คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน ได้แผ่ลงมาปกคลุมด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย
สำหรับภาคอีสานบ้านเฮา พี่น้องที่อยู่ในจังหวัดเลย ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา และบุรีรัมย์ ให้ระมัดระวังเป็นพิเศษนะขอรับ
นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน เรื่องราวของ ท้าวคันธรรม หรือ ท้าวคชนาม หรือ คัชนาม เป็นนิทานพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังตรงกับตำนานเรื่อง "คันธนามโพธิ์สัตว์ชาดก" อันเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าของเรามาเสวยชาติสร้างบารมี ซึ่งมีหลายสำนวนและมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในรายละเอียด เป็นเรื่องราวของชายผู้หนึ่งชื่อ ท้าวคันธรรม หรือ ท้าวคชนาม หรือ คัชนาม ที่มีพละกำลังมหาศาล เพราะเป็นลูกช้าง (ที่พระอินทร์แปลงโฉมมา) ในนิทานได้กล่าวถึงการผจญภัยของชายหนุ่มผู้นี้ การสู้รบ การประลองกำลังจนได้ชัยชนะ ของท้าวคันธนาม การออกเดินทางไปตามหาพ่อที่เป็นพญาช้าง ซึ่งพบว่ามีอยู่หลายสำนวน เช่น
จึงมานำเสนอบันทึกไว้ที่นี่โดยเลือกเอาสำนวนที่ 3 เรื่อง “ท้าวคันธนาม” หรือ ท้าวคัชนาม เรื่องราวของพระโพธิสัตว์ (อดีตชาติของพระพุทธองค์) เป็นเรื่องชาดก แต่จัดเป็น "ชาดกนอกนิบาต" กล่าวคือ ได้เล่าถึงความเป็นมาเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น “คันธนโพธิสัตว์” ซึ่งเกี่ยวพันและผูกพันกับพี่น้อง 3 ชนชาติในแถบอีสานนี้คือ ไทย ลาว และเขมร อย่างใกล้ชิด ชาวอีสานนำมาเป็นนิทานอธิบายความเชื่อ ภูมิบ้าน นามเมือง อีกเรื่องหนึ่ง โดยอธิบายที่มาของชื่อภูเขาสำคัญ ชื่อสถานที่ในภาคอีสาน เนื้อเรื่อง "ท้าวคัชนาม" นี้เป็นเรื่องขนาดยาวหลายตอนจบ และบางตอนก็คล้ายกับเรื่อง “อ้ายเจ็ดทะนง” ของภาคกลาง และเรื่อง “อ้ายตะเลิ้กเคิ่ก” ของภาคเหนือ และเรื่อง “อ้ายเจ็ดจา” ของภาคใต้ ส่วนชื่อ ภูมบ้าน นามเมือง จะอธิบายในตอนท้ายของนิทานนี้
ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน “เมืองศรีสาเกตุ” มีสาวทึนทึก (หญิงไม่มีสามี และรูปร่างหน้าตาไม่สวยงาม) วัยกลางคน ทำมาหากินอยู่ในหมู่บ้าน โดยนางมีที่นาอยู่ตรงบริเวณตรงกลางของที่นาชาวบ้านคนอื่นๆ ซึ่งรายล้อมอยู่โดยรอบ จนกาลต่อมา ได้ถึงกำหนดที่จะมี เทวบุตร (พระโพธิสัตว์) จุติมาปฏิสนธิในโลกมนุษย์ พอถึงหน้าเก็บเกี่ยวข้าว พระอินทร์ก็แปลงร่างมาเป็น ช้างใหญ่ (พญาช้างฉัททันต์) ไปบุกรุกเหยียบย่ำข้าวในนาของสาวทึนทึกนางนั้น จนบรรดาพืชพันธุ์เสียหายหมด แล้วก็หนีไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยบันดาลรอยเท้าไว้ให้เห็น
ครั้นรุ่งเช้า นางมาที่ทุ่งนาเห็นความเสียหายเข้าก็เสียใจ และโกรธช้างนั้นมาก จึงตกลงใจเดินทางตามหาสัตว์ที่มาทำลายข้าวในนาของนาง ระหว่างเดินทางด้วยความเหนื่อยและหิวกระหาย นางก็ได้กินน้ำในรอยเท้าช้างแปลงตัวนั้น ต่อมานางก็เกิดตั้งครรภ์ขึ้น ประมาณสิบเดือนจึงคลอดได้เป็นบุตรชาย มีรูปร่างแข็งแรง มี ดาบศรีคันชัย (ศรีขรรค์ชัย) ติดตัวมาด้วย นางตั้งชื่อลูกชายว่า “คันธนาม” หรือ “คัชนาม” (คช อ่านว่า คะชะ หรือ คัด-ชะ แปลว่า ช้าง) ลูกชายได้ช่วยเหลือแม่เฒ่าทำงานตั้งแต่เล็กๆ
เมื่อคัชนามอายุได้ 7 ปี ในวันหนึ่งคัชนามจึงถามถึงบิดา แม่เฒ่าก็เล่าให้ฟังและพาลูกชายไปที่ป่าแห่งนั้น เพื่อดูรอยเท้าช้างที่แม่เฒ่าได้ดื่มน้ำ ขณะนั้นได้พบยักษ์ ซึ่งยักษ์จะเข้ามาทำร้ายแม่เฒ่า คัชนามจึงต่อสู้กับยักษ์ตนนั้น และใช้ดาบศรีคันชัยสู้กับยักษ์ จนยักษ์นั้นยอมแพ้ จึงได้มอบ “น้ำเต้าวิเศษ” ให้ และยังบอกแหล่งซ่อน “ขุมทอง” ให้อีกด้วย ทั้งสองแม่ลูกจึงไปค้นหาแหล่งขุมทองนั้น ก็พบทองคำเป็นจำนวนมาก จึงทำให้สองแม่ลูกมีฐานะดีขึ้นและแบ่งทองคำให้เพื่อนบ้านทุกคน
เมื่อท้าวคัชนามอายุ 16 ปี มีข่าวเล่าลือว่า ท้าวคัชนามเป็นคนมีกำลังมากจนสามารถปราบยักษ์ได้ ล่วงรู้ไปถึง "พระยาศรีสาเกต" ผู้เป็นเจ้าเมือง จึงเรียกคัชนามเข้าเฝ้า แล้วสั่งให้ทดลองกำลังโดยการถอนต้นตาล 2 ต้นที่ขวางทางเสด็จ ซึ่งท้าวคัชนามก็ถอนได้ แล้วยังเหาะไปในอากาศกวัดแกว่งต้นตาลนั้นด้วยกำลัง พระยาศรีสาเกตเห็นดังนั้น จึงแต่งตั้งให้เป็นอุปราชและสร้างปราสาทให้มาอยู่ในเมือง ท้าวคัชนามก็พาแม่เฒ่ามาอยู่ด้วย และได้ใช้น้ำเต้าวิเศษรดบนร่างกายมารดา จนแม่เฒ่ากลับร่างเป็นสาวรุ่นสวยงามมาก จนเจ้าเมืองมาสู่ขอไปเป็นพระมเหสี
ในวันหนึ่งท้าวคัชนามก็ขอลาแม่ไปติดตามหาบิดา ท้าวได้เดินทางตามรอยเท้าช้างไปยัง “เมืองอินทปัตถา” ระหว่างทางไปพบ “ชายร้อยเล่มเกวียน” ที่กำลังลากเกวียน 100 เล่ม ด้วยกำลังตัวเพียงคนเดียว ท้าวคัชนามจึงคิดประลองกำลังโดยไปดึงเกวียนเล่มท้าย ชายร้อยเล่มเกวียนลากเกวียนไม่ไหวจึงหันมาดูข้างหลัง พบท้าวคัชนามจึงเกิดการต่อสู้กัน ชายร้อยเล่มเกวียนสู้ไม่ได้จึงขอเป็นทาสติดตามไปด้วย ต่อมาพบ “ชายไม้ร้อยกอ” กำลังลากไม้ร้อยกอ ท้าวคัชนามก็ประลองกำลังอีกด้วยการจับไม้ที่กำลังถูกลากอยู่นั้น ชายไม้ร้อยกอโกรธที่ถูกขัดจังหวะจึงต่อสู้กัน ท้าวคัชนามก็ชนะอีก ชายไม้ร้อยกอจึงยอมเป็นทาสติดตามไปด้วยเช่นกัน
ทั้งสามก็เดินทางไปตามหาบิดาท้าวคัชนามต่อไป จนกระทั่งเดินทางไปถึงป่าใหญ่รกทึบ จึงหยุดพักด้วยความเหนื่อยและหิวอาหาร พอดีเห็นตัว "จีนายโม้" (ตัวแมลงคล้ายจิ้งหรีด) กำลังขุดขุ้ยดิน ดีดกระเด็น ข้ามแม่น้ำโขงไปตกไกลถึง เมืองเวียงจันทน์ (ยังเห็นกลายเป็นก้อนหินจำนวนมากกองอยู่ในปัจจุบัน บริเวณที่เป็นค่ายทหารลาวเรียกว่า “ค่ายจีนายโม้” เพราะมีหินซึ่งกลายมาจากขี้ขุยดิน ที่ตัวจิ้งหรีดยักษ์ขุดกระเด็นมาตกไว้เมื่อครั้งกระโน้น) ท้าวคัชนามจึงให้ชายทั้งสองไปจับจิ้งหรีดยักษ์มาทำอาหาร แต่ชายทั้งสองมีกำลังสู้จิ้งหรีดยักษ์ไม่ได้ ถูกดีดกระเด็นไปไกล ท้าวคัชนามจึงลงไปในรูจับได้ขาข้างหนึ่ง ตัวจิ้งหรีดยักษ์พยายามดีดจนขาหลุดออกมาข้างหนึ่ง
เมื่อท้าวคัชนามได้ขาจิ้งหรีด จึงเดินหาเพื่อนทั้งสองก็เห็นนอนสลบอยู่ไม่ไกลนัก ท้าวคัชนามเอาน้ำในลูกน้ำเต้ารดลงที่ร่างชายทั้งสองก็ฟื้นขึ้นมา ท้าวคัชนามจึงให้ไปขอไฟที่กระท่อมที่อยู่ไม่ไกลนัก เมื่อชายไม้ร้อยกอไปถึงกระท่อมก็พบ "ยักษ์" เจ้าของกระท่อม ถูกยักษ์จับหักขาขังไว้ในสุ่มเหล็ก ครั้นให้ชายร้อยเล่มเกวียนไปตามก็ถูกยักษ์จับหักขาเช่นเดียวกัน ท้าวคัชนามคอยอยู่นานมากจึงติดตามไปดู เห็นเพื่อนผู้มีกำลังถูกขังอยู่ในสุ่มเหล็ก รู้ว่ายักษ์ตนนี้มีฤทธิ์มากจึงใช้ดาบศรีคันชัยสู้กับยักษ์ตนนั้น ยักษ์สู้ไม่ได้จึงร้องขอชีวิตไว้ ยักษ์จึงให้ไม้เท้าวิเศษ “กกชี้ตาย ปลายชี้เป็น” (คือ หากใช้ด้านรากชี้คนนั้นจะตาย เมื่อใช้ด้านปลายชี้คนนั้นจะฟื้นคืนชีพ) และให้ "พิณวิเศษ" แก่ท้าวคัชนามอีกด้วย แล้วท้าวคัชนามได้ใช้น้ำในลูกน้ำเต้ารดเพื่อนทั้งสอง แล้วทั้งสองก็หายจากการขาหัก ทั้งสามจึงย่างขาจิ้งหรีดกินเป็นอาหารจนอิ่ม แล้วจึงเดินทางต่อไป
ทั้งสามเดินทางเข้าเมือง "ขวางทะบุรี" พบว่า เป็นเมืองร้างไม่มีผู้คนอยู่เลย พอถึงกลางเมืองพบกลองใบใหญ่ใบหนึ่ง จึงตีกลองเพื่อเรียกให้ผู้คนออกมาพบ ครั้งตีกลองก็ได้ยินเสียงผู้หญิงร้องอยู่ในนั้น จึงใช้มีดกรีดหน้ากลองและพบหญิงสาว จึงช่วยออกมาแล้วถามความเป็นไป นางเล่าว่านางชื่อ “กองสี” เป็นธิดาเจ้าเมือง ซึ่งเจ้าเมืองนำตนมาซ่อนไว้ให้พ้นจาก "งูซวง" (งูผีของพระยาแถน) ส่วนเจ้าเมืองและไพร่พลถูกงูซวงของพระยาแถนกินหมดแล้ว เนื่องจากเจ้าเมืองและชาวเมืองประพฤติตนไม่อยู่ในจารีต เจ้าเมืองไม่อยู่ในทศพิธราชธรรม และชาวเมืองยิงนกตกปลา ฆ่าสัตว์ ทำบาป พระยาแถนจึงปล่อยงูซวงออกมากินคนจนหมดเมือง
นางบอกว่าถ้าหากก่อไฟขึ้นงูซวงเห็นแสงไฟจะลงมาอีก ท้าวคัชนามจึงก่อกองไฟใหญ่ให้แสงส่องถึงเมืองพระยาแถน ครั้นงูซวงลงมาจำนวนมากก็ถูกท้าวคัชนามและสหายช่วยกันฆ่าตายหมด ท้าวคัชนามจึงช่วยชีวิตชาวเมืองขวางทะบุรี โดยใช้ "ไม้เท้ากกชี้ตายปลายชี้เป็น" ชี้ไปยังกองกระดูกคน ผู้คนชาวเมืองก็ฟื้นคืนชีพทุกคน ส่วนกระดูกงูนั้นไหลตามน้ำไป เมื่อฝนตกใหญ่พัดพาไปติดที่ดักปลาของยักษ์ซึ่งนำก้อนหินใหญ่ๆ มาทำ "ลี่ดักปลา" อยู่กลางแม่น้ำโขง เมื่อกระดูกงูลอยมาติดจำนวนมากจึงเรียกว่า “แก่งลี่ผี” และเพี้ยนเสียงเป็น “แก่งหลี่ผี” ในปัจจุบัน ส่วนกองไฟที่ท้าวคัชนามก่อนั้น เมื่อถูกฝนตกใหญ่จึงดับ กลายเป็นภูเขาเรียกว่า “ดงพระยาไฟ” แล้วเปลี่ยนเป็น “ดงพระยาเย็น” ในภายหลัง เมื่อเจ้าเมืองขวางทะบุรีฟื้นแล้วก็ดีพระทัย จึงยกเมืองให้ท้าวคัชนามพร้อมทั้งยกนางกองสีให้เป็นมเหสี ท้าวคัชนามจึงแต่งตั้งให้ ชายร้อยกอเป็น อุปราช และ ชายร้อยเล่มเกวียนเป็น แสนเมือง
อยู่ไม่นาน ท้าวคัชนาม ก็ต้องเดินทางติดตามบิดาของตนต่อไป โดยฝากเมืองขวางทะบุรีให้เพื่อนทั้งสองเป็นผู้ดูแล โดยท้าวคัชนามได้ไปอยู่กับแม่เฒ่าที่ "เมืองจำปานคร" หรือ "จัมปากนคร" ได้ “นางสีไล” ธิดามหาเศรษฐีเมืองนั้นเป็นภรรยา มีบุตรด้วยกันคนหนึ่งชื่อ “คัชเนก” วันหนึ่ง พระยาจำปา เจ้าเมืองนี้เสด็จประพาสป่าและได้พบกับยักษ์ และยักษ์นั้นจับพระยาจำปาได้ พระยาจำปาร้องขอชีวิต ยักษ์จึงแลกเปลี่ยนให้หามนุษย์มาให้ยักษ์กินวันละคน พระยาจำปารับคำแล้วเสด็จกลับเมือง
พระยาจำปาก็ทำตามสัญญา โดยสั่งให้นำนักโทษไปไว้ที่หอผีกลางเมืองตามที่ยักษ์สั่งไว้ เพื่อที่ยักษ์จะได้นำไปกินเป็นอาหาร ครั้นเมื่อหมดนักโทษในคุกแล้ว พระยาจำปาคิดว่า คงไม่สิ้นเวรสิ้นกรรม หากนำคนที่ไม่ผิดไปให้ยักษ์กิน จึงคิดว่า ตนเองควรจะไปเป็นอาหารยักษ์เสียจะได้สิ้นเวรสิ้นกรรมซะที ข่าวรู้ถึง “นางสีดา” ธิดาคนเดียวของพระยาจำปา นางจึงขออาสาพระบิดาไปเป็นอาหารยักษ์แทน พระบิดาจำใจต้องยินยอมนาง เพราะนางมีพระประสงค์และกตัญญูแรงกล้ามาก มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่แล้ว นางจึงขอเบิกเงินในท้องพระคลัง ทำบุญและแจกทานแก่ไพร่ฟ้าประชาชน ก่อนที่จะอาสาไปเป็นอาหารยักษ์ ชาวเมืองทราบข่าวต่างอาลัยพระธิดาพากันร่ำไห้กันทั้งเมือง
ท้าวคัชนาม เห็นประชาชนเมืองจำปาร่ำไห้จึงไปถามแม่เฒ่า แล้วแม่เฒ่าจึงเล่าเรื่องให้ฟัง พอตกดึกท้าวคัชนามจึงเหาะไปหอผีกลางเมืองเปิดประตูเข้าไปหานางสีดา นางสีดาตกใจกลัวคิดว่าเป็นยักษ์ ท้าวคัชนามจึงแสดงตนทันที แล้วกล่าววาจาปลอบนางไม่ต้องกลัวยักษ์ ครั้นเมื่อยักษ์มาถึงท้าวคัชนามได้ฆ่ายักษ์นั้นตาย แล้วนำซากไปทิ้งไว้ที่หนองน้ำ ท้าวคัชนามกลับมาหานางสีดาที่หอผีอีกครั้ง และนางได้ขอร้องให้พานางไปส่งตำหนัก ท้าวคัชนามกล่าวว่าเป็นการไม่บังควร ผู้คนจะนินทาว่านางทำมายาคบชู้ได้ ท้าวคัชนามจึงลานางกลับด้วยความอาลัย ก่อนจากกันท้าวคัชนามจึงตัด “ผ้าแสนคำ” ไว้ให้นางสีดาดูต่างหน้า ส่วนนางสีดาก็ได้ให้แหวนตอบแทน แล้วทั้งสองก็ลาจากกันอย่างอาลัยอาวรณ์ในกันและกัน
ครั้นรุ่งเช้าชายหาหญ้าคนหนึ่งไปพบซากยักษ์ที่หนองน้ำ ก็ร้องประกาศว่ายักษ์ตายแล้ว พระยาจำปาทราบดังนั้นก็ดีพระทัยมาก จึงให้ไปรับนางสีดากลับเข้าวัง นางสีดาได้เล่าเรื่องชายผู้มีอิทธิฤทธิ์ให้ฟัง พระยาจำปาจึงให้ประกาศหาชายผู้มีฤทธิ์คนนั้น สั่งให้ทหารไปเกณฑ์ชายหนุ่มทั้งเมืองให้นำผ้ามาต่อกับชายผ้าที่ระลึกของนางสีดา มีผู้อาสามากันมากมาย แต่ไม่มีใครมีผ้าเป็นผืนเดียวกัน ทหารจึงทูลว่ามีชายหนุ่มที่อยู่อาศัยกับแม่เฒ่าในสวนไม่ยอมมา พระยาจำปาจึงให้ทหารไปตามถึงสามครั้ง ครั้งหลังพระยาจำปาจะฆ่าทหารถ้านำตัวมาไม่ได้ ท้าวคัชนามเห็นดังนั้นจึงมาที่ท้องพระโรง และนำผ้าแสนคำผืนนั้นมาต่อกับผ้าของนางสีดา
พระยาจำปาเห็นดังนั้นก็ดีพระทัยที่เห็น "ท้าวคัชนาม" บุรุษผู้มีฤทธิ์ และมีบุญญาธิการมาช่วยปราบยุคเข็ญ เจ้าเมืองจึงยกพระราชธิดานามว่า “พระนางสีดา” ให้เป็นมเหสีฝ่ายขวา และให้ “นางสีไล” ลูกสาวมหาเศรษฐีเมืองนี้เป็นมเหสีฝ่ายซ้ายอีกด้วย โดยพระยาจำปาจัดงานสมโภชในการครองเมืองของท้าวคัชนามด้วย ส่วนซากยักษ์นั้นท้าวคัชนาม ได้นำไปทิ้งในหนองน้ำเรียกว่า “หนองแช่” ในปัจจุบัน กระดูกของยักษ์ส่วนหนึ่งกลายเป็นนาค 5 ตัวในแม่น้ำโขง และกระดูกชิ้นเล็กๆ กลายเป็นปลาบึก ปลาเลิม ในแม่น้ำโขงนั่นเอง
ต่อมาท้าวคันธนามได้ล่ำลาเจ้าเมือง พระมเหสีทั้งสองและชาวเมือง ออกติดตามหาบิดาพญาช้างฉัททันต์ต่อไป จนเข้าสู่เขต “ป่าหิมพานต์” ก็ได้พบกับบิดาพญาช้างสมปรารถนา พญาช้างได้สั่งสอนลูกชายต่างๆ นานา และได้มอบงาทั้งคู่ให้ เมื่อพญาช้างสิ้นอายุขัยแล้ว ท้าวคันธนามก็จัดการทำพิธีศพให้บิดา เสร็จแล้วก็ได้ขี่ช้างบริวารเดินทางกลับบ้านเมืองของตน
ครั้นเมื่อเดินทางถึง “เมืองตักสิลา” ก็ได้ทำสงครามกับเจ้าเมืองนี้ และก็ได้รับชัยชนะ และก็ได้ไว้ชีวิตเจ้าเมืองนี้ด้วย ส่วน “ท้าวตักสิลา” นั้นเป็นคนเจ้าเล่ห์ หลอกตั้งให้ท้าวคันธนามเป็นครูอาจารย์ เพื่อช่วยสอนศิลปศาสตร์ให้ แล้วก็หลอกเอาไม้เท้าแล้วชี้ให้ท้าวคันธนามกลายเป็นแท่งหินอยู่ ณ เมืองตักสิลานั้นเอง
ฝ่ายเมืองจัมปากนคร บัดนี้พระโอรสของท้าวคันธนามที่เกิดจากนางสีไลชื่อว่า “คัชเนก” และ “คัชจันทร์” ซึ่งเป็นโอรสที่เกิดจากนางสีดา ได้โตเป็นหนุ่มทั้งคู่ ก็คิดถึงท้าวคันธนามพระบิดา จึงล่ำลาพระมารดาออกติดตามหาพระบิดา จนมาถึงเมืองตักสิลา จึงได้รบกับเจ้าเมืองและก็ชนะ แล้วก็ได้ไม้เท้าวิเศษกลับคืนมา จึงใช้ไม้เท้าชี้แท่งหินให้พระบิดาคันธนามฟื้นคืนมา แล้วก็ยกเมืองตักสิลาให้พระบิดาปกครอง พร้อมกับทูลเชิญพระมารดาของทั้งสองพระองค์มาอยู่ที่เมืองตักสิลานี้ด้วยกัน แล้วโอรสทั้งสองก็ขอลาพระบิดาและพระมารดาเดินทางกลับ เมืองจัมปากนคร ของตนเองต่อไป
เมื่อกลับมาถึงเมืองแล้ว โอรสทั้งสองก็เกิดทะเลาะกันเพื่อแย่งชิงไม้เท้าวิเศษนั้น ซึ่งพระโอรสทั้งสองนี้มีอิทธิฤทธิ์และปาฏิหาริย์มาก หากรบพุ่งกันจะบรรลัยวอดวายและสะเทือนไปถึงพรหมโลกเลยทีเดียว จนพระอินทร์ผู้เป็นปู่ได้สั่งให้พญาแถนส่ง “ลมกระดิงหลวง” ลงมาห้ามทัพ พระยาแถนเล็งเห็นว่า ท้าวคัชเนก สิ้นบุญแล้ว จึงบันดาลลมมีดแถ (มีดโกน) ไปยังกองทัพของสองพี่น้องนั้น ลมมีดแถฟันท้าวคัชเนกสิ้นชีวิตตกลงบนแผ่นดิน ร่างท้าวคัชเนกกลายเป็นภูเขาชื่อว่า “ภูจอมศรี” เป็นภูเขาอยู่กลางเมืองหลวงพระบาง ในประเทศลาวในปัจจุบัน ส่วนศีรษะตกลงดินกลายเป็นพระยานาค ส่วนเลือดที่ตกลงมาเป็นก้อนสีแดง เรียกว่า “ภูครั่ง” ร่างกายส่วนหนึ่งตกลงมากระทบแผ่นดินเป็นหลุมใหญ่ในหุบเขา ภายหลังกลายเป็นเมือง เรียกว่า “เมืองหล่ม” ซึ่งก็คือ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ในเขตประเทศไทย
ส่วน “ท้าวคัชจันทร์” ได้ทำการต่อสู้จนเอาชนะลมนั้นได้ จึงได้รับการอภิเษกขึ้นเป็น “พระเจ้าจักรพรรดิ” ขึ้นครองเมืองจัมปากนครอย่างสงบสุขจวบจนสิ้นอายุขัย
กู่คันธนาม อโรคยาศาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 บ้านคันธนาม อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด
เรื่องราวของนิทานพื้นบ้าน "ท้าวคันธนาม" ก็จบลงเพียงนี้ จากนิทานดังกล่าวนี้ได้ปรากฏ ภูมิบ้าน นามเมือง และสถานที่ต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์ สอดคล้องกันและยังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ดังนี้
นืทานพื้นบ้านของชาวกูย เรื่อง หมาขี้เรื้อน (อาจอคีเฮือน) ที่ให้แง่คิดและคติธรรมที่น่าสนใจ โดย อารีย์ ทองแก้ว
กาลครั้งหนึ่ง มีหมาขี้เรื้อนอาศัยอยู่กับฤาษีในอาศรมแห่งหนึ่ง ธรรมชาติของหมาขี้เรื้อนจะมีอาการคันเป็นประจํา และชอบนอนอยู่ตามใต้ถุนที่มีอากาศเย็นหรือขี้เถ้า วันหนึ่งขณะที่หมาขี้เรื้อนนอนอยู่ที่ใต้ถุนอาศรม เจ้าหมาขี้เรื้อนก็มองเห็นเมฆไหลเรื่อยๆ พลันมันก็คิดว่า "ก้อนเมฆคงจะมีความสุขมาก เพราะลอยไปเรื่อยๆ ตามกระแสลมคงจะเย็นสบายดี"
จึงเอ่ยปากกับท่านฤาษีว่า "การเกิดเป็นหมาขี้เรื้อนมีแต่คนรังเกียจ คันก็คัน ร้อนก็ร้อน หนาวก็หนาวไม่ได้หลับได้นอน มันอยากจะเป็นก้อนเมฆแทนคงจะสนุกดี ขอให้ฤาษีเสกให้มันเป็นก้อนเมฆด้วยเถิด"
ฤาษีตกลงและกล่าวเป็นคาถาว่า “โอม มะรูๆๆ เพี้ยง”
หมาขี้เรื้อนก็กลายเป็นก้อนเมฆตามต้องการ เมื่อหมาขี้เรื้อนกลายเป็นก้อนเมฆก็ถูกความกดอากาศ ลม แดด ฝน พัดกระจายไปหลายทิศทาง ไม่ได้หลับได้นอน และสุขสบายอย่างที่คิดไว้ มันก็เลยลอยกลับมาบอกฤาษีว่า "มันอยากเป็นลม เพราะลมได้พัดต้นไม้และคนพังระเนระนาดอย่างมีความสุข ขอให้ฤาษีเสกเป็นลมอีกครั้งหนึ่ง"
ฤาษีก็ตามใจเสกก้อนเมฆให้กลายเป็นลมตามความต้องการ ลมได้พัดไปเรื่อยๆ พัดใส่บ้านคน และต้นไม้พังระเนระนาดอย่างมีความสุข แต่เมื่อลมพัดภูเขาและจอมปลวกให้ล้มไม่ได้อย่างที่คิด จึงสร้างความโกรธแค้นให้กับลมเป็นอย่างมาก จึงไปบอกฤาษีว่า "มันอยากเป็นจอมปลวก เพราะลมพัดไม่พัง" ฤาษีก็ตกลงเช่นเคย จึงเสกลมให้กลายเป็นจอมปลวกตามความต้องการของหมาขี้เรื้อน
แต่เมื่อถึงฤดูฝนน้ําท่วมทุ่ง ชาวบ้านได้จูงควายมาผูกใกล้จอมปลวก ควายทั้งขี้ เยี่ยว ขวิด และเหยียบย่ําจอมปลวกจนกระจุยกระจาย จอมปลวกไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงบอกฤาษีว่า "มันอยากเป็นควายแทน เพราะควายสามารถทําลายจอมปลวกได้" ฤาษีก็ตกลงเช่นเดิม พร้อมกับเสกหมาขี้เรื้อนให้ได้เป็นควายตามต้องการ
อยู่มาวันหนึ่ง ชาวนาได้จูงควายไปไถนา เมื่อปลดจากไถนาก็พาควายไปลากเกวียนต่อ ทําให้ควายเหนื่อยล้ามาก จึงบอกฤาษีว่า "ตนอยากเป็นหนังควาย เพราะได้ขี่ช้าง" เนื่องจากขณะนั้นได้มีควาญช้างเอาหนังควาย ขึ้นหลังช้างพอดี จึงเป็นเหตุให้ควายอยากเป็นหนังเพื่อจะได้ขี่ช้าง ฤาษีก็ตกลงอีกเช่นเคย
แต่อยู่มาวันหนึ่งฝนตกหนักทําให้หนังเปียก ควาญช้างได้เอาหนังไปตากแดดให้แห้ง หนังตากแดดอยู่นานก็มีหมามากินหนัง หนังจึงบอกฤาษีว่า "มันเป็นหนังก็ไม่ดีเพราะถูกหมากิน"
ฤาษีจึงถามว่า "แล้วอย่างนั้นเจ้าจะเป็นอะไรดีล่ะ" มันบอกว่า "ขอเป็นหมาขี้เรื้อนอย่างเดิมดีกว่า"
ว่าแล้วฤาษีก็เสกคาถาให้ "หนัง" กลายเป็น "หมาขี้เรื้อน" เหมือนเดิม
จาก วารสารศิลปะวัฒนธรรม ลุ่มน้ำมูล
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลายท่านเห็นไหมว่า เมื่อตอนเย็นวันนี้ หมาป่าตัวหนึ่งมันเดินอยู่ที่นี่... เห็นไหม มันจะยืนอยู่มันก็เป็นทุกข์ มันจะวิ่งไปมันก็เป็นทุกข์ มันจะนั่งอยู่ก็เป็นทุกข์ มันจะนอนอยู่ก็เป็นทุกข์ เข้าไปในโพรงไม้มันก็เป็นทุกข์ จะเข้าไปอยู่ในถ้ำก็ไม่สบายมันก็เป็นทุกข์ เพราะมันเห็นว่าการยืนอยู่นี้ไม่ดี การนั่งไม่ดี การนอนไม่ดี พุ่มไม้นี้ ไม่ดี โพรงไม้นี้ไม่ดี ถ้ำนี้ไม่ดี มันก็วิ่งอยู่ตลอดเวลานั้น ความเป็นจริงหมาป่าตัวนั้นมันเป็นขี้เรื้อน มันไม่ใช่เป็นเพราะพุ่มไม้ หรือโพรงไม้หรือถ้ำ หรือการยืน การเดิน การนั่ง การนอน มันไม่สบายเพราะมันเป็นขี้เรื้อน”
พระภิกษุทั้งหลายนี้ก็เหมือนกัน ความไม่สบายนั้นคือ ความเห็นผิดที่มีอยู่ ไปยึดธรรมที่มีพิษไว้มันก็เดือดร้อน ไม่สำรวมสังวรอินทรีย์ทั้งหลาย แล้วก็ไปโทษแต่สิ่งอื่น ไม่รู้เรื่องของเจ้าของเอง ไปอยู่วัดหนองป่าพงก็ไม่สบาย ไปอยู่อเมริกาก็ไม่สบาย ไปอยู่กรุงลอนดอนก็ไม่สบาย ไปอยู่วัดป่าบุ่งหวายก็ไม่สบาย ไปอยู่ทุกๆ สาขาก็ไม่สบาย ที่ไหนก็ไม่สบาย นี่ก็คือความเห็นผิดนั้นยังมีอยู่ในตัวเรานั่นเอง มีความเห็นผิด ยังไปยึดมั่นถือมั่นในธรรมอันมีพิษไว้ในใจของเราอยู่ อยู่ที่ไหนก็ไม่สบายทั้งนั้น นั่นคือเหมือนกันกับสุนัขนั้น ถ้าหากโรคเรื้อนมันหายแล้ว มันจะอยู่ที่ไหนมันก็สบาย อยู่กลางแจ้งมันก็สบาย อยู่ในป่ามันก็สบายอย่างนี้ ผมนึกอยู่บ่อยๆ แล้ว ผมก็นำมาสอนพวกท่านทั้งหลายอยู่เรื่อย เพราะธรรมตรงนี้ มันเป็นประโยชน์มาก
พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)
วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
ภาษาพูดของผู้คนในภาคอีสานนั้นมีหลายสำเนียงที่แตกต่างกันไป ไม่มี "ภาษาอีสาน" นะครับ มีแต่เป็นภาษาพูดดั้งเดิมของชนเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ซึ่งมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ [ เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ชาติพันธุ์ชนเผ่าไทยในอีสาน ] ดังนั้น เมื่อท่านเดินทางไปท่องเที่ยวอีสาน ท่านจะได้ฟังสำเนียงเสียงพูดที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละจังหวัด คำที่เสนอในที่นี่รวบรวมมาจากที่กระผมอาวทิดหมู มักหม่วน ได้ตอบไว้ใน Facebook Fanpage มาแล้วแต่ค้นหาย้อนหลังยาก ท่านเว็บมาดเซ่อเลยขอร้องแกมบังคับให้นำมารวบรวมไว้ที่นี่อีกครั้งหนึ่ง แฟนนานุแฟนที่ต้องการทราบความหมายของคำ หรือประโยคใดก็สอบถามเพิ่มเติมมาได้นะขอรับ ยินดีนำมาตอบให้ทราบทั้งในเว็บไซต์และเฟซบุ๊คต่อไป
หน้าที่ : 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14
อาดลาด-ยิ่งแข้ว-มาบมาบ-เจ้าหัวและจัวน้อย
ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้เสนอคำว่า "อาดลาด"
ได้รับปี้น้อยมาจากน้องสาวหล้าทางเมืองเลย ถามมาว่า "อาวทิดหมู แม่ทวดนางเพิ่นถามนางว่า 'ผู้บ่าว' ที่พามาไหว้พ่อ-แม่มื้อนั้นคนทางใด๋ คือ 'สูงใหญ่อาดลาด' เป็นตาออนซอนแท้" น้องนางฟังแล้วกะบ่เข้าใจปานใด๋ อาวทิดหมูขยายความให้น้องฟังแหน่เด้อ
อาดลาด ว. ต้นไม้ที่สูงและตรง เรียก ซื่ออาดหลาด ยาวอาดหลาด ก็ว่า. tall and straight (tree).
อันนี้กะแสดงว่า หนุ่มผู้โชคดีผู้นั้น เพิ่นเป็นคนรูปร่างดี สูงใหญ่กว่าไทบ้านแถวนั้น จนถืกใจยายคักล่ะแหม... ยินดีนำเด้อน้องหล้า
แต่ขอให้รักกันมั่นแก่น เข้าตามตรอกออกตามประตูแบบนี้ ให้ผู้ใหญ่รับรู้ว่าคบหากันดีแล้ว แต่ให้ระมัดระวังอย่าสิให้เขากล้ำกรายก่อนเวลาอันควร ก่อนได้กินดองตามทำนองคลองธรรมเด้อ อาวทิดหมูย้านว่า "เลาสิ 'เปิดอาดลาด' ไปสาก่อน ที่ยายทวดสิได้เห็นค่าดอง สินสอด ซั่นดอกวา" 😢😭😱
ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้ขอเสนอคำว่า "ยิ่งแข้ว"
มีอีแมว เอ้ย! อีเมล์ส่งมาเมื่อสายๆ วันนี้ว่า "ผมคนชลบุรีครับ มีเพื่อนเป็นคนอีสาน มาทำงานโรงงานด้วยกันที่สมุทรปราการ ในระหว่างพูดคุยกันตอนพักเที่ยงวัน เพื่อนถามว่า "เป็นหยังคือ 'ยิ่งแข่วกีกซีก' ผมไม่เข้าใจก็ได้แต่ยิ้ม ไม่มีคำตอบ" แอดมินขยายความให้ผมได้รู้หน่อยครับ จะได้ไม่อายเพื่อนเพราะกำลังเล็งสาวอีสานคนหนึ่งไว้ในใจอยู่"
ได้เลยครับ อาวทิดหมูไม่ขัดศรัทธาและมีความเห็นใจในคนมีรัก โดยเฉพาะ "มัก ฮัก สาวอีสาน" บ่ผิดหวังแน่นอน อย่าไปหลอกเขานะ คนอีสานฮักจริงหวังแต่ง มีคำเกี่ยวข้อง 2 คำที่อาจจะเจอ
ขิ่ง ก. ยิงฟัน ยิงฟันเรียก ขิ่งแข้ว ยิ่งแข้ว ก็ว่า อย่างว่า โขนยิ่งแข้วตาโหลอกสาว (สังข์). to bare ones teeth.
ยิ่งแข้ว ก. เปิดปากให้เห็นฟัน เรียก ยิ่งแข้ว อย่างว่า โขนยิ่งแข้วตากะโล้หยอกสาว (กาไก). to bare teeth.
ยิ่งแข้วกีกซีก (แข้ว หมายถึง ฟัน ใช้ไม้โทนะครับ) ความหมายของคนอีสานคือ ยิ้มแฉ่ง, ยิงฟันกว้างๆ, ยิ้มจนเห็นฟัน แสดงความจริงใจ
หรืออาจจะเป็นแบบอย่างที่ฝรั่งเว้าลาว นายมาร์ติน วีลเลอร์ ที่มาอยู่ไทยโดยเฉพาะในอีสานจะสามสิบปีแล้ว ได้พูดไว้ว่า "สมัยผมมาอยู่ขอนแก่นใหม่ๆ ได้เมียคนไทย ฟังชาวบ้านคำป่าหลายเขาพูดภาษาอีสานกัน ก็ไม่เข้าใจ ได้แต่ 'ยิ่งแข้วกีกซีก' พยักหน้างึกๆ ทำเป็นรู้เรื่องไป เพื่อให้ทุกคนสบายใจ" ความหมายเป็นอย่างนี้ก็ได้
ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้ขอเสนอคำว่า "มาบมาบ"
อ้ายอาวทิดหมู เฉลยคำภาษาอีสานให้นางฮู้แหน่ เมือบ้านไปงานกินดองผู้เฒ่าเพิ่นว่า "สินสอดค่าดองกะหลาย สร้อยคอ กำไลแขน แหวนทองกะเลื่อมมาบมาบ เป็นตาสะออนน้อ" อันคำว่า "มาบมาบ" มันแปลว่าอีหยังอ้าย?
มาบมาบ ว. ประกายแสง แสงที่เลื่อมมาบมาบ เช่น แสงจุดบั้งไฟ อย่างว่า นับบ่ได้ตะไลม้ามาบแสง (ผาแดง) มาบมาบเหลื้อมผาแก้วส่องเงา (ขุนทึง). flashing, flash-flash!.
การที่เรามองเห็นแสงสะท้อนจากวัตถุใดๆ เข้าตา คนอีสานจะบอกว่า เลื่อมมาบมาบ เช่น สวมแหวนเพชรเลื่อมมาบมาบ หริอ เบิ่งแมวโตนั้นตามันเลื่อมมาบมาบ หรือ สาวผู้นี้คือตาคมจนเลื่อมมาบมาบแท้ เป็นต้น
ก่อนที่พุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองในแดนอีสาน สมัยเก่าก่อนนั้น "ฅนอีสาน" นับถือผี ซึ่งมีทั้งผีในป่าช้า ป่าเขา ถ้ำ ในที่รกร้าง หัวไร่ ปลายนา ซึงเป็น "ผีฝ่ายอธรรม" ซึ่งต้องเลี้ยงดูตามกาล กับอีกผีหนึ่งคือผีที่มีบุญคุณ คือ "ผีบ้านผีเรือน" ที่จะคอยดูแลปกปักรักษาคนในครอบครัว ต้องมีการเซ่นสรวงบูชา ตอนแรกจะอยู่ตามมุมบ้านเรือน หรือ "แจเฮือน" ต่อมาก็ทำหิ้งบูชายกขึ้นสูงเหนือหัว มีขันดอกไม้ บูชาในวันสำคัญๆ ที่กำหนดในแต่ละถิ่น
ต่อมาเมื่อหันมานับถือพุทธศาสนา จากหิ้งผีก็กลายเป็นหิ้งพระบูชา นำเอาพระพุทธรูปที่แกะจากไม้ หรือที่ปั้นด้วยดินเผา ไปวางบนหิ้งแทนการบูชาผี จึงเรียกว่า หิ้ง "พระเจ้าอยู่หัว" ตอนหลังคำนี้ก็กร่อนสั้นลงเป็น "เจ้าหัว" และนำไปใช้เรียกพระสงฆ์ในวัดว่า "เจ้าหัว" และเรียกสามเณรน้อยว่า "เจ้าหัวน้อย" แล้วกร่อนคำเหลือแค่ "จัวน้อย"
นี่จึงเป็นที่มาของการเรียก พระภิกษุสงฆ์-สามเณร ในอีสานว่า "เจ้าหัว กับ จัวน้อย"
หน้าที่ : 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14
นิทานพื้นบ้าน (ไทยกูย) โดย อารีย์ ทองแก้ว
จาก วารสารศิลปะและวัฒนธรรม ลุ่มน้ำมูล มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ 2547
มีครอบครัวหนึ่งฐานะยากจน ประกอบด้วยแม่และลูกสาวคนหนึ่ง ชื่อ “นางกะเดิบโดง” พ่อของนางกะเดิบโดงได้ตายจากไปนานแล้ว ฐานะของครอบครัวนี้ยากจนข้นแค้น แต่ก็มีความซื่อสัตย์ไม่คิดคดโกงใคร ตั้งใจในการประกอบสัมมาอาชีพ แต่ชาวบ้านก็รังเกียจด้วยความยากจนของครอบครัวนาง
วันหนึ่ง 'แม่' ของนางกะเดิบโดง ไปขุดหน่อไม้ในป่าและทําเสียมหลุดจากด้ามไปติดอยู่ในกอไผ่ นางพยายามดึงยังไงก็ดึงออกไม่ได้สักที จนตะวันบ่ายคล้อยใกล้ค่ํา ก็หมดปัญญา นางจึงพูดบนบานว่า "ถ้าใครสามารถเอาเสียมของนางออกมาจากกอไผ่ได้ นางจะยกลูกสาวคนเดียวให้"
นางพูดยังไม่ทันขาดคํา ก็มีเสียงหนึ่งถามว่า “พูดจริงใช่ไหม?” นางก็ตอบว่า "ใช่"
ทันใดนั้นก็ปรากฏมี 'งู' ตัวใหญ่ตัวหนึ่งเลื้อยออกมา และเอาเสียมออกจากกอไผ่มาให้ แม่นางกะเดิบโดงตกใจมาก ที่เห็นงูใหญ่ขนาดเท่าต้นมะพร้าว แต่ก็ไม่รู้จะทําอย่างไร เพราะได้ลั่นวาจาออกไปแล้วจึงถือเอาความสัตย์
ฝ่ายงูถามแม่นางกะเดิบโดงว่า "เราจะไปบ้านนางได้อย่างไร" นางก็บอกให้ไปตามเปลือกหน่อไม้ ที่นางจะแกะทิ้งไว้เป็นระยะๆ ตามรายทางจนถึงบ้านของนาง
เมื่อกลับนางถึงบ้านแล้ว นางก็เล่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้ลูกสาวฟัง นางกะเดิบโดงนั้นตกใจมาก แต่ก็ยอมทําตามความประสงค์ของแม่ด้วยความกตัญญู พอตกกลางคืน 'งูใหญ่' ก็ไปที่บ้านของนางกะเดิบโดงจริงๆ และเข้าไปอยู่ในห้องของนางกะเดิบโดง
'งูใหญ่' นี้ ที่จริงเป็นงูเทพ จําแลงกายมาเพื่อลองใจแม่นางกะเดิบโดงว่า จะรักษาคําสัตย์หรือไม่?
เมื่อเข้าไปในห้อง งูจึงคืนร่างเป็นเทพรูปงาม และบอกความจริงแก่นางกะเดิบโดง และได้นางเป็นภรรยาในคืนนั้น พร้อมกับเนรมิตทรัพย์สินเงินทอง สร้างความร่ํารวยให้ครอบครัวนี้ จนเป็นที่ร่ําลือไปทั่วทั้งหมู่บ้าน
ยังมีอีกครอบครัวหนึ่ง มีลูกสาวชื่อ นางกะเดิบซลา และน้องชายอีกหนึ่งคน เมื่อแม่ของนางกะเดิบซลาได้ยินเรื่องความร่ำรวยนี้เข้า ก็เกิดความอิจฉาและอยากร่ํารวยกับเขาบ้าง จึงแวะเวียนไปบ้านนางกะเดิบโดง เพื่อถามแม่ของนางกระเดิบดงถึงสาเหตุของความร่ำรวยในครั้งนี้ ฝ่ายแม่ของนางกะเดิบโดงก็เล่าความจริงทั้งหมดให้ฟัง โดยไม่ปิดบังแต่อย่างใด
แม่ของนางกะเดิบซลา เมื่อกลับมาถึงบ้านก็คว้าเสียม ตะกร้า เพื่อไปหาหน่อไม้ ในใจก็คิดถึงแต่ความร่ํารวยตลอดทาง อยากได้เขยรูปงามเพื่อให้ผู้คนร่ําลือเหมือนแม่นางกะเดิบโดงบ้าง
เมื่อไปถึงป่าไผ่ นางก็เอาเสียมไปเสียบไว้กับกอไผ่กอเดิม ที่แม่นางกะเดิบโดงทําเสียมติด แล้วนางก็ทําทีร้องหาคนช่วยว่า "เอาเสียมออกจากกอไผ่ไม่ได้ ใครสามารถเอาออกมาให้ได้ แล้วนางจะยกลูกสาวให้" นางร้องเกือบทั้งวันก็ยังไม่มีใครมาช่วย
จนใกล้ค่ํา นางเกือบหมดความอดทนแล้ว จู่ๆ ก็มี 'งูใหญ่' ตัวหนึ่งอาสาจะเอาเสียมให้นาง นางดีใจมากบอกว่า ให้รีบไปบ้าน นางจะทิ้งเปลือกหน่อไม้ไว้เป็นที่สังเกตตลอดจนถึงบ้าน
แม่นางกะเดิบซลาดีใจรีบกลับบ้าน แล้วบอกแก่นางกะเดิบซลา ให้เตรียมตัวรับว่าที่ผัวงู นางกะเดิบซลาเป็นคนดี แต่ขัดใจแม่ไม่ได้ จึงจําใจต้องทําตามที่ผู้เป็นแม่บอกมา
คืนนั้น 'งูตัวใหญ่' มาที่บ้านนางกะเดิบซลา แม่ของนางดีใจรีบพาเข้าห้องลูกสาว กําชับให้ปิดประตูลงกลอนให้เรียบร้อย ส่วนตัวเองจะเข้านอนคอยเงี่ยหูฟังสถานการณ์
สักพักหนึ่ง ได้ยินเสียงนางกะเดิบซลาร้องบอกว่า "งูใหญ่ได้กลืนข้อเท้าตนเองแล้ว" แม่นางกะเดิบซลาได้ยินดังนั้น ก็ให้ขัดเคืองยิ่งนัก นางตะคอกให้ลูกเงียบ เพียงสามีหยอกเล่นนิดหน่อย ก็ทํากระโตกกระตากให้คนอื่นรู้
สักครูหนึ่งนางกะเดิบซลา ก็ร้องดังขึ้นอีกว่า "งูได้กลืนมาถึงเอวแล้ว" แม่นางก็บอกให้เงียบ สักพักนางกะเดิบซลา ก็ร้องอีกว่า "งูกลืนนางถึงคอแล้ว" แม่ของนางก็บอกให้เงียบ
รุ่งเช้าแม่นางกะเดิบซลาตื่นขึ้นมาหุงหาอาหาร จนสายก็ยังไม่เห็นลูกสาวและลูกเขยออกจากห้อง จึงเอะใจ เคาะประตูไม่มีใครตอบ จึงลงเดินไปหารอบๆ บ้าน เห็นงูใหญ่ท้องป่อง เนื่องจากกลืนกินนางกะเดิบซลา ไปนอนขดตัวอยู่ในสวนหม่อนหลังบ้าน
นางตกใจสุดขีดร้องให้ชาวบ้านมาช่วยฆ่างู ผ่าท้องช่วยนางกะเดิบซลาออกมาได้ เนื้อตัวของนางเต็มไปด้วยเมือกงูที่ล้างไม่ออก ผิวหนังด่างดำหลุดลอกและเปื่อยเป็นจุดๆ เรื่องนี้เป็นที่ซุบซิบนินทาของคนในหมู่บ้าน ทั้งเรื่องหยิบยื่นความตายให้ลูกสาวเพราะความโลภของตนเอง รวมทั้งผิวพรรณด่างดำของลูกสาวที่คล้ายดังเกล็ดงูลอกคราบ ไม่สวยงามดังเดิม สร้างความอับอายแกนางกะเดิบซลาเป็นอย่างมาก นางจึงบอกกับแม่ของนางว่า "ขอตัวไปอาบน้ําล้างเมือกงูที่กลืนนางออก" แม่นางให้น้องชายคนเดียวของนางตามไปเป็นเพื่อนด้วย
นางกะเดิบซลาคว้าขันน้ำ และเตรียมผ้าไปผลัดเปลี่ยน เดินออกจากหมู่บ้านหาแหล่งน้ำชําระล้างร่างกาย ผ่านหนองน้ำใหญ่ น้องชายของนางให้นางลงอาบล้างที่หนองนั้น แต่นางว่าน้ำน้อยไปล้างเมือกออกไม่หมดหรอก จึงพากันเดินต่อไป ผ่านอีกห้วย บึง แม่น้ำ ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของนาง บุกป่าฝ่าทุ่งหลายวัน หลายคืน จนมาถึงมหาสมุทรใหญ่ นางบอกให้น้องชายหยุดรอที่ชายฝั่ง ส่วนนางจะลงไปอาบน้ำล้างคราบเมือกงูออก นางคว้าขันเดินลงไปในน้ําเรื่อยๆ จนลึกถึงคอ เมื่อนางเดินลึกถึงปลายคาง นางเอาขันครอบหัว แล้วมุดน้ําหายไป ไม่ยอมโผล่มาอีกเลย
น้องชายของนางรออยู่เป็นนาน ก็ไม่เห็นพี่สาวโผล่มาสักที จึงเดินร้องให้กลับบ้าน พร้อมกับบอกเรื่องราวทั้งหมดให้แม่ของนางกะเดิบซลาฟัง นางเสียใจและรู้สึกผิด แต่ก็ทําอะไรไม่ได้เพราะสายเกินไปเสียแล้ว
นางกะเดิบซลา ที่หายไปในมหาสมุทร ได้ลายเป็น 'นางเงือก' อาศัยอยู่ในมหาสมุทร ไม่ยอมพบผู้คนด้วยความอับอาย ตราบเท่าทุกวันนี้ นิทานเรื่องนี้สอนใจให้เรารู้ว่า...
ความโลภ ย่อมนำมาสู่ความวิบัติ "
ตำนานนางเงือก นิทานพื้นบ้านของชาวกูย
ในนิทานจากทางฝั่งเขมรแถบลุ่มน้ำโขง (จังหวัดกระแจะ ประเทศกัมพูชา) ก็มีเรื่องราวคล้ายคลึงกันกับเรื่องนี้ แต่นางกะเดิบชลาไม่ได้เดินทางไปล้างตัวไกลถึงทะเล หรือมหาสมุทร แต่ลงไปล้างตัวในแม่น้ำใหญ่ (แม่น้ำโขง) ที่เป็นวังวนน้ำลึก (คล้ายกับแถบหลี่ผี ใน สปป.ลาว หรือสี่พันดอน) เรียกนิทานนี้ว่าประวัติ "ไตร เพสาด ប្រវត្តិ ត្រីផ្សោត" หรือ "ปลาโลมาน้ำจืด" หรือ “โลมาอิรวดี” หรือโลมาหัวบาตร หรือที่ชาวลาวเรียกขานว่า “ปาข่า” หรือ “ปลาข่า” อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง เขตมหานทีสี่พันดอน ตอนใต้ประเทศลาว ชายแดนติดต่อตอนเหนือของกัมพูชา ซึ่งโลมาอิรวดีน้ำจืด หรือ ปลาข่า ตัวสุดท้ายที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดน สปป.ลาว และกัมพูชา ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือได้เสียชีวิตลงแล้ว เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา หลังจากติดอวนจับปลาของชาวประมงในพื้นที่ ซึ่งเท่ากับโลมาน้ำจืดได้สูญพันธุ์จาก สปป. ลาว อย่างเป็นทางการแล้ว
การสูญเสียปลาข่าตัวสุดท้ายใน สปป.ลาว
รวมผญา สุภาษิต และคำสอย
กลอนลำ
เพลงลูกทุ่งอีสาน มาเข้าใจความหมายของคำภาษาอีสานในเพลงลูกทุ่ง
ภาษาอีสานแยกตามหมวดอักษร
กลอน ภาษิตโบราณอีสาน
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)