัน จึงเผาศพ การทำศพแบบนักหัสดีลิงค์นั้น จำกัดเฉพาะกลุ่มเจ้านายอุบลฯ เท่านั้น ผู้ไม่ใช่เจ้านายไม่อนุญาตให้ทำศพแบบนี้ ระยะแรกการเผาศพทำที่ทุ่งศรีเมือง มาภายหลังเมื่อ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ปกครองเมืองอุบลฯ ให้ยกเลิกประเพณีการเผาศพที่ทุ่งศรีเมืองเสีย และอนุญาตให้พระเถระผู้ใหญ่ที่ทรงคุณธรรม เมื่อมรณภาพให้จัดประเพณีการทำศพแบบนกหัสดีลิงค์ได้ด้วย

เครดิตและขอขอบคุณ ผู้เขียนต้นฉบับโดย นายตัวดี ท.ทิวเทือกเขา

สรุป

ในภูมิภาคเอเชียถือว่า ให้ความสําคัญกับการตายมากกว่าการเกิด ซึ่งแตกต่างกันกับชาติตะวันตก จุดใหญ่ที่เป็นการพิสูจน์ถึงความเชื่อขั้วตรงข้ามคือ การนับศักราช ข้อแตกต่างการนับศักราชแบบของพุทธศาสนาคือ นับเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว 3 เดือน แต่ทางคริสต์ศาสนานั้นเริ่มนับเมื่อพระเยซูประสูติ ด้วยความแตกต่างดังกล่าว จึงเป็นตัวกําหนดพิธีกรรมและการให้ความสําคัญต่อสิ่งๆ นั้น แตกต่างกันออกไป

วัฒนธรรมการปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์ เป็นความเชื่อโบราณในแถบลุ่มแม่น้ําโขง เริ่มตั้งแต่ เมืองเชียงรุ้งแสนหวี แคว้นสิบสองปันนา ล้านนาเชียงใหม่ ล้านช้างหลวงพระบาง ดินแดนจําปาสัก เรื่อยจนถึงดินแดนอีสาน ซึ่งแต่ละแห่งล้วนมีผู้ครองนคร ก่อนที่จะมีการกั้นอาณาเขตด้วยระบบการเมืองการปกครองแบบสมัยใหม่ อาณาจักรเมื่อครั้งเก่าก่อนนั้น มีการผสมผสานกันโดยเฉพาะด้านประเพณีความเชื่อ ยิ่งถ้าเป็นเชื้อชาติเดียวกันด้วยนั้นรากแก้วแห่งความเชื่อดั้งเดิมย่อมยังปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน ถึงแม้รายละเอียดปลีกย่อยจะแตกต่างไปบ้าง เมื่อเรามองตํานานนกหัสดีลิงค์ที่ปรากฏ โดยเฉพาะรูปลักษณ์ก็ไม่แตกต่างกัน ล้วนมีลักษณะหัวเป็นช้าง ตัวเป็นนกตามจินตนาการ ซึ่งเป็นความเชื่อที่คนบางกลุ่มเชื่อว่ามี เช่นเดียวกับความเชื่อเรื่องพระยานาค ความเชื่อเช่นนี้เป็นการยากที่จะพิสูจน์ชัดว่ามีอยู่จริงหรือไม่ และไม่มีเหตุผลจําเป็นที่ต้องพิสูจน์ เพราะความเชื่อเช่นนี้จะมีตัวพิธีกรรมและตํานานรองรับมากมาย เป็นสิ่งที่สังคมได้สถาปนาขึ้นเพื่อเหตุผลทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งถือเป็นการควบคุมสังคมอย่างหนึ่งให้เกิดความสงบสุขและสามัคคีกลมเกลียวกัน ส่งผลให้เกิดการขัดเกลาทางสังคมโดยอาศัยความเชื่อให้ลูกหลานมี หิริโอตัปปะ ไม่ดื้อด้านหยาบโลนหรือเป็นผู้ที่ลุแก่คําาสอนของผู้อาวุโส

การขัดเกลาดังกล่าวล้วนส่งผลต่อการปกครองในราชอาณาจักรนั้นๆ เนื่องจากมีความเชื่อเป็นแบบแผนสําคัญในการมีกิจกรรม หรือพิธีกรรมเกี่ยวข้องกัน ทั้งการเกิด การเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางสังคม หรือแม้กระทั้งการตาย เทคนิควิธีการเกี่ยวกับการปลงศพนั้น มีความละเอียดซับซ้อนขึ้นอยู่กับฐานะทางสังคม ไพร่ ทาส คนธรรมดาสามัญ ก็ปลงศพตามมีตามเกิด ส่วนเจ้านายชั้นปกครองล้วนใช้ความเชื่อทางศาสนามาเป็นตัวรองรับ ซึ่งได้แก่ การเผาในเมรุเพราะเป็นความเชื่อของพราหณ์เกี่ยวกับโลกและจักรวาล อันมีเขาพระสุเมรุอยู่กลางจักรวาล หรือ การปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์ มีความเชื่อรองรับว่าจะนําพาไปสู่ภพภูมิที่ชนชั้นของตนเองมีความเชื่อว่า ควรที่จะไปอยู่ การสร้างงานด้วยเทคนิคต่างๆ ก็เกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่โครงสร้างนก การเคลื่อนที่ของนก การติดประดับตกแต่ง จนกระทั้งการเคลื่อนไหวของงวง การกระพริบตา ล้วนเพื่อเสริมให้เห็นเกิดความสมจริง สะท้อนให้เห็นถึงความอัจฉริยภาพของคนโบราณเป็นอย่างมาก ยิ่งในขบวนแห่มา การจัดแบ่งรูปขบวนและผู้คนเข้าร่วมงานเป็นจํานวนมาก เห็นถึงความจงรักภักดีต่อศพ ไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย หรือพระเถระผู้ใหญ่ ล้วนสะท้อนเห็นความกลมเกลียวสมัครสมานเป็นน้ําหนึ่งใจเดียวกันของคนในชุมชนแทบทั้งสิ้น

ดังนั้นการตายของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ลาว-ไทย โดยเฉพาะในราชวงศ์ชั้นสูงนั้น ล้วนมีความเชื่อของชนชาติฝังอยู่หยั่งรากลึก ยากต่อการหักโค่นไปได้และถือเป็นการสร้างพลังขับเคลื่อนระบบสังคม การเมือง การปกครอง หรือแม้กระทั่งระบบเศรษฐกิจ ให้สามารถเดินควบคู่ความเชื่อและศาสนาเพื่อดํารงรักษาเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ให้คงอยู่สืบต่อไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลงไปแห่งโลกใบนี้

อ้างอิง

สุจิตต์ วงษ์เทศ. หลวงพ่อขี้หอม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2544.
สุวิชช คูณผล. ตําานานนกหัสดีลิงค์และวิธีเผาศพ. ม.ป.ท. : ม.ป.ป.
อรรถ นันทจักร์. รวมบทความว่าด้วยนกหัสดีลิงค์. มหาสารคาม : ประสานการพิมพ์, 2536.

นางสีดาฆ่า “นกหัสดีลิงค์” เมืองเกษมสีมา
รื้อฟื้นตำนาน สืบสารมรดกทางวัฒนธรรม ต.เกษม อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี

เอกสารเกี่ยวข้องให้ดาวน์โหลด

lilred

ปอยล้อ หรือ ปราสาทนกหัสดีลิงค์ ในล้านนา

ชาวเหนือ หรือที่เราเรียกว่า ชาวล้านนา นับถือพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ทำให้วิถีชีวิตของชาวล้านนาผูกพันกับพระพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อชาวล้านนาในด้านวิทยาการความรู้ต่างๆ รวมทั้งได้มีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดแบบแผนทางวัฒนธรรมหลากหลาย ตลอดจนคติความเชื่อประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย ซึ่งหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เน้นเรื่องผลของบาปกรรม ชาติภพ ดังนั้นความเชื่อหลังความตายจึงก่อให้เกิดประเพณี เพื่อการเฉลิมฉลองให้กับคนตายที่ได้สร้างคุณงามความดีมาตลอดทั้งชีวิตขึ้น ประเพณีดังกล่าวนี้เรียกว่า ‘ประเพณีปอยล้อ’ หรือ ‘ปอยลากปราสาท’

nok hasadee link 37

‘ปอยล้อ’ คือ การประกอบพิธีทางศาสนาและงานมหรสพ ที่จัดขึ้นเนื่องในการฌาปนกิจสรีระสังขารของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มรณภาพ เพื่อแสดงความกตัญญูและระลึกถึงคุณงามความดีที่ได้บำเพ็ญต่อสังคม ความโดดเด่นของประเพณีนี้คือ ‘ปราสาท’ หรือ ‘เมรุ’ ขนาดใหญ่ที่จัดสร้างเป็นรูป 'นกหัสดีลิงค์' อย่างวิจิตรงดงาม การทำศพพระสงฆ์ด้วยการใส่เรือนศพทำเป็นปราสาทลากไปสู่ป่าช้าของชาวล้านนา และเรือนปราสาทวางอยู่บนไม้แม่สะดึงมีล้อเลื่อนไปด้วย จึงเรียกว่า ‘ปอยล้อ’ คือ การลากศพไปด้วยล้อเลื่อน นั่นเอง

nok hasadee link 38

ประเพณีลากปราสาทศพของล้านนา นิยมจัดพิธีอย่างใหญ่โต แม้จะต้องใช้จ่ายเงินทองมากมาย และเป็นการสิ้นเปลืองเงินทองอยู่บ้าง แต่ก็ให้ผลทางจิตใจและเป็นการสนองคุณครูบาอาจารย์ครั้งสุดท้าย ซึ่งท่านเป็นผู้เสียสละโลกียสุข งดเว้นจากสิ่งที่ชาวโลกประพฤติปฏิบัติกัน อุทิศตนเพื่อพุทธศาสนา นับเป็นบุคคลตัวอย่างที่ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ นอกจากนี้การลากปราสาทศพยังทำแก่ผู้ใหญ่ในแผ่นดิน เช่น เจ้าผู้ครองนคร เจ้านายในพระราชวงศ์ สำหรับในพุทธศาสนา กำหนดเอาพระสงฆ์ผู้ใหญ่ชั้นพระเถระ หรือพระผู้อาวุโสมีพรรษามาก เป็นที่เคารพยกย่องของลูกศิษย์และประชาชนทั่วไป

ปัจจุบันการทำศพพระสงฆ์ ใช้วิธีการ 2 แบบ คือ

  • ถวายเพลิงศพลากปราสาทธรรมดา หมายถึง พระสงฆ์ที่เป็นผู้อาวุโสมีอายุพรรษามาก แต่ไม่ได้รับสมณศักดิ์เป็น ‘ครูบา’ ของประชาชนธรรมดา การทำศพแบบนี้มีการลากปราสาทไปถึงที่แล้วก็ทำพิธีบังสุกุล เผาธรรมดา
  • การถวายแบบขอพระราชทานเพลิงศพ คือ การขอพระราชทานไฟหลวงจากพระเจ้าแผ่นดิน ใช้สำหรับพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ เช่น เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอที่มรณภาพลง การทำแบบนี้นอกจากจะลากปราสาทแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่เชิญไฟพระราชทาน พร้อมกับมีผู้แทนของพระองค์มาทำพิธีแทน พระองค์ด้วย โดยมากเป็นผู้แทนจากสำนักพระราชวัง หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น

nok hasadee link 39

อ้างอิง : เปิดตำนานปอยปราสาท วัฒนธรรมล้านนา

lilred

ตำนานนกหัสดีลิงค์ (1) | ตำนานนกหัสดีลิงค์ (2) | ตำนานนกหัสดีลิงค์ (3)

เมรุุนกหัสดีลิงค์เทินบุษบก ใน งานพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่พระเทพวิทยาคม "หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ"

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)