คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
หลวงพ่อคูณ แห่งวัดบ้านไร่ เป็นชื่อที่ติดหู และได้รับความสนใจของคนไทยมานานหลายสิบปี ด้วยความที่หลวงพ่อท่านเป็นพระที่มากด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นท่านั่งยอง หรือการพูดจากภาษาโคราชแบบพ่อขุนรามคำแหง (กู, มึง) แต่สิ่งที่นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้คนมักนึกถึงหลวงพ่อคูณ คงหนีไม่พ้นเครื่องรางของขลัง และหลักคำสอนแบบตรงไปตรงมา ที่แฝงไว้ด้วยหลักธรรมอันลึกซึ้งให้ผู้คนนำไปยึดเป็นแนวทางดำเนินชีวิต และชีวประวัติอันเต็มไปเรื่องราวอันน่าสนใจมากมาย มีฉายาว่า "เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด"
หลวงพ่อคูณ เกิดในชื่อและนามสกุลทางโลกคือ คูณ ฉัตร์พลกรัง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2466 ตรงกับแรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน ที่บ้านไร่ หมู่ที่ 6 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรชายคนโตของนายบุญ (บิดา) และนางทองขาว (มารดา) ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกร มีพี่น้องร่วมบิดามารดาสามคน
มารดาของหลวงพ่อคูณ เล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า ก่อนการตั้งครรภ์ ในกลางดึกของคืนวันหนึ่ง เวลาประมาณตี 3 นางได้ฝันเห็น "เทพองค์หนึ่ง" มีกายเรืองแสงงดงาม ลอยลงมาจากสวรรค์ มาที่บ้านของนางและกล่าวว่า
“เจ้าและสามีเป็นผู้มีศีลธรรม เมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง ประกอบการงานอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งยังสร้างคุณงาม ความดีมาตลอดหลายชาติ เราขออำนวยพรให้เจ้า และครอบครัวมีแต่ความสุขสวัสดิ์ตลอดไป”
และเทพองค์นั้นยังได้มอบดวงแก้วอันใสสะอาดวางให้แก่นางด้วย
ดวงมณีนี้ เจ้าจงรับไปและรักษาให้ดีต่อไปภายหน้า จะได้เป็นพระพุทธสาวกหน่อเนื้อพระชินวร เพื่อสืบพระพุทธศาสนา เป็นเนื้อนาบุญ ที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งปวง ”
โยมบิดามารดาของหลวงพ่อคูณ เสียชีวิตลงขณะที่ลูกทั้งสามยังเด็ก เด็กชายคูณกับน้องสาวทั้งสอง จึงอยู่ในความอุปการะของน้าสาว สมัยที่เด็กชายคูณมีอายุราว 6-7 ขวบ เข้าเรียนหนังสือกับพระอาจารย์เชื่อม วิรโธ, พระอาจารย์ฉาย และพระอาจารย์หลี ทั้งภาษาไทย และภาษาขอม นอกจากนี้พระอาจารย์ทั้งสาม ยังอบรมสั่งสอนคาถาอาคม เพื่อป้องกันอันตรายต่างๆ ให้ด้วย เด็กชายคูณจึงมีความรู้ในวิชาไสยศาสตร์ คาถาอาคม มาแต่บัดนั้น
นายคูณ ฉัตร์พลกรัง อุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดถนนหักใหญ่ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 ปีวอก (หนังสือบางแห่งระบุว่าเป็นปี 2486) โดยมีพระครูวิจารย์ดีกิจ อดีตเจ้าคณะอำเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนพระกรรมวาจาจารย์ ก็คือพระอาจารย์สุข วัดโคกรักษ์ อุปัชฌาย์ให้ฉายาว่า "ปริสุทฺโธ" หลังจากนั้น หลวงพ่อคูณฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ตำบลสำนักตะคร้อ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา หลวงพ่อแดง ท่านเป็นพระนักปฏิบัติทางด้านคันถธุระ และวิปัสสนาธุระอย่างเคร่งครัด ทั้งเป็นพระเกจิอาจารย์ ที่เรืองวิทยาคมเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คน และลูกศิษย์เป็นอย่างมาก
หลวงพ่อคูณอยู่ปรนนิบัติรับใช้ หลวงพ่อแดงมานานพอสมควร หลวงพ่อแดงจึงพาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ หลวงพ่อคง พุทธสโร ซึ่งหลวงพ่อทั้งสองรูปนี้เป็นเพื่อนกัน ต่างให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เมื่อมีโอกาสได้พบปะมักแลกเปลี่ยนธรรมะ ตลอดจนวิชาอาคมแก่กันเสมอ จากนั้น หลวงพ่อคง ผู้ทรงคุณทั้งทางธรรม และทางไสยเวทย์ ก็ได้สอนวิชาต่างๆ ให้กับหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ด้วยความรักใคร่มิได้ปิดบังอำพรางแต่อย่างใด โดยใช้วิธีการสอนโดยการศึกษาพระธรรมควบคู่กับการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เน้นการมี "สติ" ระลึกรู้ พิจารณาอารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบและให้เกิดความรู้เท่าทันในอารมณ์นั้น
เวลาล่วงเลยมานานพอสมควร กระทั่งหลวงพ่อคงเห็นว่า ลูกศิษย์ของตนมีความรอบรู้ ชำนาญการปฏิบัติธรรมดีแล้ว จึงแนะนำให้ออกธุดงค์จาริก ไปตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูงต่อไป ระยะแรกหลวงพ่อคูณธุดงค์จาริกอยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นจึงจาริกไกลออกไป กระทั่งถึงประเทศลาว และประเทศกัมพูชา มุ่งเข้าสู่ป่าลึก เพื่อทำความเพียรให้เกิดสติปัญญา เพื่อการหลุดพ้นจากกิเลสตัณหา และอุปาทานทั้งปวง
หลังจากที่พิจารณา เห็นสมควรแก่การปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อคูณจึงออกเดินทางกลับสู่ประเทศไทย เดินข้ามเขตแดนทางจังหวัดสุรินทร์ สู่จังหวัดนครราชสีมา กลับสู่ถิ่นเกิดที่บ้านไร่ จากนั้นจึงเริ่มดำริให้ก่อสร้างวัด ให้เป็นถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนา โดยเริ่มสร้างพระอุโบสถเมื่อ พ.ศ. 2496 นอกจากนั้น หลวงพ่อคูณยังดำริให้สร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ขุดสระน้ำไว้เพื่ออุปโภคและบริโภค ทั้งจัดสร้างโรงเรียนวัดบ้านไร่ เพื่อการศึกษาของเยาวชนละแวกนี้อีกด้วย
ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้หลวงพ่อคูณเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนและมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมากนั้น คงหนีไม่พ้นเรื่องการสร้างวัตถุมงคล โดยตามประวัติพบว่าท่านเคยสร้างวัตถุมงคลรุ่นแรกตั้งแต่สมัยบวชได้ประมาณ 7 พรรษา โดยเริ่มจากตะกรุดโทน ตะกรุดทองคำ เพื่อฝังที่ใต้ท้องแขน ณ วัดบ้านไร่ ราว พ.ศ. 2493 โดยท่านบอกกับผู้มาขอเสมอว่า "ใครขอ กูก็ให้ ไม่เลือกยากดีมีจน"
เมื่อมีผู้ถามว่า หลวงพ่อแจกให้กับคนไม่ดีเป็นโจรผู้ร้ายอย่างนี้หลวงพ่อไม่บาปหรือ ท่านตอบว่า “กูจะไปรู้หรือว่ามันเป็นใคร ถ้ามันเป็นโจร เมื่อมันได้รับประโยชน์จากของที่กูแจก มันคงคิดได้ว่า เป็นเพราะพระศาสนา มันจะได้เข้ามาสนใจปฏิบัติธรรม….”
ถ้ามีใจอยู่กับ “พุทโธ” ให้เป็นกลางๆ ไม่สอดส่ายไปไหน นั่นหมายความว่า ใจเป็นสมาธิ จะช่วยปกป้องคุ้มครองเราได้ดียิ่ง… ยิ่งกว่ามีวัตถุมงคลใดๆ ในโลก ”
ปัจจุบัน พระเครื่องหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ นั้นเป็นที่นิยมและต้องการของลูกศิษย์ และนักสะสมพระเครื่องอย่างมาก หลายๆ รุ่นมีราคาแพงมาก โดยเฉพาะเหรียญหลวงพ่อคูณรุ่นแรก ส่วนเรื่อง "เครื่องรางของขลัง" ของหลวงพ่อคูณคงต้องยกให้ ตะกรุดทองคำหลวงพ่อคูณ ซึ่งจะเป็นตะกรุดทองคำฝังแขน ซึ่งท่านจะมีข้อห้าม 2 ข้อ คือ 1. ห้ามด่าแม่ 2. ห้ามผิดลูกเมียผู้อื่น นับว่าเป็นเครื่องรางของขลังหลวงพ่อคูณ ที่น่าสนใจมาก
อย่างไรก็ดี จากประวัติอันน่าสนใจทั้งเรื่องของความแก่กล้าในวิชาอาคม และความแตกฉานในความรู้ด้านพระพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้ ทำให้ท่านได้รับฉายาว่า "ปราชญ์แห่งที่ราบสูง" แม้จะมีท่าทีการแสดงออกที่ตรงไปตรงมา พูดจา "มึง กู" แต่ผู้ใกล้ชิดทุกคนกลับทราบดีว่า หลวงพ่อคูณนั้นมีจิตเมตตาเป็นอย่างยิ่ง ไม่เคยมีใครพบเห็นหลวงพ่อคูณกราดเกรี้ยว หรือทุกขเวทนากับเหตุการณ์ต่างๆ สิ่งที่หลวงพ่อคูณแสดงออกมาทุกครั้งในการให้สัมภาษณ์ หรือสนทนาธรรม ได้แสดงให้เห็นว่า ท่านนั้นมีจิตที่แจ่มใส หมดสิ้นแล้วซึ่งกิเลส เป็นที่พึ่งทางธรรมให้แก่ญาติโยมทุกคนอย่างแท้จริง
กับท่านั่งยอง อันเป็นเอกลักษณ์ หลวงพ่อให้เหตุผลว่า "เป็นท่าที่สบายที่สุด อีกทั้งเป็นลักษณะของคนเตรียมพร้อมที่ลุกเดินไปไหนมาไหนได้ทันที จะหยิบจับอะไรก็ง่ายและสะดวกในการทำงาน"
หลวงพ่อคูณได้จัดสร้างโรงพยาบาลถึง 3 หลัง ตลอดจนโรงเรียน และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ยังได้บริจาคเงินทองเพื่อช่วยเหลือสาธารณะสุขต่างๆ ทุกๆวัน แต่ละเดือนเป็นจำนวนหลายแสนบาท ท่านกล่าวว่า
หลวงพ่อเป็นคนยากจนมาโดยกำเนิด จึงอยากคิดช่วยเหลือคนอื่น การนำเงินออกไปช่วยคนอื่น ก็จะมีคนบริจาคเรื่อยๆ ถ้าเก็บไว้จะทำให้ตนตาบอด ใจก็บอดอีกด้วย จึงอยากช่วยคนอื่นอยู่เรื่อยไป วันใดไม่มีคนมาขอเงิน ก็ไม่ค่อยสบายใจ ”
ในช่วงวัยชราของท่าน ท่านมีอาการเจ็บป่วยต้องเข้า-ออกโรงพยาบาลมาโดยตลอด โดยหลวงพ่อคูณเริ่มมีอาการอาพาธตั้งแต่ปี 2543 ด้วยโรคหัวใจ ซึ่งแพทย์ได้ผ่าตัดทำบายพาสหัวใจให้ท่าน จนอาการดีขึ้นตามลำดับ ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ท่านมีอาการอาพาธอีกครั้งด้วยอาการเลือดคั่งในสมอง ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลศิริราชกรุงเทพมหานคร ให้แพทย์ผ่าตัดสมองเพื่อเอาลิ่มเลือดออก จนอาการปลอดภัย
จากนั้น วันที่ 26 เมษายน 2552 ท่านอาพาธด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ส่งผลให้มีอาการซึมเศร้า และต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาหลายวัน จนกระทั่งอาการดีขึ้น และสามารถกลับวัดบ้านไร่ได้ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 หลังจากนั้นสุขภาพร่างกายของท่านก็อ่อนแอมาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2554 ท่านก็มีอาการอาพาธด้วยวัณโรคปอด ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาอีกกว่า 4 เดือน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2556 ท่านก็มีอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และมีอาการแทรกคือ หลอดลมอักเสบรวมทั้งเกิดภาวะเสมหะลงคอ ทำให้ปอดเกิดการอักเสบติดเชื้อ คณะศิษย์ต้องนำตัวส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จนกระทั่งอาการท่านเริ่มดีขึ้นตามลำดับ ก่อนที่คณะแพทย์จะได้นำตัวหลวงพ่อคูณกลับวัดบ้านไร่ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 เพื่อพักรักษาตัวอยู่ภายในห้องกระจก ที่มีแพทย์และพยาบาลเฝ้าดูแลอาการอย่างใกล้ชิด โดยไม่อนุญาตให้ญาติโยมเข้าเยี่ยมเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งตลอดเวลาที่พักรักษาตัวก็มีอาการดีขึ้นตามลำดับ
จนกระทั่งเมื่อเวลา 05.40 น. ของวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ท่านมีอาการหัวใจหยุดเต้น แพทย์ต้องนำตัวส่งมารักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาอีกครั้ง โดยคณะแพทย์ได้ทำการรักษาอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่อาจยื้อชีวิตได้ ท่านได้ละสังขารไปเมื่อเวลา 11.45 น. ของวันที่ 16 พฤษภาคม 2558 สิริอายุ 92 ปี
จากนั้นมีการเปิดเผยพินัยกรรม ซึ่งหลวงพ่อคูณทำไว้ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2543 มีใจความสำคัญระบุ "ให้มอบสังขาร แก่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายในเวลา 24 ชั่วโมงนับแต่มรณภาพ แล้วให้ทางมหาวิทยาลัยมอบให้แก่ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้นำไปศึกษาค้นคว้า ตามวัตถุประสงค์ของภาควิชา"
สำหรับพิธีกรรมทางศาสนา และการสวดพระอภิธรรม ขอให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบพิธีขึ้นที่คณะเป็นเวลา 7 วัน ส่วนการประกอบพิธีบำเพ็ญกุศล เมื่อสิ้นสุดการศึกษาค้นคว้า ของภาควิชากายวิภาคศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว ให้จัดอย่างเรียบง่าย ละเว้นการพิธีสมโภชใดๆ ทั้งห้ามขอพระราชทานเพลิงศพ โกศ และพระราชพิธีอื่นๆ เป็นกรณีพิเศษหรือเป็นการเฉพาะ โดยให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบพิธีเช่นเดียวกับที่จัดให้แก่ อาจารย์ใหญ่ของนักศึกษาแพทย์ประจำปี ร่วมกับอาจารย์ใหญ่ท่านอื่น แล้วเผาที่ฌาปนสถานวัดหนองแวง (พระอารามหลวง) อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น (หรือวัดแห่งอื่น) และเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ขอให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำอัฐิ เถ้าถ่าน และเศษอังคารทั้งหมด ไปลอยที่แม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม
เมรุหลวงพ่อคูณจะจัดสร้างเป็นรูปนกหัสดีลิงค์เทินบุษบกสีขาวทั้งหลัง สูง 22.6 เมตร ฐานกว้าง 16 เมตร
นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดแถลงข่าวพิธีพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่ เป็นกรณีพิเศษ พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ) โดยกำหนดจะจัดพิธีบำเพ็ญกุศล ในวันที่ 22-28 มกราคม 2562 ณ ศูนย์ประชุมเอนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น และพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 29 มกราคม 2562 ณ พุทธมณฑลอิสาน จังหวัดขอนแก่น
อนุสรณ์สถานที่จะสร้างครอบบริเวณเมรุนกหัสดีลิงค์ แบบสถาปัตยกรรมอีสาน
ดาวน์โหลด : หนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ (40 หน้า)
หนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ฉบับเต็ม (100 หน้า)
เมรุลอยที่ใช้ในการพระราชทานเพลิงศพอาจารย์ใหญ่ "หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ"
ถูกออกแบบเป็นรูป "นกหัสดีลิงค์"อย่างงดงามวิจิตร แต่คงไว้ด้วยความเรียบง่ายตามพินัยกรรมที่หลวงพ่อคูณเขียนไว้
และสะท้อนความผูกพันของหลวงพ่อคูณต่อดินแดนอีสาน
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)