คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ขอบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของ ประเพณีการจัดงานปลงศพสำหรับบุคคลสำคัญที่เป็นชั้นเจ้านายปกครองบ้านเมืองในอดีต และพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ที่ผู้คนนับถือศรัทธาเป็นจำนวนมาก ด้วยการจัดทำเมรุเผาศพที่ยิ่งใหญ่สร้างเป็น รูปนกหัสดีลิงค์ เพื่อแสดงความเคารพและสักการะ ดังความว่า "วัฒนธรรมประเพณีพื้นเมืองจะยังอยู่สืบเชื้อสายได้ ก็จะต้องมีผู้รักษาสืบต่อ หากขาดผู้รักษาแล้ว วัฒนธรรมท้องถิ่นก็ย่อมหมดไปด้วย การสร้าง นกหัสดีลิงค์ ที่ว่านี้เป็นเรื่องประชาชนในท้องถิ่นถวายให้เกียรติแก่ผู้ตาย ส่วนไฟพระราชทานนั้นเป็นพระเมตตาของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานมาให้ผู้ตาย นกหัสดีลิงค์ ก็เท่ากับว่า "เป็นพานทองรับไฟเพลิงพระราชทานของพระมหากษัตริย์" นั่นเอง ดอกไม้มีพานใส่ฉันใด นกหัสดีลิงค์ก็ฉันนั้น"
29 มกราคม 2562 เป็นการฟื้นฟูพิธีกรรมงานศพของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ที่เป็นที่เคารพรักศรัทธาของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการจัดทำ เมรุเผาศพรูปนกหัสดีลิงค์ขึ้น "พิธีพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่ พระเทพวิทยาคม" หรือ "หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ" ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันอังคารที่ 29 มกราคม 2562 ณ เมรุลอยชั่วคราว วัดหนองแวงพระอารามหลวง บริเวณพุทธมณฑลอีสาน บ้านเต่านอ ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ขณะนี้ทาง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการเตรียมงานกันล่วงหน้ามาเป็นปีแล้ว โดยเฉพาะการสร้างเมรุลอยชั่วคราวที่พุทธมณฑลอีสาน เพื่อใช้เป็นสถานที่พระราชทานเพลิงศพของหลวงพ่อคูณ ซึ่งเป็นรูปนกหัสดีลิงค์เทินบุษบกสีขาวทั้งหลัง สูง 22.6 เมตร ฐานกว้าง 16 เมตร ที่มีขนาดใหญ่และงดงามที่สุด ซึ่งเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสาน ที่นิยมสร้างนกหัสดีลิงค์ประกอบเมรุลอยสำหรับงานศพพระเถระชั้นผู้ใหญ่
นกหัสดีลิงค์เทินบุษบกหอแก้ว บนหลังมีหีบเอวขัน ยอดนพศูล ก่อสร้างอยู่บนฌาปนกิจสถานชั่วคราว วัดหนองแวง พระอารามหลวง ด้านหลังพุทธมณฑลอีสาน เป็นสถานที่ที่จะใช้ในพิธีพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่พระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ในวันที่ 29 มกราคม 2562 ฌาปนกิจสถานชั่วคราวแห่งนี้ ออกแบบเป็นฐาน 8 เหลี่ยมตามทิศในจักรวาล ทิศหลัก 4 ทิศ ทิศรอง 4 ทิศ แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ตามคติไตรภูมิ
ชั้นนอก แทนโลกมนุษย์ ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับผู้มาร่วมงาน มีทางเชื่อมเป็นบันไดขึ้นทางด้านหน้า และด้านหลัง
ชั้นที่ 2 เป็นป่าหิมพานต์ มีนาคประจำ 8 ทั้ง 8 มุม ทิศรองจัดวางหอธรรมาศ ทั้ง 4 ทิศ ประดับด้วยต้นดอกไม้จันทน์ และสัตว์ป่าหิมพานต์ ทั้งจตุบาท ทวิบาท รวม 32 ตัว มีช้าง 4 งา ประจำทิศหลัก 4 ทิศ ช้าง 4 งา ออกแบบตามซากช้างดึกดำบรรพ์ที่ขุดพบในจังหวัดนครราชสีมา บ้านเกิดของหลวงพ่อคูณ
ทิศรองด้านใน มีบันไดนาค 4 แห่ง เชื่อมขึ้นสู่ชั้น 3 นาคทั้ง 16 ตน ออกแบบตามแนวศิลปะประยุกต์ ผสมผสานศิลปะภาคอีสาน ลาว และเขมร พื้นที่ที่หลวงพ่อคูณมีความสัมพันธ์เป็นพิเศษ
ชั้นที่ 3 แทนสวรรค์ เป็นพื้นที่ลานพิธีกรรม เมรุออกแบบเป็นนกหัสดีลิงค์เทินบุษบกหอแก้ว บนหลังมีหีบเอวขันยอดนพศูล หัวนกสูง 8 เมตร 50 เซ็นติเมตร ด้านหางสูง 10 เมตร 20 เซ็นติเมตร ขณะที่ฉัตรสูง 26 เมตร ใหญ่ที่สุดตั้งแต่เคยก่อสร้างมา เมรุนกหัสดีลิงค์ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก และเตรียมจัดวางให้สรีระสังขารหลวงพ่อคูณหันศรีษะไปทางทิศเหนือ ตามแนวคิดทิศเหนือ คือ โลกที่เหนือขึ้นไป หรือ สรวงสวรรค์
นกหัสดีลิงค์ ออกแบบตามขนบช่างนกอีสาน มีหัวเป็นนก แต่มีงวงและงาเหมือนช้าง ต่างจากนกหัสดีลิงค์ของภาคเหนือที่มีหัวเป็นช้าง โดยออกแบบให้มี 4 งา เช่นกัน ลายขนนกที่หัวและปีก ออกแบบเป็นลายกลีบดอกคูณ หางนกเป็นลายกนก โดยใช้แบบจากไม้แกะสลักประดับสิม หรือ โบสถ์ วัดพระธาตุขามแก่น นกมีกลไกขยับ งวง ปาก ตา คอ และปีก
หอแก้ว ฐานเอวขันปากพาน บุษบกประดับโก่งคิ้ว ลายดอกกาลกัป ดอกไม้ที่ไม่ร่วงโรยแม้วันสิ้นโลก สื่อความหมายถึงพระนิพพาน ซึ่งเป็นสัจธรรมเที่ยงแท้ไม่เปลี่ยนแปลง ในหอแก้ววางด้วยหีบเอวขัน ยอดนพศูล ประดับลายกระจังปากหีบ หีบเอวขันยอดนพศูล เป็นหีบประดับเกียรติยศสูงสุด ตามความเชื่อของคนอีสาน เหนือขึ้นมาเป็นบัวหงายหน้ากระดานรองรับหลังคาเป็นชั้นเวสน์ 2 ชั้น
ส่วนยอดออกแบบเป็นหม้อกลศ หรือ ส่วนสูงสุดของปราสาทหิน ชั้นหลังคาด้านล่างประดับด้วยลายซุ้ม ตามแบบพระธาตุพนม และลายโค้งเกสรดอกคูณ ยอดเป็นเจดีย์บัวเหลี่ยม 5 ยอด โดยเจดีย์บัวเหลี่ยม เป็นเอกลักษณ์ของเจดีย์ในลุ่มน้ำโขง เช่น พระธาตุพนม พระเชิงชุม เหนือเจดีย์แต่ละยอดมีฉัตร เจดีย์กลาง 5 ชั้น เจดีย์รอง 3 ชั้น ยอดฉัตรประดับด้วยไม้คูณแกะสลัก ปิดด้วยทองคำ
และเพื่อให้พิธีกรรมดังกล่าวมีความสมบูรณ์ ครบถ้วน ถูกต้อง ตามประเพณีแต่โบราณสืบมา ทางจังหวัดขอนแก่น จึงได้จัดขบวนอัญญาสี่เดินทางมาจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเชิญเจ้านางสีดาไปฆ่านกหัสดีลิงค์ ในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่เมรุชั่วคราววัดหนองแวง พระอารามหลวง จังหวัดขอนแก่น ด้านหลัง มณฑลอีสาน ริมถนนเลี่ยงเมืองขอนแก่น-กาฬสินธุ์ ในวันที่ 29 มกราคม 2562 นี้
เมรุลอยที่ใช้ในการพระราชทานเพลิงศพอาจารย์ใหญ่ "หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ"
ถูกออกแบบเป็นรูป "นกหัสดีลิงค์" อย่างงดงามวิจิตร จาก ข่าวสปริงนิวส์
เมรุลอยนกหัสดีลิงค์ ส่งหลวงพ่อคูณ จาก ข่าวไทยรัฐ
การฆ่านกหัสดีลิงค์ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 2324 ถึงปัจจุบันเท่าที่มีการบันทึกไว้ นางสีดาได้ฆ่านกหัสดีลิงค์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ตัว นางสีดาตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจุบัน มี 6 รุ่น ประกอบด้วย
นางสาวเมทินี หวานอารมย์ กล่าวว่า การที่ตนมาเป็นผู้สืบเชื้อสายนางสีดานั้น ไม่ใช่การสืบเชื้อสายที่ใครๆ ก็เลือกที่จะเป็นได้ เพราะในรุ่นของ แม่มณีจันทร์ มาถึงรุ่น แม่สมวาสนา ซึ่งมีลูกคือ แม่ประทิน แต่รุ่นลูกของแม่ประทินนั้น ไม่มีใครสืบชื้อสายนางสีดา การสืบเชื้อสายนางสีดาจึงหายไปในบางช่วง กระทั่งมาถึงคุณเมทินี ซึ่งเป็นรุ่นเหลนที่มาเป็นผู้สืบเชื้อสายนางสีดาแห่งเมืองอุบลราชธานี โดยคนในครอบครัวบอกว่า "คุณเมทินีนั้นเคยประสบอุบัติเหตุ ถึงขั้นที่แพทย์ ญาติพี่น้องบางคนเชื่อว่า "ตายไปแล้ว" แต่มีบางคนยังไม่เชื่อ จึงกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงบอกกล่าวนางสีดาตามเชื้อสายที่เรียงลำดับกันมาว่า หากนางเมทินีฟื้นคืนชีพ ยินดีที่จะเป็นร่างทรง หรือผู้สืบเชื้อสายนางสีดาต่อไป จากนั้น นางเมทินีก็ฟื้นคืนชีพ และเป็นผู้สืบเชื้อสายนางสีดาสายเมืองอุบลในปัจจุบัน"
ตำนานนกหัสดีลิงค์ จากรายการ เรื่องนี้มีตำนาน ThaiPBS
สำหรับ นางสาวเมทินี หวานอารมย์ เป็นนางเทียมนางสีดา ฆ่านกหัสดีลิงค์ งานสุดท้าย ในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระสิริพัฒนาภรณ์ (สมหมาย โชติปุญโญ) อดีตเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง และอดีตเจ้าคณะอำเภอเขื่องใน เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ณ เมรุนกหัสดีลิงค์ วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
สำหรับการเชิญนางสีดาไปประกอบพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ ใน งานพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ นั้น ทางเจ้าภาพ (จังหวัดขอนแก่น) จะแต่งตั้งตัวแทนอัญญาสี่ไปเชิญเจ้านางสีดาโดยผ่านนางเทียมหรือคนทรง ในที่นี้คือ นางสาวเมทินี หวานอารมย์ โดยตัวแทนอัญญาสี่ต้องนำขันธ์ห้าไปเชิญ เมื่อนางเทียมรับขันธ์เชิญและเรียกค่าบูชาครูแล้ว คณะเจ้าภาพก็ลากลับ นางเทียมก็จะได้ตระเตรียมบอกเล่าไปให้บริวารมาช่วยงานตามกำหนดต่อไป
ขอบคุณที่มาของข่าว : GuideUbon.com
19 มกราคม 2562
เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา คณะอาญา 4 จากจังหวัดขอนแก่น ได้เดินทางมาเชิญนางสีดาปราบนกหัสดีลิงค์ ตามแบบประเพณีโบราณ นำขบวนอาญา 4 แห่พานเงินและทองเป็นค่ายกคาย (ยกครู) คายหน้า 15 ตำลึง คายหลัง 12 ตำลึงและทองคำแท้มีน้ำหนัก 10 บาท มาเชิญนางสีดาไปร่วมงานพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ในวันที่ 29 มกราคม เพื่อส่งวิญญาณหลวงพ่อคูณ ไปสู่สรวงสวรรค์ เมื่อเวลา 16.00 น. ที่บ้านนางสาวเมทินี หวานอารมณ์ ทายาทนางสีดา รุ่นที่ 6 อายุ 45 ปี พักอาศัยอยู่ที่บ้านด้ามพร้า ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วยเครือตระกูลปราบภัย ได้ต้อนรับคณะ ครูธรรมยอดแก้ว ดร.ยุทธพงษ์ มาศวิเศษ เจ้าพิธีช่างทำนกหัสดีลิงค์ พร้อมด้วยขบวนของอาญา 4 ซึ่งเป็นชาย 4 คน หญิง 4 คน และเครื่องค่าคาย (ยกครู) ซึ่งเป็นพานคายหน้ามีเงิน 15 ตำลึง และคายหลังมีเงิน 12 ตำลึง
ส่วนพานกลางเป็นทองคำแท้ที่มีน้ำหนัก 10 บาท จำนวน 2 เส้น โดยขอเข้าไปในบริเวณบ้าน เพื่อที่จะทำพิธีอันเชิญนางสีดาให้ไปปราบนกหัสดีลิงค์ ด้านนางสาวเมทินี หวานอารมณ์ เป็นทายาทนางสีดา ได้พาคณะอาญา 4 ทำพิธีอันเชิญนางสีดา พร้อมตรวจความสมบูรณ์ของคาย ที่ทางคณะของอาญา4 นำมาเป็นเครื่องยกครู ซึ่งโดยมีร่างทรงพ่อประจักรซึ่งเป็นพี่ชายของนางสีดา เป็นผู้ตรวจเครื่องคายว่า ถูกต้องตรงตามประเพณี และทองเป็นทองแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ โดยทางร่างทรงพ่อประจักร์บอกว่า "หากเป็นของปลอมจะเป็นสิ่งไม่ดีกับคณะที่นำมา แต่ตรวจดูแล้วเป็นทองแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์" เมื่อเสร็จพิธีแล้วนางสีดาจะคืนให้
หลังจากนั้นนายสรรพสิทธิ์ รัศมี เป็นผู้กำกับพิธีกรรมในการฆ่านกหัสดีลิงค์ ได้ร่วมเจรจาในเรื่องของพิธีกรรมกับ ครูธรรมยอดแก้ว ดร.ยุทธพงษ์ มาศวิเศษ เจ้าพิธีช่างทำนกหัสดีลิงค์ โดยมีการกำหนดเวลาในการทำพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ในช่วงเวลา 18.00 น. ทางฝ่ายของนางสีดาจะมีการตั้งขบวนบริเวณด้านศรีษะของนักหัสดีลิงค์
โดยจะมีอาญา 4 ของฝ่ายเจ้าเมืองขอนแก่น จะมาเชิญนางสีดาเข้าไปในบริเวณพิธี ขณะที่นางสีดาจะมีการจัดขบวนทัพฆ่านกหัสดีสิงค์ ขบวนแรกเป็นขบวนของอาญา 4 ขบวนที่ 2 ขบวนอาวุธและเพชรฆาต มีหอก ดาบ ธนู ขบวนที่ 3 เป็นขบวนของนางสีดา ดนตรี ฉิ่ง ฉาบและแคน ขบวนที่ 4 เป็นขบวนเครื่องเซ่นไหว้ ส่วนขบวนที่ 5 เป็นขบวนของผู้ติดตาม
ส่วนการจะขึ้นไปฆ่านกจะมีนางสีดาและเพชรฆาตเท่านั้น โดยนางสีดาจะไปรำหลอกล่อนก และเป็นผู้ใช้ลูกศรยิงนก หลังจากนั้นทางฝ่ายเพชรฆาตจะเป็นผู้ใช้หอกแทงนกจนมีเลือดไหลออกมา นกจะร้องเสียงดังแล้วจะค่อยๆ เสียชีวิต ตาจะหลับงวงจะไม่แกว่งไปมา
ส่วนด้านก้นของนกจะมีขี้นกไหลออกมา ซึ่งจะเป็นผลไม้ต่างๆ เช่น ส้ม ประชาชนที่ไปร่วมงานสามารถที่จะเก็บไปรับประทาน เพื่อเป็นมงคลให้กับตัวเอง เมื่อฆ่านกแน่นิ่งแล้ว ขบวนของนางสีดาจะเดินทางกลับจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อกลับถึงบ้านแล้ว หลังจากนั้น 3 วันจะมีพิธีกินขี้นก โดยจะมีการจัดเลี้ยงฉลองชัยชนะในการฆ่านกให้กับทีมงาน
เสร็จแล้วทุกคนจะแยกย้ายกันไปปฏิบัติหน้าที่ของตนเองตามปกติ นางสาวเมทินี หวานอารมณ์ เป็นทายาทนางสีดารุ่นที่ 6 บอกว่าตอนนี้ได้เตรียมงานทุกอย่างพร้อมทั้งกำลังพลและเครื่องแต่งกาย มีการวางแผนการเดินทางโดยจะมีการทำพิธีบวงสรวงที่บ้าน ในช่วงเช้าของวันที่ 29 มกราคม 2562 และหลังจากนั้นทางคณะก็จะออกจากบ้านในทันที่โดยใช้รถบัส 2 ชั้น มีห้องสุขาอยู่บนรถ จะไม่มีการแวะระหว่างทาง และจะไปพักทัพบริเวณที่ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดเตรียมไว้ให้ หลังพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์เสร็จจะเดินทางกลับจังหวัดอุบลราชธานีในทันที โดยจะรักษาพิธีตามขนบธรรมเนียมอย่างเคร่งครัด
ที่มาของข่าว : 77 ข่าวเด็ด
19 มกราคม 2562
ดาวน์โหลด : หนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ (40 หน้า)
หนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ฉบับเต็ม (100 หน้า)
แบบอนุสรณ์สถานพระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ สร้างครอบจุดฌาปนสถาน หลังองค์พุทธมณฑลอีสาน
มีความสูงเทียบเท่าตึก 10 ชั้น ประยุกต์แบบของพระธาตุในกลุ่มวัฒนธรรมไทย – ลาว ทรงบัวเหลี่ยม
รวมภาพพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณ ปุริสุทฺโธ
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : ตำนานนกหัสดีลิงค์ การจัดการปลงศพเจ้านายและพระเถระผู้ใหญ่ในภาคอีสาน
ตำนานนกหัสดีลิงค์ (1) | ตำนานนกหัสดีลิงค์ (2) | ตำนานนกหัสดีลิงค์ (3)
เมรุุนกหัสดีลิงค์เทินบุษบก ใน งานพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่พระเทพวิทยาคม "หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ"
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)